ฎีกาให้ประกัน
คดีขายเสื้อดำ

ศาลฎีกาให้ประกันตัว 3 ผู้ต้องหาคดีขายเสื้อดำ สหพันธรัฐไท ตีราคาคนละ 3 แสน ติดกำไลอีเอ็ม หลังศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำคุกตามศาลชั้นต้น โดยศาลฎีกาให้เหตุผลไม่เคยมีพฤติกรรมหลบหนีอีกทั้งโทษจำคุกของศาลชั้นต้นไม่สูงมากนัก แต่ยังเหลือจำเลยอีก 1 คน ที่ติดคุกมาเกือบ 2 ปีจากคดีเดียวกัน และครบกำหนดปล่อยตัววันที่ 23 พ.ค.นี้ ขณะที่อดีตอาจารย์มข. เดวิด สเตร็กฟัสส์ เตรียมแจ้งความสนธิลิ้ม กล่าวหาเป็นซีไอเอ กรมราชทัณฑ์โต้รุ้ง ยันไม่ได้ปกปิดข้อมูล ยันไม่ได้ติดเชื้อในเรือนจำ ยืนหยุดขังวันที่ 54 จี้ปล่อยตัวอีก 6 คน

วันที่ 54 – กลุ่มพลเมืองโต้กลับ จัดกิจกรรม ‘ยืน หยุด ขัง’ เป็นวันที่ 54 เรียกร้องสิทธิประกันตัวแกนนำและแนวร่วมกลุ่มราษฎร ที่ยังไม่ได้ รับการปล่อยตัวอีก 6 คน ที่ริมถนนราชดำเนินใน หน้าศาลฎีกา สนามหลวง เมื่อ 16 พ.ค.

วันที่ 16 พ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 15 พ.ค. ศาลอาญา รัชดาฯ อ่านคำสั่งศาลฎีกาอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว กฤษณะ (จำเลยที่ 1), เทอดศักดิ์ (จำเลยที่ 2), วรรณภา (จำเลยที่ 4) จำเลยข้อหา “เป็นอั้งยี่” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 จากการแจกใบปลิว สติ๊กเกอร์ และขายเสื้อสีดำ และถูกเชื่อมโยงว่ามีส่วนร่วมกับองค์การ “สหพันธรัฐไท” โดยศาลกำหนดวงเงินคนละ 300,000 บาท พร้อมกับเงื่อนไขติดอุปกรณ์ติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ (EM)

โดยเมื่อวันที่ 12 พ.ค. ที่ผ่านมา ทนายความยื่นประกันตัว 3 จำเลยระหว่างฎีกาเป็นครั้งที่ 2 หลังทั้งสามถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และทัณฑสถานหญิงกลาง ตั้งแต่ 27 เม.ย. 64 จากการที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำคุก อีกทั้งเมื่อศาลชั้นต้นส่งคำร้องขอประกันให้ศาลฎีกาพิจารณา ศาลฎีกามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในวันที่ 29 เม.ย. 64

ทั้งสามถูกคุมขังเป็นเวลา 19 วันแล้ว ก่อนที่ศาลอาญาจะอ่านคำสั่งศาลฎีกาลงวันที่ 14 พ.ค. 64 อนุญาตให้ประกันตัว โดยศาลฎีกาให้เหตุผลว่า จำเลยที่ 1, 2 และ 4 ได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวมาก่อน ไม่ปรากฏว่ามีพฤติการณ์หลบหนี ประกอบกับศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1, 2 และ 4 ไม่สูงนัก หากจำเลยที่ 1, 2 และ 4 ยินยอมให้ติดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว ก็อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างฎีกา ตีราคาประกันคนละ 300,000 บาท ให้ศาลชั้นต้นสอบถามความยินยอมของจำเลยที่ 1, 2 และ 4 และพิจารณาหลักประกัน แล้วดำเนินการต่อไป

หลังจากทราบคำสั่งศาลฎีกาแล้ว ทนายจำเลยยื่นคำร้องต่อศาลอาญาขอขยายระยะเวลาติดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (EM) ระบุว่า จำเลยทั้งสามยินยอมให้ติด EM แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และทัณฑสถานหญิงกลาง ทำให้จำเลยทั้งสามต้องไปตรวจเชื้อดังกล่าวเมื่อได้รับการปล่อยตัว ทั้งยังต้องกักตัวอีก 14 วัน เพื่อความปลอดภัยของบุคลากรที่เกี่ยวข้อง จึงขอมาศาลเพื่อติด EM ภายในเวลา 20 วัน หลังได้รับการปล่อยตัว โดยศาลมีคำสั่งอนุญาต

ทำให้กฤษณะ, เทอดศักดิ์ และวรรณภา ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และทัณฑสถานหญิงกลางในเย็นนี้ทันที โดยทั้งสามต้องไปรับการตรวจเชื้อโควิด-19 ด้วยตนเอง พร้อมกักตัวให้ครบระยะกำหนดเวลา 14 วัน และต้องเดินทางมาศาลเพื่อติดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ภายในวันที่ 4 มิ.ย. 64

นอกจากจำเลยทั้งสาม ยังมีประพันธ์ (จำเลยที่ 3) ที่ยังคงถูกขังระหว่างพิจารณาที่ทัณฑสถานหญิงกลาง มาตั้งแต่วันที่ 10 พ.ค. 2562 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลาเกือบ 2 ปีแล้ว คาดว่าครบกำหนดปล่อยตัวในวันที่ 23 พ.ค. 64 นี้

อย่างไรก็ตาม คดีนี้จำเลยถูกพิพากษาจากศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ในความผิดฐานเป็นอั้งยี่ ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท ขณะที่ศาลฎีกาตีราคาประกันเป็นเงินค่อนข้างสูง ทั้งยังให้ติด EM

จากกรณีน.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง แกนนำกลุ่มราษฎร โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวว่าโดยระบุว่า “บิดาและมารดาติดเชื้อ โควิด-19 จากตนที่ได้รับเชื้อมาจากในเรือนจำ โดยระบุว่าผู้ต้องขังและนักโทษไม่เคยทราบมาก่อนว่ามีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 มากน้อยเพียงใดในเรือนจำ” นั้น

กรมราชทัณฑ์ออกเอกสารข่าวชี้แจง โดยระบุว่ากรมราชทัณฑ์ ขอชี้แจงว่ามีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จริงในหลายเรือนจำ แต่กรมราชทัณฑ์ยังคงดำเนินการตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขที่ได้กำหนดไว้ ซึ่งในกรณีของน.ส.ปนัสยา กรมราชทัณฑ์ ขอเรียนชี้แจง ดังนี้

กรมราชทัณฑ์ รับตัวน.ส.ปนัสยา เมื่อ วันที่ 8 มี.ค. 2564 โดยควบคุมภายในห้องกักโรค ของแดนแรกรับ และดำเนินการตรวจหาเชื้อโควิด 19 ด้วยการสว็อบ ครั้งแรก เมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2564 ผลไม่พบการติดเชื้อ และตรวจหาเชื้อครั้งที่สอง เมื่อวันที่ 23 เม.ย. 2564 ผลไม่พบการติดเชื้อเช่นกัน จนกระทั่งวันที่ 26 เม.ย. 2564 อนุญาตให้น.ส.ปนัสยาลงจากห้องกักโรค (บนอาคารเรือนนอน) ลงมาอยู่ร่วมกับผู้ต้องขังอื่นภายในแดนแรกรับ จนกระทั่งได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 6 พ.ค. 2564

ทั้งนี้ ทัณฑสถานหญิงกลาง แบ่งการควบคุมเป็น 2 แดน คือแดนแรกรับ ซึ่งเป็นแดนที่น.ส.ปนัสยาถูกควบคุมตัวอยู่มีผู้ต้องขังประมาณ 1,500 คน ตรวจคัดกรองผู้ต้องขัง 100 เปอร์เซ็นต์ เมื่อวันที่ 8 พ.ค.2564 ภายหลังจากน.ส.ปนัสยา ปล่อยตัวไป ไม่พบ ผู้ต้องขังแดนนี้ติดเชื้อ ซึ่งในจำนวนนี้รวมถึงผู้ต้องขังที่นอนห้องเดียวกันและใช้ชีวิตใกล้ ชิดกับน.ส.ปนัสยา ตั้งแต่พ้นจากห้องกักโรค 4 คน ก็ไม่พบการติดเชื้อเช่นกัน

สำหรับอีกแดนหนึ่ง คือแดนผู้ต้องขังเด็ดขาดที่เกิดการระบาดของโรค ซึ่งมีผู้ต้องขังประมาณ 2,900 คน ตรวจคัดกรองผู้ต้องขัง 100 เปอร์เซ็นต์ พบผู้ต้องขังติดเชื้ออยู่ในแดนนี้ 1,039 คน ตามที่ปรากฏเป็นข่าว และได้ย้ายผู้ต้องขังที่ติดเชื้อไปเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสนามของทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์เรียบร้อยแล้ว

ดังนั้นจึงขอสร้างความเข้าใจต่อสังคมว่า กรมราชทัณฑ์ไม่ได้มีนโยบายหรือสั่งการให้ปิดบังข้อมูลสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด 19 ในเรือนจำและทัณฑสถานแต่อย่างใด อีกทั้งยังมีหนังสือกำชับให้เรือนจำและทัณฑสถานปฏิบัติตามมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ตามมาตรฐานกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด

รายงานข่าวแจ้งว่า วันที่ 17 พ.ค. เวลา 13.30 น. นายเดวิด สเตร็กฟัสส์ นักวิชาการชาวอเมริกัน และผู้ประสานงานระหว่างต่างประเทศ เดอะ อีสาน เร็คคอร์ด สื่อทางเลือกในภาคอีสาน จะเข้าแจ้งความ นายสนธิ ลิ้มทองกุล ในข้อหาหมิ่นประมาท ที่ สภ.เมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น ที่กล่าวหาว่าเป็นซีไอเอ

ทั้งนี้ ดร.เดวิด สเตร็กฟัสส์ อดีต ผอ.ศูนย์แลกเปลี่ยนการศึกษาระหว่างประเทศ และ ผู้ดูแลเว็บไซต์ เดอะ อีสาน เร็คคอร์ด นักวิชาการชื่อดังชาวอเมริกัน ผู้พำนักอยู่ในเมืองไทยนานเกือบ 40 ปี ถูกมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ยกเลิกสัญญา ท่ามกลางกระแสข่าวว่ามีตำรวจเข้ากดดันผู้บริหาร ก่อน มข. ส่งผลให้วีซ่าสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 18 มี.ค. ที่ผ่านมา

และต้องยื่นขอวีซ่าใหม่เพื่อทำงานในบริษัท บัฟฟาโล่ เบิร์ด โปรดักชั่นส์ ที่ดูแล เดอะ อีสาน เร็คคอร์ด (เป็นผู้ประสานงานระหว่างประเทศ) ต่อมา ในวันที่ 3 พ.ค. กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง พิจารณาอนุญาตให้อยู่ต่อในราชอาณาจักรไทยได้ เป็นวีซ่าทำงาน ซึ่ง ดร.เดวิดสามารถทำงานที่บริษัท บัฟฟาโล่ เบิร์ดฯ ในการผลิตสื่อและสารคดีได้ มีใบอนุญาตทำงานเป็นที่เรียบร้อย

เมื่อเวลา 17.30 น. กลุ่มพลเมืองโต้กลับ ทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ “ยืนหยุดขัง” เป็นวันที่ 54 เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ต้องขังจากการทำกิจกรรมเรียกร้องประชาธิปไตย ซึ่งระบุว่าจะจัดขึ้นทุกวัน จนกว่าเพื่อนจะได้รับอิสรภาพ โดยยืนถือป้ายภาพและข้อความเรียกร้องให้คืนสิทธิการประกันตัวแก่นักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันนี้นักวิชาการชื่อดัง 2 รายได้เข้าร่วมกิจกรรมด้วย ได้แก่ รศ.อนุสรณ์ อุณโณ อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ผศ.ดร.ชลิตา บัณฑุวงศ์ อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยทั้งสองสวมเสื้อยืดสีดำ มีข้อความ ‘ปล่อยเพื่อนเรา’ ซึ่งจัดทำโดยกลุ่มพลเมืองโต้กลับ แขวนป้ายบนหน้าอกเป็นภาพนายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ และนายชูเกียรติ แสงวงค์ หรือจัสติน

กลุ่มพลเมืองโต้กลับระบุว่า ขณะนี้ยังเหลือผู้ต้องขังอีก 6 รายในเรือนจำที่ยังไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว ได้แก่ 1.นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์, 2.นายอานนท์ นำภา, 3.นายชูเกียรติ แสงวงค์ หรือจัสติน, 4.นายณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร หรือแฟรงค์, 5.นายธวัช สุขประเสริฐ ผู้ต้องหาคดีล้อมรถ และ 6.นายแซม สาแมท โดยเรียกร้องให้กรมราชทัณฑ์ต้องจัดการควบคุมโรคระบาดและดูแลรักษาผู้ต้องขังให้ดีขึ้น

สำหรับวันนี้มีผู้ร่วมกิจกรรม โดยยืนบริเวณลานหน้าป้ายศาลฎีกา ซึ่งกลุ่มพลเมืองโต้กลับ นำโดย นายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ หรือพ่อน้องเฌอ ผู้ถูกยิงเสียชีวิตระหว่างการสลายชุมนุมเสื้อแดงปี’53 และนายบารมี ชัยรัตน์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน ร่วมกันทำพิธีเชิงสัญลักษณ์ และเรียกว่า ‘ลานอากง’ เพื่อรำลึกถึงนายอำพล ตั้งนพกุล หรืออากง ผู้ต้องโทษคดี 112 ในวาระครบรอบการเสียชีวิต 9 ปี

นอกจากนี้ ผู้ร่วมกิจกรรมจำนวนหนึ่งยืนเรียงแถวริมรั้วศาลฎีกา ฝั่งมุ่งหน้าประติมากรรมแม่พระธรณีบีบมวยผม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน