ปภ.สรุปความเสียหายจากฤทธิ์พายุ ‘โนอึล’ 31 จังหวัดถูกน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก วาตภัยและดินสไลด์ ชาวบ้านได้รับผลกระทบ 27,658 ครัวเรือน ตาย 1 บาดเจ็บ 2 ล่าสุดเกิดเหตุสลดที่โคราช ด.ช.วัย 11 ขวบไปเล่นน้ำหลังเลิกเรียน ถูกกระแสน้ำเชี่ยวกรากพัดจมดับต่อหน้าเพื่อนๆ ส่วนอุดรฯ ยังถูกฝนถล่มหนักจมเขตเทศบาล

เมื่อวันที่ 23 ก.ย. นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า จากอิทธิพลพายุ ‘โนอึล’ และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ส่งผลให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักถึงหนักมากกับมีลมแรงบางพื้นที่ ทำให้เกิดสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำไหลหลาก วาตภัย และดินสไลด์ จังหวัดที่ได้รับผลกระทบ 31 จังหวัด

ได้แก่ ลำปาง แพร่ ลำพูน ตาก กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ พิจิตร เลย อุดรธานี ขอนแก่น ชัยภูมิ มุกดาหาร อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด มหาสารคาม สุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ นครราชสีมา ลพบุรี สิงห์บุรี ปราจีนบุรี จันทบุรี ตราด ชุมพร ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล รวม 135 อำเภอ 290 ตำบล 640 หมู่บ้าน 4 เขตเทศบาล ประชาชนได้รับผลกระทบ 27,658 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 1 ราย (ระนอง) ผู้ได้รับบาดเจ็บ 2 ราย (เพชรบูรณ์) โดยแยกเป็น

พื้นที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมฉับพลันและน้ำไหลหลาก 24 จังหวัด ได้แก่ ลำปาง แพร่ ลำพูน ตาก กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ พิจิตร เลย ขอนแก่น ชัยภูมิ มุกดาหาร อุบลราชธานี สุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ นครราชสีมา ลพบุรี สิงห์บุรี ปราจีนบุรี จันทบุรี ตราด ชุมพร ระนอง พังงา รวม 91 อำเภอ 178 ตำบล 446 หมู่บ้าน 7 เขตเทศบาล ประชาชนได้รับผลกระทบ 26,912 ครัวเรือน ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์ในจังหวัดศรีสะเกษ ในพื้นที่อำเภอขุนหาญ ตำบลบักดอง (หมู่ที่ 8 และ 9) ประชาชนได้รับผล กระทบ 30 ครัวเรือน ไม่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ปัจจุบันระดับน้ำลดลง ระดับน้ำสูงประมาณ 15-30 เซนติเมตร

พื้นที่ได้รับผลกระทบจากวาตภัย 15 จังหวัด ได้แก่ เพชรบูรณ์ อุดรธานี ขอนแก่น มุกดาหาร อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด มหาสารคาม สุรินทร์ ศรีสะเกษ ตราด พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล รวม 58 อำเภอ 134 ตำบล 237 หมู่บ้าน 2 เขตเทศบาล บ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหาย 746 หลัง ผู้ได้รับบาดเจ็บ 2 ราย (เพชรบูรณ์) พื้นที่ได้รับผลกระทบจากดินสไลด์ 2 จังหวัด ได้แก่ แพร่ และระนอง รวม 3 อำเภอ 3 ตำบล 3 หมู่บ้าน ผู้เสียชีวิต 1 ราย (ระนอง)

ทั้งนี้ ปภ.ได้ประสานจังหวัด หน่วยทหาร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งคลี่คลายสถานการณ์และให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยในเบื้องต้น โดยขนย้ายสิ่งของไปไว้ในที่สูงและเร่งระบายน้ำท่วมขัง รวมถึงแจกจ่ายเครื่องอุปโภคบริโภค และวัสดุอุปกรณ์ซ่อมแซมบ้านเรือนแก่ผู้ประสบภัย พร้อมจัดเจ้าหน้าที่สำรวจและประเมินความเสียหาย เพื่อดำเนินการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ ทั้งการชดเชยความเสียหายของบ้านเรือนเป็นวัสดุก่อสร้าง หรือจ่ายเงินช่วยเหลือตามความเหมาะสม ท้ายนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป

วันเดียวกัน รายงานข่าวจาก จ.นครราชสีมา เผยว่า เกิดเหตุเด็กจมน้ำในห้วยลำเชียงไกร บริเวณท้ายหมู่บ้านโพธิ์ หมู่ที่ 11 ต.สำโรง อ.โนนไทย เมื่อวันที่ 22 ก.ย. เจ้าหน้าที่ชุดประดาน้ำหน่วยกู้ภัยฮุก 31 นครราชสีมา 20 คน จึงได้กระจายกำลังลงค้นหา ท่ามกลางกระแสน้ำของลำเชียงไกรที่ไหลเชี่ยว เนื่องจากมีมวลน้ำจำนวนมากจากอิทธิพลของพายุโนอึลเมื่อ 4 วันที่แล้ว ไหลมาจากพื้นที่ อ.ด่านขุนทด ทำให้ต้องค้นหาอยู่นานกว่า 1 ชั่วโมง

กระทั่งพบศพ ด.ช.พีระพัทร หรือน้องลีโอ แส่สันเทีย อายุ 11 ขวบ อยู่บ้านเลขที่ 73 หมู่ 11 ต.สำโรง อ.โนนไทย อยู่ใกล้ฝั่งห่างจากจุดเกิดเหตุประมาณ 500 เมตร จึงส่งศพไปชันสูตรที่ ร.พ.โนนไทย

นายฉัตรชัย ศรีวิศร หัวหน้าชุดประดาน้ำฮุก 31 นครราชสีมา เปิดเผยว่า จากการสอบถามชาวบ้าน ทราบว่าเมื่อช่วงเย็นวันเกิดเหตุมีกลุ่มเด็กนักเรียน 4-5 คน พากันไปลงเล่นน้ำในห้วยลำเชียงไกรหลังเลิกเรียน ต่อมามีเด็กวิ่งมาบอกชาวบ้านขอให้ไปช่วยเพื่อนที่ถูกกระแสน้ำพัดหายไปต่อหน้าต่อตา และแจ้งหน่วยกู้ภัยฮุก 31 ขอให้ส่งชุดประดาน้ำมาช่วยค้นหาด้วย จากการลงพื้นที่ค้นหาพบว่าบริเวณดังกล่าวมีกระแสน้ำไหลเชี่ยวมาก ทั้งนี้ ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาได้รับแจ้งว่ามีเด็กจมน้ำแล้วนับ 10 ราย และเสียชีวิต 2 ราย ดังนั้นช่วงที่มีฝนตกลงมาอย่างหนัก จึงขอเตือนให้ผู้ปกครองดูแลบุตรหลาน อย่าให้ลงไปเล่นน้ำในลำน้ำต่างๆ เนื่องจากจะมีกระแสน้ำไหลแรงมาก และเป็นอันตรายอาจจะทำให้เด็กจมน้ำเสียชีวิตได้เช่นกรณีนี้

ส่วนที่ จ.อุดรธานี ยังมีฝนตกหนักทั่วพื้นที่ ส่งผลให้น้ำในลำห้วยหมากแข้งสูงขึ้น ดันน้ำในท่อระบายน้ำท่วมผิวจราจรในเขตเทศบาลเมืองอุดรธานี บนถนนนิตโยหน้าสนามกีฬาเทศบาลนครอุดรธานี, ถนนศรีสุข หน้า สภ.เมือง-เรือนจำกลาง-แยกโรงเรียนอุดรพิทยานุกูล, ถนนโพศรี แยกยอดมือถือ, ถนนทหาร ปากซอยจิตคาม, วงเวียนหอนาฬิกา และในชุนชนที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำแอ่งกระทะ

เทศบาลนครอุดรธานีเร่งเปิดประตูน้ำห้วยหมากแข้งและจุดอื่น และเปิดเครื่องสูบน้ำจากสถานีสูบน้ำทั้ง 14 สถานี เพื่อเร่งระบายน้ำออกนอกเมือง หลังจากฝนหยุดตกราว 30 นาที น้ำรอระบายบนผิวถนนสายหลัก เริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง และแห้งลงเกือบทั้งหมดเมื่อผ่านไปราว 1 ช.ม. ส่วนหลายชุมชนที่น้ำยังท่วมรอการระบาย โดยเฉพาะชุมชนหนองบัว 1, 4, 5 และในซอยมุณี 2 เป็นชุมชนด้านทิศใต้ของซอยกำนันที่เชื่อมต่อถนนนิตโย ซึ่งเป็นพื้นที่ต่ำทางผ่านน้ำลงคลองขี้ส่า ส่งผลให้ต้องใช้เวลาในการระบายน้ำนานหลายชั่วโมงกว่าจะเข้าสู่สภาวะปกติ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน