‘มธ.’จัดถกหาทางออก
ข้องใจตร.ไม่แย้งคำสั่ง

กมธ.ตามบี้ปม โคเคนรักษา ‘บอส อยู่วิทยา’ ระบุตร.ไม่มีใบรับรองจากแพทย์ที่ยืนยันยามีส่วนผสม ‘โคเคน’ เตรียมเชิญอัยการมาให้ข้อมูลในสัปดาห์หน้าก็จะรู้ฝ่ายไหนทำงานบกพร่อง ขณะที่อัยการชี้ 7 ข้อสั่งไม่ฟ้อง ขณะที่ม.ธรรมศาสตร์จัดเสวนาระดมความคิดเห็นคดีทายาทกระทิงแดงชนตร. ‘ปริญญา เทวานฤมิตรกุล’ รอง อธิการบดีมธ.ข้องใจทำไมสั่งไม่ฟ้อง และสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็ไม่คัดค้าน ชี้โคเคนเป็นหลักฐานใหม่ในคดี ด้าน‘อรรถพล ใหญ่สว่าง’อดีตอัยการสูงสุดระบุหากมีประเด็นใหม่ก็ถือเป็นพยานหลักฐานใหม่ได้

กมธ.บี้ตร.ปมโคเคนรักษา‘บอส’

เมื่อวันที่ 1 ส.ค. นายณัฏฐชนน ศรีก่อเกื้อ ส.ส.สงขลา พรรคภูมิใจไทย ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีฝ่ายตำรวจระบุกมธ.เข้าใจคลาดเคลื่อน กรณี “บอส” นายวรยุทธ อยู่วิทยา ทายาทกระทิงแดงมีสารโคเคนในร่างกาย เนื่องจากการใช้ยารักษาฟันที่มีส่วนผสมโคเคนนั้นว่า ในวันที่กมธ.เรียกตำรวจมาชี้แจงนั้น ได้สอบถามประเด็นที่ไม่มีการแจ้งข้อหานายวรยุทธเรื่องการมีสารโคเคนในร่างกาย ตำรวจชี้แจงว่าการพบสารประกอบโคเคนในตัวนายวรยุทธ มาได้จาก 2 สาเหตุ คือ 1.มีการเสพโคเคน เมื่อไปผสมกับแอลกอฮอล์ จึงเกิดสารประกอบโคเคนขึ้นมา 2.มาจากการให้ยาที่มีส่วนผสมโคเคนในการรักษาฟัน แต่ตำรวจไม่มีการแสดงใบรับรองจากแพทย์ที่เป็นคนรักษาว่า แพทย์คนใดเป็นผู้รักษา ให้ยาตัวใด และยาตัวนั้นมีส่วนผสมของโคเคนจริงหรือไม่ มาแสดงต่อกมธ. ไม่ยอมบอกว่ามีใบรับรองแพทย์ ที่ยืนยันว่ามีการใช้ยาที่มีส่วนผสมโคเคนอยู่ในสำนวนหรือไม่ กมธ.จึงขอให้ตำรวจไปเตรียมเอกสารตัวนี้ไว้ เพราะถึงอย่างไรกมธ.ชุดอื่นๆ ต้องขอดูหลักฐานนี้ว่ามีจริงหรือไม่ จะพิสูจน์ได้ว่าพนักงานสอบสวนมีหลักฐานรับรองจริงๆ หรือเชื่อเพียงแค่คำพูดของแพทย์ โดยไม่มีหลักฐานมายืนยันแล้วนำไปใส่ในสำนวนคดี ถ้าพิสูจน์ว่ามีใบรับรองยืนยันจริง ก็จบ

ผู้สื่อข่าวถามว่า กมธ.จะเรียกทันตแพทย์ที่เป็นผู้รักษานายวรยุทธมาให้ข้อมูลหรือไม่ นายณัฏฐ์ชนน กล่าวว่า กมธ.ยังไม่ทราบว่าแพทย์คนนั้นคือใคร ต้องรอข้อมูลจากตำรวจก่อน ในการประชุมกมธ. สัปดาห์หน้าวันที่ 6 ส.ค. เวลา 09.30 น. จะเรียกอัยการมาให้ข้อมูลจะเริ่มเห็นภาพว่าฝ่ายใดหย่อนประสิทธิภาพ หลังจากนั้น กมธ.จะพิจารณาเรียกพยานอื่นๆ เช่นอาจารย์มหาวิทยาลัยที่คำนวณความเร็วรถ แพทย์ ทันตแพทย์ ญาติตำรวจที่เสียชีวิตมาให้ข้อมูลกมธ.ต่อไป

ตร.สอบหมอ-พยานอีกหลายปาก

วันเดียวกัน ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.ศตวรรษ หิรัญบูรณะ ที่ปรึกษาพิเศษสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในฐานะหัวหน้าคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในคดีนี้ กล่าวว่า วันนี้จะลงลึกในรายละเอียดมากขึ้น โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายของตำรวจที่ทำการสอบสวนในขณะนั้น อีกทั้งต้องมีการเรียกแพทย์และพยานมาให้ปากคำอีกหลายปาก โดยเฉพาะในประเด็นพบสารโคเคนในเลือดของนายวรยุทธ อยู่วิทยา ซึ่งจะต้องสอบเพิ่มเติมเพราะเมื่อวานนี้ ยังไม่ได้เชิญแพทย์มาสอบปากคำ แต่เป็นการแถลงข้อเท็จจริงตามคำให้การและบันทึกการตรวจร่างกายในสำนวนเก่า หากมีพยานหลักฐานที่ชัดเจนและคดียังไม่หมดอายุความก็สามารถแจ้งข้อหาการเสพสารเสพติดเพิ่มเติมได้

ส่วนกรณีที่พนักงานสอบสวนไม่แจ้งข้อหาตั้งแต่ตรวจพบโคเคนจนเกิดความล่าช้านั้น พล.ต.อ.ศตวรรษกล่าวว่า การแจ้งข้อหาขึ้นอยู่กับดุลพินิจของพนักงานสอบสวนในการดำเนินการ แต่ต้องพิจารณาว่าการใช้ดุลพินิจนั้นถูกต้องหรือไม่ ซึ่งป.ป.ช.ก็มีคำสั่งไปแล้ว ทั้งนี้คณะกรรมการตำรวจยังต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงในประเด็นอื่นเพิ่มเติมอีก จะพยายามให้สร็จสิ้นภายในเวลา 15 วัน

‘บวรศักดิ์’แนะชันสูตรศพ‘จารุชาติ’

วันเดียวกัน นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย ในฐานะคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชน ที่มีนายวิชา มหาคุณ อดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นประธาน กล่าวถึงกรณีการเสียชีวิตของนายจารุชาติ มาดทอง พยานคนสำคัญในคดีที่นายวรยุทธ อยู่วิทยา ว่า การเสียชีวิตของนายจารุชาติเป็นการเสียชีวิตที่ผิดธรรมชาติ และสังคมยังมีความเคลือบแคลงสงสัยเป็นอย่างมาก ตนจึงเห็นว่าพนักงานสอบสวนควรจะต้องดำเนินการชันสูตรพลิกศพตามกฎหมายเพื่อหาสาเหตุการเสียชีวิตว่ามาจากอะไร ทั้งนี้จะส่งผลให้การตรวจสอบข้อเท็จจริงคดีนี้เกิดความชัดเจนอย่างรอบด้าน และเห็นว่าหากไม่มีการชันสูตรพลิกศพ อาจเป็นการไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมาย

เปิด7ข้ออัยการสั่งไม่ฟ้อง‘บอส’

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 31 ก.ค.ที่ผ่านมา น.ส.ณัฐวสา ฉัตรไพฑูรย์ อัยการพิเศษฝ่ายสถาบันกฎหมายอาญาให้ความเห็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับเกณฑ์การพิจารณาสั่งคดีอาญาของพนักงานอัยการ ในคดีทายาทเครื่องดื่มชูกำลังขับรถชนตำรวจเสียชีวิต มีข้อความว่า

1.เกณฑ์มาตรฐานที่พนักงานอัยการใช้ในการพิจารณาสั่งคดีคือคดีมีพยานหลักฐานพอฟ้องหรือไม่ คำว่า “พยานหลักฐานพอฟ้อง” ไม่ใช่เรื่องความเชื่อหรือความรู้สึก แต่เป็นการตรวจดูจากในสำนวนการสอบสวนว่ามีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะนำไปพิสูจน์ให้ศาลลงโทษจำเลย (ผู้ต้องหา) ตามข้อกล่าวหานั้นหรือไม่

2.คดีนี้ไม่มีประจักษ์พยานในทางยืนยันการกระทำความผิดของผู้ต้องหา หลักฐานสำคัญที่พนักงานสอบสวนใช้ในการดำเนินคดีอาญากับผู้ต้องหา ได้แก่ภาพเคลื่อนไหวช่วงก่อนเกิดเหตุที่บันทึกจากกล้องวงจรปิด ประกอบกับคำให้การของเจ้าหน้าที่ ผู้เชี่ยวชาญของตำรวจที่คำนวณอัตราความเร็วของรถคันเกิดเหตุ ระยะครูดของรถจักรยานยนต์บนถนนและสภาพรถคันเกิดเหตุทั้งสองคันซึ่งเดิมเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญของตำรวจที่คำนวณอัตราความเร็วของรถคันเกิดเหตุให้การว่าคำนวณอัตราความเร็วของรถยนต์คันเกิดเหตุได้ 177 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

แต่ต่อมาเจ้าหน้าที่ดังกล่าวให้การว่าตามที่คำนวณไว้เดิมเป็นการคำนวณผิด ที่ถูกต้องคืออัตราความเร็วของรถยนต์คันเกิดเหตุในขณะเกิดเหตุอยู่ที่ 79 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และปรากฏว่าจากการสอบสวนเพิ่มเติมอาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านยานยนตร์และการพิสูจน์เหตุจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าฯยืนยันว่าจากการคำนวณตามหลักวิชาการโดยได้พิจารณาทั้งเรื่องภาพเคลื่อน ไหวที่บันทึกจากกล้องวงจรปิด ระยะครูดของรถจักรยานยนต์บนถนน และสภาพรถคันเกิดเหตุทั้งสองคันอัตราความเร็วของรถยนต์คันเกิดเหตุในขณะเกิดเหตุอยู่ที่ 79 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และสำนวนคดีไม่มีพยานหลักฐานอื่นมาหักล้างการคำนวณของผู้เชี่ยวชาญทั้งสองรายดังกล่าว พนักงานอัยการจึงย่อมต้องรับฟังข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานตามคำยืนยันของผู้เชี่ยวชาญดังกล่าว สำนวนคดีจึงไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะยืนยันว่าผู้ต้องหาขับรถด้วยความเร็วสูงในขณะเกิดเหตุ

ชี้พยานหลักฐานไม่พอ

3.ส่วนประจักษ์พยานสองคนซึ่งมาให้การในชั้นสอบสวนเพิ่มเติมโดยคณะกรรมาธิการของสนช. ร้องขอให้มีการสอบสวนเพิ่มเติมนั้น นอกจากมีการสอบถามข้อเท็จจริงโดยคณะกรรมาธิการ สนช. อันเป็นการกลั่นกรองมาในระดับหนึ่งและมีการสอบสวนโดยพนักงานสอบสวนซึ่งพยานทั้งสองคนมีตัวตนและที่อยู่เป็นหลักแหล่ง คนหนึ่งมียศ พล.อ.ท. ที่สำคัญคือพยานทั้งสองคนย่อมต้องรับผิดชอบตามกฎหมายอันมีโทษทางอาญา หากให้การเท็จต่อพนักงานสอบสวนดังนั้นเมื่อคดีไม่มีพยานบุคคลอื่นใดที่รู้เห็นเหตุการณ์ในขณะเกิดเหตุมาให้การเป็นอย่างอื่นและไม่มีพยานหลักฐานที่กล่าวอ้างหรือโต้แย้งว่าพยานทั้งสองคนดังกล่าวให้การเท็จ จึงย่อมไม่มีเหตุผลที่พนักงานอัยการจะอนุมานเอาเองได้ว่าพยานทั้งสองคนดังกล่าวให้การเท็จ หากแต่พนักงานอัยการก็ย่อมต้องรับฟังเป็นพยานหลักฐานประกอบกันกับพยานหลักฐานอื่นๆ ในสำนวนคดี และเมื่อพยานทั้งสองคนดังกล่าวต่างให้การว่าตนขับรถตามหลังรถยนต์ที่ผู้ต้องหาขับในช่วงเกิดเหตุในความเร็วระดับเดียวกันไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และเห็นรถจักรยานยนต์ของผู้ตายขับตัดจากเลนที่หนึ่งจากซ้ายมือมาตัดหน้ารถยนต์ของผู้ต้องหาในเลนที่สามจากซ้ายมือในระยะกระชั้นชิดโดยไม่มีพยานหลักฐานในสำนวนหักล้างหรือโต้แย้งเป็นอย่างอื่น อีกทั้งยังสอดคล้องกับจุดชนที่อยู่เลนที่สามจากซ้ายมือและสอดคล้องกับคำให้การยืนยันของผู้เชี่ยวชาญทั้งสองรายดังกล่าวคดีจึงไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะฟ้องพิสูจน์ให้ศาลลงโทษผู้ต้องหาฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้เฉี่ยวชนผู้อื่นถึงแก่ความตายตามข้อกล่าวหาได้

การสั่งไม่ฟ้องเพราะเหตุพยานหลักฐานไม่พอฟ้องจึงชอบด้วยเหตุผลและเกณฑ์การสั่งคดีอาญาแล้ว

4.แม้ว่าตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 74 วรรคสองบัญญัติว่าในกรณีที่ผู้ขับขี่หรือผู้ขี่หรือควบคุมสัตว์หลบหนีไปหรือไม่แสดงตัวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ สถานที่เกิดเหตุให้สันนิษฐานว่าเป็นผู้กระทำความผิดก็เป็นเพียงข้อสันนิษฐานเบื้องต้นซึ่งจะต้องประกอบกับพยานหลักฐานอื่นโดยหากอาศัยลำพังข้อสันนิษฐานดังกล่าวเพียงอย่างเดียว แม้เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถใช้อ้างเป็นเหตุในการดำเนินคดีกับผู้ต้องหาได้ แต่ก็ไม่เพียงพอที่จะใช้เป็นเหตุให้ศาลลงโทษผู้ต้องหาฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นตายนั้นได้ และเมื่อพยานหลักฐานอื่นในสำนวนการสอบสวนมีไม่เพียงพอที่จะฟ้อง ลำพังข้อสันนิษฐานดังกล่าวไม่ทำให้คดีมีพยานหลักฐานพอฟ้องในความผิดฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นตาย

5.ส่วนประเด็นที่ปรากฏตามข่าวว่ามีหนังสือของมหาวิทยาลัยมหิดลแจ้งพนักงานสอบสวนว่าตรวจพบสารเสพติดในร่างกายของผู้ต้องหานั้น ไม่ปรากฏเอกสารหลักฐานดังกล่าวในสำนวนการสอบสวนแต่อย่างใด และไม่ปรากฏว่าพนักงานสอบสวนได้ดำเนินคดีกับผู้ต้องหาฐานเสพยาเสพติดแต่อย่างใดด้วย

6.อนึ่งการสั่งคดีของพนักงานอัยการเป็นไปตามพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนการสอบสวนซึ่งพนักงานสอบสวนเป็นผู้มีอำนาจสอบสวนและทำการสอบสวน โดยที่พนักงานอัยการไม่มีอำนาจสอบสวนตามกฎหมายและไม่อาจนำเอาข้อเท็จจริงจากสื่อสารมวลชนหรือจากแหล่งข้อเท็จจริงอื่นใดที่อยู่นอกสำนวนการสอบสวนมาใช้ในการสั่งคดีได้ และแม้พนักงานอัยการมีอำนาจสั่งให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเพิ่มเติมก็ต้องเป็นเวลาภายหลังจากที่พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเสร็จสิ้นแล้วและส่งเป็นสำนวนการสอบสวนมายังพนักงานอัยการ อีกทั้งการสั่งสอบสวนเพิ่มเติมในทางปฏิบัติย่อมต้องอยู่ในกรอบของข้อเท็จจริงที่เป็นประเด็นปรากฏในสำนวนการสอบสวน หรือจากประเด็นตามการร้องขอความเป็นธรรมเข้ามาในคดี พนักงานอัยการไม่มีอำนาจไปแสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานใดๆ ได้เอง

7.อย่างไรก็ดีแม้พนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง ก็ไม่ตัดสิทธิของผู้เสียหายที่จะยื่นฟ้องต่อศาลเอง นอกจากนี้ในกรณีที่ปรากฏพยานหลักฐานใหม่อันอาจทำให้ศาลลงโทษผู้ต้องหานั้นได้ก็อาจมีการรื้อฟื้นคดีโดยพนักงานสอบสวนทำการสอบสวนพยานหลักฐานใหม่เพื่อดำเนินคดีกับผู้ต้องหานั้นใหม่ได้ตามกฎหมาย

ถกคดีบอส – ศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ จัดเสวนาโต๊ะกลม ‘คดี (กระทิงแดง) ชนตำรวจ นักกฎหมายเห็น สังคมรู้สึก คำถามที่กระบวนการยุติธรรมต้องตอบ’ มีนักวิชาการและนักกฎหมายมาร่วมแสดงความคิดเห็น ที่มธ.ท่าพระจันทร์ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 1 ส.ค.

มธ.จัดเสวนาคดี‘บอส’

วันเดียวกัน ที่ห้องประชุมจิตติ ติงศภัทิย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการจัดเสวนาโต๊ะกลม “คดี(กระทิงแดง) ชนตำรวจ:นักกฎหมายเห็น สังคมรู้สึก คำถามที่กระบวนการยุติธรรมต้องตอบ” โดยศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

นายสุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล ผอ.ศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา กล่าวตอนหนึ่งว่า การสั่งฟ้อง หรือไม่ฟ้องในคดีนั้นจะต้องอยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริง ปัญหาคือไม่กี่วันมานี้มีการให้แถลงโยนกันมั่วไปหมด สิ่งนี้ยิ่งทำให้เกิดความไม่น่าเชื่อถือของกระบวน การยุติธรรม หากสั่งไม่ฟ้องจะต้องมีเหตุผลในการสั่งด้วย เช่นพยานหลักฐานเพียงพอหรือไม่ พยานหลักฐานได้มาด้วยความชอบธรรมหรือไม่ อัยการไม่ใช่ไปรษณีย์ที่จะส่งเอกสารไปถึงศาลอย่างเดียว แต่ต้องมีเหตุผลและมีดุลพินิจที่ชัดเจน เพราะเป็นคดีที่อยู่ในความสนใจของประชาชน ขณะนี้จะต้องย้อนกลับไปดูว่ากระบวนการยุติธรรมน่าเชื่อถือหรือไม่ การดำเนินการต่างๆ ต้องรอบคอบ และทำตามระบบ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ส่วนตัวตนมองว่าพยานสำคัญ 2 คนนั้นไม่ใช่ที่มาการสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง แต่ทุกอย่างต้องอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงที่จะสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง

ด้านผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เรากำลังสงสัยในความน่าเชื่อถือกระบวนการยุติธรรมอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนและร้ายแรงที่สุด ทางออกคือต้องทำให้เรื่องนี้ไปถึงศาลยุติธรรมให้ได้ คดีนี้มีการตั้งข้อหา 5 ข้อหา และขาดอายุความไป 3 ข้อหา ขณะที่อยู่ในมือตำรวจ เป็นที่สงสัยว่าปล่อยให้ขาดอายุความได้อย่างไร ส่วนการตรวจเจอโคเคน ซึ่งเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 2 ตามพ.ร.บ. ยาเสพติดก็ไม่ได้มีการตั้งข้อหา เป็นการละเว้นปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ ทั้งนี้ การมีพยานใหม่ จนทำให้อัยการสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ ได้นั้น หมายความว่าที่สอบสวนมาไม่มีความน่าเชื่อถือ พยานใหม่สามารถหักล้างพยานของเก่าได้อย่างสิ้นสงสัยใช่หรือไม่ ทำไมสำนักงานตำรวจแห่งชาติถึงไม่คัดค้าน

ร้องอสส.ทบทวนสั่งไม่ฟ้อง

ผศ.ดร.ปริญญากล่าวต่อว่า ข้อสงสัยต่อเหตุที่อัยการไม่สั่งฟ้อง 3 ข้อ คือ 1.พยาน ผู้เชี่ยวชาญใหม่ 4 ราย สามารถหักล้างหลักฐานเก่าได้หมดแล้วหรือไม่ แล้วทำไมพยานถึงเพิ่งปรากฏตัวเมื่อเวลาผ่านไป 2.พยานใหม่ที่ขับรถตามมา 2 รายคือ พล.อ.ท.จักกฤช ถนอมกุลบุตร และนายจารุชาติ มาดทอง ให้การว่านายวรยุทธ ขับรถเพียง 50-60 ก.ม./ช.ม. และด.ต.วิเชียรตัดหน้า กลายเป็นเหตุสุดวิสัย และเป็นความประมาทของด.ต.วิเชียร คำถามคือทำไมพนักงานอัยการจึงเชื่อพยาน 2 ท่านนี้ง่ายเหลือเกิน และประเด็นเรื่องการสุดวิสัยแต่ชนแล้วลากไปถึง 200 เมตรกลับไม่ปรากฏอยู่ในเอกสารที่สั่งไม่ฟ้อง ทั้งชนแล้วหนีหลบเข้าบ้าน จนตำรวจไปล้อมบ้าน แล้วให้พ่อบ้านออกมามอบตัวแทน นี่เป็นข้อสงสัยทั้งสิ้น ว่าน่าจะเป็นการประมาทมากกว่าสุดวิสัย นี่ยังไม่พูดเรื่องเมากับสารเสพติด ทำไมท่านอัยการถึงไม่สงสัยอย่างที่เราสงสัย

3.ฐานะที่เป็นอาจารย์สอนกฎหมายรู้สึกเศร้าใจมากที่สุด ที่เรื่องนี้ไม่ใช่การประมาทร่วม แต่เป็นการประมาทฝ่ายเดียวของด.ต.วิเชียรซึ่งกลายเป็นผู้ต้องหาหรือแพะในคดี ถามว่าตนจะสอนหนังสืออย่างไร จึงข้อเรียกร้องให้อัยการสูงสุดทบทวนว่าการสั่งไม่ฟ้องชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติคัดค้านการไม่ฟ้องของอัยการ ซึ่งสามารถแก้ไขได้ และควรเชิญทุกฝ่ายมานั่งคุยกัน เพราะวิทยาศาสตร์สามารถหาทางออกได้ เปิดกล้องวงจรปิดในขณะนั้นที่ใช้ในการวัดความเร็วและนำมาวัดกันใหม่ ไปจนถึงการเชิญบริษัทรถเฟอร์รารี่มาถามถึงความเร็วของรถที่จะสามารถทำให้รถบุบได้ และประเด็นโคเคนที่แพทย์ยืนยันว่ามีในร่างกายนายบอสจริง นั้นจะเป็นหลักฐานใหม่ได้

ขณะที่นายอรรถพล ใหญ่สว่าง ประธานคณะกรรมการอัยการและอดีตอัยการสูงสุด กล่าวว่า การสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องนั้น รองอัยการสูงสุดมีอำนาจที่จะสามารถสั่งได้ และเป็นการทำถูกต้องตามระเบียบ ซึ่งไม่จำเป็นต้องรายงานให้อัยการสูงสุดรับทราบ แต่จะต้องทำรายงานส่งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อให้พิจารณาเรื่องนี้ด้วยในทางคดี ส่วนอัยการจะสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องนั้น จะเชื่อหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ แต่หากมีความเห็นทางนิติวิทยาศาสตร์ที่ไม่ตรงกัน ก็จะต้องไปดูที่พยานบุคคล ทั้งนี้กรณีของนายบอส มีการตรวจสอบการสั่งไม่ฟ้องแล้ว ดังนั้นหากมองว่าจะเป็นการสั่งฟ้องโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จะต้องรอผลการตรวจสอบของคณะกรรมการก่อน เพราะจะต้องให้ความเป็นธรรมกับผู้สั่งคดีด้วย รวมถึงจะต้องดูว่าเป็นการใช้ดุลพินิจโดยละเอียดรอบคอบ และเป็นดุลพินิจโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ด้วย

“ส่วนกรณีที่ว่าถ้าไม่มีพยานหลักฐานใหม่จะหยิบยกมาฟ้องคดีได้หรือไม่นั้น คำตอบคือจะต้องมีพยานหลักฐานใหม่เท่านั้น ซึ่งพยานหลักฐานเดิมแต่มีประเด็นใหม่ก็ถือว่าเป็นพยานหลักฐานใหม่ได้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจ และแม้คดีที่มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องไปแล้ว ก็อย่าคิดว่าจบแล้ว หากมีพยานหลักฐานใหม่ ส่วนประเด็นที่หลายคนมองว่าควรปรับโครงสร้างอัยการให้อยู่ในระบบนั้น ขอยืนยันว่าระบบเดิมนี้ดีอยู่แล้ว หากใครต้องการมาเปลี่ยนจะแน่ใจได้อย่างไรว่าจะทำให้องค์กรอัยการจะดีขึ้นกว่าเดิมที่เป็นอยู่”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน