ครม.อนุมัติ
กม.คู่ชีวิต
ชงให้สภา
จัดทำร่าง

ไฟเขียวให้คู่รักเพศเดียว กันจดทะเบียน สมรส รับบุตรบุญธรรม รวมทั้งสิทธิ์รับมรดก เมื่อหย่าได้รับค่าเลี้ยงดูเหมือนกับคู่สมรส ครม.อนุมัติยกร่างพ.ร.บ. คู่ชีวิต-ร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ตามที่ยธ.เสนอ ขั้นตอนจากนี้ รอชงเข้าสภาผู้แทนฯ-วุฒิสภา ด้าน 2 ส.ส.ก้าวไกล ชวนประชาชนร่วมแสดงความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์ ก่อนเสนอร่างพ.ร.บ.ประกบ

เมื่อวันที่ 8 ก.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบร่างพ.ร.บ. คู่ชีวิต พ.ศ…. และร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่…) พ.ศ…. ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาร่างแล้ว

สาระสำคัญของพ.ร.บ.คู่ชีวิต มีดังนี้ 1.“คู่ชีวิต” หมายความว่า บุคคลสองคนซึ่งเป็นเพศเดียวกันโดยกำเนิด และได้จดทะเบียนคู่ชีวิตตามพ.ร.บ.นี้ 2.กำหนดให้ศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเยาวชนและครอบครัว มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีตามพ.ร.บ.นี้ 3.กำหนดให้การจดทะเบียนคู่ชีวิตจะทำได้ต่อเมื่อบุคคลทั้งสองฝ่ายยินยอม มีอายุ 17 ปี บริบูรณ์ และทั้งสองฝ่ายมีสัญชาติไทย หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสัญชาติไทย

4.กำหนดให้ในกรณีที่ผู้เยาว์จะจดทะเบียนคู่ชีวิต ต้องได้รับความยินยอมของบิดา มารดา ผู้รับบุตรบุญธรรม ผู้ปกครอง หรือศาล รวมทั้งกำหนดให้ผู้เยาว์ย่อมบรรลุนิติภาวะเมื่อจดทะเบียนคู่ชีวิต

5.กำหนดให้คู่ชีวิตมีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายเช่นเดียวกับสามีหรือภริยา (มาตรา 3 และ 5 (2) และมีอำนาจดำเนินคดีต่างผู้ตายต่อไปเช่นเดียวกับสามีหรือภริยา (มาตรา 29 วรรคหนึ่ง) ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 6.กำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับทรัพย์สินระหว่างคู่ชีวิต โดยแบ่งเป็นสินส่วนตัว และทรัพย์สินร่วมกัน

7.คู่ชีวิตรับบุตรบุญธรรมได้ 8.เมื่อคู่ชีวิตฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตาย ให้คู่ชีวิตอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิและหน้าที่เช่นเดียวกับคู่สมรส ตามบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยมรดก 9.กำหนดให้นำบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยคู่สมรส (มาตรา 1606 1652 1563) ครอบครัว และบุตรบุญธรรม มาใช้บังคับแก่คู่ชีวิตด้วยโดยอนุโลม

ส่วนร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีสาระสำคัญ ดังนี้ 1.กำหนดให้ชายหรือหญิงจะทำการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรส หรือคู่ชีวิต อยู่ไม่ได้ 2.กำหนดให้เหตุฟ้องหย่า รวมถึงกรณีสามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่น ฉัน “คู่ชีวิต” 3.กำหนดให้สิทธิรับค่าเลี้ยงชีพในกรณีหย่าหมดไป ถ้าฝ่ายที่รับค่าเลี้ยงชีพสมรสใหม่ หรือจดทะเบียนคู่ชีวิต

“ร่างพ.ร.บคู่ชีวิต ถือเป็นก้าวย่างสำคัญของสังคมไทยในการส่งเสริมความเสมอภาคเท่าเทียมของคนทุกเพศ ดังนั้นการประเมินและการติดตามการใช้กฎหมายทั้ง 2 ฉบับ หลังจากประกาศใช้จึงมีความสำคัญ และจะนำไปสู่การแก้ไขกฎหมายฉบับอื่นๆ ตามมา” น.ส.รัชดากล่าว

ที่กระทรวงยุติธรรม นายเกิดโชค เกษมวงศ์จิตร รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กล่าวว่า ขึ้นตอนหลังจากนี้จะส่งร่างพ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับให้คณะกรรมการประสานงาน (วิป) สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาก่อนเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรต่อไปร่างกฎหมายดังกล่าวไทยถือเป็นประเทศแรกในเอเชียที่มีกฎหมายลักษณะนี้” นายเกิดโชคกล่าว

ด้านนายธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ และ นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ออกแถลงการณ์ว่า ดังนั้นขอเชิญชวนประชาชนร่วมแสดงฟังความเห็น ต่อร่างพ.ร.บ.แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งเเละพาณิชย์ มาตรา 1448 “สมรสเท่าเทียม” ที่พรรคก้าวไกลเสนอ ในเว็บไซต์ของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ตั้งเเต่วันนี้ จนถึงวันที่ 17 ส.ค.2563 ก่อนที่ร่างกฎหมายจะบรรจุเข้าวาระที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน