อาจารย์มช.ชี้
รอลมมาช่วย

เชียงใหม่ยังจมฝุ่น อากาศแย่ติดอันดับ 3 ของโลก แม้จะมีจุดความร้อนเพียง 16 จุดก็ตาม แต่พื้นที่รอบข้าง โดยเฉพาะในประเทศพม่า ยังมีจุดความร้อนจำนวนมาก ด้านอาจารย์มช. ระบุสถานการณ์ฝุ่นจะดีขึ้นในวันที่ 14-15 มี.ค. หวังกระแสลมช่วยคลี่คลาย ขณะที่โฆษกรัฐบาลระบุไม่ได้ดูดาย แต่สั่งการให้แก้ไขปัญหา เผยสามารถลดการเผาอ้อยได้ 80 เปอร์เซ็นต์ ย้ำห้ามเผาเด็ดขาดถึง 30 เม.ย.

วันที่ 13 มี.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์ฝุ่นควันและปัญหาคุณภาพอากาศของจังหวัดเชียงใหม่ยังอยู่ในระดับที่ต้องเฝ้าระวังต่อเนื่อง สภาพตัวเมืองเชียงใหม่ยังถูกปกคลุมด้วยฝุ่นควันสีขาวหนาทึบติดต่อกันนานนับสัปดาห์ โดยช่วงเช้าดาวเทียมตรวจพบจุดความร้อนจากการเผาในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่เพียง 16 จุด อย่างไรก็ตามพบว่าพื้นที่โดยรอบพบจุดความร้อนจำนวนมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ประเทศเพื่อนบ้าน

ขณะที่ข้อมูลคุณภาพอากาศเว็บไซต์ https://www.iqair.com ที่รายงานคุณภาพอากาศจากเมืองสำคัญต่างๆ ทั่วโลก พบว่าเมื่อเวลา 11.00 น.จังหวัดเชียงใหม่ มีค่ามลพิษอากาศสูงที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก โดยมีค่าดัชนีคุณภาพอากาศ 229 US AQI และค่า PM2.5 อยู่ที่ 179.1 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ส่วนอันดับ 1 เมืองเสินหยาง ประเทศจีน ค่าดัชนีคุณภาพอากาศ 302 US AQI และอันดับ 3 เมืองริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย ค่าดัชนีคุณภาพอากาศ 261 US AQI

สำหรับรายงานผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศของกรมควบคุมมลพิษ จากสถานีตรวจวัดในพื้นที่ตำบลช้างเผือก,ตำบลศรีภูมิ และตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ พบว่าค่าฝุ่น PM2.5 เฉลี่ยในรอบ 24 ชั่วโมง เมื่อเวลา 09.00 น.อยู่ที่ 101 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จากค่ามาตรฐานไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ส่วนค่าดัชนีคุณภาพอากาศอยู่ที่ 211 จากค่ามาตรฐานไม่เกิน 100 ซึ่งภาพรวมคุณภาพอากาศถือว่าอยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยมีการแจ้งเตือนประชาชนให้งดออกทำกิจกรรมนอกอาคารและสวมหน้ากากป้องกันฝุ่นละออง โดยกลุ่มเสี่ยงผู้สูงอายุ เด็กเล็ก ผู้ป่วยเรื้อรังโรคทางเดินหายใจต้องดูแลเป็นพิเศษ

ผศ.ดร.ชาคริต โชติอมรศักดิ์ หัวหน้าคณะทำงานด้านวิชาการเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า คุณภาพอากาศยังคงแย่ อย่างไรก็ตามในช่วงวันที่ 14-15 มี.ค. 64 ดัชนีการระบายอากาศจะดีขึ้นเมื่อเทียบกับห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมา จะช่วยระบายฝุ่นควัน PM2.5 ให้มีระดับความเข้มข้นที่ลดลง อย่างไรก็ตามต้องติดตามข้อมูลใหม่ที่อาจเข้ามาได้ อาทิ แหล่งกำเนิดฝุ่นใหม่ที่จะเกิดขึ้นสร้างฝุ่นเพิ่มมาสะสมในพื้นที่เชียงใหม่ได้ สรุปสถานการณ์ฝุ่นควันในเชียงใหม่ช่วง 14-15 มี.ค. จะมีสภาพที่ดีขึ้น

ผศ.ดร.ชาคริตกล่าวอีกว่า สำหรับทิศทางกระแสลมในช่วงนี้จะแปรปรวนไปตามช่วงเวลา โดยตั้งแต่ช่วงบ่ายจนถึงก่อนเที่ยงคืนทิศทางลมจะเป็นลมในลักษณะที่พัดจากทิศตะวันตกไปยังทิศตะวันออก และมีบางช่วงเวลาที่ไหลเคลื่อนที่เข้ามาในพื้นที่แอ่งเชียงใหม่ หากพิจารณาข้อมูลดาวเทียมถึงแหล่งกำเนิดจะพบว่าสัมพันธ์กัน โดยในช่วงสองวันที่ผ่านมาแหล่งกำเนิดลดน้อยลง ค่าคุณภาพอากาศก็ดีขึ้นเล็กน้อยเช่นกัน ส่วนการเกิดฝนนั้น ยังไม่พบตัวบ่งชี้ว่าจะเกิดฝนได้ รวมถึงหากพิจารณาเรื่องของความชื้นประกอบ คาดการณ์ได้ว่า การเกิดฝนในช่วงนี้ยังมีข้อจำกัดอยู่

ด้านนายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ติดตามสถานการณ์หมอกควันภาคเหนือและห่วงใย จึงสั่งการทุกหน่วยราชการทั้งทหาร พลเรือน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บูรณาการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบเร่งด่วน ซึ่งรัฐบาลไม่ได้นอนใจ และได้หารือกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อแก้ลดจุดความร้อนที่เกิดขึ้นให้มากที่สุด พร้อมกำชับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ทำงานด้วยความระมัดระวัง ลดอุบัติเหตุหรืออันตรายที่จะเกิดต่อชีวิตและทรัพย์สิน รวมทั้งหน่วยราชการทุกพื้นที่ ต้องประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนสามารถติดตามสถานการณ์รายวันได้ทุกช่องทาง

นายอนุชากล่าวว่า ด้านกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดทำแผนงานป้องกันและแก้ไขปัญหา ฝุ่นละอองจากไฟป่าและการเผาในที่โล่งในพื้นที่ภาคเหนือ ปี 2564 เพื่อเป็นกรอบการดำเนินงานเฉพาะของพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ เน้นการป้องกันไฟป่าและการเผาในที่โล่ง ลดปริมาณเชื้อเพลิงโดยการเก็บมาใช้ประโยชน์ เร่งรัดขับเคลื่อนโครงการปลูกป่าและป้องกันไฟป่า ผลักดันเครือข่ายภาคประชาชนและจิตอาสาพระราชทาน ลงพื้นที่เพื่อสร้างการรับรู้ให้ กับชุมชน และจัดตั้งคณะกรรมการศูนย์บัญชาการระดับจังหวัด เพื่อรับมือสถานการณ์ จัดชุดปฏิบัติการเข้าเผชิญเหตุและควบคุมสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง และขอเจรจากับประเทศอาเซียนไปเมื่อวันที่ 8 ธ.ค.ที่ผ่านมา เพื่อลดมลพิษจากหมอกควันข้ามแดนอย่างยั่งยืน สำหรับมาตรการควบคุมการเผา ในพื้นที่ปลูกอ้อยอย่างเข้มงวด สามารถ ลดการเผาในพื้นที่ปลูกอ้อยได้ร้อยละ 80 ในฤดูการผลิตปี 2563/2564 และกำหนด ให้โรงงานน้ำตาลรับซื้ออ้อยไฟไหม้เข้าหีบ ได้ไม่เกินร้อยละ 20 ต่อวัน และจะลดลงให้เหลือร้อยละ 0-0.5 ต่อวัน ในปีถัดไป เพื่อให้อ้อยไฟไหม้หมดไปอย่างเด็ดขาดและยั่งยืน รวมทั้งจัดทำฐานข้อมูลการเผาในพื้นที่เกษตรกรรม แผนที่พื้นที่แปลงเกษตรที่มีการเผาซ้ำซาก โดยระบุพิกัดที่ชัดเจน เพื่อใช้ในการกำกับติดตาม และการสื่อสารทำความเข้าใจให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย

นายอนุชากล่าวว่า ภาครัฐดำเนินการตามมาตรการบรรเทาปัญหาหมอกควันและ ฝุ่นละอองขนาดเล็กอย่างต่อเนื่อง ทั้งการบริหารจัดการจุดความร้อนในพื้นที่ ทำแนวกันไฟ เพิ่มความชื้นในพื้นที่ด้วยฝายชะลอ ส่งเสริมการใช้วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรแทนการเผา รณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงปัญหาสุขภาพจากหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก เพื่อเป็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ซึ่งหลายจังหวัดในขณะนี้ได้ออกประกาศห้ามเผาโดยเด็ดขาดจนถึงวันที่ 30 เม.ย.นี้ ด้วย ทั้งนี้นายกฯฝากถึงประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบขอให้งดกิจกรรมกลางแจ้ง ใส่อุปกรณ์ป้องกัน สวมหน้ากากอนามัย สำหรับผู้ที่ต้องดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วย เด็กเล็ก ขอให้หลีกเหลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้งและสวมหน้ากากอนามัย รวมทั้งปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์หรือส่วนราชการด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน