เจ็บ3-หน้าห้างสามย่านฯ
ผบ.ตร.ฮึ่มคดีชักธง‘112’

ปาบึ้มป่วนม็อบกลุ่มการ์ดปลดแอก ระหว่างชุมนุมหน้าสามย่านมิตรทาวน์ เรียกร้องปล่อยตัวผู้ชุมนุมที่ถูกจับไปก่อนหน้านี้ ระหว่างที่ชุมนุมบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเขียนป้ายผ้ายาว 112 เมตรถึงความล้มเหลวของรัฐบาลประยุทธ์ ตร.ระดมกำลังปิดล้อมก่อนแจ้งให้ยุติอ้างผิดพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และพ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อ กระทั่งเกิดปะทะกันเล็กน้อย จู่ๆ มีเสียงระเบิดดังขึ้น ผู้บาดเจ็บ 3 ราย ทั้งตำรวจและสื่อมวลชน โดยตำรวจจับกุมผู้ชุมนุม 4 คนส่งไปตชด. ด้านผบ.ตร.นำคณะไปประชุมที่สภ.คลองหลวง ปทุมธานี หลังเกิดเหตุชุลมุน ระหว่างม็อบ มาให้กำลังใจ 2 นักศึกษามธ.ที่ถูกออกหมายจับ ฮึ่มดำเนินคดีเด็ดขาดกรณีเปลี่ยนธงชาติเป็นธง 112 ตร.ทำตามหน้าที่หากจำเป็นที่จะต้องใช้กำลังก็ต้องใช้ อย่าให้เกิดเรื่องทำนองนี้อีก เพื่อไทยประณามใช้กำลังกับม็อบ

คดีชักธง – พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. และพล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รองผบ.ตร. เดินทางไปติดตามความคืบหน้าคดีเอาผิดผู้ชักผ้าแดงเขียนอักษร 112 ขึ้นบนยอดเสาธง สภ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี เมื่อวันที่ 16 ม.ค.

ความคืบหน้าสถานการณ์การชุมนุม เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 16 ม.ค. ที่สภ.คลองหลวง ต.คลองสอง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. พร้อมด้วยพล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร. พล.ต.ท.อำพล บัวรับพร ผบช.ภ.1 พล.ต.ต.สุรพงษ์ ถนอมจิตร รอง ผบช.ภ.1 พล.ต.ต.ชยุต มายาทตร์ ผบก.ภ.จว.ปทุมธานี เดินทางมาประชุม โดยมี พ.ต.อ.เกียรติศักดิ์ มิตรปราสาท ผกก.สภ.คลองหลวง พร้อม เจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายสืบสวน และตำรวจสืบสวน ภูธรจังหวัดปทุมธานี รายงานเหตุการณ์ชุลมุนที่หน้าโรงพักเมื่อวันที่ 15 ม.ค.ที่ผ่านมา

โดยเจ้าหน้าที่รายงานว่ากลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ และการชุมนุม และกลุ่มการ์ด วีโว่จำนวนมากบุกโรงพัก สภ.คลองหลวง โดยมีแกนนำประกอบด้วย ‘เพนกวิน’ นายพริษฐ์ ชิวารักษ์, ‘รุ้ง’ น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒน์กุล และนายณัฐชนน ไพโรจน์ มาให้กำลังใจ นายชยพล ดโนทัย หรือ เดฟ นักศึกษาปี 2 ม.ธรรมศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ หนึ่งในสมาชิกแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม และ ‘นิว’ นายสิริชัย นาถึง นักศึกษา มธ.ปี 1 ที่ถูกทางพนักงานสอบสวนออกหมายจับคดี 112 ข้อหา หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และทำให้เสียทรัพย์จนเกิดการปะทะกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจคุมฝูงชนเล็กน้อย จากนั้นกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ นำธงชาติไทย หน้าโรงพักลงจากเสา ก่อนชักผ้าสีแดงเขียนอักษรคำ 112 ขึ้นยอดเสาแทน

พล.ต.อ.สุวัฒน์กล่าวว่ามาด้วยวัตถุประสงค์ 3 เรื่อง โดยเรื่องแรกที่ชาวบ้านตั้งคำถามปล่อยให้เกิดเหตุแบบนี้ได้อย่างไร เรื่องที่สองจะป้องกันอย่างไรไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ และเรื่องที่สาม คนที่ทำผิดจะต้องโดนอะไรบ้าง เรื่องแรกจะต้องยอมรับว่ายุทธวิธีของผู้ที่กระทำผิด ต้องการสร้างพื้นที่ข่าว ซึ่งก็ต้องยอมรับเขาทำได้ดี ภาพที่ตำรวจจะชักธงลง ก็กลายเป็นภาพตำรวจยืนดู ซึ่งจริงๆ เจ้าหน้าที่มีกำลังพร้อมอยู่ เพียงแต่เราอยู่บนพื้นฐานหลักคิดที่จะไม่ใช้กำลังโดยไม่จำเป็น และหลีกเลี่ยงการปะทะ แต่ว่าผู้บังคับบัญชาทุกระดับ ต้องมาทำความเข้าใจกับลูกน้องว่าเรื่องแบบนี้ จะให้เกิดอีกไม่ได้ ถ้าจำเป็นที่จะต้องใช้กำลังก็ต้องใช้ อะไรจะเกิดต้องเกิด และพวกเราก็ยอมรับผิดและรับผิดชอบ เราไม่ทอดทิ้งกัน

“เรื่องที่สองจะป้องกันอย่างไรไม่ให้เกิดเหตุการแบบนี้ ต้องมาปรับการทำงาน โดยเฉพาะตำรวจระดับเล็กจะไม่มั่นใจในอำนาจหน้าที่ในบทบาทในเรื่องของกฎหมาย ส่วนเรื่องที่ 3 ใครจะต้องโดนอะไรบ้าง เราอยู่บนพื้นฐานของกฎหมายอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องเร่งรัดทำให้กระจ่างให้สังคม เห็นว่า ต้องรวดเร็วโดยยึดหลักความเป็น นี่แหละต้องรวดเร็ว และครบถ้วนทุกข้อหาและทุกคนด้วย ซึ่งจากที่ฟังพนักงานสอบสวนมีกฎหมายอยู่หลายฉบับ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อ และ พ.ร.บ.ธงชาติ มีเรื่องการต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน เรื่องของการทำให้เสียทรัพย์ และก็เรื่องของการดูหมิ่น” ผบ.ตร.กล่าว

ชุลมุน – ตำรวจระดมกำลังสกัดและสลายการชุมนุมของการ์ดปลดแอก จัดกิจกรรมเขียนป้ายผ้ายาว 112 เมตร บอกเล่าความล้มเหลวของรัฐบาล เกิดเหตุการณ์ชุลมุนบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ กทม. เมื่อวันที่ 16 ม.ค.

วันเดียวกันที่เกาะพญาไท อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ การ์ดปลดแอกร่วมกันเขียนป้ายผ้ายาว 112 เมตร เพื่อบอกเล่าความในใจกับความล้มเหลวในการบริหารการจัดการของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในกิจกรรม 112 เมตรกับความทุเรศของรัฐบาล โดยมี ผู้มาร่วมกิจกรรมกันจำนวนหนึ่ง ได้เริ่มเขียนข้อความต่างๆ ลงบนป้ายผ้า 3 แถว ต่อมา พ.ต.อ.บวรภพ สุนทรเรขา ผกก.สน.พญาไท พร้อมกำลังตำรวจบก.น.1 ทั้งในเครื่องแบบและชุดควบคุมฝูงชน เดินทางมาถึงจุดชุมนุม ประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงถึงสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 พร้อมอ่านประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉบับที่ 15 ข้อ 3 ห้ามไม่ให้มีการชุมนุมทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมใดๆ การกระทำดังกล่าวเป็นการยุยงให้เกิดความ ไม่สงบเรียบร้อย การกระทำนี้ถือเป็นความผิดตามมาตรา 18 แห่งพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และพ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อ เพราะเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19

ต่อมาเจ้าหน้าที่เข้าเก็บป้ายข้อความต่างๆ และจับกุมผู้ฝ่าฝืน ทำให้เกิดเหตุการณ์ชุลมุนวุ่นวาย ซึ่งทางตำรวจพยายามประกาศให้ยุติกิจกรรม และประกาศให้แยกย้ายไม่ให้มีการจัดกิจกรรมที่ไม่สงบเรียบร้อย จากนั้นเจ้าหน้าที่ จึงสามารถควบคุมพื้นไว้ได้ โดยไม่มีเหตุรุนแรง

นายกิตติ์พิวัฒน์ สีบุญเรือง หรือ บ.ก.เอ็ม ปลดแอก กล่าวว่า ภาคีการ์ดมวลชนกลุ่มต่างๆ จัดกิจกรรมเขียนป้ายข้อความยาว 112 เมตร สะท้อนถึงความล้มเหลวในการดำรงตำแหน่งของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ชี้ให้เห็นว่าสมควรลาออกหรือไม่ กระทั่งมีเหตุชุลมุนเกิดขึ้นหลังตำรวจจับกุมการ์ดมวลชน และการ์ดปลดแอก อย่างน้อยรวม 2 คน ก่อนนำตัวส่ง ตชด.ภาค 1 ซึ่งมีทนายความศูนย์สิทธิเพื่อมนุษยชนเข้าไปให้การช่วยเหลือแล้ว

“การจับกุมครั้งนี้ ตำรวจอ้างว่าเป็นการกระทำ ที่ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ประกอบกับเรื่อง โรคโควิด-19 ส่วนตัวมองว่าตำรวจมีความตึงเครียดขึ้นมาก ซึ่งปกติจะประกาศให้ยุติการชุมนุมก่อน แต่ครั้งนี้เข้าจับกุมเลย หมายความว่ารัฐบาลมีความชัดเจนที่ต้องการไม่ให้ประชาชนแสดงสิทธิออกเสียงตามหลักประชาธิปไตย ถือว่าทำพลาดอย่างมหันต์ หลังจากนี้ก็อาจมีการแจ้งความกลับ เพราะมีผู้ได้รับบาดเจ็บจากการเข้าจับกุมของเจ้าหน้าที่” นายกิตติ์พิวัฒน์กล่าว

จากนั้นเวลา 16.00 น. นายกิตติ์พิวัฒน์ นำมวลชนรวมกลุ่มกันร่วมหลายร้อยคน ที่หน้าห้างสามย่าน มิตรทาวน์ เรียกร้องให้ เจ้าหน้าที่ปล่อยตัว 2 ผู้ร่วมกิจกรรมเขียนป้ายผ้ายาว 112 เมตร โดยกลุ่มผู้จัดระบุว่า จะไม่มีกิจกรรมใดๆ เพียงแต่เป็นการรวมกลุ่มกันเท่านั้น ก่อนเคลื่อนตัวไปยังแยกสามย่าน โดยมี พ.ต.อ.อัศวยุทธ นุชพุ่ม รอง ผบก.น.6 และ พ.ต.อ.พันษา อมราพิทักษ์ ผกก.สน.ปทุมวัน นำกำลังตำรวจสายตรวจร่วม 50 นาย คอยเฝ้าดูสถานการณ์ และอำนวยความสะดวกการจราจร

กระทั่งเวลา 17.30 น. พ.ต.อ.พันษา อ่านแถลงการณ์ประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงถึงสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 พร้อมอ่านประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากนั้นกองร้อยอารักขาควบคุมฝูงชนกว่า 2 กองร้อย กระจายกำลังปิดล้อมทางเข้าออกของห้างสามย่าน มิตรทาวน์ รวมทั้งปิดแยกปทุมวันและแยกสามย่าน ทำให้มวลชนที่ปักหลักอยู่หน้าห้างถอยร่นเข้าไปในห้าง และปิดการจราจรบริเวณ ถนนพญาไทสองช่องทาง ระหว่างนั้นเกิดเหตุปะทะกันหลายครั้ง ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะควบคุม มวลชน 4 รายเบื้องต้นนำตัวไปที่ตชด.ภาค 1

บึ้มป่วน – จุดเกิดเหตุคนร้ายปาระเบิดปิงปองลงมาระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมม็อบปลดแอกกับตำรวจควบคุมฝูงชนที่กำลังกระชับพื้นที่ จน มีผู้ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย 4 ราย บริเวณด้านหน้าจามจุรีสแควร์ กทม. เมื่อวันที่ 16 ม.ค.

เวลา 18.00 น. ขณะที่กองร้อยอารักขาควบคุมฝูงชนกระชับพื้นที่ชุมนุม มาจนถึงบริเวณหน้าจัตุรัสจามจุรี มีเสียงดังคล้ายระเบิด ขึ้น ส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 3 ราย ประกอบ ด้วยส.ต.ท.ชาคริต พินิจ ผบ.หมู่ ร้อย 3 คฝ.1 โดนสะเก็ดระเบิดบริเวณมือและที่บริเวณศีรษะ 2.ส.ต.ต.อรรถพล จั่นชมนาค ผบ.หมู่ ร้อย 2 คฝ.1 โดนสะเก็ดระเบิด บริเวณหัวเข่าขวา และ3.ผู้สื่อข่าวจาก สํานักข่าว the standard บาดเจ็บเล็กน้อย ได้รับการปฐมพยาบาลอาการปลอดภัยแล้ว ต่อมาเจ้าหน้าที่ได้เจรจากับแกนนำก่อนที่จะสลายการชุมนุม ขณะที่ห้างสามย่าน มิตรทาวน์ ประกาศปิดห้างในเวลา 18:40 น.

ต่อมาพ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษก ตร. กล่าวว่านี้พนักงานสอบสวนได้ประสานกองพิสูจน์หลักฐานกลางและหน่วย EOD เข้าตรวจสถานที่เกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ฝ่ายสืบสวนอยู่ระหว่างการพิสูจน์ทราบและติดตามผู้กระทำผิดมาดำเนินคดี พร้อมรายงานภาพรวมเหตุการณ์ดังกล่าวว่าเหตุระเบิด มีผู้บาดเจ็บ 3 ราย โดยเจ้าหน้าที่ควบคุมตัว ผู้ชุมนุม 4 คน ชาย 2 คน หญิง 2 คน

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจนำกำลังเข้าจับกุมกลุ่มการ์ดปลดแอก ว่ารัฐบาลจะสั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดี กับกลุ่มจัดกิจกรรมในข้อหาผิดพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และพ.ร.บ.ควบคุมโรค หรือผิดกฎหมายใด สามารถบังคับใช้กฎหมายเอาผิดอย่างตรงไปตรงมาได้ แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่มีสิทธิทำร้ายร่างกายกลุ่มจัดกิจกรรมทุกกรณี ที่ผ่านมารัฐบาลนี้ถูกตั้งคำถามถึงการดำเนินการเกินกว่าเหตุ ละเมิดสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมที่รัฐธรรมนูญรับรองและคุ้มครองไว้ การกระทำ ดังกล่าวสร้างความเสียหาย เป็นภาพลักษณ์ ที่ติดลบของรัฐบาลในสายตาประชาชนและองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ปัญหายาเสพติด แรงงานต่างด้าว บ่อนการพนัน รัฐบาลสารภาพว่าแก้ไม่ได้ แต่การบังคับใช้กฎหมายเกินจากกรอบและความจำเป็นขั้น พื้นฐานกับประชาชนในประเทศชนะเลิศ

พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลและอดีตผู้บังคับการกองปราบปราม โพสต์ถึงเหตุการณ์ดังกล่าวระบุว่า เกินกว่าเหตุหรือไม่? น้องๆ ตำรวจ ทั้งหลายครับ ผมว่าน้องๆ คงต้องมาทำหน้าที่เพราะมีอำนาจ ที่ประชาชนมอบให้นะครับ การจับกุมแบบใช้แนวคิดการบังคับใช้กฎหมายนั้น มิได้แก้ไขปัญหาในเรื่องสิทธิและเสรีภาพ การแสดงออกขั้นพื้นฐานของปวงชนคนไทย น้องๆ คงรู้แก่ใจดีว่า การบุกรวบตัว จับกุมตัวนักศึกษาและประชาชนที่มาทำกิจกรรมเขียนป้ายผ้าวันนี้นั้น “เกินกว่าเหตุ”หรือไม่? และนี่อาจจะเป็นการเติมลมโหมกระหน่ำกองไฟให้ลุกลามบานปลายใหญ่โตได้

แค่กิจกรรมเขียนป้ายผ้า แค่การแสดงออก แค่การแสดงความคิดเห็น อันเป็นพื้นฐานประชาธิปไตยของพวกเราคนไทยทุกคน น้องๆ ตำรวจทั้งหลายทำราวกับพวกเขากำลังก่ออาชญากรรมร้ายแรง เป็นอาชญากรที่ต้องจับกุมตัวให้ได้ไม่ว่าจะโดยวิธีการใดก็ตาม

ตำรวจเพื่อประชาชนจะไม่ทำแบบนี้ กระบวนการขั้นตอนต้องเป็นไปตามหลักรัฐศาสตร์มากขึ้น เพื่อให้ประชาชนเข้าใจ ในการทำหน้าที่ของตำรวจไม่ใช่การใช้กำลังที่เหนือกว่าอย่างโกรธแค้น รุนแรง หิ้วร่างลากถู ไปเช่นนี้ พูดคุยสิครับ แจ้งข้อกล่าวหา อันเป็นความผิดซึ่งหน้าที่มีอำนาจ แล้วบอกว่าพวกเขา ว่าถูกจับแล้ว จะเอาตัวไปสถานีตำรวจอะไร ตอบประชาชนที่พบเห็นไป ตั้งแต่ก่อนควบคุมตัว ความสุภาพทำได้ครับ ไม่ยากอย่างที่คิด

นี่ยังไม่นับถึงเรื่องที่ตำรวจควรต้องทำตาม ป.วิอาญา (ที่ราษฎรไม่รู้อีกมากในระเบียบตำรวจ ซึ่ง ป.วิอาญา กำหนดให้ ตำรวจต้องทำ) ที่ผ่านมา ถามว่าตำรวจผู้จับกุมนักศึกษา ประชาชนเหล่านี้ ได้ไปทำหรือไม่ ภารกิจ ที่ยังมีอยู่อีกหลายเรื่อง รวมถึงการละเมิด สิทธิ เสรีภาพ ของประชาชน ตำรวจเองก็ต้องจัดการผู้ละเมิดนั้นด้วยครับ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน