ขอโทษ-ทำให้เข้าใจผิด
อธิบดี คร.โต้หมอมนูญ
ปมปิดตลาดแต่ห้างเปิด
เทอีก4.66พันล.สู้โควิด

 

‘หมอทวีศิลป์’แถลงขอโทษประชาชน หลังสื่อสารทำให้เกิดความเข้าใจผิดคิดว่าไม่มีแอพ ‘หมอชนะ-ไทยชนะ’ โดนจับปรับ-ติดคุก ยืนยันมีแอพและบทลงโทษไว้เพื่อคนส่วนใหญ่ ปลื้มหลังแถลงวันเดียวมีผู้โหลดถึง 2 ล้านโหลด ‘รมต.บี’ ย้ำไม่โหลดก็ไม่มีความผิด แต่ถ้าโหลดก็จะเป็นประโยชน์แก่ตัวเอง ยันข้อมูลส่วนตัวไม่รั่วไหลแน่ ‘บิ๊กตู่’ อนุมัติงบกลางให้สธ.กว่า 4.66 พันล้านใช้แก้ปัญหาโควิด อธิบดีกรมควบคุมโรค แจงปมปิดตลาด-ไม่ปิดห้างสรรพสินค้า เทียบกันไม่ได้ ชี้ตลาดแม้อากาศถ่ายเทกว่า แต่มีแรงงานต่างด้าวติดเชื้อเยอะ ส่วนห้างคนเข้าออกเยอะ แต่คนติดเชื้อน้อย ด้านคณบดีศิริราชยันไม่เคยพูดเสนอปิดห้าง เพราะสถานที่ปิด อากาศไม่ถ่ายเท เสี่ยงแพร่โควิด ขออย่าหลงเชื่อ

 

หมอทวีศิลป์ขออภัยสื่อสารผิด

เมื่อเวลา 11.30 น.วันที่ 8 ม.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 (ศบค.) กล่าวถึงกรณีระบุคนไทยต้องมีแอพพลิเคชั่นหมอชนะ หากไม่มีจะมีความผิดตามประกาศฉบับที่ 17 ว่า ต้องขออภัยในเรื่องที่สื่อสารออกไป เนื่องจากต้องการความร่วมมือมากๆ ในเรื่องการใช้แอพหมอชนะ ที่จะช่วยปกป้องคนไทยและคนในประเทศ ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่ว่าคนไทยต้องมีแอพฯ ไม่มีแล้วผิด จริงๆที่ต้องการแจ้งให้ทราบคือคนป่วยโควิด-19 แล้วปกปิดข้อมูล และไม่มีแอพฯ ทำให้ต้องใช้เวลาสอบสวน ถึงมีการกำหนดโทษ การมีกฎหมายตรงนี้เพื่อคุ้มครองคนส่วนใหญ่ ไม่ได้ต้องการสร้างความตระหนกตกใจหรือบีบบังคับ ซึ่งตนต้องพิจารณาตัวเองในหลายเรื่อง

นพ.ทวีศิลป์กล่าวอีกว่า ตนมีตำแหน่งเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข รับผิดชอบเขตอีสานใต้ และมารับตำแหน่งโฆษก ศบค. ซึ่งไม่เคยได้เบี้ยประชุม มาทำงานด้วยใจ การมาทำหน้าที่ตรงนี้ก็พยายามเรียนรู้ทั้งเรื่องกฎหมาย ความมั่นคง ด้านระบาดวิทยา เพราะตนเป็นจิตแพทย์ก็ไม่ได้เชี่ยวชาญในด้านเหล่านี้ ก็พยายามทำให้ดีที่สุด แต่ก็มีข้อบกพร่อง มีการโยงตนกับการเมืองว่าติดในอำนาจต่างๆ ซึ่งตนไม่เคยคิด เพราะอยากอยู่ในหน้าที่ของข้าราชการ ทำเต็มที่เพื่อประชาชน ตอนนี้มีข่าวคราวกระทบทั้งส่วนตัวและครอบครัวก็ขอความเห็นใจและกำลังใจในการทำงาน ทุกวันนี้ตื่นแต่เช้าก็ศึกษาข้อมูลเพื่อนำมาสื่อสาร อาจถูกบ้างผิดบ้างก็ต้องขออภัย แต่ดีใจที่ทำทุกวันนี้ให้ดีที่สุด เพื่อต่อสู้กับโรคนี้ให้ชนะในวันข้างหน้า ซึ่งทำคนเดียวไม่ได้ ขอให้ทุกคนช่วยกัน 60 กว่าล้านคนถ้าทำพร้อมกันก็ชนะได้

ปลื้มหลังแถลง-โลก2ล้านครั้ง

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า สำหรับแอพหมอชนะเป็นเครื่องมือติดตามตัว เพื่อจะได้สอบสวนโรคที่มีความยากให้ง่ายขึ้น เหมือนเป็นการทำพาสปอร์ตให้รู้ว่าผ่านไปในที่ต่างๆ ส่วนที่ต้องใช้แอพฯ นี้ เพราะประกาศฉบับที่ 16 ข้อ 6 สาระคือต้องการให้ประชาชนงดหรือชะลอการเดินทางข้ามจังหวัด เว้นมีเหตุจำเป็นให้แสดงเหตุผลและหลักฐานเจ้าหน้าที่ เข้ารับการตรวจคัดกรอง ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคตามราชการกำหนด จึงจำเป็นต้องออกข้อกำหนดฉบับที่ 17 โดยข้อ 2 คือ การยกระดับพื้นที่การควบคุม ซึ่งในพารากราฟสุดท้ายจะบอกว่า เพื่อสกัดยับยั้งการแพร่การระบาดของโรคอย่างรวดเร็ว โดยให้ตั้งจุดตรวจหรือจุดสกัดเพื่อคัดกรองการเดินทางเข้าออกพื้นที่อย่างเข้มข้น และให้ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าวติดตั้งใช้ระบบแอพพลิเคชั่นหมอชนะ และข้อ 4 คือ จะเกิดโทษเมื่อติดเชื้อและปกปิดข้อมูล ซึ่งบางคนอาจจำไม่ได้ว่าไปไหนมาบ้าง แต่หากมีหมอชนะก็ไม่มีความผิดเลย เพราะช่วยในการติดตามได้ แต่ถ้าติดเชื้อ ปกปิดข้อมูล ไม่มีหมอชนะ ก็อยู่ในวิสัยของพนักงานสอบสวน หากเห็นว่าเป็นการแสดงอุปสรรคต่อการสอบสวนโรคก็เข้าข่ายฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานโรคติดต่อตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558

“เมื่อวานที่สื่อสารออกไป รู้สึกไม่สบายใจ โซเชี่ยล ออกมาเชิงทางลบ แต่เมื่อเช้า ดีใจที่เห็นตัวเลขดาวน์โหลดแอพหมอชนะ วันเดียวเพิ่มขึ้นมา 2 ล้านครั้ง ก็ขอบคุณทุกคนที่เข้าใจและปฏิบัติตามในความเป็นวิกฤตอย่างนี้ ที่อยากให้ใช้หมอชนะ จะช่วยผู้ใช้แอพฯ ให้รู้ว่าเคยเข้าพื้นที่เสี่ยงติดเชื้อหรือไม่ บางทีเราอาจลืมไปแล้ว ช่วยหมอเซฟเวลาทำงาน ลดงาน ส่งข้อมูลที่ถูกต้อง ไม่ตระหนกไม่วิตกเกินไปว่าเข้าไปใกล้ชิดผู้ติดเชื้อหรือไม่ เป็นต้น” นพ.ทวีศิลป์กล่าว

บิ๊กตู่อนุมัติให้สธ.เบิกงบกลาง

ด้านน.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม เห็นชอบให้กระทรวงสาธารณสุข เบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 งบกลาง ค่าใช้จ่ายบรรเทาแก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อดำเนินโครงการเตรียมความพร้อมรับมือและแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระยะการระบาดระลอกใหม่ ประจำปีงบ ประมาณ พ.ศ.2564 เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับการดูแลประชาชนอย่างเต็มที่และมีงบประมาณเพียงพอสำหรับดำเนินการ

“นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขปัญหาโควิด-19 ระลอกใหม่ ทั้งการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมให้ถูกต้องเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของแผนงานและโครงการอย่างเคร่งครัด” น.ส.ไตรศุลี กล่าว

ทุ่มเงิน 4.66 พันล้านแก้โควิด

สำหรับงบประมาณทั้ง 4,661 ล้านบาท จะจัดสรรแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดูแลการระบาดระลอกใหม่ ประกอบด้วย สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กรมการแพทย์ กรมควบคุมโรค กรมสุขภาพจิต กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กรมอนามัย กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โดยงบประมาณหลักจะเกี่ยวกับค่าวัสดุ วงเงิน 2,101 ล้านบาทเช่น วัสดุวิทยาศาสตร์สนับสนุนห้องปฏิบัติการ ค่าอุปกรณ์ป้องกันเชื้อ ค่ายาในการรักษาโรคโควิด-19 ค่าเวชภัณฑ์ในการปฏิบัติการในพื้นที่ต่างๆ ค่าวัสดุอุปกรณ์สำหรับอสม. และการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม 1,228 ล้านบาท อยู่ในส่วนนี้ด้วย

นอกจากนี้เป็นงบประมาณสำหรับค่าตอบแทน เช่น ค่าเสี่ยงภัยของบุคลากรทางการแพทย์ ค่าล่วงเวลา ค่าล่าม วงเงิน 1,625 ล้านบาท ค่าใช้สอยอื่น 872 ล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นค่าตอบแทนเสี่ยงภัยค้างจ่าย ปี 2563 ค่ารักษาพยาบาลส่วนเกินจากสิทธิ ผู้ป่วยค้างจ่าย และค่าใช้จ่ายค่าใช้จ่ายอื่นๆ ปีงบประมาณ 2563 โดยเป้าหมายการดำเนินการเพื่อให้ทุกคนในประเทศไทย ลดป่วย ลดการเสียชีวิต โดยเฉพาะปกป้องกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้มีโรคร่วม กลุ่มเปราะบางและด้อยโอกาส ให้ปลอดภัยจากโรคติดเชื้อโควิด-19 และสามารถควบคุมการระบาด ระลอกใหม่ ลดผลกระทบทางด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ การท่องเที่ยว สังคมและเพิ่มความมั่นคงของประเทศ

‘บี’ยันหมอชนะข้อมูลไม่รั่วไหล

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอีเอส) ให้สัมภาษณ์ถึงความสับสนของประชาชนในการโหลดแอพพลิเคชั่นหมอชนะ และข้อกังวลเรื่องข้อมูลส่วนบุคคลว่า การรณรงค์ให้ใช้แอพหมอชนะ เพื่อช่วยให้สะดวกในการติดตามบุคคลและควบคุมการแพร่เชื้อของโรคที่ไปกับบุคคล โดยหลักการออกแบบแอพฯ ดังกล่าว มีแนวคิดเพื่อการติดตามและระมัดระวังเรื่องข้อมูลส่วนบุคคล ไม่ได้ไปละเมิดสิทธิ์ของใคร ส่วนข้อกังวลต่างๆ ขอชี้แจง 3 เรื่อง คือความปลอดภัยของบุคคล ขอเรียนว่ามีความปลอดภัย เพราะเมื่อโหลดไปแล้วจะไม่ปรากฏชื่อและนามสกุลของบุคคลนั้น แต่จะเป็นรหัสตัวเลขระบบคอมพิวเตอร์ เช่น 111 ดังนั้น เวลาเข้าไปดูจะไม่รู้ว่าเป็นใคร ซึ่งผู้ที่จะเข้าไปดูข้อมูลได้ คือกลุ่มสาธารณสุขโดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข สามารถย้อนหลังไปได้ 14 วัน ว่าหมายเลขนี้ไปพบกับใครบ้าง หากพบความเสี่ยงจะส่งสัญญาณเตือนไปที่เจ้าของหมายเลขนั้นๆ

รมว.ดีอีเอส กล่าวว่า ส่วนข้อกังวลเกี่ยวกับไทม์ไลน์ที่ไม่อยากบอกคนอื่น การโหลดแอพฯ จะทำให้ไม่ต้องบอกไทม์ไลน์ให้คน อื่นรู้ เพราะระบบสามารถตรวจสอบเองว่าคนที่ติด 1 คนได้ไปสัมผัสกับใครบ้างที่โหลด ดังนั้น สบายใจได้ว่าถ้ามีปัญหา มีความเสี่ยงหรือติดเชื้อ จะได้ไม่ต้องมานั่งนึกไทม์ไลน์ และที่ต้องถ่ายรูปเพื่อยืนยันตัวตนจนกังวลว่าอาจไม่ปลอดภัย และรูปถ่ายจะถูกนำไปเก็บในข้อมูลของรัฐบาลหรือไม่ ยืนยันว่าการถ่ายรูปในแอพฯ เป็นแค่การถ่ายรูปและเก็บไว้ในมือถือของบุคคลนั้นๆ ไม่ได้นำมาเก็บไว้เป็นข้อมูลส่วนกลาง ซึ่งการถ่ายรูปยืนยันตัวตนในกรณีที่จะเดินทางข้ามจังหวัด สามารถแสดงต่อเจ้าหน้าที่ที่จุดตรวจได้

ขอความร่วมมือโหลด-ไม่มีไม่ผิด

นายพุทธิพงษ์กล่าวว่า สุดท้ายข้อกังวลว่าแอพหมอชนะ จะถูกติดตามไมโครโฟน เวลาพูดอะไรออกไปแล้วจะดูดเสียงเก็บไว้เพื่อเอาข้อมูล ยืนยันไม่เป็นความจริง แอพหมอชนะ ปรับให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่ใช้ท่ามกลางการแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง เพื่อให้หมอ พยาบาล เฝ้าติดตามข้อมูลและป้องกันการ ติดต่อของเชื้อที่จะไปกับประชาชนที่เดินทาง สามารถทำได้เร็วขึ้น และจำกัดการแพร่ตัวของโรคได้

นายพุทธิพงษ์กล่าวว่า แอพฯ ดังกล่าวเป็นการขอความร่วมมือให้โหลด แต่ถ้าไม่โหลดวันนี้ไม่ผิดกฎหมาย ไม่โหลดไม่เป็นไร แต่ขอความร่วมมือเพราะคนที่โหลดจะได้ประโยชน์แก่ตัวเอง เวลาไปไหนผ่านไปแล้ว 7 หรือ 10 วัน อาจไม่รู้ว่ามีความเสี่ยง ก็ย้อนไปดูได้ ส่วนคนที่ไม่มีโทรศัพท์มือถือหรือระบบที่จะโหลดได้ ให้เข้าระบบปกติคือการบันทึกเอกสาร ซึ่งกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำเอกสารให้กรอกข้อมูล และเมื่อโหลดและกรอกข้อมูลเบื้องต้นเพื่อแสดงสถานะจะถือว่าทุกคนมีความเสี่ยงต่ำ เพราะระบบติดตามจะเริ่มเมื่อโหลดแอพฯ และติดตั้งเรียบร้อยแล้ว หลังจากนั้นเมื่อเดินทางและไปอยู่ใกล้บุคคลที่มีความเสี่ยง ไทม์ไลน์ก็จะเริ่มขึ้น ยืนยันว่าข้อมูลทั้งหมดปลอดภัยเป็นประโยชน์ต่อการติดตามควบคุมและสอดส่องโรค

หมอมนูญชี้กลางแจ้งโล่งเชื้อ

ด้านนพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ ผู้ป่วยหนัก และโรคผู้สูงอายุ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ และประธานชมรมเชื้อราทางการแพทย์ประเทศไทย ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก ถึงมาตรการในการควบคุมโควิด ซึ่งเปรียบเทียบระหว่าง ห้าง กับ ตลาด ว่า อะไรกันแน่ที่มีความเสี่ยงมากกว่ากันโดยระบุว่า “มาตรการควบคุมโรคโควิด-19 ด้วยการสั่งปิดสถานที่ต่างๆ ต้องคำนึงถึงความเสี่ยงในการติดเชื้อในสถานที่นั้นๆ ไม่ใช่สั่งปิดพร้อมกันหมด ตอนนี้เศรษฐกิจไทยบอบช้ำเกินกว่าจะเจอล็อกดาวน์รอบ 2 คนไทยสามารถทำกิจกรรมในที่กลางแจ้ง (outdoor) ได้ทุกฤดูกาล ต่างจากประเทศเมืองหนาว การห้ามลูกค้าเข้าไปซื้อของในสถานที่เปิด ไม่ได้ติดตั้งเครื่องปรับอากาศ เช่น ตลาดสด ตลาดนัด ซื้อของจากร้านหาบเร่ แผงลอยข้างถนน ห้ามนั่งรับประทานอาหารในที่โล่ง นอกอาคาร นอกบ้านหลัง 3 ทุ่ม ส่งผลกระทบต่อผู้มีอาชีพขายอาหาร คนหาเช้ากินค่ำ ลูกจ้าง คนทำงานต้องตกงาน เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรง

ขณะที่ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุม สถานที่จัดนิทรรศการ ร้านสะดวกซื้อซูเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งเป็นสถานที่ปิด (indoor) ติดตั้งเครื่องปรับอากาศ อากาศถ่ายเทไม่ดี มีความเสี่ยงในการแพร่กระจาย การติดเชื้อโควิด-19 มากกว่าในที่กลางแจ้ง 10 เท่า กลับให้เปิดทำการได้ตามเวลาปกติ

เราสามารถลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ โควิด-19 ในตลาดสด ตลาดนัด ด้วยการปรับปรุงโครงสร้างสถานที่ให้มีการถ่ายเทระบายอากาศมากขึ้น เปิดหลังคาบางจุด เว้นระยะห่างของแม่ค้าแต่ละซุ้ม ทำทางเดินให้กว้างขึ้น ไม่ให้แออัดมากเกินไป คนขายของและลูกค้าทุกคน ต้องใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา รัฐควรผ่อนผันให้สถานที่นอกอาคาร ในที่กลางแจ้ง เปิดบริการเหมือนปกติ เพื่อให้คนได้ทำงาน มีรายได้เลี้ยงตัวเองและครอบครัว”

นักร้อง-นักดนตรียื่นขอเยียวยา

ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล ตัวแทนกลุ่มคนทำงานสถานบันเทิง นักร้อง นักดนตรี และอาชีพกลางคืน จำนวน 10 คน นำโดย นายทักษะศิลป์ อุดมชัย ตัวแทนนักร้อง นักดนตรีอาชีพอิสระ ยื่นหนังสือถึงนายกฯ โดยมีนายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกฯ เป็นผู้รับหนังสือ เพื่อเรียกร้องขอให้รัฐบาลช่วยเหลือกลุ่มคนอาชีพนักร้องนักดนตรีอิสระ กลุ่มคนอาชีพทำงานกลางคืนในพื้นที่ 28 จังหวัด ซึ่งเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดโควิด-19 รอบสอง เนื่องจากไม่สามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติ

ผลกระทบจากวิกฤตดังกล่าวทำให้ตกงาน จึงมีข้อเรียกร้อง 1.มาตรการเยียวยา 5,000 บาท ระยะเวลา 2 เดือน แต่ถ้าสถานการณ์ ยังไม่ดีขึ้น ขอให้เยียวยาต่ออีกรวมเป็น 3 เดือน ทั้งนี้ โปรดพิจารณาตอบกลับทางกลุ่มก่อนวันที่ 1 ก.พ.

2.พักชำระหนี้ โดยเฉพาะพักชำระหนี้ไฟแนนซ์รถยนต์ รถจักรยานยนต์ รวมถึงช่วยเหลือเรื่องค่าเช่าหรือผ่อนที่พักอาศัย โดยขอให้ทางรัฐบาลออกหนังสือรับรองให้พวกเราเป็นบุคคลไร้รายได้ฉุกเฉินเนื่องจากถูกสั่งให้ไม่สามารถทำงานได้ เพราะเป็นพื้นที่แพร่กระจายโรคโควิด-19 ทั้งนี้ หนังสือรับรองเป็นบุคคลไร้รายได้ฉุกเฉินเพื่อให้เราสามารถขอผ่อนผันค่างวดบ้าน คอนโดฯ ที่พักอาศัยออกไปก่อน จนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น แล้วกลับมามีอาชีพ มีรายได้ตามปกติ

3.ขอผ่อนปรนใบอนุญาตการแสดงดนตรีของสถานประกอบการให้ร้านอาหาร เพื่อให้สามารถแสดงดนตรีได้และให้เคร่งครัดในการปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุข 4.วอนรัฐบาลช่วยเหลือการจัดจ้างงาน ให้เราได้ใช้ความสามารถและความเชี่ยวชาญในอาชีพการแสดงดนตรี กับผู้ประกอบการหรือองค์กรที่สนใจนำการแสดงดนตรีช่วยส่งเสริมการขายทางออนไลน์ หวังว่ารัฐบาลจะพิจารณาให้ความช่วยเหลือตามข้อเสนอทั้งสี่ข้อกับพวกเราตามเห็นสมควร ทั้งนี้เพื่อความอยู่รอดขอให้มี รายได้จุนเจือครอบครัวต่อไปไม่มากก็น้อย

กทม.เชิญชวนโหลดหมอชนะ

วันเดียวกัน ที่ศาลาว่าการกทม. พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าฯกทม. ในฐานะผอ.ศบค.กทม. เป็นประธานการประชุม ศบค.กทม. ครั้งที่ 6 โดยมีคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผู้แทนสำนัก ผู้แทน บช.น. ผู้แทน กอ.รมน.กทม. ผู้แทนกลุ่มเขต และ ผู้แทนส่วนราชการในสังกัดกรุงเทพมหานครที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม

พล.ต.ท.โสภณกล่าวว่า ที่ประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่กทม. ความคืบหน้าการดำเนินการตามภารกิจที่ได้รับมอบหมาย และข้อสั่งการจากศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค. ซึ่งได้กำชับให้ทุกจังหวัดเข้มงวดการตรวจ คัดกรองการเดินทางข้ามจังหวัด โดยเฉพาะในพื้นที่ควบคุมสูงสุด เพื่อสกัดและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรค รวมทั้งให้ประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจกับประชาชนถึงประโยชน์การดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น “หมอชนะ” ที่จะเป็นข้อมูลในการสอบประวัติผู้ป่วยและเข้าสู่ระบบการรักษาได้รวดเร็วขึ้น ทำให้แพทย์และพยาบาลทำงานได้สะดวกและง่ายขึ้น

ส่วนผู้ที่ไม่ดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น ดังกล่าว ก็ไม่ถือว่ามีความผิด แต่จะต้องจดจำข้อมูลการเดินทาง และกิจกรรมในช่วงเวลาต่างๆ (timeline) ของตนเองให้ได้ เพื่อเป็นข้อมูลในการสอบสวนโรค ทั้งนี้การปกปิดข้อมูลหรือให้ข้อมูลเท็จ นอกจากจะทำให้คนอื่นเสี่ยงติดเชื้อแล้วก็อาจเป็นความผิดอีกด้วย

อธิบดีควบคุมโรคโต้หมอมนูญ

จากกรณีแพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบทางเดินหายใจ โพสต์ข้อความถึงการห้ามลูกค้าเข้าไปซื้อของในสถานที่เปิด ไม่ได้ติดตั้งเครื่องปรับอากาศ เช่น ตลาดสด ตลาดนัด หาบเร่แผงลอย ห้ามนั่งกินอาหารในที่โล่งนอกอาคาร นอกบ้านหลัง 3 ทุ่ม ส่งผลกระทบคนหาเช้ากินค่ำและเศรษฐกิจ แต่ให้ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุม สถานที่จัดนิทรรศการ ร้านสะดวกซื้อซูเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งเป็นสถานที่ปิด ติดตั้งเครื่องปรับอากาศ อากาศถ่ายเทไม่ดี มีความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อโควิด 19 มากกว่าที่กลางแจ้ง 10 เท่า เปิดทำการได้ตามเวลาปกตินั้น

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า เรื่องความเสี่ยงในการแพร่โรคโควิด 19 เกิดจาก 1.อากาศถ่ายเท 2. การพบผู้สัมผัส คนที่ไปห้างส่วนมากไปเพียงไม่นาน แต่ตลาดที่เสี่ยงตอนนี้ คือ มีแรงงานต่างด้าว ซึ่งขณะนี้เราตรวจพบเชื้อในแรงงานต่างด้าวเยอะ มีตัวอย่างที่ตลาดกลางกุ้ง ตลาดบางใหญ่ เป็นต้น เห็นชัดว่ามีผู้ติดเชื้อเยอะ แต่ห้างสรรพสินค้านั้นคนเข้าคนออกเยอะ แต่คนติดเชื้อไม่เยอะ และคนไม่ได้นอนในตลาด ดังนั้น จึงเปรียบเทียบกัน ไม่ได้ ทั้งนี้ สภาพของตลาด บางครั้งอากาศถ่ายเทอาจจะดีกว่า แต่การมีผู้ติดเชื้ออยู่ในตลาดค่อนข้างหนาแน่น ก็มีโอกาสที่จะติดเชื้อเยอะ เหมือนที่เห็นตัวอย่างในตลาดหลายแห่ง นี่คือเอาข้อเท็จจริงมาพูด

ส่วนกรณีมีการเผยแพร่ข้อมูลอ้างศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มีข้อเสนอให้ปิดห้างสรรพสินค้า เนื่องจากเป็นสถานที่ปิด อากาศไม่ถ่ายเท เสี่ยงเป็นแหล่งแพร่ระบาดเชื้อโควิด 19 นั้น ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ขอยืนยันว่าตนไม่เคยให้สัมภาษณ์ หรือไปพูดที่ไหนในเรื่องของข้อเสนอให้รัฐสั่งปิดห้างสรรพสินค้าแต่อย่างใด ขณะนี้พบว่ามีคนอัดคลิปเสียง ปลอมเสียงของตนพูดเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อ หากมีเรื่องที่ต้องสื่อสารกับประชาชนตนจะมีการสื่อสารตรงๆ กับสื่อมวลชนหรือสื่อประชาสัมพันธ์ของทาง ร.พ.ศิริราช

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน