‘ตู่’ตัดปัญหาขัดแย้งปชป.
ฉีกคำสั่งรมต.คุมจังหวัด

ภูมิใจไทยป้อง ‘อนุทิน’ เป็นแค่แพะโควิด ฝาก‘ลุงตู่’คิดให้ดี ใครคือขุนศึกร่วมรบตั้งแต่แรก เตือนอย่าให้ผู้ไม่หวังดีเป่าหูให้แตกแยก ขณะที่ ‘เสี่ยหนู’ป้อนคำหวาน นายกฯรวบอำนาจแก้โควิด เป็นเรื่องดีมาก งานเดินหน้าไว-มีประสิทธิ ภาพ ‘บิ๊กป้อม’ ตั้ง ‘ธรรมนัส’ คุมศูนย์ฉุกเฉินพลังประชารัฐ เปิด 30 คู่สายช่วยชาวบ้าน นายกฯยอมถอยให้ปชป. เซ็นยกเลิกคำสั่งแบ่งงานรมต.คุมพื้นที่ กลับไปใช้คำสั่งปี 63 ‘ชวน’ แนะส.ส.ฉีดวัคซีน กันโควิด รับประชุมสมัยสามัญนัดแรก 27 พ.ค.

‘ชวน’สั่งฉีดวัคซีนส.ส.-รับเปิดสภา

เมื่อวันที่ 29 เม.ย. นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ให้สัมภาษณ์ถึงการเปิดสมัยประชุมสามัญในวันที่ 22 พ.ค.นี้ ว่า ทราบว่าขณะนี้ทางกระทรวงสาธารณสุขได้กระจายวัคซีนฉีดให้กับแพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าเป็นส่วนใหญ่แล้ว จึงเห็นว่า ส.ส.ทุกคนควรมีโอกาสฉีดวัคซีน โดยจะให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ประสานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับส.ส.ที่ไม่สามารถเดินทางออกนอกพื้นที่ได้ ได้มีโอกาสฉีดวัคซีน เมื่อเปิดประชุมสภา ส.ส.จะได้มาประชุมโดยไม่ต้องกังวล เพราะที่จัดให้ฉีดวัคซีนที่ร.พ.บำราศ นราดูรนั้น ส.ส.ส่วนใหญ่ไม่สะดวกที่จะ เดินทางไป

“เมื่อเปิดสมัยประชุม ส.ส.จะต้องทำงาน เนื่องจากมีพ.ร.ก. 2 ฉบับรออยู่ และร่างพ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบ ประมาณ 2565 ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาตามกรอบเวลาของสำนักงบประมาณ เดิมจะเริ่มประชุม วันที่ 26 พ.ค.แต่ตรงกับวันวิสาขบูชาซึ่งเป็นวันหยุด คาดว่าน่าจะเริ่มประชุมได้วันที่ 27 พ.ค. และคงต้องพิจารณาพ.ร.ก. 2 ฉบับก่อนแล้วต่อด้วยการพิจารณาร่างพ.ร.บ. งบประมาณปี 2565” นายชวน กล่าว

นางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภา ผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ตนได้ทำหนังสือถึงเลขาธิการพรรคการเมืองแต่ละพรรคแล้ว เพื่อสอบถามความต้องการของ ส.ส.ในการเข้ารับการฉีดวัคซีนในพื้นที่แต่ละจังหวัด ซึ่งขณะนี้มีส.ส.ได้รับการวัคซีนที่ร.พ.บำราศนราดูร เพียง 180 คน จาก 487 คน จึงอยากให้ ส.ส.ไปเข้ารับการฉีดวัคซีนก่อนเปิดสมัยประชุมสภาสมัยสามัญปลายเดือนพ.ค.นี้ เพื่อลดความเสี่ยงและให้รัฐสภาเป็นพื้นที่ปลอดเชื้อโควิด

‘ศุภชัย’ตัดพ้อ‘อนุทิน’แพะรับบาป

นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย (ภท.) โพสต์เฟซบุ๊กว่า Without prejudice นาทีนี้ “ชายเดียว” ที่ยืน “โดดเดี่ยว” ในหมู่บ้านกระสุนตก คงหนีไม่พ้น นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข (สธ.) ที่โดนจัดหนัก จัดเต็ม ถูกจับเป็น “แพะ” บูชายัญ จากสถานการณ์โควิด-19 ทันทีที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อดีดขึ้นไปถึงพันจนทะลุสองพันกว่า บาปทุกอย่างก็ตกอยู่ที่ “เสี่ยหนู” ทั้งๆ ที่เมื่อมีการระบาดในสถานบันเทิงรอบนี้ กระทรวงหมอก็เสนอมาตรการป้องกัน และคาดการณ์ตัวเลขผู้ติดเชื้อว่าหากไม่มีการจัดการใดๆ หลังสงกรานต์จะเกิดอะไรขึ้นเอาไว้แล้ว ทว่า เหตุผลทาง “เศรษฐกิจ” นำ “สุขภาพ”

ในเวลาที่คนทั่วไปกำลังพักผ่อนช่วงวันหยุดยาว ทีมแพทย์ พยาบาล บุคลากรสาธารณสุข ภายใต้การนำของ “หมอหนู” จึงต้องทำงานที่ “หนัก” อยู่แล้วให้ “หนักขึ้นไปอีก” เพื่อเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น วัคซีนก็ยังต้องหา วางแผนการฉีด เตรียมสถานพยาบาลรองรับผู้ป่วย ผู้ติดเชื้อ จนเมื่อเกิดภาวะ “ฝีแตก” ผู้ติดเชื้อสูงสุดเกือบเหยียบ 3 พัน มีผู้ป่วยที่ยังไม่ได้เตียง มีผู้เสียชีวิต คนบางกลุ่มก็ชี้ว่าเป็นความผิดของ “อนุทิน” ระดมทำแคมเปญลงชื่อขับไล่พ้นจาก “เก้าอี้” เพื่อระบายอารมณ์ และหวังผลทางการเมือง

ปัญหาการจัดส่งผู้ป่วยการจัดหาเตียง “มีจริง” ตัว “เสี่ยหนู” ก็ยอมรับ และแก้ไขด้วยการตั้งศูนย์แรกรับ ส่งต่อผู้ป่วยแบบไม่ปริปากถึงเรื่องราวเชิงลึกใดๆ แม้เห็นกันชัดๆ อยู่แล้วว่า “ปัญหานี้” เกิดขึ้นเพียงพื้นที่ กทม. ซึ่งไม่อยู่ในอำนาจเต็มของ สธ. ถามว่า 76 จังหวัดที่มีนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทำไมไม่มีปัญหาแบบนี้ คำตอบจึงอยู่ในคำถาม

ฝาก‘ลุงตู่’คิดให้ดีใครคือขุนศึก

นายศุภชัยระบุว่า ที่ผ่านมาสิ่งที่ “เสี่ยหนู” ทำคงไม่ได้ดีที่สุด ถูกใจทุกคนที่สุด แต่การทำงานที่ผนึกกับทีม สธ.จนทำให้ไทยประคับประคองสถานการณ์สู้กับโควิด-19 มาได้จนถึงวันนี้ การจัดหาวัคซีนซิโนแวคด้วยคอนเน็กชั่นส่วนตัว เต็มใจควักกระเป๋าถ้าจะทำให้จัดส่งเร็วขึ้น การวางแผนจัดหาวัคซีนที่ไทยไม่เข้าร่วมโคแว็กซ์ ซึ่งวันนี้ชัดเจนแล้วว่าโคแว็กซ์ไม่สามารถจัดหาวัคซีนให้ได้ตามที่ตกลงไว้ แต่ไทยมีสยามไบโอไซแอนท์ ที่ผลิตวัคซีนได้ภายในประเทศของเราเอง ยาฟาวิพิราเวียร์ที่มีอยู่ในสต๊อก คนคนนี้ไม่มี “เครดิต” เลยหรือ

ส่วนการที่ “นายกฯ ลุงตู่” ใช้วิธีพิเศษรวบอำนาจจากหลายกระทรวง และตั้งคณะกรรมการ 4 คณะเพื่อมาทำเรื่องโควิด-19 ก็ไม่ใช่เครื่องหมายที่จะมาตีตราว่า “เสี่ยหนู” กับกระทรวงหมอจัดการไม่ได้ เพราะถ้ามองให้ดีๆ จะเห็น “ชัดในชัด” ว่าไม่มีอะไร “ใหม่” ทั้งการหาวัคซีน การฉีดวัคซีน ทุกอย่างเป็นไปตามที่ สธ.วางแผนไว้ทั้งสิ้น สิ่งที่ “นายกฯ” ทำคือการบริหารอารมณ์ ความรู้สึกของภาคเอกชน ให้คนมีความคิดเห็นได้มีพื้นที่แสดงออก มีส่วนร่วมในการทำงาน

แค่อยากฝากถึง “บิ๊กตู่” ว่าในการศึก โควิด-19 ตั้งแต่วันแรกจนถึงตอนนี้ ใครคือขุนศึกร่วมรบ ก็เห็นมีแต่ “รองนายกฯ หนูเพียงหนึ่งเดียว” ที่เป็น “หนังหน้าไฟ” ออกมา “ไฟต์” กับทุกเหตุการณ์ ฟาดกับฝ่ายตรงข้าม รับหอกรับดาบให้ลุงอย่างไม่เกรงสิ่งใด คำตอบชัดคือ “เสี่ยหนู” เวลานี้รัฐบาลควรเป็นหนึ่งเดียว อย่าให้ผู้ไม่หวังดีที่คอยเป่าขนหาแผล คิดว่าเจอรอยแยก แล้วปั่นให้ปริแตก “คนที่มีใจจริง” ไม่ใช่คนที่ออกฉากแล้วมีแต่คำพูดที่สวยหรู แต่คือคนไม่ฆ่าน้อง ที่ทำงานใต้บังคับบัญชา ไม่ฟ้องนาย ที่เป็นผู้นำทีม ไม่ขายเพื่อน ที่ต้องทำงานร่วมกัน

นายศุภชัยให้สัมภาษณ์ว่า เป็นการโพสต์ให้กำลังใจหัวหน้าพรรค เพราะสิ่งที่ประชาชนอาจไม่รู้เบื้องลึกเบื้องหลังการทำงานของนายอนุทินกับกระทรวงสาธารณสุข ว่าได้ทำอะไรไปบ้าง ถ้าประชาชนได้รับข้อมูลไม่เพียงพอ จะรู้สึกว่านายอนุทินไม่ได้ทำอะไรเลย ทั้งที่ข้อเท็จจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น ซึ่งไม่มีเรื่องการเมืองมาเกี่ยวข้อง

‘เสี่ยหนู’หยอดคำหวานนายกฯ

รายงานข่าวเปิดเผยว่า ในการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค. เมื่อเวลา 14.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล มีพล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธาน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้รายงานในที่ประชุม รับทราบถึงประกาศเรื่องการกำหนดอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีตามกฎหมายเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกฯ (ฉบับที่ 3) ซึ่งโอนอำนาจจากพ.ร.บ. 31 ฉบับ ให้นายกฯ มีอำนาจเป็นผู้สั่งการในการแก้ปัญหาโควิด พร้อมระบุว่า มีการเอาไปพูดตีความต่างๆ นานา ให้เป็นเรื่องเป็นราว ทั้งที่จริงแล้วไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเป็นไปตามพ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และในช่วงแรกๆ ก่อนหน้านี้ เคยมีการโอนอำนาจจากพ.ร.บ. 40 ฉบับ ให้นายกฯ เป็นผู้มีอำนาจสั่งการมาแล้ว ต่อมามีการโอนอำนาจกลับคืนไปตามเดิม

ขณะที่นายอนุทินกล่าวในที่ประชุมทันทีว่า การโอนอำนาจดังกล่าวเป็นเรื่องที่ดีมาก ตนไม่มีปัญหา ไม่ได้ทำให้รู้สึกว่าถูกดึงอำนาจอะไรไป และเรื่องนี้จะยิ่งทำให้การทำงานแก้ปัญหาโควิดมีความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่วนนายกฯและผู้ร่วมประชุมคนอื่นๆ ไม่มีใครกล่าวแสดงความเห็นใดๆ

‘บิ๊กป้อม’ตั้ง‘ธรรมนัส’คุมศูนย์โควิด

เมื่อเวลา 10.30 น. ที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐฝ่ายปฏิบัติการ เปิดศูนย์ประสานงานสถานการณ์ฉุกเฉินโควิด-19 (ศปฉ. พปชร.) มีนายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง รองหัวหน้าพรรค นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรค นายจักรพันธ์ พรนิมิตร ส.ส.กทม. หัวหน้าภาคกทม. และส.ส.บางส่วน เข้าร่วม

ร.อ.ธรรมนัสกล่าวว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เป็นห่วงประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ จึงมอบให้ตนเป็น ผู้ดูแลศปฉ.พปชร. โดยประสานงานร่วมกับหัวหน้าภาคทั้ง 10 ภาค และสาธารณสุขจังหวัด เพื่อดูแลช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบทั้งผู้ติดเชื้อ และได้รับความเดือดร้อน โดยประชาชนแจ้งข้อมูลเพื่อประสานความช่วยเหลือ ที่สายด่วน 0-2939-1111 ตั้งแต่เวลา 09.00-21.00 น. จำนวน 30 คู่สาย ,ผ่านอินบ็อกเพจ เฟซบุ๊กพรรคพลังประชารัฐ และผ่านทางหัวหน้าภาคแต่ละภาค

“การเปิดศูนย์ไม่ซ้ำซ้อนกับรัฐบาล เราเป็นเพียงผู้ประสานงานช่วยเหลือ และที่ทำไม่ใช่การหาเสียงเพราะเป็นวลีการเมือง วันนี้เป็นความเดือดร้อนของประชาชน ทุกเขตเรามีตัวแทนอยู่ แม้จะไม่มีส.ส. แต่จะทำหน้าที่ดูแลทุกข์สุขประชาชน” ร.อ.ธรรมนัสกล่าว

ปัดคำสั่งคุมใต้มุ่งตีหัวเมืองปชป.

ผู้สื่อข่าวถามถึงคำสั่งนายกฯ ที่ 85/2564 เรื่องมอบหมายให้รัฐมนตรีรับผิดชอบแนวคิดการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันระดับพื้นที่จังหวัดที่มอบหมายให้ร.อ.ธรรรมนัส ดูแลภาคใต้ ร.อ.ธรรมนัสกล่าวว่า ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทำงานในฐานะรมช.เกษตรฯ และตามที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม รวมถึงพล.อ.ประวิตร แต่งตั้งและมอบหมาย ถือว่าได้ลงพื้นที่ทุกจังหวัดและทำพื้นที่มาตลอด

ดังนั้น การแบ่งงานให้รัฐมนตรีรับผิดชอบในแต่ละจังหวัด ไม่ใช่ประเด็นและไม่เห็นว่าจะมีปัญหา ไม่ว่าจะให้ดูแลจังหวัดไหนก็ไปเกือบทุกจังหวัดอยู่แล้ว ไปเยี่ยมประชาชนเดือดร้อน และการแบ่งงานเป็นอำนาจของ นายกฯ ไม่ใช่รัฐมนตรี เมื่อตัดสินใจมอบให้ใครทำแล้ว หน้าที่ของรัฐมนตรีคือต้องทำให้ดีที่สุด แต่ยังไม่ได้คุยกับพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในเรื่องนี้ ส่วนนายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย ก็คุยกันอยู่แล้ว

ต่อข้อถามว่าการมอบให้ดูภาคใต้ ถูก มองว่าไปตีหัวเมืองพรรคร่วมรัฐบาล ร.อ. ธรรมนัสกล่าวว่า ไม่ใช่ เมื่อถามว่าเรื่องนี้อาจทำให้มีปัญหากับพรรคประชาธิปัตย์ ร.อ.ธรรมนัสกล่าวว่า คิดมากกันเอง อย่าไปคิดมากเพราะเราทำงาน เป้าหมายสูงสุดคือประชาชนเป็นที่ตั้งไม่มีเรื่องอื่น

ส่วนจะกลายเป็นความขัดแย้งภายในพรรค ร่วมรัฐบาลหรือไม่ ร.อ.ธรรมนัสกล่าวว่า ตนเป็นส.ส.พรรคพลังประชารัฐ แต่มีพรรคพวกเยอะ ทุกพรรคเป็นเพื่อนกัน เป็นพวกกัน มีอะไรก็หันหน้าพูดคุยกัน ส่วนที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ไม่พอใจนั้น ตนไม่ทราบเพราะเป็นความเห็นส่วนตัวของนายจุรินทร์

ติงฝ่ายการเมืองอย่าป่วนรัฐบาล

ด้านนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ให้สัมภาษณ์ว่า การจัดการสถานการณ์โควิด ในต่างจังหวัดดีกว่ากรุงเทพฯ เพราะดูแลเข้มงวด โดยผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งการ หากพบว่ามีการติดเชื้อในหมู่บ้านใดจะสั่งปิดหมู่บ้านนั้นทันที ต่างจากกรุงเทพฯที่ต้องระดมหลายหน่วยงานเข้ามาแก้ไขปัญหาช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยตกค้าง ดังนั้นในภาวะนี้ไม่อยากให้การเมืองไปเพิ่มความวุ่นวายกับรัฐบาล ที่ต้องตั้งหลักแก้ไขปัญหา ส่วนที่หลายฝ่ายอยากให้รัฐบาลและนายกฯลาออก มองว่าไม่ใช่ประเด็น เพราะเป้าหมายของพรรคพลังประชารัฐคือทำอย่างไรให้การบริหารสถานการณ์โควิดผ่านไปได้ด้วยดี

ผู้สื่อข่าวถามว่าเวลานี้สังคมวิจารณ์ว่ารัฐบาลบริหารงานห่วย นายวิรัชกล่าวว่า ยอมรับว่ามีผู้ติดเชื้อมาก และที่หนักคือในพื้นที่กรุงเทพฯแต่ประเมินแล้วว่า สถานการณ์น่าจะเอาอยู่ สิ่งที่รัฐบาลและนายกฯบริหารถือว่าดีเกินสำหรับการบริหารในสถานการณ์ช่วงวิกฤต เพราะแก้ไขทุกสถานการณ์ได้ฉับไว และไม่ห่วยเพราะถ้าเป็นคนอื่นมาบริหารคงจะห่วยกว่านี้ ส่วนที่พรรคร่วมฝ่ายค้าน เรียกร้องให้นายกฯลาออก ในสายตาฝ่ายค้านบริหารอย่างไรก็ไม่ดี ต้องว่าตลอด แต่สำหรับพรรคร่วมรัฐบาล คิดว่านายกฯบริหารดีอยู่แล้วและต้องให้กำลังใจอย่างเต็มที่

เมื่อถามถึงกรณีที่ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลบางคน แสดงความเห็นโจมตีนายกฯ นายวิรัชกล่าวว่า เห็นเพียงแค่ 2-3 ราย และมี ส.ส. พรรคพลังปรัชารัฐตอบโต้กลับไป ถือเป็นความเห็นส่วนตัวของ ส.ส.แต่ละคน อย่าเก็บเป็นประเด็น ที่ผ่านมาก็มีมาทุกยุคทุกสมัย ส่วนตนประสานงานภายในพรรคร่วมรัฐบาลตลอด หากมีเหตุการณ์ที่กระทบกระทั่งบ้างก็ต้องห้ามปราม เป็นเรื่องปกติ ของพรรคร่วมรัฐบาล แต่พยายามขอความร่วมมือให้ทุกคนอยู่นิ่งเพื่อให้การบริหารสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด ผ่านไปด้วยความเรียบร้อย

นายกฯฉีกคำสั่งแบ่งงานรมต.แล้ว

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ ได้ลงนามคำสั่งนายกรัฐมนตรีเรื่อง ยกเลิกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 85/2564 เรื่อง มอบหมายให้รัฐมนตรีรับผิดชอบ แนวคิดการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันระดับพื้นที่จังหวัด ลงวันที่ 9 เม.ย.2564 สืบเนื่องจากเกิดสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 รุนแรงขึ้นในเกือบทุกจังหวัดของประเทศ ทำให้การติดตาม รับฟัง และแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่จังหวัดที่ได้มอบหมายให้รัฐมนตรีแต่ละคนช่วยกันรับผิดชอบและประสานการขับเคลื่อนการพัฒนา ยังไม่สามารถดำเนินการได้เต็มรูปแบบอย่างมีประสิทธิภาพ แม้แต่การขับเคลื่อนของคณะกรรมการในระดับจังหวัด ก็ประสบปัญหาและอุปสรรค เพราะจำเป็นต้องใช้ทรัพยากรบุคคลและทรัพยากรอื่นๆ ในขณะนี้เพื่อการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าดังกล่าวเป็นเรื่องเร่งด่วน

ส่วนการยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนและการเสริมสร้างศักยภาพในการพัฒนาประเทศ เป็นเรื่องที่หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่และอำนาจโดยตรง และรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบหน่วยงานนั้น สามารถกระทำไปตามภารกิจปกติได้อยู่แล้ว จึงควรชะลอการดำเนินการของรัฐมนตรีในระดับพื้นที่จังหวัดตามข้อ 3 ของคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 242/2563 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน ลงวันที่ 13 ส.ค.2563 ไว้ก่อนเป็นการชั่วคราว จนกว่าสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เปลี่ยนแปลงไป และคณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันจะเห็นควรให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่จะได้กำหนดต่อไป

ในระหว่างนี้จึงให้เป็นหน้าที่ และอำนาจของรองนายกรัฐมนตรีในระดับพื้นที่เขตตรวจราชการแต่ละเขตที่ได้มอบหมายไว้ก่อนแล้ว เป็นผู้กำกับดูแล โดยประสานกับคณะกรรมการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันระดับจังหวัดและอาจประสานงานหรือมอบหมายให้รัฐมนตรีที่รับผิดชอบงานพัฒนาและการแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการเป็นการเฉพาะเรื่อง และเป็นครั้งคราว

มีรายงานว่าเหตุผลหนึ่งที่ลงนามคำสั่งยกเลิกดังกล่าว เพื่อตัดปัญหาความขัดแย้งระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล ระหว่างพรรคประชาธิปัตย์ และพลังประชารัฐ ที่อาจไม่พอใจเรื่องพื้นที่รับผิดชอบที่ถูกเปลี่ยนแปลง

จี้เยียวยา – เครือข่ายภาคประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากโควิด ยื่นหนังสือร้องเรียนผ่านพรรคเพื่อไทย ให้ช่วยจี้รัฐบาลเยียวยาประชาชนทุกกลุ่มอย่างครบถ้วน โดยนายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เป็นผู้รับเรื่อง ที่ทำการพรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 29 เม.ย.

เพื่อไทยจี้นายกฯลาออกทันที

ที่พรรคเพื่อไทย น.ส.อรุณี กาสยานนท์ โฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงว่า พรรคเพื่อไทยอยากเห็นท่าทีของพรรคร่วมรัฐบาลต่อการบริหารงานผิดพลาดของ พล.อ.ประยุทธ์ โดยพรรคร่วมฝ่ายค้านขีดเส้นตายการลาออกของ พล.อ.ประยุทธ์ จากการล้มเหลวผิดพลาดในการบริหารงาน ทั้งการบริหารจัดการวัคซีน เงินกู้ 1 ล้านล้านที่ใช้ไม่เกิดประโยชน์ การบริหารแบบไม่กระจายอำนาจ รวบอำนาจ สิ่งที่รัฐบาลและพล.อ.ประยุทธ์ต้องทำคือการ ลาออก ซึ่งเป็นการแก้วิกฤตในสถานการณ์วิกฤต เพื่อให้ประเทศนับหนึ่งใหม่อีกครั้ง จากที่ผ่านมาติดลบ

ส่วนกรณีที่ครม.มีมติโอนอำนาจหน้าที่ของกระทรวงต่างๆ ส่งผลให้กฎหมายรวม 31 ฉบับขึ้นตรงกับพล.อ.ประยุทธ์ เป็นการชั่วคราวนั้น ยิ่งตอกย้ำว่าพล.อ.ประยุทธ์ กำลังเหลิงอำนาจ ทั้งที่บริหารประเทศ ในสถานการณ์โควิด ล้มเหลวสิ้นท่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่หลงเหลือความชอบธรรมที่จะดำรงตำแหน่งนายกฯต่อไปได้ หมดเวลาแล้ว จงลาออกไปตั้งแต่ตอนนี้

จ่อยื่นร้องเอาผิดต่อป.ป.ช.

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ (ปช.) และประธานคณะกรรมการประสานงานพรรครวมฝ่ายค้านและการมีส่วนร่วมของประชาชน (ฝ่ายค้านเพื่อประชาชน) กล่าวถึงความพร้อมในการยื่นร้องเอาผิด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรณีมีพฤติการณ์จงใจปฏิบัติหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 53 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง โดยได้ปล่อยปละละเลยไม่ปฏิบัติตามและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ทำให้เชื้อโรคโควิด กลับมาแพร่ระบาดใหญ่ว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการรวบรวมพยานและหลักฐาน ซึ่งฝ่ายกฎหมายของแต่ละพรรคกำลังตรวจดูความเรียบร้อยทั้งหมด

หลักฐานจะรวบรวมตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด เช่น 1.การออก พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท โดยมีจำนวน 4.5 หมื่นล้านเป็นงบมาจัดการเรื่องโควิด ซึ่งรัฐบาลมีเวลาเป็นปีในการจัดหาวัคซีน แต่กลับมาใช้งบกลางปี 2564 ในการจัดซื้อวัคซีน 2.มีการออก พ.ร.ก.ฉุกเฉินแต่กลับปล่อยให้มีกรณีสนามมวย บ่อน และผับทองหล่อ ที่สำคัญเห็นว่ามีการเอื้อประโยชน์ให้กับ พวกพ้องมากกว่าประโยชน์ของส่วนรวม ซึ่งตรงนี้ผิดมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง คาดว่าประมาณสัปดาห์หน้ากระบวนการรวบรวมพยานหลักฐานคงจะเรียบร้อย โดยเราจะนัดหมายให้มีการลงนามร่วมกันในการยื่นคำร้องต่อ ป.ป.ช.ก่อนจะนัดกันไปยื่นร้องร่วมกัน

ก.ก.แนะ7มาตรการเยียวยาพิษโควิด

วันเดียวกัน พรรคก้าวไกล (ก.ก.) เปิดตัวศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต หรือ Think Forward Center โดยมี นายเดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์ประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นผอ.ศูนย์ เพื่อรับฟัง ศึกษา วิจัย และออกแบบนโยบายพัฒนาประเทศไทยระยะยาว

นายเดชรัตกล่าวว่า จากวิกฤตโควิด ทำให้สถานการณ์ขณะนี้ไม่ต่างกับมีการล็อกดาวน์ เศรษฐกิจหยุดชะงัก ประชาชนเดือดร้อน ศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต ในนามสถาบันนโยบายสาธารณะ (Think Tank) ของพรรคก้าวไกลจึงมีข้อเรียกร้องถึงรัฐบาล ดังนี้ 1.รัฐต้องพยุงการจ้างงาน โดยจ่ายเงินสนับสนุนเพื่อช่วยคงการจ้างงานในอัตรา 30% ของเงินเดือน แต่ไม่เกิน 3,500 บาท/คน/เดือน เป็นเวลา 3 เดือน และช่วยสนับสนุนเงินเพื่อคงการจ้างงาน ไม่เกิน 100 คน/สถานประกอบการ โดยมีเงื่อนไขไม่ปรับลดคนออก ซึ่งผู้ได้รับประโยชน์มีประมาณ 17 ล้านคน ใช้งบ 100,000 ล้านบาท

2.รัฐต้องชดเชยการว่างงาน ที่มาจากประกาศคำสั่งของรัฐ โดยไม่นำเงินกองทุนประกันสังคมจ่ายเงินชดเชยว่างงานด้วยเหตุสุดวิสัย 3.จ่ายชดเชยโดยตรงให้กับ ผู้ประกอบการที่ต้องถูกสั่งปิดกิจการโดย คำสั่งรัฐ 4.จ่ายเงินเยียวยาผลกระทบสำหรับ ผู้ที่อายุ 18 ปีขึ้นไป 3,000 บาท/เดือน เป็นเวลา2 เดือนทันที โดยมีผู้ได้รับประโยชน์ 50 ล้านคน ใช้งบ 300,000 ล้านบาท 5.นำมาตรการ Asset Warehousing มาประยุกต์ใช้สำหรับหนี้ครัวเรือน เช่น การยืดระยะเวลาการไถ่ถอน การลดอัตราดอกเบี้ย และการมีระยะเวลาปลอดดอกเบี้ย 3 เดือนสำหรับสถานธนานุบาลและสถานธนานุเคราะห์ และมีมาตรการพักทรัพย์พักหนี้สำหรับสินเชื่อที่อยู่อาศัย

6.ให้สินเชื่อเพื่อค่าใช้จ่ายในการศึกษา ให้ผู้ปกครองนำใบเสร็จค่าบำรุงการศึกษา และค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษาอื่น รวมถึงค่าอินเตอร์เน็ต มาขอกู้เงินแบบปลอดดอกเบี้ยตลอดปี 2564 ที่ธนาคารของรัฐ เริ่มให้คืนเงินกู้และคิดอัตราดอกเบี้ยต่ำในปี 2565 เป็นต้นไป 7.สนับสนุนงบการใช้สัญญาณอินเตอร์เน็ต และอุปกรณ์ทางการศึกษาที่เหมาะสมกับสภาพการเรียนการสอนแบบทางไกลหรือออนไลน์ ในวงเงิน 1,500 บาท/ภาคการศึกษา และภาครัฐควรประสานกับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และภาคธุรกิจโทรคมนาคม ให้บริการในค่าบริการที่ต่ำที่สุด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน