กกต.แขวน41นายกอบจ.
‘อัศวิน’แย้มชิงผู้ว่าฯกทม.

สภาวางมาตรการเข้มสูงสุด ก่อนเปิดประชุม 20 ม.ค. หวั่นเป็นแหล่งแพร่โควิด กรรมาธิการแก้รธน.จ่อปรับตารางงาน เร่งให้เสร็จภายใน 28 ก.พ. หากไม่ทัน เล็งพิจารณาต่อสมัยวิสามัญ เพื่อไทยอัดมาตรการเยียวยา 3,500 บาท ชี้ไม่พอ ยก 5 มาตรการ จี้รัฐบาลต้องทำทันที โวยอดีตสมาชิกพรรค จ้องป่วน รอเคาะส่ง-ไม่ส่ง ผู้สมัครชิงสนามเทศบาล คณะก้าวหน้าพร้อมสู้ต่อ ด้านผู้ว่าฯอัศวิน โวลั่น ฟิตรอชิงผู้ว่าฯกทม. เผย ‘บิ๊กแป๊ะ’ ยกหูถามลูกพี่เอาไง กกต.สั่งแขวน 41 นายก อบจ. ประกาศรับรองแล้ว 27 จังหวัด วันนี้พิจารณาต่ออีก 8 จังหวัดที่เหลือ ด้าน 7 องค์กรคนพิการระดับชาติ จี้ ‘ปารีณา’ขอโทษ ปมกล่าวพาดพิงบุคคลออทิส ติก และให้ยุติการดำเนินคดีแพ่ง-อาญาทันที

วุฒิสภาเปิดประชุม 18-19 ม.ค.

เมื่อวันที่ 13 ม.ค. ที่รัฐสภา นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญกิจการวุฒิสภา หรือวิปวุฒิ เปิดเผยว่า วันที่ 18-19 ม.ค.จะมีการประชุมวุฒิสภาตามปกติ เพื่อพิจารณาระเบียบวาระที่ค้างอยู่ รวมทั้งเรื่องด่วน โดยให้ส.ว.ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ที่กำหนดไว้แล้วในช่วงการแพร่ระบาดครั้งแรกปี 2563 อย่างเข้มข้น ทั้งนี้ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ได้เรียกประชุม วิปวุฒิ เพื่อหารือเรื่องระเบียบวาระและทบทวนมาตรการป้องกันเพื่อความปลอดภัยต่างๆ อีกครั้ง ในวันที่ 14 ม.ค.

สภาผวาโควิด-คุมเข้มสูงสุด

ที่รัฐสภา นายอนันต์ ผลอำนวย ส.ส. กำแพงเพชร พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะประธานกมธ.กิจการสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการนัดประชุมสภา ในวันที่ 20 ม.ค. ที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ว่า ยอมรับว่ามีความเสี่ยงที่สภาจะเป็นแหล่ง แพร่เชื้อ เพราะเป็นศูนย์รวมของส.ส.และ ผู้ติดตาม 77 จังหวัด รวมถึงจังหวัดที่เป็นพื้นที่กลุ่มเสี่ยงสูงสุด แต่ต้องเปิดสภา เพราะถ้าไม่เปิดก็ถูกด่าจากคนที่ไม่เข้าใจ จึงจำเป็นต้องวางมาตรการป้องกันให้เข้มงวดที่สุด ไม่ให้สภาเป็นแหล่งรวมเชื้อโควิด มาตรการที่วางไว้เบื้องต้นคือ จะเปิดให้ใช้ทางเข้า-ออกสภาน้อยที่สุด ส่วนทางเข้าอาคาร ที่เป็นบันไดหนีไฟ จะปิดไม่ให้ใช้ ห้องประชุมสภาจะให้นั่งเว้นระยะห่าง 2 ที่นั่ง ส่วนห้องประชุมกมธ. จะให้เฉพาะส.ส.และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าประชุมเท่านั้น

ประธานกมธ. กล่าวว่า การดูงานต่างจังหวัดให้งดไว้ก่อน ห้องอาหารของส.ส. ให้ใช้เฉพาะจาน ชาม ช้อนพลาสติก แต่ละโต๊ะมีฉากพลาสสติก ให้นั่งโต๊ะละไม่เกิน 4 คน รวมถึงโรงอาหารทั่วไป จะขอความร่วมมือจากร้านค้าให้ใช้เฉพาะจาน ชาม ช้อนพลาสติก และในวันที่ 20 ม.ค. กมธ.จะเชิญผอ.ทุกสำนักในสภา แพทย์ผู้เชี่ยวชาญการควบคุมโรค และเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขมาร่วมหารือถึงวิธีป้องกันการควบคุมเชื้อโควิดในสภาด้วย เมื่อสภาจำเป็นต้องเปิด ต้องป้องกันตัวเองให้ดีที่สุด

กมธ.แก้รธน.จ่อถกสมัยวิสามัญ

นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา ในฐานะเลขานุการกมธ.พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่…) รัฐสภา กล่าวว่า กมธ.จะกลับมาหารือตามระเบียบวาระปกติ ในวันที่ 21-22 ม.ค.นี้ มีวาระพิจารณาหารือก่อนเข้าสู่เนื้อหาที่ค้างพิจารณา คือ การปรับตารางการทำงาน หลังจากมีสถานการณ์โควิด-19 และปัญหาการประชุม ทำให้วันทำงานของกมธ. หายไป 3 สัปดาห์ หรือ 6 วัน ดังนั้น จากเดิมกำหนดว่า ปลายเดือนม.ค.ต้องทำให้เสร็จ อาจต้องปรับเล็กน้อย ขึ้นอยู่กับการหารือของที่ประชุม เพื่อให้การพิจารณาและเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณาได้ทันสมัยก่อนปิดวันที่ 28 ก.พ. อย่างไรก็ตาม ในการพิจารณาร่างกฎหมาย ตามข้อบังคับไม่มีกำหนดเวลาสิ้นสุด ดังนั้น หากในสมัยประชุมสามัญนี้ไม่ทัน อาจพิจารณาในช่วงสมัยประชุมวิสามัญได้

เร่งหาข้อสรุปที่มาส.ส.ร.

“ประเมินการทำงานของกมธ. คาดว่าจะเร่งกันพอสมควร เพื่อให้ทันสมัยประชุมสามัญนี้ ยังมีประเด็นที่ค้างพิจารณาคือ เนื้อหาของการได้มาซึ่งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) และเมื่อพิจารณาเนื้อหาจนเป็นข้อยุติแล้ว จะต่อด้วยการพิจารณาคำขอแปรญัตติของสมาชิกรัฐสภา มีทั้งสิ้น 103 คน เบื้องต้นจะใช้การจัดกลุ่มเข้าชี้แจง เพราะในเนื้อหาของคำแปรญัตติ แม้จะมีผู้เสนอจำนวนมาก แต่รายละเอียดเป็นคำแปรญัตติที่เหมือนกัน” นายนิกรกล่าว

นายนิกรกล่าวต่อว่า ส่วนที่มาของ ส.ส.ร.นั้น ตามร่างของพรรคร่วมรัฐบาล กำหนดให้มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน 150 คน และมาจากการเลือกโดยอ้อม ผ่านองค์กรต่างๆ 50 คน ดังนั้น ในการประชุมกมธ.วันที่ 21 ม.ค. ตนจะเสนอที่ประชุมให้รับฟังความเห็นของตัวแทนที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย และตัวแทนกลุ่มคนรุ่นใหม่ ถึงวิธีการคัดเลือกบุคคลให้เป็นส.ส.ร.

พท.ชี้เยียวยา 3.5 พันบาทไม่พอ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พรรคเพื่อไทย (พท.) ออกแถลงการณ์ ระบุว่า มาตรการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ของรัฐบาล กำหนดวงเงิน 3,500 บาทต่อคนต่อเดือน เป็นเวลา 2 เดือน และมาตรการอื่นๆ นั้น พท.โดยคณะกรรมการนโยบายและวิชาการเห็นว่า มาตรการเยียวยา 3,500 บาท ไม่เพียงพอและไม่สามารถเยียวยาผลกระทบต่อประชาชนได้ ซึ่งพท.ได้เสนอชุดมาตรการรองรับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างครอบคลุมทั้งสิ้น 17 มาตรการ ไปเมื่อวันที่ 11 ม.ค.

ทั้งนี้ พรรคเรียกร้องให้รัฐบาล ดำเนินมาตรการสำคัญเร่งด่วน 5 เรื่องทันที คือ 1.กลุ่มแรงงานนอกระบบที่ไม่มีประกันสังคม ไม่ว่าอาชีพอิสระ ลูกจ้าง กลุ่มเปราะบาง และเกษตรกรให้แบ่งจ่ายเดือนละ 5,000 บาทเป็นเวลา 3 เดือน สำหรับนอกพื้นที่ควบคุมสูงสุดตามประกาศของรัฐ และแบ่งจ่ายเดือนละ 6,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน สำหรับในพื้นที่ควบคุมสูงสุดตามประกาศของรัฐ

ยก 5 ข้อจี้รัฐบาลทำทันที

2.ตั้งกองทุนสินเชื่อเพื่อเอสเอ็มอี ผล กระทบจากโควิด-19 จำนวน 1 ล้านล้านบาท โดยไม่ผ่านกลไกของสถาบันการเงินพาณิชย์ 3.มาตรการคงการจ้างงาน สำหรับแรงงานในระบบประกันสังคม ภาครัฐสนับสนุนเป็นระบบขั้นบันได 50-60 เปอร์เซ็นต์ ตามโซนความรุนแรง เป็นเวลา 6 เดือน ภาครัฐสนับสนุนค่าจ้างผ่านผู้ประกอบการไปที่ลูกจ้าง เพื่อรักษาระดับการจ้างงาน โดยไม่ใช่แบบที่รัฐบาลเยียวยาผ่านระบบประกันสังคม ซึ่งเป็นการแก้ที่ปลายเหตุ 4.พักหนี้ผู้ประกอบการรวมถึงเกษตรกร ไม่ต้องจ่ายทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย และธนาคารหยุดคิดดอกเบี้ยเป็นเวลา 6 เดือน 5.ลดภาระของประชาชน อุดหนุนภาระดอกเบี้ยสำหรับผู้ที่ผ่อนยานพาหนะ ที่อยู่อาศัยที่ได้รับผลกระทบเป็นเวลา 6 เดือน

พิชัยฉะอดีตสมาชิกจ้องป่วน

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รองหัวหน้าพท.ด้านเศรษฐกิจ กล่าวว่า ขอยืนยันว่า พท.เข้มแข็งและแข็งแกร่ง พรรคไม่ได้ปั่นป่วนตามที่มีกระแสข่าวโจมตีพรรค เรามีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถครบทุกด้าน มีคนรุ่นใหม่ที่เก่งและฉลาด พรรคมีแนวทางและหลักคิดที่ดี เป็นความหวังของประเทศและประชาชนได้อย่างแน่นอน ทั้งนี้ ข่าวดังกล่าวน่าจะเกิดจากการสร้างกระแสของกลุ่มคนที่ออกจากพรรคไปแล้ว แต่พยายามสร้างความปั่นป่วนเพื่อให้พรรคสั่นคลอน อยากเตือนไปยังผู้ที่ออกจากพรรคและพยายามสร้างความ ปั่นป่วน ทั้งที่พรรคได้ให้โอกาสและเคยได้รับการสนับสนุน ไต่เต้าขึ้นมาได้ อย่าคิดอกตัญญูโดยการให้ร้ายพรรค เพราะจะสะท้อนภาพลักษณ์ที่แย่ไปหากลุ่มคนเหล่านั้นเอง

นายพิชัยกล่าวว่า ที่ผ่านมาปัญหาของพรรคเกิดจากภาวะผู้นำและยุทธศาสตร์การบริหารไม่สร้างความหวังให้กับประชาชน ความนิยมของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ตกต่ำสุดๆ แล้ว แต่ไม่สามารถทำตัวเองให้เป็นทางเลือกของประชาชนได้ พรรคจึงต้องเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ดีขึ้น ให้เป็นความหวังของประชาชนได้ เชื่อว่าด้วยวิสัยทัศน์ที่พรรคได้แสดงออกหลังการเปลี่ยนแปลงการบริหารและยังจะมีนโยบายอีกหลายเรื่องตามมา ประชาชนจะมีความเชื่อมั่นอย่างเต็มที่

ลั่นพท.ไม่ได้แตกสาขาพรรค

นายพิชัยกล่าวต่อว่า อยากให้ยึดหลักศาสนาพุทธที่ต้องรู้จักกตัญญูรู้คุณ และต้องมีหิริโอตตัปปะ หรือการละอายและการเกรงกลัวต่อบาป อย่าปากพูดอย่างแต่กลับมีการ กระทำอีกอย่าง อย่าทำตัวเป็นก้อนหินถ่วงพรรค ออกไปแล้วก็ควรเอาเศษหินออกไปด้วย พรรคจะได้ขับเคลื่อนต่อไปได้ โดยไม่มีอุปสรรค ถ้าหวังดีกับพรรคจริง ควรจากกันด้วยดี อย่าคิดมาตกปลาในบ่อของพรรค ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าละอายอย่างมาก ยืนยันว่าพท. ไม่ได้แตกสาขาไปพรรคอื่น พรรคยังเป็นหนึ่งเดียว ไม่มีสาขา และเชื่อว่าด้วยหลักคิดและแนวทางประกอบกับประวัติศาสตร์ของพรรคที่พัฒนาประเทศ และช่วยเหลือประชาชนมาตลอด และมีนโยบายที่ประชาชนจับต้องได้ในอดีตจนถึงปัจจุบัน และมีนโยบายที่โดนใจประชาชนต่อเนื่องไปถึงอนาคต เช่น การฟื้นฟูเศรษฐกิจ การเพิ่มรายได้ของประชาชนและประเทศ ที่เป็นจุดแข็งของพรรค ประกอบกับภาวะการบริหารประเทศที่ย่ำแย่ของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ในปัจจุบัน หากมีการเลือกตั้งครั้งใหม่ พท.จะชนะอย่างถล่มทลายแน่นอน

เตือนอย่าหันมาทำร้ายเพื่อไทย

ด้านนายวรชัย เหมะ อดีตส.ส. สมุทร ปราการ พท. กล่าวว่า พท.มีจุดแข็ง 2 เรื่อง คือจุดยืนเรื่องประชาธิปไตยที่มั่นคง และผู้ใหญ่ของพรรคมีความรู้เรื่องเศรษฐกิจและความรู้รอบด้าน จึงมีคำถามว่าการนำพรรคที่ผ่านมาก่อนการเปลี่ยนแปลงล่าสุดนั้น พรรคเป็นอย่างไร เดินไปข้างหน้า อยู่กับที่หรือ ถอยหลัง เชื่อว่าหลายคนมีคำตอบในใจ ดังนั้น พรรคจึงต้องมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง ทั้งการนำของคน นำบุคลากรที่มีความน่าเชื่อถือและมีความสามารถ เข้ามาทำหน้าที่บริหารพรรค เพื่อนำไปสู่ชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งต่อไป คนที่ออกไปไม่สามารถนำพรรคไปสู่ชัยชนะได้ ก็ต้องยอมรับให้คนอื่นที่มีความสามารถเข้ามาทำหน้าที่แทน และเมื่อออกไปแล้ว ขอให้คิดถึงอดีตว่าพท.เป็นบ้านที่เคยอยู่ อย่าหันกลับมาทำร้ายพรรค

กกต.รับรองนายกอบจ.เพิ่ม 4 จว.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้พิจารณารับรองผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาและนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ตามที่สำนักงานกกต.เสนอเพิ่มอีก 11 จังหวัด โดยมีมติประกาศรับรองผลในส่วนของนายก อบจ. 4 จังหวัด ประกอบด้วย นครสวรรค์ พล.ต.อ.สมศักดิ์ จันทะพิงค์ นครนายก นายจักรพันธ์ จินตนาพากานนท์ กำแพงเพชร นายสุนทร รัตนากร และศรีสะเกษ นายวิชิต ไตรสรณกุล ส่วน 7 จังหวัด คือ เชียงราย เชียงใหม่ นครศรีธรรมราช พังงา ประจวบคีรีขันธ์ กาฬสินธุ์ นครพนม มีเรื่องร้องเรียน จึงยังไม่รับรองผลเลือกตั้ง นายก อบจ.

แขวนไปแล้ว 41 จังหวัด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้กกต.ได้พิจารณรับรองผลการเลือกตั้งนายกและสมาชิกสภาอบจ.ไปแล้ว 57 จังหวัด รวมถึงขณะนี้ กกต.พิจารณาไปแล้ว 68 จังหวัด โดยรับรองผลเลือกตั้งนายก อบจ.แล้ว 27 จังหวัด แขวนไว้ 41 จังหวัด และในวันที่ 14 ม.ค. จะพิจารณาในจังหวัดเหลืออีก 8 จังหวัด ทั้งนี้ ตามมาตรา 7 ของพ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น กำหนดว่า หากตรวจสอบเบื้องต้นแล้ว มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าผลการเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตเที่ยงธรรม ให้กกต.ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งภายใน 30 วันนับแต่วันเลือกตั้ง ส่วนจังหวัดที่กกต.แขวนเอาไว้ คือยังไม่พิจารณาเพราะมีเรื่องร้องเรียน กกต.ยังมีอำนาจพิจารณาอีก 30 วัน ซึ่งจะครบกรอบเวลาดังกล่าวในวันที่ 19 ก.พ.นี้

ยันเลือกตั้งเทศบาลไร้ปัญหา

สำหรับการเลือกตั้ง นายกและสมาชิกสภาเทศบาล ที่ครม.มีมติเห็นชอบไปเมื่อวันที่ 12 ม.ค.นั้น ที่ประชุมกกต.ได้รับทราบ แต่ยังไม่มีการหารือ เนื่องจากยังไม่ได้รับหนังสือแจ้งอย่างเป็นทางการจากครม. คาดว่า กกต.จะพิจารณาเรื่องการประกาศกำหนดให้มีการเลือกตั้งเทศบาล การกำหนดวันรับสมัครและวันเลือกตั้ง ในช่วงปลายเดือนม.ค.นี้ ก่อนที่กกต.จะประกาศกำหนดให้มีการเลือกตั้งในช่วงต้นเดือนก.พ.

ทั้งนี้ กกต.จะประกาศกำหนดให้มีการเลือกตั้งเทศบาลได้ จะต้องดำเนินการแบ่งเขต คำนวณค่าใช้จ่าย และคำสั่งแต่งตั้งกรรมการประจำท้องถิ่นเสร็จสิ้นก่อน ตามระเบียบกกต.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือ ผู้บริหารท้องถิ่น 2562 ซึ่งขณะนี้การแบ่งเขตยังไม่เสร็จ 4 แห่ง ใน 2 จังหวัด คือระนอง และประจวบคีรีขันธ์ อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งเทศบาลไม่น่ามีปัญหา เพราะจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีไม่มากเหมือนการเลือก อบจ. โดยผู้มีสิทธิเลือกตั้งเทศบาลมีเพียง 1 ใน 3 ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งอบจ.

พท.รอถกเคาะส่งชิงเทศบาล

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพท. ให้สัมภาษณ์ถึงการเตรียมความพร้อมเลือกตั้งท้องถิ่น ระดับเทศบาลว่า เรามีคณะกรรมการอำนวยการเลือกตั้งปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเราได้พูดคุยกันเรื่องนี้มาตลอดอยู่แล้ว แต่เนื่องจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยังไม่ได้ประกาศวันเลือกตั้งที่ชัดเจนออกมา เราจึงยังไม่มีมติว่าจะส่งผู้สมัครในนามพท.หรือไม่ อย่างไร ต้องขอประชุมพูดคุยกันก่อน

ก้าวหน้าพร้อมสู้ต่อสนามท้องถิ่น

นายชำนาญ จันทร์เรือง กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า ให้สัมภาษณ์ถึงการเตรียมความพร้อมเลือกตั้งระดับเทศบาลว่า ขณะนี้เรายังไม่ได้หารือกันในรายละเอียด ต้องรอการประชุมร่วมกันในวันที่ 14 ม.ค.นี้ ซึ่งจะหารือเรื่องการปรับแผน การถอดบทเรียน และวิเคราะห์ผลดีผลเสีย ที่ผ่านมาคณะก้าวหน้าก็เตรียมความพร้อมเลือกตั้งเทศบาลอยู่แล้ว ดังนั้น ไม่ว่ากติกาจะเป็นอย่างไร คณะก้าวหน้าพร้อมเสมอ

อัศวินโวฟิต-เตรียมลงผู้ว่าฯกทม.

ที่รัฐสภา พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. ให้สัมภาษณ์ถึงการเตรียมตัวลงสมัครชิงผู้ว่าฯกทม.ว่า สื่ออยากให้ตนลงหรือไม่ ซึ่งยังไม่มีการประกาศรับสมัครอย่างเป็นทางการ ตนยังไม่ได้ตัดสินใจเลย แต่เตรียมตัวฟิตร่างกายตลอด ซึ่งประชาชนก็รู้ว่าตนเตรียมตัวอยู่แล้ว เมื่อถามว่าถ้าไม่ลงสมัคร จะให้ลูกชาย ลงเเทนได้หรือไม่ พล.ต.อ.อัศวินกล่าวว่า ถ้าเขาอายุ 35 ปีถึงเกณฑ์สมัคร ตนก็ให้ลงเเล้ว เเต่ตอนนี้เพิ่งอายุ 27 ปี

เมื่อถามว่าพล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา อดีต ผบ.ตร. ก็จะลงสมัครผู้ว่าฯกทม.ด้วยใช่หรือไม่ พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวว่า“เขาก็โทร.มาหารือผม ถามผมว่าลูกพี่เอาไง ผมบอกว่ายังไม่ได้ตัดสินใจ” เมื่อถามว่าวันนี้ได้พูดคุยกับนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ในเรื่องการลงสมัครผู้ว่าฯกทม.ด้วยหรือไม่ พล.ต.อ.อัศวินกล่าวว่าไม่ได้คุยกันเรื่องการเมือง คุยเเต่เรื่องการก่อสร้างอาคารรัฐสภา

ให้เอ๋ขอโทษ – นายอนันต์ชัย ไชยเดช ทนายความ พร้อมตัวแทน 7 องค์กรคนพิการระดับชาติ แถลงเรียกร้องน.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.พลังประชารัฐ ขอโทษบุคคลออทิสติกและครอบครัว ที่บ้านราชวิถี เมื่อวันที่ 13 ม.ค.

7องค์กรคนพิการจี้‘เอ๋’ขอโทษ

วันที่ 13 ม.ค. ที่อาคาร APCD บ้านราชวิถี ถ.ราชวิถี เขตราชเทวี กรุงเทพฯ นายอนันต์ชัย ไชยเดช ทนายความชื่อดัง พร้อมด้วยตัวแทนจาก 7 องค์การคนพิการระดับชาติ ประกอบด้วย นายชูศักดิ์ จันทยานนท์ นายกสมาคมผู้ปกครองบุคคลออทิซึม, นายศุภชีพ ดิษเทศ นายกสมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย, นายสุชาติ โอวาทวรรณสกุล นายกสมาคมผู้ปกครองคนพิการทางสติปัญญาแห่งประเทศไทย, นางนุชจารี คล้ายสุวรรณ นายกสมาคมเพื่อผู้บกพร่องทางจิตแห่งประเทศไทย, นายวิทยุต บุนนาค นายกสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย, นายเอกกมล แพทยานันท์ นายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย, ศ.วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ประธานฝ่ายกฎหมายและสิทธิเสรีภาพมนุษยชน สภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย และประธานมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ และน.ส.เสาวลักษณ์ ทองก๊วย กรรมการว่าด้วยสิทธิคนพิการแห่งสหประชาชาติ แถลงเรียกร้องให้ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวคำขอโทษต่อบุคคลออทิสติกและครอบครัว และยุติการคุกคามทางกฎหมายทั้งทางแพ่งและทางอาญาต่อผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทันที รวมถึงขอให้สังคมมีเจตคติ ในเชิงสร้างสรรค์และให้โอกาสคนพิการ เพราะคนพิการมีศักยภาพไม่ต่างจากคนทั่วไป

“อีก 2 วันจากนี้ ผมจะเปิดล่ารายชื่อผ่านเพจเฟซบุ๊กของผม หากเห็นว่าคำพูด น.ส.ปารีณา ที่ระบุว่า ออทิสติกเป็นความน่ารัก เป็นการเหยียดหยามดูถูกดูแคลน ก็มาร่วมกันลงชื่อทั้งคนพิการและคนทั่วไป เพื่อเสนอให้นายชวน หลีกภัย ประธานสภา ตรวจสอบความประพฤติ” นายอนันต์ชัยกล่าว

ด้านนายวิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ประธานฝ่ายกฎหมายและสิทธิเสรีภาพมนุษยชน สภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย กล่าวว่า พิจารณาข้อความที่น.ส.ปารีณา กล่าวมาแล้ว เป็นการเหยียดหยามทำให้รู้สึกด้อยค่า หมิ่นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อคนพิการ ซึ่งสมาคมผู้ปกครองคนพิการฯ จะยื่นคำขอให้มีการวินิจฉัยว่า เป็นการกระทำที่เลือกปฏิบัติต่อคนพิการ ตามพ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2556 มาตรา 15-17 หรือไม่ หากคณะกรรมการวินิจฉัยว่าเลือกปฏิบัติ สามารถดำเนินคดีต่อไปในชั้นศาลว่าถูกละเมิด และเรียกค่าสินไหมทดแทนจากการถูกละเมิดนั้นได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน