บกพร่อง!
วินัย-อาญา
มีพล.ต.ท.

20 รายชื่อนายตำรวจบกพร่องทำคดี ‘บอส อยู่วิทยา’ ‘บิ๊กโต้ง’ ผู้ช่วยผบ.ตร. ส่งถึงมือ ‘บิ๊กแป๊ะ’ พิจารณาสั่งฟันวินัย-อาญา เผยชุดแรกที่ทำคดีมีความผิด 11 นาย บางรายป.ป.ช.ชี้มูลไปแล้ว ส่วนชุดหลังมีตั้งแต่ยศ ‘พล.ต.ท.-พล.ต.ต.’ บางส่วนถึงเกษียณไปแล้วก็ไม่รอดอาญา ส่วนคนที่ยังรับราชการเจอ 2 เด้ง

เมื่อวันที่ 19 ส.ค. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.ท.จารุวัฒน์ ไวศยะ ผู้ช่วย ผบ.ตร. กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีการตั้งคณะกรรมการ ตรวจสอบข้อเท็จจริง เจ้าหน้าที่ตำรวจที่บกพร่อง การทำสำนวนคดีนายวรยุทธ หรือบอส อยู่วิทยา ว่า เสนอรายชื่อตำรวจ 20 ราย ส่งให้ พล.ต.อ. จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. พิจารณาตั้งกรรมการสอบสวนวินัย โดยพบตำรวจที่มีความบกพร่อง เป็นชุดที่ทำสำนวนครั้งแรก 11 นาย และชุดหลังอีก 9 นาย ซึ่งใน 11 นาย มีผู้ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลไปแล้ว

แต่คณะกรรมการมาตรวจสอบพบความผิด เพิ่มเติมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดหลัง มีตำรวจตั้งแต่ยศ พล.ต.ท. พล.ต.ต. บางส่วนเกษียณอายุราชการไปแล้ว ผิดเรื่องการไม่ควบคุมสำนวนการสอบสวนให้เคร่งครัดต้องส่งให้กองวินัยพิจารณา ถ้าเป็นคดีอาญาหากอายุความยังไม่หมดต้องดำเนินคดี หากยังรับราชการอยู่ต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย และหากพบความผิดทางอาญาจากการปฏิบัติหน้าที่ กรรมการสอบสวนทางวินัยจะส่งเรื่องไป ป.ป.ช. ถ้าไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ส่งให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีได้เลย

“หลักฐานที่นำเสนอให้ ผบ.ตร.พิจารณาข้อบกพร่องตำรวจทั้งหมดได้จากการสอบปากคำตรวจสอบการปฏิบัติตาม ป.วิอาญา ปฏิบัติตามหลักการสอบสวน และปฏิบัติตามเรื่องมาตรการควบคุม ตรวจสอบ เร่งรัดการสอบสวนคดีอาญาหรือไม่ เมื่อส่งรายชื่อให้ ผบ.ตร. แล้ว หากมีรายละเอียดที่ยังไม่ชัดเจน ผบ.ตร. อาจตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบ เพื่อรวบรวมข้อมูล แต่ถ้าชัดเจนแล้วสามารถตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยได้เลย อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการของผมถือว่าสิ้นสุดการสอบสวนข้อเท็จจริงตำรวจบกพร่องแล้ว ไม่มีการขยายเวลาเพิ่มเติม โดยวันนี้จะเป็นการประชุมตรวจเอกสารดูคำผิด คำถูก ก่อนส่งให้ผบ.ตร. พิจารณาต่อไป” ผู้ช่วยผบ.ตร.กล่าว

วันเดียวกัน ที่ห้องประชุม 308 รัฐสภา คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร มีนายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ เป็นประธานกมธ. ประชุมร่วมกับคณะกรรมาธิการกิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน สภาผู้แทนราษฎรที่มี นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย เป็นประธานกมธ. เชิญ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง อดีตผบ.ตร. พล.ต.อ.มนู เมฆหมอก รองผบ.ตร. ในฐานะ อดีต ผบช.สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ (สพฐ.ตร.) พ.ต.อ.วิรดล ทัมทิบดี ในฐานะพนักงานสอบสวนในคดีดังกล่าว พ.ต.อ.ธนสิทธิ์ แตงจั่น เจ้าหน้าที่พฐ. และนายธานี อ่อนละเอียด อดีตสนช. ในฐานะ หัวหน้าคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงในยุค สนช. แต่พล.ต.อ.สมยศ ส่งหนังสือชี้แจงไม่สามารถมาได้เนื่องจากติดภารกิจ และเห็นว่ากมธ.สามารถ เรียกดูข้อมูลจาก กมธ.กฎหมายฯ ยุค สนช. ที่เคย พิจารณาเรื่องนี้ไว้ได้ ที่ประชุมจึงขอให้เชิญ พล.ต.อ.สมยศ มาชี้แจงอีกในครั้ง ต่อไป

ที่ประชุมซักถาม รอง ผบ.ตร. เกี่ยวข้องกับคดีนี้ในฐานะ ผบช.สพฐ.ตร. ที่ถูกอ้างว่าอยู่ในเหตุการณ์ พล.ต.อ.สมยศนำนาย สายประสิทธิ์ เกิดนิยม อาจารย์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) เข้ามาร่วมคำนวณคดีนี้ ในวันที่ 26 ก.พ. 2559 ตามเอกสารของ พ.ต.อ.ธนสิทธิ์

พล.ต.อ.มนู ชี้แจงยอมรับว่า ในวันที่ 26 ก.พ. 2559 เป็นคนเรียกผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด ในคดีนี้มาหารือ หลังจากที่ ผบก.กองพิสูจน์หลักฐานกลาง (พฐก.) แจ้งว่า พนักงานสอบสวนขอสอบปากคำเพิ่มเติมเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานในคดีนี้ เพื่อความเป็นธรรมของทุกฝ่าย เกี่ยวกับเรื่องการตรวจวัดความเร็วรถได้ 177 ก.ม.ต่อช.ม. ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร

วันดังกล่าว มีพ.ต.อ.ธนสิทธิ์, ผบก.พฐก., นายสายประสิทธิ์ และพ.ต.อ.วิรดล ที่ให้มาเข้าพบ และให้ทั้ง 3 ฝ่ายคุยกันอย่างอิสระ จนมาทราบว่า มีการได้ข้อสรุปความเร็วที่ 79 ก.ม.ต่อช.ม. ตามการคำนวณของนาย สายประสิทธิ์ ส่วนตัวเข้าใจว่า พ.ต.อ.ธนสิทธิ์เชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่าการคำนวณของนาย สายประสิทธิ์ถูกต้องจึงเปลี่ยนคำให้การจาก 177 ก.ม.ต่อช.ม. เป็น 79 ก.ม.ต่อช.ม. ยืนยันว่า พล.ต.อ.สมยศไม่ได้มาด้วย ไม่มีใครก้าวก่ายแทรกแซงในคดี สพฐ.ทำอย่างเป็นอิสระ เพราะเราต้องไปยืนยันต่อทั้งในชั้นอัยการและในศาล

ขณะที่ พ.ต.อ.วิรดลยืนยันว่า ไม่รู้จักนายสายประสิทธิ์มาก่อน เป็นเหตุบังเอิญที่เดินทางไปสอบปากคำ พ.ต.อ.ธนสิทธิ์ในวันเดียวกับที่มีการเรียกนายสายประสิทธิ์มาพบ และยืนยันว่าไม่ได้เข้าไปในห้องอยู่ร่วมในการพูดคุยกัน เพราะเห็นว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องของนายสายประสิทธิ์ กับพฐก.เท่านั้น ไม่เกี่ยวกับพนักงานสอบสวน

ด้าน พ.ต.อ.ธนสิทธิ์ อธิบายว่า พล.ต.อ.สมยศ เป็นคนแนะนำให้รู้จักนายสายประสิทธิ์และนำเสนอวิธีการคิดคำนวณใหม่ ได้ 79.22 ก.ม.ต่อช.ม. จากนั้น พล.ต.อ.สมยศกลับไปพร้อมนายสายประสิทธิ์ และมีพ.ต.อ.วิรดลทำหน้าที่สอบปากคำต่อตามเอกสาร พนักงานอัยการขอให้มีการสอบปากคำเพิ่มเติมตั้งแต่ 12 ก.พ. แต่เพิ่งมาขอสอบปากคำจริงในวันที่ 26 ก.พ. เลยเวลามาแล้ว 14 วัน ส่วนที่มีการระบุสอบปากคำ 2 ครั้งนั้น เป็นเพราะพ.ต.อ. วิรดล พนักงานสอบสวนในคดีนี้ เป็นคนขอว่า ไม่มีเวลาที่จะมาสอบปากคำซ้ำเพราะอัยการเร่งรัดมาจึงขอสอบปากครั้งในรอบเดียว

“ประเด็นที่มีการสอบปากคำเพิ่มนั้น พ.ต.อ.วิรดล มีการถามว่า ท่านมีวิธีการคำนวณความเร็วแบบอื่นหรือไม่ เป็นการถามหลังจากที่นายสายประสิทธิ์เสนอวิธีการคำนวณใหม่มาแล้ว ประกอบกับผมอยู่สถานการณ์ที่อยู่ในห้องของผู้บังคับบัญชา คือ พล.ต.อ.มนู เมฆหมอก จึงเกิดความเครียดเพราะมีเวลาจำกัดไม่สามารถขยายเวลาการให้ปากคำได้ และพ.ต.อ.วิรดลเป็นคนขอลงวันที่ 2 มี.ค.ในเอกสารเอง แต่ผมไม่คิดว่าจะเป็นสาระสำคัญ เพราะขณะนี้กำลังให้ความสำคัญกับวิธีการคำนวณความเร็ว” พ.ต.อ.ธนสิทธิ์ กล่าว

ช่วงหนึ่งของการซักถาม นายรังสิมันต์สอบถามนายธานี อ่อนละเอียด ส.ว. ในฐานะอดีตกรรมาธิการกฎหมายฯ สมัยสนช. ว่า เหตุใดบันทึกชวเลข ในช่วงการประชุมลับของ กรรมาธิการสนช. ก่อนที่จะส่งรายงานไปยังอัยการพอดี

นายธานี ชี้แจงว่า ไม่มีการประชุมลับ เป็นการประชุมอย่างเปิดเผย แต่บางครั้ง ช่วงที่กรรมาธิการบางคนแสดงความเห็น ส่วนตัว อาจขอไม่ให้เจ้าหน้าที่บันทึกไว้ เจ้าหน้าที่ชวเลขเลยไม่ได้บันทึกไว้

นายรังสิมันต์ ยืนกรานว่ามีการประชุม ลับจริง แต่นายธานียืนกรานไม่มีการประชุมลับ จึงเรียกเอกสารบันทึกชวเลขขณะนั้น มาชี้แจง และนายโรมอ่านเอกสารโดยสรุปก่อนข้อความจะหายไปตอนหนึ่งว่า เป็นการประชุมช่วงเรื่องความเร็วรถพอดี เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2559 ตามบันทึกกำลังคุยกันถึงความเร็วรถเฟอร์รารี่ จะไม่เกิน 70 ก.ม.ต่อช.ม. ข้อเท็จจริงตรงนี้เราอยากรู้ว่าได้ข้อสรุปว่าอย่างไร ส่วนสำคัญหายไป 8 หน้า แล้วมามีข้อความหลังจากที่หายไป เป็นในเรื่องความเร็วอีก นายรังสิมันต์จึงขอสรุปว่า คนพูดสุดท้ายในช่วงนี้คือผู้ชี้แจง ส่วนจะมีการประชุมลับหรือไม่ คิดว่ากรรมาธิการคงรู้อยู่แก่ใจว่าได้พูดอะไรไว้บ้าง ซึ่งถ้าลับจริงคงไม่มีเอกสารหายไป 8 หน้า

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน