พท.ติงเดดล็อก
แขวนแก้ม.256

‘ป้อม’ยันถ้าตัวเองยังอยู่ พปชร.ไม่ขัดแย้ง ไร้คลื่นใต้น้ำ ชี้เปลี่ยนตัวเลขาฯ พรรคเป็น ‘ธรรมนัส’ ไม่โยงเกี่ยวกับเตรียมปรับครม. ประชาธิปัตย์ดักคอ อย่าสร้างแรงกระเพื่อมโดยไม่จำเป็น ไม่หวั่น ‘ธรรมนัส’ เป็นแม่ทัพเลือกตั้งพรรคพปชร. พร้อมสู้กันแบบตรงไปตรงมา เพื่อไทยแย้งสภาแขวนร่างแก้ไขรธน.มาตรา 256 ตั้งส.ส.ร. เตือนเกิดเดดล็อก ต้องใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 60 แบบถาวร ก้าวไกลซัด ‘ชวน’ ทำเกินอำนาจหน้าที่ ด่วนตีความ ‘วันชัย’ ย้ำจุดยืน ปิดสวิตช์ส.ว.

ป้อมลั่นยังอยู่-พปชร.ไร้ปัญหา

วันที่ 19 มิ.ย. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เผยกรณีที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี พปชร. เลือกกก.บห.พรรคชุดใหม่ ลงคะแนนเลือกตัวเองเป็นหัวหน้าพรรค และร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรฯ เป็นเลขาธิการพรรค คนใหม่ จะทำให้มีความขัดแย้งอีกหรือไม่ ว่า “ไม่มีหรอก ไม่มีอะไรเลย”

เมื่อถามว่าจะไม่เกิดแรงกระเพื่อมภายในพรรคอีกใช่หรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวย้ำว่า ไม่มี การปรับเปลี่ยนกก.บห.พรรคครั้งที่แล้วก็ไม่แรงกระเพื่อม มีแต่สื่อที่เขียนกันเอง และ “ผมยังอยู่ ไม่มีอะไรหรอก”

เปลี่ยนเลขาฯไม่เกี่ยวปรับครม.

เมื่อถามถึงข้อสังเกตว่าการเปลี่ยนเลขาธิการพรรค จะส่งผลทำให้มีการปรับครม.ตามมาด้วยหรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า คนละเรื่องกัน เรื่องเปลี่ยนกก.บห.เป็นเรื่องของพรรค จะเกี่ยวกับการปรับครม.ได้อย่างไร

พล.อ.ประวิตรระบุถึงสาเหตุไม่ได้เข้าร่วมประชุมใหญ่เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ จ.ขอนแก่น เนื่องจากได้ลาออกจากเป็นหัวหน้าพรรคแล้ว จึงต้องให้ที่ประชุมได้เลือกก.บห.ชุดใหม่ก่อน

ก้าวไกลชี้ปูทาง‘ตู่’คัมแบ๊ก

นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.ก้าวไกล กมธ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติ มิชอบ (กมธ.ป.ป.ช.) สภาผู้แทนราษฎร กล่าวกรณี ร.อ.ธรรมนัส ได้นั่งเลขาฯ พปชร. พร้อมประกาศจะนำ พปชร.กวาดคะแนนเป็นอันดับ 1 เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ว่า เป็นเรื่องที่ พปชร.ต้องการ เหมือนที่ ร.อ.ธรรมนัสต้องการให้เป็นพรรคเดียว เพื่อสร้างความชอบธรรมให้การครองอำนาจต่อของพล.อ.ประยุทธ์ หรือคนในเครือข่าย คสช. สิ่งที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้า พปชร. ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อใช้ระบบเลือกตั้งบัตร 2 ใบ ให้มีส.ส.เขต 400 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน ทั้งยังต้องการให้ส.ส.สามารถแปรญัตตินำงบประมาณลงพื้นที่ได้ เพื่อให้พปชร.ชนะเลือกตั้ง แต่ปัญหาที่สร้างไว้ ทั้งปัญหาเศรษฐกิจ จับคนเห็นต่าง กระบวนการยุติธรรมที่มีข้อสงสัยมากมาย จึงอย่ามั่นใจว่าจะชนะเลือกตั้ง ขอให้ประชาชนช่วยกันกดดันตรวจสอบและสั่งสอนผ่านการเลือกตั้ง แล้วมาแก้ไขกติกาต่างๆ ให้เป็นธรรม

การขยับให้ร.อ.ธรรมนัส มาเป็นเลขาฯ พปชร. เพราะมีผลงานจากการเลือกตั้งซ่อมหลายครั้ง แต่สิ่งที่ พปชร.ทำไม่ได้ก่อให้ เกิดประโยชน์ต่อประชาชน และพัฒนาประชาธิปไตย ต้องการเพียงสืบทอดอำนาจให้พล.อ.ประยุทธ์และความชอบธรรมของฝ่ายตัวเองมากกว่า สุดท้ายจะไม่ทำให้เกิดการแก้ไขมาตรา 272 ที่ให้อำนาจส.ว. 250 คน โหวตเลือกนายกฯ ซึ่งเป็นการเอาเปรียบคนอื่น

ลั่นสอบ‘ธรรมนัส’ไม่ลดละ

เมื่อถามกรณีการพิจารณาคดีความของร.อ.ธรรมนัส ในชั้น กมธ.ป.ป.ช. จะส่ง เรื่องไปที่ คณะกรรมการป.ป.ช. เมื่อใด นาย ธีรัจชัยกล่าวว่า กมธ.ป.ป.ช. กำลังตรวจสอบมาตรฐานจริยธรรมของร.อ.ธรรมนัส อยู่ เมื่อที่ 16 มิ.ย. ได้เชิญนายวิชา มหาคุณ และรองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เข้ามาชี้แจง นายวิชาให้ความเห็นที่น่าสนใจ ว่า มาตรฐานจริยธรรมควรจะมาจากภายในของนักการเมือง หรือผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญทางการเมืองเอง โดยยกตัวอย่างกรณีรัฐมนตรีคนหนึ่งที่เยอรมนี ถูกร้องเรียนตรวจสอบการทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก ที่ลอกจากคนอื่นมา ผู้นำประเทศขณะนั้นออกมาปกป้องว่าเป็นความผิดในอดีต แต่สุดท้ายรัฐมนตรีคนนั้นลาออกเพราะความละลายใจของตัวเอง สำหรับประเทศไทยเรื่องคดีของร.อ.ธรรมนัส ผ่านการอภิปรายไม่ไว้วางใจมาแล้วและตรวจสอบจากหลายหน่วยงาน แต่ผู้นำประเทศก็ละเลยเฉยเมย และตัวบุคคลก็ไม่เคยรู้สึกอาย แตกต่างจากมาตรฐานที่พึงจะมี อย่างไรก็ตามเราจะตรวจสอบและทำความจริงให้ปรากฏ

จุรินทร์ดักคอปรับครม.ยิ่งวุ่น

ที่โรงแรมแคนทารี โคราช จ.นครราชสีมา นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯและรมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวกรณี พปชร. เปลี่ยนแปลงกก.บห.พรรค มีสัญญาณถึงการปรับ ครม.หรือไม่ ว่า ตนตอบไม่ได้ว่าพปชร.จะส่งสัญญาณอย่างไร แต่ยืนยันในส่วนปชป. เห็นว่าหากการเมืองไม่นิ่งการแก้ปัญหาเศรษฐกิจช่วงโควิดก็จะได้รับผลกระทบ ซึ่งต้องแก้ควบคู่กันไป การทำให้การเมืองนิ่งนั้น ปชป.จะไม่ทำให้การเมืองเกิดปัญหา มีแรงกระเพื่อมโดยไม่จำเป็น ยกเว้นกระทบเงื่อนไขสำคัญ ระหว่างนี้จะพยายามทำทุกวิถีทางให้การเมืองเดินหน้าและร่วมมือแก้โควิดและระบบเศรษฐกิจ รวมถึงประเด็นที่จะทำให้การเมืองนิ่ง คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น ฝ่ายบริหารจะได้มีเวลาทุ่มเทการแก้ปัญหาโควิดและเศรษฐกิจได้อย่างเต็มที่เช่นกัน

ส่วนสถานการณ์การเมืองปัจจุบันจะอยู่ครบวาระหรือไม่ ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริง ไม่มีใครตอบได้ล่วงหน้า ทุกรัฐบาลเวลามีการยุบสภาหรือมีเหตุให้เปลี่ยนแปลงทางการเมือง ก็ไม่รู้ล่วงหน้า ยกเว้นที่กำหนดไว้แต่ต้น เหมือนสมัยรัฐบาลชวน 2 ที่ประกาศจะยุบสภาก่อนครบวาระ 1-2 สัปดาห์ แต่หลายกรณีไม่อยู่ในเงื่อนไขที่ใครจะเตรียมการไว้ล่วงหน้าได้เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่สำคัญคือถ้าอยากมีเวลาแก้ปัญหาโควิดและเศรษฐกิจ รัฐบาลก็ต้องไม่ไปสร้างเงื่อนไข ในการจะนำไปสู่การเกิดปัญหาทางการเมืองโดยไม่จำเป็น เป็นเรื่องที่ควรจะขีดเส้นใต้ไว้ เมื่อถามย้ำว่าสถานการณ์ปัจจุบันไม่ควรปรับ ครม.ใช่หรือไม่ นายจุรินทร์ไม่ตอบ แต่ระบุเพียงว่าสิ่งที่พูดก็ชัดพอสมควรแล้ว

ปชป.ไม่กังวลพปชร.เปลี่ยนเลขาฯ

เวลา 10.30 น. ที่ทำการ ปชป. นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรค กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงใน พปชร. โดย มีร.อ.ธรรมนัส เป็นเลขาธิการพรรค ว่า การเปลี่ยนแปลงเป็นสิทธิของพรรคเลือกผู้บริหาร ปชป.ไม่สามารถก้าวล่วงได้ เราก็ทำหน้าที่ของเรา เมื่อยุบสภาเลือกตั้งใหม่เราก็สู้เต็มที่ ไม่ว่า พปชร. จะมีใครเป็นเลขาฯพรรค เมื่อถามว่าปชป.กังวลเรื่องพื้นที่หรือไม่โดยเฉพาะในภาคใต้ เพราะล่าสุดร.อ.ธรรมนัส สามารถพาส.ส.ชนะเลือกตั้งซ่อมมาได้ นายราเมศกล่าวว่า เราไม่ได้กังวล เพราะปกติ ร.อ.ธรรมนัสก็ดูแลเรื่องการเลือกตั้งอยู่หลายเขต ซึ่งเป็นที่ทราบกันดี เราพร้อมต่อสู้ในระบอบประชาธิปไตยอยู่แล้ว และยังไม่ปรากฏ พปชร.จะมาดึงตัวส.ส.ไปอยู่ด้วย เราอยากเห็นการเมืองที่พัฒนาไปเป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น การทำงานการเมืองต้องทำแบบตรงไปตรงมาก็จะเป็นผลดดีที่สุด

ในส่วนของพรรคก็เดินหน้าเต็มที่ไม่กังวลว่าจะยุบสภาในเวลาใด เราพร้อมจะเข้าสู่โหมดการเลือกตั้งเพราะขณะนี้พรรคมีความเคลื่อนไหว มีการจัดตั้งตัวแทนสาขาพรรคไว้แล้วปะมาณ 323 เขตเลือกตั้ง จาก 350 เขต หัวหน้าพรรคก็ได้ทำพื้นที่ โดยใช้โครงการ “จุรินทร์ ออนทัวร์” ออกไปพบปะและรับฟังปัญหาประชาชน เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับพรรค

เตือนสว.อย่าตั้งธงคว่ำล่วงหน้า

นายราเมศ ยังแถลงถึงการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะเข้าสู่ที่ประชุมรวมรัฐสภาวันที่ 22-24 มิ.ย.นี้ ซึ่งปชป. พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา ร่วมกันยื่นให้ประธานรัฐสภาไปแล้ว รวม 8 ร่าง ซึ่งในส่วนของปชป.นั้นวันที่ 20 มิ.ย.นี้ เวลา 13.30 น. จะมีการประชุมคณะกรรมการด้านกฎหมายของพรรค ที่มีนายถวิล ไพรสณฑ์ ประธานคณะกรรมการกฎหมาย เป็นประะธาน การประชุม เพื่อจัดเตรียมข้อมูลเกี่ยวรัฐธรรมนูญให้ ส.ส.นำไปอภิปรายร่วมกันรัฐสภา และในวันที่ 21 ม.ย. เวลา 13.30 น. จะมีการประชุมส.ส.พรรคเตรียมความพร้อมอีกครั้ง

เมื่อถามว่า ส.ว.ประกาศว่าจะไม่สนับสนุนร่างแก้ไขรัฐธรรมที่ไม่ใช่ร่างของ พปชร. นายราเมศกล่าวว่า ขอเรียกร้องให้ ส.ว.อย่าตั้งหลักว่าจะไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมสักฉบับ หรือไม่เห็นชอบฉบับใดฉบับหนึ่ง ทั้งที่ยังไม่ได้ฟังรายละเอียดและสาระสำคญ จึงขอให้ส.ว.ฟังเสียงประชาชนก่อนว่าได้ประโยชน์มากน้อยแค่ไหน และประชาชนเรียกร้องให้มีการแก้ส่วนใดบ้าง เมื่อรับรู้ข้อมูลครบถ้วนแล้วเชื่อว่าจะเปลี่ยนใจสมาชิกรัฐสภาได้

พท.ติงสภาแขวนแก้ม.256

นายชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคและประธานคณะทํางานฝ่ายกฎหมาย พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวกรณี นพ.สุกิจ อัตโถปกรณ์ คณะที่ปรึกษาประธานรัฐสภา แถลงมติว่าร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ของฝ่ายค้าน นําไปสู่การจัดทํารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 ขัดต่อคําวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ว่า มติดังกล่าวเป็นการยกเอาคําวินิจฉัยของศาลฯ เพียงบางส่วนมาอ้าง ถ้าอ่านคําวินิจฉัยโดยรวมทั้งหมด ทั้งของปี 2555 และปี 2564 ศาลฯ มิได้ห้ามจัดทําฉบับใหม่ รัฐสภาสามารถใช้บทบัญญัติว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อจัดทําฉบับใหม่ได้ เพียงแต่ให้ประชาชนลงประชามติเสียก่อนว่าจะให้มีฉบับใหม่หรือไม่

จริงอยู่รัฐธรรมนูญ 2560 บัญญัติอํานาจหน้าที่ของรัฐสภาไว้เฉพาะการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256 เพราะคงไม่มีผู้ร่างคณะใดที่จะเขียนให้จัดทําฉบับใหม่ไว้ในรัฐธรรมนูญที่ตนร่างขึ้น การเสนอญัตติร่างแก้ไขเพิ่มเติม บวกกับวิธีจัดทําฉบับใหม่ ก็คือร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนั่นเอง ยังไม่มีฉบับใหม่เกิดขึ้น ศาลฯ ก็มิได้บอกว่าผิด หรือทําไม่ได้ เพียงแต่ให้ไปทําประชามติเสียก่อนการจัดทําฉบับใหม่เท่านั้น

ปัญหาอยู่ที่คำวินิจฉัยศาล

อาจกล่าวได้ว่าคําวินิจฉัยไม่ชัดเจน แม้คําวินิจฉัยกลางก็ยังหาข้อยุติไม่ได้ เห็นได้จากประชุมรัฐสภาพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญวาระ 3 ที่ผ่านมา แต่ก็ไม่ควรหยิบยกเฉพาะบางส่วนบางตอนของคําวินิจฉัยมากล่าวอ้าง ต้องพิจารณาคําวินิจฉัยโดยรวมทั้งหมด ทั้งนี้ การทําประชามติโดยรวมต้องใช้มติรัฐสภาเพื่อ นําเสนอครม. เพราะการทําประชามติตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ทําได้ 2 กรณี คือ ครม.เห็นสมควร กับรัฐสภามีมติตามมาตรา 256 แล้วแจ้ง ครม.ดําเนินการ จึงต้องริเริ่มเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมเข้าสู่รัฐสภาเ ตามมาตรา 156 (15) และมาตรา 256 สมมติประชามติผ่านให้จัดทําฉบับใหม่ได้ ก็มิใช่เป็นการยกเลิกฉบับ 2560 ได้โดยอัตโนมัติ ก็ต้องดำเนินการตามมาตรา 256 โดยเสนอเป็นญัตติร่างแก้ไข เพิ่มเติม

เตือนเดดล็อก-ใช้ฉ.60นิจนิรันดร

การตีความว่าญัตติของฝ่ายค้านขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพราะมิใช่เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ จะกลายเป็นเดดล็อก ทําอะไรไม่ได้เลย ต้องใช้รัฐธรรมนูญ 2560 ไปชั่วนิจนิรันดร

จะขอดูเหตุผลจากประธานรัฐสภา และจะหารือกันเพื่อหาทางออก เพราะกรรมการบอกญัตติยังไม่ตกไป ปัญหาสําคัญอยู่ที่คําวินิจฉัยของศาลฯไม่ชัดเจนส่วนหนึ่ง แต่อยากเรียกร้องทุกฝ่ายว่ารัฐธรรมนูญ 2560 คือปัญหาของประเทศ และควรมีรัฐธรรมนูญของประชาชนหรือไม่ หากอยากจะปฏิรูปการเมือง ปฏิรูปประเทศ ทางเดียวคือจัดทํารัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยประชาชน

ก้าวไกลตำหนิ‘ชวน’ด่วนตีความ

นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรค ก้าวไกล กล่าวว่า แม้เราจะไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาการแก้ไขมาตรา 256 ตามที่ พท.เสนอให้จำกัดอำนาจ ส.ส.ร. ห้ามแตะหมวด 1 และหมวด 2 แต่เราก็เห็นว่ารัฐสภามีอำนาจที่จะพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมที่ พท.เสนอ ศาลฯวินิจฉัยเพียงแต่ว่าหากจะจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ต้องให้ประชาชนลงประชามติก่อน โดยไม่ได้ระบุว่าต้องทำขั้นตอนใด และไม่ได้บอกว่ารัฐสภาไม่สามารถพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อให้มี ส.ส.ร.ได้ จึงเป็นเรื่องไม่เหมาะสมที่ประธานรัฐสภาไปด่วนตีความเสียเองว่าร่างดังกล่าวไม่สามารถบรรจุเข้าระเบียบวาระการประชุมของรัฐสภาได้ ทั้งที่เป็นการเสนอญัตติที่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ หากจะหาข้อยุติว่าต้องไปจัดทำประชามติก่อนจะพิจารณาวาระที่ 1 ก็ควรเป็นมติของรัฐสภา ไม่ใช่ความเห็นของประธานรัฐสภา

ในเมื่อร่างแก้ไขมาตรา 256 ของพท.ถูกแขวนหรือคว่ำไปแล้วตั้งแต่ยังไม่เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา พรรคก้าวไกลเสนอให้ส.ส.ช่วยกันผลักดันให้ร่าง พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติผ่านวาระ 2 และ 3 ให้ได้ในวันที่ 22 มิ.ย.นี้ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลและ ส.ว.ต้องไม่เล่นเกมตีรวน เตะถ่วงการพิจารณาร่างนี้ และทันทีที่พ.ร.บ.ประชามติประกาศใช้ พรรคก้าวไกลจะเสนอญัตติให้รัฐสภาพิจารณามีมติให้ครม. จัดทำประชามติถามประชาชนว่าเห็นชอบหรือไม่ที่จะตั้ง ส.ส.ร. เพื่อจัดทำฉบับใหม่แทนที่รัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งทั้ง ส.ว. และ พปชร.อ้างมาตลอดว่าต้องถามประชาชนก่อน จึงไม่มีเหตุผลที่จะไม่เห็นชอบให้มีประชามติ

เล็งชงญัตติถามประชามติ

นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.ก้าวไกล กล่าวว่า นายชวนบอกเช่นนี้ไม่ได้ ต้องให้สภาเป็นผู้พิจารณาว่าขัดหรือไม่ขัดคำวินิจฉัย หากพท.ยืนยันว่าเป็นร่างที่สามารถทำได้ แล้วนายชวนมาตัดสินทันทีแบบนี้ คิดว่าเป็นการเกินเลยจากอำนาจที่สภามอบให้ ความจริงเราไม่เห็นด้วยกับพท. เรื่องของเนื้อหาสาระ แต่ยืนยันว่าในหลักการปฏิบัติของสภาอำนาจของประธานสภาต่อเรื่องนี้คือมีหน้าที่ในการบรรจุเท่านั้น จะมาสกัดไม่ได้ มิเช่นนั้นเท่ากับว่านายชวนทำตัวเป็นสภาแทนพวกเรา

เมื่อถามว่าจะเดินหน้าเรื่องนี้ต่อไปได้อย่างไรบ้าง นายรังสิมันต์กล่าวว่า ถ้าเอาโมเดลแบบที่ก้าวไกลเสนอคือ เมื่อร่าง พ.ร.บ.ประชามติผ่านสภา จากนั้นสามารถเสนอญัตติให้รัฐสภาพิจารณาว่าจะทำประชามติเพื่อยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2560 หรือไม่ หากสภามีมติว่าควรทำประชามติก็จะส่งเรื่องไปที่ ครม. เชื่อว่าถ้าสภามีมติ ครม.คงไม่กล้าขัดขวาง เพราะเท่ากับขวางความต้องการของประชาชน เมื่อทำประชามติยกเลิกฉบับ 2560 แล้วก็จะสามารถเสนอให้จัดตั้ง ส.ส.ร. เพื่อจัดทำฉบับใหม่ โดยไม่ต้องกังวลแล้วว่าจะแก้หมวด 1 หรือหมวด 2 ไม่ได้ ในมุมนี้ข้อเสนอของเรา คือ ส.ส.ร.จะมีอำนาจเต็มที่ในการแก้รัฐธรรมนูญใหม่ทุกหมวดทุกมาตรา แต่ไม่ได้หมายความจะต้องมีใครไปแก้หมวด 1 หมวด 2 เป็นเรื่องที่ ส.ส.ร.จะว่ากัน ซึ่งเป็นความต้องการของประชาชน

วันชัยยันจุดยืนปิดสวิตช์ส.ว.

นายวันชัย สอนศิริ ส.ว. ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุมพิจารณาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญวันที่ 23-24 มิ.ย.นี้ ว่า ตนยืนยันจุดยืนเดิมในการสนับสนุนมาตรการปิดสวิตช์ ส.ว.ในการเลือกนายกฯ ส่วนส.ว.คนอื่นจะคิดอย่างไร สนับสนุนหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ความจริงจะมีส.ว.หรือไม่มีส.ว.โหวตนายกฯ ก็ไม่อยากให้ส.ส.หรือพรรคการเมืองหลงประเด็นต่อมาตรานี้ ซึ่งจะมีมาตรานี้หรือไม่ ส.ส.ก็เป็นใหญ่อยู่แล้ว เพราะตามรัฐธรรมนูญอำนาจของรัฐบาลและใครจะเป็นนายกฯ อยู่ที่ส.ส.และพรรคการเมืองทั้งสิ้น ไม่ได้เกี่ยวกับส.ว. แม้จะมีสิทธิโหวตนายกฯ ก็จะโหวตตามที่ ส.ส.มีเสียงรวมกันได้เกินกึ่งหนึ่ง

ตู่นั่งนายกฯเพราะพรรครบ.

ฉะนั้น ถ้าส.ส.รวมตัวกันได้เกินกึ่งหนึ่ง เช่น 270-300 เสียง ส.ว.ก็ต้องโหวตให้คนนั้นเป็นนายกฯอยู่แล้ว เพราะคนจะเป็นนายกฯและเป็นรัฐบาลได้นั้นต้องมีเสียงในสภาผู้แทนราษฎรเกินกว่ากึ่งหนึ่งจึงจะบริหารประเทศได้ หากส.ว.โหวตคนที่มีเสียงในสภาไม่เกินกึ่งหนึ่ง หรือว่าส.ว.สวนกระแสประชาชน รัฐบาลก็จะอยู่ได้ไม่เกิน 3 เดือน กฎหมายใดเข้าสภาก็ล้ม จึงไม่อยากให้ส.ส.และพรรคการเมืองหลงประเด็นและโจมตีส.ว.

“และที่พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯได้ ไม่ใช่เพราะส.ว. แต่เพราะพรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย และพรรคเล็กพรรคน้อยที่โหวตท่าน ส.ว.จึงโหวตตาม หากส.ส.รวมกันได้เกินกว่ากึ่งหนึ่ง ผมเชื่อว่าไม่มีส.ว.คนใดที่จะขวางมติประชาชนแน่” นายวันชัยกล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน