ศบค.ชี้ขาดวันนี้-เลิกห้ามข้ามจว.
ไทยขอซื้อวัคซีนเหลือจากยุโรป
ป่วยยังเกิน1.8หมื่น-เสียชีวต229

ร้านอาหารเฮ ให้นั่งกินในร้านได้ 50% เปิด ได้ถึง 2 ทุ่ม แต่ต้องฉีดวัคซีน 2 โดส ห้างสรรพสินค้าศูนย์การค้า เปิดได้ไม่เกิน 2 ทุ่ม ร้านเสริมสวยเปิดบริการได้ แข่งกีฬาได้แต่ห้ามคนดู ยกเลิกห้ามเดินทางข้ามจังหวัด ชงศบค.ชุดใหญ่ชี้ขาดวันนี้ คาดเริ่มเปิดได้ 1 ก.ย. ขณะที่ป่วยโควิดรายวันเพิ่ม 18,501 เสียชีวิต 229 ราย กรุงเทพฯ-ปากน้ำป่วยเกินพัน ส่วนชลบุรี มหาชัยติดเชื้อลดต่ำกว่าพัน ‘วังน้ำเย็น’ ปิดที่ทำการอำเภอ หลังจนท.ติดเชื้อ เรือนจำ ประจวบฯ ติดโควิดพุ่ง 87 สธ.ขอซื้อวัคซีนเหลือใช้จากยุโรป 2-3 ล้านโดสต่อเดือน นาน 4 เดือน มั่นใจ ก.ย.-ธ.ค.ฉีดครบ 100 ล้านโดส ศธ.ทยอยฉีดไฟเซอร์ให้นักเรียนปลายก.ย.นี้

ติดเชื้ออีก 18,501-ตายเพิ่ม 229

เมื่อวันที่ 26 ส.ค. ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เปิดเผยสถานการณ์โควิด-19 ประจำวัน ว่า วันนี้ประเทศไทยติดเชื้อใหม่ 18,501 ราย ติดเชื้อสะสม 1,120,869 ราย รักษาหายป่วย 20,606 ราย สูงกว่าติดเชื้อใหม่ หายป่วยสะสม 923,621 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 229 ราย เสียชีวิตสะสม 10,220 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 186,934 ราย อยู่ในรพ. 25,654 ราย ร.พ.สนามและอื่นๆ 161,280 ราย มีอาการหนัก 5,174 ราย และใส่เครื่องช่วยหายใจ 1,090 ราย

ภาพรวมผู้ติดเชื้อมาจาก 67 จังหวัดรวมกันสูงสุด 9,632 ราย กทม.และปริมณฑล 7,958 ราย 4 จังหวัดภาคใต้ 760 ราย เรือนจำ 139 ราย และเดินทางมาจากต่างประเทศมี 12 ราย ได้แก่ มาเลเซีย 2 ราย เข้ามาช่องทางธรรมชาติ กัมพูชา 4 ราย เข้ามาช่องทางธรรมชาติ 1 ราย เมียนมา 3 ราย เข้ามาช่องทางธรรมชาติ 2 ราย ออสเตรีย 1 ราย และอังกฤษ 2 ราย ส่วนการตรวจ ATK มีรายงานผลบวกเพิ่มอีก 2,339 ราย

ผู้เสียชีวิต 229 ราย มาจาก 41 จังหวัด ได้แก่ กทม. 71 ราย, ชลบุรี 20 ราย, ปทุมธานี 16 ราย, สมุทรสาคร และสมุทรปราการ จังหวัดละ 14 ราย, นราธิวาส ปัตตานี จังหวัดละ 6 ราย, นครปฐม สมุทรสงคราม สระบุรี กาญจนบุรี จังหวัดละ 5 ราย, สุรินทร์ ตาก นครสวรรค์ ระยอง นครนายก จังหวัดละ 4 ราย, ตรัง สงขลา ชัยภูมิ อุบลราชธานี บุรีรัมย์ ปราจีนบุรี จังหวัดละ 3 ราย, ระนอง ศรีสะเกษ อุทัยธานี ฉะเชิงเทรา และพระนครศรีอยุธยา จังหวัดละ 2 ราย และนนทบุรี ยะลา ชุมพร กาฬสินธุ์ นครราชสีมา มหาสารคาม สกลนคร บึงกาฬ เชียงราย พิจิตร ลำปาง พิษณุโลก สระแก้ว และเพชรบุรี จังหวัดละ 1 ราย

เด็ก 12 ขวบดับ-พบป่วยมะเร็ง

ผู้เสียชีวิตเป็นชาย 127 ราย และหญิง 102 ราย อายุ 12-97 ปี เป็นผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 151 ราย คิดเป็น 66% อายุต่ำกว่า 60 ปี มีโรคเรื้อรัง 57 ราย คิดเป็น 25% รวม 2 กลุ่มนี้สูง 91% อายุน้อยกว่า 60 ปีไม่มีโรคเรื้อรัง 21 ราย คิดเป็น 9% และเด็กอายุ 12 ขวบ 1 ราย ที่จ.ชลบุรี มีมะเร็งต่อมไพเนียล คิดเป็น 0.3% พบการเสียชีวิตที่บ้านและระหว่างนำส่ง 1 รายจากกทม.

ภาพการรายงานของศบค.พบว่า กราฟสถานการณ์การติดเชื้อเริ่มลดลงและเริ่มลดลงต่ำกว่าฉากทัศน์ คาดการณ์ผลจากมาตรการล็อกดาวน์ ทำงานที่บ้าน ปิดสถานที่เสี่ยง ที่มีประสิทธิผลลดลงได้ 25% และฉีดวัคซีนกลุ่มเสี่ยงได้ตามเป้าหมาย แต่กราฟผู้เสียชีวิตยังคงสูงกว่าฉากทัศน์ประสิทธิผลล็อกดาวน์ 25%

ปากน้ำ-กทม.ยังป่วยเกินพัน

สำหรับ 10 จังหวัดที่ติดเชื้อสูงสุด ได้แก่ 1.กทม. 4,178 ราย สะสม 259,155 ราย 2.สมุทรปราการ 1,887 ราย สะสม 73,824 ราย 3.สมุทรสาคร 982 ราย สะสม 69,561 ราย 4.ชลบุรี 973 ราย สะสม 58,135 ราย 5.นครราชสีมา 693 ราย สะสม 16,186 ราย 6.นนทบุรี 504 ราย สะสม 41,588 ราย 7.ราชบุรี 493 ราย สะสม 14,815 ราย 8.ระยอง 472 ราย สะสม 15,700 ราย 9.ฉะเชิงเทรา 459 ราย สะสม 21,884 ราย และ 10.บุรีรัมย์ 432 ราย สะสม 11,882 ราย

ติดเชื้อ 400 ราย ขึ้นไปมีอีก 2 จังหวัด คือกาญจนบุรี 426 ราย และสระบุรี 413 ราย ติดเชื้อ 300 รายขึ้นไป มี 1 จังหวัด คือ พระนครศรีอยุธยา 310 ราย

ติดเชื้อ 200 รายขึ้นไป มี 7 จังหวัด ได้แก่สงขลา 285 ราย, สุรินทร์ 253 ราย, นครปฐม 252 ราย, นราธิวาส 237 ราย, ร้อยเอ็ด 230 ราย, สระแก้ว 222 ราย และศรีสะเกษ 216 ราย

ติดเชื้อมากกว่า 100 ราย มี 19 จังหวัด ได้แก่ เพชรบุรี 190 ราย, ภูเก็ต 189 ราย, อุบลราชธานี 184 ราย, ปราจีนบุรี 175 ราย, นครศรีธรรมราช 175 ราย, ยะลา 162 ราย, อ่างทอง 156 ราย, ปทุมธานี 155 ราย, ลพบุรี 152 ราย, ระนอง 152 ราย, สมุทรสงคราม 146 ราย, จันทบุรี 134 ราย, ตาก 132 ราย, นครสวรรค์ 127 ราย, สุราษฎร์ธานี 118 ราย, เพชรบูรณ์ 117 ราย, อุดรธานี 107 ราย, ขอนแก่น 103 ราย และประจวบคีรีขันธ์ 102 ราย

สำหรับจังหวัดที่มีการติดเชื้อน้อยกว่า 20 ราย 8 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ 16 ราย, แพร่ 16 ราย, กระบี่ 13 ราย, พะเยา 13 ราย, ชัยนาท 13 ราย, พังงา 12 ราย, ลำพูน 10 ราย และแม่ฮ่องสอน 8 ราย

ส่วนการฉีดวัคซีน วันที่ 25 ส.ค. ฉีดได้ 637,921 โดส สะสม 28,835,580 โดส แบ่งเป็นเข็มแรก 21,669,955 ราย เข็มสอง 6,596,785 ราย และเข็มสาม 568,840 ราย

สธ.ชงศบค.ผ่อนล็อก 3 กิจการ

ด้านนพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงการเสนอมาตรการเพื่อเปิดบางกิจการว่า วันนี้ไทยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 18,501 ราย รักษาหาย 20,606 ราย เสียชีวิต 229 ราย ค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 7 วันของติดเชื้ออยู่ที่ 18,716 ราย และเฉลี่ย 7 วันย้อนหลังของการเสียชีวิตคือ 247 ราย ภาพรวมหลังล็อกดาวน์ 4 สัปดาห์กว่า สถานการณ์การติดเชื้อเป็นไปตามฉากทัศน์ที่วางไว้ คือผลของการล็อกดาวน์มีประสิทธิภาพลดติดเชื้อ 20-25% แต่ต้องติดตามไปอีกระยะ ส่วนอัตราเสียชีวิตยังสูง โดยเฉพาะกลุ่ม 607 คือ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และ 7 กลุ่มโรค ทำให้การตายค่อนข้างสูงในแต่ละวัน แต่สามารถลดได้โดยเร่งฉีดวัคซีนในกลุ่มเหล่านี้ ซึ่งไทยกำลังเร่งฉีดวัคซีนอยู่ ก็มีแค่กทม.เท่านั้นที่ฉีดผู้สูงอายุได้ตาม เป้าหมายกว่า 90% ที่ฉีดวัคซีน ส่วนต่างจังหวัดอัตรายังต่ำ จึงต้องเร่งฉีดเพื่อลดการเสียชีวิตให้ลงมาอยู่ในประสิทธิผลการล็อกดาวน์ลดติดเชื้อ 25% ให้ได้ แต่ตัวเลขเริ่มดีขึ้น เชื่อว่าจะลดลงต่อไป

นพ.เกียรติภูมิกล่าวต่อว่า สธ.จะเสนอมาตรการที่จะทำให้เราสามารถตรึงและลดการติดเชื้อแต่ละวัน ไม่ให้เพิ่มขึ้นมาอีก เป็นการใช้มาตรการให้เราอยู่กับโควิดได้ โดยสธ.จะเสนอมาตรการต่อศบค.ที่จะมีการประชุมในวันที่ 27 ส.ค. เพื่อให้กิจการบางอย่างที่มีความเสี่ยงน้อยและมีความสำคัญดำเนินกิจการได้และต้องลดความเสี่ยงด้วย เช่นร้านอาหาร กิจการกลางแจ้ง และการเดินทาง โดยต้องเพิ่มมาตรการไม่ให้ติดเชื้อและแพร่เชื้อ ซึ่งร้านอาหารต่างๆ จะรวมถึงในห้างสรรพสินค้าด้วย ส่วนรายละเอียดต่างๆ อยู่ที่การพิจารณาของ ศบค. สำหรับมาตรการสำคัญในการรองรับเรื่องนี้ คือ Universal Prevention การป้องกันติดเชื้อแบบครอบจักรวาล ป้องกันส่วนบุคคลอย่างสูงสุดตลอดเวลา ทั้งบุคลากรทางการแพทย์และประชาชนทั่วไป เพราะเมื่อออกไปภายนอกเราระวังกันมาก แต่กับคนใกล้ชิดคนรู้จักเราไม่ค่อยระวังตัว ลดการป้องกันตนเอง ไม่ใส่หน้ากาก รับประทานร่วมกัน อยู่ร่วมกันยาวนาน ทำให้เกิดการติดเชื้อในครอบครัวและที่ทำงาน

แต่ต้องทำตามมาตรการเข้ม

นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า มาตรการที่จะเสนอในสถานประกอบการ เพื่อให้ดำเนินการต่อไปได้ คือ COVID Free Program ร่วมกับ Universal Prevention โดย COVID Free Program เป็นมาตรการประกอบด้วย 2 ส่วน คือ 1.สถานประกอบการต้องจัดสิ่งแวดล้อม เว้นระยะห่าง มีคิว ระบบระบายอากาศไม่ให้อากาศนิ่ง เพราะอาจทำให้ติดเชื้อได้ ซึ่งเหล่านี้ส่วนใหญ่จะอยู่ในสถานประกอบการลักษณะปิดหรือห้องแอร์ 2.บุคคลในสถานประกอบการ คือผู้ให้บริการและผู้รับบริการ (ลูกค้า) โดยผู้ให้บริการจะเป็นโควิดฟรี คือฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม, เคยติดเชื้อมาแล้ว 1-3 เดือน ถือว่ามีภูมิ หรือมีผลตรวจ RT-PCR หรือตรวจ ATK ว่าไม่มีโควิด โดยคนทำหน้าที่เสี่ยงมากตรวจทุก 3 วัน เสี่ยงน้อยตรวจทุก 7 วัน และบริการด้วยมาตรการป้องกันการติดเชื้อ

ส่วนลูกค้าที่ไปใช้บริการในระยะถัดไปนี้จะต้องปราศจากเชื้อเช่นกัน โดยต้องได้รับวัคซีน 2 เข็ม โดยต่อไปอาจมีบัตร หรือดิจิทัลการ์ดว่าได้รับวัคซีนครบ ถ้าทุกคนอยู่ในหมอพร้อมจะได้ใบรับรองการฉีดในระบบดิจิทัลและแอพพลิเคชั่นหมอพร้อม ถ้าไม่มีขอใบรับรองการฉีดครบก็ใช้ได้ ถ้ามีใบเหล่านี้ก็เข้าไปใช้บริการได้อย่างสะดวกใจ หรือคนเคยติดเชื้อมาแล้ว 1-3 เดือน ขอใบรับรองแพทย์ แต่เมื่อจะพ้นระยะดังกล่าวก็ไปฉีดวัคซีน ทำให้มีภูมิต่อไปได้ กรณีไม่ได้วัคซีนหรือไม่ได้ติดเชื้อก็ต้องเป็นโควิดฟรี โดยตรวจ ATK อาจตรวจเองที่บ้านหรือหน้าสถานประกอบการ ซึ่งบางที่อาจจะมีบริการ ถ้าทำแล้วผลลบ ผู้ประกอบการจะออกบัตรเหลืองให้ว่าไม่มี โควิด ก็ใช้บริการในสถานที่ประกอบการนั้นๆ ได้ประมาณ 1 สัปดาห์ ทำให้มีความรู้สึกว่าปลอดภัยในการไปใช้บริการต่างๆ แต่ถ้าไม่สามารถทำได้ อย่างร้านอาหารก็ยังสามารถสั่งกลับบ้านได้

“ส่วนร้านอาหารเราเน้นในระบบปิด คือห้องปรับอากาศ โดยเราเสนอให้นั่งรับประทานอนุญาต 50% แต่รายละเอียดขึ้นกับศบค.พิจารณา โดยเวลาเปิดยังถึง 20.00 น. เหมือนเดิม ส่วนการเดินทาง เราเสนอให้อนุญาตเดินทางได้ แต่อยู่ภายใต้มาตรการเข้มงวดดังกล่าว โดยเฉพาะสายการบินที่พยายามให้การเดินทางปลอดภัยที่สุด แต่การเดินทางโดยรถต้องมีมาตรการอื่น เพราะอาจยังทำไม่ได้เต็มที่” นพ.เกียรติภูมิกล่าว และว่า ส่วนการปรับสีพื้นที่ยังไม่ได้เสนอให้ปรับ เพื่อให้ทุกคนตระหนักว่าสถานการณ์มีการติดเชื้อสูง แม้มีแนวโน้มดีขึ้น แต่จำนวนตัวเลขแต่ละวันยังอยู่ที่ 1.7-1.8 หมื่นราย ประชาชนตระหนักต้องรุนแรงอยู่ จะอนุญาตดำเนินการกิจการเท่าที่จำเป็น

ทั้งนี้ กิจการต่างๆ ถ้าเปิดแล้วต้องช่วยกันดูแล ไม่อยากให้ปิดอีก ขอให้ระลึกถึงการป้องกันตนเองตลอดเวลา โดยมาตรการเหล่านี้ยังไม่ได้บังคับ เป็นมาตรการแนะนำเบื้องต้นและจะเป็นมาตรฐานต่อไป ซึ่งหลังจากเปิดกิจการต่างๆ อาจจะมีกิจการต้นแบบและใช้เป็นมาตรฐานในอนาคตต่อไป จะกำกับติดตามเพื่อให้เกิดความยั่งยืนต่อไป ซึ่งหลายกิจการเสนอตัวเข้ามาใช้ระบบนี้ จะได้รับการสนับสนุนจากสธ. หากดำเนินการแล้วประเมินแล้วว่าสถานการณ์ไม่ดีขึ้นก็อาจต้องกลับมาเข้มงวดตามเดิม

ศบค.เล็กไฟเขียวผ่อนล็อก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) ที่มีพล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสมช. ในฐานผอ.ศปก.ศบค.เป็นประธาน ได้พิจารณามาตรการผ่อนคลายบางส่วนตามข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุข โดยจะนำข้อสรุปเสนอต่อที่ประชุมศบค.ชุดใหญ่ ที่มีนายกฯ ในฐานะผอ.ศบค. เป็นประธาน ในวันที่ 27 ส.ค. เวลา 09.30 น.

ที่ประชุมศปก.ศบค. เตรียมเสนอให้ศบค.ชุดใหญ่ ผ่อนคลายพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด หรือพื้นที่สีแดงเข้ม 29 จังหวัด เรื่องการจำกัดการเดินทาง โดยผ่อนคลายเป็นขอความร่วมมือ หรือหลีกเลี่ยงการเดินทางและห้ามออกนอกเคหสถานในเวลา 21.00-04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น และกำหนดมาตรการบริการขนส่งข้ามเขตพื้นที่สีแดงเข้ม สำหรับเรื่องการจัดกิจกรรม ผ่อนคลายการจัดกิจกรรม หรือรวมคนได้ไม่เกิน 25 คน เรื่องร้านอาหาร บริโภคในร้านได้ตามประเภทร้านและกำหนดเกณฑ์ ผู้รับบริการ ผู้ให้บริการ โดยเปิดได้ไม่เกิน 20.00 น. แต่ยังคงงดการจำหน่ายและงดดื่มสุราในร้าน

ขณะที่ศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้า สามารถเปิดบริการได้แบบมีเงื่อนไข โดยเปิดได้ไม่เกิน 20.00 น. ยกเว้นกิจกรรมเสี่ยงบางอย่างที่ยังไม่ให้เปิดบริการ ได้แก่สถาบันกวดวิชา โรงภาพยนตร์ สปา สวนสนุก สวนน้ำ ฟิตเนส ห้องออกกำลังกาย สระว่ายน้ำ ห้องประชุม จัดเลี้ยง

ส่วนร้านเสริมสวย ร้านนวด สถานเสริมความงามนั้นผ่อนคลายให้เปิดบริการได้ ยกเว้นร้านนวดที่เปิดได้เฉพาะนวดเท้า เรื่องสถานศึกษาทุกระดับ สถานกวดวิชา ผ่อนคลายให้ใช้อาคารสถานที่เพื่อจัดการเรียนการสอนทำกิจกรรมที่มีการรวมคนจำนวนมาก โดยต้องผ่านการเห็นชอบจากกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัย และนวัตกรรม ร่วมกับความเห็นของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดโดยมีมาตรการกำกับอย่างเคร่งครัด

ส่วนสถานที่เล่นกีฬาหรือแข่งขันกีฬาผ่อนคลายให้เปิดบริการได้ประเภทกีฬากลางแจ้ง หรือในร่ม ที่เป็นที่โล่งอากาศถ่ายเทสะดวก ไม่มีระบบปรับอากาศ และการซ้อมของนักกีฬาทีมชาติไทยทุกประเภท โดยผ่านความเห็นชอบและรับทราบจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด คณะกรรมการโรคติดต่อกทม. โดยเปิดได้ไม่เกิน 20.00 น. สำหรับการจัดการแข่งขันต้องจัดโดยไม่มีผู้เข้าชม โดยผู้จะร่วมการแข่งขันต้องได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ หรือ 1 เข็ม และตรวจ ATK ทุกสัปดาห์ ขณะที่ผู้จัดการแข่งขันต้องดำเนินการตามมาตรการป้องกันควบคุมโรคที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด

นั่งทานในร้านได้ 50%

สำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดหรือพื้นที่สีแดง เรื่องการจำกัดการเดินทางนั้นผ่อนคลาย เป็นไม่จำกัดการเดินทาง ส่วนเรื่องการจัดกิจกรรมนั้นผ่อนคลายเป็นห้ามรวมคนไม่เกิน 50 คน

ขณะที่พื้นที่ควบคุมหรือพื้นที่สีส้มผ่อนคลายเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมรวมคนโดยรวมคนได้ไม่เกิน 100 คน โดยจะให้มีผลวันที่ 1 ก.ย. ขณะที่สถานบริการสถานบันเทิง และสถานบริการอื่นในลักษณะที่คล้ายกันนั้นยังคงปิดบริการในพื้นที่ทุกระดับสีเหมือนเดิม อย่างไรก็ตามสำหรับผลสรุปข้อเสนอดังกล่าวต้องรอความชัดเจนจากมติที่ประชุมศบค. อีกครั้ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอเพื่อผ่อนคลายในส่วนของสถานประกอบการและร้านอาหารในระบบปิดนั้น กระทรวงสาธารณสุขเสนอให้นั่งรับประทานอาหารในร้านได้ 50% และปิดร้านในเวลา 20.00 น. พร้อมมีเงื่อนไขการผ่อนคลายที่ได้ตกลงกับผู้ประกอบการในพื้นที่สีแดงเข้ม อาทิ ผู้ประกอบการ พนักงาน หรือผู้รับบริการจะต้องได้รับวัคซีนครบ 2 โดส หากเคยติดเชื้อต้องหายพ้นระยะการแพร่เชื้อแล้วมากกว่า 1 เดือน แต่ไม่เกิน 3 เดือน และมีการตรวจเชื้อแบบ ATK ในทุกสัปดาห์ หากอยู่ในพื้นที่เสี่ยงมากอาจต้องตรวจทุก 3 วัน ขณะที่ผู้เข้ารับบริการในพื้นที่สีแดงเข้มต้องมีการแสดงบัตรเขียวที่แสดงการรับวัคซีนครบ 2 โดสแล้ว หรือบัตรเหลือง ที่แสดงตนว่าเคยติดเชื้อหายแล้วมากกว่า 1 เดือนแต่ไม่เกิน 3 เดือน หรือตรวจ ATK ในทุกสัปดาห์ โดยมีอายุการใช้งาน 1 สัปดาห์

ขอซื้อวัคซีนเหลือใช้จากยุโรป

ด้านนพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ว่า ที่ผ่านมาสธ.เป็นผู้ดำเนินการจัดหาวัคซีนโควิด-19 เป็นหลัก ซึ่งมีวัคซีน เข้ามาพอสมควร ตอนนี้กระทรวงการ ต่างประเทศ (กต.) พยายามช่วยจัดหาวัคซีนเข้ามาเพิ่มเติม โดยมีการเจรจากับทางภาคพื้นยุโรป เรียกว่าเป็นการ Re-Sale คือ การขายต่อออกมา เนื่องจากประเทศดังกล่าวอาจมีจำนวนวัคซีนที่พอใช้แล้ว หรือสั่งมา เป็นจำนวนมากเกินกว่าที่เขาจะใช้บริการในห่วงนั้นได้ ก็จะจำหน่ายให้ประเทศไทย ต่อไปมี 2 ตัว คือแอสตร้าเซนเนก้า และ ไฟเซอร์

“จะสามารถจำหน่ายให้เราได้ประมาณ 2-3 ล้านโดสต่อเดือนในระยะเวลา 4 เดือนทั้ง 2 ชนิด โดยกรมควบคุมโรคจะไปพิจารณาดำเนินการต่อเพื่อจัดซื้อวัคซีนเหล่านี้ต่อไป เพื่อสร้างเสริมทำให้วัคซีนเรามีพอ ตอนนี้จากการคำนวณวัคซีนในอีก 4 เดือนจากนี้ไป คือก.ย.-ธ.ค. จะมีวัคซีนเข้ามาค่อนข้างจะเยอะ คงดำเนินการฉีดให้ประชาชนได้ไม่น้อยกว่า 100 ล้านโดสทั้งหมด และทำให้เรามีภูมิในระดับที่ต้องการได้ต่อไป เป็นการสนับสนุนของกต.และสธ.เช่นเดียวกัน” นพ.เกียรติภูมิกล่าว

ฉีดไฟเซอร์ให้น.ร.ปลายก.ย.นี้

วันเดียวกัน ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาคนที่ 1 เป็นประธานการประชุม พิจารณากระทู้ถามสดด้วยวาจา ของนายครู มานิตย์ สังข์พุ่ม ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย ถามน.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ กรณีการฉีดวัคซีนโควิดให้นักเรียนว่า จะดำเนินการได้เมื่อใด เพราะทุกวันนี้โรงเรียนเปิดเรียนไม่ได้ การเรียนออนไลน์ก็ไม่ประสบความสำเร็จ จึงอยากให้เด็กได้ฉีดวัคซีนจะได้กลับไปเรียนได้ จึงอยากทราบว่ากระทรวงศึกษาธิการมีงบประมาณจัดซื้อวัคซีนมาฉีดให้กับนักเรียนโดยเฉพาะหรือไม่ จะทำได้เมื่อไร

โดยนางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศึกษาธิการ ตอบชี้แจงแทนรมว.ศึกษาธิการว่า จำนวนครูและบุคลากรการศึกษามีเกือบ 9 แสนคน ยอดล่าสุด เมื่อวันที่ 26 ส.ค.ฉีดวัคซีนให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาไปแล้วเกือบ 6 แสนคน เหลือประมาณ 3.2 แสนคนที่ยังไม่ได้รับวัคซีน ส่วนจำนวนนักเรียนอายุ 12-18 ปีมี 4 ล้านกว่าคน แม้กระทรวงศึกษาธิการไม่ได้ตั้งงบประมาณซื้อวัคซีนฉีดให้เด็กนักเรียนไว้ แต่ได้ประสานกับกระทรวงสาธารณสุขว่าทันทีที่วัคซีนไฟเซอร์ที่สามารถฉีดให้เด็กและเยาวชนอายุ 12-18 ปี เข้ามาปลายเดือนก.ย.นี้ 2-3 ล้านโดส เมื่อเข้ามาถึงแล้วจะวางแผนยุทธศาสตร์กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกระจายวัคซีนไปฉีดให้นักเรียน 4 ล้านกว่าคนโดยเร็วที่สุด

“คาดว่าใช้เวลา 1 เดือนกว่าจะฉีดวัคซีนได้ตามจำนวนที่ตั้งเป้าไว้ เพื่อเปิดโรงเรียนให้เด็กกลับมาเรียนได้ตามปกติ แต่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ความปลอดภัยช่วงนั้นๆ ว่าจะเปิดเรียนได้หรือไม่” นางกนกวรรณกล่าว

ชลบุรีติดเพิ่ม 973-ตายนิวไฮ 15

สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชลบุรีรายงานว่า พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 973 ราย ยอดติดเชื้อสะสม 58,137 ราย กำลังรักษา 18,228 ราย หายป่วย 39,570 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 15 ราย ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดในวันเดียว เสียชีวิตสะสม 339 ราย พบผู้ติดเชื้อกระจาย 10 อำเภอ มากสุดที่อ.ศรีราชา 251 ราย การติดเชื้อส่วนมากมาจากในสถานประกอบการ 21 แห่ง ตลาด 5 แห่ง แคมป์คนงานก่อสร้าง 10 แห่ง และชุมชน 4 แห่ง

ด้านนายธวัชชัย ศรีทอง รองผู้ว่าฯ ชลบุรี พร้อมหัวหน้าส่วนราชการ กระทรวงแรงงานลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสถานประกอบกิจการโครงการนำร่องเกี่ยวกับแรงงาน หรือ แฟ็กตอรี่ แซนด์บ็อกซ์ จ.ชลบุรี 2 แห่งใน อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี

สำหรับโครงการนำร่องการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดในโรงงานของ จ.ชลบุรีนั้น มีสถานประกอบการขนาด 500 คนขึ้นไปในภาคการผลิต-ส่งออก 183 แห่ง จากทั้งหมด 23,996 แห่ง มีผู้ประกันตน 194,781 ราย จากทั้งสิ้น 734,065 ราย และมีผู้ประกันตนที่ได้รับการฉีดวัคซีนในกลุ่มกิจการ 32,798 ราย

ขณะนี้คณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจ.ชลบุรีเห็นชอบแล้ว 11 แห่ง มีผู้ประกันตนรวม 12,845 ราย และกำลังพิจารณาเพิ่มอีก 10 แห่งในสัปดาห์หน้า

สลดสาวฉีดวัคซีนชั่วโมงเดียวดับ

เมื่อเวลา 08.00 น. ที่วัดสว่างมนัส ต.ปากน้ำหลังสวน อ.หลังสวน จ.ชุมพร มีพิธีบำเพ็ญกุศลศพ น.ส.บุญเกิด ฉิมจินดา อายุ 61 ปี อยู่บ้านเลขที่ 91 หมู่ที่ 1 ต.ปากน้ำหลังสวน อ.หลังสวน อาชีพขายองุ่นดองในตลาดปากน้ำหลังสวน

นางเรวดี คำสุภาพ เพื่อนสนิทของผู้ตายเล่าว่า เมื่อวันที่ 11 ส.ค.64 เวลา 10.00-11.00 น. น.ส.บุญเกิดเดินทางไปฉีดวัคซีนที่ร.พ.ปากน้ำหลังสวน เป็นวัคซีนซิโนแวค 1 เข็ม แล้วเดินทางกลับบ้านเวลา 12.00 น. ญาติของ น.ส. บุญเกิดพยายามโทร.เข้ามือถือ แต่ไม่มีใคร รับสาย จึงให้เพื่อนบ้านเข้าไปดูที่บ้าน พบว่า น.ส.บุญเกิดนอนคว่ำหน้า ยกขาหลังขึ้น น้ำลายฟูมปาก ตัวแข็งทื่อ ส่งเสียงไม่เป็นภาษา เพื่อนบ้านจึงรีบนำส่งร.พ.ปากน้ำหลังสวน แพทย์นำเข้าห้องฉุกเฉิน ใส่เครื่องช่วยหายใจ แล้วส่งต่อไปยังร.พ.หลังสวน รักษาอยู่ในห้องไอซียู โดยไม่รู้สึกตัวตลอดเวลา กระทั่งเวลา 22.00 น. วันที่ 22 ส.ค. ได้รับแจ้งว่า น.ส.บุญเกิดเสียชีวิต ญาติจึงไปรับศพ ได้ใบรับรองการตาย ระบุว่า สาเหตุการตายเกิดจากเส้นเลือดในสมองตีบตัน นำร่างไปบำเพ็ญกุศลที่วัดสว่างมนัส

นายฐานันต์ แฟนสกุล ญาติของผู้ตาย กล่าวว่า น.ส.บุญเกิดอยู่กับพี่สาวที่ป่วยสมองพิการ มีอาชีพเดินขายองุ่นดอง หรือองุ่นแช่อิ่ม มีสุขภาพแข็งแรง ไม่เคยเจ็บป่วย ไม่เคยต้องไปหาแพทย์ ก่อนไปฉีดวัคซีนมีความ เครียดเพราะต้องไปฉีดวัคซีน แต่ไม่มีอาการอะไรมาก เมื่อฉีดวัคซีนเพียง 1 ช.ม. กลับมีอาการรุนแรงจนเสียชีวิต ญาติสงสัยจึงไปสอบถามจนท.สาธารณสุข ได้รับคำตอบเพียงว่าเส้นเลือดในสมองตีบ ตามใบรับรองการตาย และไม่ได้ชี้แจงอะไรอีกเลย ทำให้เกิดความแคลงใจมาก แต่ญาติจะดำเนินการให้ได้ข้อเท็จจริงว่าสาเหตุการตายเกิดจากอะไร เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้ตาย

ด้าน นพ.จีรชาติ เรืองวัชรินทร์ นพ.สสจ.ชุมพร กล่าวว่า สั่งการให้ จนท.ร.พ.ปากน้ำหลังสวน เดินทางไปพบญาติเพื่อให้ทำเอกสารขอรับเงินเยียวยาจากกระทรวงสาธารณสุข ตามมาตรการของกระทรวง เนื่องจากผู้ป่วยรายนี้เสียชีวิตในระยะที่สังเกตอาการจากการ ฉีดวัคซีน โดยไม่ต้องสอบสวนหาสาเหตุการเสียชีวิต และจะติดตามการเบิกจ่ายเงินเยียวยาให้ครอบครัวผู้เสียชีวิตรายนี้ให้ได้โดยเร็ว แต่อยากให้ความมั่นใจในการฉีดวัคซีนว่ามีความปลอดภัย ฉีดดีกว่าไม่ฉีด และขอแสดงความเสียใจกับญาติของผู้เสียชีวิตด้วย”

‘มหาชัย’ป่วยต่ำพันรอบเดือน

ส่วนจ.สมุทรสาครเริ่มมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ตามแผนพลิกฟื้นสมุทรสาครของนายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าฯสมุทรสาคร สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาครรายงานว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 982 ราย ซึ่งต่ำกว่า 1,000 รายเป็นครั้งแรกในรอบ 1 เดือน นับจากวันที่ 22 ก.ค. ที่ยอดผู้ติดเชื้อรายวันสูงกว่า 1,000 ราย โดยยอดสูงสุดเมื่อวันที่ 15 ส.ค. จำนวน 1,869 ราย จากนั้นค่อยลดลงมาอย่างต่อเนื่อง

สำหรับผู้ติดเชื้อรายใหม่มาจากค้นหา เชิงรุก 114 ราย และจากการเข้ารับการตรวจในโรงพยาบาล 868 ราย จำนวนนี้เป็นคนที่อยู่ในจ.สมุทรสาคร 534 ราย และคนนอกจังหวัด 334 ราย ติดเชื้อสะสม 87,449 ราย รักษาหายกลับบ้าน 57,712 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 29,252 ราย และผู้เสียชีวิตรายวัน 15 ราย ผู้เสียชีวิตสะสม 485 ราย

ด้านนพ.อนุกูล ไทยถานันดร์ ผอ.ร.พ. สมุทรสาคร เผยว่า แม้จ.สมุทรสาครจะได้รับการจัดสรรวัคซีนไม่ครบตามที่ขอรับการสนับสนุน แต่ก็ทยอยรับมาเรื่อยๆ ขณะนี้ฉีดวัคซีนให้แก่กลุ่มเปราะบางได้มากพอสมควรแล้ว ดังนั้นต่อไปต้องเริ่มฉีดให้กลุ่มคนทั่วไปที่จองไว้ในระบบหมอพร้อม ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสมุทรสาครครั้งล่าสุดมีมติให้ผู้ที่จองไว้ในระบบหมอพร้อม ทั้งที่มีวันเวลานัด และยังไม่มีวันเวลานัด ให้สามารถวอล์กอินไปรับวัคซีนได้ตามวันเวลาที่สะดวกตั้งแต่วันนี้ ไปจนถึงวันที่ 3 ก.ย. 2564 จากนั้นตั้งแต่วันที่ 4 ก.ย. จะเปิดให้ประชาชนคนไทยทุกคนที่อยู่ในสมุทรสาคร ทั้งที่มีทะเบียนอยู่ในจังหวัด หรือผู้ที่ทำงานในสมุทรสาครแต่มีทะเบียนบ้านต่างจังหวัด สามารถวอล์กอินเข้ามาฉีดได้เลย โดยไม่ต้องลงใบนัด นอกจากนี้ประชาชนที่อยู่ในสถานประกอบการ จะประสานกับทางแรงงานจังหวัดและประกันสังคมจังหวัดเพื่อให้ตรวจสอบว่ามีแรงงานที่ยังไม่ได้รับวัคซีนอีกเท่าไหร่ ก็จะดำเนินการให้ เพราะวัคซีนของประกันสังคมได้มาเพียงจำนวนหนึ่งเท่านั้น ซึ่งกลุ่มนี้จะต้องให้จบภายในสิ้นเดือนก.ย. เมื่อฉีดวัคซีนให้แก่คนไทยเรียบร้อยแล้วต่อไปจะฉีดให้ในกลุ่มแรงงานต่างด้าว เพื่อให้ทุกกลุ่มมีวัคซีนสร้างภูมิป้องกันการเจ็บป่วยหนัก

อยุธยาติดเชื้ออีก 478-ดับ 3

นพ.พีระ อารีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 478 ราย ป่วยสะสม 18,337 ราย รักษาตัวหาย 491 ราย ยังรักษาตัวอยู่ 7,993 ราย มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 3 รายประกอบด้วยชายไทย อายุ 72 ปี ไม่มีโรคประจำตัว หญิงไทย อายุ 67 ปี มีโรคประจำตัว และหญิงไทยอายุ 84 ปี มีโรคประจำตัว ยอดเสียชีวิตสะสม 178 ราย

คุกประจวบฯติดเชื้อพุ่ง 87

จากกรณีพบเจ้าหน้าที่และผู้ต้องขังในเรือนจำจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ติดเชื้อโควิด 17 ราย และมีกลุ่มเสี่ยงอีกกว่า 1,700 รายนั้น

นพ.สุริยะ คูหะรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจ.ประจวบคีรีขันธ์ เผยว่า พบผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่ 159 ราย โดยค้นหาผู้ป่วยในเรือนจำจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ซึ่งเป็นคลัสเตอร์ใหม่ พบผู้ป่วยเป็นผู้ต้องขังชายติดเชื้อ 78 ราย และเจ้าหน้าที่เรือนจำ 9 ราย รวมติดเชื้อ 87 ราย คาดว่าการระบาดมาจากเจ้าหน้าที่เรือนจำเดินทางกลับบ้านแล้วนำเชื้อเข้ามาในเรือนจำ ขณะนี้กำหนดมาตรการห้ามการเข้าออกเรือนจำชั่วคราว 28 วัน โดยให้เจ้าหน้าที่อยู่ภายในบริเวณบ้านพักของเรือนจำเท่านั้น พร้อมจัดตั้งร.พ.สนามในเรือนจำ และใช้เรือนนอน ผู้ต้องขังชายเป็นสถานที่แยกกักผู้ติดเชื้อ

จนท.ติดโควิด-ปิดอำเภอวังน้ำเย็น

ส่วนที่จ.สระแก้วพบผู้ป่วยติดเชื้อใหม่ 227 ราย เสียชีวิต 1 ราย เป็นชายไทย อายุ 55 ปี อาชีพรับจ้างทั่วไป ปัจจัยเสี่ยงโรคประจำตัว โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน น้ำหนัก 126 ก.ก. ไม่เคยได้รับวัคซีน เสียชีวิตวันที่ 25 ส.ค. ที่ร.พ.อรัญประเทศ

นายอารยันต์ ท่าใหญ่ นายอำเภอวังน้ำเย็น อ.วังน้ำเย็น จ.สระแก้ว ลงนามในหนังสือแจ้งว่า บุคลากรของที่ว่าการอำเภอวังน้ำเย็นติดเชื้อโควิด 1 ราย จึงให้เจ้าหน้าที่ทุกคนเข้ารับการตรวจหาเชื้อ ที่ร.พ.วังน้ำเย็น และประกาศหยุดให้บริการประชาชน ระหว่างวันที่ 26-27 ส.ค.64 เพื่อฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อภายในที่ว่าการอำเภอทั้งหมด พร้อมงดให้บริการชั่วคราว ภายในที่ว่าการอำเภอวังน้ำเย็น จะเปิดทำการในวันจันทร์ที่ 30 ส.ค.64

ทารกโควิด – เจ้าหน้าที่รับตัวแม่อุ้มลูกชายทารกวัย 1 เดือน ติดเชื้อโควิดจากพื้นที่ ต.เขาเจียก อ.เมือง จ.พัทลุง ไปรักษาที่ร.พ.พัทลุง ส่วนผลตรวจแม่ เบื้องต้นไม่พบติดเชื้อ เมื่อวันที่ 26 ส.ค.

ฉีดถึงบ้าน – เจ้าหน้าที่สาธารณสุข สำนักอนามัย กทม. ให้บริการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าถึงที่บ้านแก่ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยติดเตียง เนื่องจากเป็นกลุ่มเปราะบางเสี่ยงติดเชื้อ โควิดได้ง่าย เมื่อวันที่ 26 ส.ค.

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน