รถเหาะมาแน่ นักวิทย์ค้นพบใหม่แบตชาร์จไว ชี้ไม่ต้องรอ20ปีได้ใช้ชัวร์

รถเหาะมาแน่ – วันที่ 7 มิ.ย. อินดิเพนเดนท์รายงานว่า นักวิทยาศาสตร์ค้นพบกระบวนการชาร์จประจุไฟฟ้าแบบใหม่สำหรับแบตเตอรี่ความจุสูง (Ultra Dense Battery) ที่ใช้สำหรับรถยนต์บินได้ ซึ่งการค้นพบดังกล่าวจะส่งผลให้รถบินได้เหมาะสำหรับการนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน เผยแพร่ผ่านวารสารเทคโนโลยี Joule เมื่อ 7 มิ.ย. 2564

การค้นพบดังกล่าวเป็นฝีมือของคณะนักวิทยาศาสตร์นำโดย ศาสตราจารย์จ้าวหยาง หวัง ผู้อำนวยการศูนย์เครื่องยนต์ไฟฟ้าเคมี มหาวิทยาลัยรัฐเพนซิลเวเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ถือเป็นเทคโนโลยีที่จะมาปฏิวัติวงการรถยนต์เหาะพลังไฟฟ้าขึ้นลงแนวดิ่ง หรืออีวีโทล (eVTOL)

รถแท็กซี่ eVTOL รุ่นต้นแบบ จากบริษัท Lilium จัดแสดงที่มหกรรมการค้าไฮเทค Digital Summit (Digital Gipfel) ประเทศเยอรมนี (แฟ้มภาพ) – เอเอฟพี

ศ.หวัง กล่าวว่า ตนหวังอย่างยิ่งให้การค้นพบครั้งนี้ทำให้แนวคิดเรื่องรถบินกลายเป็นความจริงได้โดยไม่ต้องรออีก 20 ปี เพราะงานวิจัยนี้พิสูจน์แล้วว่ารถอีวีโทลนั้นสามารถนำมาใช้เชิงพาณิชย์ได้อย่างแน่นอน

ผอ.ศูนย์เครื่องยนต์ไฟฟ้าเคมี กล่าวต่อว่า งานวิจัยนี้เป็นการทดลองกับแบตลิเทียม-ไอออน ชนิดความหนาแน่นสูง ซึ่งเป็นแหล่งเก็บพลังงานหลักในรถอีวีโทล พบว่าสามารถให้พลังงานเพียงพอต่อการเหาะเป็นระยะทาง 50 ไมล์ (80 กิโลเมตร) ด้วยการชาร์จเพียง 10 นาที

งานวิจัยระบุว่า กุญแจสำคัญของเทคโนโลยีชาร์จไวนี้อยู่ที่การเพิ่มอุณหภูมิเข้าไปในแบตด้วยแผ่นนิกเกิล ทำให้สามารถชาร์จประจุไฟฟ้าได้ไวขึ้นโดยไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อแบต

“ผมคิดว่ารถบินได้จะช่วยประหยัดเวลาให้เราได้มาก แล้วก็ช่วยให้ชีวิตเรามีผลิตผลเพิ่มขึ้น รวมถึงเปิดศักราชของระบบขนส่งมวลชนแบบใหม่ด้วย”

“ในด้านธุรกิจแล้ว ผมมองว่ารถเหาะได้นี้น่าจะวิ่งไปกลับได้สัก 15 เที่ยว รวมทั้งหมดได้ 2 ระลอกต่อวัน โดยเฉพาะช่วยชั่วโมงเร่งด่วน ช่วงแรกน่าจะเป็นบริการลิมูซีนรับไปสนามบินอะไรแบบนั้นแหละครับ รถคันนึงได้สัก 3-4 คน ระยะทางไม่เกิน 80 กิโลฯ” ศ.หวัง ระบุ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน