โควิดคร่าหนูน้อย7ด.
หนุ่มอุทัยดับปริศนา
ฉีดวัคซีนไม่ถึง24ชม.
เตือนรับมือระลอก5

หมอประสิทธิ์เผย โควิดไทยสัญญาณดี ชี้มีวัคซีนเดือนละ 10 ล้านโดสแน่ แถมไฟเซอร์ก่อนกำหนด โควิดคร่าอีก 233 ราย มีทั้งหญิงท้อง เด็ก 7 เดือน ติดเชื้อหมื่นเก้า แพทย์ชนบทชี้ติดเชื้อจริงมากกว่า เพราะยังไม่นับที่ตรวจ ATK สธ.ผุดมาตรการคุมเข้มตลาดสด-ตลาดนัด เผยผล 2 มาตรการช่วยผู้ประกอบการ เยียวยาน.ร.รับเงิน 31 ส.ค.นี้ ร.พ.สนามมธ.โพสต์ ฉีดวัคซีนแบบนี้เวฟ 5 มาแน่ อนุทินยันไม่มีล็อกสเป๊กชุดตรวจ ATK สาวรง.ที่ระยองเกิดหลอนหลังฉีดวัคซีน สุดท้ายกลายเป็นเจ้าหญิงนิทรา หนุ่มอุทัยฯ ดับหลังฉีดวัคซีนไม่ถึง 24 ช.ม. ผวาคลัสเตอร์กะเหรี่ยง สั่งล็อกดาวน์ป่าละอู นายกฯ ขู่ลงดาบ จนท.ปล่อยให้มีปาร์ตี้ สสจ.ปราจีนฯ เร่งสอบหนุ่มใหญ่ดับหลังฉีดเข็มแรก

เร่งมือ – พระวัดใหญ่สีคิ้ว อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา เร่งต่อโลงศพสำหรับบรรจุร่างผู้เสียชีวิต ปกติวัดดังกล่าวต่อโลงบริจาคให้ศพผู้ยากไร้เป็นประจำ แต่การแพร่ระบาด โควิด-19 ต้องระดมพระเร่งมือมากขึ้น เมื่อวันที่ 22 ส.ค.

โควิดคร่าอีก 233 ราย

เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2564 ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เปิดเผยสถานการณ์โควิด-19 ประจำวันว่า วันนี้ประเทศไทยติดเชื้อใหม่ 19,014 ราย สะสม 1,049,295 ราย หายป่วย 20,672 ราย สูงกว่าติดเชื้อใหม่ หายสะสม 839,636 ราย เสียชีวิต 233 ราย สะสม 9,320 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 200,339 ราย อยูในร.พ. 40,827 ราย ร.พ.สนามและอื่นๆ 159,512 ราย มีอาการหนัก 5,239 ราย และใส่เครื่องช่วยหายใจ 1,117 ราย

ภาพรวมผู้ติดเชื้อมาจาก 67 จังหวัดรวมกันสูงสุด 9,665 ราย กทม.และปริมณฑล 8,347 ราย 4 จังหวัดภาคใต้ 796 ราย เรือนจำ 196 ราย และเดินทางมาจากต่างประเทศมี 10 ราย ได้แก่ เนเธอร์แลนด์ มาเลเซีย ประเทศละ 2 ราย ไต้หวัน 1 ราย กัมพูชา 1 ราย และ เมียนมา 4 ราย เข้ามาช่องทางธรรมชาติ

ผู้เสียชีวิต 233 ราย มาจาก 38 จังหวัด ได้แก่ กทม. 71 ราย, สมุทรปราการ 25 ราย, สมุทรสาคร 20 ราย, พระนครศรีอยุธยา 15 ราย, ปทุมธานี 14 ราย, นนทบุรี 8 ราย, สระบุรี 6 ราย, ตาก 5 ราย, ประจวบคีรีขันธ์ ฉะเชิงเทรา จังหวัดละ 4 ราย, นราธิวาส ปัตตานี บุรีรัมย์ สุรินทร์ หนองคาย นครนายก จังหวัดละ 3 ราย, สงขลา สุราษฎร์ธานี หนองคาย ขอนแก่น อุตรดิตถ์ อ่างทอง ระยอง ชลบุรี จังหวัดละ 2 ราย และชุมพร ตรัง พังงา อุดรธานี นครราชสีมา ชัยภูมิ ยโสธร ศรีสะเกษ นครพนม พิจิตร สุโขทัย ปราจีนบุรี สระแก้ว และตราดจังหวัดละ 1 ราย ในจำนวนนี้มีหญิงตั้งครรภ์ 2 ราย ที่กทม. เด็กอายุ 7 เดือนที่ประจวบคีรีขันธ์ ไม่มีโรคประจำตัว และแพทย์คลินิกอายุ 88 ปี ที่ กทม.เสียชีวิตด้วย ส่วนการเสียชีวิตที่บ้านพบ 4 ราย ที่กทม. 2 ราย ฉะเชิงเทรา และชุมพร จังหวัดละ 1 ราย

ส่วนการฉีดวัคซีนโควิด-19 วันที่ 21 ส.ค. ฉีดได้ 404,078 โดส สะสม 26,832,179 โดส แบ่งเป็นเข็มแรก 20,272,171 ราย เข็มสอง 6,017,820 ราย และเข็มสาม 542,188 ราย

เผยติดเชื้อจริงมากกว่า

ชมรมแพทย์ชนบท โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กถึงประเด็น “โควิดว่าด้วยเรื่องตัวเลข” โดยระบุว่า หัวใจของการทำความเข้าใจตัวเลขรายงานของ ศบค.นั้น มีประเด็นสำคัญที่ต้องดูร่วมกันอยู่ 2-3 ประเด็น จำนวนผู้ป่วยใหม่ประจำวันนั้น มากน้อยขึ้นกับจำนวนการตรวจ rt-PCR ด้วย เช่นในวันนี้ 22 ส.ค. 2564 พบผู้ป่วยใหม่ 19,014 ราย เราพบผู้ป่วยเฉลี่ยที่ราว 20,000 รายต่อวันมาตลอด แต่ตัวเลขนี้เป็นผลมาจากการตรวจ rt-PCR ของสัปดาห์นี้ที่เฉลี่ยตรวจได้วันละ 52,845 ราย ซึ่งหมายความว่ายังมีการตรวจ rt-PCR ที่มีจำนวนไม่มากนัก เพราะศักยภาพการตรวจนั้น ประเทศไทยทำได้ที่มาก กว่า 100,000 รายต่อวัน

ในขณะที่การตรวจ ATK ประจำวันนั้นแม้มีรายงานเป็นผลบวก แต่ก็จะยังไม่นำมารวมในตัวเลขผู้ติดเชื้อ หากรายใดได้ทำ RT-PCR ซ้ำ รายนั้นหากเป็นบวก ก็จะถูกนับว่าเป็น ผู้ป่วยใหม่ แต่หากไม่ได้ตรวจซ้ำ ก็จะหลุดไป นี่คือเบื้องต้นว่าด้วยโควิดกับตัวเลข แท้จริงจำนวนผู้ป่วยใหม่มีมากกว่ามาก จะกี่เท่ายากที่จะเดา และหากเรามี ATK ที่มีความแม่นยำ ทีมแพทย์เชื่อมั่นในผล ATK ที่ได้มา เราก็จะสามารถเห็นตัวเลขที่แท้จริงจากการรายงานได้มากขึ้น

สารทจีน – ประชาชนในย่านเยาวราช ทำพิธีเผากงเต๊กและเซ่นไหว้บรรพบุรุษ รวมถึงวิญญาณสัมภเวสีทั้งหลายในวันสารทจีน โดยปีนี้ส่วนใหญ่จัดพิธีอย่างเรียบง่าย เนื่องจากอยู่ในสถานการณ์โควิด-19 ระบาด เมื่อวันที่ 22 ส.ค.

สธ.ผุดมาตรการคุมเข้มตลาด

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ติดตามข้อมูลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั่วประเทศ พบว่าในพื้นที่สีแดงเข้ม โดยเฉพาะกรุงเทพฯ และปริมณฑล พบผู้ติดเชื้อที่เชื่อมโยงกับตลาดสดและตลาดนัดตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.-10 ส.ค. พบการติดเชื้อ 23 จังหวัด ในตลาด 132 แห่ง ผู้ติดเชื้อรวม 14,678 คน กระทรวงสาธารณสุขจึงได้จัดทำมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในตลาด ซึ่งที่ประชุม ศบค.ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม เป็นประธาน จะพิจารณาเพื่อดำเนินการต่อไป

สำหรับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในตลาดประกอบด้วยมาตรการ 3 ส่วน ได้แก่ มาตรการป้องกันคน ป้องกันสถานที่ (ตลาด) และจัดการระบบเฝ้าระวังควบคุมโรค ในส่วนการป้องกันคนนั้น จะมีตรวจคัดกรองเชิงรุกด้วยชุดตรวจ ATK ในกลุ่มเป้าหมายได้แก่ผู้ค้า ลูกจ้าง แรงงานที่เดินทางเข้าออก ผู้อยู่อาศัยที่ประกอบธุรกิจอยู่โดยรอบ และมีการสุ่มตรวจผู้ซื้อที่เดินทางเข้าไปใช้บริการในตลาด โดยดำเนินการในจังหวัดสีแดงเข้มทั้ง 29 จังหวัด แบ่งดำเนินการ เป็น 3 ระยะ ระยะที่ 1 ดำเนินการใน 9 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ ราชบุรี ชลบุรี นครราชสีมา สงขลาและสระแก้ว เป้าหมายที่ตลาดค้าส่งและตลาดขนาดใหญ่ (500 แผงขึ้นไป) ตลาดที่มีความเสี่ยงสูง มีชุมชนรอบตลาด รวม 27 แห่ง ระยะที่ 2 ดำเนินการตรวจในพื้นที่ตลาดทุกขนาด ในจังหวัดสีแดงเข้ม 16 จังหวัด ครอบคลุมตลาด 117 แห่ง และระยะที่ 3 ดำเนินการครอบคลุมตลาดทุกขนาดในพื้นที่สีแดงเข้มทั้ง 29 จังหวัด รวมตลาด 683 แห่ง

เย้ยพ.ร.ก. – ตร.และฝ่ายปกครอง จับวัยรุ่นชาย-หญิงรวม 23 คน ดื่มสังสรรค์ฝ่าฝืนพ.ร.ก. ฉุกเฉิน ที่บ้านพักใน อ.เมือง จ.นครราชสีมา หนึ่งในนั้นอ้างเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยชื่อดัง ส่วนที่เหลือเป็นลูกศิษย์ เมื่อวันที่ 22 ส.ค.

ขู่ลงดาบจนท.ปล่อยจัดปาร์ตี้

รองโฆษกรัฐบาลกล่าวว่า การประเมินเบื้องต้นคาดว่าจะดำเนินการตรวจครอบคลุมเป้าหมาย 202,010 คน ตรวจทุกสัปดาห์เป็นเวลา 4 สัปดาห์ ใช้ชุดตรวจ ATK 808,040 ชุด มีการสำรองสำหรับกรณีตรวจเชิงรุกอีก 41,960 ชุด รวมใช้ชุดตรวจ ATK ตามมาตรการนี้รวม 850,000 ชุด ซึ่งจะขอรับการสนับสนุนชุดตรวจจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ต่อไป นอกจากดำเนินการตรวจเชิงรุกแล้ว จะมีการให้วัคซีนแก่ผู้เกี่ยวข้องในตลาดตามลำดับความเสี่ยง รวมถึงดำเนินมาตรการอื่นควบคู่ เช่น การมีแผนเผชิญเหตุ การจัดเตรียมโรงพยาบาลสนาม หรือสถานที่แยกกัก เพื่อรองรับกรณี ผู้ติดเชื้อหรือพบผู้มีผลตรวจ ATK เป็นบวก

รองโฆษกรัฐบาลกล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์มีความห่วงใย หลังรับทราบว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจ บุกจับการจัดงานเลี้ยง สังสรรค์ รวมกลุ่มดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และมั่วสุมในแหล่งอบายมุขหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ได้กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย โดยจังหวัดและท้องถิ่นให้บูรณาการทำงานเพื่อป้องกันการรวมกลุ่มในลักษณะที่สุ่มเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ โควิด-19 พร้อมตรวจสอบสถานที่ที่มักมีการรวมกันจัดงานเลี้ยง หรือแหล่งอบายมุขในพื้นที่ หากพบกระทำความผิดให้ดำเนินคดีตามกฎหมาย ห้ามละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ มิเช่นนั้นเจ้าหน้าที่จะมีความผิดด้วย และหากพบว่าเจ้าหน้าที่รู้เห็นเป็นใจให้เกิดกิจกรรมมั่วสุม จะต้องถูกลงโทษอย่างเด็ดขาดด้วยเช่นกัน

3.5 แสนล้านสินเชื่อช่วยธุรกิจ

นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 (ศบศ.) เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้ามาตรการช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับ ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลังได้ร่วมดำเนินการ 2 มาตรการหลัก ได้แก่ 1.มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ (มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู) วงเงิน 250,000 ล้านบาท มีสินเชื่อฟื้นฟู ที่อนุมัติแล้ว 92,316 ล้านบาท ผู้ได้รับความช่วยเหลือจำนวน 30,194 ราย วงเงินอนุมัติเฉลี่ยอยู่ที่ 3.1 ล้านบาทต่อราย

และ 2.มาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ โดยให้ผู้ประกอบธุรกิจมีสิทธิซื้อทรัพย์สินนั้นคืนในภายหลัง (มาตรการ พักทรัพย์ พักหนี้) วงเงิน 100,000 ล้านบาท มีมูลค่าสินทรัพย์ที่รับโอน 10,510.61 ล้านบาท จำนวนผู้ได้รับความช่วยเหลือ 65 ราย

ทั้ง 2 โครงการเป็นมาตรการที่รัฐบาล ตอบสนองต่อภาคเอกชนให้สามารถเข้าถึงเงินสินเชื่อได้มากขึ้น เสริมสภาพคล่องและการลงทุน สนับสนุนวงเงินในการดูแลสินทรัพย์ให้ภาคธุรกิจโรงแรมและธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้อง ยังสามารถกลับมาทำธุรกิจตามปกติ หลังจำเป็น ต้องหยุดดำเนินกิจการชั่วคราว

เยียวยานร.รับเงิน 31 ส.ค.นี้

นายธนกรกล่าวต่อว่า ส่วนความคืบหน้าแนวทางในการช่วยเหลือนักเรียน ผู้ปกครอง และครู ตามมาตรการลดภาระทางการศึกษาของรัฐบาล ในส่วนของเงินเยียวยานักเรียน รัฐบาลจะจ่ายให้นักเรียนทุกคน ทุกสังกัด ทั้งภาครัฐและเอกชน ระดับอนุบาล-ม.ปลาย และปวช.ปวส.ทั่วประเทศ คนละ 2,000 บาท หลังจากกระทรวงการคลังจัดสรรงบประมาณแล้วจะโอนเงินให้ 3 หน่วยงานหลัก ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (โรงเรียนเอกชน กศน.) สำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เขตพื้นที่การศึกษาของรัฐ) และสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา (วิทยาลัย อาชีวศึกษา เทคนิค) ภายใน 5-7 วัน ซึ่งผู้ปกครอง สามารถตรวจสอบสิทธิกับสถานศึกษาถึงวิธีการรับเงิน ทั้งผ่านเลขบัญชีธนาคาร พร้อมเพย์ หรือรับเงินสด โดยคาดว่าจะได้รับเงินภายในวันที่ 31 ส.ค.นี้

กลุ่มเป้าหมายที่เป็นนักเรียน นักศึกษา ขณะนี้มีอยู่กว่า 11 ล้านคน แบ่งเป็นสถานศึกษาในสังกัดกระทรวงศึกษาฯ รวม 9.8 ล้านคน สถานศึกษานอกสังกัดศธ.อีก 1.2 ล้านคน งบประมาณดำเนินการรวม 22,000 ล้านบาท ซึ่งเบื้องต้นผู้ปกครองและนักเรียน นักศึกษา สามารถตรวจสอบสิทธิ์กับสถานศึกษา หรือโรงเรียนของรัฐตรวจสอบสิทธิและข้อมูล จากเว็บไซต์สำนักคณะกรรมการการศึกษา ขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) https://student.edudev.in.th และในส่วนของโรงเรียนเอกชน ตรวจสอบสิทธิและข้อมูลได้ที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริม การศึกษาเอกชน (สช.) https://opec.go.th

ฉีดวัคซีนแบบนี้เวฟ 5 มาแน่

วันเดียวกัน เฟซบุ๊กโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์โพสต์ข้อความรายงานสถานการณ์ โควิด-19 ความว่า วันเสาร์ที่ 21 สิงหาคม วันที่ 133 ของโรงพยาบาลสนามและวันที่ 72 ของศูนย์รับวัคซีนธรรมศาสตร์รังสิต 24 ชั่วโมงที่ผ่านมาเรามีผู้ป่วยโควิดเสียชีวิตที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์สูงสุดเท่าที่เคยมีมา คือ 4 ราย ซึ่งนับรวมอยู่ในจำนวน 261 รายที่เสียชีวิตทั้งประเทศในวันที่ผ่านมาด้วย

จำนวนผู้ป่วยใหม่ทั่วประเทศคือ 20,571 คน ก็ยังอยู่ในระดับ 20,000 บวกลบ ที่เราคาดว่าคงจะเป็นไปจนถึงสิ้นเดือนนี้ หลังจากนั้นจะลดลงอย่างชัดเจนจนสิ้นเวฟที่ 4 ในปลายกันยาได้ แต่ก็คงยังน่าจะมีตัวเลขหลายพันหรือหมื่นรายให้เห็นอยู่นะ ข่าวร้ายก็มีอยู่ด้วย คือถ้าเรายังฉีดวัคซีนกันแบบนี้ แบบที่ไม่ค่อยจะมีวัคซีนมาให้ฉีด เวฟ 5 จะมาแน่แต่จะมาเมื่อไหร่เท่านั้น และนักระบาดวิทยาบอกว่าในแต่ละเวฟจำนวนคนป่วยจะเพิ่มขึ้นสี่ถึงห้าเท่าทีเดียวนะ สหรัฐและอังกฤษดูจะเป็นตัวอย่าง ให้ศึกษาได้อยู่นะ

วันนี้ที่ศูนย์รับวัคซีนธรรมศาสตร์ที่ยิม 4 เราฉีด Astra ไปให้ผู้ที่รอคอยอยู่ได้อีก 1,542 คน พรุ่งนี้จะเป็นวันสุดท้ายที่เราจะมี Astra เหลืออยู่สำหรับฉีดให้ตามคิวที่จองไว้ ตั้งแต่วันจันทร์ไปจนวันศุกร์จะเป็น Sinovac กับ Astra เป็นเข็มที่สองละ เพราะเราไม่มี Astra เหลืออยู่เลยจริงๆ หวังว่าเมื่อวานนี้ที่มี Astra มาจากภูฏานและที่อธิบดี คร.แถลงว่าจะมี Astra ที่เราสั่งซื้อไว้เข้ามาอีก 7.2 ล้านโดสนั้น จะถูก จัดสรรมาให้ผู้คนที่ปทุมธานีและธรรมศาสตร์อย่างที่ท่านรมต.สธ.สัญญากับเราไว้เป็นมั่นเหมาะเมื่อต้นเดือนนี้

อนุทินยังไม่มีล็อกสเป๊ก ATK

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข กล่าวถึงกรณีที่มีผลวิจัยของกระทรวงสาธารณสุข ว่ายาฟาวิพิราเวียร์ไม่มีประสิทธิภาพในการรักษาโรคโควิด-19 ว่า ยืนยันว่ายังคงมีประสิทธิภาพที่ดี เนื่องจากมีการศึกษา บันทึก วิจัยอย่างเต็มศักยภาพ ทุกวันนี้ผู้ป่วยโควิด-19 หายจากโรคก็เพราะยาฟาวิพิราเวียร์ทั้งนั้น ซึ่งจะเห็นได้ชัดจากกราฟของผู้ที่หายป่วยมีทิศทางที่ดีขึ้น แต่มีกรณีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น อาจเป็นเพราะสายพันธุ์ที่มีการกลายพันธุ์ส่งผลให้มีการแพร่เชื้ออย่างรวดเร็วของสายพันธุ์เดลตา ขณะเดียวกันการทำงานของการกระจายวัคซีนนั้นถือว่าเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด ซึ่งในเขตกรุงเทพ มหานครคาดว่าประชาชนได้ฉีดวัคซีนครอบคลุมทุกพื้นที่แล้ว

นายอนุทินกล่าวต่อว่า ส่วนที่กระทรวงสาธารณสุขได้สั่งซื้อวัคซีนซิโนแวคมาเพิ่ม 12 ล้านโดสนั้น ตนมองว่าหากไม่ได้วัคซีนซิโนแวคอาจส่งผลให้มีจำนวนของผู้ติดเชื้อมากยิ่งขึ้น ซึ่งวัคซีนซิโนแวคมีประสิทธิภาพดีในช่วงของต้นปี แต่ตอนนี้ได้กลายพันธุ์เป็นสาย เดลตา ซึ่งนักวิจัยต่างๆ ก็ไม่นิ่งนอนใจเร่งศึกษาหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาโดยการ นำสูตรวัคซีนแบบไขว้มาป้องกันความรุนแรงของอาการของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ขอประชาชน มั่นใจในกระบวนการทำงานของวัคซีนฯ ที่มีในประเทศไทย

นายอนุทินกล่าวว่า ส่วนการประมูลชุดตรวจโควิด-19 แบบ ATK ที่มีกระแสข่าวว่ามีการล็อกสเป๊กนั้น ในตัวหน่วยงานตนมิได้มีการควบคุมโดยตรง ซึ่งในส่วนขององค์การเภสัชกรรมก็มีทางประธานบอร์ดควบคุมดูแลอยู่แล้ว อย่างไรก็ดี ตนมองว่าเป็นอำนาจหน้าที่ การตัดสินใจของแต่ละบอร์ดเพียงเท่านั้น ยืนยันไม่มีการล็อกสเป๊กอย่างแน่นอน

ชี้ผอ.ร.พ.ไม่ผิดอาญา

นพ.วิชาญ คิดเห็น รอง สสจ.นครราชสีมา ในฐานะประธานคณะกรรมการสอบสวน ข้อเท็จจริงกรณี รายชื่อผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ โควตาของโรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติ อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.นครราชสีมา ซึ่งพบว่ามีรายชื่อของภรรยา ผอ.โรงพยาบาลและสามีของหัวหน้ากลุ่มเภสัชกรรมและคุ้มครอง ผู้บริโภค รวมอยู่ด้วย ว่าหลังจากที่ตนสอบสวน ข้อเท็จจริง และส่งเรื่องไปให้นายแพทย์นรินทร์รัชต์ พิชญคามินทร์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพิจารณาแล้ว ซึ่งผลการพิจารณาโทษจะออกมาเช่นไร ก็อยู่ที่นายแพทย์ สาธารณสุขจังหวัดจะพิจารณา

ขณะนี้ก็ยังให้ ผอ.โรงพยาบาลเฉลิม พระเกียรติ ปฏิบัติหน้าที่ตามเดิม เนื่องจากช่วงสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 เช่นนี้ บุคลากรทางการแพทย์มีน้อย จำเป็นต้องให้ทำงานมีความต่อเนื่อง และโทษอาจจะไม่ถึงกับปลดออกจากตำแหน่ง เพราะในหนังสือสั่งการให้สำรวจบุคลากรที่จะได้รับการฉีดวัคซีนนั้น ให้สำรวจบุคลากรทางการแพทย์ครอบคลุมถึงบุคลากรที่อยู่ในคลินิกเอกชนด้วย เพียงแต่วัคซีนไฟเซอร์ในล็อตแรก

ทางสาธารณสุขจังหวัดได้เน้นย้ำว่าจะฉีดให้บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าก่อนเป็นลำดับแรก ส่วนบุคลากรทางการแพทย์ที่อยู่ในคลินิกเอกชน จะได้รับการฉีดในล็อตถัดไป จึงอาจจะไม่เข้าข่ายผิดถึงคดีอาญา เพียงแต่ว่าในกรณีนี้ทำให้เกิดความไม่เหมาะสม และไม่ปฏิบัติตามคำสั่งการของสาธารณสุขจังหวัด ซึ่งขณะนี้ก็ต้องรอทาง สสจ.พิจารณาความผิดทางวินัยอีกครั้ง

เป็นเจ้าหญิงนิทราอีกราย

นายเสงี่ยม อุดคำเที่ยง อายุ 45 ปี ชาว จ.แพร่ ปัจจุบันทำงานเป็นพนักงานขับรถตู้ ให้กับบริษัทในอ.ปลวกแดง จ.ระยอง ร้องขอความช่วยเหลือกรณี ที่ น.ส.ปนัดดา อังคะลา อายุ 31 ปี ภรรยา เข้ารับการฉีดวัคซีนซิโนฟาร์ม เป็นโควตาของบริษัทที่ทำงานอยู่ หลังฉีดเกิดอาการเห็นภาพหลอนจนสุดท้ายกลายเป็น เจ้าหญิงนิทรา

นายเสงี่ยมเล่าว่า เมื่อวันที่ 7 ส.ค. ภรรยาฉีดวัคซีนซิโนฟาร์ม พร้อมกับเพื่อนพนักงาน ที่โรงพยาบาล หลังการฉีดประมาณ 3 ชั่วโมง เริ่มมีอาการปวดศีรษะ มือเท้าชา ท้องเสีย และมองเห็นภาพหลอน ขณะนอนอยู่จู่ๆก็ลุกขึ้น ทำท่าทีหวาดกลัว ตะโกนร้องว่ามีคนอยู่ในบ้านหลายคนจ้องจะทำร้าย พร้อมทั้งเพ้อ ทั้งคืน จึงเชื่อว่าเกิดผลข้างเคียงของวัคซีน ตอนเช้าจึงรีบพาภรรยากลับไปตรวจรักษาที่โรงพยาบาล

โดยแจ้งอาการ หลังแพทย์ตรวจก็บอกให้เข้ารักษา แต่ตนเองไม่มีเงิน ทาง ร.พ. จึงฉีดยาให้ 1 เข็ม และให้ไปรักษาตามสิทธิ์ประกันสังคม ที่ ร.พ.พญาไท จ.ชลบุรี หลังแพทย์ตรวจอาการก็นำตัวเจ้าห้องไอซียู ทันที เข้ารับการรักษาเพียง 2 วัน อาการของ ภรรยาก็เริ่มทรุดหนัก ร่างกายไม่ตอบสนอง จำอะไรไม่ได้ คล้ายกับเจ้าหญิงนิทรา สอบถามแพทย์แจ้งว่า เกิดจากอาการสมองบวม ต้องรักษาตามอาการไปก่อน ทุกวันนี้แทบไม่ได้กินไม่ได้ นอนเลย เพราะเป็นห่วงภรรยา อยากให้ภรรยากลับมาเป็นปกติโดยเร็ว วอนขอความเห็นใจช่วยรักษาภรรยาให้หายกลับมาเหมือนเดิมด้วย

ด้านนพ.สุนทร เหรียญภูมิการกิจ สสจ.ระยอง กล่าวว่า อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลทั้งหมด เพื่อส่งเรื่องให้สปสช.พิจารณา หากเกิด จากผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนจริงก็จะดำเนินการช่วยเหลือตามขั้นตอนต่อไป ส่วนการ รักษาขณะนี้ทางผู้ป่วยก็ใช้สิทธิ์ของประกันสังคมในการรักษาอยู่แล้ว

เมียร่ำไห้ผัวดับหลังฉีดเข็มแรก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่จ.ปราจีนบุรี เกิดเหตุสลดขึ้นหลังฉีดวัคซีน โดยนางบุญสม อายุ 54 ปี เผยด้วยน้ำตานองหน้าว่า ตนกับนาย คำนวน อายุ 55 ปี สามี ไปฉีดวัคซีนป้องกัน โควิด-19 เข็มแรก ยี่ห้อซิโนแวค เมื่อวันที่ 20 ส.ค.ที่ผ่านมา หลังจากกลับจากทำงาน สามีบ่นบอกว่ารู้สึกเจ็บและปวดที่ต้นแขน จากนั้นเริ่มมีอาการแน่นหน้าอก เนื่องจากมีโรคประจำตัวเป็นความดันสูง ส่วนตนเองก็รู้สึกชาที่ไหล่และแขน ลูกสาวต้องใช้น้ำมันนวดและทาให้ วันรุ่งขึ้นสามีอาการยังไม่ดีขึ้น จนกระทั่งช่วงเสียชีวิตลงที่บ้านในช่วงบ่าย วันที่ 21 ส.ค.

ตนรู้สึกเสียใจไม่คิดว่าจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ ใครจะรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้น และยังไม่มีหน่วยงานใดออกมาให้ คำแนะนำและรับผิดชอบทางครอบครัว ยังติดใจในการเสียชีวิตของสามีเกี่ยวกับการฉีดแล้วมีอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีนจนเสียชีวิต แม้แต่ตนเองยังมีอาการชาตามตัว ชาที่ไหล่และแขนอยู่ แต่ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรหากย้อนเวลากลับมาได้ อยากจะให้เอาวัคซีนป้องกันโควิด-19 คืนไป เอาสามีกลับคืนมา มันไม่คุ้มกันเลยกับการสูญเสียสามี ที่เป็น เสาหลักในครั้งนี้

นายโชคชัย สาครพานิช สสจ.ปราจีนบุรีกล่าวว่า กรณีของชายวัย 55 ปี อาชีพรปภ.โรงงานแห่งหนึ่ง ชาว ต.นนทรี อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี เสียชีวิตหลังการฉีดวัคซีนเข็มแรกป้องกันโรคโควิด-19 (ซิโนแวค) นั้น ทาง สสจ.ปราจีนบุรีได้รับรายงานแล้ว ข้อมูลทราบว่าผู้เสียชีวิตอายุ 55 ปี อาชีพรปภ.รักษาการณ์ที่โรงงานแห่งหนึ่ง มีโรคประจำตัวความดันโลหิตสูง เข้าฉีดวัคซีนเมื่อ 20 ส.ค.64 หลังการฉีดมีอาการปวดแขนที่ฉีดข้างซ้ายได้เข้านอน มีอาการเจ็บหน้าอกแล้วนอน หมดสติญาติปลุกไม่ตื่น นำไป ร.พ.กบินทร์บุรี หยุดหายใจแล้วทางเจ้าหน้าที่ได้ให้การ ช่วยเหลือเต็มที่แล้ว ในกรณีนี้ได้ให้ทางผอ.ร.พ.กบินทร์บุรี-ผอ.สสอ.กบินทร์บุรีเข้าไปดูแลพูดคุย เยียวยาช่วยเหลือต่อไปแล้ว และจะขอนำศพเพื่อชันสูตรทางการแพทย์ หาสาเหตุการเสียชีวิตต่อไป

พาคัดกรอง – จนท.ทยอยพาชาวบ้าน 420 คน กลุ่มเสี่ยงคลัสเตอร์งานบุญ ในชุมชนอู่จาก ต.แหลมกลัด อ.เมือง จ.ตราด ส่งคัดกรองหาการติดเชื้อ โดยจังหวัดสั่งล็อกดาวน์ 14 วัน หลังพบผู้ติดเชื้อแล้ว 35 ราย เมื่อวันที่ 22 ส.ค.

ผวาคลัสเตอร์กะเหรี่ยงป่าละอู

นายพัลลภ สิงหเสนี ผวจ.ประจวบคีรีขันธ์ รับรายงานการระบาดของโควิด-19 ที่หมู่ 3 บ้านป่าละอูบน ต.ห้วยสัตว์ใหญ่ อ.หัวหิน มีแนวโน้มมีผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น จากเดิม พบชาวกะเหรี่ยงติดเชื้อแล้ว 41 คน จึงออกคำสั่งประกาศปิดสถานที่เป็นการชั่วคราวและสนับสนุนภารกิจของโรงพยาบาลสนามในพื้นที่ โดยปิดบ้านป่าละอูบน ห้ามเข้าออกจากหมู่บ้าน พร้อมตั้งจุดตรวจ บริเวณสามแยกโค้งค่ายฤทธิ์ฤาชัย และเส้นทางไปอ่างเก็บน้ำป่าเลา ถึงวันที่ 4 ก.ย. จากนั้น อบต.ห้วยสัตว์ใหญ่ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข จัดตั้งโรงพยาบาลสนามฯ 60 เตียงรองรับผู้ป่วยซึ่งเดิมให้กักตัวอยู่ในหมู่บ้าน

นายกิตติพงศ์ สุขภาคกุล ปลัดจังหวัดกล่าวว่า ได้จัดตั้งโรงพยาบาลสนามที่สำนักงานพัฒนา ราษฎรบนพื้นที่ราบสูงห้วยสัตว์ใหญ่ ขณะที่มีแนวโน้มพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน เนื่องจากหมู่บ้านป่าละอู มีชาวบ้านกลุ่มชาติพันธุ์อาศัย 360 ครัวเรือน ล่าสุดผู้ติดเชื้อโควิดมีเด็กเล็กหลายราย

น.ส.นิภาพร ทักษิณธานี ปลัด อบต.ห้วยสัตว์ใหญ่ กล่าวว่า การสอบสวนโรคพบว่าเมื่อสัปดาห์ก่อนมีกลุ่มวัยรุ่นจาก จ.เพชรบุรี เดินทางมาหาเพื่อนในหมู่บ้าน ทำให้มีผู้ติดเชื้อ จึงสั่งการให้กองสาธารณสุข ฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ ในหมู่บ้าน และหลังจากโรงพยาบาลสนาม มีความพร้อม คาดว่าในวันที่ 23 ส.ค. จะย้ายผู้ป่วยเข้ารับการรักษา

ญาติร้องหนุ่มดับหลังฉีดวัคซีน

นางกาหลง ณรงค์มี อายุ 72 ปี ชาว ต.เมืองการุ้ง อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี ร้องเรียนว่าลูกชายเสียชีวิตหลังฉีดวัคซีนซิโนแวคเข็มแรก นางกาหลงเล่าว่า เมื่อวันที่ 20 ส.ค.ตนเองพร้อมลูกชายคือนายสมบูรณ์ ณรงค์มี อายุ 48 ปี ไปฉีดวัคซีนเข็มแรกยี่ห้อซิโนแวคทั้ง 2 คน หลังจากฉีดเสร็จได้นั่งพักบริเวณนั้นประมาณ 30 นาที โดยนายสมบูรณ์ขอตนเองกลับมาที่รถก่อน บอกว่ามีอาการมึนหัว หลังนั่งพักผ่อน 30 นาทีก็กลับมาที่รถยนต์ เพื่อพากันกลับบ้าน

พอมาถึงบ้านนายสมบูรณ์ก็มีอาการคลื่นไส้และท้องเสีย ต่อมามีอาการเหนื่อยหอบ และบ่นแน่นหน้าอกตลอดทั้งคืนในช่วงประมาณ 01.00-04.00 น. จนช่วงเช้าวันรุ่งขึ้นยังมีอาการแน่นหน้าอกและมีอาการหอบเหนื่อยมาก ญาติๆ เห็นอาการไม่ดีก็พาไป โรงพยาบาลหนองฉาง พร้อมนำใบฉีดวัคซีนเข็มแรกยี่ห้อซิโนแวคให้เจ้าหน้าที่ดู หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ก็นำนายสมบูรณ์เข้าห้องฉุกเฉินทันที จากนั้นประมาณ 30 นาทีทางเจ้าหน้าที่ได้นำตัวนายสมบูรณ์เข้าเอกซเรย์ครั้งแรก

แต่ร่างกายนายสมบูรณ์นั้นอ่อนล้ามาก โดยปล่อยให้พักระยะหนึ่งและนำเข้าห้องเอกซเรย์อีกครั้งหนึ่ง แต่นายสมบูรณ์ไม่ตอบสนองแล้ว หลังจากนั้นทางเจ้าหน้าที่ได้นำนายสมบูรณ์เข้าห้องฉุกเฉินอีกครั้งเพื่อปั๊มหัวใจและได้เสียชีวิตในเวลาต่อมา ทั้งนี้ โรงพยาบาลหนองฉางได้ส่งศพไปผ่าตัดชันสูตรที่โรงพยาบาลสวรรค์ ประชารักษ์ญาติ ซึ่งระบุสาเหตุการตายว่าหลอดเลือดแดงเลี้ยงหัวใจแข้งกระด้างทำให้เสียชีวิต

นายขวัญชัย ณรงค์มี พี่ชาย และนางวลี บรรณศรี ภรรยาผู้ตายระบุว่า ผู้ตายนั้นเป็นคนที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ทำไร่อ้อยกว่า 50 ไร่คนเดียว แม้จะมีโรคประจำตัวคือเบาหวานและความดัน แต่ก็ไม่ส่งผลกระทบอะไรกับร่างกาย หลังจากที่ผู้ตายไปฉีดวัคซีนได้เพียงไม่ถึง 24 ช.ม.ก็มาเสียชีวิต โดยทางครอบครัวยังติดใจในสาเหตุการเสียชีวิต อยากร้อง ขอความเป็นธรรมหาสาเหตุการตายให้แน่ชัด เนื่องจากชาวบ้าน ตำบลเมืองการุ้งต่างหวาดผวา กับการฉีดวัคซีนในครั้งนี้

ไฟเซอร์ถึงไทยเร็วกว่ากำหนด

ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เผยว่า สถานการณ์โควิด-19 ของไทย ในหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เห็นตัวเลขขณะนี้อาจดูเหมือนยังไม่ลดลง เพราะผู้ติดเชื้อใหม่ยังแกว่งอยู่ที่ 1.9-2 หมื่นรายต่อวัน แต่ที่เห็นชัด คือ อัตราการติดเชื้อลดลง ตัวเลขที่จะวิ่งขึ้นมากๆ ไม่เกิดขึ้นมาเกือบ 2 สัปดาห์แล้ว

“ส่วนตัวเลขผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นเป็น 300 รายต่อวัน เมื่อสอบถามข้อมูลก็พบว่า เป็นตัวเลขที่รายงานเข้าระบบช้า แต่ตอนนี้เข้าใจว่ามีการเคลียร์ตัวเลขแล้ว ดังนั้น ตอนนี้ผู้เสียชีวิตรายใหม่น่าจะอยู่ที่ 200 กว่าราย ทั้งนี้ ตัวเลข เหล่านี้หากดูวันต่อวัน อาจไม่ชัด ต้องดูตัวเลข 7 วัน แล้ว เฉลี่ยกัน เราจะเห็นว่า เส้นความชันเริ่มน้อยลงกว่าเดิมเยอะ ใกล้เข้าสู่ระนาบเส้นตรง และเมื่อถึงจุดหนึ่ง กราฟก็จะเริ่มกดหัวลงเป็นขาลง” ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าว

สิ่งที่ทำให้กราฟลดลงเกิดจาก 3 ปัจจัย ได้แก่ 1.การฉีดวัคซีนป้องกัน อย่างเช่นหลายประเทศที่ฉีดมากกว่า ร้อยละ 25 ของจำนวนประชากร จะเริ่มสู่ระยะที่ใกล้จะถึงพีก เมื่อฉีด ใกล้ถึงร้อยละ 40-50 ก็จะเริ่มเห็นตัวเลขปรับลง ซึ่งขณะนี้ไทยฉีดวัคซีนแล้วประมาณ ร้อยละ 28 ของจำนวนประชากร ถือว่าทำได้ดี บางวัน ฉีดสูงถึง 6 แสนโดส

ดังนั้น เดือนๆ หนึ่ง เราน่าจะถึงเป้าหมายที่คุยกันไว้ที่ 15-18 ล้านโดส จังหวะตอนนี้เริ่มประกบเข้ามาทั้งเรื่องวัคซีน เท่าที่พยายามสอบถามก็ได้ข้อมูลว่า มีโอกาสค่อนข้างแน่นอนว่า เดือนหนึ่งจะมีวัคซีนเข้ามา 10 กว่าล้านโดส โดยจะมีวัคซีนไฟเซอร์เข้ามาเติมเต็มอีกในช่วงก่อนเดือนกันยายน 2564 ซึ่งเร็วกว่ากำหนดที่ระบุว่าในเดือนตุลาคม ก็หวังว่า เป้าหมายที่จะฉีดวัคซีนให้ถึง 15 ล้านโดส หากเกิดขึ้นได้จริง ก็จะเป็นปัจจัยเชิงบวก ที่ทำให้กราฟกดหัวลงเร็วขึ้น แต่ต้องควบคู่กับระบบบริหารจัดการ

ก.ย.ผ่อนคลายล็อกดาวน์

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ส่วนตัวที่ติดตามดูการดำเนินการของประเทศต่างๆ เห็นว่าจุดคลายล็อกที่น่าจะปลอดภัยคือ การฉีดวัคซีนที่ร้อยละ 50 ของจำนวนประชากร ซึ่งในขณะนี้ไทยฉีดแล้ว 26 ล้านโดส แต่หากฉีดได้ตามเป้าหมายเดือนละ 15 ล้านโดส หรือเฉลี่ยวันละ 5 แสนโดส เมื่อรวมกันก็จะได้ประมาณ 40 ล้านโดส นั่นคือภายในกลางเดือนกันยายนนี้ ควรจะได้ฉีดได้ 40 กว่าล้านโดส เพื่อให้เข้าใกล้ ตัวเลข ร้อยละ 50 ของจำนวนประชากรคนไทย 70 กว่าล้านคน ก็ควรจะได้วัคซีน 35 ล้านคน

“เราน่าจะเซฟพอที่จะคลายล็อก ทั้งนี้ ปลายเดือนสิงหาคม ตัวเลขอาจจะยังไม่ดี แต่อีก 14 วัน ให้หลัง น่าจะคลายล็อกได้ ค่อนข้างปลอดภัย แต่ต้องเลือกพื้นที่และกิจกรรมให้เหมาะสม มีการติดตามอย่าง เข้มงวด ซึ่งจะแปรผกผันกับความชุกของการติดเชื้อ คือ ผู้ติดเชื้อมากก็จะคลายล็อกได้น้อย แล้วค่อยผ่อนคลายต่อหากสถานการณ์ดีขึ้น อย่างเช่นปีที่แล้ว เราคลายล็อกกันตั้ง 6 รอบ ดังนั้น เราต้องค่อยๆ คลายล็อก ส่วนตัวลึกๆ หากไม่มีคลัสเตอร์ใหม่ ดูจากตัวเลขเวลานี้แล้วก็ดูจากเคสหนักๆ ผมคิดว่าหากยังไม่ถึงจุดสูงสุดของยอดติดเชื้อ ก็น่าจะใกล้ถึงเต็มที่แล้ว แล้วอีกไม่นานก็จะถึงจุดที่วกลง ทั้งอัตรา การเสียชีวิตและการติดเชื้อ” ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน