นักวิชาการจี้ทบทวนภาษีบุหรี่ – เมื่อวันที่ 23 ส.ค. พญ.เริงฤดี ปธานวนิช ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า จากรายงานของยูโรมอนิเตอร์ อินเตอร์เนชั่นเนล เปิดเผยยอดจำหน่ายบุหรี่ในไทย

พบว่า ปี 2562 บริษัทบุหรี่รายยักษ์ครองแชมป์ตลาดบุหรี่จำหน่ายในไทยด้วยส่วนแบ่งการตลาดถึง 50% จากเดิม 29% ในปี 2560 ขณะที่การยาสูบแห่งประเทศไทยมีส่วนแบ่งการตลาดลดลงจาก 65% ในปี 2560 เหลือเพียง 43% ในปี 2562 ซึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ประเทศไทยที่บุหรี่ต่างชาติมีส่วนแบ่งการตลาดที่สูงกว่าการยาสูบแห่งประเทศไทย

พญ.เริงฤดี กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นผลกระทบมาจากการปรับโครงสร้างภาษียาสูบเมื่อปี 2560 ที่สร้างระบบภาษี 2 ระดับขึ้นมา โดยบุหรี่ราคาไม่เกิน 60 บาทต่อซอง เสียภาษีร้อยละ 20 ส่วนบุหรี่ราคาสูงกว่า 60 บาทต่อซอง เสียร้อยละ 40 ทำให้บุหรี่ต่างประเทศฉวยโอกาสลดราคาบุหรี่ลง ขณะที่การยาสูบแห่งประเทศไทยกลับขึ้นราคาบุหรี่ทำให้ยอดขายลดลง การ ยาสูบฯ มีเงินนำส่งรัฐได้ลดลง ปี 2561 ลดลง 12,814 ล้านบาท ปี 2562 ลดลง 14,098 ล้านบาท และกำไรของการยาสูบฯ จากที่เคยได้ถึง 9,343 ล้านบาทในปี 2560 ลดลงเหลือเพียง 843 ล้านบาทในปี 2561 และ 513 ล้านบาทในปี 2562

พญ.เริงฤดี กล่าวอีกว่า ทั้งนี้รัฐควรพิจารณายกเลิกโครงสร้างภาษียาสูบ 2 ระดับทันที เพราะโครงสร้างภาษีที่ใช้อยู่ทำให้การยาสูบแห่งประเทศไทย และชาวไร่ยาสูบประสบวิกฤตมา 2 ปีซ้อนแล้ว การเลื่อนการขึ้นภาษีออกไปอีก 1 ปีจะไม่ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น และรัฐบาลควรยกเลิกแผนที่จะขึ้นภาษีเป็น 40% อัตราเดียวปีหน้าด้วย พร้อมกำหนดโครงสร้างอัตราภาษีใหม่ทันทีให้มีประสิทธิภาพ ลดการบริโภคยาสูบได้จริงและมีผลกระทบต่อรายได้ของรัฐและชาวไร่ยาสูบน้อยที่สุด อาจนำเงินรายได้จากภาษีบางส่วนมาช่วยสนับสนุนชาวไร่ยาสูบในการปลูกพืชทดแทนยาสูบในอนาคต

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน