คลัสเตอร์โรงหมู
ปทุมป่วยเพิ่ม53
เปิดแล้วตลาดกุ้ง

ฉีดแล้ววัคซีนโควิดล็อตแรก 13 จังหวัด เน้นบุคลากรทาง การแพทย์ และจนท.ด่านหน้า ผู้ว่าฯปทุมธานีประเดิมฉีดคนแรก ของจังหวัด ส่วนกทม. 130 คน ที่ภูเก็ตวันแรก 50 คน ส่วนที่เชียงใหม่ ผู้ตรวจราชการสธ.เขต 1 นำทีมฉีด ที่มหาชัยเปิดตลาดกลางกุ้งแล้ว บรรยากาศคึกคัก ท่ามกลางมาตรการนิวนอร์มัล ขณะเดียวกันปิดโรงพยาบาลสนาม 2 แห่งหลังผู้ป่วยโควิดคนสุดท้ายกลับบ้านได้แล้ว ที่ราชบุรีก็ประเดิมฉีดเข็มแรก สธ.ระบุคลัสเตอร์โรงงานชำแหละหมูที่ปทุมฯติดเชื้ออีก 53 ศบค.เผยไทยติดเชื้อเพิ่มอีก 80 ราย

ไทยติดโควิดเพิ่มอีก 80

เมื่อวันที่ 1 มี.ค. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 (ศบค.) แถลงสถานการณ์โรคโควิด-19 ประจำวันว่า วันนี้ประเทศไทยติดเชื้อรายใหม่ 80 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 64 ราย และเดินทางมาจากต่างประเทศ 16 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม รักษาหาย 196 ราย ผู้ป่วยสะสม 26,031 ราย รักษาหาย 25,324 ราย เหลือรักษาอยู่ 624 ราย เสียชีวิตสะสม 83 ราย ส่วนระลอกใหม่ผู้ติดเชื้อสะสม 21,794 ราย รักษาหายสะสม 21,147 ราย เสียชีวิตสะสม 23 ราย

ทั้งนี้ ผู้ติดเชื้อรายใหม่ จำแนกเป็น 1.สมุทรสาคร 19 ราย สะสม 16,217 ราย 2.กทม. 2 ราย สะสม 971 ราย และ 3.จังหวัดอื่นๆ 43 ราย สะสม 3,494 ราย

เมื่อแยกตามประเภทผู้ติดเชื้อ พบว่ามาจาก 1.ระบบเฝ้าระวัง 28 ราย ได้แก่ สมุทรสาคร 19 ราย, ตาก 3 ราย, นครปฐม 2 ราย, กทม. 2 ราย, ชลบุรี 1 ราย และ ราชบุรี 1 ราย 2.จากคัดกรองเชิงรุกในชุมชน 36 ราย ได้แก่ ปทุมธานี 35 ราย และนนทบุรี 1 ราย และ 3.เดินทางจากต่างประเทศ 16 ราย ได้แก่ บาห์เรน 4 ราย ไนจีเรีย สหราชอาณาจักร กาตาร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และสหรัฐอเมริกา ประเทศละ 2 ราย สวิตเซอร์แลนด์และแอฟริกาใต้ ประเทศละ 1 ราย

นพ.ทวีศิลป์กล่าวต่อว่า ภาพรวม 2 วันของสัปดาห์นี้มีการติดเชื้อใน 8 จังหวัด จากสัปดาห์ก่อนติดเชื้อ 16 จังหวัด ส่วนจังหวัดที่ไม่มีการติดเชื้อเลยในระลอกใหม่มี 14 จังหวัด ไม่มีติดเชื้อมากกว่า 28 วัน 40 จังหวัด ไม่มีติดเชื้อ 15-28 วัน มี 2 จังหวัด และไม่พบติดเชื้อช่วง 7-14 วัน จำนวน 5 จังหวัด ยังมีการติดเชื้อในช่วง 1-2 วัน 8 จังหวัด และติดเชื้อในช่วง 3-6 วัน 8 จังหวัด

ฉีดวัคซีนโควิดแล้ว 319 ราย

นพ.ทวีศิลป์กล่าวด้วยว่าขณะนี้มีการกระจายวัคซีนโควิด 19 ไปแล้ว 13 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ตาก นครปฐม ราชบุรี สมุทรสงคราม ปทุมธานี สมุทรปราการ กทม. สมุทรสาคร ภูเก็ต นนทบุรี ชลบุรี และสุราษฎร์ธานี สำหรับการฉีดวัคซีนโควิด-19 จากข้อมูลที่มีการลงทะเบียนในไลน์หมอพร้อม เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 1 มี.ค. มีการฉีดไปแล้ว 319 คน ได้แก่ นครปฐม 14 คน นนทบุรี 93 คน สมุทรสาคร 210 คน และสมุทรปราการ 2 คน ยังไม่พบผลข้างเคียงอาการรุนแรงรายงานเข้ามา

“จากการเทเลคอนเฟอเรนซ์กับสมุทรสาคร ซึ่งฉีดเข็มแรกไปเมื่อวันที่ 28 ก.พ. ได้รับวัคซีนไปประมาณ 3 หมื่นกว่าโดส ก็มีกลุ่มที่วางแผนไว้ในการให้ได้รับวัคซีน บุคลากรทางการแพทย์ประมาณ 8 พันกว่าราย อสม. 2,070 ราย เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 2,274 ราย โรคประจำตัว 1.6 หมื่นกว่าคน และประชาชนทั่วไป 5 พันกว่าคน รวมประมาณ 3.5 หมื่นโดสสำหรับซิโนแวค ช่วงแรก แม้จำนวนไม่ได้มากอะไร ที่ประชุมพูดกันว่าไม่ได้เป็นผลให้เกิดการป้องกันโรคได้ เพราะจำนวนที่ฉีดจากประชากรหลายแสนคนยังเป็นแค่การเริ่มต้น จึงยังต้องคงสุขอนามัยส่วนตัว ใส่หน้ากาก ล้างมือ และเว้นระยะห่าง” นพ.ทวีศิลป์กล่าว

กทม.ฉีดวันแรก 130 คน

วันเดียวกัน ที่ร.พ.บางขุนเทียน เขตบางขุนเทียน พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. เดินทางมาตรวจเยี่ยมการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้แก่ผู้บริหารของกทม.ที่เข้ารับการฉีดวัคซีนวันแรกในวันนี้ ประกอบด้วย นางวันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพ มหานคร นายสุขสันต์ กิตติศุภกร ผอ.สำนักการแพทย์ นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง รองผอ.สำนักการแพทย์ นายศุภรัช สุวัฒนพิมพ์ ผอ.โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน

พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวว่า กทม.พบผู้ติดเชื้อมากลำดับที่ 2 รองจากจ.สมุทรสาคร และเป็นพื้นที่ที่มีประชากรอาศัยอยู่จำนวนมาก รวมถึงมีพื้นที่เสี่ยง 6 เขตที่ติดต่อกับจ.สมุทรสาคร จึงจำเป็นต้องควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดของโรคอย่างเร่งด่วน

ทั้งนี้ รัฐบาลจัดสรรวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กทม.เบื้องต้น ซึ่งเป็นวัคซีนซิโนแวค 66,000 โดส วันนี้เป็นวันแรกของโรงพยาบาลในสังกัดกทม. ได้แก่ โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินธโร อุทิศ และโรงพยาบาลราชพิพัฒน์ที่จะฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับบุคลากรทางการแพทย์เป็นลำดับแรกเพื่อเฝ้าสังเกตอาการ หากมีอาการที่ไม่พึงประสงค์จะสามารถให้การดูแลได้อย่างทันท่วงที วันนี้มีบุคลากรทางการแพทย์สมัครใจ 6 คน และจะมีบุคลากรทางการแพทย์ทยอยฉีดวัคซีนวันนี้รวม 30 คน ส่วนบุคลากรทางการแพทย์ โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินธโร อุทิศ จะมีบุคลากรสมัครใจ 50 คน และโรงพยาบาลราชพิพัฒน์ 50 คน รวมฉีดวัคซีนในวันแรกทั้งหมด 130 ราย

จากนั้นจะให้บริการฉีดวัคซีนแก่กลุ่มเสี่ยงตามลำดับในสัปดาห์ที่สอง เริ่มที่อาสาสมัครคนไข้ประจำหมู่บ้าน เจ้าหน้าที่ด่านหน้าควบคุมโรค 3,700 คน สัปดาห์ที่สาม อาชีพกลุ่มเสี่ยง เช่น อาสาสมัครชุมชน ตำรวจ ทหาร สัปดาห์ที่สี่เป็นผู้สูงอายุ ประชาชนกลุ่มเสี่ยงโรคเรื้อรัง สัปดาห์ที่ห้าประชาชนในพื้นที่เสี่ยงตามแนวรอยต่อจ.สมุทรสาคร ตามความสมัครใจ ได้แก่ บางขุนเทียน จอมทอง บางบอน บางแค ภาษีเจริญ และหนองแขม ในสัปดาห์ต่อไป โดยจะให้บริการวันละไม่เกิน 30 คน

สำหรับผู้ว่าฯ กทม.ไม่สามารถฉีดวัคซีน ซิโนแวคได้เนื่องจากมีข้อจำกัดเรื่องอายุ

ผู้ว่าฯ สมุทรสาครลุกเดินได้แล้ว

วันเดียวกัน ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล กล่าวถึงความคืบหน้าอาการนายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าฯ สมุทรสาคร ว่า ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาจนตอนนี้ผู้ว่าฯ อาการดีขึ้น ผ่านพ้นภาวะวิกฤต สามารถลุกเดินแล้วโดยไม่ต้องใช้ไม้เท้าช่วยเดิน สามารถเดินได้ดี แต่ยังห่วงกลัวท่านล้ม การพูดจาได้เหมือนคนปกติ การรับประทานอาหารเข้าสู่ภาวะปกติ การหายใจทำได้ปกติเหมือนคนทั่วไป จากนี้จะหารือกันอีกครั้งว่าหากมีคนสามารถดูแลเรื่องการเพิ่มกำลังกล้ามเนื้อที่สมุทรสาครก็ส่งต่อไปที่สมุทรสาคร หรือจะให้นักเวชศาสตร์ฟื้นฟูกล้ามเนื้อที่ร.พ.ศิริราชดูแลตรงนี้ต่อเพื่อให้กล้ามเนื้อแข็งแรงกว่านี้ก็ได้

“ขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมเจาะเลือดเพื่อตรวจหาระดับภูมิคุ้มกันต่อโรคโควิด-19 ซึ่งโดยทฤษฎีจะมีภูมิคุ้มกันแล้ว แต่ถึงแม้ท่านจะมีภูมิคุ้มกันแล้วก็ขอให้ท่านสวมหน้ากากอนามัย เพื่อเป็นต้นแบบให้กับประชาชนด้วย ส่วนการรับวัคซีนสำหรับท่านอาจจะยังไม่จำเป็น ส่วนจะทำงานไปด้วยก็ได้ เพราะสถานการณ์การระบาดที่สมุทรสาครก็น้อยลงแล้ว จากการดูคลิปวิดีโอที่ท่านฝึกเดินนั้นเดินได้ปกติแล้ว อย่าเพิ่งวิ่งก็แล้วกัน” ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าว

ฉีดวัคซีน – นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่พร้อมบุคลากรทางการแพทย์ กลุ่มเจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสโรค เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อโควิด-19 ที่โรงพยาบาลนครพิงค์ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 1 มี.ค.

เปิดแล้ว‘ตลาดกลางกุ้ง’คึกคัก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 06.00 น. ตลาดกลางกุ้งจังหวัดสมุทรสาคร ต.มหาชัย อ.เมือง จ.สมุทรสาคร เปิดบริการอีกครั้ง หลังปิดไปนานกว่า 2 เดือนจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยวันนี้บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก มีผู้ซื้อ ผู้ขายพ่อค้าแม่ค้าแพกุ้งและแรงงานต่างชาติมาค้าขาย ภายใต้มาตรการ นิวนอร์มัล โดยเมื่อรถบรรทุกสินค้าสัตว์น้ำ หรือรถผู้ที่จะมาซื้อมาขายทุกคันที่จะเข้าในตลาดกลางกุ้ง จะต้องผ่านด่านตรงจุดคัดกรองก่อน มีทั้งการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย ตรวจใบรับรองแพทย์ว่าได้ผ่านการตรวจโควิด-19 แล้ว ยกเว้นผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิกของตลาดกลางกุ้งซึ่งได้รับการออกบัตรรับรองตามมาตรการของตลาดเรียบร้อยแล้ว ก็ไม่ต้องมีใบรับรองแพทย์มาแสดง

ส่วนแรงงานข้ามชาติที่มาทำงานในแพกุ้งแพปลานั้นจะต้องสวมใส่อุปกรณ์ป้องกัน เช่น ถุงมือ รองเท้าบู๊ต ผ้ายางกันเปื้อน ตามมาตรการที่สาธารณสุขกำหนด ขณะที่ผู้ซื้อ หรือเกษตรกรที่นำกุ้งจากบ่อมาขายที่แพ หากยังไม่ถึงคิว จะต้องนั่งรอในบริเวณพื้นที่ที่จัดเตรียมไว้ โดยจะใช้ฉากกั้นเป็นช่องๆ เพื่อเว้นระยะห่างระหว่างกัน แต่มาตรการเข้มที่ ทุกคนในตลาดกลางกุ้งจะต้องพึงปฏิบัติเหมือนกันคือการสวมหน้ากากผ้า หรือหน้ากากอนามัยตลอดเวลา การใช้เจลล้างมือ และการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย

ปิด 2 โรงพยาบาลสนาม

เมื่อเวลา 16.00 น. นายธีรพัฒน์ คัชมาตย์ รองผู้ว่าฯสมุทรสาคร, นพ.นเรศฤทธิ์ ขัดธะสีมา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร พร้อมตัวแทนภาครัฐ และเอกชนร่วมกันตรวจโรงพยาบาลสนามหรือศูนย์ห่วงใยคนสาครแห่งที่ 1 สนามกีฬาจังหวัดสมุทรสาคร หลังประกาศปิดศูนย์ แห่งนี้ และศูนย์ห่วงใยคนสาครแห่งที่ 3 วัฒนาแฟคตอรี่ซึ่งเปิดใช้เป็นวันสุดท้ายเมื่อวันที่ 28 ก.พ. โดยผู้ติดเชื้อรายสุดท้ายออกจากศูนย์ห่วงใยคนสาครทั้ง 2 แห่งเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้ภายในศูนย์แห่งที่ 1 คงเหลือแต่เตียง ชุดเครื่องนอน อุปกรณ์ข้าวของเครื่องใช้เท่านั้น

นายธีรพัฒน์กล่าวว่า วันนี้การปิดโรงพยาบาลสนามของจังหวัดสมุทรสาคร โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสมุทรสาคร เบื้องต้นจะปิดทั้งหมด 2 ศูนย์ คือที่ศูนย์สนามกีฬาจังหวัดสมุทรสาคร (ศูนย์ห่วงใยคนสาครแห่งที่ 1) และศูนย์วัฒนา 1 หรือวัฒนาแฟคตอรี่ (ศูนย์ห่วงใยคนสาครแห่งที่ 3) ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.นี้เป็นต้นไป ส่วนการบริหารจัดการสิ่งของภายในศูนย์จะทำความสะอาดแล้วนำไปบริจาค ถ้าส่วนไหนที่เป็นขยะติดเชื้อ จะนำไปกำจัดตามกระบวน การของขยะติดเชื้อต่อไป

คลัสเตอร์โรงหมูปทุมฯติดเชื้อ53

วันเดียวกัน นพ.เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการพบผู้ติดเชื้อในจ.ปทุมธานี ว่า การระบาดระลอกใหม่ของ จ.ปทุมธานี ตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค.2563-28 ก.พ. 2564 พบผู้ติดเชื้อรวม 664 ราย อัตราส่วนชายต่อหญิง 1 : 1.13 คน ส่วนใหญ่เป็นคนไทย 57.79% พม่า 37.58% ลาว 1.91% กัมพูชา 0.64% และอังกฤษ 0.16% ส่วนใหญ่อายุ 20-60 ปี 80.54% ทั้งนี้ การระบาดในตลาดพรพัฒน์และตลาดสุชาติมีแนวโน้มลดลง แต่จากมาตรการตรวจโควิด ผู้ค้าและลูกจ้าง 100% เพื่อทำบัตรรับรองปลอดโควิดเข้าตลาด ทำให้พบการติดเชื้อในกลุ่มก้อนโรงงานชำแหละเนื้อหมู

“วันนี้พบรายงานกลุ่มก้อนโรงงานชำแหละเนื้อหมู 32 ราย ทำให้กลุ่มก้อนนี้พบติดเชื้อรวม 53 ราย จากทั้งหมด 88 ราย ไม่ติดเชื้อ 35 ราย โดยผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าว อายุ 30-39 ปี ล่าสุดมีการปิดโรงงานแล้วเพื่อทำความสะอาด สำหรับเนื้อหมูยังกินได้แต่ต้องปรุงสุก ส่วนข่าวโรงงานปกปิดข้อมูล เบื้องต้นดูวันที่เริ่มต้นส่วนใหญ่เริ่มป่วยวันที่ 26 ก.พ. มีการรายงานผลวันที่ 1 มี.ค. ระยะเวลาไม่ห่างกันมาก ยังไม่พบสิ่งผิดปกติ แต่ต้องรอผลสอบสวนโรคอย่างละเอียด เนื่องจากแรงงานส่วนใหญ่มีอาการน้อย จึงทำให้ไม่พบความผิดปกติ ยกเว้นอาการไม่ได้กลิ่นที่สังเกตได้ชัด” นพ.เฉวตสรรกล่าว

นพ.เฉวตสรรกล่าวต่อว่า สำหรับวัคซีน โควิด-19 ขณะนี้กระจายครบ 13 จังหวัด รวม 116,520 โดส ได้แก่ เชียงใหม่ 3,520 โดส, ตาก (อ.แม่สอด) 5,000 โดส, นครปฐม 3,560 โดส, ราชบุรี 2,520 โดส, สมุทรสงคราม 2,000 โดส, นนทบุรี 6,000 โดส, ปทุมธานี 8,000 โดส, สมุทรปราการ 6,000 โดส กรุงเทพมหานคร 33,600 โดส, สมุทรสาคร 30,580 โดส, ภูเก็ต 4,000 โดส และสุราษฎร์ธานี (อ.เกาะสมุย) 2,520 โดส

สสจ.ชลบุรีฉีดวัคซีนเข็มแรก

เมื่อเวลา 09.00 น. ที่โรงพยาบาลชลบุรี อ.เมือง จ.ชลบุรี ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข พร้อมด้วยนายภัครธรณ์ เทียนไชย ผู้ว่าฯ ชลบุรี นพ.อภิรัต กตัญญุตานนท์ นายแพทย์สาธารณสุขจ.ชลบุรี ร่วมกันให้กำลังใจเจ้าหน้าที่สาธารณสุขด่านหน้า ในการรับการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อโควิด-19 ซึ่งจ.ชลบุรี ได้รับวัคซีนซิโนแวคล็อตแรก 4,700 โดส ซึ่งจะฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์ ถือเป็นการซ้อมระบบให้พร้อมสำหรับฉีดวัคซีนโควิด-19 แก่ประชาชน โดยนพ.อภิรัตขอเป็นคนแรกที่ฉีดวัคซีนต้านเชื้อโควิด พร้อมแจ้งแนวทางการบริหารจัดการวัคซีนผ่านมติของคณะกรรมการป้องกันควบคุมโรคติดต่อจังหวัดชลบุรี

ผู้ว่าฯปทุมธานีฉีดเข็มแรกฉลุย

เมื่อเวลา 08.00 น. ที่ห้องประชุมบงกช รัศมิ์ ชั้น 8 อาคารผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลปทุมธานี อ.เมือง จ.ปทุมธานี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข เดินทางมาทำพิธีส่งมอบวัคซีน พร้อมเป็นสักขีพยานการฉีดวัคซีนเข็มแรกของจ.ปทุมธานี โดยมีนายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าฯ ปทุมธานี พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายกอบจ.ปทุมธานี นพ.ประสิทธิ์ มานะเจริญ ผอ.ร.พ .ปทุมธานี บุคลากรทางการแพทย์ และอสม.ให้การต้อนรับ

นายอนุทินเปิดเผยว่า ปทุมธานีเป็นพื้นที่ควบคุม หรือพื้นที่สีส้ม ซึ่งได้จัดสรรวัคซีนให้ 8,000 โดสก่อนในระยะแรกเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดในพื้นที่ และเริ่มฉีดให้กับกลุ่มเป้าหมายวันนี้เป็นวันแรก โดยนายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าฯ ปทุมธานี ฉีดเป็นคนแรก และจะทยอยฉีดให้กับกลุ่มเป้าหมายตามที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดกำหนดไว้ 4,000 คน ได้แก่บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าของร.พ.รัฐ มหาวิทยาลัย และเอกชน 1,500 คน เจ้าหน้าที่ด่านหน้าอื่นๆ ที่ลงพื้นที่ในตลาดพรพัฒน์และตลาดสุชาติ 1,000 คน ประชาชนที่มีโรคประจำตัว 1,000 คน และประชาชน พ่อค้า/แม่ค้า ในตลาดพรพัฒน์และตลาดสุชาติ 500 คน สำหรับร.พ.ปทุมธานี วันนี้เตรียมวัคซีนโควิด-19 บริการฉีดให้กับกลุ่มเป้าหมายทุกกลุ่ม คาดว่าจะฉีดครบทั้งหมดภายใน 1 สัปดาห์ ตามที่ร.พ.นัดหมายไว้

ผู้ว่าฯปากน้ำประเดิมฉีดเข็มแรก

เมื่อเวลา 09.00 น. น.ส.เรวดี รัศมิทัต ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานพิธีเปิดให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ซึ่งจ.สมุทรปราการได้รับวัคซีนล็อตแรก 6,000 โดส พร้อมเป็นสักขีพยานการฉีดวัคซีนให้นายวันชัย คงเกษม ผวจ.สมุทร ปราการซึ่งเป็นชุดแรก นพ.พรณรงค์ ศรีม่วง นายแพทย์สาธารณสุขจ.สมุทรปราการ เป็นชุดที่สอง และบุคลากรทางการแพทย์ตามลำดับ

นพ.นนท์ จินดาเวช รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ กล่าวว่า วันนี้เป็นวันแรกที่ให้บริการฉีดวัคซีนให้เป้าหมายกลุ่มแรกคือบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า ทั้งภาครัฐและเอกชน เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโควิด-19 ที่มีโอกาสสัมผัสเป็นหลักก่อน ส่วนเป้าหมายอื่น เช่นอสม.ผู้ป่วย และประชาชนทั่วไปจะเริ่มฉีดในเดือนเม.ย. เป็นต้นไป

ราชบุรีฉีดวัคซีนล็อตแรก

วันเดียวกัน ที่โรงพยาบาลวัดเพลง อ.วัดเพลง จ.ราชบุรี นายรณภพ เหลืองไพโรจน์ ผู้ว่าฯราชบุรี เป็นสักขีพยานการฉีดวัคซีนซิโนแวคป้องกันโควิด-19 ของจ.ราชบุรี หลังได้รับวัคซีนล็อตแรก 2,500โดส โดย มีพญ.ปาจรีย์ อารีย์รบ นายแพทย์สาธารณสุขจ.ราชบุรี เป็นคนแรกที่ได้รับการฉีดวัคซีนครั้งนี้ ตามด้วยนพ.ชวนนท์ อิ่มอาบ รอง นายแพทย์สาธารณสุขจ.ราชบุรี และ ผอ. โรงพยาบาลวัดเพลง และบุคลากรทางการแพทย์ชุดแรกรวม 10 คน

ปิดร.พ.สนาม – นายธีรพัฒน์ คัชมาตย์ รองผวจ.สมุทรสาคร พร้อมด้วยนายอุดม ไกรวัตนุสสรณ์ นายก อบจ.สมุทรสาคร และนพ.นเรศฤทธิ์ ขัดธะสีมา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมกันตรวจเยี่ยมอำลาโรงพยาบาลสนามหรือศูนย์ห่วงใยคนสาครแห่งที่ 1 สนามกีฬาจังหวัดสมุทรสาคร เมื่อวันที่ 1 มี.ค.

เชียงใหม่ฉีดเข็มแรกวัคซีนโควิด

วันเดียวกัน ที่โรงพยาบาลนครพิงค์ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าฯเชียงใหม่ พร้อมด้วยนพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงษ์ ผู้ตรวจราชการสาธารณสุข เขต 1, นพ.จตุชัย มณีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ และนพ.วรเชษฐ เต๋ชะรัก ผอ.ร.พ.นครพิงค์ ร่วมเป็นประธานการดำเนินการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในกลุ่มเป้าหมายระยะแรก ที่ประกอบด้วย 4 กลุ่ม ได้แก่กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ กลุ่มเจ้าหน้าที่ต่างๆ ที่จะมีโอกาสสัมผัสโรค อาทิ เจ้าหน้าที่ท่าอากาศยาน ตำรวจ เจ้าหน้าที่ด่านคัดกรอง อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) กลุ่มผู้มีโรคประจำตัว และกลุ่มแรงงาน/กลุ่มประชาชนทั่วไปผู้ที่มีโอกาสจะติดเชื้อจากการประกอบอาชีพ

สำหรับผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนเป็นลำดับแรกของจ.เชียงใหม่ ได้แก่ นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงษ์ ตามด้วยนพ.จตุชัย มณีรัตน์, นายวีระพันธ์ ดีอ่อน รองผู้ว่าฯเชียงใหม่ และนพ.วรเชษฐ เต๋ชะรัก

ภูเก็ตฉีดแล้ววันแรก 50 คน

เมื่อเวลา 09.00 น. ที่คลังยาและเวชภัณฑ์ โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต อ.เมือง จ.ภูเก็ต นพ.เฉลิมพงษ์ สุคนธผล ผอ.โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต พร้อมด้วยฝ่ายบริหารและ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องร่วมรับมอบวัคซีนโควิด-19 ของชิโนแวค ล็อตแรกของจ.ภูเก็ตจำนวน 4,000 โดสจากกระทรวงสาธารณสุข เพื่อฉีดให้กับกลุ่ม เป้าหมาย

ต่อมาช่วงบ่าย ที่ลานม่วงขาว โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต นพ.เฉลิมพงษ์ร่วมสังเกตการณ์และให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์ของ โรงพยาบาลวชิระภูเก็ตที่มารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยนพ.สวัสดิ์ชัย นวกิจรังสรรค์ แพทย์หูคอจมูก ผอ.ศูนย์สุขภาพ มะฮอกกานี โรงพยาบาลวชิระภูเก็ตเป็นบุคลากรทางการแพทย์คนแรกของจ.ภูเก็ตที่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ตามด้วยบุคลากรคนอื่นๆ ซึ่งวันนี้ฉีดวัคซีนจำนวน 50 คน

สมุยฉีดวัคซีนโควิดเข็มแรก

เมื่อเวลา 09.00 น. ที่ร.พ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี นพ.วิฑูรย์ กมลเดชเดชา นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ รองผู้อำนวยการด้านทุติยภูมิและตติยภูมิ พร้อมผู้บริหารโรงพยาบาลเกาะสมุย และเภสัชกรนพวิทย์ เพิงรัตน์ เภสัชกรประจำคลังยา เข้าตรวจรับวัคซีนป้องกันโควิด-19 จำนวน 2,500 โดสที่มาถึงโรงพยาบาลเกาะสมุย

ต่อมาเวลา 14.00 น. ที่ร.พ.เกาะสมุย นายธีระพงศ์ ช่วยชู นายอำเภอเกาะสมุย พร้อมด้วยนายวีระศักดิ์ หล่อทองคำ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเกาะสมุย นายรัชชพร พูลสวัสดิ์ นายกสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาะสมุย และบุคลากรทางการแพทย์ เข้ามารับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เข็มแรกแล้ว

และวันที่ 2 มี.ค.จะเริ่มฉีดให้กับกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขด่านหน้า เจ้าหน้าที่รัฐและภาคเอกชนที่ต้องอยู่ในจุดคัดกรองผู้ที่เดินทางเข้าเกาะสมุย 50 เปอร์เซ็นต์, กลุ่มท่องเที่ยวและบริการ 22 เปอร์เซ็นต์ กลุ่มภาคประชาชน และอสม. 26 เปอร์เซ็นต์ และคณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรค อำเภอเกาะสมุย 2 เปอร์เซ็นต์

ด้านนายรัชชพร พูลสวัสดิ์ นายกสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาะสมุย เปิดเผยว่า ตอนนี้ทางสมาคมส่งเสริมเกาะสมุย บูรณาการร่วมกันทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน เตรียมนำเสนอศบค.ชุดเล็กที่มี พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)เป็นประธาน เพื่อเสนอให้เกาะสมุยเปิดรับกลุ่มนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ เริ่มต้นจากเครื่องบินส่วนตัวให้มาลงที่เกาะสมุย และเข้าพักวิลล่าควอรันทีน โดยใช้ลักษณะดำเนินการแบบเดียวกับที่ศรีพันวา จ.ภูเก็ต จากนั้นจะเปิดรับกลุ่มเครื่องบินเช่าแบบ เหมาลำ และเข้าพักในโรงแรมที่เป็นสถานที่ Alternative Local State Quarantine (ALSQ) ที่มี 10 แห่งในขณะนี้เพื่อกักตัว 14 วัน ตามหลักเกณฑ์แนวทางที่รัฐกำหนด แต่หาก นักท่องเที่ยวมีการฉีดวัคซีนโควิด-19 มาแล้ว ก็อาจจะขอให้กักตัว 5 วัน ก่อนจะใช้พื้นที่ตามส่วนต่างๆ ของโรงแรมได้ โดยช่วงแรกจะเปิดรับนักท่องเที่ยวในกลุ่มอาเซียนก่อน และผู้เข้าพักจะต้องชำระค่าใช้จ่ายเองทั้งหมดระหว่างกักตัวโดยสมัครใจ

ฉีดวัคซีน – นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผวจ.ปทุมธานี ฉีดวัคซีนป้องกัน เชื้อโควิด-19 เข็มแรกของจังหวัด มีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรมว.สาธารณสุข พร้อมพล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายกอบจ.ปทุมธานี ร่วมให้กำลังใจ เมื่อวันที่ 1 มี.ค. ที่ โรงพยาบาลปทุมธานี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน