ชี้เทศน์มีหลายรูปแบบ
เอ็นเตอร์เทน-ปรับได้

‘2 พส.’ไลฟ์ธรรมะ ‘มหาเถร’ ไม่ขัดข้อง ขอให้ยึดประโยชน์สุขผู้ฟัง ชี้เทศน์ได้หลายรูปแบบ ออนไลน์ก็เป็นแบบหนึ่งเอ็นเตอร์เทนมากไปเลยถูกวิจารณ์ เชื่อปรับปรุงได้ ขณะ ‘ไพบูลย์’ โวยวุ่น เน้นบันเทิงก็ให้ดาราบรรยายธรรมแทน

เมื่อวันที่ 7 ก.ย. พระพรหมเสนาบดี (พิมพ์ ญาณวีโร) เจ้าอาวาสวัดปทุมคงคา และกรรมการมหาเถรสมาคม กล่าวกรณีพระมหาสมปอง ตาลปุตโต และพระมหาไพรวัลย์ วรวัณโณ พระนักเทศน์ชื่อดังแห่งวัดสร้อยทอง ที่ร่วมกันไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊ก ว่า หลักในการบรรยายธรรมนั้น ขอให้ยึดหลักที่พระพุทธเจ้าท่านทรงยึดถือปฏิบัติ คือ ให้ดูอัธยาศัยของ ผู้ฟัง มุ่งประโยชน์ให้เกิดกับผู้ฟัง ให้เกิดประโยชน์สุขในปัจจุบันที่ฟัง

เช่น ยุคนี้เป็นยุคโรคระบาดโควิด-19 การบรรยายธรรมก็จะต้องเน้นการให้กำลังใจ ส่วนรูปแบบในการเทศน์ การบรรยายธรรม การสอนพระพุทธศาสนา สามารถดำเนินการได้หลายรูปแบบ รูปแบบออนไลน์ก็ถือเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง แต่ต้องยึดเป้าหมายของการสอนธรรมะ คือ การมุ่งประโยชน์สุขของผู้ฟัง

พระธรรมกิตติเมธี (เกษม สัญญโต) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชาธิวาส กรรมการมหาเถรสมาคม กล่าวว่า จากข่าวเห็นว่าพระสังฆา ธิการที่ปกครองพระมหาทั้งสองรูปโดยตรงทราบเรื่องแล้ว และไม่มีปัญหาอะไร ก็เชื่อว่าน่าจะพูดคุยกันแล้วระหว่างรักษาการเจ้าอาวาส กับพระมหาทั้งสองรูป

ส่วนตัวได้ดูแล้วและมองว่า รูปแบบการสอนธรรมะผ่านทางไลฟ์สดเฟซบุ๊กของพระมหาสมปอง และพระมหาไพรวัลย์ สามารถปรับได้ ที่ผ่านมาที่มีบางฝ่ายไม่พอใจ ก็เพราะมีความเข้มข้น เอ็นเตอร์เทนมากเกินไปหน่อย ทำให้ไม่เหมาะกับสมณสารูปบ้างเล็กน้อย ทั้งยังมีเนื้อหาไปอิงการเมืองบ้าง แต่ก็สามารถปรับปรุงกันได้

นายสิปป์บวร แก้วงาม รอง ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ในฐานะโฆษกสำนักพุทธฯ กล่าวถึงการเข้าหารือในที่ประชุมมหาเถรสมาคม (มส.) วันที่ 10 ก.ย.นี้ ว่า กำลังอยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลทั้งจากผู้ที่เห็นด้วย และผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางของพระทั้งสองรูปดังกล่าว ซึ่งสำนักพุทธฯ จะรวบรวมทุกข้อคิดเห็น เพื่อเสนอให้มหาเถรฯ พิจารณา และวางแนวทางที่เหมาะสมต่อไป

ส่วนการทำหน้าที่ของคณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร เป็นอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานดังกล่าว ในการดำเนินการชี้แจงทำความเข้าใจ ตรงนี้สำนักพุทธฯ ไม่สามารถเข้าไปก้าวล่วงได้

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุชา นาคาศัย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลสำนักพุทธฯ กล่าวถึงข้อเดียวกันว่า กรณีนี้เป็นเรื่องของทางพระพุทธศาสนา พศ.คือฆราวาส จะไปวิจารณ์ว่าถูก ผิด เหมาะหรือไม่เหมาะสมก็คงจะไม่เหมาะ เพราะกระแสในสังคมส่วนหนึ่งเป็นกระแสของฆราวาส และกระแสของพระสงฆ์ ซึ่งฆราวาสมี 2 แนว ที่มีทั้งความเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เป็นเรื่องปกติ และเรื่องความคิดของคน ไม่สามารถไปตัดสินได้ ในทางพระพุทธศาสนา เป็นเรื่องของมส.ที่ต้องตัดสิน รวมถึงดูแลขอบเขตการปฏิบัติ เรื่องการเทศนาต่างๆ ให้อยู่ในความเหมาะสม

ประเทศเรามีเอกราชที่แข็งแรงสมบูรณ์ เพราะมี 3 เสาหลักที่ยึดเหนี่ยวทำให้เจริญรุ่งเรือง ถ้าตรงนี้ยังอยู่ความขัดแย้งทางการเมือง ทางสังคม ทางความคิดต่างๆ ก็มองว่าเป็นเรื่องปกติ แต่ทุกอย่างต้องอยู่ภายใต้กรอบกฎหมายของแต่ละส่วน ถ้าช่วยกันประคับประคองก็อย่าเอาพุทธศาสนาลงมาให้เกิดความขัดแย้งเลย

เมื่อถามว่าความเห็นอีกมุมมองว่าการนำโซเชี่ยลมาดึงดูดความสนใจให้เยาวชนเข้าถึงธรรมะก็เป็นส่วนที่ดี นายอนุชากล่าวว่า หากการกระทำต่างๆ ไม่มีอะไรแอบแฝง โดยเฉพาะการนำศาสนาเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งใดที่เป็นการแอบแฝง หรือเป็นไปในลักษณะชักนำความคิดเห็นของประชาชน ต้องให้มส.วิเคราะห์ตัดสินอีกครั้งว่าสิ่งที่ทำไปเจตนาดีล้วนหรือไม่อย่างไร เชื่อว่าทุกคนคงทราบดี ขอย้ำว่าอยากให้ทุกคนช่วยกันประคองศาสนาของเรา บางครั้งผู้กระทำก็ต้องคิดว่าการกระทำจะทำให้เกิดความคิดแบ่งออกเป็นสองฝ่ายหรือไม่อย่างไร

นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะรองประธานกมธ.การศาสนาฯ กล่าวถึงกรณีการไลฟ์สดของพระมหาไพรวัลย์และพระมหาสมปอง ว่า ส่วนตัวมองว่าไม่เหมาะสม เพราะพระสงฆ์กลายเป็นดารา เรื่องนี้พระธรรมวินัยห้ามไว้ ไม่ควรทำตัวเป็นดารานักแสดง ถ้าอยากจะเป็นดาราก็ควรจะลาสิกขาบท

ส่วนที่มองกันว่าเป็นวิธีที่ทำให้คนรุ่นใหม่เข้าถึงธรรมะมากขึ้น ถ้ามองอย่างนั้นก็ให้ดาราทำก็ได้ พระภิกษุจะใช้วิธีสื่อสารเช่นนั้นไม่เหมาะสม พระภิกษุก็ต้องอยู่ในพระวินัย อยู่ด้วยความสมถะเรียบร้อย ทำเช่นนี้ ทำให้ชาวโลกติเตียน ผิดธรรมวินัยบางเรื่อง หากเห็นว่าเป็นวิธีที่ดีก็ไปให้ดาราทำ โดยวันที่ 9 ก.ย.นี้ได้นิมนต์ พระสงฆ์ทั้งสองเข้าชี้แจงต่อคณะกมธ.ฯ

ด้านนายนิยม เวชกามา ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย ฐานะที่ปรึกษาอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาด้านพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่นๆ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า กรณีพระมหาไพรวัลย์และพระมหาสมปองไลฟ์ผ่านเฟซบุ๊ก ถือเป็นการดึงดูดคนรุ่นใหม่ให้เข้ามาฟังการเทศน์ในรูปแบบใหม่ เพื่อให้เข้าถึงพระพุทธศาสนาได้ง่ายมากขึ้น ไม่มีส่วนใดในการไลฟ์ที่ผิดพระธรรมวินัย เพราะ 1.การหัวเราะที่ถูกมองว่าไม่สำรวมนั้นไม่ใช่เรื่องผิดบาป การไม่สำรวมในความหมายตามพระพุทธศาสนา คือทำผิดโลกวัชชะ ทำในสิ่งที่ทางโลกติเตียน ไม่ได้หมายความว่าห้ามหัวเราะ หรือห้ามพูดด้วยศัพท์ของวัยรุ่น

2.พระทั้งสองรูปยังคงปฏิบัติรักษาศีล 227 ข้อ และในศีล 227 ข้อไม่มีข้อใดที่ห้ามไม่ให้พระหัวเราะ ทั้งยังอยู่ในมัชฌิมาปฏิปทา คือทางสายกลาง ดังนั้นการหัวเราะของพระทั้งสองรูปไม่ใช่สิ่งที่ผิดในทางพระพุทธศาสนา 3.การไลฟ์เทศนาธรรมแบบใหม่ของพระทั้งสองรูป ถือเป็นจริตในทางศาสนาพุทธในสมัยพุทธกาล โดยจริตหมายความว่าเคยเป็นแบบไหนก็เป็นแบบนั้น

เมื่อถามถึงกรณีกมธ.ศาสนาฯ ออกหนังสือนิมนต์พระสงฆ์ทั้ง 2 รูปมาชี้แจง นายนิยมกล่าวว่า กมธ.ศาสนาฯ ไม่มีสิทธิเรียกพระสงฆ์มาชี้แจง ไม่มีอำนาจสอบสวนพระ เพราะคณะสงฆ์มีองค์กรปกครองคณะสงฆ์อยู่ ทั้งมส. เจ้าคณะหรือเจ้าอาวาส สิ่งที่กมธ.ทำได้คือนิมนต์พระสงฆ์ทั้ง 2 รูปเล่าให้ฟังว่าเรื่องจริงเป็นอย่างไรเท่านั้น

“ไม่มีเครื่องวัดว่าหัวเราะแบบไหนสำรวมหรือไม่สำรวม ถ้าจะให้เทศน์ธรรมะแบบ โบราณจริงๆ คนรุ่นนี้ไม่ฟังหรอก ใส่ตลกขบขันบ้างเพื่อให้คนสนใจ อาจจะดูหวือหวาบ้างเพราะเป็นถ่ายทอดสด แต่การไลฟ์ก็ ไม่มีพระธรรมวินัยข้อใดห้ามไว้ กลับดี เสียอีกที่ในยุคนิวนอร์มัล คนไม่ต้องเดินทางไปวัดก็รับธรรมะที่บ้านได้ เป็นการเผยแผ่พระพุทธศาสนาได้อีกทางหนึ่ง” นายนิยมกล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน