เบรกภาคเอกชน
จัดหาทางเลือก
เล็งนิคมอุตฯฉีด
‘ไอซียู’กทม.ล้น
ให้ส่งไปที่ตจว.
ตั้งรพ.รักษาเด็ก
ศบค.สรุปวันนี้
‘ล็อกดาวน์’เพิ่ม

นายกฯ ถกคณะ ‘ซีอีโอใหญ่’ ภาคเอกชน ยันไม่ต้องหาวัคซีนโควิดเพิ่ม มั่นใจรัฐซื้อได้ครบ 100 ล้านโดส ตั้ง 4 ทีมไทยแลนด์กระจายฉีด มุ่งเป้า 50 ล้านคนภายในปลายปี เร่งหาอีก 37 ล้านโดส ครอบคลุมประชาชน 70% ตามเป้า ด้านปธ.หอการค้า ขอบคุณภาครัฐวางใจให้มาทำงานร่วมกัน เดินหน้า ‘ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ โมเดล’ นำร่องก่อนเปิดประเทศต้นปี 65 ‘อนุทิน’ แจงถ้าไอซียูกทม.เต็ม ก็ส่งไปไอซียูที่ต่างจังหวัดได้ ส่วนศบค.ห่วงป่วยโคม่า- ใช้เครื่องหายใจพุ่ง แจงโทร.สายด่วนติด 1-2 นาที รับเรื่องแยกอาการ 1-2 วัน หาเตียงให้ บิ๊กป้อม สั่งก.แรงงาน-พม. ตั้งร.พ. รองรับเด็กป่วยโควิคเร่งเยียวยาแรงงาน ผู้ประกันตน

ป่วยใช้เครื่องหายใจพุ่ง

เมื่อวันที่ 28 เม.ย. พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กล่าวว่า การติดเชื้อโควิด-19 ในระลอกใหม่ตั้งแต่วันที่ 1-25 เม.ย.2564 รวม 20,721 คน พบว่าปัจจัยเสี่ยงอันดับ 1 คือ การสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้านี้ 9,177 ราย คิดเป็น 44.3% อันดับสอง คือ สถานบันเทิง พบ 5,226 ราย คิดเป็น 25.2% และการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกในชุมชน

เพิ่มคู่สายรับรอเตียง

“สถานการณ์ตอนนี้ ร.พ.สนามแม้มีการเปิดเพิ่ม แต่ กทม.อาจไม่ตอบโจทย์ เพราะ ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งเมื่อคัดแยกอาการแล้วพบว่า เป็นกลุ่มอาการปานกลางถึงหนัก ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ จึงต้องบริหารจัดการเตียงให้กลุ่มเหล่านี้ เฉพาะ กทม. หากเทียบอาการผู้ป่วยอาการหนัก ทิศทางมีการเพิ่มมากขึ้นแต่ละวัน เช่น วันที่ 19 เม.ย. มีอาการหนัก 109 ราย ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ 42 ราย วันที่ 22 เม.ย.เพิ่มเป็น 119 ราย ใช้เครื่องช่วยหายใจ 52 ราย วันที่ 25 เม.ย.อาการหนัก 212 ราย ใช้เครื่องช่วยหายใจ 77 ราย วันที่ 27 เม.ย. อาการหนัก 255 ราย ใช้เครื่องช่วยหายใจ 104 ราย บาง ร.พ.มีผู้ป่วยหนักต้องใช้เครื่องช่วยหายใจมีครึ่งต่อครึ่ง หรือ 1 ใน 4 จึงต้องหาเตียง” พญ.อภิสมัยกล่าว

พญ.อภิสมัยกล่าวว่า ตอนนี้พยายามเพิ่ม คู่สายรองรับคนรอเตียง เพื่อจัดสรรเตียง เร็วที่สุด เบื้องต้นจะโทร.ติดใน 1-2 นาที ประชาชนตรวจสอบได้ ส่วนที่สองคัดแยกอาการ ทางที่ดีประชาชนอาจทำแบบประเมินในสบายดีบอต หรือ Bangkok COVID19 ก่อนที่จะโทร. พอคัดแยกอาการเขียวเหลืองแดงแล้ว ขอให้รอการติดต่อกลับเพื่อแจ้งเตียง คาดว่าใช้เวลา 1-2 วัน จะทำให้ดีที่สุด

เลื่อนรายงานตัวทหารเกณฑ์

ด้านข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้เลื่อนการรับ-ฝึกทหารใหม่ออกไปอีก 2 เดือน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด โควิด-19 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้อนุมัติให้เลื่อนการเข้ารายงานตัวของทหารกองเกินเข้าเป็นทหารกองประจำการผลัดที่ 1/2564 จากวันที่ 1 พ.ค. ไปเป็น 1 ก.ค. เป็นเวลา 2 เดือน

เยียวยา – พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้แทนรัฐบาลมอบ‘เงินกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง’จำนวน 21,465,350 บาท ซึ่งเป็นเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลเพิ่มเติม ให้แก่ ตัวแทนลูกจ้างบริษัท บริลเลียนท์ อัลไลแอนท์ จำกัด จ.สมุทรปราการ ที่ถูกเลิกจ้าง โดยมีนายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ร่วมส่งมอบด้วย ที่กระทรวงแรงงาน เมื่อ 28 เม.ย.

สั่งรมว.แรงงานตั้งร.พ.สนาม

วันเดียวกัน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เดินทางไปยังกระทรวงแรงงาน เพื่อมอบนโยบายแก่ผู้บริหารและ เจ้าหน้าที่กระทรวง พร้อมติดตามผลการดำเนินการ ตรวจเชิงรุกและป้องกันการแพร่ระบาด โควิด-19 ให้แก่แรงงานกลุ่มเสี่ยง โดยมี นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน และนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมช.แรงงาน นำเสนอข้อมูลการดำเนินงานของกระทรวง ตามมาตรการป้องกันเชิงรุก

พล.อ.ประวิตรมอบนโยบายว่า ขอให้กระทรวงแรงงาน เร่งช่วยเหลือคนทำงาน และแรงงานนอกระบบที่อาจว่างงานจากสถาน การณ์โควิด-19 เช่น พนักงานแกร็บ พัฒนาทักษะฝีมือในรูปแบบที่เหมาะสม ประสานความร่วมมือกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)ให้เร่งสร้าง ร.พ.รองรับเด็กที่ติดโควิด-19 เพิ่มเติมด้วย

เร่งหาอีก 37 ล้านโดส

นพ.ทวีทรัพย์ ศิรประภาศิริ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ คร. สธ. กล่าวว่า ภาพรวมขณะนี้ฉีดวัคซีนโควิด-19 ไปแล้ว 1,279,713 โดส แบ่งเป็นผู้รับวัคซีนเข็มแรก 1,038,960 ราย และครบ 2 เข็มแล้ว 240,753 ราย โดยรัฐจัดหาวัคซีนได้แล้ว 63 ล้านโดส แต่กำลังจัดหาเพิ่มอีก 37 ล้านโดส ด้วยความร่วมมือของทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อให้ครบ 100 ล้านโดส หรือประมาณ 50 ล้านคน โดยแบ่งเป็นภาครัฐจัดหา 30 ล้านโดส จากไฟเซอร์ 5-10 ล้านโดส สปุตนิก วี 5-10 ล้านโดส จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน 5-10 ล้านโดส และซิโนแวค 5-10 ล้านโดส ซึ่งมีเทคโนโลยีที่แตกต่างกันเพื่อให้เกิดทางเลือก ส่วนภาคเอกชนจัดหาอีก 7 ล้านโดส โดยทั้งสนับสนุนงบประมาณและจัดหาเองเพื่อฉีดให้แก่บุคลากรของตนเอง โดยจะหามาจากทาง โมเดอร์นา หรือซิโนฟาร์ม หรือวัคซีนอื่นที่จะขึ้นทะเบียนในอนาคต ซึ่งถ้าหาวัคซีนมาได้ภายในช่วงเดือนต.ค.2564 ก็จะเป็นการเพิ่มเติมจากของ แอสตราเซเนกาที่เริ่มฉีดช่วงมิ.ย. ก็จะช่วยให้ครอบคลุม 70% ของประชากร

ถกเอกชน – พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมหารือแนวทางความร่วมมือการจัดหาวัคซีนระหว่างภาครัฐและเอกชน ที่ตึก ภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 28 เม.ย.

‘ตู่’ถก‘กกร.’เพิ่มวัคซีน

ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล เวลา 10.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้หารือกับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน นำโดยคณะกรรมการหอการค้าไทย เพื่อนำเสนอแนวทางการทำงานของหอการค้าไทยในการขับเคลื่อนฟื้นฟู เศรษฐกิจของประเทศ โดยมีรัฐมนตรีเข้าร่วม อาทิ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรมว.สาธารณสุข นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯ และรมว.พลังงาน นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร ประธานคณะทำงานพิจารณาจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 นพ.โสภณ เมฆธน รองประธานคณะทำงานพิจารณาวัคซีน และนพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดสธ.

ต่อมา เวลา 13.30 น. พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธานการประชุมหารือแนวทางความร่วมมือการจัดหาวัคซีนระหว่างภาครัฐและเอกชน

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงหลังการประชุมว่า ภาคเอกชนมีข้อเสนอที่จะเข้ามาช่วยภาครัฐในการ กระจายวัคซีนและการจัดสถานที่ต่างๆ ที่จะทำให้เป้าหมายการฉีดวัคซีนในช่วงสิ้นปีนี้ คือในเดือนธ.ค.2564 สามารถบรรลุเป้าหมาย 50 ล้านคนได้ ซึ่งวันเดียวกันนี้นายกฯเห็นชอบข้อเสนอที่ภาคเอกชน ที่มาจากการทำงานร่วมกันได้เสนอ 4 เรื่อง ประกอบด้วยเรื่องการกระจายวัคซีน การสร้างความเชื่อมั่น การประชาสัมพันธ์ และการสนับสนุนอำนวยความสะดวกต่างๆ รวมทั้งเรื่องการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม ซึ่งรัฐบาลได้รับข้อเสนอ ดังกล่าวและเร่งประสานงานทั้งหมดให้เกิดผลอย่างรวดเร็ว

ให้เอกชนจัดจุดฉีด

นายดนุชากล่าวว่า นายกฯและที่ประชุมเห็นชอบให้แนวทางความร่วมมือระหว่างภาครัฐภาคเอกชนในการใช้กลไกของฝั่งภาคเอกชนเข้ามาช่วยเสริมในการจัดจุดฉีดวัคซีน และการ กระจายวัคซีนในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้งจังหวัดต่างๆ ซึ่งในต่างจังหวัดจะผ่านกลไกของคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) จังหวัดและกลุ่มจังหวัด โดยร่วมมือกับสธ. และกระทรวงมหาดไทย

นายดนุชากล่าวต่อว่า ข้อสรุปทั้งหมด นายกฯ ได้มอบหมายให้นายสุพัฒนพงษ์ รองนายกฯ เป็นแม่งานประสานงานต่างๆ กับภาคเอกชน โดยมี สศช. ตน และสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นผู้ประสานกับภาคเอกชนในรายละเอียดต่างๆ โดยตั้งแต่วันที่ 29 เม.ย. จะประสานงานในรายละเอียดด้านต่างๆ เพื่อดูในแผนการกระจายวัคซีน

ต้นปี 65 เปิดประเทศ

ด้านนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ภาคเอกชน และประชาชนทุกคนคงสบายใจได้ เมื่อนายกฯ และรมว.สาธารณสุข ให้ความมั่นใจว่า ภายในปี 2564 ประชาชนคนไทย ผู้ที่มาทำงาน หรือคนต่างชาติ ที่อาศัยในประเทศไทยหรือแรงงานที่มาอยู่ประเทศไทยจะได้รับการฉีดวัคซีนแน่นอน โดยขณะนี้รัฐบาลหาวัคซีนได้ 100 ล้านโดส จะครอบคลุมประชากร 70% เมื่อเป็นลักษณะนี้ เราสบายใจได้ว่าจะเปิดประเทศได้ในต้นปี 2565 ส่วนภาคเอกชน ตั้งใจให้การสนับสนุนการทำงานร่วมกับภาครัฐ

1 ก.ค.รุก‘ภูเก็ตโมเดล’

“ขอบคุณที่ภาครัฐให้ความไว้วางใจที่จะทำงานร่วมกัน ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี ซึ่งความร่วมมือเหล่านี้จะทำให้ทุกอย่างและเศรษฐกิจขับเคลื่อนไปได้ หากเป็นไปในลักษณะนี้ แนวทางภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ โมเดล (เปิดประเทศโดยไม่กักตัว) ก็จะเกิดขึ้นได้ในวันที่ 1 ก.ค.นี้ ตามที่รัฐบาลตั้งธงไว้ก็ไม่น่าจะพลาด ทั้งนี้การร่วมมือทำงานครั้งนี้ถือเป็นการตั้งไทยแลนด์ทีมเกิดขึ้นแล้ว” นายสนั่นกล่าว

สภาอุตฯพร้อมร่วมมือ

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ทางหอการค้าได้จัดเตรียมสถานที่ในการฉีดวัคซีนเรียบร้อยแล้ว โดยในกทม.มีหลายแห่งด้วยกัน ในส่วนของต่างจังหวัดก็ใช้กลไกของ กรอ.หอการค้า สภาอุตสาหกรรมและสมาคมธนาคาร จะจัดหาสถานที่ในกรณีที่มีความจำเป็น รวมทั้งนิคมอุตสาหกรรม ที่พร้อมร่วมมือในกรณีการกระจายวัคซีน

“เรื่องการจัดหาวัคซีนเพื่มเติมในวันนี้ต้องขอบคุณ พล.อ.ประยุทธ์ ที่เพิ่มจำนวนวัคซีนที่นำเข้ามาและมีแผนการที่จะฉีดวัคซีนอย่างชัดเจนตั้งแต่เดือนมิ.ย.เป็นต้นไป ผมเข้าใจว่าการเพิ่มจำนวนวัคซีนทั้งหมดจะทำให้การฉีดวัคซีนครอบคลุมอย่างน้อย 100 ล้านโดสขึ้นไป โดยพล.อ.ประยุทธ์ และนายอนุทิน ให้ความเชื่อมั่นในที่ประชุม ซึ่งภาคเอกชนมั่นใจว่าจะปฏิบัติและช่วยเหลือในลักษณะนี้ต่อไปได้ นอกจากนี้ได้รับการยืนยันว่าสถาบันวัคซีนไม่ได้ปิดกั้นในการนำเข้าวัคซีนของภาคเอกชน” นายสุพันธุ์กล่าว

เอกชนไม่ต้องหาวัคซีนเพิ่ม

ต่อมา สภาหอการค้าไทย ได้รายงานว่า การประชุมร่วมกับรัฐบาล โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในวันนี้ รัฐบาลได้แสดงความขอบคุณที่หอการค้าไทยและภาคเอกชนได้เข้ามามีส่วนร่วมเสริมการทำงานของภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องความพยายามในการจัดหาวัคซีนทางเลือก เพื่อฉีดให้กับพนักงานของตนเอง ซึ่งช่วยแบ่งเบาภาระของภาครัฐ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้แจ้งว่าปริมาณวัคซีนที่ภาครัฐจัดหามานั้น มีจำนวนที่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนทุกคน พร้อมเร่งดำเนินการในการนำเข้าวัคซีน ซึ่งกำลังทยอยเข้ามาเป็นลำดับ ดังนั้น ภาคเอกชนจึงไม่จำเป็นต้องจัดหามาเพิ่มเติม และจะได้ไม่เป็นภาระในเรื่องค่าใช้จ่าย ซึ่งภาคเอกชนต่างก็ได้รับผลกระทบ

ตั้ง 4 ทีมฉีดวัคซีน

ด้านนายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการหารือระหว่างพล.อ.ประยุทธ์ กับหอการค้าไทย ว่าที่ประชุมจะจัดทำแผนตั้ง 4 ทีมสนับสนุน โดยมีบริษัทที่ถนัดในธุรกิจนั้นๆ มาช่วยกระจายฉีดวัคซีนล็อตใหญ่ที่จะเริ่มเข้ามาตั้งแต่เดือน มิ.ย. ประกอบด้วย ทีมเอ สนับสนุนการกระจาย และฉีดวัคซีน สถานที่เพิ่มเติมจากภาคเอกชน ในการจัดทำหน่วยฉีดวัคซีนเคลื่อนที่ไปยัง จุดต่างๆ รวมถึงใช้พื้นที่โรงงานหรือนิคมอุตสาหกรรม เป็นพื้นที่ฉีดวัคซีน ด้วย

ทีมบี ทีมการสื่อสาร สนับสนุนการสื่อสารข้อมูลให้ประชาชนทั่วไป และรายงาน ความคืบหน้าที่เกี่ยวข้อง เชื่อมโยงระบบหมอพร้อม

ทีมซี ทีมเทคโนโลยีและระบบ เพื่อจัดระบบลงทะเบียนให้รวดเร็วและระบบการติดตามตัวอย่างมีประสิทธิภาพ และทีมดี ทีมจัดหาวัคซีนเพิ่ม ร่วมกับภาครัฐและเครือข่ายรพ.เอกชน โดยสำรวจความต้องการฉีดวัคซีนทางเลือกเพิ่ม เพื่อแบ่งเบาภาระของรัฐบาล

ถกเพิ่มพื้นที่ควบคุมสูงสุด

ด้านพล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นประธานการประชุมศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหาร สถานการณ์โควิด 19 หรือศปก.ศบค. โดย มีรายงานว่า การประชุมศบค.ชุดเล็กเมื่อ วันที่ 28 เม.ย.ได้หารือถึงข้อเสนอของสธ. ที่ต้องการยกระดับมาตรการให้เข้มข้นมากขึ้น ได้แก่ การเพิ่มโซนสีจังหวัด คือ พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มข้นหรือสีแดงเข้ม โดยในวันที่ 29 เม.ย. เวลา 09.00 น. จะประชุมศบค. ชุดเล็กเพื่อหาข้อสรุป นำเข้าที่ประชุมศบค. ชุดใหญ่ ในเวลา 14.00 น. ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะผอ.ศบค. เป็นประธาน ผ่านระบบ วิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อสรุปผลการออกมาตรการ และข้อกำหนด ในกิจการกิจกรรมต่างๆ

ไอซียูกทม.ล้นส่งไปตจว.

นายอนุทิน รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข กล่าวถถึงข้อกังวลว่าสัปดาห์นี้จะมีผู้ป่วยอาการหนัก และเสียชีวิตเพิ่ม อาจทำให้เกิดปัญหาเตียงไอซียูไม่พอนั้น ก็มีการบริหารจัดการกันอยู่ หากไอซียูในกทม. รับคนอาการหนักจนล้นเราก็ส่งผู้ป่วยอาการหนักไปที่ ไอซียูร.พ.ในต่างจังหวัดได้ทั้ง 77 จังหวัด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน