รับรองล็อตแรก
น้องธรรมนัสเฮ
สภาหนีพิษไวรัส
งดประชุม14วัน

‘ในหลวง-พระราชินี’ พระราชทานของขวัญปีใหม่แก่ นายกฯ ครม.ประชุมผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์หนีโควิด ‘ชวน’ ถกวิป 3 ฝ่าย-ตัวแทนพรรค การเมืองให้เลื่อนประชุมสภา 2 สัปดาห์ ก้าวไกลโวยผิดหวัง คาดกระทบยื่นซักฟอกรัฐบาล ‘เรืองไกร’ ท้านายกฯแก้ข้อกล่าวหาทุจริต โวมีใบเสร็จมัดแน่นถึงขั้นต้องลาออก กกต.ประกาศรับรองผลเลือกตั้งนายกอบจ.ล็อตแรก 12 จังหวัด สมุทรสงคราม-เพชรบุรี-จันทบุรี ลอยลำ

ในหลวงพระราชทานของขวัญบิ๊กตู่

เมื่อวันที่ 4 ม.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จ พระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พล.อ.ท.ภักดี แสง-ชูโต ผู้ช่วยราชเลขานุการในพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และรองเลขาธิการพระราชวัง เป็นผู้แทนพระองค์เชิญของขวัญพระราชทาน เพื่อมอบแก่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 10.00 น. พล.อ. ประยุทธ์เดินทางไปยังทำเนียบองคมนตรี เพื่ออวยพร เนื่องในเทศกาลวันขึ้นปีใหม่ จากนั้นเวลา 10.39 น. เข้าปฏิบัติภารกิจที่ทำเนียบรัฐบาลเป็นวันแรก หลังจากหยุดเทศกาลปีใหม่ 2564 โดยได้สักการะศาลพระภูมิเจ้าที่ศาลตาศาลยาย พระพรหมที่ยอดตึกไทยคู่ฟ้า ก่อนสักการะพระพุทธรูปที่ห้องทำงาน เป็นสิริมงคล ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้จัดเตรียมดอกไม้พวงมาลัยดอกดาวเรืองยาว 9 ศอก และเครื่องเซ่นไหว้ไว้ให้

ประชุมครม.วิดีโอคอนเฟอเรนซ์

ขณะเดียวกัน ที่บริเวณถนนนครปฐม ใกล้ทำเนียบรัฐบาล น.สพ.บูรณ์ อารยพล หรือหมอบูรณ์ พร้อมกลุ่ม “ขอคืนไม่ได้ขอทาน” ยังคงปักหลักนอนค้างคืน เพื่อขอให้สำนักงานประกันสังคมแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ผู้สมทบเงินประกันสังคมสามารถเบิกเงินสะสมชราภาพมาใช้ก่อนเกษียณ ทำให้ทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เปลี่ยนเส้นทางเข้าปฏิบัติภารกิจมาเข้าทางสะพานอรทัยแทนทางเข้าปกติที่สะพานชมัยมรุเชฐ ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สน.นางเลิ้ง ได้นำกำลังเข้ามาจับกุมกลุ่มดังกล่าว โดยรวบตัว น.สพ.บูรณ์ หลังไปชูป้ายสวัสดีปีใหม่ 2564 ขอให้ลุงตู่มีความสุขนะจ๊ะ

สำหรับการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 5 ม.ค. ได้กลับมาใช้ห้องประชุมชั้น 3 ตึกบัญชาการ 1 และเป็นการประชุมผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุข

รัฐสภาเข้มป้องกันโควิด

เมื่อเวลา 10.00 น. ที่รัฐสภา นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร แถลงถึงมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ว่า ขอความร่วมมือทุกคนที่เกี่ยวข้องกับงานรัฐสภาปฏิบัติตามมาตรการป้องกันอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะการเชิญบุคคลภายนอกเข้าร่วมประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ต่างๆ ให้มีจำนวนน้อยที่สุด โดยที่ผ่านมารัฐสภาได้มีการป้องกันเป็นอย่างดี

นางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า รัฐสภายกระดับให้ข้าราชการปฏิบัติงานที่บ้าน หรือ Work from home อย่างน้อยร้อยละ 30 โดยให้แต่ละสำนักงานไปพิจารณาบุคลากรฝ่ายที่สามารถ Work from home ได้ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่เป็นหญิงตั้งครรภ์ หรือผู้สูงอายุ หรือผู้ที่ต้องใช้รถสาธารณะในการเดินทาง นอกจากนี้ ยังให้ลดจำนวนบุคลากรในการทำหน้าที่การประชุม กมธ.ต่างๆด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันแรกของการทำงานที่รัฐสภาหลังจากหยุดช่วงเทศกาลปีใหม่ยังคงเป็นไปอย่างเข้มงวด โดยอนุญาตให้ข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐสภา และบุคคลภายนอกที่จะเข้ามาติดต่อใช้ทางเข้า-ออกประตูหลักเพียงช่องทางเดียว เพื่อเดินผ่านเครื่องสแกนตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายตามมาตรการคัดกรอง พร้อมขอความร่วมมือให้ทุกคนสวมใส่หน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้าก่อนเข้าอาคาร ห้ามใช้ลิฟต์ และบันไดที่ไม่มีการติดตั้งเครื่องสแกนตรวจวัดอุณหภูมิ และมีเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำรัฐสภาทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด

งดประชุม 2 สัปดาห์-ไม่ห้ามกมธ.

เวลา 15.00 น. ที่รัฐสภา นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎรได้เชิญคณะกรรมการประสานงาน (วิป) 3 ฝ่ายและตัวแทนพรรคการเมืองทุกพรรคเข้าร่วมประชุมเพื่อหารือเกี่ยวกับการเลื่อนประชุมสภาในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19

เวลา 17.25 น. นายชวนแถลงภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมมีความเห็นให้งดการประชุมสภา สืบเนื่องด้วยการแพร่ระบาด โควิด-19 ที่กำลังขยายออกไปยังหลายพื้นที่และมีความรุนแรงมากขึ้น รวมทั้งรัฐบาลได้ออกข้อปฏิบัติห้ามการประชุมต่างๆ จึงเห็นควรระมัดระวังไม่ให้เกิดความเสี่ยงต่อเชื้อโรค ดังนั้น การประชุมสภาในวันที่ 6-8 ม.ค. จึงมีมติไม่เอกฉันท์ สมควรให้งดการประชุม

ที่ประชุมมีข้อเสนอว่าจะให้งดการประชุมคือ 1.งดการประชุม 4 สัปดาห์ และ 2.งดการประชุม 2 สัปดาห์ โดยได้เชิญอธิบดีกรมควบคุมโรคเข้ามาให้ข้อมูลว่า ขณะนี้สถานการณ์ภายใน 2 สัปดาห์น่าจะยังมี ปัญหาอยู่ จึงคิดว่าเงื่อนไขความปลอดภัยของ เจ้าหน้าที่และสมาชิกรัฐสภาโดยการมาประชุม จะทำให้รัฐสภากลายเป็นชุมชนที่หนาแน่น เสี่ยงต่อการติดเชื้อ

“ที่ประชุมจึงมีความเห็นให้หยุดการประชุมไปก่อน 2 สัปดาห์ เพื่อรอดูสถานการณ์ แต่ถ้าภายในหนึ่งสัปดาห์สถานการณ์ดีขึ้น ก็อาจจะมีการเปลี่ยนแปลง แต่หาก 2 สัปดาห์แล้วสถานการณ์ไม่ดีขึ้น ก็ต้องขอความร่วมมือ ส่วนการประชุมกมธ. และการประชุมย่อยต่างๆให้สามารถทำได้ แต่ห้ามไม่ให้นำคนนอกเข้ามา ซึ่งเป็นการตัดสินใจของตัวแทนพรรคการเมืองทั้งหมด ในส่วนของผมจะมาทำงานตามปกติที่รัฐสภาทุกวัน แต่จะไม่มีการประชุมที่มีคนจำนวนมาก” นายชวนกล่าว

‘ไพบูลย์’ซัด‘เต้’ไร้กาลเทศะ

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศระหว่างการประชุมว่า หลังจากส่วนใหญ่เห็นควรเลื่อนการประชุมสภาออกไปก่อน โดยให้มีการประชุมในช่วงเวลาที่เหมาะสมต่อไป แต่ระหว่างหารือว่าในส่วนของการประชุมกมธ.คณะสำคัญ จะยังพิจารณาประชุมตามดุลยพินิจที่เหมาะสมได้หรือไม่ กลับเกิดการโต้เถียงกัน ระหว่างนายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรค ไทยศิวิไลย์ กับนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) โดยนายไพบูลย์เห็นว่านายมงคลกิตติ์ อภิปรายยืดเยื้อ จึงประท้วงว่าพูดนอกประเด็น แต่นายมงคลกิตติ์ พูดสวนนายไพบูลย์ว่าให้เงียบปากไป

หลังการประชุม นายไพบูลย์ ให้สัมภาษณ์ว่า ระหว่างที่ทุกฝ่ายแสดงความเห็นพิจารณาเลื่อนประชุมสภาหรือไม่นั้น นายมงคลกิตติ์ กล่าวโจมตีพล.อ.ประยุทธ์ กรณีปล่อยให้มีแรงงานต่างด้าวแพร่ระบาดเชื้อโควิดในจ.สมุทรสาคร ถือว่าไม่เหมาะสม เพราะไม่เกี่ยวข้องกับการประชุมวันนี้ ตนจึงได้ประท้วง ทำให้นายมงคลกิตติ์พูดสวนขึ้นมาว่าให้สงบปากไว้ ตนจึงกล่าวว่าเรื่องสงบปากควรเป็นนายมงคลกิตติ์ เนื่องจากพูดนอกประเด็น และไม่อยู่ในข้อบังคับการประชุม จนเกิดการโต้เถียงกัน สุดท้ายนายมงคลกิตติ์หยุดพูดและเปลี่ยนเรื่องไปเอง ตนเห็นว่าการกระทำของนายมงคลกิตติ์ไม่มีกาลเทศะ

ก้าวไกลผิดหวัง-ซักฟอกสดุด

นายพิจารณ์ เชาวพัฒนพงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ว่า พรรคก้าวไกลรู้สึกผิดหวังที่ที่ประชุมมีความเห็นให้งดการประชุมออกไป 2 สัปดาห์ ซึ่งตนเห็นว่าการประชุมยังสามารถทำได้หากมีการวางมาตรการป้องกัน เช่น ขณะนี้มี ส.ส. 488 คน สามารถเรียกประชุมโดยให้แต่ละพรรคการเมืองส่งตัวแทนมาร่วมประชุมสภา โดยใช้จำนวน ส.ส.เพียง 245 คน ก็เพียงพอ พร้อมวางมาตรการเว้นระยะห่างในห้องประชุม เพื่อที่การประชุมจะได้ดำเนินการต่อไปได้ และให้มีการแก้ไขข้อบังคับให้มีการประชุมแบบออนไลน์ได้

การเลื่อนประชุมออกไป 2 สัปดาห์ หากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังไม่ลดลงก็อาจจะต้องเลื่อนไปอีกทำให้การผ่านกฎหมายหลายฉบับเกิดความล่าช้า เช่น การพิจารณาของกมธ.พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม ตรงนี้จะได้รับผลกระทบแน่นอน เพราะข้อบังคับกำหนดไว้ว่าไม่สามารถใช้การประชุมออนไลน์ได้ นี่คือปัญหาที่เกิดขึ้นจากการที่สภาไม่ปรับตัวทั้งที่ต่างประเทศไปไกลกว่านี้แล้ว

ส่วนผลกระทบต่อไทม์ไลน์การเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้านนั้น ตามข้อบังคับการประชุม ขอยื่นได้ภายในสมัยประชุม ซึ่งรอบนี้จะหมดภายในสิ้นเดือนก.พ. หากประเมินจากที่รัฐบาลประกาศออกมาเหมือนล็อกดาวน์ แต่ไม่ได้ล็อกดาวน์แล้วนั้น สถานการณ์การแพร่ระบาดอาจยืดเยื้อออกไป จึงเป็นไปได้ว่าจะเปิดอภิปรายไม่ทันในสมัยประชุม แต่อาจจะเปิดประชุมสมัยวิสามัญหลังจากเดือนก.พ.ไปแล้ว แม้จะไม่เปิดประชุม พรรคฝ่ายค้านยังยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ แต่อยู่ที่ดุลยพินิจของประธานรัฐสภาว่าจะบรรจุเมื่อไหร่ และอยู่ที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคด้วย

โวยแก้รธน.ยังไปไม่ถึงไหน

ด้านนายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะกมธ.วิสามัญพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ…. กล่าวว่า ต้องไม่ลืมว่าประเทศเรานั้นมีการแบ่งแยกอำนาจออกเป็น 3 ฝ่าย และไม่อาจดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืนหากปล่อยให้รัฐบาลที่เป็นฝ่ายบริหารใช้อำนาจอยู่ฝ่ายเดียว โดยที่ฝ่ายอื่นพักงานในการตรวจสอบถ่วงดุล งานสภาไม่ใช่งานเล่นๆ ที่เมื่อรัฐบาลปล่อยปละละเลยให้สถานการณ์บานปลายแล้วจะมาบีบให้สภาต้องหยุดงานตัวเองตามอยู่ร่ำไป และสมาชิกรัฐสภาก็ไม่ควรถูกปล่อยให้กินเงินเดือนหลักแสนไปเรื่อยๆ โดยไม่ได้ทำงานอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน

ประเทศนี้ยังมีปัญหาอีกหลายเรื่องที่ต้องอาศัยอำนาจของสภาเท่านั้นในการแก้ หนึ่งในนั้นคืองานของกมธ.วิสามัญพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ ที่เคยคุยกันว่าจะให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 8 ม.ค.2564 แต่ทุกวันนี้ยังไปไม่ถึงไหน หลายเดือนที่ผ่านมา ประชาชนจำนวนนับแสนคนสู้อุตส่าห์ออกมาเรียกร้องให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เอาตัวเข้าเสี่ยงกับการดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรมและการคุกคามรูปแบบอื่นๆ นับครั้งไม่ถ้วนกว่าที่สภาจะได้ยินเสียงของพวกเขา

‘วิษณุ’แย้ง-ชี้ไม่กระทบ

“กมธ.ชุดนี้ทั้ง 45 คน จึงมีหน้าที่น้อมนำเจตนารมณ์และความคาดหวังของพี่น้องประชาชนในการบรรลุภารกิจนี้ให้ได้โดยเร็วที่สุด ทุกๆ วันล้วนมีค่า เพราะหนึ่งวันที่งานส่วนนี้ต้องเนิ่นช้าออกไป ก็เท่ากับหนึ่งวันที่พี่น้องประชาชนจะต้องรับผลร้ายจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ต่อไปเรื่อยๆ อย่าเพิ่งปิดทางเลือกของพวกท่าน เพราะนั่นหมายถึงการปิดทางออกของประชาชนด้วย” นายรังสิมันต์กล่าว

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่สภาเลื่อนการประชุม 2 สปัดาห์จะส่งผลกระทบต่อการพิจารณากฎหมายของรัฐบาลหรือไม่ ว่า อาจมีผลกระทบโดยเฉพาะ ร่างพ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 301 และมาตรา 305 ความผิดฐานทำให้แท้งลูก หรือ กฎหมายทำแท้ง เนื่องจากเป็นกฎหมายที่เร่งรีบ ซึ่งตนเชื่อว่าเสร็จไม่ทันวันที่ 12 ก.พ. ซึ่งเป็นวันประกาศใช้ ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่มีอะไร เพราะสามารถเลื่อนการประชุมได้อยู่แล้ว

กมธ.ชงทบทวนใช้เงินกู้

นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)ในฐานะโฆษก กมธ.ติดตามตรวจสอบการใช้เงินกู้จาก พ.ร.ก. 3 ฉบับ เพื่อแก้ไขและฟื้นฟูปัญหาโควิด-19 แถลงว่า เตรียมเสนอให้กมธ.ทบทวนการใช้งบประมาณที่เหลืออยู่ และโครงการทั้งหมด โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เข้ามาทบทวนโครงการต่างๆ ที่อนุมัติไปแล้ว แต่ยังไม่ได้มีการใช้งบว่ามีความจำมากน้อยขนาดไหน หากไม่จำเป็น ไม่เข้ากับสถานการณ์ จะกลับมาพิจารณาทบทวนใหม่ เพื่อรอดูนโยบายของรัฐบาล จะได้ปรับแก้การใช้งบให้เป็นไปตามสถานการณ์ เพื่อเอาเงินส่วนนี้มาช่วยเหลือประชาชน เพราะเงินกู้ค่อนข้างสูงและมีอยู่จำกัด

ปัจจุบันกมธ.กำลังมีการพิจารณาเรื่องการแก้ไข พ.ร.ก. ในส่วนของวัตถุประสงค์เพื่อให้สามารถปล่อยใช้เงินได้ตรงตามความต้องการของประชาชนมากขึ้น โดยเฉพาะส่วนที่เป็นเงินกู้ซอฟต์โลน 5 แสนล้าน ซึ่งที่ผ่านมาไม่สามารถช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่เดือดร้อนจริงๆ ได้อย่างเต็มที่ รวมถึงทบทวนในส่วนของ พ.ร.ก กู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรค โควิด-19 ว่าจะทำอย่างไรให้เหมาะสมกับสถานการณ์ดังกล่าว

‘เรืองไกร’ส่งจ.ม.ท้านายกฯ

นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ เปิดเผยว่า วันที่ 4 ม.ค. ตนส่งจดหมายอีเอ็มเอสไปสองเรื่อง คือ 1.ท้า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ให้แก้ข้อกล่าวหาต่อหน้าสื่อมวลชน เนื่องจากเมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2563 นายกฯ เคยถามสื่อมวลชนว่าผมทำผิดอะไร ซึ่งขณะนี้มีหลักฐานที่จะแฉความผิดของ นายกฯ แล้ว และเป็นหลักฐานของนายกฯเอง

ถ้ามั่นใจว่าไม่มีความผิด เป็นชายชาติทหาร ฆ่าได้หยามไม่ได้ เชื่อว่านายกฯ ต้องรับคำท้านี้ แต่บอกได้เลยว่างานนี้มีเสียวสันหลังแน่นอน อาจถึงกับต้องแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกได้ โดยเสียงข้างมากในสภาก็ช่วยไม่ได้ เพราะเรื่องนี้เป็นกรณีที่มีหลักฐานเป็นใบเสร็จการทุจริต แต่หากตนไม่มีหลักฐานหรือแสดงหลักฐานเท็จไม่มีมูลความจริง จะกราบขอโทษนายกฯ ต่อหน้าสื่อมวลชน และยินยอมถูกนายกฯฟ้องร้องดำเนินคดีจนถึงที่สุด

2.เรื่องคุณสมบัติของนายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ ที่เคยถูกศาลพิพากษาว่ามีความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ อันเป็นลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (10) ซึ่งเรื่องนี้จะอ้าง พ.ร.บ.ล้างมลทินฯ พ.ศ.2550 มาเป็นประโยชน์หาได้ไม่ เนื่องจากศาลปกครองสูงสุดเคยวินิจฉัยไว้เมื่อปี 2559 ว่า พ.ร.บ.ล้างมลทิน ไม่มีมาตราใดให้ลบล้างคำพิพากษา และศาลฎีกาเคยวินิฉัยในทำนองเดียวกัน จึงขอให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตรวจสอบว่านายสิระต้องพ้นจาก ส.ส. หรือไม่ พร้อมขอให้ กกต.ขยายผลการตรวจสอบไปยังรัฐมนตรี ส.ส. และ ส.ว.ทุกคนว่ามีผู้ใดขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98(10) อีกหรือไม่

‘ชูศักดิ์’ย้ำ‘แม้ว’ช่วยหาเสียงได้

นายชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคและประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมาย พรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นายทักษิณ ชินวัตร โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ข้อความเป็นจดหมายช่วยหาเสียงให้นายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร ผู้สมัครนายก อบจ.เชียงใหม่ ซึ่งมีผู้ให้ข่าวทำนองว่าไม่อาจทำได้ เพราะมิได้เป็น ผู้ช่วยหาเสียง และอาจเข้าข่ายเป็นการครอบงำพรรคเพื่อไทยอันจะนำไปสู่การยุบพรรคว่า เรื่องนี้ต้องแยกพิจารณาออกจากกัน เนื่องจากเป็นคนละเรื่องและเป็นการใช้กฎหมายคนละฉบับกัน

เมื่อดูจากระเบียบกกต. จะเห็นได้ว่าได้กำหนดเรื่องการหาเสียงเลือกตั้งโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์กับเรื่องผู้ช่วยหาเสียงไว้คนละหมวดแยกจากกัน กรณีนายทักษิณเป็นการหาเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์โดยบุคคลที่มิใช่ผู้สมัครหรือพรรคการเมือง ซึ่งระเบียบข้อ 11 และข้อ 12 ให้สามารถทำได้โดยไม่ต้องแจ้งการหาเสียงล่วงหน้า และที่ทำก็ไม่อยู่ในลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงตามข้อ 22 และข้อ 23 ของระเบียบฉบับดังกล่าว

การดำเนินการของนายทักษิณ ก็ไม่ถือเป็นการควบคุม ครอบงำหรือชี้นำพรรคเพื่อไทย เนื่องจากการเลือกตั้งนายก อบจ.เป็นกิจการที่ดำเนินการโดย กกต. มิใช่กิจการของพรรคการเมือง จะนำเรื่องดังกล่าวมาเชื่อมโยงว่าเป็นการควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำพรรคตามกฎหมายพรรคการเมืองมิได้ และข้อเท็จจริงก็เป็นเพียงการหาเสียงซึ่งบุคคลภายนอกไม่ว่าจะเป็นใครก็หาเสียงให้ผู้สมัครได้ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของพรรค

ยันดูแลเพื่อไทยถึงที่สุด

นายชูศักดิ์กล่าวว่า ในส่วนของพรรคนั้น หลังมีกรณีดังกล่าว ผู้บริหารของพรรคได้หารือร่วมกับฝ่ายกฎหมายโดยเห็นร่วมกันว่า การดำเนินการของนายทักษิณ เป็นการดำเนินการส่วนตัวไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับพรรค ท่านก็ไม่เคยปรึกษาหารือหรือแจ้งให้กรรมการบริหารพรรคคนใดทราบเรื่องดังกล่าว พรรคจึงเห็นว่าเป็นสิทธิของแต่ละบุคคลที่สามารถทำได้ตามระเบียบ กกต. จึงมิได้มีการแสดงออกใดๆ ในเรื่องดังกล่าว

ข่าวที่ออกมาว่ามีการประชุมกรรมการบริหารและกรรมการบางท่านโต้แย้งคัดค้านเรื่องการหาเสียงดังกล่าวก็ไม่เป็นความจริง แม้จะมีกรรมการบริหารพรรค 2 คน ลาออกเพราะเกรงว่าเรื่องดังกล่าวจะมีผลกระทบ ก็ไม่ว่าอะไรกัน เป็นสิทธิ ตนเข้าใจดีว่าหลายคนเป็นโรคกลัวการยุบพรรคจนขึ้นสมอง ไม่ได้ไล่เรียงองค์ประกอบของกฎหมาย ขณะนี้คณะกรรมการบริหารเหลืออยู่ 21 คนรวมทั้งตนเอง ยังมีองค์ประกอบครบถ้วน ยืนยันว่าจะทำหน้าที่ดูแลพรรคอย่างถึงที่สุดต่อไป

กกต.รับรองผล 12 นายกอบจ.

รายงานข่าวเปิดเผยว่า ที่ประชุมกกต. ได้พิจารณาคำร้องคัดค้านการเลือกตั้ง และการประกาศผลการเลือกตั้งนายกและสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ทั้ง 76 จังหวัดที่มีการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 20 ธ.ค.2563 ตามที่สำนักงานเสนอ และมีมติให้ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งนายกและสมาชิกสภาอบจ. ที่ไม่มีเรื่องร้องเรียน หรือมีเรื่องร้องเรียนแต่ไม่เกี่ยวข้องกับผู้ได้รับเลือกตั้ง หรือเป็นเรื่องร้องเรียนที่กกต.พิจารณาแล้วเห็นว่าไม่มีผลทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริต ใน 12 จังหวัด พร้อมสมาชิกอบจ.ที่ได้รับเลือกตั้งอีก 328 คน ประกอบด้วย

จ.ลำพูน นายอนุสรณ์ วงศ์วรรณ เป็นนายก อบจ. พร้อมสมาชิกอบจ.รวม 24 คน

จ.ตาก นายณัฐวุฒิ ทวีเกื้อกูลกิจ เป็นนายก อบจ. พร้อมสมาชิกอบจ.รวม 30 คน

จ.เพชรบุรี นายชัยยะ อังกินันทน์ เป็น นายกอบจ. พร้อม สมาชิกอบจ.รวม 24 คน

จ.กระบี่ นายสมศักดิ์ กิตติธรกุล เป็นนายก อบจ. พร้อมสมาชิกอบจ.รวม 24 คน

จ.ปัตตานี นายเศรษฐ์ อัลยุฟรี เป็นนายก อบจ. พร้อมสมาชิกอบจ.รวม 30 คน

จ.จันทบุรี นายธนภณ กิจกาญจน์ เป็น นายกอบจ. พร้อมสมาชิกอบจ.รวม 30 คน

จ.พิษณุโลก นายมนต์ชัย วิวัฒน์ธนาฒย์ เป็นนายกอบจ. พร้อมสมาชิกอบจ.รวม 30 คน

‘น้องธรรมนัส’เฮนั่งเก้าอี้พะเยา

จ.พะเยา นายอัครา พรหมเผ่า เป็นนายก อบจ. พร้อมสมาชิกอบจ.รวม 24 คน

จ.สมุทรสงคราม น.ส.สุกานดา ปานะ สุทธะ เป็นนายก อบจ. พร้อมสมาชิกอบจ. รวม 24 คน

จ.หนองคาย นายยุทธนา ศรีตะบุตร เป็นนายก อบจ. พร้อมสมาชิกอบจ.รวม 30 คน

จ.หนองบัวลำภู นายวุฒิพงษ์ ศิริสถิตย์ เป็นนายก อบจ. พร้อมสมาชิกอบจ.รวม 30 คน

จ.เพชรบูรณ์ นายอัครเดช ทองใจสด เป็นนายก อบจ. พร้อมสมาชิกอบจ.รวม 28 คน โดยยกเว้นเขต 2 อ.ศรีเทพ และเขต 3 อ.หนองไผ่

หลังจากนี้ ประธานกกต. จะลงนาม ประกาศกกต.รับรองผลการเลือกตั้งต่อไป ก่อนที่ผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำจังหวัด แจ้งผลไปยังผู้ได้รับเลือกตั้ง ส่วนการประชุมกกต. วันที่ 5 ม.ค. ทางสำนักงานกกต.จะเสนอเรื่องร้องคัดค้าน และการพิจารณาประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง นายกและสมาชิกสภาอบจ. ให้กกต.พิจารณาเพิ่มอีก 10 กว่าจังหวัดด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ นายอัครา ที่ได้รับเลือกตั้งเป็นนายก อบจ.พะเยา เป็น น้องชายของร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์

วันแรกของปี – พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เข้าทำงานในวันแรกของปี หลังหยุดยาวปีใหม่ ให้สัมภาษณ์ถึงมาตรการป้องกันโควิด ระบุอีก 1-2 เดือน ได้วัคซีนล็อตแรก 2 ล้านโดส ขอให้ประชาชนล็อกดาวน์ตัวเอง ถ้าไม่อยากติดเชื้อก็ไม่ต้องไปไหน ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 4 ม.ค.

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน