ถามหาประชาธิปไตย
‘มศว’ชูกระดาษเปล่า
บี้ซ้ำ‘บิกตู่’รีบยุบสภา
ล้างจานเย้ยเผด็จการ

มศว ไม่ขอทน นักศึกษาชุมนุมสกายวอล์ก ยืนเรียงแถวชูกระดาษเปล่าจี้ประยุทธ์รีบยุบสภา ขณะที่เตรียมอุดมฯ ไม่ก้มหัวอีกนักเรียนฮือจัดชุมนุมอีกครั้งภายในโรงเรียน แจวเรือตามหาประชาธิปไตย โดยมีตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบเข้าไปสังเกตการณ์ ด้านแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงผบ.ตร. เรียกร้องให้ตำรวจปฏิบัติหน้าที่ระหว่างที่มีการชุมนุมในพื้นที่ต่างๆ โดยเคารพและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ รับประกันความปลอดภัยและมั่นคงของผู้ชุมนุม รวมถึงให้งดเว้นการฟ้องร้องดำเนินคดีทางอาญาต่อผู้เข้าร่วมการชุมนุม ยุติการคุกคามและข่มขู่ประชาชน เพียงเพราะเข้าร่วมการชุมนุม

ชูกระดาษเปล่า – ‘กลุ่ม มศว ขอมีจุดยืน’ ทำกิจกรรมแฟลชม็อบ ‘ยืนชูกระดาษเปล่า’ เรียกร้องรัฐบาล 3 ข้อ ให้ยุติการคุกคามประชาชน, ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และยุบสภา โดยมีตำรวจ สน.ปทุมวัน คอยดูแลความเรียบร้อย บริเวณสกายวอล์กหน้าห้างมาบุญครอง สี่แยกปทุมวัน กทม. เมื่อวันที่ 31 ก.ค.

 

เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 31 ก.ค. ที่บริเวณลานอเนกประสงค์ 70 ปี โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ถนนพญาไท แขวงและเขตปทุมวัน กทม. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มนักเรียนร.ร.เตรียมอุดมศึกษา ภายใต้ชื่อ #เกียม อุดมไม่ก้มหัวให้เผด็จการ ร่วมกันจัดเวรี่แฟลชม็อบ “แจวเรือ! ตามหาประชาธิปไตย” โดยตัวแทนกลุ่มได้นำแสดงกิจกรรม “แจวไล่เผด็จการ” จากนั้นสลับสับเปลี่ยนกันออกมาปราศรัย และจบด้วยการเต้นเพลงสันเพื่อประชาธิปไตย (เว่ย, โค้ก) จุดประสงค์เพื่อเรียกร้องให้ทางรัฐบาลทำตามเงื่อนไข 3 ข้อ ประกอบด้วยหยุดคุกคามประชาชน ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และยุบสภา โดยใช้เวลาประมาณ 30 นาที ก่อนแยกย้ายกันกลับ อย่างสงบ

แจวไล่เผด็จการ – กลุ่มนักเรียน #เกียมอุดมไม่ก้มหัวให้เผด็จการ จัดเวรี่แฟลชม็อบ ‘แจวเรือ! ตามหาประชาธิปไตย’ เรียกร้องรัฐบาลหยุดคุกคามประชาชน-ร่างรธน.ใหม่-ยุบสภา ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา พญาไท เมื่อวันที่ 31 ก.ค.

 

ก่อนหน้านี้ เมื่อเวลา 12.00 น.ที่บริเวณสกายวอล์ก สี่แยกปทุมวัน ฝั่งห้างสรรพสินค้ามาบุญครอง ถนนพระรามที่ 1 แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กทม. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มมศว คนรุ่นใหม่ นำโดยนายสิระภพ พุ่มพึ่งพุทธ นิสิตมศว ร่วมกันจัดกิจกรรมแฟลชม็อบ “ยืนชูกระดาษเปล่า” ซึ่งเป็นการยืนชูกระดาษเป็นระยะเวลา 10 นาที โดยมีเจ้าหน้าที่ ตำรวจจากสน.ปทุมวัน คอยกระจายกำลังตามจุดต่างๆตามพื้นที่บริเวณโดยรอบ ก่อนผู้แสดง กิจกรรมจะแยกย้ายเดินทางกลับโดยไม่เกิดเหตุการณ์รุนแรงแต่อย่างใด

นายสิระภพเผยว่า สำหรับการชูกระดาษเปล่านั้นเป็นสัญลักษณ์ว่า พวกตนเป็นประชาชน เป็นพลังบริสุทธิ์ ไม่มีใครชักจูงอยู่เบื้องหลัง แต่มาด้วยใจ ไม่ได้หวังทำร้ายใคร เพียงต้องการ ประชาธิปไตย และข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ต่อรัฐบาล ซึ่งยังคงเหมือนเดิมคือให้ยุติการทำร้ายประชาชน ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และยุบสภา ส่วนการเดินทางมาที่แห่งนี้เพราะเป็นจุดศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ จึงอยากให้ทุกคนได้รู้ว่า ตอนนี้ประเทศมีปัญหาภาวะด้านเศรษฐกิจ คนตกงาน แต่รัฐบาลไม่ได้ใส่ใจ จึงมาแสดงกิจกรรมดังกล่าว

นอกจากนี้ ในช่วงเวลา 17.00 น. ที่ไปรษณีย์ กลางบางรัก จะมีการชุมนุมซึ่งพูดถึง 10 ปี ที่ผ่านมา เราสูญเสียอะไรไปบ้าง และ 10 ปีต่อไป เราอยากได้อะไรบ้าง

ด้านนายภาวัช ธนงค์พิชเญศ สมาชิก มศว (ไม่มีจุด) เปิดเผยว่า ตนขอสรุปเรื่องการสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ที่อ.องครักษ์ ซึ่งมีมูลค่าในการสร้างถึง 106,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการใหญ่แต่เกิดความขัดแย้ง โดยรัฐทำหน้าที่ผู้สร้างประโยชน์ให้แก่นายทุนโดยการใช้อำนาจพิเศษ ซึ่งไม่เห็นใจชาวบ้านผู้รับกรรม และปิดกั้นในการรับฟังเสียงประชาชน ทั้งนี้ชาวบ้านก็ยังคงคัดค้านอยู่แต่ข่าวก็เงียบหายไป ซึ่งทางรัฐบาลพยายามปิดข่าวไม่ให้ประชาชนทั้งประเทศรู้เรื่องนี้ จึงอยากฝากเรื่องให้สื่อมวลชนร่วมกันตรวจสอบต่อไป

เมื่อเวลา 17.00 น. ที่ไปรษณีย์กลาง บางรัก เครือข่ายนักเรียน นิสิต นักศึกษาเคียงข้างประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (คนป.) และ สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) ร่วมกันจัด“กิจกรรมเขียนจดหมาย บันทึกเก็บไว้ ก่อนเปิดสู่สาธารณะ 10 ปี” โดยมีผู้เข้าร่วมประมาณ 20-30 คน และตำรวจในเครื่องแบบและเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบหลายสิบนาย

สำหรับกิจกรรมเขียนจดหมายนั้น พิพิธภัณฑ์ สามัญชนจะเก็บไว้และจะเปิดเป็นสาธารณะในอีก 10 ปีข้างหน้า เพื่อดูว่าสิ่งที่คนเขียนอยากให้เป็นหรืออยากจะเห็นในอีกสิบปีข้างหน้า เป็นอย่างไรบ้าง บรรยากาศภายในงานมีทั้งการปราศรัย การแสดงแร็พสด และการเล่นดนตรีจากวงสามัญชน
ที่สวนป่าเฉลิมพระเกียรติ ใต้สะพานสมเด็จ พระเจ้าตากสินมหาราช ถนนเจริญนคร แขวงคลองต้นไทร เขตคลองสาน กรุงเทพฯ ผู้สื่อข่าวว่ากลุ่มตัวแทนนักศึกษา ภายใต้ชื่อ New life Network-แนวร่วมนวชีวิน-NN ร่วมจัดกิจกรรม “HAMTARO OAK OAK RUN ของอร่อยที่สุดก็คือ….. ภาษีประชาชน” ต่อเนื่องหลังจากที่กลุ่มสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษา แห่งประเทศไทย (สนท.) และกลุ่มเยาวชนปลดแอก ได้จัดกิจกรรมชุมนุมทั่วประเทศ

ทั้งนี้ก่อนจัดงานได้มีการกระทบกระทั่งกันที่บริเวณจุดตรวจคัดกรองวัดอุณหภูมิร่างกาย เนื่องจากพบว่ามีผู้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นชาย 1 ราย นำแผ่นป้ายไวนิล แปะกระดาษ ขนาดเอ 4 เขียนข้อความไม่เหมาะสม เจ้าหน้าที่จึงขอความร่วมมือไม่ให้นำเข้าไปด้านใน จนมีปากเสียงกันเล็กน้อย ก่อนจะยึดแผ่นป้ายดังกล่าวไว้ พร้อมปล่อยตัวให้ชาย ดังกล่าวเข้าไปด้านใน

สำหรับการชุมนุมกันในครั้งนี้ เพื่อเรียกร้อง ให้รัฐบาลทำตามข้อเรียกร้อง คือ1.ประกาศยุบสภา 2.หยุดคุกคามประชาชน และ 3.แก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งภายในงานได้มีกิจกรรมให้นักศึกษาและประชาชนทั่วไปเขียนป้ายผ้าบนลานกิจกรรม โดยส่วนใหญ่ได้เขียนโจมตีการทำงานของรัฐบาล พร้อมเรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศยุบสภาและลาออกจากตำแหน่ง นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมล้างจาน เพื่อประชดเสียดสีเหมือนล้างเผด็จการ

ขณะที่บริเวณโดยรอบมีกำลังตำรวจจากบก.น.8 สน.สำเหร่ สนธิกำลังกันมาเตรียมความพร้อมบริเวณโดยรอบ รวม 150 นาย เพื่อดูแลความเรียบร้อยตลอดการจัดกิจกรรม

ต่อมา เวลา 18.30 น. กลุ่มผู้ชุมนุมได้จัดกิจกรรม “วิ่งกันนะแฮมทาโร่” โดยมีการเปิดเพลงแฮมทาโร่ฉบับดัดแปลงเพื่อเสียดสีโจมตีการทำงานของรัฐบาล สร้างความครึกครื้นใ ห้กับผู้ที่มาร่วมงาน ก่อนจะแยกย้ายกันกลับ

วันเดียวกัน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงพล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติหน้าที่ระหว่างที่มีการชุมนุมในพื้นที่ต่างๆ โดยเคารพและคุ้มครองสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบของประชาชน ทั้งยังต้องดูแลให้การชุมนุมเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิผล รับประกันความปลอดภัย และมั่นคงของผู้ชุมนุม รวมถึงให้งดเว้นการฟ้องร้องดำเนินคดีทางอาญาต่อผู้เข้าร่วมการชุมนุม ยุติการคุกคามและข่มขู่ประชาชนเพียงเพราะไปเข้าร่วมการชุมนุม และหยุดคุกคามฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง ทั้งนี้ มีรายงานจากผู้ชุมนุมว่าตำรวจได้เข้าพบผู้ชุมนุมและครอบครัวถึงที่พักของพวกเขา พร้อมทั้ง ตักเตือนไม่ให้พวกเขาเข้าร่วมการชุมนุมด้วย

มิง ยู ฮา รองผอ.สำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก เปิดเผยว่า ในฐานะที่ไทยเป็นรัฐภาคีของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ประเทศไทย มีพันธกรณีต้องรับรองว่าสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบต้องได้รับการเคารพ คุ้มครอง สนับสนุน และทำให้สัมฤทธิผลอย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ โดยปราศจากการแบ่งแยกทุกประเภท รวมถึงในเรื่องความคิดเห็นทางการเมือง ทางการ ไม่ควรแทรกแซงหรือจำกัดสิทธิเหล่านี้ตามอำเภอใจ ขณะเดียวกัน ตำรวจมีหน้าที่รับรองและอำนวยให้เกิดการเคารพสิทธิมนุษยชน รวมถึงสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบด้วย

มิง ยู ฮา ย้ำว่าแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ตระหนักถึงการระบาดของโรคโควิด-19 ว่าเป็นเหตุการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระดับโลก ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยการตอบรับในรูปแบบที่ประสานเชื่อมต่อและอยู่ในระดับที่กว้างขวางเพื่อคุ้มครองสุขภาพของประชาชน โดยเรียกร้องทางการไทยว่าหากมีการดำเนินมาตรการใดๆ ที่จำกัดสิทธิมนุษยชนในช่วงวิกฤตนี้ควรทำเท่าที่จำเป็นและได้สัดส่วนเท่านั้น
“เราขอเรียกร้องให้ท่านรับรองว่าสำนักงาน ตำรวจแห่งชาติจะปฏิบัติหน้าที่ในการรักษาระเบียบและคุ้มครองสุขภาพของประชาชนในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 โดยตรวจตราดูแลให้การชุมนุมโดยสงบสามารถเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิผล การปฏิบัติหน้าที่ ดังกล่าวหมายรวมถึงให้งดเว้นการฟ้องร้องดำเนินคดีทางอาญาต่อผู้เข้าร่วมการชุมนุมอย่างสงบ รับประกันความปลอดภัยและมั่นคงของผู้ชุมนุม และให้พวกเขาสามารถใช้สิทธิในเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบได้”
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ยังขอให้ผบ.ตร.ถอนข้อหาคดีอาญาต่างๆ ที่ยื่นเพื่อเอาผิดประชาชนจำนวนมาก ทั้งนักเรียน นักศึกษาและนักกิจกรรมทางการเมือง เพียงเพราะพวกเขาเข้าร่วมการชุมนุมโดยสงบ คดีเหล่านี้หมายรวมถึงกรณีที่เกิดขึ้นจากการละเมิดข้อห้ามเรื่องการชุมนุมสาธารณะภายใต้มาตราที่ 9 (2) ของพ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมี.ค.2563 และทางการได้ประกาศว่ากำลังจะยกเลิกการบังคับใช้ในเกือบทุกกรณี ผู้เข้าร่วมการชุมนุมโดยสงบได้ปฏิบัติตามมาตรการเพื่อคุ้มครองสุขภาพของประชาชน รวมถึงใส่หน้ากากและเว้นระยะห่าง ทางกายภาพระหว่างกันและกัน

ท้ายสุด แอมเนสตี้ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของสิทธิในเสรีภาพการเข้าร่วมการชุมนุมโดยสงบ ที่สอดคล้องกับหลักการในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่กำหนดไว้ว่า ในกรณีที่ต้องสลายการชุมนุมซึ่งผิดกฎหมาย แต่ไม่ใช้ความรุนแรง เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายต้องหลีกเลี่ยงการใช้กำลัง หรือหากเป็นไปไม่ได้ต้องงดเว้นเอาไว้ หรือใช้ให้น้อยที่สุดในกรณีที่จำเป็นเท่านั้น

ด้านนายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เปิดเผยถึงกรณีเยาวชนหลายกลุ่ม ชุมนุมเพื่อแสดงความคิดเห็นทางการเมืองและเรียกร้องให้รัฐดำเนินการหลายประการตั้งแต่กลางเดือนก.ค. 2563 ทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด โดยเยาวชนบางกลุ่มมีความคิดเห็นทางการเมือง ที่แตกต่างกันว่า กสม.มีความห่วงใยต่อสถานการณ์การชุมนุมเพื่อแสดงออกทางการเมืองของเยาวชนกลุ่มต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง และได้ส่งเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน กสม. เข้าสังเกตการณ์การชุมนุมอย่างใกล้ชิด

กสม.มีความห่วงกังวลต่อการชุมนุมเพื่อแสดงออก ขอให้ชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธในเรื่องที่มีความเห็นต่าง พึงระมัดระวังการกระทบกระทั่งกัน ขอให้ผู้ชุมนุมทุกฝ่ายปฏิบัติตามกฎหมาย เคารพสิทธิของผู้อื่น และขอให้เจ้าหน้าที่ของรัฐพึงใช้ความระมัดระวังอย่างยิ่งในการรักษาความสงบเรียบร้อยตามกฎหมายให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล กับขอให้สังคมมีความอดทนและเคารพต่อความคิดเห็นที่แตกต่าง ซึ่งเป็นคุณค่าสำคัญของสังคมพหุวัฒนธรรมที่จะทำให้ทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ และในสถานการณ์ระบาด ของโควิด-19 บุคคลที่มาชุมนุมกันพึงปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ ที่ราชการกำหนด

“แม้ตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ เด็กที่สามารถมีความคิดเห็นเป็นของตนเองแล้วมีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นได้เสรีในเรื่องที่มีผลกระทบต่อเด็ก โดยความคิดเห็นดังกล่าวของเด็กจะต้องได้รับการพิจารณาอย่างจริงจังตามสมควรแก่อายุและวุฒิภาวะของเด็กคนนั้น และแม้เด็กจะมีสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก แต่การใช้สิทธิดังกล่าวก็ต้องเคารพต่อสิทธิและชื่อเสียงของบุคคลอื่นด้วย” นายวัสกล่าว

นายวัสกล่าวด้วยว่า กสม.คอยเฝ้าระวังเหตุการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่เสมอ แต่หากมีการกระทำใดเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน บุคคลสามารถดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญาซึ่งเป็นกลไกปกติในการยุติปัญหา ต่อเมื่อการกระทำของบุคคลใดเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของบุคคลอื่น และกลไกดังกล่าวละเลยต่อหน้าที่ของตน กสม.จึงจะสามารถเข้ามาตรวจสอบเพื่อเสนอแนะให้แก้ไขปัญหาได้ ในกรณีที่การละเมิดสิทธิมนุษยชนเรื่องใดเป็นความผิดอาญา และผู้เสียหายไม่อยู่ในฐานะที่จะร้องทุกข ์หรือกล่าวโทษด้วยตนเองได้ กสม.จึงจะมีอำนาจร้องทุกข์หรือกล่าวโทษแทนได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน