ยกเว้น-ชนิดทางเลือก มท.สั่งด่วนเตรียมที่ฉีด

เผยหลักเกณฑ์ของ ‘สปสช.’ ถ้าฉีดวัคซีนแล้วมีอาการแพ้ถึงตาย-พิการถาวรจ่ายสูงสุด 400,000 บาท เจ็บป่วยได้ 100,000 บาท ยกเว้นฉีดวัคซีนทางเลือกกับร.พ.เอกชน กรมราชทัณฑ์ระดมฉีดทั้ง ซิโนแวค-แอสตร้าเซนเนก้าในเรือนจำพิเศษมีนบุรีแห่งแรก 1,500 ราย เผยผู้ต้องขังติดเชื้อรายใหม่อีก 523 ราย รวมจำนวนอยู่ระหว่างรักษา 14,348 ราย ปลัดมท.สั่งผู้ว่าฯทุกจังหวัดเตรียมความพร้อมฉีดประชาชนทั่วประเทศ จัดสถานที่ 1,400 กว่าแห่ง เพื่อให้ได้วันละ 8.2 แสนคน

คลอดเกณฑ์ชดเชยแพ้วัคซีน

วันที่ 22 พ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อ วันที่ 21 พ.ค. เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้น กรณีผู้รับบริการได้รับความเสียหายจากการรับวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19) พ.ศ.2564 ประกาศฉบับนี้ ลงนามโดยนายจเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และมีผลบังคับใช้แล้ว ตั้งแต่วันที่ 5 เม.ย.ที่ผ่านมา สาระสำคัญของประกาศฉบับนี้ระบุว่า “ผู้รับบริการ” ที่ได้รับเงินช่วยเหลือ เบื้องต้นตามประกาศนี้ จะต้องเป็นการเข้ารับการวัคซีนตามแผนงาน โครงการ หรือกิจกรรมการป้องกัน และขจัดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 จากรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และให้รวมถึงความเสียหายที่เกิดจากเหตุสุดวิสัยจากการรับวัคซีนดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ไม่รวมถึง “วัคซีนทางเลือก” ที่ให้บริการโดยสถานบริการของเอกชนซึ่งเรียกเก็บค่าใช้จ่าย จากผู้รับบริการ สำหรับประเภทของความเสียหายที่เกิดจากการรับวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อโควิด-19 และอัตราการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้น แบ่งออกดังนี้ 1.เสียชีวิต หรือทุพพลภาพอย่างถาวร หรือเจ็บป่วยเรื้อรังที่ต้องได้รับการรักษาตลอดชีวิต และมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการดำรงชีวิต จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นได้ในอัตราไม่เกิน 400,000 บาท 2.สูญเสียอวัยวะหรือพิการที่มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นได้ในอัตราไม่เกิน 240,000 บาท 3.บาดเจ็บหรือเจ็บป่วยต่อเนื่องจากการได้รับวัคซีน โดยมีความเห็นของแพทย์ผู้ตรวจรักษา ประกอบด้วย จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นได้ในอัตราไม่เกิน 100,000 บาท ประกาศฉบับดังกล่าวยังระบุด้วยว่า ให้ผู้รับบริการซึ่งได้รับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการรับวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อโควิด-19 ก่อนประกาศนี้ใช้บังคับ ให้ถือว่าเป็นผู้รับบริการที่ได้รับความเสียหายตามประกาศนี้ด้วย และให้เลขาธิการสปสช. เป็นผู้รักษาการและมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามประกาศนี้

มท.สั่งเตรียมจุดฉีด1.4พันแห่ง

วันเดียวกัน ศูนย์บริหารสถานการณ์ การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงมหาดไทย (ศบค.มท.) เปิดเผยว่า นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดมท. สั่งการไปยังผู้ว่าราชการทุกจังหวัด เสนอคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดพิจารณาร่วมกันด้านการเตรียมความพร้อมฉีดวัคซีนของจังหวัดให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ภายในวันที่ 28 พ.ค. โดยวางระบบการฉีดวัคซีนให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ทั่วถึง สะดวก และเป็นไปตามลำดับความสำคัญ รวมทั้งความพร้อมของสถานที่ฉีดวัคซีน บุคลากร และวัสดุอุปกรณ์ ทั้งนี้ จากข้อมูล ณ วันที่ 21 พ.ค.ทุกจังหวัดทั่วประเทศ เตรียมความพร้อมสถานที่สำหรับบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ประชาชน กว่า 1,400 แห่ง รองรับประชาชนได้รวม 8.2 แสนคนต่อวัน

ประเดิมฉีด – นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ตรวจความเรียบร้อยในการฉีดวัคซีนป้องกัน โควิด-19 แก่ผู้ต้องขัง โดยประเดิมเรือนจำมีนบุรีเป็นวันแรก จากนี้ไปจะระดมฉีดใน ทุกเรือนจำทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 22 พ.ค.

เรือนจำมีนบุรีฉีดแห่งแรก

นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวถึงความคืบหน้าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในเรือนจำและทัณฑสถานว่า ข้อมูลล่าสุดมีผู้ต้องขังติดเชื้อรายใหม่ 523 ราย รักษาหาย 218 ราย รวมผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างการรักษา 14,348 ราย มีเรือนจำและทัณฑสถานที่พบผู้ติดเชื้อ 12 แห่ง ปัจจุบันมีผู้ต้องขังได้รับการตรวจเชื้อแล้ว 37,288 ราย มีเรือนจำที่ตรวจครบ 100% เพิ่มอีก 1 แห่ง คือ เรือนจำกลางฉะเชิงเทรา ส่วนเรือนจำอื่นๆ ที่ตรวจครบแล้ว ยังมีการตรวจหาเชื้อซ้ำทุกๆ 7 วัน ในกลุ่มที่ยังไม่พบเชื้อ รวมถึงการตรวจหาเชื้อในผู้ต้องขังเรือนจำอื่นและผู้ต้องขังเข้าใหม่ทุกรายจนกว่าสถานการณ์จะปกติ “ด้านความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนให้ ผู้ต้องขัง ในวันนี้กรมราชทัณฑ์จะเริ่มฉีดวัคซีนแก่ผู้ต้องขังที่เรือนจำพิเศษมีนบุรีเป็นแห่งแรก 1,500 ราย และตั้งเป้าฉีดวัคซีนเข็มแรกจนครบ 3,831 ราย ภายใน 1 สัปดาห์ โดยการสนับสนุนวัคซีนจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นวัคซีน 2 ชนิด คือ ซิโนแวค ฉีดแก่ผู้ต้องขังกลุ่มอายุต่ำกว่า 60 ปี และแอสตร้าเซนเนก้า ฉีดให้กับ ผู้ต้องขังกลุ่มสูงอายุ และกลุ่มป่วย 7 โรคเรื้อรัง ด้วยความร่วมมือในการให้บริการฉีด โดยร.พ.นวมินทร์ 9 และทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์” อธิบดีกรมราชทัณฑ์กล่าว นอกจากนี้กรมราชทัณฑ์มอบหมายให้ศูนย์ CARE ประจำเรือนจำและทัณฑสถานทุกแห่ง รับผิดชอบในการประสานงานรวบรวมข้อมูลของผู้ต้องขังที่ติดเชื้อ และแจ้งให้ญาติผู้ต้องขังทราบเป็นการเฉพาะราย พร้อมทั้งแจ้งความคืบหน้าการรักษา และอาการป่วยของผู้ต้องขังให้ญาติทราบผ่านทางโทรศัพท์ หรือช่องทางการสื่อสารอื่นใดที่ได้แจ้งไว้ เพื่อบรรเทาความห่วงใยของญาติผู้ต้องขัง ทั้งนี้การดำเนินการทุกขั้นตอนจะต้องได้รับความยินยอมจากผู้ต้องขังก่อนเสมอ

มั่นใจ1เดือนฉีดผู้ต้องขังได้3แสน

ส่วนที่เรือนจำพิเศษมีนบุรี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม พร้อมว่าที่ ร.ต.ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ เลขานุการรมว.ยุติธรรม นพ. วีระกิตติ์ หาญปริพรรณ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจในการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้แก่ผู้ต้องขังนำร่องแห่งแรกของประเทศไทยโดยมีพ.อ.ปริวรรตน์ วิมลปรีชาพงศ์ ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษมีนบุรี ให้การต้อนรับและนำตรวจ ซึ่งได้พูดคุยให้กำลังใจผู้ต้องขัง นายสมศักดิ์กล่าวว่า เรือนจำแห่งนี้เป็นที่แรกในประเทศที่ได้ฉีดวัคซีน โดยพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญ แม้ว่าจะฉีดวัคซีนแล้วแต่ยัง ต้องระวัง และต้องใช้มาตรการป้องกันของสาธารณสุขอย่างเคร่งครัดเช่นเดิม ขอให้ ผู้บัญชาการเรือนจำทุกเรือนจำปฏิบัติตามมาตรฐาน Standard Operating Procedure (SOPs) หากปฏิบัติตามจะช่วยให้เรือนจำไม่มีผู้ติดเชื้อหรือติดเชื้อน้อย และหากผู้บริหารเข้าใจมาตรการ SOPs ผลงานจะออกมาดี “หากใครยังไม่เข้าใจอาจจะต้องมีการพิจารณาปรับย้ายกันบ้าง ขอให้ทุกคนตั้งใจทำงานให้ดีที่สุด โดยในพื้นที่กทม.และปริมณฑล หากระดมฉีดวัคซีน ภายใน 1 เดือนน่าจะเสร็จ ซึ่งหากเราคำนวณค่าใช้จ่ายการฉีดวัคซีนให้กับผู้ต้องขัง 300,000 คน จะน้อยมากหากเทียบกับการใช้ยารักษาคนติดเชื้อโควิด” รมว.ยุติธรรมกล่าว

มอบวัคซีนให้โคราช 1 แสนโดส

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รมว.สาธารณสุข เดินทางมาเป็นประธานในพิธีนำส่งมอบวัคซีนป้องกันโควิด-19 ถึงมือประชาชนชาวโคราช และจังหวัดในเขตนครชัยบุรินทร์ ซึ่งประกอบไปด้วย นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา จ.นครราชสีมา โดยนำวัคซีน 1 แสนโดส มามอบให้กับประชาชนในพื้นที่จ.นครราช สีมา พร้อมตรวจเยี่ยมให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์ และประชาชนที่มารับการฉีดวัคซีน ซึ่งจ.นครราชสีมาเริ่มทดสอบระบบ ขั้นตอน การฉีดวัคซีนให้กับบุคลากรทางการแพทย์ และประชาชนทั่วไปที่ลงทะเบียนผ่านทางช่องทางต่างๆ มาตั้งแต่วันที่ 19-23 พ.ค. เพื่อเตรียมความพร้อมในการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนกลุ่มเสี่ยง 2 กลุ่มหลัก ในวันที่ 24 พ.ค. และประชาชนทั่วไปในวันที่ 1 มิ.ย. ทั้งนี้ตั้งแต่เริ่มดำเนินการทดสอบระบบตั้งแต่วันที่19-22 พ.ค. สามารถดำเนินการฉีดวัคซีนให้กับบุคลากรทางการแพทย์และประชาชนบางส่วนได้แล้ว กว่า 20,000 คน นายอนุทินกล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายที่จะฉีดวัคซีนให้กับประชาชนให้ได้มากที่สุด เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้เร็วที่สุดและมากที่สุด ซึ่งหากส่วนราชการดำเนินการเพียงฝ่ายเดียว อาจจะไม่เกิดความรวดเร็ว จึงได้ร่วมมือกับภาคเอกชนในการจัดตั้งจุดบริการฉีดวัคซีนให้กับประชาชน ในส่วนการฉีดวัคซีนให้กับหน่วยงานราชการ ทางกระทรวงคมนาคมจะเริ่มฉีดให้กับบุคลากรขนส่งสาธารณะ และจะเริ่มฉีดให้กับหน่วยงานราชการต่างๆ ซึ่งจะทำให้การฉีดวัคซีนครอบคลุมประชาชนได้เร็ว ส่วนตามโรงพยาบาล (ร.พ.) ต่างๆ ร.พ. จังหวัด ร.พ.ชุมชน ร.พ.อำเภอ หรือแม้กระทั่ง รพ.สต. ทางสธ.จะเพิ่มขีดความสามารถในการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทั้งนี้การกระจายวัคซีนไปถึงพี่น้องประชาชนอย่างแพร่หลาย น่าจะเริ่มในเดือนมิ.ย.เป็นต้นไป อย่างไรก็ตามการฉีดวัคซีนให้กับพี่น้องประชาชน นายกรัฐมนตรี มีความเป็นห่วงและได้สั่งการให้สธ.ดูแลพี่น้องประชาชนอย่างเต็มที่ และฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมโดยเร็วที่สุด พี่น้องประชาชนที่มารับการฉีดวัคซีนจะได้รับการดูแลจากทีมแพทย์ พยาบาลอย่างใกล้ชิด ไม่มีอะไรน่ากังวล ขอให้ประชาชนร่วมใจกันออกมาฉีดวัคซีนตามที่ได้ลงทะเบียนและนัดหมายไว้ รัฐบาลให้คำมั่นสัญญาว่าจะดูแลพี่น้องประชาชนในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งเรื่องการรักษาพยาบาลที่ดี และการฉีดวัคซีน จนกว่าโรคโควิด-19 จะหมดไป จนกลายเป็นโรคประจำถิ่นทั่วไปในที่สุด

อยุธยาได้ล็อตแรก 3.8 หมื่นโดส

นายภานุ แย้มศรี ผู้ว่าฯพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า แผนการกระจายวัคซีนจะต้องดูความสัมพันธ์กับจำนวนวัคซีนที่ได้รับจากรัฐบาล ซึ่งเดิมมีแผนจะได้รับในเดือนมิ.ย. 4 หมื่นโดส สำหรับ 4 หมื่นคน เป็นวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า แต่เนื่องจากในระหว่างทางมีบางจังหวัดของประเทศไทยเกิดการติดเชื้อจำนวนมาก จึงสันนิษฐานว่ารัฐบาลจำเป็นต้องแบ่งจ่ายวัคซีนไป สำหรับ จ.พระนครศรีอยุธยาอยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุด เป็นสีแดงเกือบจะเป็นส้มแล้ว รัฐบาลน่าจะกันไปให้ในจังหวัดที่จำเป็นก่อน ดังนั้นในเดือน มิ.ย อยุธยาจึงได้เพียง 3.8 หมื่นโดส จะกระจายฉีดให้ 2 กลุ่มแรกก่อน คือ กลุ่มอายุ 60 ปีขึ้น และกลุ่ม 7 โรคเสี่ยง ซึ่งได้ลงทะเบียนหมอพร้อมแล้ว และได้คิวนัดแล้ว รวมกับที่มอบให้อสม.เคาะประตูบ้านกว่า 3.3 หมื่นโดส อีกส่วนจะกันให้ผู้ที่ไปลงทะเบียน ณ จุดฉีด (On Site Registration) โดยจะประกาศให้ทราบว่าร.พ.แห่งใดมีวัคซีนที่มีคนลงทะเบียนแล้วไม่มาฉีด กรณีถ้าเต็มแล้วให้ลงทะเบียนไว้ เจ้าหน้าที่จะแจ้งให้มารับการฉีดในวันถัดไป ช่วงเวลา 18 วัน เริ่มวันที่ 7 มิ.ย.ทุกร.พ. ส่วนที่เหลืออีก 3 พันโดส จะกระจายในกลุ่มองค์กรที่มีความเสี่ยง กลุ่มที่ต้องทำงานฉุกเฉิน อสม.บางส่วนที่ยังค้างอยู่ ภาพรวมทั้งหมดจะประชุมสัปดาห์หน้า สำหรับเดือนก.ค. จะได้รับวัคซีน 3.2 หมื่นโดส มียอดผู้ที่ลงทะเบียนหมอพร้อมและลงทะเบียนไว้จะได้คิวแน่นอน 3.2 หมื่นคน ซึ่งยอดใกล้เคียงกับที่ลงทะเบียนไว้ จะต้องดูว่าเดือนก.ค. จะได้จัดสรรเพิ่มหรือไม่ ขึ้นอยู่จากการที่ไปเคาะประตูแล้วกรอกข้อมูลไปแสดงที่สธ. เห็นยอดว่ามีคนรอคิวมากกว่ายอดวัคซีนที่ให้มา นายภานุกล่าวต่อว่า ปัจจัยที่ 2 การเป็นเมืองอุตสาหกรรม มีโรงงานกว่า 2.7 พันโรง ในฐานข้อมูลลงทะเบียนผู้ประกันตนของประกันสังคม มีแรงงานเกือบ 4 แสนคน คิดเป็น 70% ของผู้ประกันตน ประมาณ 2.3 แสนคน ต้องฉีดสองโดสต่อคน ถ้าให้โรงงานมารอโควตาที่จังหวัดได้มา ซึ่งมียอดโควตาน้อย เพราะบางโรงงานมีแรงงานเป็นหมื่นคน จึงแนะนำให้ผู้ประกอบการ สภาอุตสาหกรรม หอการค้า ให้ทำขอโควตาพิเศษตรงจากกรมควบคุมโรค น่าจะรอดูผลในเดือนมิ.ย.นี้ ซึ่งตนได้ลงนามหนังสือไปแล้ว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน