ชี้แจงวุ่น-ยูเอ็น
ไม่ได้เหวี่ยงแห

ประสานเสียงโต้วุ่นยูเอ็น กระทรวงต่างประเทศ-โฆษกรัฐบาลอ้างกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในประเทศไทย ไม่ได้พุ่งเป้าไปที่การจำกัดสิทธิเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นของประชาชน ชี้การดำเนินคดีเป็นตามกระบวนการขั้นตอนตามกฎหมาย หลายกรณีก็ได้รับพระราชทานอภัยโทษ ส่วนกรณีเด็กนักเรียนอายุ 16 นั้น ศาลก็ปฏิเสธคำขอให้ คุมขัง พร้อมกับอนุญาตให้ประกันตัวแบบมีเงื่อนไขแล้ว อ้างช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ไม่มีผู้ประท้วงถูกจับกุมเพียงเพราะใช้สิทธิเสรีภาพ ในการแสดงออกและการชุมนุมอย่างสงบ แต่ผู้ที่ถูกจับกุมได้ละเมิดกฎหมายอื่นๆ ด้วย และส่วนใหญ่ได้รับการปล่อยตัว

เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แจ้งท่าทีของไทยต่อกรณีโฆษกสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ หรือ OHCHR ออกแถลงการณ์แสดงความกังวลต่อการใช้ ม.112 ต่อผู้ประท้วง ในไทย 35 คน ซึ่งรวมถึงเด็กนักเรียนวัย 16 ปีด้วย ซึ่งเป็นการแถลงที่กรุงเจนีวา ประเทศ สวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.ที่ผ่านมา

กระทรวงการต่างประเทศ ขอชี้แจง ดังนี้

1. กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ในประเทศไทย ไม่ได้พุ่งเป้าไปที่การจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน โดยรัฐธรรมนูญไทยให้เสรีภาพทางวิชาการ หรือการถกเถียงเกี่ยวกับระบอบกษัตริย์ในฐานะสถาบันได้ กฎหมายนี้มีอยู่ในหลายประเทศทั่วโลกในรูปแบบต่างๆ ซึ่งรวมถึงในประเทศไทยก็เพื่อให้ความคุ้มครองสิทธิและชื่อเสียงของพระมหากษัตริย์ พระราชินี มกุฎราชกุมาร หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในลักษณะเดียวกับกฎหมายหมิ่นประมาทสำหรับพลเมืองไทยทุกคน

2. ในการพิจารณากรณีที่เกี่ยวข้องกับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จะมีการใช้หลักการข้างต้นเป็นแนวทางประกอบ และหากจำเป็นต้องดำเนินคดีความเกี่ยวกับความผิดดังกล่าว ก็จะเป็นตามกระบวนการขั้นตอนตามกฎหมาย ซึ่งในหลายกรณีก็จะได้รับพระราชทานอภัยโทษ

3. ต่อกรณีการตั้งข้อหาผู้ประท้วงวัย 16 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.112 ได้มีการนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของศาลเยาวชน ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลที่โฆษกของสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้ระบุระหว่างการแถลงข่าวแล้ว ว่า ศาลได้ปฏิเสธคำขอให้มีการคุมขัง พร้อมกับ อนุญาตให้ประกันตัวแบบมีเงื่อนไข

4. ขอย้ำอีกครั้งว่าในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ไม่มีผู้ประท้วงถูกจับกุมเพียงเพราะใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมอย่างสงบ แต่ผู้ที่ถูกจับกุมได้ละเมิดกฎหมายอื่นๆ ของไทย ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับการปล่อยตัวแล้ว

ด้านนายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าเบื้องต้นได้ประสานกระทรวงการต่างประเทศเพื่อชี้แจงไปแล้ว ยืนยันรัฐบาลไทยมิได้ปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออก ตราบใดที่การชุมนุมดำเนินการ ด้วยความสงบ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในระบอบ ประชาธิปไตย การใช้สิทธิและเสรีภาพดังกล่าว ต้องดำเนินการภายใต้กฎหมายและต้องเคารพสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่นด้วย เพื่อไม่ให้ ส่งผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของรัฐ

นายอนุชากล่าวต่อว่ารัฐบาลสนับสนุน การใช้เสรีภาพในการแสดงออกที่สร้างสรรค์ ไม่ก้าวร้าวหรือมีลักษณะดูหมิ่นเหยียดหยาม ผู้อื่น หรือใช้คำพูดที่สร้างความเกลียดชัง อันเป็นการละเมิดสิทธิของผู้อื่น รวมทั้งสนับสนุนการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์ โดยเคารพมุมมองของผู้ที่เห็นต่าง และบทบาทของเจ้าหน้าที่ตำรวจขณะนี้ คือ การให้ดูแลการชุมนุมให้สงบเรียบร้อย โดยใช้ความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ เพื่อรักษาความปลอดภัย ของผู้เข้าร่วมชุมนุมและประชาชนที่สัญจร ในบริเวณโดยรอบที่ชุมนุม สำหรับกรณีการดำเนินคดีผู้ชุมนุมบางรายนั้น เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายและพฤติการณ์ของ ผู้ถูกกล่าวหาที่ละเมิดกฎหมาย โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติแต่อย่างใด และผู้ถูกกล่าวหาสามารถต่อสู้คดีตามกระบวนการยุติธรรม

โฆษกรัฐบาลกล่าวว่า รัฐบาลหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้ชุมนุมจะเข้าร่วมคณะกรรมการสมานฉันท์ที่จัดตั้งขึ้นโดยรัฐสภา เพื่อหลีกเลี่ยง การเผชิญหน้า และนำมาสู่การหาทางออกแก้ไขปัญหาความเห็นต่างที่เกิดขึ้นในปัจจุบันของประชาชนทุกกลุ่ม และนำความสงบสุขกลับสู่สังคมไทย

วันเดียวกัน นายอานนท์ แสนน่าน ผู้ริเริ่มก่อตั้งหมู่บ้านเสื้อแดง อดีตประธานหมู่บ้านเสื้อแดงแห่งประเทศไทย กล่าวว่า อดีตสหายผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ (ผกค.) ที่ปัจจุบันได้พัฒนามาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย หรือ ผรท. ต้องการแสดงจุดยืนสนับสนุนการใช้มาตรา 112 และต้องการให้จัดการกับผู้ที่หวังล้มล้างสถาบันอย่างเด็ดขาด ตนได้ลงพื้นที่ร่วมทำกิจกรรม ปกป้องสถาบันกับอดีตสหาย ผกค.ได้เปลี่ยนมาเป็น ผรท.ในพื้นที่จ.ศรีษะเกษ นครราชสีมา บุรีรัมย์ มหาสารคาม และขอนแก่น ขณะนี้ประเทศต่างๆ ก็มีกฎหมายให้ความคุ้มครองประมุข

นายอานนท์กล่าวต่อว่าถ้ามีการไปกระทำการจาบจ้วง และยังมีกลุ่มบุคคลไปร้องเรียนยูเอ็น ให้สนับสนุนการยกเลิกมาตรา 112 ซึ่งถือเป็นการชักศึกเข้าบ้าน และมองว่ากลุ่มบุคคลเหล่านี้กำลังนำมาตรา 112 มาเล่นการเมือง เพื่อสร้างเงื่อนไขความขัดแย้ง เราจำเป็นต้องออกมาปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์และสนับสนุนการใช้มาตรา 112 และฝากเตือนไปทางยูเอ็น ที่บอกว่าเห็นใจเยาวชนที่ถูกดำเนินคดี 112 นั้น อย่าไปหลงเชื่อพวกใส่ร้ายป้ายสีพระมหากษัตริย์ไทยมาก และ ที่สำคัญเป็นเรื่องภายในประเทศอย่ามาจุ้นจ้านมาก ยูเอ็นต้องฟังเสียงส่วนใหญ่ของคนไทยที่จงรักภักดีต่อ ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์

วันเดียวกัน ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้โพสต์ความคืบหน้าคดี การชุมนุมที่หน้าสน.สำราญราษฎร์ โดยระบุว่า เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. “แอมมี่ The Bottom Blues” หรือ ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ พร้อมทนายความ เดินทางไป สน.สำราญราษฎร์ หลังได้รับการติดต่อจากพนักงานสอบสวนที่รับผิดชอบสำนวนคดี “สาดสี” จากเหตุการณ์หน้า สน.สำราญราษฎร์ เมื่อวันที่ 28 ส.ค. ให้เข้าไปพบโดยระบุว่า จะเปรียบเทียบปรับข้อหาทำร้ายร่างกาย และข้อหาตามพ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ

ก่อนหน้านี้ พนักงานสอบสวน สน.สําราญ ราษฎร์ แจ้งข้อกล่าวหาแอมมี่ในคดีนี้ รวม 3 ข้อหา ได้แก่ “ทําร้ายร่างกายผู้อื่น โดยไม่ถึงกับเป็นอันตรายแก่ร่างกายและจิตใจ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391, “ทำให้เสียทรัพย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 และ “ทำให้ปรากฏซึ่งรูปรอยใดๆ บนถนนหรือที่สาธารณะ” ตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ มาตรา 12 โดยเข้าแจ้งข้อกล่าวหาขณะแอมมี่ถูกฝากขังระหว่างสอบสวนที่เรือนจําพิเศษกรุงเทพฯ ในคดีจากการร่วมชุมนุมกับ #คณะราษฎรอีสาน ซึ่งแอมมี่ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

ต่อมา พนักงานสอบสวนได้สรุปสำนวนการสอบสวนส่งให้อัยการ โดยที่แอมมี่ได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่ออัยการขอให้สอบสวนเพิ่มเติมในประเด็นที่กรณีความเสียหายที่เกิดขึ้นกับเครื่องแบบของผู้กล่าวหาทั้งสิบนั้น ในวันเกิดเหตุมีประชาชนรวบรวมเงินจำนวน 35,000 บาท มอบให้แก่ พ.ต.อ.อิทธิพล พงษ์ธร ผกก.สน.สำราญราษฎร์ แล้ว ล่าสุดอัยการนัดฟังคำสั่งในวันที่ 4 มี.ค.2564

แต่เมื่อแอมมี่ไปถึง สน.สำราญราษฎร์ ตามที่พนักงานสอบสวนนัด ร.ต.อ.อานนท์ ไทรด้วง พนักงานสอบสวนได้แจ้งว่า ยังไม่สามารถเปรียบเทียบปรับได้ เนื่องจากได้ส่งสำนวนให้อัยการแล้ว ส่งสำนวนกลับมาให้สอบเพิ่มเติม หลังจากพนักงานสอบสวนสอบเพิ่มเติมเสร็จแล้วก็จะส่งสำนวนให้อัยการ อีกครั้ง หากอัยการสั่งให้เปรียบเทียบปรับ ถึงจะส่งมาให้พนักงานสอบสวนปรับ

พนักงานสอบสวนชี้แจงอีกว่า ส่วนที่นัดมา ครั้งนี้ให้มารับทราบพฤติการณ์ในการกระทำ ความผิดเพิ่มเติม จากนั้นได้แจ้งพฤติการณ์เพิ่มเติมว่า หลังผู้ต้องหาสาดสีใส่ผู้กล่าวหาที่ 1-10 ซึ่งยืนหลังแผงเหล็ก จนสีเปรอะเปื้อนเครื่องแบบ รวมไปถึงพื้นถนนเป็นบริเวณกว้าง และเดินกลับเข้าไปในกลุ่มผู้ชุมนุม ต่อมา ผู้ต้องหาได้เดินมาผลักอกผู้กล่าวหานายหนึ่ง เมื่อเทียบเคียงกับคำพิพากษาฎีกาที่ 9244/2553 ที่วางหลักไว้ว่า โจทก์สามารถฟ้องให้ลงโทษจำเลยที่ใช้เหล้าสาดใส่หน้าของผู้เสียหาย อันเป็นการใช้กำลังทำร้ายผู้เสียหายโดยไม่ถึงกับเป็นอันตราย แต่เมื่อเหล้าพลาดไปถูกคนอื่น เท่ากับผลของการกระทำเกิดแก่ผู้อื่นโดยพลาดไปด้วย กรณีนี้ การที่ผู้ต้องหาผลักอก ผู้กล่าวหา 1 คน จึงถือว่ากระทำต่อผู้กล่าวหาทั้ง 10 คนด้วย อันเป็นการใช้กำลังทำร้าย ผู้กล่าวหาที่ 1-10 โดยไม่ถึงกับเป็นอันตรายแก่ร่างกายและจิตใจ

หลังพนักงานสอบสวนแจ้งพฤติการณ์ ที่กล่าวหาเพิ่มเติม แอมมี่ไม่ลงลายมือชื่อในบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม เนื่องจากเห็นว่าพฤติการณ์ที่พนักงานสอบสวนแจ้งเพิ่มเติมนั้นไม่ถูกต้อง ด้านพนักงานสอบสวนก็ไม่มอบสำเนาบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมให้แอมมี่ด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน