ฟ้าพรหมศรได้ประกัน ม็อบรำลึก9ปีอากงตาย
พลเมืองโต้กลับ จัดรำลึกครบรอบ 9 ปี อากง ตายคาคุก จากคดีส่งเอสเอ็มเอส ด้านศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้ประกันฟ้า-พรหมศร แกนนำราษฎร ที่ถูกขังนาน 53 วัน ปล่อยตัว 11 พ.ค. โฆษกศาลแจงที่ต้องรอ ไม่ใช่เพราะเป็นวันหยุดราชการ แต่เนื่องจากต้องทำสัญญาประกัน โดยฝ่าย ผู้ต้องหาพร้อมวันดังกล่าวเอง แจงหลักเกณฑ์พิจารณาประกันกรณีรุ้ง-ปนัสยา ได้เพราะมีแม่-อาจารย์ คอยกำกับดูแล ระบุต่อจากนี้หลักให้ประกันไม่คิดเรื่องเงินอย่างเดียว ด้านทนายสิทธิฯเตรียมยื่นประกันสิรภพ ยึดเงื่อนไขเดียวกับตี้ พะเยา สมศักดิ์ เทพสุทิน ระบุเป็นประโยชน์ เพนกวิน อดข้าวจนน้ำหนักลด

9ปีอากง – กลุ่มพลเมืองโต้กลับทำพิธีเสกสถาปนา ‘ลานอากง’ เพื่อรำลึก 9 ปี นายอำพล ตั้งนพกุล หรืออากง ผู้ต้องโทษคดีมาตรา 112 เสียชีวิตในเรือนจำ และเป็นเครื่องเตือนใจถึงกระบวนการยุติธรรม ที่ฟุตปาธหน้าศาลฎีกา เมื่อวันที่ 8 พ.ค.
วันที่ 8 พ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานเพจเฟซบุ๊ก ราษฎร แจ้งว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้ประกันตัว ฟ้า พรหมศร โดยวางหลักทรัพย์ 200,000 บาท และยอมรับเงื่อนไขของศาล และติดอีเอ็ม โดยจะปล่อยตัวในวันที่ 11 พ.ค. ฟ้า พรหมศร วีระธรรมจารี สมาชิกกลุ่มคณะราษฎรมูเตลู เป็นผู้ถูกกล่าวหาตามมาตรา 112 จากกรณีปราศรัยหน้าศาลจังหวัดธัญบุรี ฟ้าถูกคุมขัง ในชั้นสอบสวน (อัยการยังไม่ได้สั่งฟ้อง) ที่ เรือนจำอำเภอธัญบุรี ตั้งแต่วันที่ 17 มี.ค. รวมเป็น 53 วัน โดยฟ้าจึงอดอาหารเพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัวครั้งแรก 19 วัน และเริ่ม อดอาหารอีกครั้งตั้งแต่วันที่ 26 เม.ย. ด้านนายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวว่า การปล่อยตัวนายพรหมศร ที่ระบุว่าต้องปล่อยตัววันที่ 11 พ.ค. เพราะติด วันหยุดราชการนั้น ข้อเท็จจริงคือ ศาลอ่านคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 1 ในวันที่ 8 พ.ค. โดยพิเคราะห์ว่าคดีอยู่ในระหว่างการสอบสวน ผู้ต้องหาเข้าพบพนักงานสอบสวนโดยไม่ถูกออกหมายจับ และให้การปฏิเสธ ผู้ต้องหาให้ คำรับรองว่าจะไม่หลบหนีหรือยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน รวมทั้งไม่ทำการอันมีพฤติการณ์ ส่อไปในทางที่จะก่อความเสียหายดังเช่นที่ต้องหาคดีนี้ ประกอบกับมีคำรับรองของมารดาผู้ต้องหา ผู้ต้องหายินยอมให้ใช้อุปกรณ์เล็ก ทรอนิกส์ (EM) จึงเห็นควรอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาในระหว่างสอบสวน ตีราคาประกัน 2 เเสนบาทให้ติดอุปกรณ์ติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ (EM) โดยให้ถือคำรับรองของผู้ต้องหาเป็นเงื่อนไขที่ต้องปฏิบัติในการปล่อยตัวชั่วคราวให้ศาลชั้นต้นพิจารณาหลักประกันแล้วดำเนินการต่อไป โดยได้รับรายงานจากศาลจังหวัดธัญบุรีว่านายประกันของผู้ต้องหาจะมายื่นประกันตัวในวันที่ 11 พ.ค. ทั้งนี้หากมาทำสัญญาประกันวันนี้ก็ปล่อยตัวได้เลย นายสุริยัณห์ยังกล่าวถึงกรณีที่ศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว น.ส.ปนัสยา หรือรุ้ง สิทธิจิรวัฒนกุล เมื่อวันที่ 6 พ.ค. ว่า แนวคิดและมาตรการที่สำคัญซึ่งศาลยุติธรรมนำมาใช้ในการปล่อยชั่วคราว ซึ่งเป็นหลักพื้นฐานในการดำเนินคดีอาญา ที่จะต้องคำนึงถึงการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคลควบคู่ไปกับความปลอดภัยและความสงบสุขของสังคมเสมอ ไม่สุดโต่งไปด้านใดด้านหนึ่ง เพราะคงรับกันไม่ได้หากจะคำนึงถึงแต่ความสงบเรียบร้อย โดยละเลยสิทธิเสรีภาพของผู้ถูก คุมขัง ทั้งที่ยังไม่มีคำพิพากษาว่าเขากระทำความผิด หรือให้ความสำคัญต่อสิทธิเสรีภาพจนเกินเลย ทั้งที่ทราบดีว่าหากปล่อยออกไป ผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้นจะหลบหนีหรือจะไป ก่อภัยอันตรายหรือความเสียหายต่อสังคม มาตรการใหม่คือ “การกำกับดูแลในระหว่างที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยได้รับการปล่อยชั่วคราว” ซึ่งดีกว่าการเรียกให้วางหลักประกัน เพราะระบบนี้ให้อำนาจศาลที่จะตั้งผู้กำกับดูแลคอยสอดส่องพฤติกรรมของผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ถูกปล่อยออกไปได้ด้วย ในกรณีของรุ้ง เงื่อนไขที่ศาลกำหนดให้ปฏิบัติเป็นไปตามที่รุ้งแถลงไว้ต่อศาล นอกจากนี้ยังมีบิดามารดาและอาจารย์ของรุ้งมายืนยันกับศาลว่าจะช่วยกำกับดูแลให้รุ้งปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ศาลกำหนดยิ่งทำให้มีน้ำหนักมากยิ่งขึ้น และนำมาสู่คำสั่งให้ประกันตัวในที่สุด แสดงว่าเงื่อนไขรวมถึงคำมั่นของตัวรุ้งเอง และการสอดส่องดูแลโดยบิดามารดาและครูอาจารย์ที่รับอาสาเพียงพอในการกำกับดูแลแล้ว นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวถึงความคืบหน้าภายหลังจากศาลอาญากรุงเทพฯใต้ มีคำสั่งไม่ให้ประกันตัว นายสิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ หรือขนุน อายุ 20 ปี แกนนำกลุ่ม มศว คนรุ่นเปลี่ยน เเละนายชูเกียรติ แสงวงค์ หรือจัสติน อายุ 30 ปี ในคดีที่ถูกพนักงานอัยการยื่นฟ้อง ทั้งสองเป็นแนวร่วมผู้ชุมนุมกลุ่มราษฎร เป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดฐาน หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์, ร่วมกันจัดกิจกรรม รวมกลุ่มใช้สิทธิเพื่อการชุมนุมโดยไม่แจ้งการชุมนุม ต่อผู้รับแจ้งก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง และไม่จัดให้มีมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนด ตาม ป.อาญา ม.112, พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ และพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กรณีเมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2563 จำเลยทั้งสองชุมนุมกับพวกร่วมชุมนุมที่บริเวณแยกราชประสงค์ ว่าขณะนี้กำลังปรึกษากับทางทีมทนายความเเละญาติของจำเลยอยู่ว่าเราจะทำอย่างไรกันต่อในการยื่นประกันตัวจำเลยออกมาสู้คดีข้างนอก โดยเราได้ศึกษาจากเคสอื่นๆ เช่นกรณีที่ศาลอาญาธนบุรีให้ประกัน น.ส.วรรณวลี ธรรมสัตยา หรือ “ตี้ พะเยา” แกนนำกลุ่มราษฎร ซึ่งจะเห็นว่าศาลได้มีการวางเเนวทางไว้เเล้ว เราก็จะต้องมาประเมินปรึกษาว่าเราจะทำอย่างไรต่อ จะใช้วิธียื่นประกันใหม่ต่อศาลชั้นต้นอีกครั้ง หรือยื่นอุทธรณ์คำสั่งไปยังศาลอุทธรณ์ เเละเงื่อนไขที่เราจะเสนอไปจะมีอะไรบ้าง โดยขณะนี้ยังไม่ได้กำหนดกรอบระยะเวลาว่าจะยื่นประกันอีกครั้งเมื่อไหร่ ต้องประชุมคุยกันถึงเเนวทางให้เสร็จสิ้นก่อน นายธวัชชัย ชัยวัฒน์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยถึงการรักษาตัวของนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวินว่า ร.พ.รามาธิบดี ส่งตัวกลับมาที่ร.พ.ราชทัณฑ์ เมื่อวันที่ 6 พ.ค. แพทย์ตรวจร่างกาย เพนกวิน พบว่า สภาพร่างกายทั่วไปรู้สึกตัวดี พูดคุยรู้เรื่อง ช่วยเหลือตัวเองได้ สัญญาณชีพอยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่ปวดท้อง แม้เจ้าตัวจะปฏิเสธการรับประทานอาหาร แต่สามารถดื่มผลิตภัณฑ์ที่ให้สารอาหารที่ร่างกายต้องการได้หมดตามแผนการรักษาของ นักโภชนาการ รวมทั้งไม่มีอาการแสดงของโรคติดเชื้อโควิด-19 หากมารดาต้องการเยี่ยม สามารถลงทะเบียนเพื่อเยี่ยมญาติออนไลน์ ผ่านจอภาพ (แอพพลิเคชั่นไลน์) ได้ เป็นการดำเนินการเหมือนกันในเรือนจำและทัณฑ สถานทั่วประเทศตามสิทธิที่ผู้ต้องขังทุกคนได้รับอย่างเท่าเทียมกันและไม่มีการให้อภิสิทธิ์ กับใครเป็นพิเศษ ที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม กล่าวว่า ผู้ถูกควบคุมตัวจากคดีการเมืองที่ผู้คนให้ความสนใจ คือ นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน และนายไชยอมร แก้ววิบูย์พันธุ์ หรือแอมมี่ แกนนำกลุ่มราษฎร ศาลให้เบิกตัวเพื่อไต่สวนในวันที่ 11 พ.ค. เวลา 10.00 น. และผู้คนอาจจะถามความเป็นอยู่ ตนขอชี้แจงว่า นายพริษฐ์ ขณะนี้รักษาตัวอยู่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ สุขภาพพลานามัยสมบูรณ์ อาหารเหลวรับประทานอยู่ น้ำหนักลดจาก 104 ก.ก. เหลือ 95 ก.ก. ความดันอื่นๆ หมอบอกไม่เป็นไร อยู่ได้ และเป็นประโยชน์ด้วยที่น้ำหนักลด เมื่อเวลา 17.00 น. กลุ่มพลเมืองโต้กลับ จัดกิจกรรมยืนหยุดขัง ที่หน้าศาลฎีกา สนามหลวง โดยมีกิจกรรมพิเศษ คือการรำลึก 9 ปี การ เสียชีวิตของนายอำพล ตั้งนพกุล หรืออากง ผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 จากการส่งเอสเอ็มเอส ที่เสียชีวิตเมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2555

112 นาที – คณะราษฎรอยุธยา จัดกิจกรรม ‘ยืนหยุดขัง’ เป็นเวลา 112 นาที ร่วมเรียกร้องสิทธิ์ประกันตัวระหว่างการพิจารณาคดีชั้นศาล พร้อมตั้งโต๊ะล่าชื่อรื้อระบอบประยุทธ์ ที่หน้าศาลากลางจังหวัดหลังเก่า ถนนศรีสรรเพชญ์ จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 8 พ.ค.
ที่ด้านหน้าศูนย์ข้อมูลการท่องเที่ยวพระนครศรีอยุธยา หรืออาคารศาลากลางจังหวัดหลังเก่า ริมถนนศรีสรรเพชญ์ ตัดถนนปรีดี พนมยงค์ อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา กลุ่มคณะราษฎรอยุธยา ร่วมกันจัดกิจกรรม ยืน หยุด ขัง 112 นาที เป็นการจัดกิจกรรมครั้งที่ 4 เพื่อเป็นการออกแสดงเชิงสัญลักษณ์ เรียกร้องให้ปล่อยตัวหรือให้ประกันตัวกลุ่มผู้ต้องหา ในคดีม.112 ด้วยการยืนหันหน้าไปทางสะพานปรีดีธำรง ถือแผ่นป้าย มีการเขียนข้อความ พร้อมกับภาพของบุคคลที่ยังถูกคุมขังตามความผิด ม.112 ที่ยังถูกขังในเรือนจำ พร้อมด้วยข้อความ #saev เพนกวิน โดยทุกคนที่เข้าร่วมกิจกรรม ผ่านการคัดกรอง ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ สวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา ในการยืนร่วมกิจกรรม จัดการยืนให้เว้นระยะห่าง นอกจากนี้ยังมีการตั้งโต๊ะ ลงรายชื่อ “ขอคนละชื่อรื้อระบอบประยุทธ์” ล่ารายชื่อประชาชน 1 ล้านรายชื่อ เพื่อแก้รัฐธรรมนูญเปิดทางสู่ประชาธิปไตย มีรถยนต์ที่สัญจรไปมาได้ลดกระจกรถ และชูสามนิ้วเพื่อเป็นการให้กำลังใจกับกลุ่มคณะราษฎรอยุธยา จนถึงเวลา 18.22 น.กลุ่มคณะราษฎรอยุธยา ยุติการจัดกิจกรรม ด้านนายปิยรัฐ จงเทพ ที่ได้รับประกันตัวโดยติดกำไลอีเอ็ม โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กพบประสบอุบัติเหตุยางแตก และขณะกำลังซ่อมก็พบเครื่องส่งสัญญาณจีพีเอส ติดใต้ ท้องรถ ระบุว่าตัวเองติดกำไลอีเอ็มอยู่แล้ว ยังจะต้องติดจีพีเอสติดตามตัวอีกเหรอ