ส่งตรงเป๋าตัง-บัตรคนจน
ใช้ซื้อของในร้านเราชนะ
ทุ่ม2แสนล.เปย์ 31 ล้านคน
เปิดให้ลงทะเบียน29มค.
คนละครึ่งเฟส3สมัครวันนี้

รัฐบาลแจกอีก ช่วยคนสู้โควิด เคาะ ‘เราชนะ’ ให้ 3,500 บาท 2 เดือน เปิดลงทะเบียน 29 ม.ค.นี้ แต่ขรก.-รัฐวิสาหกิจ ลูกจ้างในระบบประกันสังคม รายได้เกินปีละ 3 แสน และมีเงินในแบงก์เกิน 5 แสน ชวดหมด ส่วนคนละครึ่งรอบเก็บตก 1.3 ล้านสิทธิ์ลงทะเบียนวันนี้ หวัง 2.1 แสนล้านจาก เราชนะและคนละครึ่งอีก 7 หมื่นล้าน ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจกลับมา

เมื่อวันที่ 19 ม.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.อนุมัติแผนช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในระยะต่อจากนี้ไป โดยมอบหมายให้ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯและรมว.พลังงาน และฝ่ายที่เกี่ยวข้องแถลงรายละเอียดต่อสื่อมวลชน เนื่องจากมีรายละเอียดหลายอย่างด้วยกัน สรุปแล้วรัฐบาลจะดูแลคนให้มากที่สุด ในส่วนที่ยังมีงบประมาณเหลืออยู่ แต่จำเป็นต้องสงวนไว้บางส่วนเพื่อเตรียมรองรับสถานการณ์ในขั้นต่อไปในเรื่องของการแพร่ระบาดโควิด-19 ด้วย กรณีกำหนดเปิดเทอมนั้นได้มอบหมายให้กระทรวงศึกษาฯพิจารณา ส่วนเรื่องรายละเอียดเราชนะขอให้ไปฟังหน่วยงานที่รับผิดชอบ ซึ่งมีปลีกย่อยเยอะอยู่เหมือนกัน ข้อสำคัญคือเราจะดูแลให้มากที่สุด

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์สั่งการให้ สศช.และกระทรวงการคลังไปหารือถึงมาตรการช่วยเหลือเยียวยาเพิ่มเติมจากจำนวน 31.1 ล้านคน โดยเฉพาะกลุ่ม ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ ลูกจ้างรัฐ ซึ่งไม่สามารถเข้าร่วมโครงการเราชนะได้ แต่รัฐบาลควรช่วยเหลือเหมือนโครงการเราชนะ

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลังเผยว่า หากลงทะเบียนผ่านภายในวันที่ 20 ม.ค. จะสามารถเริ่มใช้จ่ายได้ในวันที่ 25 ม.ค.64 จนถึงวันที่ 31 มี.ค.64 สำหรับจำนวนสิทธิในรอบใหม่นี้ เป็นสิทธิคงเหลือจาก ‘คนละครึ่ง’ ในระยะที่ 1 จำนวน 5 แสนสิทธิ และระยะที่ 2 ที่มีผู้ไม่ผ่านเกณฑ์อีก 5 แสนสิทธิ โดยหากลงทะเบียนผ่านจะได้รับเงินจำนวน 3,500 บาท เช่นเดียวกับผู้ที่ลงทะเบียนผ่านไปแล้วก่อนหน้านี้ โดยผู้ที่ลงทะเบียนยังคงต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข โดยต้องใช้จ่ายเงินภายใน 14 วัน หรือหากเป็นไปตามกำหนดของกระทรวงการคลัง จะต้องเริ่มใช้จ่ายเงินภายในวันที่ 25 ม.ค.-7 ก.พ. ไม่เช่นนั้นจะถูกตัดสิทธิตลอดทั้งโครงการ โดยโครงการคนละครึ่งจะทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเฟสละ 6-7 หมื่นล้านบาท และเมื่อรวมกับโครงการเราชนะอีก 2.1 แสนล้านบาท ซึ่งระยะเวลายาวถึง พ.ค.2564 จะทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบแบบทวีคูณ

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯ กล่าวว่า โครงการเราชนะมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผล กระทบจากการระบาดของโควิด-19 ด้วยการลดภาระค่าครองชีพ โดยจะสนับสนุนเงิน ช่วยเหลือให้แก่ประชาชน 31.1 ล้านราย วงเงินไม่เกิน 3,500 ต่อคนต่อเดือน ระยะเวลา 2 เดือน (ม.ค.-ก.พ. 2564) โดยมีวงเงิน ดำเนินการทั้งสิ้น 2.1 แสนล้านบาท โดยประชาชนที่ได้รับสิทธิ์ จะได้รับเป็นวงเงินสำหรับใช้จ่ายกับ ร้านค้าและบริการที่เข้าร่วมโครงการไม่ได้รับเป็นเงินสด เนื่องจากไม่ต้องการให้ประชาชนสัมผัสตัวเงิน เพราะอาจจะมีเชื้อโควิด-19 ปะปนมาได้ และรัฐบาลอยากให้ประชาชนมีประสบการณ์กับสังคมไร้เงินสดและสามารถใช้สิทธิ์ผ่านวงเงินเสมือนหนึ่งเป็นเงินสดได้ รวมถึงยังสามารถจำกัดการใช้จ่าย ไม่ให้เงินหายไปกับสิ่งที่ควบคุมได้ยาก เช่น แอลกอฮอล์ หรือใช้จ่ายกับห้างร้านขนาดใหญ่ ซึ่งไม่ใช้วัตถุประสงค์ของรัฐบาล

“เงินในโครงการจะหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจฐานรากของประเทศไทยเป็นหลัก เป็นการประคับประคองและส่งเสริมสภาพเศรษฐกิจโดยรวมไปในตัวด้วย เพราะเงินที่ใช้จะต้องไปใช้กับร้านค้าและบริการที่เป็นคนตัวเล็ก หาบเร่ แผงลอย” นายสุพัฒนพงษ์กล่าว

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า ได้อนุมัติให้โยกวงเงินกู้ตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ในส่วนของการฟื้นฟู 1 หมื่นล้านบาท จากปัจจุบันมีวงเงินในส่วนนี้เหลืออยู่ 2.6 แสนล้านบาท มาใส่ในวงเงินในส่วนของการเยียวยา ที่ปัจจุบันเหลือวงเงิน 2.06 แสนล้านบาท ทำให้ในส่วนนี้มีวงเงิน 2.16 แสนล้านบาท ซึ่งเพียงพอที่จะรองรับการดำเนินโครงการเราชนะได้อย่างไม่มีปัญหา หากรัฐบาลต้องจ่ายเงินเยียวยาเพิ่มเติม ก็สามารถโยกวงเงินในส่วนงบฟื้นฟูมาใส่ในงบเยียวยาได้ตามความจำเป็น

“วงเงินดำเนินโครงการเราชนะที่ 2.1 แสนล้านบาทนั้น เป็นเพดานสูงสุดที่พิจารณาตามเกณฑ์ที่จ่าย 3,500 บาท 2 เดือน ให้กับ 31.1 ล้านคน แต่เมื่อมาดูในรายละเอียดกลุ่มที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ในส่วนนี้จะมีเงินที่ได้รับอยู่แล้วตามเกณฑ์ที่รัฐบาลช่วยเหลือ เดือนละ 700 บาท และ 800 บาท ทำให้รัฐบาลเพียงแค่เติมเงินเข้าไปในกลุ่มนี้เพิ่มจนครบ 3,500 บาทต่อเดือนเท่านั้น ทำให้เป็นไปได้ว่าท้ายที่สุดแล้ว วงเงินที่จะใช้ในโครงการเราชนะ อาจจะอยู่ที่ 1.9 แสนล้านบาท แต่การอนุมัติวงเงินเต็มเพดาน เพื่อรองรับสถาน การณ์ในอนาคตที่อาจมีคนเข้ามาร้องขอความช่วยเหลือเพิ่มเติม ก็จะได้ดำเนินการได้ทันทีไม่ต้องขออนุมัติเพิ่ม หรือหากใช้วงเงินไม่หมดตามที่อนุมัติก็สามารถโยกเงินคืนกลับเข้าสู่งบฟื้นฟูได้” นายอนุชากล่าว

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ขอย้ำวิธีการเข้าร่วมเราชนะ ในส่วนผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 13.8 ล้านคน ไม่ต้องมาลงทะเบียนใดๆ โดยเงินจะโอนเข้าบัตรอัตโนมัติตั้งแต่ 5 ก.พ.เป็นต้นไป ส่วนกลุ่มคนที่ใช้แอพเป๋าตัง ผ่านคนละครึ่ง และเราเที่ยวด้วยกัน 16.8 ล้านคน ก็ไม่ต้องลงทะเบียนเช่นกัน เพียงแต่กดยินยอมให้นำข้อมูลไปตรวจสอบ และจะแจ้งผลใครผ่านหรือไม่ผ่านในเว็บไซต์วันที่ 5 ก.พ.64 หากผ่านก็รอกดยืนยัน และแจ้งข้อมูลเพิ่มเติมเล็กน้อย เช่น จังหวัดที่ทำงาน พร้อมรับเงินทันทีวันที่ 18 ก.พ.นี้ ซึ่งงวดแรกจะจ่ายตกเบิกให้รวมเป็น 2,000 บาท แต่สำหรับคนไม่ผ่านก็สามารถยื่นขอทบทวนสิทธิได้

ส่วนกลุ่มที่ไม่ถือบัตรสวัสดิการฯ และ ไม่มีแอพเป๋าตัง ทุกสาขาอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นหาบเร่ แผงลอยพ่อค้า แม่ค้า แท็กซี่ จะต้องกรอกข้อมูล เช่น ชื่อนามสกุล เลขบัตรประชาชน รายได้ อาชีพ ที่อยู่ปัจจุบันผ่านเว็บไซต์ www.เราชนะ.com เพื่อนำมาข้อมูลมาตรวจสอบ โดยไม่ต้องแย่งกันลงทะเบียน เพราะระบบไม่มีเต็ม เช่นเดียวกับเกษตรกร แม้ขึ้นทะเบียนเกษตรกรฯ แล้ว แต่หาก ไม่เคยถือบัตรคนจน หรือใช้แอพเป๋าตัง ก็ต้องลงทะเบียนด้วย โดยเงินจะเข้างวด 18 ก.พ.นี้ ซึ่งงวดแรกจะจ่ายตกเบิกให้เป็น 2,000 บาท

น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผอ.สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบผู้ได้รับสิทธิ์เบื้องต้นในกรอบที่ ครม.เห็นชอบ 31.1 ล้านคนนั้น เบื้องต้นจะมีผู้ที่ได้รับสิทธิ์แน่นอน คือ ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 13.8 ล้านคน โดยไม่ต้องทำอะไรเลย คลังจะตรวจสอบสิทธิ์และโอนเงินรอบแรกในวันที่ 5 ก.พ. 2564 ให้สัปดาห์ละ 675 และ 700 บาท ส่วนกลุ่มผู้ที่มีแอพพลิเคชั่นเป๋าตัง จะคิดจากฐานข้อมูล 16.8 ล้านคน โดยจะคัดกรองตามเกณฑ์ 7 ข้อ และจะเปิดให้ตรวจสอบสิทธิ์วันที่ 5 ก.พ. โดยเงินสัปดาห์แรกวันที่ 18 ก.พ. ให้ 2,000 บาท จากนั้นจะโอนต่อสัปดาห์ละ 1,000 บาท

ส่วนกลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่มที่ไม่ได้อยู่ในฐานข้อมูล ซึ่งเกษตรกรสามารถมาลงทะเบียนในกลุ่มนี้ได้ ผ่านเว็บไซต์ www.เราชนะ.com ในวันที่ 29 ม.ค.2564-12 ก.พ.2564 และตรวจสอบสิทธิ์ได้ในวันที่ 8 ก.พ.2564 โดยโอนเงิน โดยเงินสัปดาห์แรกวันที่ 18 ก.พ. ให้ 2,000 บาท จากนั้นจะโอนต่อสัปดาห์ละ 1,000 บาท จนครบ 7,000 บาท เช่นเดียวกัน

น.ส.กุลยากล่าวว่า จากข้อมูลประชากร 66 ล้านคน คัดกรองผู้ไม่เข้าเกณฑ์ตามวิธี Negative Lists พบว่า มีกลุ่มที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี 14 ล้านคน, กลุ่มเจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐ 3.7 ล้านคน, กลุ่มแรงงานในระบบ ตามมาตรา 33 อีก 11.1 ล้านคน, กลุ่มผู้มีเงินฝากเกิน 5 แสนบาท 1.7 ล้านคน และกลุ่มผู้มีเงินได้พึงประเมินเกิน 3 แสนบาท ที่ 4.4 ล้านคน จึงเหลือผู้ที่เข้า เกณฑ์รับเงินเยียวยา 31.1 ล้านคน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน