ชุมนุมย่างกุ้ง-เมืองใหญ่
‘ยูเอ็น’รุกกดดันกองทัพ

ชาวเมียนมาพรึบชู 3 นิ้ว ลุกฮือต้านทหารยึดอำนาจ ชุมนุมทั้งในย่างกุ้งเมืองหลวงเก่าและอีกหลายเมือง ขณะที่ทางการบล็อกอินเตอร์เน็ตทั่วประเทศจนระบบล่มซ้ำสอง สร้างความไม่พอใจให้ประชาชนยิ่งขึ้น สื่อโซเชี่ยลยักษ์ใหญ่ประณามปิดกั้นทวิตเตอร์ หลังจากเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม และวอตส์แอพพ์ ระบุมีเหตุรบกวนการใช้งานแพลตฟอร์มดังกล่าวในเมียนมา ชี้ทำลายการติดต่อสื่อสารและสิทธิประชาชนในการแสดงความเห็น ผู้แทนยูเอ็นติดต่อกองทัพเมียนมาคัดค้านการยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือน 131 นักศึกษาเมียนมา นักศึกษาและนักวิชาการไทย ออกแถลงการณ์ประณาม เรียกร้องปล่อยตัวประธานาธิบดี วิน มินต์ และซู จี เร่งคืนอำนาจให้ประชาชน

วันที่ 6 ก.พ. เอเอฟพีรายงานความคืบหน้าสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศพม่าหรือเมียนมา หลังกองทัพภายใต้การนำของพล.อ.มิน อ่อง ไหล่ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเมียนมา ยึดอำนาจบริหารหลังจับกุมนางออง ซาน ซู จี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ พร้อมด้วยประธานาธิบดีวิน มินต์ ผู้นำรัฐบาลพลเรือน และแกนนำพรรคสันนิบาตแห่งชาติ (เอ็นแอลดี) ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมาว่า ประชาชนหลายพันคนเดินขบวนประท้วงกองทัพเมียนมาและการรัฐประหารในนครย่างกุ้งและเมืองมัณฑะเลย์ โดย ผู้สนับสนุนนางซู จี และพรรคเอ็นแอลดีต่างพร้อมใจยกมือชูสามนิ้วตะโกนว่า “ล้มเผด็จการทหาร!” รวมถึงโบกธงสีแดงซึ่งเป็นสีสัญลักษณ์ของพรรคเอ็นแอลดีระหว่างเดินขบวนไปตามถนน

ขณะเดียวกันชาวเมียนมาจำนวนมากในต่างประเทศรวมตัวต่อต้านกองทัพเช่นกัน ด้านหน้าสถานทูตเมียนมาประจำกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ชาวเมียนมาชุมนุมถือธงสัญลักษณ์พรรคเอ็นแอลดีและป้ายข้อความประณามกองทัพ ส่วนกรุงไทเป ไต้หวัน ผู้ประท้วงชาวเมียนมาสวมเสื้อสีแดง ถือธงชาติ ธงพรรคเอ็นแอลดี รูปถ่ายนางซู จี และป้ายประณามรูปพล.อ.มิน อ่อง ไหล่ ขณะที่ในกรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย มีการประท้วงเช่นกัน

การประท้วงล่าสุดเกิดขึ้นในช่วงที่ระบบอินเตอร์เน็ตล่มทั่วประเทศ เน็ตบล็อกส์ องค์กรสังเกตการณ์อินเตอร์เน็ตเปิดเผยว่าเมื่อเวลา 10.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น เมียนมาเผชิญกับสถานการณ์อินเตอร์เน็ตล่มเป็นครั้งที่สองหลังเคยประสบภาวะสัญญาณสื่อสารล่มครอบคลุมทั้งระบบอินเตอร์เน็ต โทรศัพท์ และโทรทัศน์ ขณะที่ทวิตเตอร์ หนึ่งใน โซเชี่ยล มีเดียยักษ์ใหญ่ระดับโลก แถลงประณามการปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ ทวิตเตอร์ เพียง 3 วันหลังจากเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม และวอตส์แอพ ระบุว่ามีเหตุรบกวนการใช้งานแพลตฟอร์มดังกล่าวใน เมียนมา “สิ่งนี้ทำลายการติดต่อสื่อสารของสาธารณชนและสิทธิของประชาชนในการเปล่งเสียงแสดงความคิดเห็น เราจะเดินหน้าต่อไปเพื่อยุติการปิดระบบของทางการ” โฆษกทวิตเตอร์ระบุ ก่อนหน้านี้เทเลนอร์ หนึ่งในผู้บริการโทรคมนาคมรายใหญ่ในเมียนมา ยืนยันว่าได้รับคำสั่งจากทางการให้ปิดกั้นประชาชนในการเข้าถึงทวิตเตอร์และอินสตาแกรมจนกว่าจะแจ้งเปลี่ยนแปลงในอนาคต

วันเดียวกัน นายอันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) แถลงว่านางคริสทีน ชราเนอร์ บูร์เกเนอร์ นักการทูตชาวสวิตเซอร์แลนด์ ผู้แทนพิเศษสหประชาชาติว่าด้วยกิจการในเมียนมา ติดต่อกับกองทัพเมียนมาเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เกิดการรัฐประหาร โดยนางบูร์เกเนอร์ แสดงจุดยืนของยูเอ็นต่อพล.อ.อาวุโส โซวิน รองผู้บัญชาการทหารสูงสุดเมียนมา เพื่อยืนยันคัดค้านการยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือน “วันนี้ผู้แทนพิเศษของเราติดต่อกองทัพ เมียนมาเป็นครั้งแรกซึ่งเธอ (นางบูร์เกเนอร์) แสดงจุดยืนของเราอย่างชัดเจนต่อรอง ผู้บัญชาการกองทัพเมียนมา” นายกูเตร์เรส กล่าวและว่านางบูร์เกเนอร์ยังติดต่อทางการประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเพื่อหารือเกี่ยวกับประเด็นความขัดแย้งในเมียนมา พร้อมย้ำคำมั่นก่อนหน้านี้ที่นายกูเตร์เรสประกาศว่ายูเอ็นจะทำทุกอย่างเพื่อให้ประชาคมโลกสามัคคีเป็นหนึ่งเดียวและทำให้มั่นใจว่ารัฐประหารในครั้งนี้จะล้มเหลว

3 นิ้วพม่า – ชาวเมียนมาหลายพันคนในนครย่างกุ้ง รวมตัวชู 3 นิ้วประท้วงต่อต้านกองทัพเมียนมาทำรัฐประหาร เช่นเดียวกับหลายเมืองในเมียนมา ขณะที่ทางการเมียนมาปิดกั้นการเข้าถึงระบบอินเตอร์เน็ตทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 6 ก.พ.

วันเดียวกัน นักศึกษาชาวพม่าในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเครือข่ายนักศึกษา คณาจารย์ชาวไทย รวม 131 คน ร่วมออกแถลงการณ์ต่อคณะรัฐประหาร ในเมียนมา ระบุว่าชาวพม่าที่อาศัยในประเทศไทยในฐานะนักศึกษา นักเคลื่อนไหว นักการศึกษา และคนทำงาน รวมถึงเครือข่ายนักศึกษาและคณาจารย์ ชาวไทยขอประณามการก่อรัฐประหารของทหารพม่าในวันที่ 1 ก.พ. 2564 รวมถึงการจับกุมผู้นำชาวพม่าที่มาจากการเลือกตั้งจำนวนมาก การกระทำดังกล่าวถือเป็นการปล้นเจตจำนงของประชาชนชาวพม่า โดยมีข้อเรียกร้องดังนี้ 1.ยกเลิกการออกประกาศภาวะฉุกเฉินและคืนอำนาจให้ประชาชนทันที 2.ปล่อยตัวผู้นำชาวพม่าที่มาจากการเลือกตั้ง ได้แก่ ประธานาธิบดี วิน มินต์ และนางออง ซาน ซู จี รวมถึงนายกรัฐมนตรี นักศึกษา นักข่าว และนักเคลื่อนไหว 3.ยกเลิกข้อกล่าวหาที่ ไม่เป็นธรรมต่อผู้นำชาวพม่าที่มาจากการเลือกตั้ง 4.ยอมรับหลักการประชาธิปไตยและเจตจำนงของประชาชน 5.เคารพสิทธิของประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารโดย ไม่บิดเบือน 6.หยุดการปิดกั้นช่องทางการสื่อสารรวมถึงสังคมออนไลน์ 7.อนุญาตให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมสามารถปฏิบัติการในพม่าได้

แถลงการณ์ยังเรียกร้องให้ประชาคมอาเซียนและประชาคมโลกยืนหยัดในความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับประชาชนชาวพม่า ร่วมกันกดดันคณะรัฐประหารให้คืนประชาธิปไตยให้ประชาชนโดยเร็วที่สุด สนับสนุนรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการ เลือกตั้ง ตัดความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจทุกรูปแบบกับธุรกิจที่มีทหารพม่าหนุนหลัง ปกป้องและสนับสนุนด้านมนุษยธรรมแก่ประชาชนชาวพม่าที่อาศัยในประเทศอาเซียน

พม่าพรึบ 3 นิ้ว – ชาวเมียนมาเดินขบวนไปตามถนนในกรุงย่างกุ้ง รวมตัวชู 3 นิ้วต่อต้านกองทัพยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือน เช่นเดียวกับอีกหลายเมืองที่ออกมาชุมนุมประท้วงรัฐประหาร เมื่อวันที่ 6 ก.พ.

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน