ให้เพิกถอนคดี
จับ30ชาวบ้าน

‘บางกลอย-พีมูฟ’ ยื่น 7 ข้อ‘บิ๊กป้อม’เร่งแก้ปัญหาชาวบ้านอยู่ร่วมกับป่า ขอให้สั่งการ ‘วราวุธ’ รมว.ทรัพยากรฯ ปรับท่าที ไม่วางตัวเป็นคู่ขัดแย้ง ขอให้ยุติและเพิกถอนคดีชาวบ้าน 30 คน เพราะเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากความล้มเหลวของรัฐ ถูกบังคับให้อพยพออกจากชุมชนดั้งเดิม แล้วทำตามข้อตกลงที่ลงนามไว้อย่างเคร่งครัด ด้าน รมต.วราวุธพร้อมให้ตัวแทน ‘ยูเอ็น’ ตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่ ยันไม่มีการใช้ความรุนแรง

เมื่อวันที่ 9 มี.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล ชาวบ้าน บางกลอย-ใจแผ่นดิน อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี พร้อมด้วยตัวแทนขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ที่ปักหลักชุมนุม อยู่ที่บริเวณสะพานชมัยมรุเชฐ ข้างทำเนียบรัฐบาล ยื่นหนังสือถึงพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการแก้ปัญหาพีมูฟ

โดยยื่นผ่านนายประสาน หวังรัตนปราณี ผู้ช่วยรมต.สำนัก นายกฯ เพื่อให้เร่งรัดแก้ปัญหาชุมชนบางกลอย และพีมูฟ ภายหลังหารือกันเมื่อวันที่ 8 มี.ค. ที่ผ่านมา แต่ไม่ได้ข้อสรุป เนื่องจากไม่มีตัวแทนจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ที่มีอำนาจตัดสินใจเข้าร่วมหารือด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับข้อเสนอที่ยื่นไปยังพล.อ.ประวิตร มีจำนวน 7 ข้อ อาทิ ขอให้สั่งการนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ ปรับท่าทีในการแก้ปัญหา โดยไม่วางตัวเป็นคู่ขัดแย้ง และเป็นปฏิปักษ์กับประชาชนผู้เดือดร้อน ขอให้ยุติและเพิกถอนการดำเนินคดีชาวบ้านบางกลอยทั้ง 30 คน เนื่องจากชาวบ้านเป็นผู้ได้รับ ผลกระทบจากความล้มเหลว จากการถูกบังคับให้อพยพออกจากชุมชนดั้งเดิม

นอกจากนี้ กระบวนการจับกุมดำเนินคดีอาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย พร้อมทั้งขอให้สอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับยุทธการพิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชร กระบวนการจับกุม และการกีดขวางส่งความช่วยเหลือด้านอาหารไปยังชาวบ้านบางกลอยบน และให้สั่งการหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามบันทึกข้อตกลงระหว่างตัวแทนรัฐบาลกับตัวแทนภาคีเซฟบางกลอยและพีมูฟ ที่ลงนามไว้เมื่อวันที่ 16 ก.พ.ที่ผ่านมาอย่างเคร่งครัดด้วย

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ให้สัมภาษณ์หลังประชุมคณะรัฐมนตรี ถึงการแก้ปัญหาชาวบางกลอยว่า ชี้แจงกันไปหลายครั้งแล้วว่าพื้นที่ต้นน้ำ พื้นที่ป่า และพื้นที่ ที่ชาวบางกลอยจะขอกลับขึ้นไปอยู่นั้น มันมีคำสั่งศาลออกมาแล้ว ซึ่งรัฐก็หาพื้นที่ทดแทนให้แล้ว อีกทั้งมีจำนวนคนที่เพิ่มขึ้นมาจากเดิม 97 คน ถึงวันนี้เพิ่มขึ้นมา 1,000 กว่าคน แล้วจะทำอย่างไรกัน

“ถือว่าดีกว่าในหลายพื้นที่ด้วยซ้ำไป ดีกว่าภาคอีสานเสียอีก การที่จะมาขอคนละ 15 ไร่ และจะขอเพิ่มอีก 15 ไร่ สำหรับปลูกพืชหมุนเวียนนั้น ก็ต้องดูว่าเป็นไปได้หรือไม่ ก็ต้องไปฟัง รัฐบาลให้ความสนใจในทุกเรื่อง มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปแก้ไขปัญหาตั้งแต่ต้นมาแล้ว ต้องฟังข้อเท็จจริงบ้างว่าเราจะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้อย่างไร ถ้าถามว่ายังมีคนที่ไม่มีที่ทำกินอีกเยอะหรือไม่ ก็มี คำตอบว่ามีอีกเยอะ เพราะฉะนั้นเราก็ต้องแก้ปัญหาในเชิงบูรณาการให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นที่อยู่ อาศัยที่ทำกิน เกษตรกรรม ทุกอย่างต้องปรับเปลี่ยนกันทั้งหมด” นายกฯ กล่าว

ส่วนนายวราวุธ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ กล่าวชี้แจงยืนยันว่าการทำงานของเจ้าหน้าที่ดำเนินการตามหมายศาล เป็นไปด้วยความละมุนละม่อม ถ้อยทีถ้อยอาศัย มีกล้องขนาดเล็กติดตัวกว่า 40 ตัว มีภาพวิดีโอทุกขั้นตอน ตั้งแต่การเจรจา การเชิญตัวลงมา การนำตัวขึ้น เฮลิคอปเตอร์ ขอยืนยันว่าไม่มีการใช้ความรุนแรง และหลังนำตัวลงมา กระทรวงทรัพยากรฯ ยังคงเจตนารมณ์เดิมในการเจรจาเพื่อแก้ปัญหา เรื่องที่ทำกิน และสาธารณูปโภค

“ขอย้ำว่าการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ ในทุกขั้นตอน เราบันทึกภาพวิดีโอและเสียง ส่วนบางกลุ่มที่อ้างว่าเจ้าหน้าที่กระชากแขนชาวบางกลอย หรือใช้ความรุนแรง กระทรวงทรัพยากรฯ ขอให้ท่านส่งข้อมูลหลักฐาน ที่อ้างว่ามีการใช้ความรุนแรง ส่งมากระทรวงทรัพยากรกรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยผมจะดำเนินการทางวินัยกับเจ้าหน้าที่คนนั้นเอง” นายวราวุธกล่าว

ต่อข้อถามถึงกรณีพรรคการเมืองจะเชิญตัวแทนสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ลงพื้นที่ ตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่บ้านโป่งลึก- บางกลอย นายวราวุธกล่าวว่า กระทรวงทรัพยากรฯ ยินดีเป็นอย่างยิ่ง หากตัวแทนยูเอ็นจะเดินทางมา เพราะก่อนหน้านี้เราเสนอผืนป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกอยู่แล้ว ซึ่งในขณะนั้นเราเชิญเอกอัครราชทูตกว่า 10 ประเทศในไทยที่มีสิทธิ์โหวตในที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลก รวมทั้งองค์กร ไอยูซีเอ็น (องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ) เดินทางไปดูพื้นที่บางกลอย ทั้งเรื่องการอนุรักษ์ และสิทธิมนุษยชน ซึ่งทุกๆ คนก็ตกใจกับสิ่งที่เห็น เพราะไม่ได้เป็นไปตามข่าว ดังนั้น หากมีความพยายาม จะเชิญหน่วยงานต่างประเทศมาลงพื้นที่ กระทรวงยินดีเป็นอย่างยิ่ง

ผู้สื่อข่าวถามว่าการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ ถือว่าผิดสัญญาตามที่ลงนามบันทึกข้อตกลงไว้หรือไม่ รมว.ทรัพยากรฯ กล่าวว่า ไม่ได้ผิดสัญญา เพราะขั้นตอนการตกลงกันไว้นั้น เจ้าหน้าที่จะหยุดตั้งด่านตรวจ ตนก็ขอให้ถอยกำลังทั้งสิ้นแล้ว และก็ขอให้ชาวบ้านถอย ลงมา หยุดรุกป่า แต่วันนี้กลับพบว่าบุกรุกและเผาป่าอย่างชัดเจน ดังนั้นเราจึงต้องดำเนินตามกรอบกฎหมายอย่างชัดเจน ศาลปกครองสูงสุด ก็เคยมีคำพิพากษาชัดเจนแล้วว่าไม่อนุญาต ให้ขึ้นไป ทั้งการอาศัยและทำกิน เราทำตาม กรอบกฎหมาย ไม่ได้นอกสัญญาทั้งสิ้น

นายวราวุธกล่าวอีกว่าคนบางกลุ่มพยายามนำเสนอ เพราะการปฏิบัติการในขณะนั้นมีทุกฝ่ายลงพื้นที่ไปพร้อมๆ กัน หากใช้ความรุนแรงจริง ฝ่ายหมอ พยาบาล ฝ่ายอัยการคงไม่ยอมแน่ ยืนยันอีกครั้งว่าไม่มีการใช้ความรุนแรง และในพื้นที่บางกลอยก็มีการแตกประเด็นเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน แต่ขอบอกว่าเรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวกับความเป็นคน เป็นเพียงประเด็นที่ว่าประชาชนบางกลุ่มยังไม่พึงพอใจ กับการเยียวยาของรัฐ ซึ่งขณะนี้ภาครัฐกำลังดำเนินการอยู่ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปีนี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน