ขีดเส้นจบวันนี้
4ข้อเรียกร้อง!
ท็อปปัดละเมิด

ครม.ถกวันนี้ แก้ปม ‘บางกลอย’ ชาวบ้านโกนหัวประท้วง ทวง 4 ข้อเรียกร้อง ลั่นปักหลักสู้เพื่อกลับ ‘ใจแผ่นดิน’‘ท็อป’ ยันไม่เคยละเมิดสิทธิ มีหลักฐาน ส่งมา-จะจัดการเจ้าหน้าที่ ชี้ถ้าชาวบ้านอยู่มาก่อนประกาศเขตป่า ก็ต้องให้อยู่ต่อไป แต่ใช้เวลาพิสูจน์สิทธินาน จึงต้องแก้ปัญหาการกินอยู่ระหว่างรอ

วันที่ 15 มี.ค. ที่บริเวณถนนพระราม 5 แยกพาณิชยการ เชิงสะพานชมัยมรุเชฐ ฝั่งตรงข้ามทำเนียบรัฐบาล กลุ่มภาคีเซฟ บางกลอย พร้อมด้วยขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือพีมูฟ และกลุ่มเดินทะลุฟ้า ได้จัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ด้วยการเคลื่อนไหวอย่างสันติอหิงสา เพื่อย้ำถึง 4 ข้อเรียกร้องไปยังรัฐบาล โดยกลุ่มผู้ชุมนุมได้เดินขบวนจากบริเวณถนนพระราม 5 เชิงสะพานชมัยมรุเชฐ ข้ามมายังบริเวณหน้าประตู 3 ทำเนียบรัฐบาล พร้อมอ่านแถลงการณ์ จากหัวใจคนใจแผ่นดิน โดยยืนยันถึง 4 ข้อ เรียกร้อง ได้แก่ 1.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ต้องลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ที่เป็นกลาง เพื่อพิสูจน์สิทธิชาวบางกลอยว่ามีสิทธิ์อยู่ในพื้นที่ดังกล่าวหรือไม่ และถ้าพิสูจน์ได้ว่าชาวบ้านมีสิทธิ์ต้องได้รับการคืนสิทธิ์ โดยต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน หลังจากที่ นายกฯ ลงนาม

2.พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ในฐานะคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ พีมูฟ ต้องเปิดประชุมคณะกรรมการ พีมูฟอย่างเร่งด่วน 3.ให้นำผลการประชุมและคำสั่งแต่งตั้งเข้าครม. ในวันที่ 16 มี.ค.เท่านั้น และต้องมีแนวทางรับประกันการแก้ปัญหา และ 4.ให้ชะลอการส่งสำนวนคดีของ ชาวบ้านบางกลอย จนกว่าได้ข้อยุติทั้งหมด

ทั้งนี้ถ้าบรรลุข้อตกลงทั้ง 4 ข้อดังกล่าว ยืนยันว่าจะเดินทางกลับในวันพรุ่งนี้ทันที แต่ถ้าไม่บรรลุข้อตกลงก็จะปักหลักและจัดกิจกรรมทุกวันและบางวันอาจมีกิจกรรมเซอร์ไพรส์ อีกทั้งจะยังคงปักหลักชุมนุมที่บริเวณทำเนียบรัฐบาลต่อไปร่วมกับกลุ่มเดินทะลุฟ้า V.2

จากนั้นตัวแทนกลุ่มผู้ชุมนุมได้แสดงออกเชิงสัญลักษณ์โดยการโกนศีรษะของชาวบางกลอย 4 คน โดยจะโกนหัวทุกๆ ครึ่งชั่วโมงไปจนถึงเวลา 16.00 น. ขณะเดียวกันก็ได้มีการล่ามโซ่ แสดงสัญลักษณ์ว่าถูกจองจำ อีกด้วย

นายประยงค์ ดอกลำไย ที่ปรึกษาพีมูฟ กล่าวว่า ความคืบหน้าล่าสุดของการยืนหยัดต่อสู้อยู่ในพื้นที่นี้มา 8 วันแล้ว ประเมินได้ว่าในบันได 100 ขั้น ที่จะเดินทางไปยังใจแผ่นดิน เรากำลังอยู่ขั้นที่ 0.5 ยังไม่ได้เริ่มนับหนึ่งของการแก้ปัญหา แต่นี่ไม่ใช่ความพ่ายแพ้ เพราะนี่คือการสั่งสมชัยชนะเล็กๆ เพื่อรอคอยก้าวไปยังขั้นที่หนึ่ง ซึ่งสิ่งนั้นจะเกิดขึ้นในวันอังคารที่ 16 มี.ค. ที่จะมีการประชุมครม

“ต้องมีการลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาบางกลอยในทุกมิติ ซึ่งมีตัวแทนจากราชการ ฝ่ายวิชาการ กฎหมาย ซึ่งพี่น้องบางกลอยและพีมูฟได้เสนอเข้าไป คนเหล่านี้เป็นกลาง ไม่ใช่กลางข้างรัฐ แต่เป็นนักวิชาการที่มีความรู้ เชี่ยวชาญ และมีจุดยืนเคียงข้างประชาชนเสมอมา นายกฯ ที่ชื่อประยุทธ์ต้องลงนาม สิ่งที่ทำได้สูงสุดตอนนี้คืออำนาจบริหารสูงสุด เราจะไม่ยอมให้บางกลอยถูกกดทับอยู่ใต้กระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ไม่มีอนาคตอีกต่อไป” นายประยงค์กล่าว

นายประยงค์กล่าวว่า นอกจากเรื่องชะลอการดำเนินคดีแล้ว ตนยังเห็นว่า ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาขึ้นมาอีกชุดหนึ่ง ซึ่งจะทำหน้าที่ในการพิสูจน์สิทธิ์ของชาวกะเหรี่ยงบางกลอย-ใจแผ่นดิน ด้วยข้อมูลหลากหลายรอบด้าน ความจำเป็นของการต้องมีคณะกรรมการชุดนี้ เนื่องจากปัญหาของ พี่น้องบางกลอยซับซ้อน เกี่ยวข้องกับกฎหมายหลายฉบับ เกี่ยวข้องกับคดีความ ให้เวลารัฐบาลและคณะกรรมการชุดนี้ทำงานให้แล้วเสร็จและคืนสิทธิ์ให้ชาวบ้านภายใน 30 วัน

นายประยงค์กล่าวว่า ชำระประวัติศาสตร์ทั้งหมดเกี่ยวกับบางกลอยและใจแผ่นดินนับตั้งแต่ 2455-2564 ว่าเกิดอะไรขึ้นกับเขาบ้าง สองคือ การดำเนินการต่างๆ ที่ผ่านมานั้นได้สร้างผลกระทบ ความเดือดร้อน ละเมิดสิทธิมนุษยชน ละเมิดความเป็นมนุษย์อย่างไรบ้าง และที่ผ่านมารัฐบาลให้ความช่วยเหลือ เยียวยาอย่างเพียงพอหรือไม่

นายประยงค์กล่าวว่า กลุ่มพีมูฟและภาคีเซฟบางกลอยยืนยันว่าจะปักหลักอยู่ที่หน้าทำเนียบรัฐบาลนี้อย่างน้อยที่สุดก็ถึงวันอังคารที่ 16 มีนาคม เพื่อรอฟังความคืบหน้าและท่าทีจากรัฐบาลว่าจะรับข้อเสนอทั้ง 4 ข้อ เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติหรือไม่และในช่วงเย็นเดียวกันนี้จะมีการจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ โดยในเวลา 13.00 น. จะเป็นปฏิบัติการพิเศษสันติวิธีบริเวณทำเนียบรัฐบาล จากนั้นเวลา 18.00 น. กิจกรรมเวทีแตกต่างกันไปเป็นดอกไม้นานาพันธุ์ #คนเท่ากับคน ดำเนินรายการโดย บอย ธัชพงศ์และพชร คำชำนาญ

ขึ้นเวที – นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ร่วมทำกิจกรรมกับกลุ่มพีมูฟและภาคีเซฟบางกลอย พร้อมขึ้นเวทีข้างทำเนียบรัฐบาล ยืนยันว่าชาวกะเหรี่ยงบางกลอยอยู่ในพื้นที่ ดังกล่าวก่อนที่จะมีกฎหมายและก่อนที่จะมีอุทยาน เมื่อวันที่ 15 มี.ค.

จากนั้นจะเป็นกิจกรรมบนเวที เริ่มจากเวลา 18.10 น. น้ำ คีตาญชลี เวลา 18.30 น. สปีช โดยนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เวลา 18.50 น. “จะเปล่งเสียงจนกว่าคนจะเท่ากัน” ปฏิบัติการของกลุ่มเฟมมินิสต์ปลดแอกต่อการโดนละเมิดสิทธิของกลุ่มพี่น้องชาติพันธุ์ ต่อมาเวลา 19.05 น. แถลงการณ์ย้ำข้อเรียกร้อง ภาคีเซฟบางกลอยและพีมูฟ เวลา 19.25 น. สปีช โดย เพชร กรุณพล เทียนสุวรรณ เวลา 19.50 น. มินิคอนเสิร์ตไททศสมิธ เวลา 20.30 น. นายประยงค์ ดอกลำใย เวลา 21.00 น. กลุ่มกวีภาคีเซฟบางกลอย สุดท้ายเวลา 21.20 น. อหลยาเบิกเนตร

โดยนายธนาธรขึ้นเวทีกล่าวกับผู้ชุมนุมตอนหนึ่งว่า คนกะเหรี่ยงบางกลอยเขาอยู่ในพื้นที่มานานก่อนที่จะมีกฎหมาย ก่อนที่จะมีอุทยานเสียอีก นั่นสะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลไม่เห็นคุณค่าของประชาชน ไม่เห็นหัวประชาชน และกฎหมายมีความล้าหลัง เขาบอกว่าคนกับป่าอยู่ด้วยกันไม่ได้ แต่เราเชื่อว่าคนกับป่าอยู่ด้วยกันได้ ป่าใดที่มีชุมชนก็จะเป็นป่าที่ยั่งยืน ป่าใดที่ไม่มีชุมชนก็มักจะเป็นป่าที่ไม่ยั่งยืน หลายคนถูกคุกคาม ถูกดำเนินคดีอย่างไม่ เป็นธรรม จนต้องมาชุมนุมกันอยู่ในที่นี้ ซึ่งเป็นการประท้วงของคนที่มาด้วยความเดือดร้อน รู้สึกถึงความไม่เป็นธรรม ตนมาให้กำลังใจชาวบางกลอย แต่ยังมีกรณีแบบเดียวกันเกิดขึ้นทั่วประเทศ ดังนั้นประชาชนจะไม่ยอมแพ้ ขอขอบคุณแทนทุกคนที่ยืนหยัดต่อสู้ เพราะเขาคือคนเท่ากัน มีจิตวิญญาณ มีเลือดเนื้อ มีลูกหลานที่ถูกอุ้มหาย เขารักชีวิต มีสิทธิและเสรีภาพเหมือนกับเรา การต่อสู้ครั้งนี้ไม่เพียงแค่อนาคตของบางกลอย แต่เป็นอนาคตของคนที่ถูกกดขี่ทุกคน

จากนั้นนายธนาธรได้ขอให้ทุกคนตะโกนพร้อมกัน 3 ครั้งว่า ‘เซฟบางกลอย’

ขณะที่เพชร กรุณพล กล่าวให้กำลังใจกับ ผู้ชุมนุมตอนหนึ่งว่า ขอเรียกร้องให้นายกฯและคณะรัฐมนตรี โดยเฉพาะรัฐมนตรีที่รับผิดชอบแก้ไขปัญหา ให้มาคุยกับชาวบ้าน อย่าฟังความข้างเดียวจากเจ้าหน้าที่ ทุกคนต้องการเห็นความยุติธรรมขึ้นบนแผ่นดินนี้ ถ้าเราเรียกร้องกันด้วยสันติวิธี คนที่อยากเรียนรู้ อยากทำความเข้าใจ จะเพิ่มมากขึ้นทุกวันๆ จนเป็นพลังใหญ่ เปลี่ยนแปลงประเทศให้ดีขึ้นได้ ตนยินดีเป็นกระบอกเสียงเพื่อให้สังคมดีขึ้น ดังนั้นมีอะไรที่ตนช่วยเหลือได้ขอให้บอก

วันเดียวกัน นายมานพ คีรีภูวดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงปัญหา ชาวกะเหรี่ยงบางกลอยว่า การละเมิดสิทธิ มนุษยชน การบังคับให้โยกย้ายถิ่นฐานตั้งแต่ปี 2539 และปี 2554 จนมาถึง ปี 2564 ของเจ้าหน้าที่รัฐต่อพี่น้องชาวกะเหรี่ยงบางกลอยเป็นการกระทำที่ไม่เคารพสิทธิชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม เป็นการโยกย้ายที่ไม่ชอบด้วยหลักการสากลที่รัฐบาลลงนามกับนานาอารยประเทศ ตนในนามส.ส.พรรคก้าวไกล สัดส่วนชาติพันธุ์ เมื่อทราบว่ามีการใช้กฎหมายที่รุนแรงจึงได้นำเรื่องเข้าสู่กรรมาธิการสามัญ ได้แก่ กรรมาธิการ เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์และผู้มี ความหลากหลายทางเพศ และกรรมาธิการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และยังได้หารือในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรต่อกรณีนี้

นายมานพกล่าวว่า ทั้งนี้เพื่อการแก้ปัญหาในระยะยาว พรรคก้าวไกลและเครือข่ายชาติพันธุ์พรรคก้าวไกล จึงได้ร่วมกันยกร่างกฎหมายว่าด้วย พ.ร.บ.ชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย เพื่อเสนอเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นรูปแบบการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน โดยขณะนี้อยู่ในกระบวนการรับฟังความเห็นของประชาชนกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในแต่ละภูมิภาค และจะนำเข้าสู่สภา ผู้แทนราษฎรตามขั้นตอนกระบวนการ โดยมี 2 ประเด็นหลัก คือ 1.การยอมรับและรับรองความมีตัวตนของชาติพันธุ์และชนเผ่า พื้นเมือง ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตราที่ 70 ในรูปแบบเขตวัฒนธรรมเฉพาะ หรือเขตวัฒนธรรมพิเศษตามบริบทพื้นที่ของชาติพันธุ์ต่างๆ 2.สร้างกลไกการทำงานประสานความร่วมมือ และการกำหนด แผนงาน ยุทธศาสตร์ต่างๆ ร่วมกันระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

โกนหัว – กลุ่มผู้ชุมนุมแสดงออกร่วมกันเชิงสัญลักษณ์โดยการโกนศีรษะชาวบางกลอยทีละคน รวม 4 คนต่อเนื่องไปถึงเวลา 4 โมงเย็น พร้อมล่ามโซ่ แสดงสัญลักษณ์ถูกจองจำาด้วยระหว่างรอคำตอบจากรัฐบาล เมื่อวันที่ 15 มี.ค. ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล

ด้านพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงข้อเรียกร้องของกลุ่ม บางกลอยที่มีต่อรัฐบาลว่า วันที่ 16 มี.ค. จะประชุมและจะได้ข้อสรุป และพวกเขาจะกลับทางเพชรบุรีและเลิกชุมนุม

ขณะที่นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) กล่าวถึง 7 ข้อเรียกร้องชาวบางกลอย ว่า ตามข้อ 1.ที่ต้องการให้ตนปรับท่าทีไม่วางตัวเป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชนนั้น ตนไม่ได้มีปัญหาความขัดแย้งกับประชาชนตั้งแต่แรก อยู่แล้ว น่าจะเกิดจากความเข้าใจผิดกันมากกว่า ส่วนการพิสูจน์สิทธิในที่ทำกินในพื้นที่บางกลอยบน-ใจแผ่นดิน ต้องตรวจสอบก่อน เพราะก่อนจะประกาศเป็นพื้นที่อุทยาน ก็เป็นพื้นที่ป่าตามพ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 กับทางกรมป่าไม้ และยังมีพ.ร.บ.รักษาป่า พ.ศ.2456 ด้วย ต้องมาดูแต่ละช่วงปีตามหลัก ฐานภาพถ่ายดาวเทียม แต่หากพบว่าพี่น้องประชาชนอยู่มาก่อนก็เป็นสิทธิของประชาชน ในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งต้องมาพิสูจน์กัน แต่การพิสูจน์สิทธิอาจต้องใช้เวลา ดังนั้นในขณะนี้เกี่ยวกับปัจจัยการดำรงชีพเบื้องต้น ทางปลัดทส.ได้ระบุว่า ภายใน 15 วันต้องมีแผนการพัฒนาพื้นที่อย่างชัดเจน เพื่อชี้แจงกับพี่น้องประชาชนได้

นายวราวุธยังกล่าวถึง ข้อเรียกร้องในการขอแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระชุดใหม่ที่เป็น กลาง ว่า ปัจจุบันได้แต่งตั้งกรรมการหลายคณะแล้ว ต้องมาดูว่าหากมีคณะกรรมการอิสระขึ้นมาอีก แล้วคณะทำงานก่อนๆ จะทำงานที่ซับซ้อนกันหรือไม่ ซึ่งเกรงว่าจะ เสียเวลา เพราะอยากเร่งแก้ปัญหาให้พี่น้องประชาชนมากกว่า ส่วนการปฏิบัติงานพิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชร ยืนยันว่าไม่มีความรุนแรง เพราะขณะปฏิบัติการมีทั้งผู้ว่าฯ เพชรบุรี อัยการ หมอ พยาบาล มีกล้องติดตัวเจ้าหน้าที่กว่า 40-50 ตัว หากว่าใช้ความรุนแรง กับพี่น้องประชาชนจริงต้องรบกวนขอรายละเอียด เพื่อมาเร่งดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ ทส.ยอมไม่ได้หากเจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรงกับพี่น้องประชาชน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน