ลดกักตัวเหลือ10วัน
พบอีกโควิด‘ปากน้ำ’
ในไซต์งานติดเชื้อ15
ผู้ว่ามหาชัยกลับบ้าน

ศบค.ห้ามสาดน้ำสงกรานต์ เล่นประแป้ง ปาร์ตี้โฟมด้วย ให้งดจัดคอนเสิร์ต หวั่นโควิดลาม ขณะเดียวกันต่อพ.ร.ก. ฉุกเฉินอีก 2 เดือนรวดไปถึง 31 พ.ค. นอกจากนี้ลดกักตัวจาก 14 วันเหลือ 10 วัน แต่นักท่องเที่ยวจากชาติที่โควิดกลายพันธุ์ ยังต้องกักตัว 14 วัน ไทยติดเชื้อเพิ่ม 100 ราย เสียชีวิตอีก 1 เป็นหญิงวัย 53 ปี ชาวมหาชัย มีโรคประจำตัวรุมเร้า ทั้งเบาหวาน ปอดอักเสบ ยอดตายเซ่นโควิด 90 ราย ปากน้ำวุ่นเจอติดเชื้อ ในไซต์งาน 15 คน ส่วนใหญ่เป็นแรงงาน ต่างชาติ คาดยอดพุ่งถึง 50 ราย ขณะที่ ขรก.กระทรวงเกษตรฯ ก็ป่วยโควิด พบโยงตลาดบางแค ‘ผู้ว่าฯ สมุทรสาคร’หายป่วยโควิด กลับบ้านได้แล้ว มีข้าราชการ ประชาชน แห่ให้กำลังใจเนืองแน่น ลั่นขอเวลาอีก 1 เดือน จะกลับมาทำงานปราบโควิด

‘บิ๊กตู่’ประชุมศบค.ชุดใหญ่

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 19 มี.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธาน การประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค.ชุดใหญ่ ซึ่งการประชุมครั้งนี้จะหารือถึงการขยายเวลาต่ออายุพ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินที่จะหมดอายุในวันที่ 31 มี.ค. รวมถึงมาตรการการเล่นสงกรานต์ด้วย

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวก่อนการประชุมว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ของไทยขณะนี้ มีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาในทางที่ดีขึ้น สามารถควบคุมการแพร่ระบาดในรายพื้นที่ได้โดยเร็ว แต่ได้กำชับให้ติดตามการควบคุมการแพร่ระบาดอย่างใกล้ชิด ส่วนเรื่องวัคซีน ทราบกันดีว่า มีการนำเข้าวัคซีน 2 ชนิดเข้ามา ทยอยฉีดให้กับประชาชน รวมถึงครม.และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องไปแล้ว จากนี้ได้เตรียมวางแผนและหารือกับกระทรวง สาธารณสุขว่าจะจัดหาและฉีดวัคซีนในขั้น ต่อไปอย่างไร

ยืดฉุกเฉิน 2 เดือนถึง 31 พ.ค.

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศบค. แถลงผลการประชุมศบค.ชุดใหญ่ว่า การประชุมศบค.ชุดใหญ่มี 5 เรื่อง คือ 1.การขยายเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินคราวที่ 11 ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. – 31 พ.ค. 2564 ใช้เวลาประมาณ 2 เดือน

2.การผ่อนคลายมาตรการการป้องกัน โควิด-19 ปรับระดับพื้นที่สถานการณ์จังหวัดต่างๆ โดยพื้นที่สำคัญคือสมุทรสาคร เดิมเป็นสีแดง ปรับมาเป็นสีส้ม รวมกับ 8 จังหวัดสีมส้มเดิม รวมเป็น 9 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสาคร กทม. นนทบุรี ปทุมธานี ราชบุรี สมุทรสงคราม ตาก นครปฐม และสมุทรปราการ ส่วนพื้นที่สีเหลือง 14 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี นครนายก ฉะเชิงเทรา เพชรบุรี ระนอง ชลบุรี ระยอง ชุมพร สงขลา ยะลา และนราธิวาส และพื้นที่สีเขียว 54 จังหวัด

“เรายังเห็นการติดเชื้อตัวเลข 3 หลัก เป็นเนืองๆ เป็นการบ่งบอกว่าการปรับระดับสี ต้องคิดมากและคิดกันหลายชั้น เพราะการผ่อนคลายกิจการกิจกรรมก็อาจนำมาความ สุ่มเสี่ยง แต่กิจการกิจกรรมก็ไม่ได้แตกต่างกันมาก สีส้มก็เปิดทุกอย่างถึง 5 ทุ่ม สีเหลือง เปิดได้ถึงเที่ยงคืนก็ไม่ได้แตกต่างกันเลย ยกเว้น การขอประชุมหรือชุมนุมกัน 300 คน กลุ่ม สีส้มต้องขออนุญาตคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด” นพ.ทวีศิลป์กล่าว

3.แผนการให้วัคซีน ระยะที่ 1 คือ 1 เม.ย.-30 มิ.ย. มีวัคซีนซิโนแวค 2 ล้านโดส ระยะที่ 2 คือ 1 ก.ค.-30 ก.ย. มีแอสตราเซเนกา 26 ล้านโดส และระยะที่ 3 คือ 1 ต.ค. เป็นต้นไป มีของแอสตราเซเนกาอีก 35 ล้านโดส การฉีดแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่วัคซีนมีจำกัด ให้กลุ่มเป้าหมายคือบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า เจ้าหน้าที่มีโอกาสสัมผัส ผู้ป่วย คนมีโรคประจำตัว และคนอายุมากกว่า 60 ปี ส่วนระยะที่วัคซีนมีมากขึ้นเพียงพอ ให้กลุ่มเป้าหมายระยะที่ 1 ประชาชนทั่วไป บุคลากรสาธารณสุขนอกจากด่านหน้า ผู้ประกอบกาชีพการท่องเที่ยว เดินทางระหว่างประเทศ นักการทูต องค์กรระหว่างประทศ แรงงาน เป็นต้น

ฉีดวัคซีนแล้ว 6.2 หมื่นคน

“วันพรุ่งนี้จะมีวัคซีนซิโนแวคเข้ามาอีก 8 แสนโดส จะกระจายไปใน 18 จังหวัดที่สำคัญด้านเศรษฐกิจและยุทธศาสตร์การควบคุมโรค ส่วนภาพรวมการให้วัคซีนโควิด-19 ตั้งแต่ วันที่ 28 ก.พ.-18 มี.ค. ฉีดแล้ว 62,941 คน แบ่งเป็นบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข รวม อสม. 31,066 คน เจ้าหน้าที่อื่นที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 7,147 คน บุคคลที่มีโรคประจำตัว 4,182 คน คนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 38 คน และประชาชนในพื้นที่เสี่ยง 20,511 คน ทั้งนี้ จังหวัดส่วนใหญ่ฉีดได้ 100% ที่ยังต่ำมากคือกทม. จึงต้องปรับเปลี่ยนยุทธวิธีก็ทำให้ตัวเลขการฉีดเพิ่มขึ้น

ลดกักตัวจาก 14 เหลือ 10 วัน

นพ.ทวีศิลป์กล่าวต่อว่า 4.การลดระยะเวลาการกักตัวและการปรับรูปแบบสถานที่กักกันคนเดินทางเข้าประเทศ โดยระยะที่ 1 วันที่ 1 เม.ย.-30 มิ.ย. ยังคงสถานกักกันทุกรูปแบบ แต่ระยะที่ 2 จะปรับรูปแบบเหลือเฉพาะที่จำเป็นและเหมาะสม คือ สเตต ควอรันทีน (SQ), อัลเทอร์เนทีฟ ควอรันทีน (AQ), ฮอสพิทอล ควอรันทีน (HQ), อัลเทอร์เนทีฟ ฮอสพิทอล ควอรันทีน (AHQ) และออร์แกไน เซชั่นแนล ควอรันทีน (OQ) และระยะที่ 3 ตั้งแต่ 1 ต.ค. อาจไม่มีรูปแบบของควอรันทีน เพราะตอนนั้นอาจมีการฉีดวัคซีนเต็มที่แล้ว ส่วนคนเดินทางเข้ามาเมื่อก่อนต้องมีฟิตทูฟลาย และผลตรวจปลอดโควิด 72 ชั่วโมง ตอนนี้ขอมีเอกสารปลอดโควิดก็พอ เริ่มวันที่ 1 เม.ย.

“ส่วนการผ่อนคลายผู้อยู่ในสถานที่กักตัว โดยระยะที่ 1 ตั้งแต่ 1 เม.ย.-30 มิ.ย. ทำกิจกรรม ได้มากขึ้น 5 กิจกรรม คือ ใช้ห้องฟิตเนส ออกกำลังกายกลางแจ้ง สระว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน ในพื้นที่ปิดที่มีการควบคุม และซื้อสินค้า หรืออาหารจากภายนอก ส่วนระยะที่ 2 ตั้งแต่ 1 ก.ค.-30 ก.ย. เพิ่มกินอาหารในห้องอาหารโรงแรม และบริการนวดเพื่อสุขภาพในโรงแรม ได้ และระยะที่ 3 ตั้งแต่ 1 ต.ค. จะกักกันเฉพาะพื้นที่ที่คณะกรรมการโรคติดต่อ แห่งชาติกำหนด ปรับจากกักตัวปรับเป็นคุมไว้สังเกตแทน สำหรับนักธุรกิจที่เดินทาง เข้ามาระยะสั้น สามารถใช้ห้องประชุมได้ตามเงื่อนไขที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดตั้งแต่ 1 เม.ย.” นพ.ทวีศิลป์กล่าว

นพ.ทวีศิลป์กล่าวด้วยว่า ส่วนการลดระยะเวลากักตัวคนที่เข้าประเทศ ทั้งรับวัคซีนและยังไม่รับวัคซีน คือลดการกักตัวโดยทั่วไปจาก 14 วันเหลือ 10 วัน ในระยะที่ 1-2 ส่วนระยะที่ 3 ไม่ต้องกักตัวในบางพื้นที่โดยมีเงื่อนไขคือบุคลากรทางการแพทย์ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วมากกว่า 70% ประชาชนที่มีโอกาสสัมผัสกับบุคคลเสี่ยงได้รับวัคซีนตามเป้าหมาย และสามารถเปิดรับบุคคลจากประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำได้ในระยะเริ่มต้น แต่กรณีที่มาจาก ประเทศที่มีเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์ สามารถกำหนดให้กักกัน 14 วันได้ เพราะเป็นความกังวลระดับโลก

ห้ามสาดน้ำสงกรานต์-คอนเสิร์ต

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า และ 5.กิจกรรมในเทศกาลสงกรานต์ ครั้งนี้เป็นวิถีไทยดั้งเดิม ที่เอากลับมา คือการสรงน้ำพระ รดน้ำดำหัวขอพรผู้ใหญ่ เดินทางข้ามจังหวัดได้ โดยให้ยึดมาตรการ DMHTT ควรจัดพื้นที่โล่งแจ้ง ระบายอากาศได้ดี เลี่ยงการจัดกิจกรรมพื้นที่คับแคบ และงดกิจกรรมรวมกลุ่ม ได้แก่ งดเล่นสาดน้ำ งดจัดคอนเสิร์ต งดกิจกรรมสัมผัสกันใกล้ชิด เช่น ประแป้ง ปาร์ตี้โฟม งดทั้งหมด ภาพการเอาน้ำไปสาดจะไม่เกิดขึ้น ต้องขอความร่วมมือ ครั้งนี้ไม่มีใครพูดเรื่องกฎหมายไปบังคับหรือทำอะไร แต่เราทำมาทุกครั้งคือขอความร่วมมือ ส่วนกิจกรรมอื่นๆ ขอให้อยู่ในดุลพินิจคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด

“ศบค.ขอผู้ประกอบกิจการกิจกรรมพิจารณา ขอบเขตพื้นที่จัดกิจกรรม โดยเฉพาะตลาด ซึ่งเป็นห่วงมาก ช่องทางเข้าออกทางเดียว ความเหมาะสมขนาดของกิจการกิจกรรม หน้ากากใส่เสมอ เว้นระยะห่าง มีจุดวัดอุณหภูมิ ใช้แอพพลิเคชั่นไทยชนะ

ติดโควิดเพิ่ม 100-ตายรายที่ 90

วันเดียวกัน พญ.พรรณประภา ยงค์ตระกูล ผู้ช่วยโฆษกศบค.แถลงสถานการณ์โควิด-19 ประจำวัน ว่า ทั่วโลกผู้ติดเชื้อรวม 122,366,215 ราย เพิ่มขึ้น 546,090 ราย เสียชีวิต 2,703,176 ราย เพิ่มขึ้น 10,473 ราย ส่วนประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 100 ราย เป็นการติดเชื้อ ในประเทศ 96 ราย และเดินทางมาจาก ต่างประเทศ 4 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย รักษาหาย 73 ราย ทำให้มีผู้ป่วยสะสม 27,594 ราย รักษาหายแล้ว 26,450 ราย เหลือรักษา 1,054 ราย เสียชีวิตสะสม 90 ราย ส่วนระลอกใหม่ติดเชื้อสะสม 23,357 ราย หายสะสม 22,273 ราย เสียชีวิตสะสม 30 ราย

สำหรับผู้เสียชีวิต เป็นหญิงไทยอายุ 53 ปี อาชีพพนักงานบริษัท มีโรคประจำตัวเบาหวาน กล้ามเนื้อหัวใจตาย และปอดอักเสบ อยู่จ.สมุทร สาคร วันที่ 24 ม.ค. เริ่มมีอาการไอ เจ็บคอ หายใจเร็ว จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส วันที่ 2 ก.พ. เข้ารับการรักษา ร.พ.เอกชนส่งตรวจผลพบเชื้อ วันที่ 3 ก.พ. ส่งตัวมารักษาในร.พ. กทม. ใช้เครื่องช่วยหายใจตลอด 1 สัปดาห์ก่อนเสียชีวิตรักษาเบาหวาน กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เกล็ดเลือดต่ำ เลือดออกในสมอง ติดเชื้อ ในกระแสเลือด วันที่ 17 มี.ค. มีอาการแย่ลง ไม่ตอบสนองการรักษาและเสียชีวิต

คลัสเตอร์บางแคติดเชื้อแล้ว 372

พญ.พรรณประภากล่าวต่อว่า ผู้ติดเชื้อ มาจากระบบเฝ้าระวัง 55 ราย ได้แก่ สมุทรสาคร 29 ราย สมุทรปราการ 4 ราย กทม. 8 ราย ปทุมธานี 2 ราย สุพรรณบุรี 1 ราย เพชรบุรี 8 ราย มุกดาหาร 1 ราย และนราธิวาส 2 ราย, การคัดกรองเชิงรุกในชุมชน 41 ราย ได้แก่ เพชรบุรี 2 ราย กทม. 14 ราย นครปฐม 1 ราย นนทบุรี 1 ราย ปทุมธานี 3 ราย พระนคร ศรีอยุธยา 2 ราย และสมุทรสาคร 18 ราย และเดินทางมาจากต่างประเทศ 4 ราย ได้แก่ ญี่ปุ่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เนเธอร์แลนด์ และฝรั่งเศส ประเทศละ 1 ราย

“การควบคุมการระบาดเชื่อมโยงตลาดย่านบางแค กทม. วันที่ 9-18 มี.ค. ตรวจเชิงรุก 12,649 ราย ติดเชื้อ 372 ราย พบเชื้อในน้ำเสียจากตลาด 4 แห่งจาก 7 แห่ง พบการกระจายไปอีก 10 จังหวัด รวม 25 ราย มีการเร่งเฝ้าระวัง ค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก ติดตามสัมผัสผู้เสี่ยงสูง ปรับปรุงสุขาภิบาล สุ่มตรวจตลาดอีก 440 แห่ง และ 280 ชุมชนใน กทม. ฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ผู้ค้ากลุ่มเสี่ยงตลาดย่านบางแค 961 ราย และออกบัตรรับรองผลการตรวจโควิดก่อนอนุญาตให้เข้าขายของในตลาด”

ตลาดบางแคฉีดวัคซีนแล้ว1,666

นายชวินทร์ ศิรินาค รองปลัดกรุงเทพ มหานคร เปิดเผยถึงผลการให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้แก่กลุ่มผู้มีสัมผัสเสี่ยงสูง ย่านตลาดบางแค เพื่อควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดของโรคเป็นการฉุกเฉิน ในวันที่ 18 มี.ค. ซึ่งเป็นวันที่ 2 ของการให้บริการด้วยหน่วยบริการฉีดวัคซีนเคลื่อนที่ ว่ามีผู้ลงทะเบียนคัดกรอง 1,000 คน ได้รับการฉีดวัคซีน 961 คน ผู้ที่ไม่ได้รับการฉีด 39 คน เนื่องจากบางรายเปลี่ยนใจ ไม่ขอรับวัคซีน บางรายมีความดันโลหิตสูง หรือมีข้อห้ามตามดุลพินิจของแพทย์ ผู้ได้รับวัคซีนวันนี้มีอาการไม่พึงประสงค์ 3 ราย ซึ่งมีอาการไม่รุนแรง เช่นหน้ามืด วิงเวียนศีรษะ และเป็นปกติเมื่อได้นั่งพัก 30 นาที

นายชวินทร์กล่าวต่อว่า เมื่อรวม 2 วัน ให้บริการฉีดวัคซีนแก่กลุ่มผู้มีสัมผัสเสี่ยงสูงย่านตลาดบางแคไปแล้ว 1,666 ราย โดยยังคงให้บริการต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 21 มี.ค. 64 ตั้งแต่เวลา 08.00-18.00 น. ณ บริเวณตลาดสิริเศรษฐนนท์ เขตบางแค โดยจะฉีดวัคซีน “ซิโนแวค” ให้กับผู้ค้าและแรงงานในตลาดที่ผ่านการคัดกรองว่า มีสัมผัสเสี่ยงสูงทั้งคนไทยและแรงงานต่างชาติ ประมาณ 6,000 คน เบื้องต้นสามารถให้บริการฉีดวัคซีนได้วันละ 1,000 คน และสามารถเพิ่มเติมได้ในกรณีที่มีคนมารับบริการจำนวนมาก สำหรับผู้ที่ได้รับการฉีดในรอบนี้จะฉีดเข็มที่ 2 อีกครั้งช่วงวันที่ 7-11 เม.ย.64

‘ปากน้ำ’เจอป่วยอีก 15 คน

วันเดียวกัน เวลา 10.00 น. นพ.พรณรงค์ ศรีม่วง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการได้รับแจ้งว่า พบผู้ติดเชื้อ โควิด-19 จำนวน 12 ราย ที่ไซต์งานก่อสร้าง ภายในซอยภานุวงศ์ ม.4 ต.บางเมือง อ.เมือง จ.สมุทรปราการ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการนำรถพยาบาล ของร.พ.สมุทรปราการไปรับผู้ติดเชื้อในออฟฟิศ คนงาน โดยผู้ติดเชื้อ เป็นพม่า 1 คน กัมพูชา 6 และคนไทย 5

นายสุรัตน์ พัศดุ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขชำนาญการ สาธารณสุขอ.เมืองสมุทรปราการเปิดเผยว่า กำลังสอบสวน เพราะคนงาน เป็นเขมร พูดไทยไม่ได้เลย เบื้องต้นยืนยันตรวจพบ 12 ราย ส่วนไทม์ไลน์มาจากไหนอยู่ระหว่างสอบสวน เพราะก่อนเข้าแคมป์คนงานก็จะตรวจก่อนเข้า เบื้องต้นตรวจเชิงรุก 600 ราย และผลออกมาเช้านี้จำนวน 12 ราย รอผลยืนยันอีก 40 ราย คาดว่าน่าจะมีกว่า 50 ราย และจะตรวจบริเวณพื่นที่ใกล้เคียงนี้อีกประมาณ 500 เมตร

ต่อมาตรวจพบติดเชื้อเพิ่มอีก 3 ราย ทั้งหมดเป็นชาวกัมพูชา รวมติดเชื้อ 15 ราย โดยเจ้าหน้าที่จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ เจ้าหน้าที่กรมการปกครอง ท้องถิ่น และตำรวจ สภ.เมืองสมุทรปราการ เร่งประสานนำตัวผู้ติดเชื้อโควิดไปรักษา และสอบสวนโรคว่าผู้ป่วยทั้งหมดเชื่อมโยงกับตลาดบางแคหรือไม่

ขรก.เกษตรฯ ติดโควิด

วันเดียวกัน เวลา 15.00 น. ศูนย์ประสานการปฏิบัติภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รายงานสถานการณ์และผลการเฝ้าระวัง ป้องกันการระบาดโควิด-19 ในการตรวจสอบบุคลากรกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ที่เขตบางแค กรุงเทพฯ พบผู้ติดเชื้อรายแรก เมื่อวันที่ 11 มี.ค.

กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการสอบสวนและควบคุมโรค โดยมีบุคลากรกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เดินทางไปในเขตบางแคและใกล้ชิดผู้ที่มีความสี่ยงรวม 6 ราย หน่วยงานสั่งการให้กักตัว 14 วัน โดย 5 รายเป็นข้าราชการกรมพัฒนาที่ดิน พบผู้ติดเชื้อ 1 รายเป็นข้าราชการสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ตรวจพบเชื้อเมื่อวันที่ 15 มี.ค.

หายแล้ว – นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผวจ.สมุทรสาคร พร้อมคณะแพทย์ศิริราช ร่วมแถลงข่าวนาย วีระศักดิ์ได้รับการรักษาอาการป่วยติดเชื้อ โควิด-19 จนหายเป็นปกติ สามารถออกจาก ร.พ.ได้แล้ว เมื่อวันที่ 19 มี.ค.

ผู้ว่าฯสมุทรสาครออกรพ.แล้ว

วันเดียวกัน เวลา 09.30 น. ที่โรงพยาบาลศิริราช ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เป็นประธาน การแถลงข่าวนายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าฯ สมุทรสาครออกจากโรงพยาบาลศิริราช หลังเข้ารับการรักษาโรคติดเชื้อโควิด-19 ตั้งแต่ วันที่ 28 ธ.ค. 2563 โดยมี รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ และ นายวีระศักดิ์ ซึ่งเดินจากรถกอล์ฟมาที่ห้องประชุมด้วยตนเอง มีลูกสาวและแพทย์ช่วยพยุง ร่วมแถลงด้วย

นายวีระศักดิ์เปิดเผยว่า ต้องขอบคุณกำลังใจ ที่ทุกคนมอบให้ บางท่านอาจจะเห็นว่า ผมเดิน ไม่แข็งแรงนัก บางครั้งมีลูกสาว คุณหมอดูแล แต่เมื่อวันก่อนแย่กว่านี้อีก ตอนที่รู้สึกตัว แขนขารู้สึกไม่ใช่ของเรา นั่งข้างเตียงก็เหนื่อยมากเลย วันนี้ที่เดินมาแถลงข่าวได้ ถือว่าดีกว่าที่เป็นมาก่อนหน้าอย่างมาก

เผยไม่รู้สึกตัวนานถึง 42 วัน

“ผมอยู่ที่ศิริราช 82 วัน เป็นช่วงเวลาที่ไม่รู้ตัวเลย 42 วัน ลองคิดเอาว่าคนที่ไม่รู้สึกตัวเลย 42 วัน สามารถพูดคุยกับทุกคนได้ ผมเองอย่างแปลกใจว่า เราเดินมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ขอบคุณศิริราชที่ดูแลอย่างดี นับเป็นความอนุเคราะห์ของศิริราชที่ดูแลคนไข้ที่อาการแย่ และนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงรับเป็นคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์” นายวีระศักดิ์กล่าว

“ความรุนแรงของโควิด ไม่เลือกที่รัก มักที่ชัง สามารถเกิดความรุนแรงขึ้นได้ ไม่น่าเชื่อว่าคนที่ไม่รู้สึกตัวเลย 42 วันจะมีชีวิต อยู่ได้ ขอบคุณศิริราช ขอบคุณกำลังใจจาก ทั้งประเทศ ประชาชนสมุทรสาคร และอีกหลาย จังหวัดที่ผมเคยทำงาน ขอบคุณแพทย์ พยาบาล ที่ดูแลเป็นอย่างดี ทำให้กลับมาเดินได้อีกครั้ง แม้ยังไม่แข็งแรงแต่ก็ดีกว่าตอนฟื้นมา ที่ไม่รู้สึก ถึงแขน ขา พูดไม่ได้และคิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้น จะถูกนำไปใช้ประโยชน์ได้บ้าง และรู้ว่าคนเรา ต้อง ทำ ทัน ที เราไม่รู้ตัวว่าจะตายวันไหน” นายวีระศักดิ์กล่าว

ด้าน รศ.นพ.นิธิพัฒน์กล่าวว่า เวลารวมในไอซียูคือ 34 วัน หลังผ่านช่วงวิกฤตจะฟื้นตัวได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับตัวคนไข้ ซึ่งท่านผู้ว่าฯ มีความมุ่งมั่นที่จะฟื้นตัว ความสำเร็จเกิดจากหลายๆ ส่วน

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์กล่าวว่า หลังท่านผู้ว่าฯ ติดเชื้อ เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงของเอกซเรย์ปอด ทุกการรักษาจะถูกถอดบทเรียน หลังจากนั้น ให้ยาต้านไวรัสอย่างรวดเร็ว โดยไม่มีเหตุบังเอิญ แต่เป็นการประสานงานกัน โดยผู้ว่าฯ เป็นผู้ที่ใช้เครื่องช่วยหายใจนานที่สุดของผู้ป่วย ศิริราชคือ 42 วัน ส่วนสำคัญที่ทำให้มีกำลังใจ คือเสียงของนางชุติพร วิจิตร์แสงศรี ภริยาท่านผู้ว่าฯ ที่ทำให้รู้สึกว่าท่านต้องกลับสมุทรสาครให้ได้ เมื่อท่านผู้ว่าฯ รู้สึกตัวดีก็ได้รายงานสถานการณ์สมุทรสาคร ซึ่งเชื่อว่าคนสมุทรสาครได้รอฟังข่าว และได้เห็นท่านผู้ว่าฯ อยากให้ความร่วมมือกับจังหวัด ผู้ว่าฯ จะได้ไม่ต้องเป็นห่วง

“สำหรับการทำงานอยากขอไม่ให้ลงพื้นที่ก่อน เพราะร่างกายยังอ่อนแออยู่ ส่วนคนที่จะมาเยี่ยมก็ขอให้อยู่ห่างๆ เพราะไม่รู้ว่าใครมีเชื้ออะไรหรือไม่ การที่ติดเชื้อซ้ำจะทำให้มีความเสี่ยงได้ คนที่เข้าพบทุกคนขอให้ใส่หน้ากาก ถ้าไม่จำเป็นขอให้หลีกเลี่ยง จนกว่าภูมิคุ้มกันจะกลับมาใกล้ปกติมากๆ” ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์กล่าว

‘มหาชัย’แห่ต้อนรับผู้ว่าฯ

ต่อมาเวลา 12.00 น. นายวีระศักดิ์ นางชุติพร วิจิตร์แสงศรี ภริยา นายกเหล่ากาชาดจังหวัดสมุทรสาคร น.ส.วีราพร หรือน้องน้ำหวาน วิจิตร์แสงศรี บุตรสาว พร้อม ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ และ รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เดินทางมาที่ศาลากลางจังหวัดสมุทรสาคร โดยมีนายธีรพัฒน์ คัชมาตย์ และนายสุรศักดิ์ ผลยังส่ง รองผู้ว่าฯ สมุทรสาคร หัวหน้าส่วนราชการ ภาครัฐ ภาคเอกชน และพี่น้องประชาชนร่วมต้อนรับอย่างอบอุ่น

เมื่อขบวนรถของผู้ว่าฯ สมุทรสาครมาถึง ทุกคนต่างปรบมือต้อนรับด้วยความดีใจ ที่ผู้ว่าฯ เดินทางกลับมาที่สมุทรสาครด้วยใบหน้าที่สดใส มีรอยยิ้มและสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงขึ้น แม้จะยังไม่เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ ขณะที่นายวีระศักดิ์และครอบครัวโบกมือทักทายทุกคน พร้อมยกมือไหว้ขอบคุณที่ทุกคน มารอต้อนรับ

นายวีระศักดิ์กล่าวว่า สิ่งที่อยากจะบอกกับคนสมุทรสาครคือ “รักและคิดถึงสมุทรสาครมากที่สุด” แม้ตนเองจะไม่ใช่คนสมุทรสาคร แต่การที่ได้มาทำงานที่นี่กว่า 1 ปี ก็รักและคิดถึงที่นี่มาก แม้ที่นี่ไม่ใช่บ้านก็เสมือนบ้านของตนเอง สถานการณ์โควิด-19 วันนี้เป็นบททดสอบที่สำคัญยิ่ง ตนเชื่อว่าการระบาดครั้งนี้จะต้องมีจุดจบ สมุทรสาครจะต้องสามารถกลับขึ้นมายืนได้อีกครั้ง ด้วยความร่วมมือของคนสมุทรสาคร ส่วนตัวขอเวลาอีก 1 เดือน ในการพักฟื้นร่างกายตามคำสั่งของแพทย์ หลังจากนั้นจะกลับมาทำงานรับใช้พี่น้องชาวสมุทรสาคร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ว่าฯ รับประทานอาหาร ร่วมกันมื้อแรกที่สมุทรสาคร โดยมีเมนูโปรดคือข้าวผัดปู ต้มส้มปลากระบอก ปลาหมึก ผัดกะปิ กุ้งซอสมะขาม ลอดช่องวัดเจษ และลำไยพวงทอง

พระราชทานรถเอกซเรย์โควิด

เมื่อเวลา 08.00 น. ที่พระลานพระราชวังดุสิต สำนักพระราชวังได้ตรวจรับรถเอกซเรย์ระบบดิจิทัล คันแรกในประเทศไทยที่มี ระบบ AI หรือปัญญาประดิษฐ์ทันสมัยที่สุด ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้จัดสร้างขึ้น เพื่อพระราชทานแก่กระทรวงสาธารณสุข สำหรับนำไปสนับสนุน การปฏิบัติงานของบุคลากรทางการแพทย์ อันเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพทางการแพทย์ในการป้องกันดูแลสุขภาพอนามัยประชาชนอย่างครบวงจร อีกทั้งยังรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

สำหรับรถเอกซเรย์ระบบดิจิทัลจำนวน 2 คันที่ได้ตรวจรับและพระราชทานให้แก่กระทรวงสาธารณสุข เป็นรถเอกซเรย์ระบบดิจิทัลพระราชทาน เป็นรถเอกซเรย์ระบบดิจิทัลเครื่องแรกในประเทศไทย ที่มีระบบ AI ถูกออกแบบให้มีความปลอดภัยตามมาตรฐานระดับสากล ซื่งเป็นเครื่องเอกซเรย์ระบบดิจิทัล FDR Smart X on Van ที่ใช้เทคโนโลยีการประมวลผลแบบ AI สามารถส่งข้อมูลการวินิจฉัยของผู้ป่วย ไปยังแพลตฟอร์มต่างๆ ได้ พร้อมรองรับผ่านสัญญานระบบ 5G มาช่วยแพทย์วิเคราะห์ ประเมินคัดกรองผู้ป่วย เพื่อต้องการตรวจหาร่องรอยของโรค

นอกจากนี้ในรถเอกซเรย์ระบบดิจิทัล ยังมีเครื่องเอกซเรย์ X Air เป็นเครื่องเอกซเรย์แบบพกพา สามารถนำเครื่องเอกซเรย์ไปตรวจ ในภาคสนามได้ อันจะช่วยเสริมประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานในพื้นที่ภาคสนาม หรือ โรงพยาบาลภาคสนาม เพื่อตรวจการแพร่ระบาด ของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย เพื่อให้ประชาชนมีสุขอนามัยที่ดี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน