เสน่ห์‘ป่าเสม็ดพันปี’ – ระยอง นอกจากจะเป็นจังหวัดที่มีชื่อเสียงด้านการท่องเที่ยวทางทะเลแล้ว ยังมีอีกสถานที่หนึ่งที่อยากแนะนำให้นักท่องเที่ยวลองเข้าไปเยี่ยมชมดูสักครั้ง

นั่นก็คือ “สวนพฤกษศาสตร์ระยอง” ต.ชากพง อ.แกลง จ.ระยอง

ถือเป็นที่เที่ยวใกล้กรุงเทพฯ ที่ไปมาแล้วไม่ผิดหวัง มีกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวหลากหลาย เช่น การเดินสำรวจ “ป่าเสม็ดทรายแก้ว” ปั่นจักรยานชมบรรยากาศธรรมชาติ พายเรือคายัก และล่องเรือชมธรรมชาติพื้นที่ชุ่มน้ำ

สำหรับประวัติของสวนพฤกษศาสตร์แห่งนี้เกิดจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงมีพระราชดำรัสเมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานเปิดงานกล้วยไม้เอเชียแปซิฟิก ครั้งที่ 4 ที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 22 ม.ค.2535 ว่า

“กล้วยไม้ไทยมีความงามมากและมีกลิ่นหอมมาก ซึ่งนับจะหาดูได้ยากและใกล้สูญพันธุ์ไปทุกขณะ ขอให้ช่วยกันหาทางรวบรวมและอนุรักษ์ไว้ พร้อมกับการขยายพันธุ์ให้มีปริมาณมากพอที่จะคืนสู่ป่าธรรมชาติ”

หลังจากนั้นหลายหน่วยงาน เช่น กรมวิชาการเกษตรมหาวิทยาลัยแม่โจ้ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และกรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้น้อมรับนำไปดำเนินการอนุรักษ์พันธุ์ไม้ต่างๆ ของประเทศ โดยหนึ่งในนั้นคือ การจัดตั้งสวนพฤกษศาสตร์ขึ้นที่ ต.แม่แรม อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ โดยกรมป่าไม้ ต่อมาได้โอนมาดำเนินงานโดยองค์การสวนพฤกษศาสตร์ (อสพ.) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจในความดูแลของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

กระทั่งในปี 2537 องค์การสวนพฤกษศาสตร์ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราชทานพระราชานุญาตให้ใช้ชื่อสวนพฤกษศาสตร์สากลแห่งแรกของประเทศไทยใน ภาคเหนือนี้ว่า สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์

จากนั้นองค์การสวนพฤกษศาสตร์มีการจัดตั้งสวนสาขาขึ้นทั่วประเทศได้แก่ สวนพฤกษศาสตร์เมืองพล ขอนแก่น สวนพฤกษศาสตร์บ้านร่มเกล้า พิษณุโลก ในพระราชดำริ สวนพฤกษศาสตร์พระแม่ย่า สุโขทัย สวนพฤกษศาสตร์เกาะระ พังงา และสวนพฤกษศาสตร์ระยอง

นายวัชนะ บุญชัย หัวหน้าสวนพฤกษศาสตร์ระยอง กล่าวว่า กว่า 20 ปีที่ผ่านมาได้รวบรวมพรรณไม้ต่างๆ ในภาคตะวันออก เช่น กล้วยไม้ดินหายากใกล้สูญพันธุ์ อาทิ เอื้องสีสนิม เอื้องอึ่งอ่าง แห้วชะครู ผักไผ่น้ำ ที่ในทุกช่วงเดือนพ.ย.ถึงก.พ.ของทุกปี จะออกดอกให้นักท่องเที่ยวได้เห็นบน “หญ้าหนังหมา” หรือ “แพหนังหมา” ซึ่งเป็นแพกอหญ้าที่ทับถมกันเป็นชั้นๆ หนาถึง 50-100 เซนติเมตร ลอยเป็นผืนแผ่นเล็กสลับใหญ่ มีความแข็งแรงและมีรากที่ยาวลึกลงไปใต้น้ำประมาณ 1 เมตร

 

นอกจากนี้ยังมีบัว เช่น บัวหลวง บัวเผื่อน บัวบาน ซึ่งชาวบ้านในแถบนี้นิยมนำไปทำอาหารและนำไปขายเป็นรายได้เสริมอย่างหนึ่ง รวมทั้งพืชพันธุ์อื่น เช่น หม้อข้าวหม้อแกงลิง แต้ว ชะมวง พรวด พืชพื้นบ้านที่สามารถพบเห็นได้บริเวณ ป่าชายหาดหรือป่าพรุน้ำจืดหว้า ตีนนก ขันทองพยาบาท กะอวม มะหวด คุย ผักหวานป่าย่านลิเภา เป็นต้น

“ที่นี่กลายเป็นจุดเช็กอินของนักท่องเที่ยว นอกจากจะเพลิดเพลินกับธรรมชาติที่สวยงามแล้ว ยังจะได้รับความรู้เกี่ยวกับสวนพฤกษศาสตร์ ความสำคัญของการมีพื้นที่ชุ่มน้ำในพื้นที่ด้วย” นายวัชนะกล่าว

ขณะที่กิจกรรมที่สำคัญอย่างหนึ่งของสวนพฤกษศาสตร์ระยองคือ การศึกษาวิจัยเพื่อขยายพันธุ์ “กระจูด” ไม้ล้มลุกตระกูลเดียวกับต้นกก ลำต้นมีลักษณะกลม ภายในกลวงขนาดเท่ากับก้านธูป สูง 1-3 เมตร ซึ่งมีอยู่ใน อ.แกลง แห่งเดียวในภาคตะวันออก

กระจูด ไม้ล้มลุกตระกูลเดียวกับต้นกก

ต้นกระจูด เป็นวัตถุดิบสำคัญของชาวต.มาบเหลาชะโอน ที่ได้รับการฝึกสอนการสานผลิตภัณฑ์กระจูดจากผู้เชี่ยวชาญของศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง จ.นราธิวาส ทำให้ปัจจุบันชุมชนมีความสามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพได้รับการยอมรับจากตลาดต่างประเทศ มีทรัพยากรเพียงพอต่อการใช้งาน

สวนพฤกษศาสตร์ระยองยังเพาะพันธุ์ต้นยางนาแจกจ่ายให้ประชาชนอีกด้วย

พื้นที่ส่วนใหญ่ของที่นี่กว่า 2,500 ไร่ เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีคุณประโยชน์หลากหลาย ทั้งลดการพังทลายของชายฝั่ง ช่วยป้องกันน้ำเค็มไม่ให้เข้ามาในบริเวณ แผ่นดินมากจนเกินไป และเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์และพืชพรรณต่างๆ ที่มีหลากหลายชนิดเป็นพืชเฉพาะของท้องถิ่นที่เจอไม่ได้ง่ายๆ ในเมืองไทย และใกล้สูญพันธุ์กว่า 400 ชนิดอีกด้วย

ดังนั้น เมื่อมาที่แห่งนี้ กิจกรรมที่ห้ามพลาดคือการล่องเรือท้องแบนไปในบึงสำนักใหญ่ หรือ หนองจำรุง หนองน้ำตามธรรมชาติ ที่มีขนาดใหญ่และมีพื้นที่กว่า 3,800 ไร่ ซึ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งราว 1,000 ไร่ จะอยู่ในความดูแลของสวนพฤกษศาสตร์ระยอง และแน่นอนว่าจะต้องได้ชม “ป่าเสม็ดทรายแก้ว” เสม็ดขาวผืนสุดท้ายของ ภาคตะวันออกที่มีความสมบูรณ์

ส่วนใหญ่จะเป็นต้นเสม็ดขาว มีลำต้นเปลือกหนานุ่มซ้อนกันเป็นชั้น เพื่อปกป้องแก่นของต้น โดยต้นเสม็ดที่นี่ส่วนมากเป็นต้นเสม็ดเก่าแก่ ผู้เฒ่าผู้แก่อายุ 80-90 ปีที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียงต่างบอกกันว่าเกิดมาก็เห็นป่าเสม็ดแล้ว ผู้คนที่นี่จึงเรียกพื้นที่ดังกล่าวว่า “ป่าเสม็ดพันปี”

โดยต้นเสม็ดจะขึ้นอยู่บนพื้นทรายที่มีสภาพพื้นที่เป็นดินและป่าพรุน้ำท่วมขังมาก-น้อยตามฤดูกาล เห็นได้ชัดว่าสภาพนิเวศวิทยาที่นี่มีคุณประโยชน์หลากหลาย ทั้งลดการพังทลายของชายฝั่ง ช่วยป้องกันน้ำเค็มไม่ให้เข้ามาในแผ่นดินมากเกินไป เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์และพันธุ์พืชนานาชนิด ซึ่งหลายชนิดเป็นพืชเฉพาะถิ่นพบเจอได้ยากในเมืองไทย

เรียกได้ว่าศูนย์รวมพันธุ์ไม้ภาคตะวันออกจ.ระยองแห่งนี้ นอกจากจะเป็นสวนพฤกษศาสตร์แล้วยังเป็นสถานศึกษาพรรณไม้สภาพธรรมชาติ ตลอดจนเป็นที่สำหรับสันทนาการ พักผ่อนหย่อนใจแก่ประชาชนทั่วไปด้วย

เปิดให้เข้าชมทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการตั้งแต่เวลา 08.30-16.00 น. ค่าเข้าชมฟรี ล่องเรือค่าบริการ 600 บาท เช่าเรือคายัก ชั่วโมงละ 100 บาท ครึ่งวัน 150 บาท เต็มวัน 300 บาท

โทร.สอบถาม 0-3863-8880-1 หรือติดตามข้อมูลข่าวสารของศูนย์ได้ผ่านเฟซบุ๊ก “สวนพฤกษศาสตร์ระยอง”

วรนุช มูลมานัส

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน