คิดต่างปมสสร.
3พรรครัฐบาล
เสนอ9ร่างรวด

‘ชวน’ ยัน 22 มิ.ย. รัฐสภาถกร่างพ.ร.บ.ประชามติ ก่อนถึงคิวญัตติแก้รัฐธรรมนูญ 23 มิ.ย. ภท.-ปชป.-ชทพ.เล็งเสนอแก้ไข9 ร่าง รวมหั่นอำนาจส.ว.เลือกนายกฯ, ปรับแก้ยุทธศาสตร์ชาติได้ พท.เล็งยื่นรื้อมาตรา 256 ตั้งส.ส.ร.ยกร่างฉบับใหม่ ก้าวไกลปัดลงชื่อหนุน ไม่เห็นด้วยจำกัดอำนาจส.ส.ร.แก้หมวด 1-2 ประกาศผลักดันทำประชามติเลิกฉบับ 60 ควบคู่ปิดสวิตช์ส.ว. เตือนแก้ระบบเลือกตั้งก่อนเป็นกับดักพปชร. กลุ่มรี-โซลูชั่น แถลงล่าชื่อลุยแก้ 4 ประเด็นค้ำระบอบประยุทธ์ เรียกร้องคว่ำร่างพปชร. ใช้ร่างประชาชนเป็นหลัก พปชร.แบ่งก๊วน หนุน ‘ธรรมนัส’ เสียบเก้าอี้เลขาฯ แทน ‘เสี่ยแฮงค์’

‘ตู่’ยันครม.มุ่งมั่นทำงาน

เวลา 12.50 น. วันที่ 15 มิ.ย. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์หลังประชุมครม.ว่า ขอเน้นย้ำว่าตน รัฐบาลและครม.ทุกคนยังมีความมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ ในการร่วมกันแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น ที่ประเทศเราและทั่วโลกยังไม่พ้นจากวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมายืนยันเราจัดการได้เป็นอย่างดี มีการวางแผน เตรียมพร้อมประเทศเป็นอย่างดี ทั้งด้านเศรษฐกิจ ปากท้อง เตรียมประเทศช่วงนิวนอร์มัล การลงทุนและสิ่งต่างๆในอนาคต ทำควบคู่กันไป ซึ่งถือว่าทำได้ดีระดับต้นๆของโลก ยืนยันเรื่องทุจริตต่างๆ สั่งให้ตรวจสอบทุกเรื่อง เรื่องใดที่เสนอเข้ามายังสำนักปลัดสำนักนายกฯ ต้องสอบสวน หลายเรื่องเกิดขึ้นก่อนหน้ารัฐบาลตนแต่ได้รับการตรวจสอบจากรัฐบาลตนตามกฏหมาย ละเว้นใครไม่ได้อยู่แล้ว ต้องไม่มีการทุจริตอย่างเด็ดขาด ต้องตรวจสอบตั้งแต่แผนงานว่ามีรายละเอียดเพียงพอหรือไม่ และถ้าไม่ละเอียด ก็อนุมัติผ่านไปไม่ได้

ฝ่ายค้านยื่นแก้รธน.ปมตั้งสสร.ได้

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ให้สัมภาษณ์ กรณีฝ่ายค้านเตรียมยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ทั้งที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการแก้มาตราดังกล่าวเพื่อให้มี ส.ส.ร. ต้องทำประชามติก่อน แต่กฎหมายประชามติยังค้างในสภาว่า ทำได้ ไม่มีปัญหา เนื่องจากกระบวนการแก้มาตรา 256 ยาว มี 3 วาระ และต้องทิ้งระยะเวลาตามกฎหมายกำหนด ขณะที่กฎหมายประชามติเหลือไม่กี่มาตรา จะเสร็จในขั้นตอนรัฐสภา และมีขั้นตอน นำขึ้นทูลเกล้าฯ กว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจะถึง ขั้นตอนทำประชามติก็ต้องใช้เวลา คาดว่าจะไป บรรจบกันพอดี การที่ฝ่ายค้านจะยื่นมาตรา ดังกล่าวจึงไม่ถือว่าขัดแย้งกับคำพิพากษา

‘ชวน’แจงวาระประชุมรัฐสภา

ที่รัฐสภา นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา กล่าวถึงการประชุมรัฐสภาพิจารณาญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า กำหนดประชุม 3 วัน คือ 22-24 มิ.ย. โดยวันที่ 22 มิ.ย.พิจารณากฎหมายที่ค้างอยู่ในวาระ 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ. ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ และพ.ร.บ. ยาเสพติด จากนั้น 23 มิ.ย.พิจารณาญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่นำมาไว้ช่วงหลังการประชุม เพราะเผื่อเวลาให้แต่ละฝ่ายเตรียมพร้อม และตรวจร่างแก้ไขให้สมบูรณ์และถูกต้อง ไม่ให้เกิดข้อบกพร่องทำให้เสียเวลา อีกทั้งหากพิจารณาไม่เสร็จก็ยังต่อวันที่ 24 มิ.ย.ได้

ส่วนข่าวพรรคร่วมรัฐบาลพยายามเสนอให้พิจารณาญัตติแก้รัฐธรรมนูญก่อนนั้น ประธาน จะเป็นผู้จัดวาระการประชุมเพื่อให้ทุกฝ่ายเตรียมตัวจึงเอาญัตติแก้รัฐธรรมนูญไว้ทีหลัง ยืนยันกฎหมายที่ค้างอยู่ต้องพิจารณาให้เสร็จ ทั้งนี้ ทราบว่าฝ่ายค้านจะยื่นญัตติแก้รัฐธรรมนูญวันที่ 16 มิ.ย. รวมถึงพรรคร่วมรัฐบาล 3 พรรค ทั้งพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) พรรคภูมิใจไทย (ภท.) และชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) และยังมีภาคประชาชน ที่ประสาน ขอยื่นแก้รัฐธรรมนูญเข้ามาด้วย หากยื่นทัน ก็จะบรรจุระเบียบวาระการประชุมเดียวกันได้

ปชป.มั่นใจพรบ.ประชามติฉลุย

ที่กระทรวงพาณิชย์ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯและรมว.พาณิชย์ หัวหน้า ปชป. ให้สัมภาษณ์กรณีฝ่ายค้านเสนอให้พิจารณาพ.ร.บ.ประชามติ ก่อนแก้รัฐธรรมนูญ เพราะกังวลจะโหวตไม่ผ่าน ว่า เชื่อว่ากฎหมายประชามติผ่านและยังไม่เห็นเหตุที่จะไม่ผ่าน ถ้าทุกพรรคช่วยกันลงคะแนนสนับสนุนกฎหมายก็ผ่าน ซึ่งจำเป็นและเกี่ยวพันกับการแก้รัฐธรรมนูญจะไม่มีไม่ได้ ถ้าไม่มีกฎหมายประชามติก็แก้รัฐธรรมนูญไม่ได้ ฉะนั้น ปชป.พร้อมยกมือสนับสนุนเต็มที่

3 พรรคร่วมรบ.เล็งเสนอ 9 ร่าง

นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษก ปชป. ให้สัมภาษณ์ที่พรรคหลังประชุมส.ส. ว่า ที่ประชุม เห็นชอบกับการเลื่อนวาระร่างพ.ร.บ. ประชามติขึ้นมาพิจารณาก่อน สำหรับการยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญของ 3 พรรคร่วมรัฐบาล ทั้งปชป. ภท. และชทพ. นายชินวรณ์ บุญยเกียรติ รายงานที่ประชุมว่าร่างแก้ไขรายมาตราของปชป.มี 6 ร่าง แต่ภท.เสนอ 3 ร่าง รวมทั้งหมด 9 ร่าง ซึ่งที่ประชุมได้ให้ ส.ส.ลงชื่อยื่นเสนอร่างแก้ไขทั้ง 6 ฉบับแล้ว ทั้งนี้ ที่ประชุมมอบให้นายชินวรณ์ และตน ไปประชุมร่วมกับชทพ.และภท.ในวันที่ 16 มิ.ย. เวลา 10.00 น. ที่รัฐสภา คงจะทราบรายละเอียดของร่างแก้ไขทั้ง 3 ฉบับที่ภท.จะเสนอ รวมถึงขอให้ส.ส. แต่ละพรรคร่วมกันลงชื่อสนับสนุน

ที่ทำการ ชทพ. นายนิกร จำนง ผอ.พรรค กล่าวว่า วันที่ 16 มิ.ย. เวลา 09.00 น. ส.ส.ทั้ง 12 คนของพรรค นัดหารือต่อการสนับสนุนญัตติแก้รัฐธรรมนูญของ 3 พรรคร่วมรัฐบาล จากนั้นเวลา 10.00 น. ตัวแทนของ 3 พรรคร่วมรัฐบาลจะนัดหารือเพื่อนำเนื้อหามาพิจารณา อีกครั้ง ก่อนให้ส.ส.แต่ละพรรคลงชื่อสนับสนุน ซึ่ง 12 ส.ส.ของ ชทพ.จะสนับสนุนญัตติใดเป็นเอกสิทธิ์ เชื่อว่าจะยื่นญัตติได้วันที่ 16 มิ.ย.

ยัน 3 พรรคชูหั่นอำนาจสว.

เวลา 17.35 น. นายภราดร ปริศนานันทกุล โฆษกภท. แถลงผลประชุมส.ส. ถึงจุดยืนแก้รัฐธรรมนูญว่า พรรคมี 3 ประเด็นต้องแก้ 1.เรื่องปากท้องประชาชน โดยจะแก้เพิ่มเติม 1 มาตรา เรื่องบทบาทหน้าที่รัฐ ให้มีหน้าที่เพิ่มขึ้นเรื่องหลักประกันรายได้ถ้วนหน้า เพราะเชื่อว่าคนไทยทุกคนควรมีหลักประกันรายได้อยู่เหนือเส้นความยากจน จากการคำนวณพบว่าอยู่ที่ 36,000 บาทต่อปี ดังนั้นต้องบรรจุคำนี้ไว้ในรัฐธรรมนูญ 2.แก้ไขมาตรา 65 เรื่องยุทธศาสตร์ชาติ ต้องระบุในรัฐธรรมนูญให้ชัดเจนว่ายุทธศาสตร์ชาติ ควรมีการแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงได้ ตามสถานการณ์ประเทศและสถานการณ์โลก 3.แก้ไขมาตรา 272 แก้ไขให้ส.ว.ไม่สามารถเลือกนายกฯได้ ทั้งนี้ ได้พูดคุยกับ ปชป. ชทพ.ทั้ง 3 ประเด็นดังกล่าว เพื่อขอเสียงเพิ่มจาก 2 พรรคให้ช่วยสนับสนุนทั้ง 3 ร่างของภท. ส่วนร่างของปชป. ภท.มีความเห็นตรงกันว่าจะช่วยสนับสนุนทั้ง 6 ประเด็น เพื่อให้ทั้ง 2 พรรคเสนอแก้ไขได้

นายศุภชัย ใจสมุทร นายทะเบียน ภท. กล่าวว่า ภท.นัดหมาย ปชป. ชทพ. นำรายชื่อที่ลงนามกันวันนี้ไปมอบให้ คาดจะนำร่างแก้ไขยื่นต่อประธานรัฐสภาภายในสัปดาห์นี้

อนุทินปัดต่อรองผลประโยชน์

นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้า ภท. กล่าวว่า ภท.จะแก้ 3 ประเด็น เน้นแก้ปัญหาปากท้องประชาชนเป็นหลัก ส่วนการแก้ไขมาตรา 272 จะสะดุดในการลงมติวาระที่ 3 หรือไม่นั้น เราไม่มีการต่อรองอะไรกัน ผลประโยชน์ต้องตกอยู่กับประเทศและประชาชน

ส่วนที่นายกฯประกาศกลางที่ประชุมวุฒิสภาระหว่างพิจารณา พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาทจะอยู่ครบวาระนั้น นายอนุทิน กล่าวว่า สภาอยู่ครบเทอม พรรคก็จะทำงานให้ประชาชนต่อไป ย้ำว่า ภท.ไม่มีปัญหาคลางแคลงใจกับพปชร.

ก้าวไกลแถลงมติ 5 ข้อ

เวลา 09.00 น. ที่รัฐสภา นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรค พร้อมแกนนำพรรค แถลงผลประชุมส.ส.ต่อประเด็นการแก้ไข เพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยมีมติ 1.หนทางที่ดีที่สุด คือการยกเลิกรัฐธรรมนูญ 60 และจัดทำฉบับใหม่โดย ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง ประตูบานแรกที่จะนำไปสู่เป้าหมายคือจัดทำประชามติ พรรคคัดค้านการพิจารณาร่างฉบับพลังประชารัฐ (พปชร.) ก่อน ประธานรัฐสภาต้องกำหนดวาระตามปกติ พิจารณาร่างพ.ร.บ. ออกเสียงประชามติเสร็จก่อนเข้าสู่วาระอื่น

2.ร่างพปชร.พยายามเบี่ยงเบนเป้าหมายการแก้รัฐธรรมนูญออกจากการยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับ คสช. และยุติกลไกสืบทอดอำนาจคณะรัฐประหาร เหมือนต่ออายุให้ พล.อ.ประยุทธ์ กลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้ง ผ่านการแก้ไขการเลือกตั้งที่ได้เปรียบทั้งอำนาจรัฐและอำนาจทุน 3.การแก้ไขรายมาตราควรพุ่งเป้าไปยังการปลดกลไกสืบทอดอำนาจ คสช. จึงเสนอปิดสวิตช์ส.ว. ยกเลิกอำนาจเลือกนายกฯ ของส.ว. 250 คน โดยจะลงชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมประเด็นนี้ร่วมกับพรรคร่วมฝ่ายค้าน และยื่นต่อประธานสภาวันที่ 16 มิ.ย.

ปัดหนุนร่างพท.ปม‘สสร.’

4.พรรคมีมติจะไม่ร่วมลงชื่อกับร่าง พท. ที่เสนอแก้ไขมาตรา 256 เพื่อตั้งส.ส.ร. เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับการจำกัดอำนาจของส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ห้ามแก้ไขหมวด 1 หมวด 2 ของรัฐธรรมนูญ พรรคจะร่างแก้มาตรานี้ในแนวทางของพรรค ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ต้องหลังผ่านการ ทำประชามติแล้ว จึงอยากมุ่งที่มาตรา 272 ปิดสวิตช์ส.ว. และสภาควรพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประชามติก่อน

5.ระบบการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 60 ไม่ใช่ระบบที่ดี ระบบเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 40 ก็ยังมีข้อด้อย พรรคเห็นว่าระบบเลือกตั้งที่ดีควรเป็นระบบจัดสรรปันส่วนผสม ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เลือกส.ส.แบ่งเขต 1 ใบ เลือกพรรคอีก 1 ใบ เพื่อนำคะแนนเลือกพรรคมาใช้คำนวนส.ส.แบบพึงมีแต่ละพรรค เพื่อให้เสียงประชาชนไม่ตกน้ำ ทุกเสียงต้องถูกนับ ที่ถามกันว่าเราไม่เห็นด้วยกับเลือกตั้งแบบบัตรสองใบเพราะเสียประโยชน์นั้น

ให้ระวังกับดักพปชร.

ยืนยันว่าพร้อมต่อสู้ในทุกระบบการ เลือกตั้ง เลือกตั้งบัตร 2 ใบ เราเห็นด้วย แต่มีหลายแบบ ไม่จำเป็นต้องเป็นแบบปี 40 เท่านั้น ระบบบัตรสองใบเป็นเรื่องดีแต่วิธีคำนวณจัดสรร ส.ส.เขตกับบัญชีรายชื่อ มีหลายแบบ ซึ่งระบบ MMP แบบเยอรมันเป็นระบบที่ไม่มีเสียงตกน้ำ เราเชื่อว่าเป็นระบบที่เหมาะสม และตอบสนองเจตจำนงประชาชนมากที่สุด

ทั้งนี้ ทางออกวิกฤตรัฐธรรมนูญปัจจุบันไม่ใช่การเข้าร่วมแก้ตามเกมของ พปชร.เพื่อต่อ อายุให้ระบอบประยุทธ์ แต่ต้องร่วมผลักดันให้ทำประชามติยกเลิกฉบับ 60 คู่ขนานกับการปิดสวิตช์ส.ว. ก่อนแก้ไขระบบเลือกตั้ง การไม่ยกเลิกอำนาจส.ว.ในการเลือกนายกฯ เป็นการเดินเข้าสู่กับดักและขนมล่อทาง การเมืองของระบอบประยุทธ์

พท.แจงจุดยืน-แก้รธน. 5 ร่าง

เวลา 16.30 น. ที่ทำการ พท. นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรค แถลงจุดยืนการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า เพื่อให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น 1.พท.เตรียมยื่นญัตติแก้ไขมาตรา 256 ตั้งส.ส.ร.มาจัดทำฉบับใหม่ ยกเว้นหมวด 1, 2 โดยยึดถือตามร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญซึ่งผ่านการพิจารณาโดยกมธ. โดยผ่านวาระ 2 เมื่อ 25 ก.พ.ไปแล้ว การยื่นร่างฉบับนี้ใหม่เป็นการยืนยันนโยบายและจุดยืนเดิมของ พท.ในการแก้รัฐธรรมนูญ 60

2.พท.เสนอแก้ไขรายมาตราควบคู่หลายเรื่อง เพื่อเพิ่มและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชน ที่ขาดหายไป เช่น สิทธิการแสดงออก และสิทธิการได้รับการประกันตัวของผู้ต้องหาและจำเลยในคดีอาญา เพิ่มสิทธิและหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพิ่มเติมสิทธิต่อต้านการกระทำรัฐประหาร, ตัดอำนาจ ส.ว.เลือกนายกฯ โดยให้สภาเท่านั้นเป็นผู้ให้ความ เห็นชอบ, แก้ไขระบบเลือกตั้งกลับไปใช้บัตร 2 ใบ ไม่ให้เกิดการทำลายระบบพรรค ไม่ทำ ให้เกิดพรรคเล็กพรรคน้อย ง่ายต่อการซื้อขายแจกกล้วยเหมือนที่ผ่านมา, ยกเลิกบทบัญญัติบางเรื่อง อาทิ ยุทธศาสตร์ชาติ อำนาจส.ว.บางเรื่องตามบทเฉพาะกาล และการนิรโทษกรรม คสช.เพราะขัดต่อหลักการประชาธิปไตย

เมื่อถามว่าพรรคร่วมฝ่ายค้านเห็นไม่ตรงกันจะกระทบต่อเสียงในสภาและการผลักดันแก้ไขหรือไม่ นายประเสริฐกล่าวว่า เรื่องนี้ได้พูดคุยกันแล้วในพรรคร่วมฝ่ายค้าน พท.เสนอทั้งหมด 5 ร่าง มีบางร่างที่บางพรรคไม่เห็นด้วย เช่น การแก้ไขมาตรา 256 แต่การแก้ไขมาตรา 272 เห็นตรงกันว่าจะยื่นแก้ไขเรื่องนี้ร่วมกัน โดยทั้ง 5 ร่างที่พท.ยื่นไปครั้งนี้ เป็น 5 ร่างเดิมที่พรรคฝ่ายค้านเคยเสนอร่วมกัน

เทียบ 3 ร่างแก้รธน.

เพจเฟซบุ๊ก THINK คิด เพื่อ ไทย โพสต์เปรียบเทียบ “6 ประเด็นร้อน! เหมือนต่าง: เพื่อไทย พลังประชารัฐ Re-Solution” ระบุ ขณะนี้มีร่างแก้รัฐธรรมนูญ 3 ฉบับสำคัญ ได้แก่ ฉบับพท. ฉบับนายไพบูลย์ นิติตะวัน (พปชร.) และฉบับ Re-Solution ของคณะก้าวหน้า จะเปรียบเทียบให้เห็น 6 ประเด็นร้อน ที่ต้องแก้ไขเร่งด่วนเพื่อรื้อถอนระบอบประยุทธ์ วิกฤตการณ์ทางการเมืองที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ

1.ให้มี ส.ส.ร.ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ทั้งฉบับ พท. และกลุ่ม Re-Solution ระบุถึงการเปิดช่องทางให้แก้รัฐธรรมนูญและผลักดันกฎหมายประชามติที่ค้างอยู่ให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว 2.นายกฯมาจาก ส.ส.ได้ ทั้งร่างพท. และ Re-Solution ระบุชัดเจนถึงที่มานายกฯมาจากบัญชีที่พรรคการเมืองเสนอและมาจากส.ส. ได้ แต่ฉบับพปชร.ไม่มีประเด็นนี้ 3.ยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติและอำนาจ ส.ว.ตามบท เฉพาะกาล ฉบับของพท.และ Re-solution มีเป้าหมาย คือล้มล้างระบอบประยุทธ์ รวมถึง ยกเลิกอำนาจส.ว.ตามบทเฉพาะกาล ขณะที่ฉบับนายไพบูลย์ ไม่มีระบุไว้เลย

ชี้จุดอ่อนร่างพปชร.

4.ยกเลิกนิรโทษกรรม คสช. ร่างพท. จะยกเลิกการนิรโทษกรรม คสช. ตามมาตรา 279 พร้อมเอาผิดคณะรัฐประหาร ร่าง Re-solution ก็เช่นกัน 5.การยกเลิกอำนาจ ส.ว. เลือกนายกฯ ในร่างพท. และ Re-Solution ต่างมีทิศทางเดียวกันคือ ยกเลิกอำนาจ ส.ว.ในการเลือก นายกฯ ส่วนร่างพปชร.ไม่มีเนื้อหาดังกล่าว 6.ระบบเลือกตั้ง ร่าง Re-Solution ไม่ได้กล่าวถึงระบบเลือกตั้งเอาไว้ชัดเจน แต่พท.ระบุถึงการนำรูปแบบการเลือกตั้งในรัฐธรรมนูญปี 2540 กลับมาใช้ และยกเลิกอำนาจกกต.ให้ ใบส้ม ใบเหลือง และใบแดง โดยให้สิ้นสุด ที่ศาลเหมือนในอดีต

จะเห็นได้ว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เสนอโดยนายไพบูลย์ เป็นเพียงการเสนอให้เปลี่ยนแปลงในรูปแบบการเลือกตั้ง เพิ่มสิทธิเสรีภาพและกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเป็นประเด็นผิวเผิน ขณะที่ร่างแก้ไขของพท.และกลุ่ม Re-Solution มุ่งเน้นการสร้างระบอบประชาธิปไตยอันสมบูรณ์ และแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญปี 60 ตัดวงจรการสืบทอดอำนาจของ คสช. ผ่านส.ว. และยุทธศาสตร์ชาติ รื้อโครงสร้างระบอบประยุทธ์ และการเปิดช่องทางร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

รื้อ‘ประยุทธ์’ – กลุ่ม Re-Solution นำโดยนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า พร้อมกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า ตัวแทนเยาวชน และนักวิชาการ แถลงเชิญชวนประชาชนเข้าชื่อแก้รัฐธรรมนูญ #ขอคนละชื่อรื้อระบอบประยุทธ์ ที่อาคารไทยซัมมิท เมื่อวันที่ 15 มิ.ย.

Re-Solutionล่าชื่อรื้อระบอบตู่

เวลา 10.00 น. ที่อาคารไทยซัมมิท ทาวเวอร์ กลุ่ม Re-Solution นำโดย นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า นายพริษฐ์ วัชรสินธุ นายเอกพันธุ์ ปิณฑวณิช และน.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือมายด์ แกนนำคณะราษฎร ร่วมกันแถลงถึงการเข้าชื่อ ประชาชนแก้รัฐธรรมนูญ “ขอคนละชื่อ รื้อระบอบประยุทธ์” ยื่นต่อผู้เชิญชวน 20 คน เพื่อผลักดันร่างฉบับนี้เข้าสภา

นายปิยบุตรกล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ยังเป็นเครื่องมือสืบทอดอำนาจคสช. จึงจำเป็นต้องจัดทำใหม่ทั้งฉบับ แต่ระหว่างที่การแก้ฉบับใหม่ยังไม่เกิดขึ้นจำเป็นต้องแก้รายมาตรา 4 ประเด็นสำคัญที่ค้ำจุนระบอบประยุทธ์ ได้แก่ ล้มวุฒิสภาให้กลายเป็นสภาเดี่ยว ปฏิรูปศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ เลิกยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปประเทศ และล้างมรดกรัฐประหาร ขณะนี้หลายพรรคเร่งเสนอญัตติแก้รายมาตราถึงขนาดจะแซงญัตติที่ค้างอยู่ เราจำเป็นต้องเร่งเข้าชื่อ 50,000 รายชื่อ เพื่อนำ ร่างแก้ไขฉบับนี้เข้าประกบกับร่างอื่นๆ ในสภา ขณะนี้มีการประกาศใช้พ.ร.บ.การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ต้องมีผู้เชิญชวนอย่างน้อย 20 คน เชิญชวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งเข้าชื่อร่วมกัน ซึ่งเราได้รายชื่อผู้เชิญชวนครบแล้ว

คว่ำร่างพปชร.-ใช้ร่างปชช.เป็นหลัก

นายพริษฐ์กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้ทุกพรรค ร่วมกันคว่ำร่างแก้ไขของนายไพบูลย์ และอยากให้พรรคร่วมฝ่ายค้านไม่ร่วมสังฆกรรมการเร่งรัดการแก้ไขรายมาตราที่ริเริ่มโดย พปชร. หากไม่ระวังอาจเข้าทางผลประโยชน์ของระบอบประยุทธ์ และขอเชิญชวนประชาชนทุกคนร่วมลงชื่อร่างแก้ไข รายมาตราของกลุ่ม Re-Solution อย่าปล่อยให้การแก้รัฐธรรมนูญเป็นแค่การแก้ไขระบบเลือกตั้งที่ไม่แตะต้นตอของปัญหา ขอให้ช่วยกัน ขจัดระบอบประยุทธ์ เพื่อให้ทุกพรรคแข่งขันกันได้บนกติกาที่เป็นธรรม

น.ส.ภัสราวลีกล่าวว่า ประเทศนี้เป็นของประชาชนจะไม่ยอมให้มีการสืบอำนาจยืดยาว หรือมาเล่นเกมปาหี่ ดึงเวลาหลอกต้มประชาชน หรือทำอะไรข้ามหัวประชาชนอีกแล้ว เราทุกคนต้องส่งเสียงเรียกร้องและลงมือทำ เข้าชื่อและผลักดันให้ร่างของประชาชนเป็นร่างหลักที่จะพิจารณาในสภา เพื่อยุติการสืบทอดอำนาจ

ด้านนายธนาธรกล่าวว่า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยแล้ว สิ่งที่ต้องเร่งทำคือพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประชามติให้จบ แล้วสอบถามประชาชน เป็นวิธีที่ดีที่สุดและนำมาสู่การแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้ แต่ผู้มีอำนาจกลับเสนอแก้แบบรายมาตรา พยายามแก้ระบบการเลือกตั้ง นี่คือการสืบทอดอำนาจครั้งที่ 2 และเราไม่คาดคิดว่าเปิดสมัยประชุมรอบนี้จะมีการเสนอให้พิจารณาแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา เร็วขนาดนี้ จึงอยากชวนเชิญชวนประชาชน ช่วยสนับสนุนกลุ่ม Re-Solution ผลักดันร่างของ Re-Solution เพราะคือร่างแก้ไขรายมาตรา ที่มุ่งขจัดต้นตอของปัญหาสืบทอดอำนาจ

อนุชาปัดข่าวเปลี่ยนเลขาฯพปชร.

ที่ทำเนียบ นายอนุชา นาคาศัย รมต.ประจำสำนักนายกฯ เลขาธิการพปชร. ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุมใหญ่พปชร. 18 มิ.ย. ที่จ.ขอนแก่น ว่า วาระประชุมเป็นวาระธรรมดาทั่วไป ทั้งเรื่อง รับรองรายงานการประชุม รายงานผลการดำเนินการของพรรคช่วงสิ้นปีและเรื่องขอ งบดุล มีเท่านั้น

เมื่อถามว่าจะมีเรื่องปรับโครงสร้างพรรคหรือไม่ เลขาฯพปชร. กล่าวว่า ตนยังไม่ได้ยิน ได้ยินเฉพาะที่มีข่าวเท่านั้น เรื่องภายในก็ยังไม่มี อะไร เมื่อถามว่าหากมีการปรับโครงสร้างพรรค จะส่งผลอย่างไรต่อพรรค นายอนุชากล่าวว่า ไม่มี เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องของพรรคไม่ได้เป็นปัญหา จะปรับหรือไม่ปรับเป็นเรื่องปกติ ไม่มีอะไร พรรคต้องดำเนินกิจการต่อไป

ดัน‘ธรรมนัส’เสียบเลขาฯพรรค

รายงานข่าวเผยว่า แม้จะไม่มีวาระปลี่ยนแปลงกก.บห.พรรค แต่มีการเตรียมเสนอในวาระอื่นๆ ที่สมาชิกเสนอได้ โดยเมื่อถึงวาระดังกล่าวจะแจ้งที่ประชุมเรื่องการขอลาออกจาก สมาชิกพรรคของ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ อดีตรองหัวหน้าพรรค จากนั้นจะให้แกนนำพรรคคนหนึ่งเสนอปรับเปลี่ยน กก.บห.พรรค หรือ หากพล.อ.ประวิตร ลาออกจากหัวหน้าพรรค ก่อนประชุมจะแจ้งให้ที่ประชุมพรรคทราบว่า กก.บห.พรรคต้องพ้นจากตำแหน่งโดยอัตโนมัติ จำเป็นต้องแต่งตั้งชุดใหม่ ซึ่งมีการนัดแนะแกนนำพรรคคนหนึ่งให้เสนอ ชื่อ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรฯ เป็นเลขาฯ

อย่างไรก็ตาม การประชุมพปชร.ครั้งนี้ สมาชิกพรรคส่วนใหญ่ที่มาร่วมประชุมหลักๆ มาจากจ.ขอนแก่น ที่มีนายเอกราช ช่างเหลา ส.ส.ในกลุ่มร.อ.ธรรมนัส เป็นเจ้าของพื้นที่ และอีกส่วนมาจากจ.นครราชสีมา ในความ รับผิดชอบนายวิรัช รัตนเศรษฐ ที่ปัจจุบันจับมือ กับ ร.อ.ธรรมนัสแล้ว ขณะที่ความเคลื่อนไหวของกลุ่มสามมิตรก่อนหน้านี้พยายามรักษา เก้าอี้เลขาฯพรรคไว้ให้นายอนุชา แต่ล่าสุด มีท่าทีที่อ่อนลง

ลดสมทบ6เดือน-ผู้ประกันม.40

เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบลดอัตราเงินสมทบสำหรับผู้ประกันตนตามมาตรา 40 แห่งพ.ร.บ.ประกันสังคม ลงเหลือร้อยละ 60 ของเงินสมทบเดิมเป็นระยะเวลา 6 เดือน ซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบต่อการจ่ายผลประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ มาตรการดังกล่าว จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนผู้ประกันตน กลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และจะยังทำให้ประชาชนมีกำลังซื้อมากขึ้นอีกด้วย

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ครม.อนุมัติหลักการ ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดอัตราการจ่ายเงินสมทบของบุคคล และร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินสมทบที่รัฐบาลจ่ายเข้ากองทุนประกันสังคม สำหรับบุคคลซึ่งสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตน ในกรณีการระบาดของโรคโควิด-19

ผู้ประกันตนมาตรา 40 ส่งเงินสมทบได้ 3 ทางเลือก ได้แก่ 1 ประโยชน์ทดแทน 3 กรณี อัตราเงินสมทบใหม่ 42 บาทต่อเดือน จากเดิม 70 บาทต่อเดือน โดยรัฐจ่ายเงินสมทบใหม่เป็น 21 บาทต่อเดือน จากอัตราเงินสมทบเดิม 30 บาทต่อเดือน 2.ประโยชน์ทดแทน 4 กรณี อัตราเงินสมทบใหม่ 60 บาทต่อเดือน จากเดิมที่ 100 บาทต่อเดือน โดยรัฐจ่ายเงินสมทบใหม่ 30 บาทต่อเดือน จากอัตราเดิมที่ 50 บาทต่อเดือนและ3.ประโยชน์ทดแทน 5 กรณี อัตราเงินสมทบใหม่ 180 บาทต่อเดือน จากเดิมที่ 300 บาทต่อเดือน โดยรัฐจ่ายเงินสมทบใหม่ 90 บาทต่อเดือน จากอัตราเดิมที่ 150 บาทต่อเดือน

การปรับลดอัตราการจ่ายเงินสมทบเป็นระยะเวลา 6 เดือน ส่งผลให้ผู้ประกันตนนำส่งเงินสมทบลดลง 378 ล้านบาท ขณะที่รัฐบาลลดนำส่งเงินสมทบลง 189 ล้านบาท โดยกระทรวงแรงงานคาดว่าจะมีเงินสมทบลดลงหลังจากการปรับลดอัตราการจ่ายเงินสมทบ 6 เดือน จำนวน 567 ล้านบาท จากเดิมที่จ่ายสมทบจำนวน 1,417.5 ล้านบาท จะเหลือจำนวน 850.5 ล้านบาท

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน