เซอร์ไพรส์ยื่นหนังสือ
ต่อประธานองคมนตรี
นัดอีกวันที่ 24-บุกสภา
ชุมนุมกดดัน-แก้รธน.
ตร.ฮึ่มจ่อฟันคดีแกนนำ

ลุยยื่นเรื่องข้อเรียกร้องม็อบต่อประธานองคมนตรี ย้ำ 3 ยุทธศาสตร์ 10 ข้อเรียกร้อง มีผบช.น.รับแทน โดยก่อนหน้านั้นทำพิธีปักหมุดคณะราษฎร หลักที่ 2 ที่สนามหลวง สาปแช่งคนถอนออก แล้วยุติการชุมนุม นัดหมายใหม่อีกครั้ง 24 ก.ย. ที่หน้ารัฐสภา กดดันส.ส.-ส.ว.แก้รัฐธรรมนูญ ขณะที่ตร. นำลวดหนาม-แบร์ริเออร์กั้นทุกเส้นทาง สกัดม็อบไปทำเนียบ แต่สุดท้ายรอเก้อ ด้านตร.สั่งรวบรวมหลักฐานเอาผิด ทั้งการชุมนุมโดยไม่แจ้ง บุกรุกสนามหลวง และ ปักหมุดเอาสิ่งแปลกปลอม หารือกทม.-กระทรวงวัฒนธรรมแจ้งข้อหา

ปักหมุด – ‘เพนกวิน’ พริษฐ์ ชิวารักษ์ พร้อมกลุ่มแกนนำผู้ชุมนุมแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ร่วมทำพิธีปักหมุด คณะราษฎร 2563 ลงบนพื้นท้องสนามหลวง เมื่อเวลา 06.39 น. พร้อมประกาศชัยชนะและยุติการชุมนุม เมื่อ 20 ก.ย.

ปักหมุดคณะราษฎร2563

จากกรณีการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 19 ก.ย. โดยใช้ชื่อการชุมนุมว่า 19 กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ที่สนามฟุตบอล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ก่อนย้ายพื้นที่ชุมนุมมาที่ท้องสนามหลวง และปักหลักชุมนุมตลอดคืน

ความคืบหน้าเมื่อเวลา 05.00 น. วันที่ 20 ก.ย. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เพิ่มมาตรการป้องกันทำเนียบรัฐบาล ที่ผู้ชุมนุมประกาศเป็นจุดหมายในการเดินขบวนมายื่นหนังสือข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือหยุดคุกคามประชาชน แก้รัฐธรรมนูญ และยุบสภา โดยเจ้าหน้าที่วางแบร์ริเออร์ปูน และรั้วลวดหนามหีบเพลง รวมทั้งรถดับเพลิงจอดประจำการตั้งแต่แยกวัดเบญจมบพิตร และสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ขณะที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ ตั้งแบร์ริเออร์ และรั้วลวดหนามหีบเพลงถึง 2 ชั้น ขณะที่ภายในทำเนียบ นายกฯมอบหมายให้นายอนุชา นาคาศัย รมต.ประจำสำนักนายกฯ รอรับหนังสือจากกลุ่ม ผู้ชุมนุม โดยมีตำรวจคอยรักษาพื้นที่ 2 กองร้อย พร้อมสั่งการให้เตรียมพร้อมการประชุมผ่านระบบคอนเฟอเรนซ์ หากไม่สามารถใช้ทำเนียบบริหารงานได้

ต่อมาเวลา 06.00 น. ที่เวทีชุมนุมสนามหลวง กลุ่มผู้ชุมนุมกั้นผ้าใบหน้าเวที แล้วใช้เครื่องมือเจาะพื้น เตรียมฝังหมุดคณะราษฎรหลักที่ 2 ตามที่นายอานนท์ นำภา ทนายสิทธิมนุษยชน และแกนนำชุมนุมประกาศไว้ โดยนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน ประกาศว่า หมุดหมายเพื่อยืนยันว่าแม้ตัวบรรพบุรุษตายก็ไม่ได้หายไปไหน ขอเชิญดวงวิญญาณทุกคนมาชุมนุม ณ ที่นี้ ว่าวันนี้คณะราษฎรยังไม่ตายและไม่มีวันตาย ขอให้ผู้ชุมนุมทุกคนชู 3 นิ้วเป็นเวลา 6 วินาที และขอศักดินาจงพินาศ ประชาราษฎรจงเจริญ

เวลา 06.39 น. แกนนำนำมวลชนทำพิธีปักหมุด โดยมีพราหมณ์ทำพิธีจำลองการปักหมุด ก่อนชู 3 นิ้วและหันหน้าไปทางศาลหลักเมืองพร้อมยืนสงบนิ่ง

ยื่นหนังสือ – ‘รุ้ง’ น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล แกนนำผู้ชุมนุมยื่นหนังสือข้อเรียกร้องผ่านไปถึงพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี โดยมีพล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผบช.น.เป็นตัวแทนรับมอบ บริเวณหน้าศาลฎีกา เมื่อวันที่ 20 ก.ย.

เปลี่ยนยื่นหนังสือปธ.องคมนตรี

จากนั้นนายพริษฐ์อ่านคำประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1 ปี 2563 ก่อนที่น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ รุ้ง จะอ่านข้อเรียกร้อง 10 ข้อธรรมศาสตร์ เสร็จแล้วประกาศให้ ผู้ชุมนุมเตรียมตัวเคลื่อนขบวน

เวลา 08.00 น. กลุ่มผู้ชุมนุมร่วมกันร้องเพลงชาติ พร้อมชู 3 นิ้ว ก่อนเคลื่อนขบวน โดยนายพริษฐ์ ประกาศว่า มีบิ๊กเซอร์ไพรส์ จะไม่ไปทำเนียบ แต่จะส่งตัวแทนไปยื่น 3 ยุทธศาสตร์ และ 10 ข้อเรียกร้องที่วังแทน และเราจะไม่มีการปะทะ ตนพาพี่น้องมารบแล้วสัญญาว่าพี่น้องจะกลับบ้านอย่างปลอดภัย เราจะไม่ปะทะ หากเจอตำรวจชุดสีน้ำเงิน อย่าพุ่งไปหาเขา ให้ยิ้มให้เขา พิสูจน์ให้โลกรู้ว่าเรามีเพียงอุดมการณ์ เราไม่ได้ต่อสู้ด้วยกำลัง แต่ต่อสู้ด้วยความคิด

ต่อมาเวลา 08.20 น. กลุ่มผู้ชุมนุมใช้รถบรรทุก 6 ล้อ นำขบวน โดยแกนนำทั้งหมดอยู่บนรถพร้อมปราศรัยและควบคุมการเคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบองคมนตรี ฝั่งตรงข้ามสำนักพระราชวัง แต่เมื่อขบวนเคลื่อนถึงบริเวณหน้าศาลฎีกา มีตำรวจยืนขวางพร้อมรั้วกั้นไม่ให้ขบวนผ่าน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การ์ดผู้ชุมนุมเดินเรียงหน้ากระดานตั้งเป็นแผง พร้อมบีบแตรรถมอเตอร์ไซค์เสียงดัง นำรถบรรทุกแกนนำ ผู้ชุมนุมมาหยุดบริเวณหน้าศาลฎีกา ที่ เจ้าหน้าที่กั้นอยู่ ห่างกันประมาณ 5 เมตร แกนนำตะโกนผ่านเครื่องขยายเสียงอยู่บนรถให้ส่งตัวแทนองคมนตรีมารับหนังสือ

น.ส.ปนัสยาลงจากรถมาเจรจาเพื่อเข้าไปยื่นหนังสือต่อประธานองคมนตรี โดยพล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผบช.น. เดินทางมาเจรจากับแกนนำผู้ชุมนุม ใช้เวลาประมาณ 15 นาที ก่อนเจ้าหน้าที่จะเปิดทางให้น.ส.ปนัสยา เข้าไปยื่นหนังสือหลังรั้วกั้นของเจ้าหน้าที่

ประกาศชัย – กลุ่มผู้ชุมนุมประกาศชัยชนะ พร้อมยุติการชุมนุม หลังยื่นหนังสือข้อเรียกร้องผ่านตัวแทนไปถึงประธานองคมนตรี เมื่อวันที่ 20 ก.ย. ที่บริเวณหน้าศาลฎีกา โดย นัดชุมนุมครั้งหน้า 24 ก.ย. ที่หน้ารัฐสภา เพื่อกดดันแก้ไขรัฐธรรมนูญ

นัดใหม่ 24 กย.-บี้แก้รธน.

เวลา 09.00 น. น.ส.ปนัสยา กล่าวหลังการยื่นหนังสือแก่ผบช.น. ซึ่งเป็นตัวแทนประธานองคมนตรี ว่า หากข้อเรียกร้องไม่มีการดำเนินการเราจะได้เจอกัน ซึ่งยังไม่พอใจเท่าไร แต่ยอมรับว่าทำได้เท่านี้เพราะมีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ และจะติดตามว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร หากไม่มีความคืบหน้าอะไรเลยเดี๋ยวคราวหน้าเราได้เห็นดีกัน จากนั้นเดินทางกลับมาขึ้นรถเวทีกระจายเสียง พร้อมประกาศชัยชนะท่ามกลางเสียงโห่ร้องยินดีของผู้ชุมนุม และประกาศยุติการชุมนุม

นายพริษฐ์ประกาศว่า เป็นชัยชนะของกลุ่มผู้ชุมนุมและได้สร้างประวัติศาสตร์ใหม่แล้ว ชัยชนะครั้งนี้ถือเป็นศึกแรก และชัยชนะครั้งนี้จะอยู่บนแผ่นดินยิ่งกว่าศิลาจารึกของพ่อขุนราม ชัยชนะครั้งต่อไปขอให้พี่น้องไปทำการบ้าน 8 ข้อ ซึ่งเป็นแนวทางต่อสู้กับเผด็จการที่ทุกคนทำได้ อาทิ ผูกโบขาวหน้าบ้าน กระเป๋า หรือ กระจกรถ, เขียนป้ายประจานเผด็จการ, ขึ้นป้ายไม่ต้อนรับเผด็จการในจังหวัดที่นายกฯ ไป นัดหยุดงานประท้วงรัฐบาลเริ่มต้นตั้งแต่ลาพักร้อนวันที่ 14 ต.ค. พร้อมกันทั่วประเทศ ทุบหม้อข้าวเผด็จการ แบนธนาคารไทยพาณิชย์

ขอให้ทุกคนที่มีเวลาในวันที่ 24 ก.ย.ไปที่รัฐสภา ที่จะมีการพิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไปดูว่าจะมีการตั้งส.ส.ร.แบบพวกมากลากไปหรือไม่ ดังนั้นขอให้ทุกคนไปเจอกันที่รัฐสภา เกียกกาย วันนี้ขอขอบคุณและเราจะไม่หยุดจนกว่าศักดินาจะพินาศ ประชาราษฎรจงเจริญ ขอให้ทุกคนชู 3 นิ้ว แล้วเดินทางกลับโดยสวัสดีภาพ

‘ตู่-ป้อม’ขอบคุณม็อบไม่รุนแรง

พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี เผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ขอบคุณเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงทุกหน่วยงาน โดยเฉพาะสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่เตรียมการอำนวยการและปฏิบัติงานในการติดตาม อำนวยความสะดวกและดูแลความปลอดภัยการชุมนุมให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และขอบคุณผู้เข้าร่วมชุมนุม ที่ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่และร่วมกันชุมนุมอย่างสันติวิธีที่ผ่านมา

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม แสดงความขอบคุณเจ้าหน้าที่และประชาชนทุกคน ที่ช่วยกันทำให้สถานการณ์เป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยเจ้าหน้าที่ให้ความสำคัญต่อการดูแลความปลอดภัยของผู้ชุมนุมเป็นอย่างดี นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่และประชาชนหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าและการยั่วยุเพื่อไม่ให้เกิดความตึงเครียดโดยไม่จำเป็น ทั้งนี้ รัฐบาลมีความมุ่งหวังให้ประชาชน มีสิทธิในการแสดงออกได้อย่างเต็มที่ภายใต้รัฐธรรมนูญและในกรอบของกฎหมาย ขณะเดียวกัน นายกฯ ขอให้คนไทยทุกคนร่วมมือร่วมใจ ฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ เพื่อให้ความท้าทายที่เรากำลังเผชิญอยู่ สามารถดำเนินการให้ผ่านพ้นไปด้วยความสำเร็จด้วยดีด้วยกัน

ทั้งนี้ ภายหลังแกนนำสั่งยุติการชุมนุม เมื่อแน่ชัดจะไม่มีการเคลื่อนขบวนมายังบริเวณทำเนียบ จึงไม่มีผู้ชุมนุมมาปักหลักที่บริเวณนี้ หน่วยกู้ภัยจากมูลนิธิร่วมกตัญญูที่จอดสแตนด์บายกว่า 10 คัน ได้นำรถออกจากพื้นที่แล้ว แต่ตำรวจจากกองบังคับการตำรวจ นครบาล และกำลังจากตำรวจภูธรภาคต่างๆ ยังคงตรึงกำลังตามแยกต่างๆ อาทิ แยกผ่านฟ้า แยกจปร. และแยกยูเอ็น และยังไม่ได้รื้อถอนแท่งแบร์ริเออร์ปูนและรั้วลวดหนามที่ใช้ปิดเส้นทางเข้า-ออก ตั้งแต่เส้นทางบนถนนพระราชดำเนินนอกจนถึงพระลานพระราชวังดุสิต

ให้กำลังใจ – พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข รอง ผบ.ตร. พร้อมคณะเดินทางไปตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจกำลังพลควบคุมฝูงชนที่ปฏิบัติหน้าที่บริเวณรอบทำเนียบรัฐบาล ในช่วงที่มีการชุมนุม เมื่อวันที่ 20 ก.ย.

ตร.ย้ายลวดหนาม-แบร์ริเออร์

เมื่อเวลา 10.30 น. ที่ บช.น. พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผบช.น. พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษก ตร. แถงภายหลังมีการประกาศยุติการชุมนุม โดยพ.ต.อ.กฤษณะกล่าวว่า กรณีพล.ต.ท.ภัคพงศ์ ออกไปรับหนังสือจากแกนนำ ในฐานะผู้บัญชาการเหตุการณ์ เมื่อรับหนังสือมาแล้ว จะดำเนินการไปตามขั้นตอนธุรการ ประมวลผลตามลำดับชั้นไปที่ตร. และส่งไปยังหน่วยงานรับหนังสือต่อไป ส่วนระยะเวลาดำเนินการจะทำอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ ผบช.น. ไม่ใช่ตัวแทนสำนักงานองคมนตรีแต่อย่างใด สำหรับเหตุการณ์เมื่อช่วงเช้าเป็นสิ่งที่ตำรวจอยากให้เกิดขึ้น คือมีการเจรจาต่อรอง ในกลุ่มผู้ชุมนุมเองก็คงมีความสบายใจที่ไม่ต้องชุมนุมต่อเนื่อง

พล.ต.ต.ปิยะกล่าวว่า ตำรวจจะเปิดการจราจรโดยรอบ และขนย้ายแบร์ริเออร์ รั้วลวดหนาม ออกจากเส้นทางให้เร็วที่สุดไม่เกินช่วงเย็นวันนี้ ระหว่างนี้ตำรวจจะอำนวยความสะดวกให้ประชาชนเดินทางกลับบ้านอย่างปลอดภัยก่อน

เมื่อถามว่าเมื่อช่วงเช้าที่แกนนำได้เจาะพื้นผิวสนามหลวงเพื่อปักหมุดคณะราษฎร พล.ต.ต.ปิยะกล่าวว่า พื้นที่สนามหลวงเป็นโบราณสถาน มี 2 หน่วยงานดูแลคือ กรุงเทพมหานคร และกระทรวงศึกษาธิการ ตำรวจได้ประสานไปยังหน่วยงานดังกล่าวแล้วว่าการกระทำดังกล่าวเข้าองค์ประกอบความผิดใด แต่หากดูจากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นก็น่าจะเป็นความผิดตามกฎหมาย ถ้าเป็นสิ่งที่เกินมา ไม่มีความจำเป็นในสนามหลวง กทม. คงพิจารณาเอาออก

เก็บข้อมูลเอาผิด-ถอนหมุดออก

พล.ต.ต.ปิยะกล่าวอีกว่า เหตุการณ์วันที่ 19-20 ก.ย. มีความผิดต่างกรรมต่างวาระกัน ช่วงแรก คือ ออกจากม.ธรรมศาสตร์ เข้าสู่สนามหลวง การชุมนุมโดยไม่แจ้งให้ตำรวจทราบ ถือว่าเป็นการชุมนุมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ส่วนที่สอง เมื่อเข้าไปในสนามหลวงแล้ว แต่อยู่จนกระทั่งล่วงเลยการเปิดให้บริการ และความผิดส่วนที่สาม การปักหมุดซึ่งถือเป็นส่วนเกิน และไม่ใช่สิ่งที่พึงมีในท้องสนามหลวง ซึ่งการกระทำผิดทั้งหมดตำรวจได้บันทึกภาพและเสียงไว้พิจารณาดำเนินการตามขั้นตอน

เมื่อถามว่าทั้งนี้ในส่วนแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมขึ้นเวทีปราศรัย โดยมีถ้อยคำและเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม เมื่อคืนที่ผ่านมา พล.ต.ต.ปิยะกล่าวว่า ขณะนี้พล.ต.ต.สุคุณ พรหมายน รอง ผบช.น. กับทีมพนักงานสอบสวนอีกกว่า 40 คน ได้บันทึกภาพหลักฐานและเสียง ตั้งแต่เริ่มการชุมนุม และการปราศรัย ตลอดจนการให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อต่างๆ เพื่อนำข้อมูลมาพิจารณาร่วมกับฝ่ายกฎหมาย ว่าเข้าข่ายความผิดใดต่อไป

พ.ต.อ.กฤษณะกล่าวอีกว่า กรณีแกนนำนัดชุมนุมอีกครั้งวันที่ 23-24 ก.ย.ว่า ตำรวจมีความพร้อมรองรับสถานการณ์ให้เกิดความเหมาะสม เมื่อมีการใช้แผนชุมนุม 63 แล้ว โดยหลักแม้ตำรวจมีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย แต่ไม่ได้มุ่งจะใช้กำลังกับผู้ชุมนุม เป็นการปรับแผนให้เข้ากับสถานการณ์ เอาบทเรียนที่ผ่านมา หลักรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์มาใช้ เพื่อให้ทุกฝ่ายมีทางออก ภาพที่เกิดขึ้นเมื่อช่วงเช้าคือความสำเร็จของการเจรจาระหว่างผู้ชุมนุมกับตำรวจ และเป็นสิ่งที่หลายฝ่ายอยากเห็น

เพนกวินกลับไปปักธงแดงใหม่

ที่ท้องสนามหลวง พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยพล.ต.ต.เมธี รักพันธุ์ ผบก.น.6, พ.ต.อ.วรศักดิ์ พิสิษฐบรรณกร ผกก.สน.ชนะสงคราม และเจ้าหน้าที่กลุ่มงานเก็บกู้และทำลายวัตถุระเบิด (อีโอดี) เจ้าหน้าที่กองกำกับการสุนัขตำรวจ (เค-9) เจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐาน (พฐ) ร่วมกับเทศกิจ และสำนักงานเขต เข้าตรวจสอบพื้นที่ภายหลังการชุมนุมเพิ่งจบลงไป ก่อนจะกั้นพื้นที่ไม่ให้ประชาชนเข้ามาในบริเวณสนามหลวง เพื่อทำความสะอาด สำรวจว่ามีทรัพย์สินใดเสียหายหรือไม่ และตรวจหาวัตถุแปลกปลอม ก่อนเปิดพื้นที่ให้กลับมาใช้สถานที่อีกครั้ง ทั้งนี้ ยังคงมีประชาชนทยอยกันต่อแถวเพื่อถ่ายรูปกับหมุดคณะราษฎรหมุดใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยมีเจ้าหน้าที่เทศกิจคอยดูแลความเรียบร้อย

พล.ต.ท.โสภณกล่าวว่า เบื้องต้นเจ้าหน้าที่เพียงเข้ามาตรวจสอบและดูสถานที่ให้เกิดความเรียบร้อยเท่านั้น ซึ่งจะรีบดำเนินการให้เร็วที่สุดแล้วกลับมาเปิดให้ประชาชนเข้ามาใช้สถานที่ ส่วนเรื่องความผิดการบุกรุกสถานที่ และโบราณสถาน การทำลายทรัพย์สินและรื้อถอนหมุดนั้นยังไม่ได้เตรียมการแต่อย่างใด

จากนั้นเวลา 12.30 น. นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ รุ้ง และทีมงาน เดินทางออกมาบริเวณท้องสนามหลวง เพื่อดูจุดฝังหมุดคณะราษฎรที่ 2 จากนั้นร่วมกันบันทึกภาพหมู่บริเวณหมุด ก่อนที่จะเดินข้ามฝั่งไปยังสนามหลวงทิศใต้ พร้อมกับร่วมกันร้องเพลงสมัยยุค 14 ตุลาคม ชื่อลานโพธิ์สู่ภูพาน

ทั้งนี้แกนนำกลุ่มได้นำธงสีแดง ที่เคยใช้ติดบนรถกระจายเสียงปราศรัยของผู้ชุมนุม นำไปปักไว้บนพื้นสนามหลวงฝั่งทิศใต้ซึ่งเป็นเขตพระราชฐาน ทั้งได้นำแผงรั้วเหล็กไปกั้นล้อมไว้ ล่าสุดทางกทม. เข้าทำความสะอาดรอบสนามหลวงแต่ยังไม่มีการรื้อถอนธง ดังกล่าวขึ้นแต่อย่างใด

เมื่อเวลา 17.20 น. วันเดียวกัน ที่หมุดคณะราษฎรที่ 2 บริเวณท้องสนามหลวง ถนนราชดำเนินกลาง แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กทม. มีประชาชนต่างทยอยเดินทางเข้าร่วมถ่ายรูปกันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้ถูกรื้อถอนออกตามกระแสข่าวที่เกิดขึ้นแม้แต่อย่างใด นอกจากนี้มีกำลังเจ้าหน้าที่ทหารจาก พล.1 รอ. ประมาณ 30 นาย ร่วมกันฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโควิด 19 และทำความสะอาดบริเวณพื้นที่โดยรอบก่อนแยกย้ายเดินทางกลับตามปกติ

กรมศิลป์จ่อแจ้งความม็อบ

นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร ให้สัมภาษณ์ว่า ตามหลักการ การกระทำ ดังกล่าวมีความผิดตาม พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ.2504 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535) เนื่องจากมีการบุกรุกสนามหลวงซึ่งเป็นโบราณสถานที่ได้รับการขึ้นทะเบียน นอกจากนี้ ยังมีการขุดพื้นที่เพื่อฝังหมุด โดยทางกรมศิลปากรจะเข้าแจ้งความในวันที่ 21 กันยายน

“ในฐานะที่กรมศิลปากร ดูแลโบราณสถาน ดังนั้น โดยหลักการ มี 2 เรื่อง เรื่องที่ 1 คือ การบุกรุก ทำให้เสียหาย เสื่อมค่า ซึ่งเมื่อวันที่ 19 กันยายน มีการบุกรุกไปในพื้นที่สนามหลวงซึ่งเป็นโบราณสถานขึ้นทะเบียนโดยไม่ได้รับอนุญาต ส่วนกรณีฝังหมุดเมื่อวันที่ 20 กันยายน ซึ่งมีการขุดพื้น แม้เป็นส่วนที่ทำขึ้นเมื่อครั้งงานพระเมรุ แต่เป็นการทำโดยถูกต้อง ได้รับอนุญาต เมื่อทำแล้ว จึงถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของโบราณสถาน ดังนั้น การฝังหมุด จึงมีความผิดตามกฎหมาย คือการทำลาย และทำให้โบราณสถานเสื่อมค่า โดยจะมีการแจ้งความในวันพรุ่งนี้“ นายประทีปกล่าว

ทั้งนี้ มาตรา 32 ใน พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ.2504 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535) ระบุว่า ผู้ใดบุกรุกโบราณสถาน หรือทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งโบราณสถาน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี หรือปรับไม่เกินเจ็ดแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำต่อโบราณสถาน ที่ได้ขึ้นทะเบียนแล้ว ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

สำหรับ “สนามหลวง” ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ เมื่อ พ.ศ.2520 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 94 ตอนที่ 126 ลงวันที่ 13 ธ.ค. พ.ศ. 2520 มีเนื้อที่ 74 ไร่ 63 ตารางวา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน