เมื่อวันที่ 21 ก.พ. นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวถึงกรณีคณะทำงานแก้ไขปัญหาบ้านบางกลอย-ใจแผ่นดิน ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ตรวจสอบพื้นที่พบมีการแผ้วถางและเผาป่ากว่า 100 ไร่ ว่า ตนให้ความสำคัญกับวิถีชีวิตของประชาชนทุกพื้นที่ แต่การสืบสานวิถีชีวิตใดก็แล้วแต่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนไปตามสภาพกาลเวลา และสภาพทรัพยากรที่เรามีอยู่จำกัดในทุกวันนี้ การลงนามข้อตกลงเพื่อให้ทุกฝ่ายถอยคนละก้าว แต่กลับมีภาพให้เห็นว่าพื้นที่ถูกเผามากขึ้น ขณะที่คณะทำงานกำลังแก้ปัญหา ฐานข้อมูลคืบหน้าไปมากและจะเยียวยาให้ประชาชนกลุ่มที่เหลือเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ หรือ 100 กว่าคน ซึ่งยืนยันว่าต้องให้เสร็จภายในปีนี้

นายวราวุธกล่าวอีกว่า ตนเห็นคลิปวิดีโอแล้วสลดใจมากที่ต้องเห็นพื้นที่ป่าพื้นที่ที่คนไทยอนุรักษ์หวงแหน และต้องการผลักดันเป็นมรดกโลก แม้ว่าชาวบ้านจะอ้างมาอยู่มานานแต่พื้นที่ทุกตารางนิ้วเป็นของประเทศไทย คนในพื้นที่ต้องตระหนักว่าทรัพยากรป่าที่กำลังอยู่อาศัยและเผาอยู่นั้นเป็นการเผามรดกของมวลมนุษยชาติของโลก

ด้านนายประยงค์ ดอกลำไย ที่ปรึกษาพีมูฟ กล่าวว่า เป็นธรรมดาของการทำไร่ของชาวบ้าน ยืนยันว่าพื้นที่นี้เป็นชุมชนดั้งเดิม จากภาพถ่ายทางอากาศของกรมแผนที่ทหารเมื่อปี 2455 มีระบุจุดที่ตั้งของชาวบางกลอย และในปี 2497 ภาพถ่ายทางอากาศยืนยันชัดเจนว่ามีการตั้งชุมชนชาวบางกลอย กระทั่งมีการประกาศพื้นที่เป็นเขตอุทยานเมื่อปี 2524 นับแต่นั้นมีการหว่านล้อมให้ชาวบ้านอพยพลงมา แต่รัฐก็ไม่ได้จัดสรรที่ดินทำกินได้อย่างมีประสิทธิภาพ บางแปลงเป็นหินทำการเกษตรไม่ได้ ปัจจุบันชาวบางกลอย 115 ครัวเรือน แต่มีเพียง 40 ครัวเรือนที่ต้องการกลับไปใจแผ่นดิน เพราะที่ดินที่รัฐจัดสรรให้ทำกินไม่ได้

นายประยงค์กล่าวอีกว่า ภาพที่ออกไปเหมือนชาวบ้านเป็นผู้เผาป่า ซึ่งยืนยันว่าพื้นที่ตรงนั้นไม่ใช่ป่า แต่เป็นพื้นที่ทำกินของชาวบ้านมาแต่ดั้งเดิม การเผาเป็นเรื่องปกติของไร่หมุนเวียน เผาไม่กี่นาทีเศษวัสดุที่แห้งสนิทก็จะถูกไฟไหม้ไป ชาวบ้านปรับตัวเข้ากับธรรมชาติแล้วไม่เช่นนั้นพื้นที่ใจแผ่นดินคงกลายเป็นดอยหัวโล้นไปนานแล้ว

การนำเสนอภาพข่าว จึงเป็นการจงใจบิดเบือนเพื่อทำให้ประชาชนมองคนไม่เท่ากัน ซึ่งจะนำไปสู่ข้ออ้างเหตุผลในการสนธิกำลังกันเข้าดำเนินการกับชาวบ้าน

ไม่ได้รุกป่า – ภาพมุมสูงที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ เผยแพร่ ระบุพบพื้นที่ป่าจำนวนมากถูกบุกรุกแผ้วถาง หลังยอมให้ชาวบ้านบางกลอยกลับเข้าไปใช้ชีวิตที่ใจแผ่นดิน อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี แต่เอ็นจีโอยืนยันเป็นการบิดเบือนสร้างความเข้าใจผิดเพราะเป็นพื้นที่ทำกินดั้งเดิมของชาวกะเหรี่ยง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน