‘ร.10-ราชินี’พระราชทาน
รถตรวจโควิด-เงิน122ล้าน

ในหลวง-พระราชินี พระ ราชทานรถเอกซเรย์เคลื่อนที่-ชุดพีพีอี 7 แสนชุด และเงินส่วนพระองค์122 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์และประชาชนในวิกฤตโควิด-19 ศิริราชแจง 4 จนท.ป่วยโควิด ไม่ใช่บุคลากรทางการแพทย์ แต่เป็นจนท.เอกสารประจำอาคารเรียน สั่งปิดตึกพ่นฆ่าเชื้อ กักตัว 60 กลุ่มเสี่ยงแล้ว บิ๊กตู่ย้ำเชื้อที่พบมาจากเมียนมา ไม่ใช่สายพันธุ์อังกฤษ ศบค.ห่วงกทม.ป่วยยังพุ่ง ยอดรวม 606 รายแล้ว แจง 5 เขตพื้นที่พบผู้ป่วยมากสุด บางขุนเทียน, บางแค, บางพลัด, จอมทอง และธนบุรี ศบค.แถลงติดเชื้ออีก 171 ราย จากระบบเฝ้าระวัง 33 ค้นหาเชิงรุกอีก 125 ราย มหาชัยยังมากสุด 120 ราย จ.ตากตื่นอีก 21 คนไทย ทำงานบ่อนเมียวดี เมียนมา ขอกลับประเทศ ตรวจเจอโควิด ส่งตัวรักษาร.พ.ทันที น.ส.พ.ไทยในลอนดอนโพสต์อาลัยหญิงไทยผจก.ร้านอาหาร วัย 60 ปี ป่วยโควิดดับ

ปีติพระราชทานรถเอกซเรย์

เวลา 13.19 น. วันที่ 19 ม.ค. ที่สำนักงานราชเลขานุการในพระองค์ 904 พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า โปรดกระหม่อมให้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร และข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เข้ารับพระราชทานรถยนต์เอกซเรย์เคลื่อนที่ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ หน้าพระบรมฉายาลักษณ์ โดยมีนพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผอ.องค์การเภสัชกรรม และผู้บริหารองค์การเภสัชกรรม เข้าร่วมพิธี

พีพีอี 7 แสนชุด

ทั้งนี้รถยนต์เอกซเรย์เคลื่อนที่ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทาน เป็นรถยนต์ที่ติดตั้งเครื่องเอกซเรย์แบบดิจิตอลพร้อมอุปกรณ์ จำนวน 2 คัน ซึ่งอยู่ในระหว่างการจัดสร้าง และอุปกรณ์ทางการแพทย์พระราชทานประกอบด้วยชุดพีพีอี แบบเสื้อคลุมกันน้ำชนิดใช้ครั้งเดียว ชุดพีพีอี แบบชุดหมีกันน้ำชนิดใช้ครั้งเดียว และชุด พีพีอี แบบเสื้อคลุมกันน้ำชนิดใช้ซ้ำได้ จำนวน 3 รุ่น รวม 700,000 ชุด ในการนี้ พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวน 122 ล้านบาท ในการจัดหารถยนต์และอุปกรณ์การแพทย์ดังกล่าว เพื่อกระจายไปยังโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ

นอกจากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดสร้างรถตรวจโรคติดเชื้อชีวนิรภัยเพิ่มเติมอีก 7 คัน จากที่ได้พระราชทานไปแล้ว 13 คัน รวมเป็น 20 คัน มูลค่ารวมทั้งสิ้น 26,916,131 บาท สำหรับใช้เป็นห้องปฏิบัติการเคลื่อนที่ในการเก็บตัวอย่างเพื่อหาเชื้อในระบบทางเดินหายใจ และนำส่งตรวจยังห้องปฏิบัติการ เป็นการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนทุกกลุ่มอาชีพทั่วประเทศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในระบบการเฝ้าระวังและค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุก โดยไม่ต้องเดินทางไปรับการตรวจที่โรงพยาบาล ปัจจุบัน รถตรวจโรค ติดเชื้อชีวนิรภัยพระราชทานได้มีบทบาทสำคัญในภารกิจตรวจค้นหาผู้ติดเชื้อ และสามารถเข้าไปทำงานในทุกพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 ได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัย นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อประชาชนชาวไทย และบุคลากรของกระทรวงสาธารณสุข ตลอดจนเจ้าหน้าที่ และผู้ปฏิบัติงานทุกคน ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ควบคุมการแพร่ระบาดในหลายพื้นที่ของประเทศ

ทรงห่วงใยพสกนิกร

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ได้ทรงติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค โควิด-19 อย่างใกล้ชิด ทรงห่วงใยประชาชน บุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขที่ปฏิบัติหน้าที่อย่าง เต็มความสามารถในการค้นหาผู้ติดเชื้อและดูแลรักษาผู้ป่วย ทั้งยังพระราชทานกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ให้ดีที่สุดอีกด้วย

นายอนุทินให้สัมภาษณ์ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานชุดพีพีอี จำนวน 7 แสนชุด รถเอกซเรย์ 2 คัน น้ำยาตรวจหาเชื้อกว่า 5 แสนลิตร นับเป็นพระมหา กรุณาธิคุณ ซึ่งจะทำให้การตรวจหาเชื้อทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปด้วยความรวดเร็วและสร้างความมั่นคง เมื่อเกิดเหตุใดยังมีชุดพีพีอีที่ได้รับพระราชทาน และมีเวชภัณฑ์ที่พร้อม ซึ่ง 10 เดือนที่แล้วยังหาไม่ได้และเราได้ไปขอร้องและขอความร่วมมือจากสมาคมสิ่งทอ ให้ผลิตหน้ากากอนามัยโดยใช้ผ้า ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่สามารถกันเชื้อโรคได้ สำหรับชุดพีพีอีที่ได้รับมาจะนำไปมอบให้บุคลากรทางการแพทย์ สำหรับป้องกันในการรักษาผู้ป่วยติดเชื้อ โควิด-19 จากนี้จะไม่ขาดแคลนอีกต่อไปและมีเพียงพอใช้ดูแลผู้ป่วยได้มากขึ้น

ที่วัดพิบูลย์สัณหธรรม ถนน 9 กม. อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี สาธารณสุขจังหวัดชลบุรี ร่วมกับอำเภอศรีราชา นำรถตรวจโรคติดเชื้อชีวนิรภัยซึ่งเป็นรถพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี 1 คันมาให้บริการตรวจหาเชื้อโควิด-19 เป็นการเฝ้าระวังเชิงรุก ค้นหาผู้ติดเชื้อมารักษา ให้แก่ ประชาชน พนักงานร้านอาหาร ผับบาร์ วินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง และรถตุ๊กตุ๊ก โดยมีผู้เข้าแถวรอตรวจจำนวนมาก

สสจ.ชลบุรี รายงานสถานการณ์ว่า วันนี้ไม่พบผู้ติดเชื้อ “เป็นศูนย์” ทั้งจ.ชลบุรี เป็นครั้งแรกในการแพร่ระบาดระลอกใหม่นี้

ติดโควิดอีก 171 ราย

ด้านนพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 (ศบค.) แถลงสถานการณ์โรคโควิด 19 ประจำวันว่า พบ ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 171 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 158 ราย มาจากระบบเฝ้าระวัง 33 ราย และคัดกรองเชิงรุกในชุมชน 125 ราย และมาจากต่างประเทศ 13 ราย รักษาหายเพิ่ม 150 ราย ไม่มีเสียชีวิตเพิ่ม จำนวน ผู้ติดเชื้อสะสม 12,594 ราย หากนับเฉพาะระลอกใหม่ป่วยสะสม 8,357 ราย หายป่วย 5,416 ราย เสียชีวิตสะสม 10 ราย

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า การพบการติดเชื้อ ยังทรงตัว การเดินมาหาในระบบการรักษาน้อยลง แต่การค้นหาเชิงรุกค้นหาเยอะก็ยังได้เยอะ โดยผู้ป่วยรายใหม่แบ่งเป็น 1.การติดเชื้อในประเทศ สัมผัสสถานที่เสี่ยง อาชีพเสี่ยง ผู้ป่วยรายก่อนหน้า 33 ราย ได้แก่ สมุทรสาคร 18 ราย กทม. 9 ราย ระยอง 3 ราย ราชบุรี สมุทรปราการ และนนทบุรี จังหวัดละ 1 ราย 2.การค้นหาเชิงรุก 125 ราย ได้แก่ สมุทรสาคร 120 ราย เป็นคนไทย 14 ราย และต่างด้าว 106 ราย กทม. 4 ราย และนนทบุรี 1 ราย และ 3.เดินทางมาจากต่างประเทศ 13 ราย ได้แก่ ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น มาเลเซีย ประเทศละ 2 ราย ไต้หวัน ตุรกี เบลเยียม สหราชอาณาจักร เช็ก สหรัฐอเมริกา และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ประเทศละ 1 ราย

ด้านสถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อสะสม 96 ล้านราย เพิ่มขึ้น 4.73 แสนราย อีกไม่นานคงถึง 100 ล้านราย ถือว่าน่ากังวลใจ เสียชีวิตสะสม 2.04 ล้านราย เพิ่มขึ้น 9.1 พันราย ฝรั่งเศสจะมีการล็อกดาวน์อีกรอบ มาเลเซียเพิ่ม 3.3 พันราย ชายแดนใต้ต้องตอบสนองช่วยกันดูแล ส่วนญี่ปุ่นเพิ่ม 5.9 พันราย

ตรวจเชิงรุก 1.2 หมื่นรง.มหาชัย

นพ.ทวีศิลป์กล่าวต่อว่า จ.สมุทรสาครมี ผู้ติดเชื้อ 4,656 ราย ส่วนภาพรวมพบว่าจังหวัดที่ไม่มีผู้ติดเชื้อรายงานในช่วง 7-14 วันที่ผ่านมามี 31 จังหวัด ยังมีรายงานในช่วง 7 วันมี 30 จังหวัด ไม่มีผู้ติดเชื้อรักษาเลยมี 31 จังหวัด มีรักษา 1-10 ราย จำนวน 32 จังหวัด รักษา 11-100 รายมี 10 จังหวัด และรักษามากกว่า 100 รายมีแค่ 4 จังหวัด

สำหรับการตรวจเชิงรุกในสมุทรสาคร จะเข้าไปตรวจ 50 คนต่อโรงงาน วันละ 600 โรงงาน เพราะมีเกือบ 1.2 หมื่นโรงงาน โดยสุ่มเอาคนที่มีอาการเข้าเกณฑ์สอบสวนโรค เช่น ไข้ น้ำมูกมาตรวจ อุปสรรคคือจำนวนทีม จึงได้ความร่วมมือ 12 เขตสุขภาพระดมกำลังเข้ามา แต่โรงงานต้องร่วมมือด้วย ขอให้เราเข้าไปตรวจ เมื่อตรวจเจอจะเอาออกมา การจัดการกับโรคก็จะเร็วขึ้น โดยพยายามทำให้เสร็จภายในสิ้นเดือนนี้ที่เรามีการออกมาตรการออกมา

ห่วงผับยังเป็นพื้นที่เสี่ยง

ส่วนภาคใต้กังวลการติดเชื้อมาเลเซียที่ติดเชื้อวันละหลายพันราย ต้องช่วยยันดูแลพื้นที่ตรงนี้ให้ดี ใครไม่คุ้นหน้าตา ต้องช่วยกัน

ด้านกทม.น่าเป็นห่วง แม้ดูทรงจะลดลง แต่การทำเชิงรุกก็ต้องทำ แม้ไม่เยอะเท่าสมุทรสาคร ส่วนที่เจอเยอะคือฝั่งตะวันตกของ กทม. ส่วนใหญ่มาจากสถานบันเทิงทั้งนั้น รับผลมาจากจังหวัดปริมณฑลด้วย โดยเฉพาะเขตบางขุนเทียนที่เชื่อมต่อกับสมุทรสาคร การทำเชิงรุกยังต้องทำควบคู

กทม.พุ่ง 606 ขึ้นที่ 3 ประเทศ

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมในกรุงเทพฯ (18 ธ.ค.2563-19 ม.ค.2564) รวมแล้วอยู่ที่ 606 ราย เลื่อนขึ้นมาอยู่อันดับ 3 เป็นจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสะสมมากที่สุด รองจาก จ.สมุทรสาคร และชลบุรี

จากข้อมูลของเขตที่มีผู้ติดเชื้อยืนยันสะสมในกทม. สูงสุด 5 เขต ประกอบด้วย อันดับที่ 1 เขตบางขุนเทียน 106 ราย 2.เขตบางแค 27 ราย 3.เขตบางพลัด 27 ราย 4.เขตจอมทอง 25 ราย และ 5.เขตธนบุรี 21 ราย โดยมีเขตที่ยังไม่พบผู้ติดเชื้อ 2 เขต คือสัมพันธวงศ์และสะพานสูง

21 ม.ค.กทม.ชงผ่อนปรนกิจการ

ที่ศาลาว่าการกทม. พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าฯกทม. ในฐานะผอ.ศบค.กทม. กล่าวภายหลังการประชุมศบค.กทม.ว่า ที่ประชุม ศบค.กทม. ได้หารือถึงประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง ปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว ฉบับที่ 15 และฉบับที่ 16 ที่กทม.กำหนดให้ปิดสถานที่ในพื้นที่กรุงเทพฯ กิจการ กิจกรรมบางประเภทเป็นการชั่วคราว อาทิ สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ สถานประกอบการนวดแผนไทย สถานที่ดูแลผู้สูงอายุ สถานที่ออกกำลังกายฟิตเนส สถานที่เล่นตู้เกม ร้านเกม ร้านอินเตอร์เน็ต สถานที่ที่ให้บริการห้องจัดเลี้ยง ห้องจัดเลี้ยง สนามพระเครื่อง ศูนย์พระเครื่อง สถานที่เจาะผิวหนัง หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย โดยจะนำเสนอการผ่อนปรนมาตรการ ตามที่ได้หารือกันในวันนี้ต่อคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ซึ่งจะประชุมกันในวันที่ 21 ม.ค.นี้

‘อว.-หมอยง’โชว์นวัตกรรม

เวลา 09.00 น. ที่ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ทั้งนี้ ก่อนประชุมกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ได้นำผลงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อรองรับสถานการณ์โรคโควิด-19 ซึ่งเป็นงานวิจัยที่ได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้นประจำปีงบประมาณ2564 มาจัดแสดงโดยมี ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำเสนอด้วย

นพ.ยงกล่าวว่า เชื้อที่มาจากต่างประเทศ เป็นการติดเชื้อเร็วขึ้นแต่ความรุนแรงเท่าเดิม วัคซีนในขณะนี้ใช้ได้ เพราะระบบภูมิต้านทานอยู่ในกลุ่มเดียวกัน

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เชื้อที่แพร่ระบาดในขณะนี้มาจากเมียนมาแน่นอน ไม่ใช่สายพันธุ์ที่มาจากอังกฤษที่ตรวจพบในสถานกักตัว ซึ่งโชคดีที่เราควบคุมไว้ได้ โดยเฉพาะที่มาจากต่างประเทศ โชคดีเราควบคุม ตรวจสอบคัดกรองได้และหาตัวได้เจอ

“ทุกวัคซีนที่จะนำเข้ามาเราไม่ปิดกั้น ไม่ใช่แอสตร้าเซนเนก้าอย่างเดียว แต่ต้องมีมาตรฐานการรับรองจากต้นทางมาด้วย แล้วต้องมาผ่านมาตรฐานเรา แต่ในเรื่องการฉีด เมื่อเราได้วัคซีนมา และไม่ใช่อย.อนุญาตแล้วฉีดได้ทันที เพราะวัคซีนทยอยเข้ามาตามคิว หมายความว่าตอนนี้เรายังไม่มีวัคซีน ดังนั้นระหว่างนี้ต้องศึกษา เพื่อให้เกิดความรอบคอบว่าเมื่อฉีดแล้วเป็นอย่างไร และเตรียมมาตรการป้องกัน ทำให้ดีที่สุดเท่าที่ทำได้ และวันหน้าหากของที่อื่นได้ผลเราก็ซื้อได้ เราไม่ผูกขาดใครอยู่แล้ว ในทางพาณิชย์ค่อยว่ากันอีกที แต่วันนี้ใครจะมาฉีดเองไม่ได้ทั้งนั้น วัคซีนทั้งหมดต้องมาจากเรา เพราะรับผิดชอบตรงนี้ จึงต้องดูแล แต่ถ้าดำเนินการแล้วเกิดอะไรขึ้นมา ก็อยู่ที่บริษัทที่ผลิตยาและวัคซีนด้วยที่ต้องรับผิดชอบ” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

จี้คัดแยกขยะ-ทิ้งให้ถูกที่

จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ รับชมระบบตรวจจับการใส่หน้ากากอนามัย พร้อมขอขอบคุณหมอและทีมวิจัย ขอให้เร่งพัฒนาสิ่งเหล่านี้วิจัยได้รวดเร็วขึ้น ขอย้ำวัคซีนการนำเข้ามาอะไรต่างๆ ต้องเตรียมความพร้อมของเราซึ่ง 20 กว่าล้านโดสที่ทยอยมา มีคณะกรรมการพิจารณารอบคอบ และใช้ในภาวะฉุกเฉินไม่ใช่ภาวะปกติ

ขณะเดียวกัน นายอนุชา นาคาศัย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และคณะผู้บริหาร เข้าพบนายกฯ เพื่อประชาสัมพันธ์โครงการ “ฮาวทูแยก-แยกอย่างไรไม่ให้ติดเชื้อ” รับมอบถุงขยะสีแดง จำนวน 35,000 ใบ และถังขยะสีแดง ความจุ 120 ลิตร จำนวน 300 ใบ สำหรับใช้บรรจุ ขยะมูลฝอยติดเชื้อ เช่น หน้ากากอนามัย กระดาษชำระ เสื้อกาวน์จากเม็ดพลาสติก ชุดอุปกรณ์ป้องกันบุคลากรทางการแพทย์ และ ถุงมือ จากบริษัทเอกชน เพื่อให้กระทรวงมหาดไทย และสำนักนายกรัฐมนตรี นำไปใช้จัดเก็บขยะในพื้นที่เสี่ยง โดยนำร่องที่ 3 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง และสมุทรสาคร

นายกฯ กล่าวว่า ขอให้ทุกคนทิ้งขยะให้ ถูกที่ โดยเฉพาะขยะมีพิษ ขยะติดเชื้อไม่ใช่เรื่องหน้ากากอนามัยอย่างเดียว และยังมีขยะติดเชื้อตามโรงพยาบาลอีกจำนวนมาก จึงต้องบริหารจัดการขยะให้ดี ส่วนการสร้างโรงงานขยะ บางพื้นที่ติดปัญหาบ้าง เพราะหาพื้นที่ไม่ได้ ประชาชนไม่ยอม ก็ไม่รู้แก้ปัญหาได้อย่างไร จึงต้องขอความร่วมมือประชาชนในพื้นที่ด้วย โดยยืนยันความปลอดภัย

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า นายกฯ เป็นห่วงทุกคนจึงสั่งให้ตรวจสวอป ผู้สื่อข่าวที่ทำเนียบทั้งหมด ซึ่งเมื่อวานนี้ตนก็ตรวจไปแล้ว และผลไม่ติดเชื้อ ผู้สื่อข่าวถามว่าจะมีข่าวดีในการผ่อนปรนมาตรการต่างๆ ในสิ้นเดือนนี้หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ขณะนี้ก็พิจารณาอยู่ จะต้องดูสถานการณ์เป็นวันๆ

22 ม.ค.ถกกรรมการลอบเข้าเมือง

เวลา 15.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายภักดี โพธิศิริ ประธานคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำความผิดการเข้าเมืองผิดกฎหมายเป็นเหตุให้เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ให้สัมภาษณ์หลังเข้าพบนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯว่า ตนได้เชิญประชุมนัดแรกใน วันที่ 22 ม.ค.นี้ ซึ่งจะใช้สถานที่อาคารสำนักงานก.พ. (เดิม) เพื่อวางแนวทางการทำงาน ส่วนคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำ ความผิดกรณีสถานที่เล่นการพนัน เป็นเหตุให้เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีนายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานนั้น จะแยกส่วนกัน และตนไม่ทราบว่าเขาจะประชุมนัดแรกกันเมื่อไร ที่ไหน

ศิริราชแจง 4 จนท.ติดโควิด

ที่ศิริราชพยาบาล ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงกรณีบุคลากร ร.พ.ศิริราช ติดเชื้อโควิด-19 ว่า ผู้ติดเชื้อเป็นบุคลากรในส่วนสนับสนุนไม่ได้มีหน้าที่ให้บริการรักษาผู้ป่วย และเป็นการติดเชื้อมาจากบริเวณชุมชนที่พักอาศัย ทั้งนี้ ศิริราชได้ตรวจคัดกรองผู้สัมผัสเสี่ยงสูงใกล้ชิดกับเจ้าหน้าที่ 4 ราย รับพักรักษาตัวในร.พ.ทันที ตรวจ คัดกรองผู้สัมผัสเสี่ยงสูงที่ไม่มีอาการจำนวน 50 ราย พบติดเชื้อ 2 ราย จึงรับไว้รักษาตัวในร.พ. ส่วนอีก 48 รายให้งดการปฏิบัติงาน กักตัวที่บ้าน หรือสถานที่ที่ร.พ.จัดให้ โดยที่ผู้ติดเชื้อทั้ง 6 ราย ไม่ได้ทำหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้ป่วย

นอกจากนี้ ยังตรวจคัดกรองผู้สัมผัสเสี่ยงปานกลางอีก 20 ราย ที่ไม่มีอาการให้งด การปฏิบัติงาน กักตัวที่บ้าน หรือสถานที่ ที่โรงพยาบาลจัดให้ และตรวจคัดกรองผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำที่ไม่มีอาการ 4 ราย โดยแนะนำให้ใส่หน้ากากอนามัยอย่างต่อเนื่อง ส่วนบุคลากร ผู้สัมผัสอื่นๆ ที่อยู่ภายในร.พ. 44 ราย ทั้งหมดอยู่ระหว่างรอผลตรวจและกักกันโรคตามแนวทางที่กำหนด

ปิดตึกพ่นฆ่าเชื้อ

“ขณะนี้ได้ทำความสะอาดตึกอดุลยเดชวิกรม ซึ่งเป็นตึกที่ผู้ติดเชื้อปฏิบัติงานอยู่ ซึ่งตึกนี้ไม่ได้เป็นตึกที่ให้บริการผู้ป่วยโดยตรง โดยการทำความสะอาดและพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ ประกอบด้วย พื้นที่ส่วนกลาง ราวบันได ลิฟต์และปุ่มลิฟต์ และมือจับประตูทุกชั้น” ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าว และว่า ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 4 ม.ค.2564 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลได้มีมาตรการลดจำนวนผู้ป่วยเพื่อลดความแออัด ป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค รวมทั้งให้บุคลากรปฏิบัติงานจากบ้านได้ (work from home) โดยสลับกันมาทำงานทุก 2 สัปดาห์ เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อการให้บริการการรักษาผู้ป่วย นอกจากนี้ ยังคงมาตรฐานระดับสูงในการรักษา ป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 รวมทั้งเป็นที่รับปรึกษาให้กับสถานบริการทางการแพทย์อื่นๆ จึงขอให้ผู้มารับบริการและญาติ รวมทั้งประชาชนทั่วไปมีความมั่นใจในมาตรฐานการรักษาพยาบาลของ ร.พ.ศิริราช

ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยและญาติ รวมถึงผู้เข้ามาติดต่อในโรงพยาบาลศิริราช ขอให้ปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด ดังนี้ 1.สวมใส่หน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่อยู่ในโรงพยาบาล 2.งดการเข้าเยี่ยมผู้ป่วย ในกรณีต้องเฝ้าไข้ ขอให้ผู้มาเฝ้าไข้ สวมใส่หน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่อยู่ในโรงพยาบาล 3.ผู้มารับบริการหากมีความเสี่ยงหรือสงสัยว่าอาจติดเชื้อโควิด-19 ขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่ทันที

ศ.นพ.ประสิทธิ์ยังกล่าวถึงสถานการณ์โรคโควิด-19 ของโลก หลังเริ่มมีการฉีดวัคซีน โควิด-19 ว่า สหรัฐอเมริกาฉีดวัคซีนวันที่ 14 ธ.ค. 2563 ตอนนี้ครบ 1 เดือนเต็ม อัตราการติดเชื้อใหม่ยังเพิ่ม 2 แสนรายต่อวัน ทะลุจาก 21 ล้านราย มาเป็น 24 ล้านรายใน 12 วัน อัตราการเสียชีวิตก็ยังใกล้เคียงกันหรือคงที่ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงหลังมีการฉีดวัคซีน

ส่วนการกลายพันธุ์ของโควิด-19 ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าวว่า พบว่าสายพันธุ์เดิมจากอู่ฮั่น D614 พบน้อยแล้ว เพราะเมื่อมีการกลายพันธุ์และกระจายเร็วขึ้น สายพันธุ์เดิมจะแพร่น้อยลงถูกทดแทนด้วยสายพันธุ์ใหม่ สายพันธุ์ที่พบใหม่คือ G614 ที่พบนอกประเทศจีน ตั้งแต่ ก.พ.-มี.ค.2563 เดิมพบ 1 ใน 4 ของผู้ติดเชื้อ จากนั้นเพิ่มเร็วขึ้น เม.ย. เป็น 2 ใน 3 ของ ผู้ติดเชื้อ โดยเดือน พ.ค. พบมากถึง 70% ปัจจุบันพบมากที่สุด ส่วนเดือนก.ย.อังกฤษเจอสายพันธุ์ใหม่ B1.1.7 เดือนพ.ย.พบแพร่ถึง 1 ใน 3 ของผู้ป่วย ถึงเดือนธ.ค.แพร่ 2 ใน 3 ของผู้ป่วย ปัจจุบันพบการกระจายไปเยอะ เพราะเป็นสายพันธุ์แพร่เร็วกว่าเดิม 50-70% แต่ไม่มีหลักฐานว่าอาการจะรุนแรงขึ้น หรือไม่ โดยพบแพร่กระจายทวีปยุโรป ตะวันออกกลาง เอเชีย แอฟริกา ออสเตรเลีย แคนาดา และสหรัฐอเมริกา ก็น่าจะมีแต่ยัง ไม่รายงานอย่างเป็นทางการ

“การกลายพันธุ์เป็นเรื่องปกติ แต่จุดๆ หนึ่งอาจส่งผลต่อการผลิตวัควีน อย่างวัคซีนไข้หวัดใหญ่มีการกลายพันธุ์เป็นระยะๆ เราจึงต้องฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ทุกปี เพราะวัคซีนเดิมอาจไม่จัดการได้ เช่นเดียวกับ โควิด-19 หลายบริษัทกำลังมองสิ่งเหล่านี้ อาจต้องปรับปรุงวัคซีนเพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของตัวไวรัสในการฉีดวัคซีน ในปีต่อๆ ไป อนาคตอาจมีการฉีดวัคซีน โควิด-19 ทุกปี แต่เป็นการคาดการณ์” ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าว

เป็นจนท.เอกสาร-ไม่ใช่แพทย์

รศ.นพ.นริศ กิจรณรงค์ รองคณบดีฝ่ายสื่อสารองค์กรและกิจกรรมเพื่อสังคม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล กล่าวถึงกรณีบุคลากร ร.พ.ศิริราช ติดโควิด-19 ว่า ผู้ที่ติดเชื้อในร.พ.ศิริราช ไม่ใช่บุคลากรทางการแพทย์ และไม่ได้ติดจากคนไข้ แต่เป็นเจ้าหน้าที่ที่ทำงานด้านเอกสาร และมีการติดเชื้อจากชุมชนที่อยู่อาศัยส่วนสถานที่ทำงานของเจ้าหน้าที่เป็นอาคารที่ใช้สำหรับการเรียนการสอน ตรวจชิ้นเนื้อทางการแพทย์ และส่วนรับส่งร่างผู้ป่วยที่เสียชีวิต ไม่ใช่ตึกที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วย ดังนั้นขอให้ผู้มารับบริการมั่นใจได้ว่าไม่มีความเกี่ยวข้องกับผู้ป่วย อีกทั้งร.พ.ศิริราชมีมาตรฐานในการป้องกันอย่างดี ส่วนผู้ติดเชื้อเบื้องต้น 4 คน ได้รับไว้ในร.พ.แล้วและผู้มีเสี่ยงต่ำ 60 คน ได้กักกันโรคแล้ว

21 คนไทยบ่อนพม่าติดโควิด

ที่จ.ตาก ก่อนหน้านี้ เวลา12.00 น. เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงอำเภอแม่สอด จ.ตาก พร้อมทีมแพทย์ชุดเคลื่อนที่เร็วประจำรถฉุกเฉิน ร.พ.แม่สอด ไปรับตัวคนไทยกลุ่มเสี่ยงสูงสุด ที่ทำงานในบ่อนพนันกาสิโนในฝั่งจ.เมียวดี ประเทศเมียนมา ที่ขอข้ามแนวชายแดนจากบ่อนพนันฝั่งเมียนมากลับมาฝั่งประเทศไทย ผ่านช่องทางชายแดนอำเภอแม่สอดในระลอกที่ 6 จำนวน 32 ราย โดยเจ้าหน้าที่นำตัวทั้งหมดเข้าตรวจโควิด-19 และพบว่าติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 21 ราย จึงนำตัวขึ้นรถพยาบาลฉุกเฉิน นำตัวส่งรักษาที่ร.พ.แม่สอด จำนวน 3 ราย ส่งร.พ.อำเภอแม่ระมาด 6 ราย ส่งร.พ.อำเภอพบพระ12 ราย ส่วนอีก 11 ราย ถูกส่งตัวเข้ารอดูอาการที่สถานที่กักกันแห่งรัฐระดับจังหวัดตาก เพื่อรอผลการตรวจรอบที่ 2

นอกจากนี้มีรายงานว่า หญิงไทยอายุ 49 ปี อาชีพขับรถแท็กซี่ในอ.แม่สอด ซึ่งตรวจพบ ติดเชื้อโควิด-19 เข้ารับการรักษาตัวอยู่ที่ห้องแรงดันลบร.พ.แม่สอด ตั้งแต่วันที่ 26 ธ.ค.2563 อาการทรุดลงอย่างหนัก ก่อนเสียชีวิตเมื่อช่วงกลางดึกคืนที่ผ่านมา และฌาปนกิจไปแล้ว จนถึงขณะนี้พื้นที่อำเภอแม่สอดมีผู้ติดเชื้อ โควิดเสียชีวิตสะสมรวม 2 ราย มียอดผู้ป่วย โควิดรวมสะสมทั้งจังหวัดตาก จำนวน 122 ราย รักษาหายแล้ว 35 ราย และยังคงรักษาตัวอยู่ในร.พ.ชายแดนจังหวัดตาก รวม 85 ราย

ระยองเร่งตรวจ 4 หมื่นคน

ที่ศูนย์ราชการจ.ระยอง นายชาญนะ เอี่ยมแสง ผวจ.ระยอง พร้อมด้วย นพ.สุนทร เหรียญภูมิการกิจ สสจ.ระยอง ร่วมแถลงว่า วันนี้ยอดผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ของ จ.ระยอง มี 3 ราย รวมผู้ติดเชื้อทั้งหมด 568 คน รักษาหายแล้ว 482 คน ยังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 85 ราย มีการค้นหาเชิงรุกตรวจเชื้อไปแล้ว 17,652 คน โดยตัวเลขยังไม่นิ่ง ขึ้นลงอยู่ จึงยังคงมาตรการเข้มข้นต่อไป สำหรับห้างสรรพสินค้าที่มีการเสนอขอเปิดจึงยังคงไม่อนุญาตให้เปิด เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อต่อไป และเตรียมตรวจเชิงรุก ตั้งเป้าตรวจกลุ่มเสี่ยงทั้งหมดประมาณ 40,000 คน โดยจะลงไปตรวจตามตลาดหลักของแต่ละพื้นที่ทั่วจังหวัด ประกอบด้วย ตลาดร้อยเสา ตลาดลุงหนู และ ตลาดปากน้ำ สถานบริการต่างๆ รวมถึงแรงงาน และ กลุ่มเสี่ยงต่างๆ

ราชบุรีป่วยอีก 1

ที่ศูนย์โควิด-19 จ.ราชบุรี รายงานว่า ยังพบผู้ป่วยยืนยันรายใหม่ 1 ราย เพศหญิง อายุ 49 ปี เริ่มป่วย 17 ม.ค. รักษาที่ร.พ.ปากท่อ อ.ปากท่อ เมื่อวันที่ 18 ม.ค. มีอาการ ไอ มีน้ำมูก ประวัติทำงานที่จ.สมุทรสาครเดินทางไป-กลับทุกวัน ด้วยรถยนต์ส่วนตัว กับเพื่อนร่วมงาน มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 12 ราย ราชบุรี 7 ราย เก็บตัวอย่างส่งตรวจแล้ว รอผล ต่างจังหวัด 5 ราย อยู่ระหว่างประสานงาน รวมยอดผู้ป่วยสะสมจังหวัดราชบุรี 23 ราย รักษาหายกลับบ้านได้แล้ว 21 ราย ที่เหลือยังคงพักรักษาตัวในโรงพยาบาล 2 ราย

ที่จ.นครพนม หลังไม่พบผู้ติดเชื้อมา 279 วัน วันเดียวกัน มีการโพสต์แชร์ข้อความว่า พบหญิง อายุ 51 ปี มีอาชีพขายอาหารตามสั่งอยู่บ้านหนองกุดแคน หมู่ 8 และบ้านหนองกุดแคนเหนือหมู่ 15 ต.พระกลางทุ่ง อ.ธาตุพนม จ.นครพนม ติดเชื้อโควิด-19 โดยญาติของ ผู้ป่วยระบุว่า ช่วง 14 วันที่ผ่านมา ป้าไปแค่โรงพยาบาล ไปเฝ้ายายที่ป่วยและก็กลับ และก็มีเปิดร้านในหมู่บ้าน 2 วัน ช่วงต้นเดือน ม.ค.2564 แต่ตอนนี้ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าติดจากที่ไหน โดยช่วงปีใหม่มีญาติมาจากกรุงเทพฯ มีข่าวว่าติดเชื้อ

ต่อมา นายไกรสร กองฉลาด ผวจ.นครพนม ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว หลังพบ ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่ จ.นครพนม 1 ราย โดยระบุว่า การผ่อนปรนคลายล็อกมาตรการในส่วนของสถานบริการ นักร้อง หมอลำ นักแสดง และกิจการอื่นๆ ที่จังหวัดจะเริ่มทยอยปลดล็อกให้ มีเหตุปัจจัยมาแทรกต้องเลื่อนออกไปนับจากวันนี้อีก 14 วัน”

จากนั้น ที่จ.นครพนม ได้ออกคำสั่งปิดหมู่บ้านหนองกุดแคน หมู่ 8 หมู่ 15 ต.พระกลางทุ่ง อ.ธาตุพนม จ.นครพนม ห้ามผู้ใดเข้า-ออกพื้นที่ และมีคำสั่งให้ปิดโรงเรียนบ้านหนองกุดแคน และศูนย์เด็กเล็กบ้านหนองกุด

หญิงไทยวัย 60 ในอังกฤษดับ

ด้านเพจ Amthaipaper หนังสือพิมพ์ไทยในอังกฤษ ได้โพสต์แสดงความอาลัย หลังจากพบว่า คนไทยในประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นผู้จัดการร้านอาหารไทย เสียชีวิตจากโควิด ที่ห้องพัก

โดยโพสต์ระบุว่า “#RIP ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัว คุณนัฐ หัทโกศล (Nath Hatakosol) ที่เสียชีวิตหลังจากได้รับ ผลตรวจโควิด -19 เป็นบวก เพียงไม่กี่วัน (ญาติที่เมืองไทยสามารถติดต่อสถานทูตไทย กรุงลอนดอน) พบว่าคุณนัฐ เสียชีวิตภายในห้องพัก เมื่อวันเสาร์ที่ 16 ม.ค.ที่ผ่านมา สันนิษฐานว่า เสียชีวิตมาแล้ว 12 ช.ม.

#อุทาหรณ์ กรณีคุณนัฐ อายุประมาณ 60 ปี อาศัยอยู่ในอังกฤษ เป็น ผจก.ร้านอาหารไทย ติดโควิดจากคนในร้าน เนื่องจากผู้เป็นพาหะ ไม่แสดงอาการ แต่หากมีเด็กในบ้านที่ไปโรงเรียน เป็นพาหะนำมาติดคนในบ้าน (ดังนั้นหากใครมีคนรอบข้างที่เคยอยู่ด้วย ใกล้ชิดติดโควิด บุคคลนั้นควรกักตัวเอง เพื่อเฝ้าดูอาการแทนที่จะเดินทางไปทำงาน หรือพบปะผู้อื่น)

สมุทรสาครป่วยอีก 12 ราย

เวลา 17.00 น. สสจ.สมุทรสาครรายงานว่า มีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่ม 12 ราย โดยพบจากการตรวจค้นหาเชิงรุกรวม 5 ราย เป็นคนไทย 1 ราย และคนต่างด้าว 4 ราย ขณะที่พบจากการตรวจหาเชื้อในโรงพยาบาลอีก 7 ราย เป็นคนไทย 7 ราย รวมผู้ป่วยยืนยันสะสมทั้งหมด 4,829 ราย เป็นคนไทยทั้งจากการตรวจหาเชื้อที่โรงพยาบาลและการค้นหาเชิงรุกรวม 1,023 ราย และคนต่างด้าว ทั้งจากการตรวจหาเชื้อที่โรงพยาบาลและการค้นหาเชิงรุกรวม 3,806 ราย และมีผู้ที่อยู่ระหว่างการสังเกตอาการอีกรวม 1,389 ราย เป็นคนต่างด้าวทั้งหมด ด้านผู้ที่รักษาหายจากโรงพยาบาลกับผู้ที่เฝ้าสังเกตอาการจนครบกำหนดแล้วไม่พบเชื้อสามารถกลับบ้านได้รวมทั้งหมด 3,127 ราย นอกจากนี้ ในส่วนของผู้เสียชีวิตยังคงที่ 1 ราย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน