เล่นงานปมจริยธรรม
พท.ฮึ่มขับไล่7สมาชิก
โหวตซักฟอกสวนมติ
เย้ย‘บิ๊กตู่’ถูกขึงพืด
นับถอยหลังรัฐบาล

แจกกล้วยส.ส. 5 ล้านบาน ยื่นร้องป.ป.ช. เอาผิด ‘วิสาร’ ส.ส.คนแฉกลางสภา เครือข่ายรัฐบาลมั่นใจมีช่องเอาผิดได้ แม้ส.ส.จะมีเอกสิทธิ์สภาคุ้มครอง โฆษกรัฐบาลโวผลโหวตญัตติซักฟอก สะท้อนสภายังเชื่อมั่นการทำงานของนายกฯ และรัฐบาล ปชป.ชี้เอกภาพแน่นปึ้ก เพื่อไทยเตรียมเรียก 7 ส.ส.โหวตสวนมติชี้แจง คาด 2 สัปดาห์รู้ผล ‘ยุทธพงศ์’ ฮึ่มขับพ้นพรรค ‘อนุสรณ์’ เย้ย ‘บิ๊กตู่’ เสียรังวัด ผ่านแบบรั้งท้าย แถมคะแนนไม่ไว้วางใจนำโด่งเป็นที่หนึ่ง ‘ไพบูลย์’ มั่นใจแก้รธน.วาระสาม 10 ก.ย.นี้ผ่านฉลุย

โฆษกโวสภาเชื่อมั่นรัฐบาล

เมื่อวันที่ 5 ก.ย. นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลทั้ง 6 คน ได้เสร็จสิ้นแล้ว โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ และนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ได้รับความไว้วางใจจากส.ส.เกินกึ่งหนึ่ง สะท้อนให้เห็นว่าสภายังเชื่อมั่นการทำงานของนายกฯ และรัฐบาล

โดยนายกฯ และรัฐมนตรี ยังคงจะเดินหน้าทำหน้าที่ต่อไป ซึ่งนายกฯ มีภารกิจหนาแน่นตลอดสัปดาห์นี้ ทั้งการเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ รวมทั้งจะเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำแผนงานความร่วมมือเศรษฐกิจ ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ ครั้งที่ 7 ผ่านระบบวิดีโอทางไกล

“ผลโหวตเป็นเอกสิทธิ์ของส.ส. ตามระบอบประชาธิปไตย เป็นกระบวนการ ถ่วงดุลการทำงานระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ นายกฯ ให้ความสำคัญการบริหารมากกว่าการเมือง และเคารพเสียง ผู้แทนประชาชนทั้งในสภาและนอกสภา เพราะเป้าหมายสำคัญของการทำงาน คือประชาชน ไม่ใช่จำนวนตัวเลขในสภา” นายธนกรกล่าว

‘จุรินทร์’ชี้เอกภาพปึ้ก

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงกรณีที่พล.อ.ประยุทธ์ ได้คะแนนไว้วางใจเป็นลำดับที่ 4 เกือบรั้งท้าย ขณะที่คะแนนโหวตไม่ไว้วางใจกลับนำโด่งมาเป็นอันดับหนึ่ง ว่า คะแนนไว้วางใจก็เป็นแบบนี้มาทุกยุค ทุกสมัย น้อยครั้งที่คะแนนจะเท่ากันทุกคน และถือว่าครั้งนี้คะแนนนายกฯ และรัฐมนตรีทั้ง 5 คน เกาะกลุ่มกัน สะท้อนความเป็นเอกภาพในรัฐบาล

ผู้สื่อข่าวถามว่า คะแนนนี้สะท้อนถึงแรงกระเพื่อมของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) หรือไม่ นายจุรินทร์กล่าวว่า ไม่ขอตอบในส่วนนี้ เพราะจะเป็นการก้าวล่วงของพรรคร่วมรัฐบาลอื่น โดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐถือว่าเป็นแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล ทั้งหมดนี้จะเป็นหน้าที่นายกฯ และพรรคพลังประชารัฐที่จะต้องไปบริหารจัดการว่าเป็นอย่างไร ต่อข้อถามว่าพรรคประชาธิปัตย์มีผู้โหวตสวนมติและเป็นคนเดิม ทางพรรคมีแนวทางอย่างไร นายจุรินทร์กล่าวว่า ตนคงไม่ตักเตือนแล้ว แต่ขอให้เป็นหน้าที่เลขาธิการพรรค

เมื่อถามว่าพรรคต่อจากนี้จะเดินหน้าแก้ไขปัญหาทั้งการเมือง เศรษฐกิจอย่างไรบ้าง นายจุรินทร์กล่าวว่าพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีรัฐมนตรีว่าการ 3 คน ทั้งกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จะเดินหน้าทำงานต่อไป ภายใต้แคมเปญ “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด ผู้ได้โอกาสต้องได้รับการดูแล” แต่ไม่สามารถตอบได้ว่า รัฐบาลจะอยู่ครบเทอมหรือไม่ สิ่งที่ควรยึดหลัก ไม่ว่าจะเกิดการเปลี่ยน แปลงใดๆ ขึ้น ขอให้เป็นตามระบบที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ หากทุกฝ่ายยึดหลักนี้การเมืองก็สามารถเดินต่อได้ และยืนยันยังไม่ได้รับสัญญาณการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.)

เพื่อไทยเย้ย‘บิ๊กตู่’เสียรังวัด

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์ว่า ประชาชนทั้งประเทศได้รับความเดือดร้อน ทั่วทุกหย่อมหญ้า ทั้งออกมาชุมนุม ทั้งร่วมลงชื่อขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ลงสู่อำนาจ ประชาชนต้องการหยุดรัฐบาลโอหัง คลั่งอำนาจ หยุดความพินาศของประเทศ ถ้าเป็นรัฐบาลที่มีสปิริต ต้องแสดงความรับผิดชอบโดยการลาออกไปตั้งนานแล้ว แต่รัฐบาลสืบทอดอำนาจ แม้ผู้นำรัฐบาลจะได้คะแนนไว้วางใจมาเป็นลำดับที่ 4 เกือบรั้งท้าย คะแนนโหวตไม่ไว้วางใจนำโด่งเป็นอันดับหนึ่ง เสียรังวัด เสียความสง่างามไปมากขนาดไหน ยังจะดันทุรังอยู่ต่อ

คะแนนไว้วางใจที่ได้มา มาจากอุดมกล้วยหรืออุดมการณ์ มาจากฝีมือหรือวิ่งเต้นล็อบบี้เสนอผลประโยชน์ต่างตอบแทน เวลาที่เหลือ พล.อ.ประยุทธ์จะกล้าสู้หน้ารัฐมนตรีคนอื่นๆ ใน ครม.โดยเฉพาะจากพรรคร่วมรัฐบาลพรรคอื่นที่ได้คะแนนโหวตมากกว่าได้อย่างไร ที่สำคัญศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ได้เห็นการเคลื่อนกำลังที่จะโหวตล้มนายกฯ กลางสภา ได้เห็นความไม่พอใจในการบริหารประเทศของคนแทบทุกกลุ่ม ที่ต้องการขับไล่รัฐบาลหมดแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ จะอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากนี้ต่อไปได้อย่างไร

“พล.อ.ประยุทธ์ถูกขึงพืด รุมถล่มในความล้มเหลว ไร้ประสิทธิภาพตลอด 4 วันเต็มจากพรรคร่วมฝ่ายค้าน ในสภาพที่บอบช้ำยับเยินที่สุด ประชาชนทั้งประเทศจะลุกขึ้นมายกระดับขับไล่จนรัฐบาลอยู่ไม่ได้” นายอนุสรณ์กล่าว

เตรียมเชือด 7 ส.ส.โหวตสวนมติ

เวลา 10.00 น. ที่พรรคเพื่อไทย น.ส.อรุณี กาสยานนท์ โฆษกพรรค แถลงว่า คณะกรรมการจริยธรรมของพรรคจะมีการประชุมในวันที่ 6 ก.ย. เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงของส.ส.พรรค 7 คนที่โหวตสวนมติพรรคคือ 1.มีเจตนาฝ่าฝืนมติของพรรค ขาดประชุมโดยไม่มีเหตุผลหรือไม่ 2.ฝ่าฝืนมติพรรคและยังให้ร้ายพรรคด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือไม่ และ 3.ฝ่าฝืนมติพรรค และมีมติบ่งชี้ว่าอาจจะย้ายไปอยู่พรรคการเมืองอื่นในการเลือกตั้งครั้งหน้า ก่อนพิจารณาดำเนินการในขั้นต่อไป หากพบจงใจทำผิดขั้นร้ายแรง พรรคจะดำเนินการขับออกจากสมาชิกพรรคทันทีตามที่นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคได้ออกหนังสือแจ้งไปยัง ส.ส.ทุกคนก่อนหน้านี้

เชื่อว่าแม้ฝ่ายรัฐบาลจะชนะเสียงในสภา แต่ไม่อาจทัดทานความต้องการที่แท้จริงของประชาชนได้ ขณะนี้ประชาชนเดือดร้อนจากการบริหารของรัฐบาลที่ผิดพลาดล้มเหลวอย่างแสนสาหัสจนหมดทางออก จากนี้ไปต้องติดตามว่าประชาชนจะระบายความอัดอั้นที่มีต่อรัฐบาลอย่างไร พล.อ.ประยุทธ์ และพวกควรต้องคิดให้ดี แม้จะอยู่ในตำแหน่งต่อ แต่ไม่อาจมีที่ยืนในใจของประชาชนต่อไปได้ เพราะแม้แต่เสียงโหวตของพรรคร่วมรัฐบาลเองยังต่ำ ได้คะแนนเกือบลำดับท้ายสุดในบรรดารัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจทั้งหมด สะท้อนถึงความล้มเหลว ความไม่เชื่อมั่นและความสั่นคลอนในตำแหน่งนายกฯ ที่มีแต่คนเกลียด จากนี้ไป พล.อ.ประยุทธ์จะถูกจับตาการทำงานจากฝ่ายค้าน และแม้กระทั่งคนในพรรคร่วมรัฐบาลอย่างแน่นอน

สอบสวนโหวต – นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย, นายจิรพงษ์ ทรงวัชราภรณ์ ส.ส.นนทบุรี และน.ส.อรุณี กาสยานนท์ โฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงเตรียมเรียกสอบ 7 ส.ส.ที่โหวตฝ่าฝืนมติพรรค ที่พรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 5 ก.ย.

‘ยุทธพงศ์’ฮึ่มขับพ้นพรรค

ด้านนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหา สารคาม รองหัวหน้าพรรค แถลงว่า ผลการลงมติที่ผ่านมา แสดงว่าผู้แทนในสภาไว้วางใจพล.อ.ประยุทธ์น้อยลงทุกวัน แสดงว่า พล.อ.ประยุทธ์จะอยู่ได้ไม่นาน ส่วนกรณี ส.ส.พรรคเพื่อไทยโหวตสวนมติพรรคนั้น พรรคมีมติแล้วว่าให้ไม่ไว้วางใจทุกคน ห้ามป่วย ห้ามขาด หามลาประชุม และห้ามไว้วางใจ และนายสมพงษ์ยังได้ออกหนังสือกำชับ ส.ส.ของพรรคให้ลงมติตามมติของพรรคเพื่อไทยด้วย โดยหนังสือระบุชัดเจนว่า ส.ส.ที่ไม่ปฏิบัติตามไม่ว่ากรณีใดๆ ทั้งสิ้น ถือว่าทำผิดวินัยและจริยธรรมของการเป็นสมาชิกพรรคอย่างร้ายแรง มีโทษถึงขั้นพิจารณาขับออกจากพรรค

นอกจากนี้วันที่ 31 ส.ค. นายสมพงษ์ได้เรียกให้ ส.ส.ทุกคนมาเซ็นชื่อรับหนังสือ จะมาอ้างว่าไม่ได้รับหนังสือ ไม่ทราบ ไม่รู้ ไม่เห็นไม่ได้ ตนในฐานะรองหัวหน้าพรรคภาคอีสานและผู้บริหารพรรคยอมไม่ได้ ดังนั้น ส.ส. 7 คนของพรรคที่โหวตสวนมติพรรคในครั้งนี้เตรียมตัวเลย อย่าคิดว่าตัวเองเก่ง ตัวเองแน่ วันที่ 6 ก.ย. ทุกอย่างจะเดินตามระเบียบข้อบังคับพรรคอย่าง เข้มงวด ไม่มีประนีประนอม คุณจะไปหาพรรคไหนอยู่ก็เรื่องของคุณ คณะกรรมการเปิดโอกาสให้ชี้แจงก่อน ถ้าคุณคิดว่าแน่ แล้วพรรคจะไม่กล้าขับคุณ ตนในฐานะรองหัวหน้าพรรคจะเป็นผู้เสนอขับคุณเอง ส่วนกรณีที่ไปแถลงข่าวด่าพรรค พรรคก็จะเอาเรื่องด้วย เพราะพรรคไม่เคยกลัวใครเหมือนกัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า 7 ส.ส.พรรคเพื่อไทยที่ลงมติไม่ตรงตามมติพรรค ทั้งงดออกเสียง ไม่กดแสดงตน และไม่ลงคะแนนเสียง ได้แก่ นายศรัณวุฒิ ศรัณย์เกตุ ส.ส.อุตรดิตถ์ นายจาตุรงค์ เพ็งนรพัฒน์ ส.ส.ศรีสะเกษ นายธีระ ไตรสรณกุล ส.ส.ศรีสะเกษ นายชัยยันต์ ผลสุวรรณ์ ส.ส.ปทุมธานี น.ส.พรพิมล ธรรมสาร ส.ส.ปทุมธานี นายวุฒิชัย กิตติธเนศวร ส.ส.นครนายก และนายชูวิทย์ พิทักษ์พรพัลลภ ส.ส.อุบลราชธานี

คาด 2 สัปดาห์สรุปผล

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ การประชุมคณะกรรมการจริยธรรมของพรรคในวันที่ 6 ก.ย. จะกำหนดกรอบว่าจะดำเนินการอย่างใดกับสมาชิกที่ฝ่าฝืนมติของพรรค จากนั้นคณะกรรมการจะเรียก ส.ส.ที่ฝ่าฝืนมติพรรคเข้ามาชี้แจงเป็นรายบุคคลภายในสัปดาห์นี้ จึงจะสรุปผลให้คณะกรรมการบริหารพรรคพิจารณาต่อไป กระบวนการทั้งหมดนี้คิดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ ส่วนกรณี นายวุฒิชัย กิตติธเนศวร ส.ส.นครนายก นั้น เจ้าตัวแจ้งมาว่าติดโควิด จึงไม่สามารถเดินทางมาลงมติในวันดังกล่าวได้ ซึ่งกรณีนี้คณะกรรมการจริยธรรมพรรคจะต้องขอดูใบรับรองทางการแพทย์ก่อน

เมื่อถามถึงการลงมติร่างรัฐธรรมนูญใน วันที่ 10 ก.ย. นายประเสริฐกล่าวว่า พรรคเพื่อไทยยังยืนยันที่จะเดินหน้าตามที่ได้มีการเสนอ คือบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ โดยเป็นส.ส.เขต 400 คน และส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน เหมือนรัฐธรรมนูญปี 40 โดยในวันที่ 7 ก.ย.พรรคเพื่อไทยได้เรียก ส.ส.ของพรรคประชุมร่วมกันในเรื่องการลงมติร่างรัฐธรรมนูญนี้ ก่อนจะมีการพิจารณาในสภาด้วย เพื่อสอบถามและรับฟังความเห็นจากสมาชิกให้รอบด้าน ในส่วนของ ส.ว.เชื่อว่ามี ส.ว.ที่เห็นด้วย นอกจากนี้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นร่างของรัฐบาล ถ้าไม่โหวตผ่านก็เท่ากับตีตกร่างของรัฐบาลเอง

ร้องป.ป.ช.สอบ‘วิสาร’ปูด 5 ล.

นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า ตามที่นายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย กล่าวหาในลักษณะยืนยันข้อเท็จจริงว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม จ่ายเงินให้ ส.ส.หัวละ 5 ล้านบาท ที่อาคารรัฐสภา ชั้น 3 เมื่อวันที่ 2 ก.ย.เพื่อแลกคะแนนในการลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจนั้น คำกล่าวหาดังกล่าวพูดถึงการ กระทำที่เกิดขึ้นนอกห้องประชุมสภา แม้ผู้พูดจะอยู่ในห้องประชุม แต่น่าจะไม่ได้รับความคุ้มครองรัฐธรรมนูญมาตรา 124 วรรคหนึ่ง เพราะอาจเป็นการพูดใส่ร้ายที่ ขัดต่อข้อบังคับการประชุม ข้อ 69 วรรคสอง ตามมาตรฐานทางจริยธรรม ที่ใช้กับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

หากพิจารณาคำกล่าวหาของนายวิสารแล้ว จะเห็นได้ว่าองค์กรที่มีหน้าที่และอำนาจไต่สวนเรื่องนี้ คือ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เบื้องต้นมี 3 ข้อ คือ 1.หากคำกล่าวหาของนายวิสารไม่เป็นความจริง มีการบิดเบือนใส่ร้าย อาจผิดมาตรฐานทางจริยธรรม ข้อ 15 และหาก ป.ป.ช.เห็นว่าเป็นกรณีร้ายแรง ย่อมชี้มูลความผิด และส่งเรื่องให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิจารณาพิพากษาได้

2.หากนายกฯ จ่ายเงินให้ ส.ส.คนละ 5 ล้านบาทจริง ก็อาจเข้าข่ายผิดมาตรฐานทางจริยธรรมข้อ 17 ควรเป็นเรื่องร้ายแรง ป.ป.ช.ก็ต้องชี้มูล และส่งให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ พิจารณาพิพากษาได้เช่นกัน 3.หากมี ส.ส.รับเงินจริง ส.ส.อาจจะผิดมาตรฐานทางจริยธรรมข้อ 9 และถือเป็นเรื่องร้ายแรงทันที ป.ป.ช.ต้องชี้มูลและส่งเรื่องให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ พิพากษาเช่นกัน

ตาม พ.ร.ป.ปปช.มาตรา 46 วรรคหนึ่ง ป.ป.ช. ต้องไต่สวนต้นเรื่องคือนายวิสารก่อนเป็นลำดับแรก เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องตรงตามความจริงที่เกิดขึ้น จึงจำเป็นต้องร้องให้ ป.ป.ช.ไต่สวนข้อเท็จจริงจากนายวิสาร ก่อนเป็นลำดับแรก ตนจึงจะส่งหนังสือถึง ป.ป.ช. ในวันที่ 6 ก.ย. ทางไปรษณีย์อีเอ็มเอส

โพลเผยปชช.หนุนปรับครม.

นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล เปิดเผยว่า ได้นำเสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง ศึกอภิปรายฯ ในสายตาประชาชน กรณีศึกษาประชาชน ทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ 1,146 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 3-5 ก.ย. พบว่า ร้อยละ 89.8 เข้าใจการทำงานของรัฐบาลมากขึ้น โดยส่วนใหญ่หรือร้อยละ 88.9 ระบุ อภิปรายเรื่องเดิมๆ ที่รู้อยู่แล้ว ใช้คำพูดเสียดสี หยาบคาย ไม่สร้างสรรค์ ไม่เกิดประโยชน์ใดๆ ต่อประชาชนและประเทศชาติ ร้อยละ 81.1 ระบุ หลังได้ข้อมูลชี้แจงจากรัฐบาลทำให้เข้าใจและเชื่อมั่นรัฐบาลมากขึ้น

เมื่อถามถึงเรื่องการเมืองในบรรยากาศศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ พบว่า ร้อยละ 98.9 ระบุ พรรคร่วมรัฐบาลบางคนบางกลุ่มต้องการต่อรองอำนาจและผลประโยชน์ทางการเมือง ร้อยละ 98.3 ระบุ คนในฝ่ายรัฐบาลไม่เป็นหนึ่งเดียวกัน ต่อรองราคา และสมประโยชน์กัน ร้อยละ 98.2 ระบุ ส.ส.กลุ่มการเมืองใหม่ อภิปรายได้ดี มีเหตุมีผล ไม่ใช้อารมณ์ ไม่ใช้คำหยาบคาย เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน ให้รัฐบาลนำไปปรับปรุงแก้ไข

ที่น่าพิจารณาคือ ก้าวต่อไปของรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ ร้อยละ 98.6 ระบุนำแนวทางสร้างสรรค์ จาก ส.ส. กลุ่มการเมืองใหม่ไปเร่งแก้วิกฤต พลิกฟื้นเศรษฐกิจ สะสางปัญหาปากท้องของประชาชนและวิกฤตโควิดให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ร้อยละ 98.3 ระบุ ปฏิรูประบบราชการ ไม่เอารัฐราชการแบบเก่า ไม่ตอบสนองความต้องการของประชาชน ร้อยละ 97.7 ระบุ บริหารจัดการวัคซีน จัดหาและกระจายวัคซีนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ร้อยละ 96.9 ระบุ ปรับปรุงการประชาสัมพันธ์ ทำให้คนรับรู้ข้อมูลถูกต้อง รวดเร็วมากขึ้น และร้อยละ 95.4 ระบุ หวังในการเปิดประเทศ ฟื้นฟูธุรกิจท่องเที่ยวและเศรษฐกิจฐานราก แก้ปัญหาปากท้องของประชาชนเป็นการเร่งด่วน

ที่น่าสนใจคือ ร้อยละ 81.9 เห็นด้วยต่อการปรับครม. เพราะต้องการให้ปรับคนไม่มีผลงาน ทำงานไม่ดี ไม่ตอบสนองความต้องการของประชาชน ไม่โปร่งใสและมีปัญหาภาพลักษณ์ทำให้เกิดวิกฤตศรัทธาของประชาชน เป็นต้น ร้อยละ 11.2 ไม่แน่ใจ และร้อยละ 6.9 ไม่เห็นด้วย เพราะปรับไปก็เท่านั้น ไม่เกิดประโยชน์ และอื่นๆ เป็นต้น

‘ไพบูลย์’มั่นใจแก้รธน.วาระ 3 ฉลุย

นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ฉบับที่…) พุทธศักราช…(แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และมาตรา 91) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ได้นัดประชุมร่วมกันของรัฐสภา ในวันที่ 10 ก.ย. เวลา 09.00 น.

เพื่อพิจารณาการลงมติในวาระที่ 3 ว่า มั่นใจว่าผลการลงมติวาระ 3 ตามหลักเกณฑ์รัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ที่ระบุว่า ต้องมีคะแนนเสียง “เห็นชอบ” ด้วยในการที่จะให้ออกใช้เป็นรัฐธรรมนูญมากกว่า กึ่งหนึ่งของจํานวน ส.ส. ส.ว. เท่าที่มีอยู่ รวมถึงมีเสียง ส.ส.ฝ่ายค้านไม่น้อยกว่า ร้อยละ 20 คือจำนวน 45 คน และมีส.ว.ให้ความเห็นชอบ ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 คือ 84 คนด้วย

สำหรับขั้นตอนต่อไป ถ้าร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติมผ่านวาระ 3 แล้ว ให้นายกฯ รอไว้ 5 วัน ถ้าหากไม่มีสมาชิกรัฐสภายื่นศาลรัฐธรรมนูญ ก็ให้นำร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม ขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อม ภายใน 20 วันต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน