เมื่อวันที่ 24 ม.ค. นายสายกลาง จินดาสุ นักโบราณคดีชำนาญการ สำนักศิลปากรที่ 7 (เชียงใหม่) เผยภายหลังการลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าโครงการพัฒนาข่วงหลวงเวียงแก้วบริเวณทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ (เดิม) อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ว่าหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีที่ขุดค้นพบคือแนวกำแพงเวียงแก้วที่สภาพค่อนข้างสมบูรณ์ เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์บ่งชี้ที่ตั้งและการมีอยู่จริงของพระราชวังล้านนา จากเดิมที่เป็นเพียงข้อสันนิษฐานจากข้อมูลแผนที่โบราณเมืองเชียงใหม่และเอกสารตำนานที่กล่าวถึงในเชิงพื้นที่ตั้งวังของพญามังรายเท่านั้น ขณะเดียวกันยังขุดค้นพบฐานรากของโบราณสถานต่างๆ ส่วนศาลเจ้าพ่อข้อมือเหล็กนั้นเชื่อว่าเป็นหอพระของวังหรือ “หอพระนางไหว้” ในสมัยพญาเมกุฏิสุทธิวงศ์ กษัตริย์องค์สุดท้ายของล้านนา นอกจากนี้ยังพบโบราณวัตถุเป็นเครื่องถ้วยจากทุกแหล่งเตาของล้านนา รวมทั้งเครื่องถ้วยจากสุโขทัย เครื่องถ้วยจากต่างประเทศ ทั้งเวียดนาม ญี่ปุ่น และเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์หยวน

รายงานข่าวแจ้งว่าจากการวิเคราะห์และจำลองภาพสามมิติพบว่าชั้นใต้ดินของทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ (เดิม) มีวัตถุกระจายเต็มอยู่ทั่วพื้นที่ จากผลการสแกนชั้นดินพบว่ามีหลายจุดที่มีวัตถุขนาดใหญ่และมีแนวต่อเนื่องกัน เช่น บริเวณประตูทางเข้า บริเวณศาลพระภูมิด้านใน บริเวณที่ตั้งองค์พระพุทธรูป และบริเวณบ้านพักทางด้านทิศตะวันออก หลังจากเก็บหลักฐานและจัดทำแบบแผนผังจุดที่พบโบราณสถานแล้ว กรมศิลปากรจะใช้วัสดุพิเศษคลุมตลอดแนวกำแพงเวียงแก้ว ก่อนทับด้วยทรายและกลบด้วยดินเพื่อรักษาสภาพโบราณสถานให้สมบูรณ์ที่สุด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน