ผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อวันที่ 28 เม.ย. ว่า ศาลคดีทุจริตและประพฤติ มิชอบภาค 4 ได้มีคำพิพากษา เมื่อ 2 เม.ย.ที่ผ่านมา ในคดีที่นายชาญชัย จันทร์วรชัยกุล เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายสุขุม กาญจนพิมาย ขณะดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นจำเลยที่ 1 พร้อมข้าราชการสาธารณสุขเป็นจำเลยอีก 6 คน ข้อหาความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ กรณีที่โจทก์ถูกย้ายจากผู้อำนวยการโรงพยาบาลขอนแก่น ไปปฏิบัติราชการที่กองบริหารการสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เมื่อปี 2563 โดยศาลมีคำพิพากษาให้ยกฟ้อง

โดยศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า การที่โจทก์อ้างว่าการร้องเรียนกล่าวหาเป็นเพียงบัตรสนเท่ห์ ไม่มีตัวตนนั้น ศาลเห็นว่า หนังสือร้องเรียนมีสำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงไทย สาขาขอนแก่น ชื่อบัญชีกองทุนพัฒนาโรงพยาบาลขอนแก่น 8 เล่ม สำเนาการเคลื่อนไหวทางบัญชี ถือเป็นพยานเอกสารที่เกี่ยวข้องระบุตัวบุคคลที่เป็นพยานได้ การที่จำเลยที่ 1 แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย เมื่อผลการสอบมีมูล เนื่องจากโรงพยาบาลขอนแก่นยังมีการรับเงินจากบริษัท ร้านค้า ผู้ขายยา ซึ่งพยานบุคคลและพยานเอกสารที่ได้จากการตรวจสอบของจำเลยที่ 3-7 เพียงพอแก่การวินิจฉัยข้อเท็จจริงแล้ว การปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 3-7 จึงชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย และเมื่อผอ.กลุ่มเสริมสร้างวินัยและระบบคุณธรรมได้เสนอการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงแก่โจทก์ และจำเลยที่ 2 ลงนามในคำสั่งดังกล่าว จึงชอบด้วยกฎหมาย

ต่อมาจำเลยที่ 1 ออกคำสั่งให้โจทก์ไปปฏิบัติราชการที่อื่น เนื่องจากเจ้าหน้าที่ร.พ.ขอนแก่นชุมนุมคัดค้านการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยร้ายแรงแก่โจทก์ แต่โจทก์ในฐานะผู้บังคับบัญชามีหน้าที่ระงับยับยั้งแต่ไม่ดำเนินการ การชุมนุมปรากฏในสื่อมวลชนเป็นการกล่าวร้ายและใส่ร้ายผู้บังคับบัญชา เป็นพฤติกรรมหมิ่นเหม่ต่อการกระทำผิดกฎหมาย มีภาพโจทก์กล่าวปราศรัยต่อ ผู้ชุมนุมด้วย พฤติกรรมของโจทก์จึงเป็นการละเลยต่อหน้าที่ในการปฏิบัติตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หากให้โจทก์อยู่ปฏิบัติราชการในฐานะผอ.ร.พ.ขอนแก่น ยิ่งเป็นเหตุให้เกิดความขัดแย้งในหมู่ข้าราชการ และความเข้าใจผิดของประชาชนมากขึ้น และเพื่อให้การดำเนินการสอบสวนทางวินัยเป็นไปด้วยความเรียบร้อย เมื่อปรากฏว่ายังมีการรับเงินบริจาคบริษัทร้านค้าที่ขายยาอยู่อีกในขณะโจทก์ดำรงตำแหน่งผอ.ร.พ.ขอนแก่น หากโจทก์ยังคงปฏิบัติราชการในตำแหน่งดังกล่าวย่อมไม่เหมาะสม

เนื่องจากพยานหลักฐานต่างๆ อยู่ในโรงพยาบาล จึงเป็นเหตุอันสมควรที่จำเลยที่ 1 จะมีคำสั่งย้ายโจทก์เพื่อให้การสอบสวนเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม นอกจากนี้การให้นายเกรียงศักดิ์ วัชรานุกูลเกียรติ ผอ.ร.พ.พระปกเกล้า ไปรักษาการในตำแหน่งโจทก์ ถือเป็นการใช้ดุลพินิจโดยชอบ จึงไม่เป็นความผิดตามฟ้อง กรณีจำเลยทั้ง 7 ไม่มีมูลทางอาญาแต่อย่างใด จึงพิพากษายกฟ้อง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน