ล็อก-สกัดเคลื่อนย้ายแตกรัง
‘ชวน’สั่งสอบโรค-บิ๊กคลีนนิ่ง
กทม.คลัสเตอร์ผุดเป็นร้อย
ยอดตายนิวไฮ51-ป่วย4พัน

‘บิ๊กตู่’ สั่งด่วนทหาร-ตำรวจเข้าปิดแคมป์คนงานทั่วกทม.-ปริมณฑล จับตาเคลื่อนย้ายคน 4 จังหวัดชายแดนใต้ ห้ามการ์ดตก หวั่นทหารกลายเป็นคลัสเตอร์ใหม่ 8 ส.ห.ที่ไปเฝ้าแคมป์ ติดโควิด ชลบุรีปิด 2 แคมป์ทันที เจออีก 320 คน ตาย 2 สธ.เร่งเปิดร.พ.สนาม มทบ.11 แก้เตียงเต็ม ดึงหมอจบใหม่ 30 มิ.ย. ที่ต้องใช้ทุนไปอยู่ร.พ.ต่างจังหวัด ให้มาประจำร.พ.สนาม แก้ขาดแคลนบุคลากรแพทย์ 2 เดือน เริ่ม 1 ก.ค. รัฐสภาวุ่น นายพลส.ว.ติดโควิด เร่งสอบสวนโรค บิ๊กคลีนนิ่ง แจงไม่ได้ร่วมถกแก้รธน. มาเซ็นชื่อ รับข้าวกล่องแล้วกลับบ้าน พบมีไข้ พอภรรยาบอกว่าติดโควิด จึงลาประชุมแล้วไปตรวจพบติดเชื้อด้วย ศบค.แถลงติดเชื้ออีก 4,161 ราย เสียชีวิต 51 กทม.เจอ 3 คลัสเตอร์ใหม่ แคมป์ห้วยขวาง สวนหลวง และโรงงานรองเท้าย่านบางบอน เร่งคุมเชื้อ

ป่วย 4,161-ตาย 51

เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานข้อมูลสถานการณ์โรคโควิด-19 ประจำวันว่า ประเทศไทยมี ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 4,161 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 4,070 ราย มาจากเรือนจำ 72 ราย และเดินทางมาจากต่างประเทศ 19 ราย รักษาหายเพิ่ม 3,569 ราย เสียชีวิต 51 ราย ทำให้มียอดติดเชื้อสะสม 240,452 ราย รักษาหายสะสม 196,675 ราย เสียชีวิตสะสม 1,870 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 41,907 ราย แบ่งเป็นรักษาในร.พ. 15,620 ราย ร.พ.สนาม 26,287 ราย มีอาการหนัก 1,662 ราย จำนวนนี้ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ 470 ราย

ทั้งนี้ จังหวัด 10 อันดับติดเชื้อสูงสุด มีผู้ติดเชื้อเกิน 100 รายทั้งหมด ได้แก่ 1.กทม. 1,276 ราย สะสม 66,253 ราย 2.สมุทรปราการ 322 ราย สะสม 15,296 ราย 3.ชลบุรี 320 ราย สะสม 7,525 ราย 4.สมุทรสาคร 291 ราย สะสม 6,833 ราย 5.ปทุมธานี 228 ราย สะสม 7,298 ราย 6.สงขลา 215 ราย สะสม 3,698 ราย 7.นนทบุรี 196 ราย สะสม 10,507 ราย 8.ปัตตานี 150 ราย สะสม 1,599 ราย 9.นครปฐม 135 ราย สะสม 3,649 ราย และ 10.ยะลา 135 ราย สะสม 1,452 ราย

ส่วนผู้ติดเชื้อเดินทางมาจากต่างประเทศ 19 ราย ได้แก่ โซมาเลีย 3 ราย อัฟกานิสถาน 1 ราย อินโดนีเซีย 1 ราย มาเลเซีย 3 ราย เข้ามาช่องทางธรรมชาติทั้งหมด และกัมพูชา 11 ราย เข้ามาช่องทางธรรมชาติ 4 ราย เป็นชายไทย 2 ราย อาชีพพนักงานออนไลน์ และหญิงไทย 2 ราย เป็นพนักงานออนไลน์ 1 คน ไม่ระบุอาชีพ 1 คน

สำหรับผู้เสียชีวิต 51 ราย มาจาก กทม. 23 ราย นนทบุรี 7 ราย สมุทรปราการ 4 ราย นครปฐม ปทุมธานี ปัตตานี จังหวัดละ 3 ราย และภูเก็ต ชลบุรี ชัยภูมิ ประจวบคีรีขันธ์ เชียงราย นราธิวาส ยะลา และนครราชสีมา จังหวัดละ 1 ราย โดยเป็นผู้ชาย 31 ราย หญิง 20 ราย อายุต่ำสุด 15 ปี สูงสุด 92 ปี ค่าอายุกลาง 67 ปี ปัจจัยเสี่ยงส่วนใหญ่ยังเป็นความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ติดจากคนในครอบครัว เพื่อนร่วมงาน เป็นต้น

กทม.เจอ 3 คลัสเตอร์ใหม่

พื้นที่ กทม.มีคลัสเตอร์เฝ้าระวังอยู่ 110 แห่ง โดยที่พบใหม่มีอีก 3 คลัสเตอร์ ได้แก่ 1.ห้วยขวาง เป็นแคมป์ที่พักคนงาน ถ.เพชรพระรามแยก 9 2.สวนหลวง เป็นแคมป์คนงาน ซอยอ่อนนุช 17 แยก 6 และ 3.บางบอน เป็นโรงงานผลิตรองเท้า

ส่วนต่างจังหวัดมีคลัสเตอร์ใหม่ ดังนี้ 1.สมุทรปราการ โรงงานแปรรูปเนื้อสัตว์ อ.เมือง 12 ราย 2.ชลบุรี แคมป์ก่อสร้าง 2 แห่ง อ.บางละมุง ติดเชื้อ 16 ราย 3.สมุทรสาคร โรงงานห้องเย็น อ.เมือง ติดเชื้อ 8 ราย 4.ประจวบคีรีขันธ์ สนามกอล์ฟ อ.หัวหิน ติดเชื้อ 6 ราย

ส่วนจังหวัดที่ไม่มีผู้ติดเชื้อเลยหรือเป็น 0 (สีขาว) ลดลงเหลือเพียง 7 จังหวัด ได้แก่ ลำพูน ลำปาง ตราด พิจิตร ยโสธร แม่ฮ่องสอน และมุกดาหาร ส่วนจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อ 1-10 ราย (สีเขียว) มี 38 จังหวัด ติดเชื้อ 11-50 ราย (สีเหลือง) 18 จังหวัด ติดเชื้อ 51-100 ราย (สีส้ม) 4 จังหวัด และติดเชื้อมากกว่า 100 ราย (สีแดง) 10 จังหวัด

ขณะที่การฉีดวัคซีนโควิด-19 เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. มีการฉีด 324,055 โดส แบ่งเป็นเข็มแรก 228,955 ราย และเข็มสอง 95,100 ราย ฉีดสะสม 28 ก.พ.-25 มิ.ย. ฉีดสะสม 8,981,478 โดส แบ่งเป็นเข็มแรก 6,435,308 ราย และเข็มสอง 2,546,170 ราย

คุกสะสมพุ่ง 3.5 หมื่น

นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า มีผู้ต้องขังติดเชื้อรายใหม่ จำนวน 72 ราย รักษาหายวันนี้ 510 ราย รวมยอดผู้ติดเชื้อสะสม 35,959 ราย ขณะที่มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย ผู้ต้องขังชาย อายุ 65 ปี จากเรือนจำกลางบางขวาง รวมเสียชีวิต 38 ราย

เร่งศึกษายารักษาโควิด

ด้านศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ให้สัมภาษณ์ว่า คาดว่าสถานการณ์โรคโควิด-19 ปลายปีหน้าจะคลี่คลาย สามารถใช้ชีวิตได้ปกติ กลายเป็นโรคตามฤดูกาลเช่นเดียวกับไข้หวัดใหญ่ ถึงตอนนั้นก็จะฉีดวัคซีนโควิดเป็นฤดูกาล ทั้งนี้ การฉีดวัคซีนร่วมกับการพัฒนายารักษาและการตรวจที่รวดเร็วขึ้นจะทำให้กลับมาใช้ชีวิตใกล้เคียงปกติ

โดยขณะนี้ต่างประเทศกำลังศึกษายารักษา 2 รูปแบบ คือ ยากินเมื่อเป็นโรค และยาป้องกันหากสัมผัสผู้ติดเชื้อ คาดว่าปลายปีนี้น่าจะเห็นผล ส่วนการตรวจขณะนี้ใช้การเก็บตัวอย่างทางโพรงจมูกตรวจเชื้อกว่าจะรู้ผลใช้เวลา 24 ชั่วโมง ระหว่างรออาจจะแพร่กระจายเชื้อไปถึงคนอื่นไม่รู้กี่คน ขณะนี้กำลังมีการศึกษาเพื่อตรวจให้รู้ผลได้รวดเร็วและทำได้ง่ายขึ้นด้วย

“การให้ยาฟาวิพิราเวียร์ยังใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มที่ นำไปใช้เมื่อเชื้อโรคมีมากขึ้น ไม่เข้าใจว่าทำไมให้ยาช้า เพราะเกรงจะไม่พอหรือไม่ ที่ราชวิทยาลัยฯ ใช้ตั้งแต่ตรวจพบเชื้อทันที ซึ่งได้มีการติดตามศึกษารวบรวมข้อมูลถึงการให้ทันทีดีหรือไม่ ยาเพียงพอแค่ไหน” ศ.นพ.นิธิกล่าวและว่า อีกเรื่องสำคัญที่กำลังติดตามศึกษา คือ การเปิดคลินิกดูแลรักษาอาการระยะยาวหลังจากหายป่วยโควิด เช่น สมองเบลอคิดไม่ออก ปวดเมื่อยตามตัว ปอดหรือหัวใจมีปัญหา ประสิทธิภาพการทำงานของอวัยวะต่างๆ ลดลง

ขณะนี้กำลังศึกษาและรวบรวมข้อมูลเพื่อเปิดให้บริการกลุ่มคนเหล่านี้ ในต่างประเทศมีการดำเนินการแล้ว เนื่องจากมีการระบาดมากมาก่อนเรา และเริ่มเห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยหลังหายจากโควิดไปประมาณ 1-3 เดือน โดยพบมีสัดส่วนประมาณ 20-30%

เร่งร.พ.สนามมทบ.11

ที่มณฑลทหารบกที่ 11 เขตหลักสี่ กทม. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ลงพื้นที่ตรวจความพร้อมการจัดตั้งไอซียูสนาม เพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด อาการรุนแรงสีแดง หลังจากมีปัญหาเตียงในร.พ.ไม่เพียงพอ

นายอนุทินกล่าวว่า ร.พ.สนาม มทบ. 11 ใช้หลักการเดียวกับ ร.พ.บุษราคัม มีห้องความดันลบ ติดตั้งระบบออกซิเจน กล้องวงจรปิด และมีแพทย์ พยาบาล จาก ร.พ.ธนบุรี ดูแล ผู้ป่วย ซึ่งอยู่ระหว่างการปรับพื้นที่ ทั้งนี้ สธ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามเปิดร.พ.สนามให้ได้มากที่สุด ซึ่งพื้นที่ กทม.และปริมณฑล มีเตียงรองรับผู้ป่วยได้อีกกว่า 1,000 เตียง และเตรียมขยายร.พ.สนาม ที่มีศักยภาพรองรับผู้ป่วยอาการหนักไปยังพื้นที่อื่นๆ เพิ่มเติม

ดึงแพทย์จบใหม่เสริมทัพ

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดสธ. กล่าวถึงกรณีการเตรียมเปิดไอซียูสนามเพิ่ม โดยจะให้แพทย์ประจำบ้านที่เรียนจบและต้องใช้ทุนวันที่ 1 ก.ค.นี้ มาปฏิบัติหน้าที่ในไอซียูสนามแทนว่า บุคลากรกลุ่มนี้จะเป็นอายุรแพทย์และแพทย์เวชบำบัดวิกฤต ซึ่งศึกษาอยู่ในพื้นที่กทม. ตามโรงเรียนแพทย์ต่างๆ ซึ่งปกติเมื่อศึกษาจบ ต้องส่งคืนไปประจำยังพื้นที่ต่างจังหวัดต่อไป แต่เมื่อกทม.ประสบปัญหาโรคโควิดระบาด ทางสธ.และทุกฝ่ายจึงต้องร่วมมือกันและหาทางช่วยเหลือ จึงได้ประสานแจ้งไปทางเขตสุขภาพต่างๆ ทั้ง 12 เขตสุขภาพ เพื่อให้สื่อสารกับสถานพยาบาลในจังหวัด โดยจะขอให้มาช่วยทำงานอยู่ในพื้นที่ กทม. ก่อนเป็นเวลา 2 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.-ส.ค.2564

“บุคลากรกลุ่มนี้เรียนอยู่ที่ กทม. และเป็นหมอรักษาคนไข้ มีความชำนาญ อย่างมาเรียนก็มีการรักษาคนไข้ โดยมีอาจารย์แพทย์เป็นที่ปรึกษา ซึ่งจะอยู่ตามโรงเรียนแพทย์ใน กทม. และจะจบหลักสูตรในวันที่ 30 มิ.ย.นี้ จึงให้พวกน้องๆ มาช่วยประมาณ 2 เดือน โดยจะส่งกระจายไปยัง ร.พ.ที่เตรียมพร้อมรับผู้ป่วยโควิด เช่น ร.พ.บุษราคัม ซึ่งเตรียมพร้อมรักษากลุ่มผู้ป่วยสีส้ม ขณะนี้ทุกฝ่ายช่วยกันหมด ทั้งรัฐและร.พ.เอกชน โดยสัปดาห์หน้าคาดว่าเพิ่มเตียงผู้ป่วยสีแดงได้อีก 80 เตียง” นพ.เกียรติภูมิกล่าว

กทม.ถกปิดแคมป์ 1 เดือน

ขณะที่พล.ต.อ.อัศวินกล่าวว่า ร.พ.สนาม มทบ.11 รองรับผู้ป่วยโควิดได้ 180 เตียง โดยพื้นที่ชั้น 1 เป็นไอซียูสนามรับผู้ป่วยอาการ สีเเดง จำนวน 50 เตียง ชั้น 2 รองรับผู้ป่วยกลุ่มสีเหลือง 130 เตียง คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในวันที่ 2 ก.ค.นี้ ส่วนกรณีนายกรัฐมนตรีมีคำสั่งให้ปิดแคมป์คนงานใน กทม. ปริมณฑล และ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ห้ามคนงานเคลื่อนย้ายออกนอกพื้นที่ ชะลอการก่อสร้างโครงการของรัฐเป็นเวลา 1 เดือน

ในส่วนของ กทม.ได้ออกหนังสือด่วนที่สุด ให้ผู้อำนวยการเขต นัดประชุมผู้ประกอบการแคมป์แรงงานในพื้นที่เพื่อชี้แจงสร้างความเข้าใจให้กับคนงาน โดยกองบัญชาการกองทัพไทย ได้ส่งกำลังร่วมสนับสนุนภารกิจ ร่วมกับ สธ. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ กทม.จำกัดพื้นที่ แต่ไม่ได้กักบริเวณระยะเวลาไม่เกิน 1 เดือน หรือหากภายใน 1-2 สัปดาห์สถานการณ์ดีขึ้นจะรีบอนุญาตเปิดทำการในทันที แต่ระยะนี้ให้ผู้ประกอบการดูแลคนงานในเบื้องต้นไปก่อน จากนั้นกระทรวงแรงงานจะเข้ามาตามดูแลตามขั้นตอนของกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป

ศิริราชเริ่มฉีดอีก 12 ก.ค.

ด้านคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ออกประกาศว่า ร.พ.ศิริราชเปิดลงทะเบียนจองคิวฉีดวัคซีนโควิดแก่ผู้ป่วยของร.พ.ศิริราชเพิ่มเติม สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุ ตั้งแต่ 59 ปี 10 เดือนขึ้นไป และผู้ป่วย 7 โรคกลุ่มเสี่ยง ตั้งแต่วันที่ 26 มิ.ย. เพื่อเข้ารับการฉีดวัคซีนระหว่างวันที่ 12-31 ก.ค. 2564 โดยจองผ่านแอพพลิเคชั่น Siriraj Connect เมนู “จองคิวนัดฉีดวัคซีนโควิด-19” ตามจำนวนวัคซีนที่ กทม.จัดสรรให้เพิ่มเติมสำหรับเดือนก.ค. ส่วนการลงทะเบียนเข้ารับวัคซีนเพิ่มเติมเดือนส.ค.เป็นต้นไปจะประกาศให้ทราบภายหลัง ทั้งนี้ ญาติผู้ป่วยหรือบุตรหลานจองคิวแทนผู้ป่วยผ่านแอพฯ ได้

ส.ว.ป่วยไม่ได้ถกรัฐสภา

นายนัฑ ผาสุข เลขาธิการสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา กล่าวถึงกรณีพล.อ.เลิศฤทธิ์ เวชสวรรค์ ส.ว.ติดเชื้อโควิด-19 ว่า พล.อ. เลิศฤทธิ์เป็นผู้แจ้งมายังสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาเองว่าติดเชื้อโควิด จากนั้นได้ทำไทม์ไลน์ชี้แจงว่า ช่วงที่ผ่านมาเดินทางไปไหนและพบใครบ้าง แต่การประชุมร่วมรัฐสภา เมื่อวันที่ 22-24 มิ.ย. พล.อ.เลิศฤทธิ์ไม่ได้เข้าร่วมประชุมในการพิจารณาร่างพ.ร.บ.การออกเสียงประชามติและญัตติการแก้ไขรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด แค่มาเซ็นชื่อหน้าห้องประชุมในวันที่ 22-23 มิ.ย.แล้วเดินทางกลับบ้าน เพราะรู้สึกมีอาการไม่สบาย

โดยวันที่ 22 มิ.ย.หลังจากมีเจ้าหน้าที่พาไปเซ็นชื่อหน้าห้องประชุมแล้ว พล.อ.เลิศฤทธิ์ได้พูดคุยกับเพื่อนส.ว. 2 คน ระหว่างเดินทางไปห้องอาหารเพื่อรับข้าวกล่อง ก่อนเดินทางกลับบ้านเพราะรู้สึกไม่สบาย ต่อมาวันที่ 23 มิ.ย.หลังจากที่พล.อ.เลิศฤทธิ์มาเซ็นชื่อหน้าห้องประชุมแล้วก็เดินทางกลับบ้านเพราะรู้สึกเป็นไข้ ตอนนั้นยังไม่ทราบว่าติดเชื้อโควิด พอช่วงบ่ายวันเดียวกันจึงทราบว่าภรรยาติดเชื้อโควิด จากนั้นพล.อ.เลิศฤทธิ์จึงลาประชุมวันที่ 24 มิ.ย.เพื่อไปตรวจหาเชื้อที่ร.พ. และได้รับการแจ้งในวันที่ 25 มิ.ย.ว่าติดเชื้อโควิด และได้รับการรักษาตัวที่ร.พ.

ตั้งทีมจัดมาตรการสาธารณสุข

“ยืนยันว่าพล.อ.เลิศฤทธิ์ไม่ได้เข้าร่วมประชุมในห้องประชุมใหญ่ แค่มาเซ็นชื่อแล้วกลับ คนที่สัมผัสใกล้ชิดในช่วงนั้นมีแค่ 4 คนคือ เจ้าหน้าที่ที่พาไปเซ็นชื่อ 2 คน และเพื่อนส.ว. 2 คน ซึ่งสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาได้แจ้งให้ทั้ง 4 คนทราบแล้ว เพื่อไปตรวจหาเชื้อและกักตัวตามมาตรการสธ. ขณะนี้ยังไม่ถึงขั้นต้องให้ส.ว.ทุกคนมาตรวจหาเชื้อโควิด เพราะพล.อ.เลิศฤทธิ์ไม่ได้เข้าไปร่วมประชุม

เรื่องที่เกิดขึ้นนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา และส.ว.ทุกคนมีความเป็นห่วง เตรียมตั้งคณะทำงานที่ประกอบ ด้วยส.ว.ที่เป็นแพทย์และฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาวางมาตรการทางสาธารณสุขในวุฒิสภาต่อไป โดยพล.อ.เลิศฤทธิ์ได้ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าไปแล้ว 1 เข็ม และมีนัดฉีดเข็มสองในวันที่ 9 ก.ค.นี้” นายนัฑกล่าว

บิ๊กคลีนนิ่งสภา-เร่งคุมเชื้อ

นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎรกล่าวว่า นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎรได้ทราบเรื่องนี้แล้ว ท่านได้ฝากให้กำลังใจพล.อ.เลิศฤทธิ์ให้ปลอดภัย และหายจากโรคโดยไว พร้อมได้สั่งการให้ทางสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรติดตามสอบสวนโรคและดำเนินการตามมาตรการต่อไป ส่วนการประชุมสภาผู้แทนราษฎรซึ่งได้กำหนดครั้งต่อไปในวันที่ 30 มิ.ย. 64 และ วันที่ 1 ก.ค. ยังคงดำเนินต่อไปตามปกติ ไม่มีการงดประชุม

ทั้งนี้ ทางสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรจะตามสอบสวนโรคจำกัดวงผู้ที่มีความเสี่ยงสูงและความเสี่ยงต่ำ เพื่อดำเนินการตามคำแนะนำของกรมควบคุมโรคต่อไป ซึ่งในห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร ห้องอาหารสมาชิกฯ ก็จะบิ๊กคลีนนิ่งดังเช่นเคยปฏิบัติมา ซึ่งโดยปกติแล้วมีการเข้มงวดกับเรื่องนี้ตลอดมาอยู่แล้ว ทางสภายืนยันจะไม่ให้มีการ กระจายเชื้อเป็นวงกว้างโดยเด็ดขาด

สห.คุม – ศบค.สั่งด่วนส่งกำลังสารวัตรทหารปิดแคมป์คนงานทั่วกทม.และปริมณฑล ป้องกันการเคลื่อนย้ายคนและการระบาดของโควิด ตามมาตรการล่าสุดของนายกฯ เมื่อวันที่ 26 มิ.ย.

ส่งทหาร-ตร.คุมแคมป์-ย้ายคน

ที่กระทรวงกลาโหม พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าว ภายหลัง พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม และพล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ ปลัดกระทรวงกลาโหม ได้เรียกประชุมด่วน หน่วยงาน กอ.รมน. หน่วยขึ้นตรงกห. เหล่าทัพ และ ตร. ผ่านระบบ วีทีซี ว่า เจ้าหน้าที่ทยอยจัดกำลังเข้าพื้นที่เพื่อปิดแคมป์คนงาน โดยเริ่มตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ส่วนข้อกำหนดและ ข้อปฏิบัติต่างๆ ทาง ศบค.จะประกาศ ใน วันที่ 27 มิ.ย.นี้ ซึ่งในแต่ละจังหวัดต้องเป็น ผู้พิจารณาว่า พื้นที่ไหนเป็นพื้นที่เสี่ยง มีการตรวจเชิงรุกและพบการติดเชื้อจำนวนมากกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป ถือเป็นพื้นที่เสี่ยงต้องควบคุมทั้งหมด แต่ถ้าน้อยกว่า 10% อาจไม่ปิดทั้งหมด ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแต่ละจังหวัด

พล.ท.คงชีพกล่าวต่อว่า สำหรับภาพรวมสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศรอบบ้าน ยังคงรุนแรงและน่ากังวลในมาเลเซีย เมียนมาและกัมพูชา พบการแพร่ระบาดและมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสถานการณ์การเมืองในเมียนมา มีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น ส่งผลให้มีผู้หลบหนีข้ามแดนมายังไทยมากขึ้น สถิติการจับกุม ผู้ลักลอบเข้าเมือง ระหว่าง 19-23 มิ.ย.2564 จับกุมได้จำนวน 830 คน เป็นชาวเมียนมา 202 คน กัมพูชา 210 คน ลาว 85 คน คนไทย 155 คน และผู้นำพา 7 คน

ด้านพล.อ.ชัยชาญ ได้เน้นย้ำนโยบายของนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กับกอ.รมน. ทุกเหล่าทัพ และตร. ขอให้เร่งเตรียมและบูรณาการกำลังสนับสนุนข้อกำหนดของ ศบค.ที่จะประกาศบังคับใช้เป็นมาตรการเฉพาะในกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และ 4 จังหวัดชายแดนใต้ เพื่อจำกัดควบคุมโรคเฉพาะกลุ่มและกิจกรรมในพื้นที่เสี่ยงสูงอย่างเข้มงวด ไม่ให้ขยายออกนอกพื้นที่จนไม่สามารถควบคุม

เข้มป้องกันคลัสเตอร์ทหาร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณี กระทรวงกลาโหม สั่งการให้เหล่าทัพ จัดส่งเจ้าหน้าที่ทหารไปควบคุมแคมป์คนงานทั้งหมดโดยเฉพาะพื้นที่ กทม. และปริมณฑล ตามนโยบายของรัฐบาล สกัดการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยใช้กำลังของสารวัตรทหาร (สห.) ตามพื้นที่รับผิดชอบโดยแคมป์แรงงานอยู่ในพื้นที่ เหล่าทัพใด เหล่าทัพนั้นควรรับผิดชอบ

กองทัพไทย กองพันสารวัตรทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย ดูแลเขตหลักสี่ กองทัพบก ใช้กำลังมทบ.11 รับผิดชอบ พื้นที่กรุงเทพเหนือใน 3 เขต ประกอบด้วยจตุจักร, บางซื่อ, ลาดพร้าว

กองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ม.2 รอ. ) รับผิดชอบ กรุงเทพกลาง 11 เขต กองพลที่ 1 รักษาพระองค์ (พล.1รอ.) รับผิดชอบ กรุงเทพใต้ 13 เขต กองทัพเรือ กองร้อย รักษาความปลอดภัยฐานทัพเรือกรุงเทพฯ (กองรปภ.ฐท.กท.) ดูแลเขตบางกอกน้อย, กรมสารวัตรทหาร กองทัพเรือ ดูแลเขต บางกอกใหญ่ กองทัพอากาศใช้กำลัง สห.ทอ. ดูแลดอนเมือง

มีรายงานข่าวว่า ในแต่ละเหล่าทัพได้เน้นย้ำให้กำลังพลที่ออกไปปฏิบัติหน้าที่ เข้มงวดมาตรการป้องกันตัวเอง ตามแผนพิทักษ์ กำลังพล ป้องกันไม่ให้กำลังพลเหล่านี้ กลายเป็นคลัสเตอร์ใหม่ เนื่องจากกำลังพลที่ออกไปปฏิบัติงานยังไม่ได้ฉีดวัคซีนโควิด-19

สำหรับวัคซีน เหล่าทัพได้รับจัดสรรมา ก่อนหน้านี้ นำไปฉีดให้กับกำลังพลปฏิบัติงานพื้นที่เสี่ยง เช่น ชายแดน ส่วนวัคซีนอีกล็อตกันไว้ให้กับทหารกองประจำการผลัด 1/2564 ที่จะเข้ามารายงานตัวในหน่วยฝึกทหารใหม่ระหว่าง 1-3 ก.ค.นี้ อย่างไรก็ตามกำลังพลทั้งหมดที่ออกไปปฏิบัติงานดูแลแคมป์แรงงานต่างๆ จะสว็อบทุกวัน และเมื่อปฏิบัติหน้าที่เสร็จต้องกักตัวเองเพื่อเฝ้าสังเกตอาการ

8 สห.ติดโควิดแล้ว

รายงานข่าวเปิดเผยว่า จากนโยบาย ศบค. ให้ส่งตำรวจ และสห. ไปดูแลแคมป์คนงานแพร่ระบาดโควิด-19 ในกรุงเทพฯ ตั้งแต่ต้นเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา ปรากฏว่าพบ สห.ติด โควิดแล้ว 8 นาย โดยยังไม่ได้ฉีดวัคซีน แต่ได้รับคำสั่งให้ไปปฏิบัติหน้าที่ จึงมีมาตรการป้องกันตัวเองแค่เพียงสวมแมสก์ เฟซชีลด์ ใช้สเปรย์แอลกอฮอล์ เท่านั้น และยังมีหน่วยสห.อยู่ระหว่างการตรวจสอบกำลังพลอีกหลายร้อยนายว่าเสี่ยงติดเชื้อเพิ่มเติมหรือไม่

เพิ่มมาตรการคุมย้ายคน

พล.ต.ธีรพงศ์ ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา รองโฆษกกองบัญชาการกองทัพไทย กล่าวว่า พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการ ทหารสูงสุด/หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง ได้เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นการเร่งด่วนผ่านระบบวีทีซี โดยสั่งการให้หน่วยขึ้นตรงศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) บูรณาการการจัดกำลังสนับสนุนและประสานการปฏิบัติกับจังหวัด และกรุงเทพฯ ในการสนธิกำลังตำรวจ ทหาร และฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่ ให้มีความเข้มงวดกวดขันในการปฏิบัติภารกิจควบคุมแคมป์ คนงาน และไซต์งานก่อสร้างในพื้นที่ รวมทั้งการควบคุมการเคลื่อนย้ายของประชาชนในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (จ.สงขลา จ.ยะลา จ.ปัตตานี และ จ.นราธิวาส) โดยให้เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 26 มิ.ย. เป็นต้นไป

จูงลูกตรวจ – ผู้ปกครองจำนวนมากพาลูกหลานเข้าแถวรอตรวจโควิดเชิงรุก ที่วัดคลองท่อม อ.คลองท่อม จ.กระบี่ หลังเกิดคลัสเตอร์งานศพในพื้นที่ ทำให้ชุมชนกลายเป็นกลุ่มเสี่ยง เมื่อวันที่ 26 มิ.ย.

หยุดเชื้อแอฟริกาใต้4จว.ใต้

ทั้งนี้ ได้ย้ำข้อสั่งการของนายกฯ และรมว.กลาโหม ให้ประสานกับ กทม.และทุกจังหวัด บูรณาการจัดกำลังเร่งด่วนร่วมกัน เข้าไปสนับสนุนควบคุมจำกัดพื้นที่ทุกแคมป์และไซต์คนงานก่อสร้างเป้าหมายทั้งใน กรุงเทพ มหานคร และปริมณฑล ที่พบการแพร่ระบาดเป็นกลุ่มก้อนจำนวนมากทันที โดยให้เร่งตรวจคัดกรองเชิงรุกและนำเข้าสู่ระบบการรักษาควบคุมโรคโดยเร็ว รวมทั้งขอให้ขยายผลประชาสัมพันธ์ รัฐบาลพร้อมสนับสนุนเยียวยาค่าแรงรายวันระหว่างการควบคุม ดังกล่าว ทั้งนี้ ขอให้ทุกเหล่าทัพจัดรถครัวสนามพร้อมเครื่องอุปโภคบริโภคจำเป็น สนับสนุนทุกชุมชนและคลัสเตอร์ที่เข้าไปควบคุมการปฏิบัติไปพร้อมๆ กัน

สำหรับพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนใต้ สงขลา, ยะลา, นราธิวาส และปัตตานี ให้จัดกำลังสนับสนุนจังหวัด ควบคุมจำกัดการเคลื่อนย้ายของประชาชนข้ามเขต เพื่อหยุดการกระจายเชื้อสายพันธุ์แอฟริกาใต้ที่กำลังแพร่ระบาดเป็นวงกว้างในมาเลเซียเข้าไทย ซึ่งปัจจุบันพบการติดเชื้อกับประชาชนใน 4 จว.แล้ว

ย้ำบสย.ช่วยค้ำประกันกู้

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ตามที่รัฐบาลได้ออกพ.ร.ก.ให้การช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พ.ศ.2564 (พ.ร.ก.ฟื้นฟู) มี เป้าหมายเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการทุกขนาดและในทุกประเภทธุรกิจให้เข้าถึงสภาพคล่อง โดยผู้กู้จะได้รับการคิดอัตราดอกเบี้ยจากสถาบันการเงินไม่เกิน 2% ต่อปี ในช่วง 2 ปีแรก และในช่วง 5 ปีแรกอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยต้องไม่เกิน 5% ต่อปี และเพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสแก่ผู้ประกอบการในการเข้าถึงสินเชื่อ รวมทั้งเพิ่มความเชื่อมั่นในการพิจารณาอนุมัติเงินกู้ของสถาบันการเงิน

รัฐบาลได้มอบหมายให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ทำหน้าที่ผู้ค้ำประกัน ซึ่งจะ ค้ำประกันให้กับผู้ได้รับสินเชื่อฟื้นฟูทุกรายเต็มจำนวนทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการขนาดย่อย (ไมโคร ลูกจ้างไม่เกิน 5 คน) เอสเอ็มอีขนาดใหญ่ และบุคคลธรรมดา เป็นเวลาสูงสุด 10 ปี

น.ส.รัชดากล่าวว่า ที่ผ่านมาพบว่ามาตรการสินเชื่อซอฟต์โลนเดิมมีปัญหาตรงที่ผู้ประกอบการบางส่วนยังเข้าไม่ถึง ครม.จึงได้ออกพ.ร.ก.มาตรการฟื้นฟูฯ ฉบับใหม่ที่มีการแก้ไขข้อจำกัดของพ.ร.ก.ซอฟต์โลนเดิมในหลายประเด็น และล่าสุดนายกฯ ได้เชิญภาคเอกชน ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย และสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ร่วมหารือเพื่อรับฟังปัญหาและอุปสรรค ร่วมกันกำหนดแนวทางให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงสภาพคล่องมากขึ้น จะได้ประคองธุรกิจและกลับมาฟื้นตัวได้หลังวิกฤตโควิดคลี่คลาย

รง.แม่สอดป่วย 74

ส่วนที่จ.ตาก กรณีแรงงานหญิงสัญชาติเมียนมา อายุ 37 ปี ทำงานในโรงงานเย็บผ้าแห่งหนึ่งในพื้นที่หมู่ 2 ต.แม่ตาว อ.แม่สอด จ.ตาก ติดเชื้อโควิด ต่อมาเจ้าหน้าที่ทีมสอบสวนโรคติดต่อร.พ.แม่สอดต้องรีบสอบสวนโรค คัดกรองแรงงานเมียนมากลุ่มเสี่ยงทั้งหมดกว่า 80 คนที่นอนพักอาศัยอยู่ภายในแคมป์เดียวกัน ซึ่งผลการตรวจคัดกรองพบติดเชื้ออีก 74 ราย นำตัวส่งรักษาที่ร.พ.แล้ว โดยทีมตรวจโควิดภาคสนามจะปูพรมตรวจเชิงรุกแบบเข้มข้นในทุกโรงงานในพื้นที่ชุมชนกลุ่มเสี่ยงต.แม่ตาว เขตอำเภอแม่สอดทั้งหมดต่อไป

ปิดศูนย์อบรมตร.ภาค 8

ที่ศูนย์ฝึกอบรมตำรวจภูธรภาค 8 อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี นายวิชวุทย์ จินโต ผวจ.สุราษฎร์ธานี ได้เรียกประชุมด่วนพร้อม นายแพทย์มนู ศุกลสกุล นพ.สสจ.สุราษฎร์ธานี, พ.ต.อ.สุวัฒน์ สุขศรี รองผู้บังคับการศูนย์ฝึกตำรวจภูธรภาค 8, นายถาวร พรหมฉิม นายอำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อติดตาม การควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ภายในศูนย์ฝึกอบรมตำรวจภูธรภาค 8

เนื่องจากเมื่อวันที่ 25 มิ.ย. พบมีผู้ติดเชื้อจำนวน 22 ราย หลังจากมีนักเรียนนายสิบตำรวจรายหนึ่งมีอาการป่วยเข้าข่ายต้องสงสัย เข้าตรวจที่ร.พ.เอกชนในตัวเมืองสุราษฎร์ธานี พบผลเป็นบวก จึงส่งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเข้าตรวจกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูงตามมาตรการเชิงรุกของผวจ. ทันทีทั้งหมดภายในศูนย์ฝึกฯเมื่อคืนที่ผ่านมาเกือบ 200 คน ทำให้พบผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก 21 ราย รวม 22 รายส่งเข้ารักษาตัวที่ร.พ.สุราษฎร์ธานีแล้ว

นายวิชวุทย์กล่าวว่า ได้สั่งการให้ศูนย์ฝึกอบรมตำรวจภูธรภาค 8 ปิดเป็นเวลา 14 วัน พร้อมมอบให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุราษฎร์ธานีและโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี เร่งดำเนินการคัดกรองตรวจหาเชื้อโควิด-19 จากนักเรียนนายสิบตำรวจ ครูฝึก และเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกนายที่อยู่ภายในศูนย์ฝึกฯ รวมทั้งกำชับให้มีการกักบริเวณภายในศูนย์ฝึกฯ โดยใช้มาตรการคนในห้ามออกคนนอกห้ามเข้าจนกว่าจะดำเนินการคัดกรองโรคแล้วเสร็จ

บุรีรัมย์เข้มสูงสุดมาจากจว.เสี่ยง

ด้านนายธัชกร หัตถาธยากูล ผวจ.บุรีรัมย์ พร้อมด้วย นายพิเชษฐ พืดขุนทด นพ.สสจ.บุรีรัมย์ แถลงผลการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ว่า คณะกรรมการเห็นชอบให้ออกประกาศผู้ที่มาจากจังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) คือ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และกรุงเทพฯ และพื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดง) ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ตรัง นครปฐม ปัตตานี เพชรบุรี สงขลา สมุทรสาคร สระบุรี ยะลา และนราธิวาส ต้องกักตัวในสถานที่ที่รัฐจัดให้ หรือโลคัล ควอรันทีน ไม่น้อยกว่า 14 วัน

ส่วนผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่ควบคุม (สีส้ม) ให้รายงานตัวและรับการประเมินความเสี่ยงด้านสุขภาพโดยเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ณ พื้นที่กักกันโรคระดับจังหวัด/อำเภอ ในท้องที่ที่อำเภอกำหนด

เลยตื่นป่วย 19 พันธุ์อินเดีย

ด้านศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 8 อุดรธานี กรมวิทยาศาสตร์การแพย์ ระบุว่า สรุปเชื้อ Sars-Cov-2 สายพันธุ์เดลตา ระบุในพื้นที่จ.เลย มีผู้ติดเชื้อ 19 ราย เป็นสายพันธุ์เดลตาหมดทุกคน และอุดรธานี 35 คน สกลนคร 29 คน ทั้งนี้ คนที่ติดเชื้อทั้งหมดเป็นคลัสเตอร์อ.ผาขาว ที่มีพ่อพาลูกไปอยู่ด้วยช่วงปิดเทอมที่แคมป์กรุงเทพและเดินทางกลับมาส่งลูกที่อำเภอโดยไม่รายงานตัว ต่อมามีการติดเชื้อไปยังโรงเรียน วงไฮโล จนนายอำเภอผาขาว ต้องเดินทางไปสภ.ผาขาว เพื่อแจ้งความดำเนินคดีกับคนที่เกี่ยวข้อง

ตรวจป.3 – นักเรียนชาย-หญิง ชั้นป.3 โรงเรียนกลางกร่ำ ประมาณ 80 คน เข้าตรวจหาเชื้อโควิดกันยกชั้น หลังมีเพื่อนนักเรียนติดเชื้อจากพ่อ โดยเจ้าหน้าที่จัดจุดตรวจเชื้อที่ศาลาวัดกลางกร่ำ ต.กร่ำ อ.แกลง จ.ระยอง เมื่อวันที่ 26 มิ.ย.

ระยองวุ่น-ตรวจน.ร.ยกชั้น

ที่จ.ระยอง นายคเชนค์ แจ่มใส นายกเทศมนตรีตำบลสุนทรภู่ อ.แกลง จ.ระยอง ประสานนางนวลพรรณค์ เมตตา ผอ.โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลกร่ำ เพื่อเปิดจุดตรวจเชื้อกลุ่มเสี่ยง ที่บริเวณศาลาวัดกลางกร่ำ ต.กร่ำ อ.แกลง จ.ระยอง สืบเนื่องจาก มีการตรวจพบเด็กนักเรียนชายชั้นป.3 โรงเรียนกลางกร่ำ ติดเชื้อโควิดจากผู้ปกครอง ที่เป็นแรงงานชาวกัมพูชา คลัสเตอร์โรงเห็ด ต.เนินฆ้อ อ.แกลง ที่กำลังระบาดอยู่ในขณะนี้ ต่อมาทางโรงเรียนวัดกลางกร่ำ ได้ให้ ผู้ปกครองและเด็กนักเรียนชั้น ป.3 ทั้งหมด ที่เรียนห้องเดียวกันกับเด็กที่ติดเชื้อโควิด ประมาณ 80 คน เข้ามารับการตรวจสว็อบหาเชื้อ แจ้งให้ทั้งหมดกักตัวอยู่กับบ้านก่อนที่ผลตรวจจะออกมา โดยพบว่าเด็กทุกคนยังไม่มีอาการป่วยยังคงปกติอยู่ โดยพื้นที่ของ ต.กร่ำ ขณะนี้ พบผู้ติดเชื้อแล้ว 20 คน ซึ่งเป็นการติดเชื้อมาจากคลัสเตอร์โรงเห็ด

ชลบุรีพรวด 320 ปิด 2 แคมป์

ด้านสสจ.ชลบุรี รายงานว่าพบผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก 320 ราย มียอดสะสม 7,527 ราย กำลังรักษาตัวอยู่อีก 2,276 ราย หายป่วย 5,209ราย มีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 2 ราย จากการพบคลัสเตอร์ใหม่จากแคมป์แรงงานต่างด้าว คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดชลบุรี จึงมีคำสั่งให้ปิดแคมป์คนงานก่อสร้าง 2 แห่ง ซึ่งตั้งอยู่บริเวณพื้นที่ก่อสร้างของโครงการศุภาลัยวิลล์ พัทยา-มอเตอร์เวย์ ถนนชัยพรวิถี 21 หมู่ 1 ต.หนองปรือ อ.บางละมุง ตั้งแต่วันที่ 25 มิ.ย.-22 ก.ค.2564

ประจวบฯป่วย 74 ดับ 1

นพ.สุริยะ คูหะรัตน์ นพ.สสจ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า พบผู้ป่วยใหม่ 74 ราย ติดเชื้อสะสม 2,471 ราย รักษาหายแล้ว 2,023 ราย กำลังรักษา 442 ราย พบอาการรุนแรง 8 ราย และเสียชีวิตเพิ่มอีก 1 ราย ทำให้ตัวเลขผู้เสียชีวิตสะสม 6 ราย ผู้เสียชีวิตใหม่เป็นหญิงไทย อายุ 57 ปี อาชีพรับจ้างอยู่ ต.หนองพลับ อ.หัวหิน บ้านเปิดเป็นร้านค้าหน้าโรงงานสับปะรด มีโรคประจำตัว จากภาวะอ้วน เบาหวาน

ที่ร.พ.ราชธานี อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา นายภานุ แย้มศรี ผวจ.พระนครศรีอยุธยา นพ.พีระ อารีรัตน์ นพ.สสจ.พระนครศรีอยุธยา และนายบดินทร์ เกษมศานติ์ นายอำเภอ ร่วมสังเกตการณ์การฉีดวัคซีนซิโนฟาร์ม เข็มแรก ที่กลุ่ม YEC หอการค้าจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้ยื่นจัดซื้อกับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และได้รับการจัดสรรจำนวน 2,000 โดส เป็นกลุ่มแรกของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่ได้รับการจัดสรร ขณะที่จังหวัดพบผู้ป่วยเพิ่ม 71 ราย กระจายในหลายอำเภอ

นายธัชช์ธิราช หงษ์อุปถัมค์ชัย ประธานกลุ่ม YEC หอการค้าจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า หลังทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เปิดให้จองวัคซีนซิโนฟาร์ม ทางกลุ่ม YEC พระนครศรีอยุธยา จึงได้ยื่นจัดซื้อจำนวน 2,000 โดส เพื่อมาฉีดให้กับผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้สมาชิกได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เพื่อให้ประกอบธุรกิจได้อย่างมีความมั่นใจทั้งผู้ประกอบการและผู้มาใช้บริการ สร้างความเชื่อมั่นให้ภาคเศรษฐกิจตามนโยบายของรัฐบาล

กาญจน์อีก 14 มีเด็ก 1 ขวบ

ด้านสสจ.กาญจนบุรี รายงานว่า พบผู้ติดเชื้อใหม่ 14 ราย มีด.ญ.หญิงวัย 1 ขวบ บ้าน อยู่ต.โคกตะบอง อ.ท่ามะกา และด.ช. 2 ขวบ อยู่ ต.โคกตะบอง อ.ท่ามะกา รวมสะสม 523 ราย หายป่วยสะสม 339 ราย รักษาอยู่ร.พ. 177 ราย เสียชีวิตสะสม 7 ราย โดยอ.ศรีสวัสดิ์ เป็นอำเภอเดียวที่ยังไม่มีผู้ติดเชื้อในการระบาดระลอกใหม่

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน