18จว.เหนือ-อีสานอ่วมหนักฝุ่นพุ่งหมอกคลุมอันตราย – 18 จังหวัดเหนือ-อีสาน อ่วมฝุ่นพิษคลุมเมือง แม่สาย เชียงราย วิกฤตมากสุด ค่าฝุ่นพีเอ็ม 2.5 พุ่งถึง 424 มคก./ลบ.ม. ชี้หมอกควันจากประเทศเพื่อนบ้านพัดเข้าปกคลุม ส่วนอีสาน เมืองนครพนมก็ค่าเกินมาตรฐาน พบพื้นที่ฮอตสปอตทั่วประเทศ 691 จุด เฉพาะภาคเหนือ 234 จุด เชียงใหม่ระอุสุด 64 จุด ตามด้วยแม่ฮ่องสอน 52 จุด และอุตรดิตถ์ 24 จุด ชัยภูมิระทึก ไฟป่าวอดภูแลนคาข้ามคืนกว่าพันไร่ ระดมทำแนวกันไฟสกัดไม่ให้ลามเข้าสถานที่ราชการ-ชุมชน ส่วนป่าสะเมิง เชียงใหม่ จนท.คุมเพลิงได้แล้ว ‘บิ๊กป้อม’ จี้เร่งสอบสาเหตุ เข้มกฎหมาย ฟันนายทุนอยู่เบื้องหลังบุกรุกแผ้วถางเผาป่า ก่อฝุ่นพิษ-หมอกควัน

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 31 มี.ค. ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) รายงานการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศ ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก พีเอ็ม 2.5 พบเกินค่ามาตรฐานในภาคเหนือ ได้แก่ จ.เชียงราย น่าน แม่ฮ่องสอน พะเยา เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก ตาก กำแพงเพชร พิจิตร เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ อุทัยธานี ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตรวจวัดได้ 30-66 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) โดยเกินมาตรฐาน 1 พื้นที่ คือ ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครพนม ขณะที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล ภาคกลาง ภาคตะวันตก ภาคตะวันออก และภาคใต้ คุณภาพอากาศดีมากเป็นส่วนใหญ่ โดยมีรายละเอียดดังนี้

ภาคเหนือ เผชิญค่าฝุ่นเกินมาตรฐานทุกพื้นที่ คุณภาพอากาศอยู่ในระดับ เริ่มมีผล กระทบต่อสุขภาพถึงมีผลกระทบต่อสุขภาพ วัดค่าระหว่าง 57-424 มคก./ลบ.ม. โดยค่าฝุ่นสูงสุดที่ ต.เวียงพางคำ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ค่าฝุ่น 424 มคก./ลบ.ม. และเกินมาตรฐานที่บริเวณ ต.ช้างเผือก อ.เมือง จ.เชียงใหม่, ต.ศรีภูมิ อ.เมือง จ.เชียงใหม่, ต.พระบาท อ.เมือง จ.ลำปาง, ต.สบป้าด อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง, ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง, ต.แม่เมาะ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง, ต.ปากน้ำโพ อ.เมือง จ.นครสวรรค์, ต.เวียง อ.เมือง จ.เชียงราย, ต.จองคำ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน, ต.ในเวียง อ.เมือง จ.น่าน, ต.บ้านกลาง อ.เมือง จ.ลำพูน, ต.นาจักร อ.เมือง จ.แพร่, ต.บ้านต๋อม อ.เมือง จ.พะเยา, ต.ห้วยโก๋น อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน, ต.แม่ปะ อ.แม่สอด จ.ตาก, ต.ในเมือง อ.เมือง จ.พิษณุโลก, ต.ในเมือง อ.เมือง จ.กำแพงเพชร, ต.อุทัยใหม่ อ.เมือง จ.อุทัยธานี, ต.ท่าหลวง อ.เมือง จ.พิจิตร, ต.ธานี อ.เมือง จ.สุโขทัย, ต.ท่าอิฐ อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์, ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่, ร.พ.เทพรัตนฯ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่, ต.ในเมือง อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า ข้อมูลจากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือจีสด้า รายงานผลการเกิดจุดความร้อนจากดาวเทียม Suomi NPP ระบบ VIIRS บันทึกข้อมูล เมื่อวันที่ 30 มี.ค. พบจุดความร้อน (ฮอตสปอต) รายประเทศมากที่สุดที่เมียนมา 7,713 จุด สปป.ลาว 2,722 จุด กัมพูชา 1,269 จุด เวียดนาม 1,002 จุด และไทย 691 จุด ส่วนจุดความร้อน 17 จังหวัดภาคเหนือรายวัน รวม 234 จุด พบมากที่สุด จ.เชียงใหม่ 64 จุด แม่ฮ่องสอน 52 จุด และอุตรดิตถ์ 24 จุด โดยคพ. กองทัพภาคที่ 3 และจังหวัดชายแดน ได้เร่งรัดประสานขอความร่วมมือประเทศเพื่อนบ้านลดและควบคุมการเผาในที่โล่ง ทั้งในพื้นที่รอยต่อระหว่างชายแดนและระดับอาเซียน เพื่อลดผลกระทบจากมลพิษหมอกควันข้ามแดน

นายอรรถพลกล่าวต่อว่า จากข้อมูลกรมอุตุนิยมวิทยา คาดหมายผลกระทบของสภาพอากาศต่อการสะสมของฝุ่นละออง ระหว่างวันที่ 31 มี.ค.-6 เม.ย.2564 ลมที่พัดปกคลุมยังมีกำลังปานกลาง มีฝนฟ้าคะนอง ระดับเพดานการลอยตัวยังสูง แนวโน้มการสะสมของฝุ่นละออง หมอกควัน มีน้อยลง ยกเว้น ภาคเหนือตอนบน ลมมีกำลังอ่อนถึงปานกลาง และยังมีจุดความร้อน แนวโน้มการสะสมของฝุ่นละอองและหมอกควัน มีปานกลางถึงค่อนข้างมาก ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้น ลมตะวันออก มีกำลังปานกลาง พัดปกคลุม ระดับเพดานการระบายของอากาศยังสูง การสะสมของฝุ่นละอองพีเอ็ม 2.5 ยังมีน้อยตลอดช่วง โดยประชาชนทั่วไป ควรเฝ้าระวังสุขภาพ ลดเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองหากมีความจำเป็น

ที่จ.นครราชสีมา จากผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศในพื้นที่ ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครราชสีมา วันเดียวกัน พบปริมาณฝุ่น พีเอ็ม 2.5 มีค่าอยู่ที่ 38 มคก./ลบ.ม. ซึ่งอยู่ในเกณฑ์คุณภาพปานกลาง แต่หากสภาพอากาศยังร้อนจัด ไม่มีฝนตกลงมาช่วย ค่ามลพิษทางอากาศมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจนถึงขั้นเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ส่วนปัจจัยสำคัญที่ส่งผลสร้างมลพิษทางอากาศในพื้นที่จังหวัดมาจากฝุ่นควันจากท่อไอเสียของรถยนต์ทุกชนิด และการก่อสร้างย้ายสายไฟลงดินในเขตเทศบาลนครนครราชสีมา ที่ทำให้การจราจรติดขัดในเขตเมืองหลายช่วง ปริมาณมลพิษทางอากาศจึงเพิ่มสูงขึ้นในช่วงเวลาเร่งด่วน นอกจากนี้ การลักลอบจุดไฟเผาซากพืชผลทางการเกษตรและตอซังข้าวของเกษตรกร รวมไปถึงการเผากองขยะของประชาชน ก็ทำให้เกิดฝุ่นควันขนาดเล็กลอยฟุ้งกระจาย สร้างมลพิษทางอากาศให้เพิ่มสูงขึ้น และยังเป็นต้นเหตุทำให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนแก่ ผู้ขับขี่สัญจรผ่านอีกด้วย

ที่จ.ชัยภูมิ เกิดเหตุไฟไหม้บนป่าเทือกเขาภูแลนคา ข้ามคืน เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติตาดโตน จ.ชัยภูมิ เจ้าหน้าที่ดับไฟป่าของ อบต.ห้วยไร่ อ.คอนสวรรค์ จ.ชัยภูมิ และจนท.จากมูลนิธิสว่างคุณธรรม ได้เร่งระดมช่วยกันดับไฟใกล้กับเขตอุทยานแห่งชาติน้ำตกตาดโตน คาดเกิดจากการลักลอบเผาป่า เพื่อต้องการเข้าไปหาของป่าได้ง่ายขึ้น เริ่มจากชายป่าภูเขาในเขตตำบลนาเสียว อ.เมือง ลามขึ้นสูงไปยังยอดเทือกเขาภูแลนคา ในเขตต.ห้วยไร่ อ.คอนสวรรค์ ลามต่อไปยังเทือกเขาด้านหลังศูนย์วิจัยบำรุงพันธุ์สัตว์ จ.ชัยภูมิ ที่ตั้งอยู่ใกล้กับบ้านดงเย็น ต.ห้วยไร่ อ.คอนสวรรค์ ส่งผลให้มองเห็นไฟไหม้ป่ายาวไปตามเทือกเขาภูแลนคา เกิดหมอกควันไฟฟุ้งกระจายไปเป็นบริเวณกว้างเป็นระยะทางยาวกว่า 6 กิโลเมตร คาดมีพื้นที่ป่าเขาเสียหายกว่า 1 พันไร่ เจ้าหน้าที่เร่งแนวกันไฟไม่ให้ลุกลามเข้ามาไหม้ส่วนราชการ และบ้านเรือนประชาชนด้านล่างที่อยู่ติดกันใกล้กับถนนหมายเลข 201 สายชัยภูมิ แก้งคร้อ

ด้านนายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวถึงเหตุการณ์ไฟไหม้ป่าบนดอยสะเมิง จ.เชียงใหม่ ตั้งแต่ช่วงกลางคืนวันที่ 29 มี.ค. ว่า ปภ.ร่วมกับกองทัพบกได้เสริมกำลังนำเฮลิคอปเตอร์ KA-32 พร้อมด้วยชุดเผชิญสถานการณ์วิกฤต และเจ้าหน้าที่กู้ภัยประจำอากาศยาน ขึ้นบินปฏิบัติการดับไฟป่าตลอดทั้งวันในเขตป่าอนุรักษ์ 2 จุด ในพื้นที่ต.สะเมิงใต้ รวมกว่า 24 เที่ยว ทิ้งน้ำดับไฟป่าจำนวน 72,000 ลิตร โดยควบคุมไฟได้แล้วบางจุด แต่ยังคงมีจุดความร้อนและเกิดไฟป่าในพื้นที่ ซึ่งกองบัญชาการควบคุมสถานการณ์ไฟป่าฯ ยังคงระดมกำลังเจ้าหน้าที่เข้าปฏิบัติการอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ปภ.ได้สั่งกำชับให้ศูนย์ปภ. เขต 8 กำแพงเพชร, เขต 9 พิษณุโลก, เขต 10 ลำปาง และเขต 15 เชียงราย คงกำลังเจ้าหน้าที่และเครื่องจักรกลปฏิบัติการในพื้นที่ภาคเหนือเพื่อช่วยเหลือปฏิบัติการดับไฟป่าภาคพื้นดิน และบรรเทาผลกระทบจากปัญหาหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก

ที่กระทรวงกลาโหม พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ย้ำให้เร่งสอบสวนสาเหตุการเกิดไฟไหม้ป่าที่อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ โดยขอให้ทำความเข้าใจและสร้างความร่วมมือกับประชาชนในพื้นที่โดยเน้นมาตรการป้องกัน ต้องเข้มบังคับใช้กฎหมายกับกลุ่มบุคคลและนายทุนที่อยู่เบื้องหลังการบุกรุกแผ้วถางและเผาป่า เพื่อครอบครองพื้นที่ทำการเกษตรอย่างต่อเนื่องและจริงจัง โดยถือเป็นความเห็นแก่ได้ ที่นำมาซึ่งความเสียหายแก่ทรัพยากรธรรมชาติและป่าไม้ รวมทั้งสร้างปัญหามลภาวะหมอกควัน ฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ส่งกระทบต่อประชาชนส่วนใหญ่ในภาพรวม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน