พท.ห่วงไม่รอด
รื้อบัตรเลือกตั้ง

วุฒิสภาประกาศงดประชุม 28-29 มิ.ย. ผวาโควิดหลังมี ส.ว.ติดเชื้อ‘ชวน’ ยันสภาผู้แทนฯ ประชุมตามปกติ ‘ไพบูลย์’ ลั่นพร้อมนั่งประธานกมธ.แก้รธน. ปชป.ส่ง ‘บัญญัติ บรรรทัดฐาน’ ชิงเก้าอี้ ‘จุรินทร์’ มั่นใจร่างแก้รธน. รื้อระบบเลือกตั้งเป็นบัตร 2 ใบไม่ขัดรัฐธรรมนูญ วอนทุกฝ่ายร่วมมือเข็นครกขึ้นภูเขา เพื่อไทยห่วงฉบับปชป.ไปไม่รอด เหตุไม่สมบูรณ์-ขัดรธน. ย้ำเดินหน้าแก้ทั้งฉบับ ปิดสวิตช์ส.ว.

‘บิ๊กตู่’เตรียมประชุมบีโอไอ

เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในวันที่ 28 มิ.ย. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม จะเป็นประธานประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ครั้งที่ 2/2564 คาดที่ประชุมจะพิจารณานโยบายสำคัญการปรับปรุงสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมคุณค่าโครงการ (Merit-based Incentives) สร้างแรงจูงใจและกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในกิจกรรมที่เกิดประโยชน์ต่อประเทศ ทั้งสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมเพื่อพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน การกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค และพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรม

อีกทั้งที่ประชุมจะมีการพิจารณาในประเด็นอื่นๆ ที่น่าสนใจ อาทิ การปรับปรุงการส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ การปรับปรุงการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ และการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และหน่วยงานราชการอื่น

วุฒิฯสั่งงดประชุม-สภามีปกติ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากพบว่าพล.อ.เลิศฤทธิ์ เวชสวรรค์ ส.ว. ติดโควิด-19 ซึ่งไม่ได้เข้าร่วมประชุมในการพิจารณาร่างพ.ร.บ.การออกเสียงประชามติและญัตติการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพียงมาเซ็นชื่อหน้าห้องประชุมในวันที่ 22-23 มิ.ย.แล้วเดินทางกลับบ้าน เพราะรู้สึกมีอาการไม่สบาย ทางวุฒิสภาได้ตั้งคณะกรรมการกำหนดแนวทางบริหารจัดการการประชุมวุฒิสภาและคณะกรรมาธิการ เพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ประกอบด้วย นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ เป็นประธานกรรมการ พร้อมด้วย นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ นพ.อำพล จินดาวัฒนะ นายคำนูณ สิทธิสมาน นายวันชัย สอนศิริ นายสมชาย แสวงการ และนายนัฑ ผาสุข เลขาธิการวุฒิสภา ซึ่งได้มีการประชุมเป็นกรณีเร่งด่วนเมื่อวันเสาร์ที่ 26 มิ.ย. นอกจากนี้ ได้งดการประชุมวุฒิสภาในวันที่ 28-29 มิ.ย.2564 และวันเดียวกันนี้ได้มีการบิ๊ก คลีนนิ่ง ในพื้นที่ด้วย

ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ให้สัมภาษณ์ว่า ขอส่งกำลังใจไปให้พล.อ.เลิศฤทธิ์ เท่าที่ทราบมาท่านติดจากภรรยา ไม่ได้ติดมาจากสภา ถ้าใครทราบว่าได้ไปสัมผัสกับท่านก็ขอให้ไปตรวจเพื่อความแน่ใจ แต่เท่าที่ดูจากไทม์ไลน์ของท่านแล้วเป็นการมาเซ็นชื่อเข้าประชุมและพบปะพูดคุยกับเพื่อนส.ว. 2-3 คน แต่ได้กำชับทางรัฐสภา พร้อมย้ำมาตรการความเข้มงวดเคร่งครัดให้มากขึ้น ส่วนการประชุมของสภาในสัปดาห์หน้ายังคงมีปกติ

โยนถามผู้เสนอแก้ม.83-ม.91

นายชวน กล่าวถึงกรณีรัฐสภามีมติรับ หลักการวาระหนึ่ง ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่เสนอแก้ไขมาตรา 83 และมาตรา 91 เปลี่ยนระบบเลือกตั้งจากบัตรใบเดียว เป็นบัตร 2 ใบ ประกอบด้วย ส.ส.เขต 400 คน และบัญชีรายชื่อ 100 คน ขณะที่บทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งในรัฐธรรมนูญ 2560 มีถึง 8 มาตราจะเกิดปัญหาในการแปรญัตติหรือไม่ว่า เรื่องนี้คงต้องถามจากผู้เสนอกฎหมาย สภามีหน้าที่ประชุมและลงมติ

ส่วนการตรวจสอบจริยธรรมของส.ส.ในสภาตามคำร้องนั้น ตอนนี้อนุกรรมการกำลังพิจารณาอยู่และมีการขอขยายเวลาในการศึกษา ทราบว่ามีเรื่องร้องเรียนกว่า 20 เรื่อง ฉะนั้นกรรมการจะไปดูแล้วนำมาเสนอกรรมการชุดใหญ่ เมื่อพร้อมตอนไหนก็จะค่อยนัดประชุมพิจารณาแต่ละเรื่อง ส่วนเรื่องส.ส.เสียบบัตรแทนกันที่ทางคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ส่งกลับมา เรื่องนี้เป็นการดำเนินการตามข้อกฎหมายต่อไปไม่ใช่คุณธรรมจริยธรรม

‘จุรินทร์’ให้ช่วยเข็นครกขึ้นเขา

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ที่มีข้อห่วงใยว่าในรัฐธรรมนูญ ปี 60 มีมาตราที่เกี่ยวกับเลือกตั้งมากกว่า 2 มาตรา จะเป็นอุปสรรคในการแปรญัตติหรือจะต้องยื่นร่างเพิ่มเติมหรือไม่นั้น ตนไม่คิดว่าจะเป็นอุปสรรค และได้สอบถามฝ่ายกฎหมายเบื้องต้นแล้วคิดว่าไม่ได้มีปัญหาอุปสรรคอะไร เพราะเมื่อรัฐสภามีมติรับหลักการแล้วว่าจะแก้รัฐธรรมนูญมาตราใดบ้างที่เป็นหลักสำคัญ เมื่อเข้าสู่การพิจารณาวาระ 2 ในส่วนของการแก้ไข หากจะต้องไปกระทบกับมาตราใดบ้างก็สามารถปรับปรุงแก้ไขได้ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการที่รับมา ฉะนั้นจะระบุกี่มาตรา ก็ไม่เป็นไร มาตราที่เหลือจะต้องปรับให้สอดคล้อง กับมาตราที่รับหลักการไป

“เบื้องต้น เท่าที่คุยกับฝ่ายกฎหมายไม่ได้มีปัญหาอะไร และไม่อยากให้ตีตนไปก่อนไข้ด้วย เพราะเราต้องจับมือกับทุกฝ่ายที่จะช่วยเข็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญไปสู่ความสำเร็จ แม้ว่าจะเป็นการเข็นครกก็ตาม แต่ถ้าช่วยกันหลายๆ แรง ทั้งในส่วนของ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล ส.ส.ฝ่ายค้าน ส.ว. ผมคิดว่า ครกก็ขึ้นไปถึงภูเขาได้ ฉะนั้นที่สำคัญคือขอให้ร่วมมือร่วมใจกัน” นายจุรินทร์กล่าว

นายจุรินทร์กล่าวว่า สิ่งสำคัญของแก้รัฐธรรมนูญเรื่องระบบการเลือกตั้ง ซึ่งมีสาระสำคัญที่จะเป็นประโยชน์กับประเทศและประชาชน รวมทั้งระบบการเมืองในภาพรวม ส่วนที่มีคำถามว่าประชาชนจะได้อะไรนั้น ความจริงตรงนี้เป็นเรื่องใหญ่ เพราะการเปลี่ยนระบบจากบัตรใบเดียวเป็นบัตร 2 ใบ เท่ากับเป็นการขยายสิทธิเสรีภาพในการเลือกตัวแทนของประชาชนเพื่อไปจัดตั้งรัฐบาลต่อไปในอนาคต ถ้าได้รัฐบาลที่ดี เข้าใจปัญหาประชาชน มีศักยภาพในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ปากท้องให้กับประชาชนได้ รวมทั้งปัญหาอื่นๆ ประชาชนจะเป็นผู้ได้รับประโยชน์โดยตรง

ดัน‘บัญญัติ’นั่งประธานกมธ.

ผู้สื่อข่าวถามถึงการเสนอชื่อประธาน คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ…ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ นายจุรินทร์กล่าวว่า นายบัญญัติ บรรทัดฐาน หรือนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ก็มีศักยภาพ สามารถเป็นประธานกมธ.ได้ โดยเฉพาะนายบัญญัติ ศักยภาพ ล้นเหลือ แต่ทั้งหมดคงจะต้องไปหารือกันในที่ประชุมกมธ.ว่าจะมีความเห็นอย่างไร การหารือคงต้องแสวงหาจุดร่วม เพราะการทำหน้าที่ในวาระ 2 ก็สำคัญ หากเห็นพ้องต้องกัน ขับเคลื่อนทุกอย่างเดินหน้าไปด้วยกันได้อย่างดี โอกาสที่จะผ่านวาระ 3 ก็มี ไม่ใช่ไม่มี อย่าเพิ่งตีตนไปก่อนไข้ สำหรับประชาธิปัตย์จะมุ่งมั่นตั้งใจเดินหน้าสนับสนุนจนวาระสุดท้าย

“วาระที่ 3 เราจะพยายามผลักดันให้การแก้รัฐธรรมนูญประสบความสำเร็จ แม้ว่าจะเหลือแค่ร่างเดียว คือร่างประชาธิปัตย์ แต่ถือว่านี่คือการนับหนึ่งในการที่จะก้าวต่อไปที่จะทำให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้นในประเด็นอื่นได้ แม้ว่าจะเสียดายกับร่างอีก 5 ร่างของประชาธิปัตย์ที่ตกไป เพราะแต่ละร่างเป็นประโยชน์โดยตรงกับประชาชนเหมือนกัน แต่เป็นเรื่องที่ผ่านไประดับหนึ่ง อย่างน้อยร่างที่เหลือ 1 ร่าง เราจะพยายามทำหน้าที่เต็มที่ ไม่วอกแวก ไม่เปลี่ยนใจ” นายจุรินทร์กล่าว

ชี้ร่างแก้บัตรเลือกตั้งไม่ขัดรธน.

ด้านนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรี ธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะกมธ.วิสามัญพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนของระบบเลือกตั้ง เบื้องต้นที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายทราบมาว่า สามารถดำเนินการได้ เพราะแก้ในส่วนของหลักการแล้วหากกระทบต่อมาตราอื่นก็สามารถแก้ไขเพิ่มเติมได้ ถ้าไม่ขัดกับหลักการ ผู้สื่อข่าวถามว่า ได้หาทางออกไว้หรือไม่หากเรื่องดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ จนไม่สามารถแก้ไขได้ นายชินวรณ์กล่าวว่า แทนที่จะตั้งคำถามว่าทำไมแก้ไม่ได้ แต่ควรตั้งคำถามว่าเราจะแก้ไขให้สมบูรณ์ได้อย่างไรดีกว่า

นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ขอขอบคุณสมาชิกรัฐสภาที่ได้ผ่านร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติมที่ทราบกันอยู่แล้วคือฉบับที่ 13 ที่ได้ผ่านการพิจารณาจากรัฐสภาในวาระที่ 1 เป็นร่างของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมีการลงชื่อร่วมกันระหว่าง ส.ส.พรรคภูมิใจไทย (ภท.) และพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ต้องถือว่าเป็นความสำเร็จร่วมกันของทุกคนที่ได้ร่วมกันผลักดันให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เชื่อว่าสมาชิกรัฐสภาหลายฝ่ายจะเห็นพ้องต้องกันให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในส่วนของระบบเลือกตั้ง และยืนยันว่าร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 13 เป็นร่างที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

เมื่อถามว่าการเลือกประธานกมธ.พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายราเมศกล่าวว่า หากกมธ.ให้เกียรติทางพรรคก็พร้อมที่จะสนับสนุนนายบัญญัติ บรรทัดฐาน เพราะเป็นบุคคลที่หลายฝ่ายให้การยอมรับ มีความเป็น กลาง ซื่อสัตย์สุจริต คิดถึงประโยชน์ของประชาชนและประเทศเป็นที่ตั้ง มีประสบการณ์ ในทางการเมืองมาอย่างยาวนาน และเคยร่วมงานในส่วนของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาแล้วหลายครั้ง หากกมธ.เห็นด้วยก็เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาในวาระที่ 2 เป็นอย่างมาก

‘ไพบูลย์’พร้อมนั่งปธ.กมธ.

นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าฝ่ายกฎหมาย พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะกมธ.วิสามัญพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นายวิรัช รัตนเศรษฐ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ระบุจะเสนอชื่อเป็นประธานกมธ.พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า เรื่องของตำแหน่งตนยังไม่อยากแสดงความคิดเห็นอะไรไปก่อน เพราะเป็นเรื่องของมารยาท ทุกตำแหน่งไม่ว่าจะเป็นประธาน รองประธาน เลขานุการ และโฆษก กมธ. ขึ้นอยู่กับมติที่ประชุมกมธ.

ถ้ามีการเสนอชื่อประธานเพียงชื่อเดียวก็ไม่ต้องเลือก แต่ถ้าเสนอ 2 ชื่อก็ต้องลงมติเลือกด้วยการลงคะแนนลับ ไว้รอมติที่ประชุมดีกว่า ซึ่งมีวาระเลือกกมธ.ในตำแหน่งต่างๆ และกำหนดกรอบการทำงาน ส่วนพรรคพลังประชารัฐคงได้พูดคุยกันก่อน น่าช่วงใกล้ๆ วันประชุม เชื่อว่าคนในกมธ.พร้อมอยู่แล้วไม่ว่าจะถูกเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งใด ใครเป็นก็ได้แล้วแต่มติที่ประชุม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังมีส.ว.ติดเชื้อ โควิด-19 อาจทำให้ต้องเลื่อนการประชุมกมธ.วิสามัญพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจาก วันที่ 29 มิ.ย.ออกไปประมาณ 1 สัปดาห์ โดยฝ่ายที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างตัดสินใจ

พท.ฟันธงฉบับปชป.ไม่สมบูรณ์

นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย(พท.) ในฐานะกมธ.วิสามัญพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ในการประชุมกมธ.นัดแรกในวันที่ 29 มิ.ย. คงได้หารือถึงภาพรวมในประเด็นต่างๆ โดยเฉพาะประเด็นที่สังคมวิจารณ์ว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคประชาธิปัตย์เรื่องบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ มีความสมบูรณ์มากน้อยแค่ไหน ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ถ้าขัดรัฐธรรมนูญจะหาทางออกอย่างไร ซึ่งตนมองว่าร่างดังกล่าวยังไม่สมบูรณ์ เมื่อไม่สมบูรณ์ก็ต้องมาหารือกันว่าจะดำเนินการอย่างไรได้บ้าง เช่น ปรับเพิ่มเติม แก้หรือบัญญัติเพิ่มได้หรือไม่

“รู้สึกหนักใจเพราะมองว่าร่างแก้ไข ดังกล่าวไม่สมบูรณ์ ขัดกับรัฐธรรมนูญ แต่คงต้องรอให้ถึงการพิจารณาในวาระ 3 ก่อน ถึงตอนนั้นค่อยว่ากันว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร เรามุ่งหวังเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับตามมาตรา 256 ที่ยังค้างอยู่ในสภา ซึ่งต้องรอ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติก่อน ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนรอโปรดเกล้าฯ ก่อนมีผลบังคับใช้” นายสุทินกล่าว

ลั่นเดินหน้าปิดสวิตช์ส.ว.

ที่พรรคเพื่อไทย นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองหัวน้าพรรคเพื่อไทย แถลงว่า หลายภาคส่วนผิดหวังกับการทำหน้าที่ของ ส.ว.ในการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนุญที่ผ่านเพียงร่างเดียว ร่างที่เหลือตกหมด น่าเสียดายและเสียโอกาสที่ ส.ว.จะได้แก้ไขเพื่อประโยชน์ประชาชนเป็น ตัวตั้ง แม้แต่เรื่องที่ทำเพื่อประโยชน์ประชาชน ส.ว.ก็ตีตกหมด เช่น เรื่องสิทธิเสรีภาพประชาชน ระบบประกันสุขภาพ

ส่วนร่างที่เสนอให้ปิดสวิตช์ส.ว.ทั้ง 2 ฉบับถูกปัดตกทั้งหมด ทั้งๆ ที่ได้เสียงสนับสนุนจาก ส.ส. มากที่สุด และเกินกึ่งหนึ่งของเสียงในรัฐสภา แต่กลับต้องตกไปเพราะเสียงของ ส.ว.ไม่ถึงเกณฑ์ 1 ใน 3 ตามที่รัฐธรรมนูญฉบับคสช.กำหนด ก่อนหน้านี้มี ส.ว.บางส่วนจุดพุลให้ความหวัง ว่าถ้ามีเหตุผลฟังขึ้นก็พร้อมจะสละอำนาจ แต่เอาเข้าจริงก็โหวตตามพิมพ์เขียว ตามรีโมตการสั่งการ ส.ว.ชุดนี้ตั้งขึ้นมาเพื่อโหวต พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ เป็นภารกิจหลักที่ต้องกอดเอาไว้ให้นานที่สุด

“ส.ว.ส่วนใหญ่ยังคงลุแก่อำนาจที่ได้มาโดยมิควรได้ ถือว่าขาดความชอบธรรมตามประชาธิปไตย ท่านได้พลาดโอกาสสำคัญ ทิ้งโอกาสที่จะได้แสดงความจริงใจ คืนอำนาจในการโหวตเลือกนายกฯ ให้ผู้แทนของประชาชน ท่านเบียดบังอำนาจของประชาชนมาเป็นของตัวเอง เหมือนกลัวตกงาน แม้เราจะผิดหวังแต่จะทำหน้าที่ปิดสวิตช์ ส.ว.ต่อไปในทุกช่องทางที่เอื้อ แต่การจะตัดอำนาจ ส.ว.ไม่ใช่เรื่องง่าย” นายอนุสรณ์กล่าว

‘เต้น’ปลุกล็อกดาวน์เผด็จการ

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช.โพสต์เฟซบุ๊กว่า ผลการลงมติแก้รัฐธรรมนูญวาระแรกที่เพิ่งผ่านไป สร้างปรากฏการณ์ทางการเมืองหลายเรื่อง เช่น การจับมือข้ามขั้วฝ่ายค้านกับรัฐบาล ความไม่เป็นเอกภาพของฝ่ายค้าน และการเหยียบตาปลากันของพลังประชารัฐกับ ส.ว.ลากตั้ง

ร่างที่รอดมาเพียงฉบับเดียวก็เสี่ยงจะแท้งกลางทาง เพราะมีประเด็นข้อกฎหมายให้ต้องวิเคราะห์กันว่า การเสนอแก้เพียง 2 มาตราของประชาธิปัตย์ จะนำไปสู่การมีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบแบบปี 40 อย่างที่พรรคแกนนำทั้ง 2 ฝ่ายเห็นตรงกันหรือไม่ สิ่งที่เกิดขึ้นชี้ชัดว่าศูนย์การนำของพลังประชารัฐกับส.ว.อยู่คนละที่ และอาจเห็นไม่ตรงกันเรื่องกติกาเลือกตั้ง พลังประชารัฐอาจมีความเชื่อว่าเอาอยู่ บัตร 2 ใบจะกวาดทั้งเขตและบัญชีรายชื่อเป็นที่ 1 แต่เบื้องหลัง ส.ว.คงเห็นเป็นความเสี่ยง เพราะบัตรใบเดียวการันตีเก้าอี้นายกฯให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ แต่ 2 ใบเท่ากับคืนดาบให้เพื่อไทย

แม้ฝ่ายรัฐได้เปรียบทุกประตู แต่ก็ทำให้โอกาสสู้ของเพื่อไทยมากขึ้น ซึ่งความเสี่ยงสูงสุดจะตกที่พล.อ.ประยุทธ์ ปัญหาจึงเกิดใน 2 คลัสเตอร์ คือพลังประชารัฐซึ่งเป็นตลาดสดของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และส.ว.ที่เป็นแคมป์คนงานของพล.อ.ประยุทธ์ ถ้า 2 คลัสเตอร์คุยกันไม่รู้เรื่อง ร่างแก้รัฐธรรมนูญที่สภารับหลักการก็คงไปต่อยาก สำหรับประชาชนคงมีทางเดียว คือล็อกดาวน์อำนาจเผด็จการ ผลักดันรัฐธรรมนูญใหม่โดย ส.ส.ร.จากประชาชน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน