ได้ไฟเขียวแล้ว
จากบอร์ดปปส.
แต่ต้องคุมเข้ม!

ไฟเขียว 135 หมู่บ้านและชุมชนที่นนท์-ปทุมฯ รวมถึงภาคใต้อีก 8 จังหวัด บอร์ดป.ป.ส. ให้ครอบครองและเสพพืชกระท่อมได้ไม่ผิดกฎหมาย ปลัดสธ.และเลขาฯ อย.เร่งกำหนดกติกาและเงื่อนไข เน้นพื้นที่มีประวัติใช้ในชุมชนอย่างยาวนาน มีความพร้อมควบคุมดูแล ส่วนผู้เสพก็ต้องไปขึ้นทะเบียนกับป.ป.ส.ก่อน เตือนพื้นที่นำร่องให้เฝ้าระวังกลุ่มเยาวชนอาจนำไปใช้ในทางที่ผิด ทั้งเรื่องการปรุงหรือนำไปผสมกับยาเสพติด วัตถุออกฤทธิ์ยาหรือสารอื่น พร้อมยังมีมติให้โหวตรับ 4 ข้อเสนอ เพื่อเปลี่ยนแปลงการควบคุมกัญชา และสารที่เกี่ยวข้องขององค์การอนามัยโลกด้วย เพื่อหนุนใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และทางการวิจัยอีกด้วย

เมื่อวันที่ 15 พ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่านายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) โดยมีนายอนุชา นาคาศัย รมต.สำนักนายกรัฐมนตรี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข นายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ผู้บริหารหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง และนายวิชัย ไชยมงคล เลขาธิการ ป.ป.ส. ในฐานะกรรมการและเลขานุการฯ เข้าร่วมประชุมด้วย เมื่อวันที่ 13 พ.ย.ที่ ผ่านมา

ทั้งนี้ การประชุมครั้งนี้มีวาระสำคัญคือ เพื่อติดตามความคืบหน้าการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด โดยสำนักงานป.ป.ส. ได้รายงานถึงร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการของรัฐสภา การปรับ ปรุงกฎหมายเกี่ยวกับพืชกระท่อมซึ่งมีความคืบหน้าไปมาก ขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ที่มีหลักการสำคัญคือ การถอดพืชกระท่อมออกจาก ยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 อยู่ระหว่างเสนอบรรจุในวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ขณะที่ร่างพระราชบัญญัติพืชกระท่อม พ.ศ. …. ที่มีหลักการสำคัญคือ การกำหนดมาตรการควบคุมพืชกระท่อม เพื่อป้องกัน มิให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงพืชกระท่อม และป้องกันไม่ให้มีการนำพืชกระท่อมไปใช้ในทางที่ผิด โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติหลักการแล้ว และอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

ขณะเดียวกัน สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ยังรายงานความคืบหน้าร่างกฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการเสพและการครอบครองพืชกระท่อม ในท้องที่ที่ประกาศให้เสพพืชกระท่อมได้โดยไม่เป็นความผิด พ.ศ. … ซึ่งกำหนดให้เสพได้ตามวิถีชาวบ้าน และผู้เสพจะต้องขึ้นทะเบียนกับสำนักงานป.ป.ส. ก่อน โดยร่างฯ ดังกล่าวอยู่ระหว่างการเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขลงนามในหนังสือเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่ออนุมัติ ในหลักการต่อไป

นอกจากนี้ ยังมีวาระพิจารณาที่สำคัญ คือ พิจารณาเห็นชอบให้พื้นที่นำร่อง 135 หมู่บ้าน/ชุมชน เป็นท้องที่ที่ให้เสพพืชกระท่อมได้โดยไม่เป็นความผิด ตามมาตรา 58/2 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 หลังจากสำนักงาน ป.ป.ส. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เตรียมการรองรับเป็นที่พื้นที่นำร่องครบทุกขั้นตอนแล้ว โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบต่อวาระพิจารณาดังกล่าว และมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องก่อนลงนามในประกาศต่อไป

ทั้งนี้ ในที่ประชุมยังได้พิจารณาการกำหนดท่าทีของประเทศไทยต่อการลงคะแนนเสียงรับหรือไม่รับข้อเสนอ 6 ข้อขององค์การอนามัยโลก (WHO) เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงขอบเขตการควบคุมกัญชา และสารที่เกี่ยวข้องกับกัญชา เพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ และทางการวิจัยมากยิ่งขึ้น ได้แก่

1. ถอดกัญชาและยางกัญชาออกจากตารางที่ 4 ของอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติด ให้โทษ ค.ศ.1961 แต่ไปควบคุมอยู่ในตารางที่ 1 ของอนุสัญญาฯ ดังกล่าวแทน

2. เพิ่มสารสังเคราะห์กัญชาโดรนาบินอล (Dronabinol) และสเตอริโอไอโซเมอร์ (Stereoisomers) ทั้งหมดของโดรนาบินอลให้อยู่ภายใต้การควบคุมในตารางที่ 1 ของ อนุสัญญาฯ ค.ศ.1961 และถอดออกจากตารางที่ 2 ของอนุสัญญาว่าด้วยวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ค.ศ.1971

3. เพิ่มสารสกัดกัญชา THC หรือสารที่เป็นไอโซเมอร์กับโดรนาบินอล (เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า Delta-9-THC) ให้อยู่ภายใต้การควบคุมในตารางที่ 1 ของอนุสัญญาฯ ค.ศ.1961 และถอดออกจากตารางที่ 1 ของ อนุสัญญาฯ ค.ศ.1971

4. ถอดคำว่า “สารสกัดและทิงเจอร์ของกัญชา” (Extracts and Tinctures of Cannabis) ออกจากตารางที่ 1 ของอนุสัญญาฯ ค.ศ.1961

5. เพิ่มคำอธิบายในเชิงอรรถภายใต้ตารางที่ 1 ของอนุสัญญาฯ ค.ศ.1961 ว่าวัตถุตำรับหรือยาเตรียม (Preparation) ที่มี Cannabidiol (CBD) เป็นส่วนประกอบหลักหรือเรียกรวมว่า CBD Preparation ซึ่งมีความเข้มข้นของ Delta-9-THC ไม่เกิน 0.2% จะไม่อยู่ภายใต้การควบคุมในตารางที่ 1 ของอนุสัญญาฯ ค.ศ.1961

6. เพิ่มตำรับยากัญชาและโดรนาบินอล (Pharmaceutical preparations of Cannabis and Dronabinol) ให้อยู่ภายใต้การควบคุมในตารางที่ 3 ของอนุสัญญาฯ ค.ศ.1961

โดยประเทศไทยเป็นประเทศสมาชิกที่มีสิทธิลงคะแนนเสียง ต่อข้อเสนอดังกล่าวในการประชุมสมัยต่อเนื่องของคณะกรรมาธิการยาเสพติด สมัยที่ 63 ระหว่างวันที่ 2-4 ธันวาคม 2563 ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ทั้งนี้ประเด็นดังกล่าวเป็นประเด็นที่อ่อนไหวและประเทศสมาชิกต่างๆ ตีความข้อเสนอของ WHO แตกต่างกัน จึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ

ทั้งนี้ สำนักงาน ป.ป.ส.ยังได้จัดประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือสำนักงาน อย. และกระทรวงการต่างประเทศ ต่อการพิจารณาข้อเสนอดังกล่าว โดยอย.เสนอว่า ประเทศไทยควรลงคะแนนรับข้อเสนอ 4 ข้อด้วยกัน คือ ข้อ 1, 2, 3 และ 5 และไม่รับข้อเสนอในข้อ 4 และ 6 เนื่องจากสอดคล้องกับนโยบายและกฎหมายของประเทศไทยในเรื่องนี้ ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบต่อข้อเสนอการลงคะแนนดังกล่าว และมอบหมายให้ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศของไทยประจำองค์การสหประชาชาติ ณ กรุงเวียนนา เป็น ผู้แทนทางการไทยในการลงคะเเนนต่อไป

รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับ 135 หมู่บ้าน/ชุมชน ประกอบด้วย 10 จังหวัด 10 อำเภอ 19 ตำบล 1 เทศบาล 110 หมู่บ้าน 25 ชุมชน ภาคกลางประกอบด้วย บ้านคลองหนึ่ง ม.10 ต.ไทรใหญ่ อ.ไทรน้อย จ.นนทบุรี และ ม.12 ต.คลองสาม อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี

ภาคใต้ ประกอบด้วย 8 หมู่บ้าน ในต.คลองเส อ.ถ้ำพรรณราย จ.นครศรีธรรมราช, 9 หมู่บ้านในต.เขาดิน อ.เขาพนม จ.กระบี่, 7 หมู่บ้านในต.ลำภี อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา, 65 หมู่บ้านใน 10 ตำบลของ อ.บ้านนาสาร จ.สุราษฎร์ธานี, 5 หมู่บ้านในต.ละอุ่นเหนือ อ.ละอุ่น จ.ระนอง, บ้านดอนไทรงาม ต.บางหมาก อ.เมือง จ.ชุมพร, 4 หมู่บ้านใน ต.เตา อ.ห้วยยอด จ.ตรัง, 9 หมู่บ้านใน ต.ลำสินธุ์ อ.ศรีนครินทร์ จ.พัทลุง

สำหรับขั้นตอนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของ 135 หมู่บ้าน/ชุมชน กว่าจะได้รับรองประกาศรับอนุญาตให้เป็นชุมชนที่ใช้เสพและครอบครองพืชกระท่อม ตามมาตรา 58/2 แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 นั้นทางสำนักงาน ป.ป.ส. ได้ขออนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่การเลือกพื้นที่ การจัดทำแผนเพื่อควบคุมจำนวนพืชกระท่อม การจัดเวทีประชาคมเพื่อรับรองธรรมนูญชุมชน และแผนปฏิบัติการของชุมชนในการจัดการด้วยชุมชน การสำรวจบันทึกข้อมูลการขึ้นทะเบียนผ่านระบบสารสนเทศ โดยแต่ละพื้นที่จะมีการจัดทำธรรมนูญที่แตกต่างกันไปตามภูมิวัฒนธรรม นั่นคือการดูลักษณะทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่ในบริบทวัฒนธรรม

โดยพิจารณาองค์ประกอบความสัมพันธ์ของพื้นที่ภูมิศาสตร์ (พืชท้องถิ่น) ที่รวมเอาวัฒนธรรมและทรัพยากรธรรมชาติเข้าไว้ด้วยกัน กลายเป็นมรดกร่วมของชุมชนหรือท้องถิ่น การจัดทำธรรมนูญชุมชนอยู่ภายใต้กรอบความร่วมมือที่ทางสำนักงานป.ป.ส.ได้จัดทำเอาไว้ เช่น ข้อตกลงชุมชนเรื่องเครื่องมือในการควบคุมพืชกระท่อม การตรวจสุขภาพผู้ใช้งานกระท่อม ซึ่งจัดให้มีการตรวจสุขภาพผู้ใช้งาน เป็นต้น ประการสำคัญในพื้นที่นำร่องที่มีเยาวชนจะมีการเฝ้าระวังในกลุ่มเยาวชนเพิ่มขึ้น เพื่อไม่ให้มีการนำพืชกระท่อมไปใช้ในทางที่ผิด

ทั้งนี้ การคัดเลือกพื้นที่นำร่องมีหลักสำคัญคือ ต้องคำนึงถึงความพร้อมของชุมชนเป็นสำคัญ นอกจากนี้ต้องเป็นพื้นที่ที่มีประวัติการใช้พืชกระท่อมตามวิถีชุมชนดั้งเดิมมาอย่างยาวนาน ที่สำคัญคนในพื้นที่ต้องมีความพร้อมในการดูแลควบคุมเพื่อไม่ให้ใช้ผิดวัตถุประสงค์ และให้ความร่วมมือช่วยเหลือในการอำนวยความสะดวกต่อการสำรวจต้นกระท่อมเพื่อจัดทำฐานข้อมูลกำกับ รวมทั้งการติดตามการใช้พืชกระท่อม ดังนั้น ขั้นแรกทางชุมชนต้องเห็นด้วย และพร้อมที่จะเป็นกลไกในการดูแลอย่างจริงจังในระยะยาว อย่างไรก็ตามตั้งแต่ปี 2560 สำนักงาน ป.ป.ส. ได้ดำเนินโครงการและให้ตำบลน้ำพุ อ.บ้านนาสาร จ.สุราษฎร์ธานี เป็นพื้นที่ต้นแบบในการศึกษาวิจัย ซึ่งมีผลตอบรับที่ดีคือพบการใช้ผิดวัตถุประสงค์น้อย เนื่องจากการที่ชาวบ้านช่วยกันจัดตั้งธรรมนูญชุมชน เพื่อควบคุมดูแลโดยใช้ชุมชนเป็นกลไกสำคัญ จึงเป็นต้นแบบในการเตรียมพื้นที่ 135 หมู่บ้าน/ชุมชน เพื่อใช้ในการศึกษาและควบคุมดูแลการใช้พืชกระท่อม ซึ่งการจัดทำพื้นที่นำร่องเพื่อการศึกษาและการควบคุม

รายงานข่าวแจ้งว่า ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการเสพและการครอบครองพืชกระท่อม ที่กระทำในท้องที่ซึ่งประกาศเป็นท้องที่ที่ทำการเสพพืชกระท่อมได้โดยไม่เป็นความผิดนั้น ให้เป็นไปตามธรรมนูญประชาคมหรือกติกา ท้องที่ โดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข หรือผู้ว่าราชการจังหวัดที่ได้รับมอบหมายพืชกระท่อมตามวรรคหนึ่ง ไม่รวมถึงการปรุงหรือผสมกับยาเสพติดให้โทษ วัตถุออกฤทธิ์ยาหรือสารอื่นซึ่งก่อให้เกิดการนำไปใช้หรือมีแนวโน้มในการนำไป ใช้ในทางที่ผิด ให้เป็นไปตามธรรมนูญประชาคมหรือกติกาท้องที่ อย่างน้อยต้องประกอบด้วยสาระสำคัญ ตามที่กำหนด คือ

1) เป็นเขตอำเภอหรือเขตจังหวัดตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน เขตหมู่บ้านหรือเขตตำบลตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่ หรือพื้นที่ซึ่งองค์กรปกครองท้องถิ่นรับผิดชอบตามกฎหมายว่าด้วยองค์กรปกครองท้องถิ่น 2) การมีส่วนร่วมของประชาชนและหน่วยงานของรัฐ 3) ข้อกำหนดร่วมกันของประชาชน ให้คำนึงถึงการดูแลสุขภาพ สวัสดิภาพของผู้เสพและไม่ได้เสพพืชกระท่อม การป้องกันการใช้พืชกระท่อม ซึ่งก่อให้เกิดการนำไปใช้หรือมีแนวโน้มในการนำไปใช้ในทางที่ผิดโดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน การลดอันตรายจากยาเสพติด (4) ที่มาของพืชกระท่อมที่ได้รับอนุญาตโดย ถูกต้องตามกฎหมาย

5) ข้อปฏิบัติของผู้เสพพืชกระท่อม เช่น การเข้าร่วมประชาคม การตรวจสุขภาพ 6) สภาพการบังคับเมื่อฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามธรรมนูญประชาคมหรือกติกาท้องที่ และ 7) อื่นๆ ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณ สุขกำหนด ทั้งนี้ให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยากำหนดแนวทางการจัดทำธรรมนูญประชาคมหรือกติกาท้องที่ จัดทำแผนปฏิบัติงาน การรายงาน การติดตาม การตรวจสอบการประเมินผล และมอบหมายเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในท้องที่ที่จะประกาศเป็นท้องที่ทำการเสพพืชกระท่อมได้โดยไม่เป็นความผิด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน