ตกงาน-ธุรกิจเจ๊ง
จ่อแซงต้มยำกุ้ง

จิตแพทย์ห่วงคนไทยฆ่าตัวตายพุ่งจากพิษโควิด เทียบเท่าช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากปัญหาเศรษฐกิจ มาตรการควบคุม ธุรกิจเจ๊ง ตกงาน รายได้หดรายจ่ายเพิ่ม ทำคนเครียดซดน้ำเมาแก้กลุ้ม แต่กลายเป็นตัวกระตุ้น เพราะแอลกอฮอล์ไปกดสมองส่วนการยับยั้งชั่งใจจนระเบิดความรุนแรง ทำให้เวลาคิดเรื่องฆ่าตัวตายก็ลงมือทันที

เมื่อวันที่ 9 ก.ย. ศ.พญ.สุวรรณา อรุณพงค์ไพศาล อาจารย์ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ระบาดทั่วโลกที่มีการทบทวนสถานการณ์การฆ่าตัวตาย จากเดิมที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นกลับพบว่าลดลง แต่สวนทางกับข้อมูลการฆ่าตัวตายในไทย ข้อมูลจากใบมรณบัตรพบว่า ปี 2560 อัตราการฆ่าตัวตายอยู่ที่ 6.03 ต่อแสนประชากร ปี 2561 อัตรา 6.6 ต่อแสนประชากร และมาที่ 7 ต่อแสนประชากร

ล่าสุดปี 2564 อัตราการฆ่าตัวตายของไทยอยู่ที่ 8.8 ต่อแสนประชากร ถือว่าน่ากังวลมาก เพราะสูงเทียบเท่าตอนวิกฤตต้มยำกุ้งเลย คาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เพราะปัญหาเศรษฐกิจ มาตรการโควิด คนตกงาน ประกอบธุรกิจไม่ได้ บางกิจการต้องปิดตัวลง คนเป็นหนี้เพิ่มขึ้น ไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการของรัฐเพียงพอ เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายมากขึ้น

จากการวิเคราะห์พบว่าส่วนใหญ่เกิดจาก 1.ปัญหาเศรษฐกิจที่นำโด่ง มีหนี้สิน ไม่มีรายได้ 2.ปัญหาสารเสพติดและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 3.ปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ ของคนในครอบครัว คนรอบข้าง ทั้งการดุ ด่า นินทา เป็นต้น โดยเฉพาะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีผลต่อการฆ่าตัวตายทั้งปัจจัยโดยตรง จะไปกดสมองส่วนการยับยั้งชั่งใจ อารมณ์เก็บกด ความโกรธ ความก้าวร้าว ถูกปลดปล่อยออกมา ทำให้เวลาคิดเรื่องฆ่าตัวตายก็ลงมือทันที และส่วนใหญ่ใช้วิธีการที่รุนแรง

นอกจากนี้ยังเป็นปัจจัยทางอ้อมคือ การดื่มประจำจะทำให้เสียเงิน เสียงาน เสียไปทุกอย่างเหมือนคนสิ้นเนื้อประดาตัว ทำให้เกิดความเครียดซึมเศร้าก็ยิ่งดื่มเหล้ามากขึ้นและคิดฆ่าตัวตายตามมาได้ ทั้งนี้อัตราเสี่ยงสัมพันธ์กับการฆ่าตัวตายที่เชื่อมโยงกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อยู่ที่ 5.3 เท่าเมื่อเทียบกับคนไม่ดื่ม

เพื่อเป็นการป้องกัน ลดอัตราการฆ่าตัวตายมีการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ป้องกันการฆ่าตัวตายระดับชาติ เน้นการใช้ฐานข้อมูลที่เป็นจริง เน้นเชิงรุก และให้ความสำคัญกับจังหวัดมีมาตรการ และกำหนดแผนอย่างชัดเจน บริหารจัดการอย่างบูรณาการทุกภาคส่วน ทั้งกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มูลนิธิ ภาคประชาชนทั้งหลายในการร่วมมือดูแลกลุ่มเปราะบางทางสุขภาพ และเศรษฐกิจ

“ประชาชนสามารถเรียนรู้ เข้าใจ เข้าถึงการดูแลป้องกันการปัญหาการฆ่าตัวตาย ในระดับบุคคลที่ประสบภาวะวิกฤต ขอให้มีพลัง อึด ฮึด สู้ ขณะที่สังคม ชุมชน ต้องมีการสร้างความหวัง สร้างความปลอดภัย สร้างความสงบ สร้างโอกาส ทุกคนร่วมด้วยด้วยกัน ใช้ศักยภาพของชุมชนขับเคลื่อน ต้องทำร่วมกับการป้องกันการแพร่ระบาดของยาเสพติดและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วย” ศ.พญ.สุวรรณากล่าว

ด้าน ภก.สงกรานต์ ภาคโชคดี ผอ.สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) เผยว่า ตามรายงานของกระทรวงสาธารณสุข พบเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นปัจจัยกระตุ้นสำคัญของการฆ่าตัวตาย เป็นอันดับ 3 และในภาคเหนือเคยมีรายงานว่า สถิติการฆ่าตัวตายสูงหลังไปร่วมงานศพที่มีการเลี้ยงเหล้าในงาน ต่อมาคนในชุมชนมีมติให้จัดงานศพปลอดเหล้า สถิติการฆ่าตัวตายลดลงจริง ยิ่งในสถานการณ์การระบาดของโควิดมีหลายปัจจัยเพิ่มที่ทำให้คนมีความเครียดมากยิ่งขึ้น เช่น การสูญเสียคนในครอบครัว รายได้ลดลงหรือตกงาน กลัวติดเชื้อ เป็นต้น ถ้าหันไปพึ่งน้ำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วยจะยิ่งเป็นเหตุสนับสนุนการฆ่าตัวตายมา ยิ่งขึ้น

“ถ้าคิดใหม่ ใช้สถานการณ์วิกฤตนี้ ให้เป็นโอกาส ในการ ลด ละ เลิก การดื่มน้ำเมาทุกชนิด เพื่อเพิ่มภูมิต้านทานสู้โควิด ป้องกันสุขภาพจิต สุขภาพใจ อีกทั้งเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อครอบครัวและสังคม ไม่เป็นแหล่งกระจายเชื้อจากการขาดสติ และช่วยลดรายจ่าย เปลี่ยนค่าน้ำเมาไปใช้ในสิ่งที่จำเป็นกับครอบครัว ก็จะช่วยลดปัญหาต่างๆ ไปได้มาก” ภก.สงกรานต์ กล่าว

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน