นักบินปลูกโหระพาอวกาศ เทียบกับเด็กไทยบนพื้นโลก – นักบินอวกาศญี่ปุ่นทดลองปลูกโหระพา ในสถานีอวกาศนานาชาติครบ 30 วัน พร้อมส่งต้นโหระพากลับสู่พื้นโลก เพื่อให้ นักวิทยาศาสตร์วิเคราะห์ผลการเจริญเติบโต และใช้เปรียบเทียบกับต้นโหระพาที่นักเรียนไทยปลูกบนพื้นโลก ภายใต้โครงการ Asian Herb in Space (AHiS) หวังสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กไทยสนใจวิทยาศาสตร์อวกาศ

ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. เผยว่า โครงการ AHiS เกิดจากความร่วมมือระหว่าง กระทรวงการอุดมศึกษาฯ โดย สวทช. กับองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น หรือแจ๊กซ่า เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนไทยระดับชั้นมัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า เข้าร่วมการทดลองปลูกโหระพาบนพื้นโลก มีนักเรียนสมัครเข้าร่วมโครงการมากถึง 312 ทีม จาก 133 โรงเรียนทั่วประเทศ

ดร.ณรงค์กล่าวว่า นายโซอิจิ โนกุจิ นักบินอวกาศญี่ปุ่นของ แจ๊กซ่าเริ่มทดลองปลูกโหระพาในห้องทดลองคิโบะบนสถานีอวกาศนานาชาติตั้งแต่วันแรกคือวันที่ 16 ก.พ. ที่ผ่านมา ให้น้ำทุก 10 วัน จนสิ้นสุดการทดลองครบ 30 วัน เมื่อวันที่ 18 มี.ค. 2564 โดยส่งต้นโหระพาที่ทดลองปลูกบนสถานีอวกาศกลับมายังพื้นโลก เพื่อให้นักวิทยาศาสตร์วิเคราะห์ผลการเจริญเติบโตต่อไป

สำหรับโครงการ AHiS เปิดโอกาสให้นักเรียนทดลองปลูกโหระพาบนพื้นโลกเป็นระยะเวลา 30 วัน เพื่อเปรียบเทียบกับการปลูกโหระพาบนสถานีอวกาศนานาชาติ เพื่อเรียนรู้ว่าสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำมีผลต่อการเจริญเติบโตของพืชอย่างไร โดยนักบินอวกาศญี่ปุ่นส่งภาพถ่ายและคลิปวิดีโอมาให้นักเรียนไทยดูการเจริญเติบโตของต้นโหระพาอวกาศเป็นประจำทุกวันทางทวิตเตอร์

“การเจริญเติบโตของโหระพาบนสถานีอวกาศสร้างความน่าตื่นตาตื่นใจมาก เพราะการงอกจากเมล็ดสู่การตั้งลำต้นและแตกใบเป็นไปอย่างรวดเร็ว แม้จะอยู่ในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำนอกโลก สำหรับนักเรียนต้องออกแบบการทดลองปลูกโหระพาด้วยตัวแปรอิสระ เพื่อให้ได้ผลการทดลองที่แตกต่าง เป็นการฝึกฝนทักษะกระบวนการคิดและวิจัยทางวิทยาศาสตร์มากขึ้น โดยจะสรุปผลการทดลองทั้งหมดส่งเป็นรายงานมายังโครงการ AHiS” ดร.ณรงค์กล่าว

สำหรับตัวแปรอิสระที่นักเรียนไทยทดลองในการปลูกโหระพา อาทิ คลื่นความถี่เสียง การใช้สารพาโคลบิวทราโซล ภาวะเครียดจากการเขย่ากล่องปลูกต้นโหระพา สนใจศึกษาและลุ้นผลการทดลองปลูกโหระพาบนพื้นโลกไปกับน้องๆ นักเรียนไทย เปรียบเทียบกับการปลูก บนสถานีอวกาศนานาชาติ ผ่านทาง Facebook เพจ NSTDASpaceEducation

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน