รับมือทะเลหนุน
ปะทะเจ้าพระยา
ทำกทม.-นนท์จม

ตร.ทางหลวงประกาศเตือนสัญจรผ่าน 8 เส้นทาง 6 จังหวัดพื้นที่น้ำท่วม ระวังดินสไลด์ ปภ.รายงาน พิษโกนเซิน ส่งผลน้ำท่วม29 จังหวัด 16,725 ครัวเรือน เสียชีวิต 2 ราย สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 20 จังหวัด โคราชเร่งระบายน้ำเขื่อนพิมายลงแม่น้ำมูน เตรียมรับมวลน้ำก้อนใหญ่ เลยอพยพวุ่นกลางดึก น้ำป่า บ่าห้วย จมทันทีกว่า 100 หลัง เสาไฟ ล้มระเนระนาด 4 อำเภอชัยภูมิยังอ่วม ลำน้ำชีเอ่อล้นขยายวง ทะลักนาไร่กว่า 5 พันไร่ บ้านจม 200 หลัง ที่ว่าการอำเภอ-โรงพักศรีสำโรง สุโขทัย น้ำท่วมสูงครึ่งเมตร หลังฝนตกหนักข้ามคืน นาล่มกว่า 1.3 หมื่นไร่

เมื่อวันที่ 17 ก.ย. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) รายงานจากอิทธิพลร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือ ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุม ทะเลอันดามันและภาคใต้ฝั่งตะวันตก ทำให้บริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันตกจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ คลื่นลมในทะเลอันดามันตอนบนจะมีกำลังแรงขึ้น

ปภ.รายงานต่อว่า จากอิทธิพลพายุ “โกนเซิน” ตั้งแต่วันที่ 7 ก.ย.-ปัจจุบัน ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากและดินสไลด์ ในพื้นที่ 29 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน แพร่ ลำพูน ลำปาง สุโขทัย ตาก พิษณุโลก เพชรบูรณ์ กำแพงเพชร พิจิตร นครสวรรค์ เลย ชัยภูมิ นครราชสีมา อุบลราชธานี ปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี จันทบุรี ระยอง ตราด ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา นครนายก สมุทรปราการ ระนอง กระบี่ และตรัง รวม 110 อำเภอ 265 ตำบล 913 หมู่บ้าน 2 เขตเทศบาล ประชาชนได้รับผลกระทบ 16,725 ครัวเรือน ผู้เสียชีวิต 2 ราย สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 20 จังหวัด

ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์ใน 9 จังหวัดรวม 37 อำเภอ 10 ตำบล/เทศบาลตำบล

ด้านกองบังคับการตำรวจทางหลวง (บก.ทล.) สรุปสถานการณ์เหตุอุทกภัยบนทางหลวง พบว่ามี 6 จังหวัด 8 เส้นทาง แต่ยังผ่านได้แม้จะมีน้ำท่วมและดินสไลด์ก็ตาม ประกอบด้วย 1.เส้นทางหลวง 1332 นาไผ่ล้อม-ถ้ำแม่ย่า อ.เมือง จ.สุโขทัย โดยช่วงก.ม.ที่ 14+770 ถึง 14+875 ด้านขวาพบระดับน้ำสูง 5 ซ.ม.

2.เส้นทาง 1056 ศรีสำโรง-ดอนโก อ.ศรีสำโรง จ.สุโขทัย ช่วงกม.ที่ 13+875 ถึง 13+925 ด้านซ้ายทางและขวาทาง ระดับน้ำสูง 5 ซ.ม. 3.เส้นทางหลวง 1048 หอรบ-สวรรคโลก อ.ทุ่งเสลี่ยม จ.สุโขทัย ช่วง ก.ม.ที่ 56+950 ถึง 57+200 ระดับน้ำสูง 5 ซ.ม. 4.เส้นทางหลวง 1303 ปลายนา-หนองตูม อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก ช่วงก.ม.ที่ 17+060, 17+447, 17+628 ด้านซ้ายทาง ท่อระบายน้ำและคันทางชำรุด รถเล็กผ่านได้ ห้ามรถบรรทุกขนาดใหญ่ผ่าน คาดว่าแล้วเสร็จ ภายในวันที่ 19 ก.ย. การจราจรผ่านได้ แต่ไม่สะดวก ให้ใช้เส้นทางเลี่ยงเข้า ทางหลวงเส้น 1303 ก.ม.12+100 ออก ทล.1293 ก.ม.27+300 5.เส้นทางหลวง 1339 น้ำปาด-ปากนาย อ.น้ำปาด จ.อุตรดิตถ์ ช่วงก.ม.ที่ 54+600 ด้านซ้ายทาง คันทางเกิดการ ทรุดตัว การจราจรผ่านได้แต่ไม่สะดวก ผ่านได้ 1 ช่องจราจร 6.เส้นทางหลวง 12 หนองเสือ-วังวน อ.บ้านด่านลานหอย จ.ตาก ช่วงก.ม.ที่ 145+600 ถึง 147+200 ระดับน้ำสูง 5 ซ.ม. 7.เส้นทางหลวง 3077 ศาลนเรศวร-เขาใหญ่ จ.ปรา จีนบุรี ช่วงก.ม.ที่ 4+080 เป็นแห่งๆ ระดับน้ำสูง 5-10 ซ.ม. และ 8.เส้นทางหลวง 201 ด่านขุนทด-หนองบัวโคก อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา ช่วงก.ม.ที่ 57+600 ถึง 57+800 ด้านขวาทาง ระดับน้ำสูง 10 ซ.ม.

บก.ทล.ขอให้ประชาชนผู้ใช้ทางโปรดใช้ความระมัดระวังในการเดินทาง ปฏิบัติตามป้ายเตือน ป้ายแนะนำโดยเคร่งครัด หากประชาชนต้องการสอบถามสภาพเส้นทาง สภาพการจราจร หรือต้องการของความช่วยเหลือติดต่อได้ที่ ตำรวจทางหลวง สายด่วน 1193

ที่จ.สุโขทัย เกิดฝนตกหนักนานหลายชั่วโมง น้ำไหลระบายไม่ทัน ทำให้น้ำท่วมขังตลาดเขตเทศบาล โรงพัก และที่ว่าการอำเภอศรีสำโรง ระดับน้ำสูง 30-50 ซ.ม. พนักงานและข้าราชการต้องนั่งหลังรถกระบะลุยน้ำเข้ามา ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจสภ.ศรีสำโรง ได้ช่วยกันเข็นรถลุยน้ำออกไปส่งจนถึงถนนอย่างปลอดภัย

ด้านนายสุชาติ ทีคะสุข รองผวจ.สุโขทัย และนายปรีชา สุทนต์ นายอำเภอศรีสำโรง ได้ลงพื้นที่ตรวจติดตามสถานการณ์น้ำในลำน้ำแม่มอก บริเวณคลองทางไม้ หมู่4 ต.ทับผึ้ง อ.ศรีสำโรง ซึ่งถูกกระแสน้ำกัดเซาะจนทางข้ามคลองขาด ไม่สามารถใช้การได้

นายสุชาติกล่าวว่า หลังจากมีฝนตกหนักมาก ประกอบกับมวลน้ำจากอ่างแม่มอกไหลบ่ามาถึง ทำให้มีน้ำท่วมขังที่ไร่ที่นา 13,679 ไร่ ในพื้นที่ 10 ตำบล 45 หมู่บ้าน โดยนายอำเภอศรีสำโรงได้เร่งระบายน้ำเพื่อลดความเสียหาย คาดว่าสถานการณ์จะคลี่คลายในอีก 10 วัน ถ้าไม่มีฝนตกลงมาอีก

ขณะที่ นายสิทธิพล เสงี่ยม ผอ.ศูนย์ปภ. เขต 5 นครราชสีมา มอบหมายให้ส่วนสนับสนุนทรัพยากรกู้ภัย ศูนย์ปภ.เขต 5 นครราชสีมา จัดเจ้าหน้าที่ พร้อมเครื่องจักรกลสาธารณภัย รถปฏิบัติการบรรเทาอุทกภัย พร้อมเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ 1 คัน สนับสนุน อบต.ตะเคียน อ.ด่านขุนทด สูบน้ำจากคลองลำเชียงไกรที่มีปริมาณน้ำมาก จากการระบายออกจากอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรตอนบน ไปกักเก็บไว้ในสระน้ำบ้านดอนใหญ่ หมู่ 4 ต.ตะเคียน เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในที่ลุ่มต่ำ และกักเก็บสำรองน้ำไว้ใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งจะมีชาวบ้านได้รับประโยชน์ 270 ครอบครัว จำนวน 1,300 คน นอกจากนี้ได้ส่งเรือท้องแบน 2 ลำ และเรือพลาสติก อีก 2 ลำ สนับสนุนอบต.หนองบัวละคร อ.ด่านขุนทด เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยใน 6 หมู่บ้าน มีชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน 162 ครอบครัว

ส่วนเขื่อนพิมาย มีปริมาณเก็บกักน้ำอยู่ที่ 3,470,000 ลบ.ม. หรือ 96.39% ของความจุ จำเป็นต้องเร่งระบายน้ำภายในเขื่อนออก เพื่อเตรียมรับมวลน้ำก้อนใหญ่ที่จะไหลเข้ามาสะสมหน้าเขื่อน โดยโครงการศูนย์ส่งน้ำและบำรุงรักษาทุ่งสัมฤทธิ์ ต้องเปิดประตูเขื่อนทางด้านปากคลองสายใหญ่ ยกบานขึ้นสุดทั้ง 6 บาน และเปิดประตูระบายน้ำ ทางฝั่งทิศใต้ อีก 2 บาน เพื่อเร่งระบายน้ำในเขื่อนลงสู่ลำน้ำมูนอย่างต่อเนื่อง และระบายลงสู่คลองส่งน้ำชลประทานทางด้านทิศใต้ เพื่อเตรียมรองรับปริมาณน้ำจากพื้นที่อ.ปักธงชัย ที่จะไหลผ่านมายังอ.เฉลิมพระเกียรติ ก่อนไหลเข้ามาสะสมเพิ่มเติมเหนือเขื่อนและไหลลงลำน้ำมูนต่อไป และเตรียมติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำแรงดันสูง 12 เครื่อง ผลักดันน้ำออกจากเขื่อนด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้ปริมาณน้ำล้นตลิ่ง ไหลเข้าท่วมพื้นที่เขตเศรษฐกิจ ทั้งในเขตเทศบาล โบราณสถาน และตัวเมืองชั้นในอ.พิมาย

ที่จ.ชัยภูมิ ชาวบ้านยังได้รับความเดือดร้อนถูกน้ำท่วมบ้านมาต่อเนื่องเป็นวันที่สามแล้ว ซึ่งอยู่ในพื้นที่รอยต่อกว่า 4 อำเภอ ต.ลุ่มลำชี อ.บ้านเขว้า, ต.บ้านค่าย อ.เมือง, ต.กะฮาด อ.เนินสง่า มีประชาชนได้รับความเดือดร้อนกว่า 200 หลังคาเรือน และล่าสุดปริมาณน้ำในลำน้ำชีไหลหลากหนุนสูงเอ่อล้นท่วมพื้นที่การเกษตรรวมแล้วกว่า 5,000 ไร่ และในหมู่บ้าน ถนน รถยนต์ทุกชนิดสัญจรผ่านไม่ได้ ชาวบ้านต้องรีบขอการสนับสนุนเรือเพื่อขนย้ายข้าวสาร สิ่งของมีค่าที่จำเป็นออกจากบ้านมาต่อเนื่องกันตลอดทั้งคืนที่ผ่านมา หลังยังมีฝนตกหนัก ทำให้มีน้ำหลากท่วมเข้าพื้นที่ในหมู่บ้านโคกแพงพวย หมู่ 15 ต.ละหาน และต.ส้มป่อย อ.จัตุรัส ระดับน้ำท่วมหมู่บ้านสูงกว่า 1-2 เมตรแล้ว

ด้านจ.เลย หลังจากเมื่อช่วงดึกคืนที่ผ่านมา หลังเกิดฝนตกฟ้าคะนองอย่างหนัก ทำให้เกิดเหตุน้ำป่าจากห้วยน้ำหมาน เอ่อล้นท่วมบ้านเรือนประชาชนและพื้นที่ทางการเกษตรที่บ้านกกทอง หมู่ 4 ต.กกทอง อ.เมือง เจ้าหน้าที่อาสาสมัครมูลนิธิสว่างคีรีธรรม, อาสาสมัครสมาคมกู้ชีพ กู้ภัย และสมาคมร่วมใจกู้ภัยเมืองเลย ได้ระดมกำลังกันกว่า 50 คน พร้อมเรือและอุปกรณ์กู้ภัยเข้าช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัย ร่วมกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้นำชุมชน โดยชาวบ้านต้องหนีภัยน้ำท่วมกันอย่างโกลาหล

จากการสำรวจเบื้องต้นพบว่ามีบ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหาย 100 หลังคาเรือน ทรัพย์สินถูกน้ำป่าที่เต็มได้ด้วยดินโคลนท่วมเสียหาย เสาไฟฟ้าในหมู่บ้านล้ม 3 ต้น คอสะพานถูกนำซัด 1 แห่ง และนาข้าวถูกน้ำท่วมเป็นบริเวณกว้าง

ด้านนายทรงพล สวยสม ผอ.โครงการชลประทานนนทบุรี ได้มีหนังสือเรื่อง ขอประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี นายอำเภอปากเกร็ด นายกอบจ.นนทบุรี นายกเทศมนตรีนครนนทบุรี นายกอบต.ท่าอิฐ นายกอบต.คลองพระอุดม นายกอบต.เกาะเกร็ด และนายกเทศมนตรีตำบลบางพลับ สรุปว่า ตามที่โครงการชลประทานนนทบุรี ได้ติดตามสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปรับลดปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา ให้อยู่ในเกณฑ์ 1,338 ลบ.ม./วินาที แต่มวลน้ำดังกล่าวก่อนการปรับลดการระบายเคลื่อนมายังพื้นที่จังหวัดนนทบุรี ในช่วงวันที่ 16 ถึง 22 ก.ย. โดยมีสถานีตรวจวัดที่สถานีบางไทร จ.พระนคร ศรีอยุธยา วัดปริมาณน้ำได้ 863 ลบ.ม./วินาที เมื่อวันที่ 15 ก.ย. เพิ่มเป็น 1,125 ลบ.ม. ต่อวินาที วันที่ 16 ก.ย. ประกอบกับ ช่วงวันที่ 16-22 ก.ย. ระดับน้ำทะเลหนุนสูงกว่า 1.0 เมตร ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำ หรือ พื้นที่ลุ่มนอกคันกั้นน้ำ นั้น

โครงการชลประทานนนทบุรี ขอประชา สัมพันธ์ในการเตรียมความพร้อม ภาวะระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเอ่อท่วมพื้นที่ จากภาวะน้ำทะเลหนุนรวมกับปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา โดยมีพื้นที่มีความเสี่ยงเนื่องจากเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ หรือ พื้นที่ลุ่มนอกคันกั้นน้ำ เช่น พื้นที่ชุมชนมัสยิดท่าอิฐ ชุมชนหมู่ 4 ตำบล บางพลับ ชุมชนนอกคันกั้นน้ำวัดแจ้งศิริสัมพันธ์ ชุมชนนอกคันกั้นน้ำวัดแคนอก และชุมชนริมเกาะเกร็ด ฝั่งทิศตะวันออกเฉียงใต้ เป็นต้น ควรเฝ้าระวังและเตรียมความพร้อมในการยกของขึ้นสูงบ้าง โดยคาดการณ์ระดับน้ำสูงสุดที่อาจเกิดขึ้นในช่วงวันที่ 16-22 ก.ย. คาดการณ์ในเบื้องต้นไม่เกิน +1.80 ม.รทก. (ระดับคันกั้นน้ำปกติ +2.50 ม.รทก) และช่วงเวลาน้ำทะเลหนุน คาดการณ์จะอยู่ในช่วงเวลาประมาณ 11.10-15.00 น. และช่วง 19.00 ถึง 23.00 น. โดยประมาณ ทั้งนี้ โครงการชลประทานนนทบุรี จะปิดอาคารชลประทานริมแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อป้องกันภาวะน้ำหนุนที่อาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำใน คลองสายต่างๆ ด้วย

ลุยน้ำช่วย – เจ้าหน้าที่ปภ.และกิ่งกาชาด อำเภอสูงเนิน จ.นครราชสีมา แบกถุงยังชีพ ลุยน้ำไปแจกจ่ายชาวบ้านในพื้นที่ 6 ตำบลที่ถูกน้ำท่วมขังที่กำลังเดือดร้อนจากอุทกภัย เมื่อวันที่ 17 ก.ย.

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน