สนช.-อัยการ-ตร.
วิชาส่งถึงนายกฯ

ชง ‘บิ๊กตู่’ เอาผิดวินัย-อาญา ‘ตร.-อัยการ-สนช.-พลเรือน’ นับ 10 ราย สมคบคิดล้มคดี ‘บอส อยู่วิทยา’ วิชาสรุปผลสอบพบหลักฐานชัดทำสำนวนเสียตั้งแต่ต้นนำมาสู่คำสั่งไม่ฟ้อง แฉ‘พ.ต.อ. ธนสิทธิ ตำรวจพฐ.และสายประสิทธิ์ อจ.มจพ.’ ผวาภัยมืดหนักต้องส่งคุ้มครองพยาน หลังพิสูจน์ชัดวันเปลี่ยนตัวเลขความเร็วเฟอร์รารี่ไม่ใช่ 26 ก.พ.59 ย้ำคดี‘จารุชาติ’พยานเอกที่พลิกคดีดับที่เชียงใหม่มีส่วนโยงใยด้วย

‘บิ๊กตู่’สั่งลุยต่อคดี‘บอส’

เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 1 ก.ย. พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุม ครม. ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ถึงความคืบหน้าหลังนายวิชา มหาคุณ ประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายกรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชนได้สรุปรายงานและนำเสนอ ว่า กรณีที่สำนักงานอัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ หรือ บอส อยู่วิทยา ในคดีต่างๆ ทุกข้อหา โดยเฉพาะข้อกล่าวหาขับรถโดยประมาททำให้ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ผบ.หมู่ สน.ทองหล่อ เสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่ เมื่อปี 2555 เรื่องที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ไม่เห็นแย้งจนถึงที่สุด

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า คณะกรรมการชุดของนายวิชาลงมติเห็นว่าเรื่องนี้ใช้เวลานานถึง 8 ปีเกี่ยวข้องกับบุคคลจำนวนมาก ทั้งตำรวจ อัยการ ทนายความ ฝ่ายการเมือง ดูแล้วสลับซับซ้อนพิกลอยู่ ซึ่งสังคมไม่ไว้วางใจตรงนี้ มีการร้องเรียนขอความเป็นธรรมซ้ำซากถึง 14 ครั้ง คณะกรรมการตรวจสอบใช้คำว่าอาจจะมีการทำเป็นกระบวนการต้องมีการตรวจสอบกันต่อไป ให้เกิดความชัดเจนขึ้น ต้องมาดูว่าเราจะทำอย่างไรได้ต่อไป อย่าเพิ่งไปดูว่าเป็นใครบ้างเพราะมันยังต้องเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบอีกยังไม่อยากระบุรายชื่อตรงนี้ แม้หลายคนอยากจะรู้ ก็ได้แต่เพียงรู้เท่านั้นความขัดแย้งก็จะสูงขึ้นเรื่อยๆ ถึงเวลาจะปรากฏเอง

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวด้วยว่า วันนี้ข้อเสนอแนะ 5 ข้อของคณะกรรมการที่เสนอมา ประกอบด้วย 1.ยกคดีขึ้นเพื่อดำเนินการใหม่โดยเฉพาะคดีที่ยังไม่ขาดอายุความ เรื่องนี้ดำเนินการได้อย่างแน่นอน มี 2-3 คดี ที่มีอยู่ 2.ดำเนินคดีและดำเนินการทางวินัยกับผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย 3.ในบางเรื่องมีความชัดเจนว่ามีความผิดหรือไม่ แต่ต้องตรวจสอบพฤติการณ์ที่เกี่ยวข้องในเชิงจริยธรรม 4.ซักซ้อมเกี่ยวกับความเข้าใจการมอบอำนาจของผู้บังคับบัญชาว่าจะทำอย่างไร เมื่อรับมอบไปแล้วจะรับผิดชอบอย่างไรต้องไปดูและแก้ไขกฎระเบียบอีกหลายเรื่อง วิธีปฏิบัติในการมอบอำนาจ ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้จะส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการตามอำนาจหน้าที่โดยทันที

ถ้าเป็นตำรวจตนกำกับดูแลอยู่แล้ว ในส่วนอัยการนั้นก็เป็นอิสระ ในส่วนของทนายความมีสภาทนายความที่จะไปดูแลว่ามีบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือเปล่า และรัฐบาลจะมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ หรือ ป.ป.ท. เป็นศูนย์กลางติดตามดูแลประสานงาน ในการดำเนินการความก้าวหน้า พร้อมรายงานให้ประชาชนทราบเป็นระยะ และ 5.ทางคณะกรรมการขอทำงานต่ออีก 30 วัน เพื่อเสนอแนะการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายในเชิงปฏิรูปให้เกิดความชัดเจน ซึ่งได้พูดคุยกันแล้วว่าจะเป็นประโยชน์อย่างแท้จริงซึ่งต้องช่วยกันผลักดันต่อไปเพราะฉะนั้นถ้าใครมีเบาะแสหรือข้อเสนอแนะอะไรก็ขอให้ส่งกับทางคณะกรรมการ

ชี้พิรุธร้องขอเป็นธรรม

ด้านนายวิชาแถลงว่า คณะกรรมการได้ทำงานมาตั้งแต่ 1-30 ส.ค. เห็นพฤติกรรมที่เริ่มตั้งแต่ทำสำนวนบกพร่อง เพราะการที่ตั้งข้อหาสำหรับคนตาย โดยเฉพาะด.ต.วิเชียรที่ถูกนายวรยุทธขับรถชนเสียชีวิต ถือว่าไม่เป็นธรรมและไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เพราะไม่มีสิทธิ์ต่อสู้คดี แม้ว่าเขาจะได้รับเงินเยียวยา แต่ทำให้รูปคดีเสียหายอย่างหนัก ผู้เชี่ยวชาญสอนกันมาตั้งแต่อดีตว่า หากตำรวจตั้งรูปคดีแบบนี้ แสดงว่าไม่ได้จริงจังหรือจริงใจในการทำสำนวน กระบวน การเหล่านี้เราเห็นภาพว่า พนักงานสอบสวนไม่ได้ทำอย่างมืออาชีพ เพราะบางข้อกล่าวหาไม่ได้ใส่ไว้ในสำนวน สอบไว้เพียงแค่ให้รู้ว่าสอบ แต่ไม่ได้จริงจัง และสั่งไม่ฟ้องสำหรับข้อกล่าวหานั้น เช่น เรื่องเมาแล้วขับ ประเด็นนี้ นพ.แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาแล้วขับต่อสู้มานาน และท่านเสียใจมากว่าจะกลายเป็นเรื่องที่ขับแล้วเมา ซึ่งจะเป็นตัวอย่างในการต่อสู้คดีในอนาคตและทำให้หลุดคดีทั้งหมด”

สิ่งที่เป็นประเด็นสำคัญคือการใช้ระยะเวลายาวนานมากในการสอบสวน คือกินเวลากว่า 6 เดือน และไม่ได้นำตัวมาส่งฟ้องศาล ตามที่อัยการมีความเห็นสั่งฟ้องตั้งแต่แรก ตามเรื่องนี้ต้องขอบคุณอัยการหลายท่านที่เป็นคนดีขององค์กร และต่อสู้เรื่องนี้มาโดยตลอดไม่ว่าจะถูกกดดันเพียงใด ในกรณีนี้มีอยู่ท่านหนึ่งซึ่งเป็นอัยการในระดับที่ไม่ใหญ่นัก แต่ว่าเขายืนหยัดต่อสู้ตรงนี้ เพราะฉะนั้นเราจึงต้องขอบคุณ อย่าเห็นว่าองค์กรจะมีแต่คนเลว

คดีนี้มีการร้องขอความเป็นธรรม 14 ครั้ง โดยไม่ประสบความสำเร็จ 13 ครั้ง ส่วนการร้องขอความเป็นธรรมครั้งที่ 14 ยื่นพยานหลักฐานที่ก่อนหน้านี้ได้มีการปฏิเสธไปแล้ว ซึ่ง ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร อดีตอัยการสูงสุด (อสส.) ปฏิเสธพยานหลักฐานที่นำมาร้องขอความเป็นธรรมไปแล้ว นอกจากนั้น น.ส.นิภาพร รุจนรงศ์ รองอสส. ปฏิเสธการร้องขอความเป็นธรรมไปแล้ว 2 ครั้ง และครั้งสุดท้ายอย่างที่เรารู้กันอยู่ว่า ท่านรองอสส.ที่รับผิดชอบเรื่องนี้หยิบยกพยานหลักฐานที่ถูกปฏิเสธไปแล้วมาถือว่าเป็นพยานหลักฐานใหม่ที่มั่นคง นอกจากนั้นยังมีอดีต อสส.อีก 4 คน ที่ให้ข้อมูลว่าการร้องขอความเป็นธรรมจะต้องใช้พยานหลักฐานใหม่เท่านั้น

คุ้มครอง‘ธนสิทธิ-สายประสิทธิ์’

ยังพบว่าในการร้องขอความเป็นธรรมครั้งที่ 8 วันที่ 16 มิ.ย.58 เป็นครั้งที่ถือได้ว่าเป็นการร่วมมือร่วมแรงร่วมใจกันจนผิดปกติที่สุดในกระบวนการทำสำนวนในลักษณะของการสมยอมในการสอบสวน และพบว่าวันที่ผิดไม่ได้เป็นวันที่จริง เพราะวันที่สอบพยานผู้เชี่ยวชาญทางด้านความเร็ว พ.ต.อ. ธนสิทธิ แตงจั่น ตำรวจพิสูจน์หลักฐานในคดี และนายสายประสิทธิ์ เกิดนิยม อาจารย์ประจำและหัวหน้าศูนย์วิจัยเฉพาะทางวิศวกรรมการประเมินและความปลอดภัยยานยนต์ มหา วิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนคร เหนือที่ทำให้กลับความเห็นเรื่องความเร็ว ซึ่ง พ.ต.อ.ธนสิทธิยืนยันว่า มันมีการกระทำในลักษณะที่ถูกกดดันด้วย

“ต้องขอบคุณ พ.ต.อ.ธนสิทธิ และนาย สายประสิทธิ์ ที่ให้ข้อมูล เพราะวันที่สอบปากคำทั้งวันที่ 26 ก.พ.2559 และ 2 มี.ค.2559 ถือเป็นวันเท็จ เพราะวันที่มีการสอบปากคำจริงๆ คือ วันที่ 29 ก.พ. 2559 เรามีหลักฐานยืนยันชัดเจน และเป็นหลักฐานที่ทำให้เราเชื่อโดยปราศจากข้อสงสัย และทั้งสองคนเข้ามาอยู่กระบวนการคุ้มครองพยานในทันที” นายวิชากล่าว

เมื่อถามว่าพยานหลักฐานอะไรที่ยืนยันว่ามีการแก้เปลี่ยนแปลงวันที่ และวันที่ 26 ก.พ.2559 เป็นวันเท็จ นายวิชาตอบว่า เป็นหลักฐานที่เราได้ส่งพิสูจน์ตามกระบวนการนิติวิทยาศาสตร์แล้ว และได้รับการยืนยันว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นวันที่ 29 ก.พ.2559 แม้นายสายประสิทธิ์จะเป็นผู้ให้ข้อมูลจนทำให้ความเร็วบิดผัน แต่ท่านยืนยันว่าเป็นการคำนวณตามหลักวิศวกรรม อย่างไรก็ตาม เขายอมรับว่าไม่ได้ไปดูที่เกิดเหตุ ไม่ได้คำนวณที่ถนน และไม่ได้ทดสอบอะไร เพียงแต่คำนวณความเร็วทั้งหมดจากกระดาษบนโต๊ะทำงานเท่านั้น

ฉะนั้นไม่ใช่ข้อมูลความเร็วที่เป็นจริง เหมือนที่พ.ต.อ.ธนสิทธิคำนวณไว้ว่าความเร็วรถนายวรยุทธอยู่ที่ 177 ก.ม./ช.ม. คนที่ให้ข้อมูลที่แท้จริงเรื่องนี้คือ นายสธน วิจารณ์วรรณลักษณ์ อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งพนักงานสอบสวนไม่ได้นำเอกสารที่ท่านทดสอบไปใส่ไว้ในสำนวนคดีด้วยเห็นได้ว่าเป็นข้อพิรุธในสำนวน กระบวนการเหล่านี้เห็นว่ามีการหยิบยกพยานหลักฐานที่สร้างขึ้นมาอันเป็นเท็จ ด้วยความร่วมไม้ร่วมมือกันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐ ทนายความ มีอัยการท่านหนึ่งอยู่ในกระบวนการนี้ด้วย ไม่มีข้อสงสัยในข้อนี้ เพราะอยู่ในพยานทางนิติวิทยาศาสตร์ที่จะต้องตรวจสอบต่อไป

สมคบคิดทำสำนวนเสีย

“คณะกรรมการจึงมีความเห็นตรงกันว่า เป็นการทำอันเป็นการสมยอม ไม่สุจริต ร่วมมือกันแบบที่เรียกว่า ตามทฤษฎีสมคบคิด ทำให้สำนวนเสียไปตั้งแต่ต้น ในทางกระบวน การเราเห็นว่าให้มีการสอบสวนใหม่ ไม่ใช่ว่าสอบสวนพยานหลักฐานใหม่ตาม ป.วิอาญา มาตรา 147 ต้องนับหนึ่งใหม่ แต่เนื่องจากบางข้อหาขาดอายุความไปแล้ว คงช่วยไม่ได้ในส่วนนี้เราจึงได้เสนอด้วยว่า หลังจากนี้จะต้องมีการปรับปรุงแก้ไขเกี่ยวกับเรื่องอายุความ ที่เราเสนอว่าต้องแก้โดยเร่งด่วนให้อายุความหยุดลงเมื่อผู้ต้องหาหลบหนี แบบเดียวกับคดีทุจริตที่อายุความหยุดลงตราบใดที่ยังหลบ หนีอยู่” นายวิชากล่าว

นายวิชากล่าวอีกว่า มีเรื่องที่ต้องดำเนินการสำหรับบุคคลที่อยู่ในตำแหน่งสูงและเป็นผู้นำองค์กร เราอาจจะไม่ได้ข้อมูลที่แท้จริงในเรื่องของทางอาญาหรือทางวินัย แต่ดำเนินการได้ในแง่ของจริยธรรม เพราะรัฐธรรมนูญปี 2560 พูดถึงเรื่องจริยธรรมอย่างร้ายแรง โดย ป.ป.ช. เป็นผู้ดำเนินการตรวจสอบ และอาจจะให้ พ้นจากตำแหน่งได้โดยศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งมี ผู้เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ประมาณ 10 คนขึ้นไป

สำหรับข้อเสนอของคณะกรรมการ ประกอบด้วย 1.ต้องเริ่มกระบวนการสอบสวนใหม่ให้ถูกต้องในข้อหาที่ยังไม่ขาดอายุความ โดยเฉพาะข้อหายาเสพติดให้โทษ ข้อหาขับขี่รถชนในขณะเมาสุราและเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ข้อหากระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย 2.ต้องมีการดำเนินการทางวินัยและทางอาญาต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐและบุคคลอื่นที่ร่วมขบวนการ ซึ่งมีทั้งหมด 8 กลุ่ม ดังนี้ 1) พนักงานสอบสวนซึ่งเกี่ยวข้องกับสำนวน 2) พนักงานอัยการซึ่งปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ 3) ผู้บังคับบัญชาซึ่งแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ 4) สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติซึ่งแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ 5) ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองซึ่งแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ 6) ทนายความซึ่งกระทำผิดกฎหมาย 7) พยานซึ่งให้การเป็นเท็จ 8) ตัวการ ผู้ใช้ และ ผู้สนับสนุนในการกระทำผิดกฎหมายดังกล่าว

โยงคดี‘จารุชาติ’ด้วย

ส่วนการเสียชีวิตของนายจารุชาติ มาดทอง จากการสอบสวนมีความเชื่อมโยงกับนาย วรยุทธหรือไม่นั้น นายวิชากล่าวว่า มีความเชื่อมโยงพอสมควรและเป็นที่รู้กันอยู่ว่าใครเป็นผู้อุปถัมภ์นายจารุชาติ มีทั้งบุคคลที่มีความเกี่ยวพันกับนายวรยุทธ และกับผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ทางภาคเหนือ ตำรวจภาค 5 กำลังดำเนินการตรวจสอบอยู่ว่าทำไมถึงมีการทำลายมือถือของนายจารุชาติ เพราะมันไม่น่าจะต้องทำลายถึงขนาดนั้น ก็กำลังตรวจสอบอยู่

เมื่อถามว่าคณะกรรมการพิจารณาไปถึงความพยายามของตำรวจในการติดตามตัวนายวรยุทธมาดำเนินการหรือไม่ นายวิชากล่าวว่า นั่นเป็นเรื่องที่มีปัญหาที่ว่าอัยการดำเนินการเพื่อขอให้ออกหมายจับโดยศาลอาญากรุงเทพใต้ ก็ได้ออกหมายจับไปแล้ว แต่ปรากฏว่าเมื่อ ผบก.กองการต่างประเทศ ตร. ติดต่อตำรวจสากลหรืออินเตอร์โพล และทางอินเตอร์โพล ออกหมายแดงให้ แต่หลังจากนั้นอีกไม่กี่วันผบก.กองการต่างประเทศก็ถูกย้าย เรื่องนี้คณะกรรมการระบุไว้ในสำนวนแล้ว และเราชี้ให้เห็นว่านั่นคือสิ่งผิดปกติ

ส่วนการติดตามตัวนายวรยุทธ ทางตม. ยืนยันแล้วว่าเขาจะไม่ลบชื่อออกและจะดำเนินการต่อไปอย่างจริงจัง คณะกรรมการจะรอฟังต่อไปว่าจะมีความชัดเจนอย่างไร ส่วนเรื่องการนำตัวนายวรยุทธมาลงโทษต้องไปถามทางอัยการและตร. เพราะเป็นเรื่องของกระบวนการส่งผู้ร้ายข้ามแดนที่มีกฎหมายว่า ตำรวจต้องไปหาว่าตัวเขาอยู่ใดและทางอัยการก็ประสานงานกับกระทรวงต่างประเทศ ช่วยดำเนินการประสานทางสถานทูตและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายฝ่ายตามกฎหมาย ที่ ผ่านมามีการประสานไปแบบไม่ประสาน ประสานแบบไม่ค่อยเต็มใจจะประสาน แต่ในรอบใหม่นี้ยังไม่เห็นว่าเขาจะไม่เต็มใจหรือเปล่า ขณะนี้ที่บอกว่าไม่ปรากฏชื่อ ไม่ปรากฏข้อมูลในตม. ซึ่งขณะนี้ปรากฏแล้ว เพียงแต่ยังไม่เห็นเรื่องของหมายแดง ดังนั้นจึงต้องติดตามอินเตอร์โพล รวมไปถึงการส่งผู้ร้ายข้ามแดน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน