คนแห่ชิมเมนูกัญชา งาน ‘กัญชากัญชง 360 องศา เพื่อประชาชน’ สธ.จัดใหญ่ถึง 7 มี.ค. ที่สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต บุรีรัมย์ ภายในงานมีทั้ง เวิร์กช็อป และการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ‘อนุทิน ชาญวีรกูล’ ปลื้มนโยบายกัญชา 6 ต้นสำเร็จ

เมื่อวันที่ 5 มี.ค. ที่สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต จ.บุรีรัมย์ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานพิธีเปิดงาน ‘กัญชากัญชง 360 องศา เพื่อประชาชน’ โดยมีนางกนกวรรณ วิลาวัลย์ศรีจันทร์งาม รมช.ศึกษาธิการ, นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข, นายธัชกร หัตถาธยากูล ผวจ.บุรีรัมย์, นพ.วิทิต สฤษฎีชัยกูล นายแพทย์สาธารณสุข จ.บุรีรัมย์ พร้อมด้วยข้าราชการและประชาชน รวมถึงอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เข้าร่วมงานอย่างคึกคัก

นายอนุทินกล่าวว่า รู้สึกปลาบปลื้มที่เห็นทุกคนร่วมผลักดันให้ประเทศไทย และคนไทยได้รับประโยชน์มหาศาลจากพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ คือกัญชาและกัญชง วันนี้เป็นการตอกย้ำเจตนารมณ์และนโยบายกัญชาที่ สธ. โดยคณะผู้บริหารชุดนี้ประกาศไว้ ขณะที่ตนประกาศช่วงการเลือกตั้งว่า นโยบายกัญชา 6 ต้นจะต้องเป็นรูปธรรม ขณะนี้มีผลอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว

“เราทำให้สาธารณชนเปลี่ยนมุมมอง วิธีคิดที่มีต่อกัญชา จะเห็นได้จากนโยบายของรัฐบาลที่เขียนอย่างชัดเจนว่า เราต้องรู้จักใช้ประโยชน์จากกัญชา พัฒนา วิจัย ถ่ายทอดภูมิปัญญาและเทคโนโลยีการปลูก การผลิต การใช้ประโยชน์จากพืชกัญชาและกัญชงอย่างเป็นระบบเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และสุขภาพ และเพื่อสนับสนุนให้พี่น้องประชาชน สามารถนำพืชกัญชา กัญชงมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สินค้าเพื่อสร้างรายได้และโอกาสทางเศรษฐกิจ” นายอนุทินกล่าว

นายอนุทินกล่าวอีกว่า ขณะนี้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบแก้ไขร่างกฎหมายกัญชา ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของรัฐสภา ระหว่างนี้สธ.ได้แนะนำให้ตนใช้ฐานะรมว.สธ. ทำทุกวิถีทางตามที่กฎหมายกำหนดไว้ เพื่อให้ประชาชนได้ปลูกและใช้ประโยชน์จากกัญชามากที่สุด เป็นจุดเริ่มต้นที่ประชาชนจะปลูกกัญชาเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ซึ่งขณะนี้ได้หาช่องทางให้ประชาชนมีกัญชา 6 ต้นในบริเวณบ้านของตนเองได้แล้ว ในรูปแบบวิสาหกิจชุมชนร่วมมือกับโรงพยาบาล ส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ที่เป็นคู่สัญญากัน และได้รับการปลดออกจากยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ดังนั้น ประชาชนในวิสาหกิจชุมชน สามารถนำมาใช้ประโยชน์แปรรูป ปรุงอาหารเพื่อจำหน่าย สร้างรายได้เสริม เพิ่มรายได้พิเศษให้กับตนเองและครอบครัว วันนี้ได้ก้าวมาเป็นระยะทางไกลมากแล้ว เหลือขั้นตอนสุดท้ายคือ การแก้ไขกฎหมายให้พืชกัญชา กัญชง เป็นผลผลิตทางการเกษตรอีกหนึ่งชนิด ซึ่งตนเชื่อมั่นว่าจะสร้างรายได้ให้กับประชาชนทุกคนในประเทศ

สำหรับงานมหกรรม ‘กัญชากัญชง 360 องศาเพื่อประชาชน’ กระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) องค์การเภสัชกรรม กรมการแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ร่วมกับจังหวัดบุรีรัมย์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 5-7 มี.ค. ที่สนามช้างอินเตอร์เนชั่นแนลเซอร์กิต โดยภายในงานได้รวบรวมสาระความรู้เรื่องกัญชากัญชง ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และ ปลายน้ำ ครอบคลุมทุกมิติ เพื่อเปิดกว้างให้ประชาชนสามารถนำไปใช้ประโยชน์สร้างรายได้ และเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยไฮไลต์สำคัญแบ่งเป็น 5 ส่วนสำคัญ คือ นิทรรศการ เวทีเสวนา คลินิกกัญชา เวิร์กช็อป และการจำหน่ายผลิตภัณฑ์

โดยเวทีเสวนาจะบรรยายให้ความรู้เรื่องกัญชาทางการแพทย์ กัญชงเพื่อเศรษฐกิจ นอกจากนั้นก็ยังมีเวิร์กช็อป กัญชากัญชงหลายรายการที่น่าสนใจ การสกัดน้ำมันกัญชง สกัดกัญชาทางการแพทย์ และเนื้อหาต่างๆ ทั้งกัญชาและกัญชง มีบูธนิทรรศการของภาครัฐและเอกชนหลายแห่ง ร่วมนำเสนอผลงาน ทั้งต้นกัญชา ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของกัญชามาจัดแสดงด้วย รวมถึงมีคลินิกกัญชาที่ประชาชนสามารถเข้ารับบริการกัญชาทางการแพทย์ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

นายโอฬาร ชูเกียรติสกุล ประธานชมรมหมอพื้นบ้านแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สำหรับตนเองมองว่ากัญชาเป็นพืชสมุนไพรชนิดหนึ่งที่สามารถนำมาใช้ในการดูแลบำบัดสุขภาพร่างกาย ซึ่งก็อยากให้รัฐบาลได้ผลักดันให้สามารถนำทุกส่วน ของกัญชาไปประกอบอาหารรับประทานได้ เพราะตอนนี้ช่อดอกยังไม่ได้มีการปลดล็อกซึ่งหากปลดล็อกตรงนี้ได้ เชื่อว่าจะเกิดประโยชน์มากขึ้นกว่านี้ ตนเองในฐานะเป็นหมอพื้นที่ก็มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับนักวิชาการ และผู้รู้ที่มาร่วมงาน เพื่อนำไปต่อยอดในการนำพืชกัญชาไปใช้ในการดูแลรักษาผู้ป่วยต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับบรรยากาศภายในงานวันแรก มีนักท่องเที่ยว, นักธุรกิจ และประชาชนทั่วไปทั้งในและต่างจังหวัด รวมถึงผู้ป่วยจากทั่วประเทศ มาร่วมงานและรับบริการตรวจรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง คึกคักตั้งแต่ช่วงเช้า นอกจากนั้นยังมีผู้ประกอบการด้านอาหารนำเมนูอาหารที่ปรุงด้วยกัญชา รวมแล้วมากกว่า 50 เมนู สำหรับผู้ที่มาร่วมงานจะต้องผ่านการตรวจ คัดกรองจากเจ้าหน้าที่อย่างเข้มงวด ทั้งวัดอุณหภูมิร่างกาย ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ และลงทะเบียนทุกคน ตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19

นายสิทธิฉันท์ วุฒิพรกุล หรือเฮียนพ อายุ 44 ปี เจ้าของร้านก๋วยเตี๋ยว ‘รสดีเด็ด’ ภายในงานกล่าวว่า ได้นำเอาอาหารมาโชว์ในงาน 2 ชนิด คือก๋วยเตี๋ยวเนื้อ น้ำซุปผสมกัญชา ด้วยการเอารากกับกิ่งกัญชา เอามาต้มในหม้อน้ำซุป จะมีรสชาติอร่อยมาก แทนการใช้ผงชูรสได้เลย เพราะก๋วยเตี๋ยวเนื้อในสมัยก่อนจะคู่กับกัญชา และผัดใบกะเพราแฮปปี้ จะใช้ใบกัญชาสด เอามาผัดร่วมกันกับใบกะเพรา จะได้รสชาติอร่อย นอกจากนี้ ใบกัญชาแห้งยังสามารถเอามาดองเป็นน้ำใส่ก๋วยเตี๋ยว และเอามาบดผสมพริกป่นได้อีกด้วย ขณะนี้ทุกส่วนของกัญชามีราคาค่อนข้างสูง ถ้าตัดเอาช่อกัญชาออก สำหรับเอาไปผลิตเป็นยารักษาโรคออกแล้ว เฉพาะใบแห้งของกัญชา ราคา ก.ก.ละ 10,000-15,000 บาท ส่วนก้านแห้งกับรากแห้งของกัญชา ราคาอยู่ที่ ก.ก.ละ 2,500-5,000 บาท หากเกษตรกรปลูกได้คนละ 6 ต้น ปีละ 2 รุ่น น่าจะมีรายได้ไม่น้อยเลยทีเดียว

น.ส.รุจิรดา ตันติพิริยะพงศ์ อายุ 24 ปี ชาวบุรีรัมย์ เจ้าของร้านเกี๊ยวซ่า ภายในงาน กล่าวว่า ได้คิดค้นเอาใบกัญชาหั่นเป็นฝอย ไปผสมกับไส้เกี๊ยวซ่า เริ่มต้นจากการทดลองทำกินเองก่อน จากนั้นให้เพื่อนๆ มาลองชิม ปรากฏว่าผลออกมาคืออร่อยมาก เมื่อนำมาขายในตลาดเซราะกราว หรือถนนคนเดินของบุรีรัมย์ ได้ผลตอบรับเป็นอย่างดี ลูกค้าแต่ละคนซื้อไปบอกว่าอร่อยขึ้น ประกอบกับประชาชนรู้เรื่องคุณสมบัติของกัญชาเป็นอย่างดีว่าไม่มีพิษภัยอย่างที่คิด ตรงข้ามกลับมีประโยชน์มากกว่า ทำให้ยอดขายดีขึ้นเป็น เท่าตัว ส่วนกัญชาที่นำมาใช้ ปลูกแบบออร์แกนิกที่บ้าน 6 ต้น ซึ่งได้เข้าร่วมกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ทำแบบถูกกฎหมายทุกขั้นตอน แต่ยอมรับว่าราคาเกี๊ยวซ่า แพงขึ้น จากปกติขาย 6 ชิ้น 50 บาท มาเป็น 4 ชิ้น 50 บาท

พิสูจน์กลิ่น – นายอนุทิน ชาญวีรกูล รมว.สาธารณสุข ดมกลิ่นใบกัญชาสด ระหว่างเปิดงานมหกรรมกัญชากัญชง 360 องศาเพื่อประชาชน ที่สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนลฯ จ.บุรีรัมย์ เมื่อวันที่ 5 มี.ค.

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน