ทส.-เครือข่ายกะเหรี่ยง-พีมูฟ ร่วมลงนามข้อตกลงตามข้อเรียกร้องชาวบ้านบางกลอยขอกลับไปทำกินที่ใจแผ่นดินกลางป่าแก่งกระจาน เพชรบุรี หลังปักหลักชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาล จี้แก้ปัญหาเร่งด่วน-เลิกข่มขู่คุกคาม ชาวบ้านพอใจท่าทีภาครัฐประกาศชุมนุมวันสุดท้าย ก่อนแยกย้ายกันกลับพรุ่งนี้

เมื่อวันที่ 16 ก.พ. ที่สะพานชมัยมรุเชฐ ทำเนียบรัฐบาล ชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยและภาคีเซฟบางกลอยพร้อมด้วย ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือพีมูฟ ชาวปกาเกอะญอแห่งบ้านบางกลอย กลุ่มประชาชนผู้รักความเป็นธรรมและภาคี ประกอบด้วย ผู้แทนชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี, ผู้แทนชาวกะเหรี่ยงภาคเหนือ, ผู้แทนชาวกะเหรี่ยงจากเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมเขตงานตะนาวศรี ที่ปักหลักชุมนุมอยู่หน้าทำเนียบรัฐบาล อ่านแถลงการณ์กลุ่มประชาชนผู้รักความเป็นธรรมและภาคีเซฟบางกลอย

แถลงการณ์ระบุโดยสรุปว่า จากสถานการณ์ที่กะเหรี่ยงบ้านบางกลอย 36 ครอบครัว หรือประมาณ 70 คนเดินเท้ากลับใจแผ่นดินตั้งแต่วันที่ 9 ม.ค.ที่ผ่านมา ปรากฏเป็นข่าวว่าถูกทางเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และทหารทัพพระยาเสือพยายามข่มขู่ว่าจะดำเนินการตามกฎหมาย

ล่าสุดเมื่อวันที่ 12 ก.พ.ที่ผ่านมา ปรากฏภาพการสนธิกำลังของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน หน่วยเฉพาะกิจพญาเสือและทหารรบพิเศษที่ 1 แก่งกระจาน ตั้งจุดตรวจค้นก่อนเข้าเขตหมู่บ้านบางกลอย โดยไม่มีการแจ้งให้ผู้นำชุมชนหรือชาวบ้านทราบถึงเหตุผล

จากนั้นไม่นาน เจ้าหน้าที่สนธิกำลังกระจายดักซุ่มตามเส้นทางที่ชาวบ้านใช้เดินขึ้นลงหมู่บ้านบางกลอยล่างไปยังบางกลอยบนและใจแผ่นดิน ยังมีรายงานด้วยว่าเจ้าหน้าที่ประมาณ 10 นาย เดินเท้าผ่านหมู่บ้านไปยังบริเวณห้วยโป่งลึก ซึ่งจากนั้นไม่นานชาวบ้านได้ยินเสียงปืน 3-4 นัด จากทิศทางที่เจ้าหน้าที่เดินเข้าไป การดำเนินการดังกล่าวของเจ้าหน้าที่เป็นการข่มขู่ คุกคาม ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง การดำเนินการ ดังกล่าวอาจจะนำไปสู่การกระทำอันรุนแรง ด้วยการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มข้นขึ้นและเป็นการเข้าไปใช้กำลังกับชาวบางกลอยดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในเหตุการณ์ยุทธการตะนาวศรี เมื่อปี 2553-2554

ต่อมาเมื่อวันที่ 15 ก.พ.ที่ผ่านมา ชาวบ้านยื่นหนังสือผ่านทาง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รองประธานคณะกรรมการการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือพีมูฟ ให้ดำเนินการข้อเรียกร้องเร่งด่วน 3 เรื่อง

แต่ถึงอย่างไร ชาวบ้านบางกลอยและกลุ่มภาคีเซฟบางกลอยยังไม่วางใจว่ารัฐบาลมีความจริงใจในการแก้ปัญหา จึงจะทำบันทึกข้อตกลงเพื่อให้รัฐบาลร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่และผู้แทนภาคีเซฟบางกลอยลงนาม เพื่อให้มีแนวทางชัดเจนเป็นลายลักษณ์อักษร และเป็นหลักประกันว่าผู้แทนชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยที่มาปักหลักชุมนุมครั้งนี้ ทั้งกะเหรี่ยงบางกลอยล่าง และบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน สามารถดำเนินวิถีชีวิตได้อย่างปกติสุขปราศจากการข่มขู่ คุกคาม ดำเนินการทางกฎหมายและใช้ความรุนแรง

ต่อมา เวลา 11.30 น. นายประยงค์ ดอกลําไย ตัวแทนพีมูฟ ร่วมหารือกับนายพงศ์บุณย์ ปองทอง รองปลัดทส. ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล ภายหลังพูดคุยกันนานกว่าชั่วโมง ก่อนทั้งหมดจะเห็นชอบร่วมกันให้จัดทำบันทึกข้อตกลงเพื่อแก้ไขปัญหาตามข้อเรียกร้อง ทางกลุ่มผู้ชุมนุมพึงพอใจผลการเจรจา และหากการดำเนินการลงนามในบันทึกความเข้าใจเสร็จก็จะเดินทางกลับทันที

นายประยงค์ เผยว่า กรณีข้อเรียกร้องที่ชาวบ้านยื่อต่อร.อ.ธรรมนัส เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 3 ข้อคือ 1.ให้ถอนกำลังเจ้าหน้าที่หน่วยพญาเสือ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช รวมทั้งทหาร ที่หมู่บ้านบางกลอย รับทราบว่าในเวลา 16.00 น. ได้สั่งถอนกำลังแล้ว 2.แต่เดิมเจ้าหน้าที่รัฐสร้างความกดดันไม่ให้ชาวบ้านขึ้นไปส่งเสบียงอาหารแห้งให้กับชาวบ้านที่ขึ้นไปยังใจแผ่นดิน มีการตั้งด่านบริเวณด่านมะเร็ว-หมู่บ้านบางกลอย โดยเจ้าหน้าที่รับจะส่งเสบียงไปให้เอง แต่ชาวบ้านไม่วางใจกลัวจะซุกซ่อนสิ่งผิดกฎหมาย ชาวบ้านประสงค์ที่จะนำเสบียงไปส่งเองถึงมือ โดย เจ้าหน้าที่รัฐสามารถติดตามไปได้

และ3.ขอให้ถอนหมายเรียกที่อยู่ในคดีความของสน.บางซื่อ เนื่องจากการเรียกร้องหน้าทส. เมื่อวันที่ 5 ก.พ. รวมทั้งแกนนำ พีมูฟรวม 10 คน ข้อหาชุมชนโดยผิดกฎหมาย ซึ่งทางร.อ.ธรรมนัส หารือกับผู้กำกับสถานีบางซื่อ ขอให้ถอนคดีและหมายเรียก แต่เรื่องนี้ยังไม่ได้รับการยืนยันจากทางสน.บางซื่อ

นายประยงค์กล่าวว่า สำหรับวันนี้ ชาวบ้านมีข้อเรียกร้องเพิ่มเติมอีก 4 ข้อ คือ 1.ให้ทส. หามาตรการให้ชาวบางกลอยกลับสู่ชุมชนเดิมหรือที่ใจแผ่นดินได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ในกรณีที่เป็นพื้นที่ดั้งเดิมให้แปลภาพถ่ายทางอากาศและสำรวจพื้นที่ร่วมกันอย่างชัดเจน 2.ข้อเสนอของชาวบางกลอยที่อพยพลงมาแต่ไม่ประสงค์กลับไปยังใจแผ่นดิน ให้รัฐจัดสรรที่ดินทำกินให้ เพราะไม่เคยได้รับการช่วยเหลือเลยตลอดสิบปี

ข้อ 3 แม้หน่วยพญาเสือจะถอนกำลังไปแล้ว แต่พบว่ามีการตั้งจุดสกัดใหม่ระหว่างทางบริเวณด่านมะเร็ว-หมู่บ้าน มีการตรวจค้นชาวบ้านอย่างเข้มข้น จึงอยากให้ถอนกำลังไปเช่นกัน และให้มีการคุ้มครองสวัสดิภาพของชาวบ้าน ยุติการข่มขู่ชาวบ้านทุกรูปแบบ และข้อ 4 ให้ทส. เร่งรัดดำเนินการตามมติครม. 3 ส.ค. 53 ในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง โดยสำรวจพื้นที่และกันพื้นที่ออกจากเขตป่า ศึกษา และยอมรับระบบไร่หมุนเวียน ซึ่งมีงานวิจัยว่าเป็นระบบที่สอดคล้องกับระบบนิเวศวิทยาและวิถีชิวิตบนพื้นที่สูง

โดยทส.ได้รับเรื่องไปในการพิจารณา และจะมีการลงนามบันทึกข้อตกลงในวันนี้ ซึ่งการเซ็นลงนามต้องมีรายชื่อของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ในฐานะรองประธานการแก้ปัญหาพีมูฟ นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทส. นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดทส. ตัวแทนภาคีเซฟบางกลอย กลุ่มพีมูฟ และตัวแทนราษฎรบางกลอย โดยยืนยันว่าหากมีการลงนามอย่างครบถ้วนทุกชื่อแล้ว ชาวบ้านจะยุติการรวมตัวและแยกย้ายกลับบ้าน แต่หากลงนามไม่ครบตามรายชื่อจะปักหลักอยู่หน้าทำเนียบ

ต่อมาค่ำวันเดียวกัน นายวราวุธ ร.อ.ธรรมนัส นายจตุพร นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ นายจำนงค์ หนูพันธ์ ผู้แทนขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม นายณัฐวุฒิ อุปปะ ผู้แทนภาคีเซฟบางกลอย และนายพงษ์ศักดิ์ ต้นน้ำเพชร ตัวแทนชุมชนบางกลอย-ใจแผ่นดิน ร่วมลงชื่อในข้อตกลงเรียบร้อยแล้ว ทางกลุ่มผู้ชุมนุมทำกิจกรรมยามค่ำ โดยเป็นการร่วมกันพูดคุยและร้องรำทำเพลงกันอย่างครึกครื้น ทั้งนี้ในช่วงหนึ่งทางแกนนำของกลุ่มผู้ชุมนุมระบุว่า คืนนี้จะเป็นคืนสุดท้ายที่จะนอนค้างที่หน้าทำเนียบรัฐบาลและจะเดินทางกลับบ้านในวันที่ 17 ก.พ.

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน