โพลค้านอยู่ต่อ
แนะยุติบทบาท

โฆษกรัฐบาลแจงนายกฯ เดินสายต่างจังหวัดถี่ยิบ เป็นภารกิจช่วยเหลือชาวบ้าน ไม่เกี่ยวส่งสัญญาณยุบสภา ยันรัฐบาลอยู่ครบวาระ เผยมีคิวเยือนสุโขทัยอีก 22 ก.ย.นี้ ‘ป้อม’ ลุยอยุธยา ปชป.ขยับด้วย สั่งส.ส.ลงพบประชาชนช่วงสภาปิดสมัยประชุม ‘ชวน’ เตรียมลุยเยี่ยม 10 จังหวัดภาคเหนือ ‘จุรินทร์’ ออนทัวร์ปลายก.ย. ก้าวไกลเดินหน้าเฟ้นผู้สมัคร จับตารัฐบาลขอเปิดสมัยวิสามัญดันร่างพ.ร.บ.โรคติดต่อ สอดไส้นิรโทษกรรมวัคซีน ‘ทักษิณ’ ทวีต 15 ปี ไทยถอยหลังเพราะระบอบเผด็จการ ผลสำรวจนิด้าโพลชี้นายกฯ บริหารล้มเหลว ขาดภาวะผู้นำ ควรยุติบทบาท ไม่เหมาะตั้งพรรคใหม่ นั่งหัวหน้าพปชร.

โฆษกรัฐยันรัฐบาลอยู่ครบวาระ

วันที่ 19 ก.ย. นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการลงพื้นที่ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ในช่วงนี้ ว่า เป็นเรื่องปกติตามภาระหน้าที่ของนายกฯ ที่ต้องการเข้าไปช่วยเหลือแก้ไขปัญหา รับทราบความเดือดร้อนของประชาชนอย่างใกล้ชิด การลงพื้นที่ของ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้แปลว่าต้องมีการยุบสภา เป็นคนละเรื่องกัน ไม่อยากให้หยิบยกการลงพื้นที่ของ นายกฯ โดยเฉพาะการเร่งแก้ปัญหาน้ำท่วมมาเป็นประเด็นทางการเมืองว่าส่งสัญญาณยุบสภา ยืนยันรัฐบาลจะอยู่ครบวาระ และไม่มีเหตุผลอะไรที่ต้องยุบสภา

เนื่องจากขณะนี้ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลเองก็ยังให้สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นอย่างดี อีกทั้งการยุบสภา และจัดเลือกตั้งใหม่ขณะนี้จะยิ่งเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายโดยเฉพาะงบประมาณแผ่นดินที่จะใช้จัดเลือกตั้ง น่าจะใช้เพื่อแก้โควิด-19 และฟื้นฟูเศรษฐกิจ รัฐบาลจะเดินหน้าแก้ปัญหาให้ประชาชนต่อไป จนครบวาระ

ตู่มีคิวลุยสุโขทัย-ป้อมไปอยุธยา

รายงานข่าวจากทำเนียบเผยว่า สัปดาห์นี้ พล.อ.ประยุทธ์ มีกำหนดการลงพื้นที่ตรวจราชการ เยี่ยมเยียนประชาชนต่อเนื่อง โดยจะติดตามปัญหาน้ำท่วมในหลายพื้นที่ของ จ.สุโขทัย ในวันพุธที่ 22 ก.ย.นี้ รายละเอียดแต่ละจุดผู้เกี่ยวข้องจะได้หารือและสรุปกันอีกครั้งในวันที่ 20 ก.ย.นี้

อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตว่าตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ไป จ.สมุทรปราการ 12 ก.ย.ที่ผ่านมา จ.ชัยนาท 15 ก.ย. และ จ.ชลบุรี 17 ก.ย. ล่าสุดเตรียมไป จ.สุโขทัย โดยจังหวัดที่นายกฯ ลงพื้นที่ล้วนเป็นฐานเสียงของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่มีรัฐมนตรี และส.ส.พรรคอยู่ในกลุ่มที่สนับสนุน นายกฯ เป็นหลัก อาทิ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม นายอนุชา นาคาศัย รมต.ประจำสำนักนายกฯ ส.ส.ชัยนาท นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ส.ส.ชลบุรี นายอิทธิพล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม เป็นต้น ซึ่งการลงพื้นที่ของนายกฯ เป็นที่จับตาว่ากำลังส่งสัญญาณเตรียมความพร้อมสำหรับการเลือกตั้งครั้งต่อไปหรือไม่

ขณะที่พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายก ฯ ในฐานะหัวหน้าพปชร. พบว่ายังเดินสายไปร่วมงานและพบปะกับบรรดารัฐมนตรี และส.ส.เช่นกัน โดยพุธที่ 22 ก.ย. จะเดินทางตรวจเยี่ยมการเตรียมความพร้อมรับมือน้ำท่วมและการบริหารจัดการน้ำที่ จ.อยุธยา อีกครั้ง

ปชป.ปลุกขวัญก่อนทัวร์เหนือ

เวลา 13.00 น. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ร่วมเสวนากับสมาชิกพรรคภาคเหนือ มีนาย นราพัฒน์ แก้วทอง รองหัวหน้าพรรคภาคเหนือ จัดเสวนา หัวข้อ “การทำงานพรรคประชาธิปัตย์ผ่านกลไก 6 กระทรวง” ผ่านระบบ Zoom

นายจุรินทร์กล่าวว่า พรรคขับเคลื่อนนโยบายที่ประกาศต่อรัฐสภาผ่าน 3 กลไก 1.รัฐมนตรีพรรค 2. รัฐสภา ซึ่งมีนายชวน หลีกภัย เป็นประธานรัฐสภา ผ่านส.ส.ของพรรค และ 3.ภายในพรรค ที่ตนรับผิดชอบในฐานะหัวหน้าพรรค กก.บห.พรรค รองหัวหน้าพรรคแต่ละภาค สาขาพรรค และเพื่อนสมาชิกทุกคน ซึ่งเป็นกลไกทางตรงและมีประสิทธิผล เชื่อว่าจะได้เสียงตอบรับจากพื้นที่มากขึ้นในการเลือกตั้งครั้งต่อไปแน่นอน จึงอยากให้ทุกคนเผยแพร่ ผลงานพรรค

ที่ผ่านมามี “จุรินทร์ ออนทัวร์” ไปแล้วหลายจังหวัด ล่าสุดไปจังหวัดอันดามัน ชุมพร ระนอง พังงา ภูเก็ต โดยเฉพาะที่ระนองได้เปิดตัวผู้สมัครเลือดใหม่ นักการเมืองรุ่นใหม่ ส่วนที่ภูเก็ตมีเปิดยุทธศาสตร์ภูเก็ตยกทีม ซึ่งไม่ใช่เรื่องยากสำหรับภูเก็ต เชื่อว่าเราจะทวงเก้าอี้กลับมาได้ เมื่อ 18 ก.ย.ที่ผ่านมามี “จุรินทร์ ออนทัวร์ กรุงเทพ” ซึ่งทำมาตลอดเช่นเดียวกัน โดยเปิดตัวผู้สมัครส.ก.สตรี ปลายเดือนนี้จะมี “จุรินทร์ ออนทัวร์ ภาคเหนือ” เป็นกำหนดการที่เตรียมการมาก่อนหน้านี้แต่ต้องเลื่อนเพราะการล็อกดาวน์จึงฟื้นกลับมาใหม่โดยจะลงพื้นที่ประมาณ 30 ก.ย.-1 ต.ค.นี้

ไม่มีปชป.ประกันรายได้ไม่เกิด

มาถึงวันนี้ ปชป.พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเมื่อเข้าร่วมรัฐบาลได้ทำผลงานที่เป็นนโยบายสำคัญของพรรคเสร็จแล้ว 2 ข้อ คือ 1. ประกันรายได้เกษตรกร เข้าร่วมรัฐบาล ก.ค. 62 ยังไม่ทันสิ้น ธ.ค.62 ภายใน 4 เดือน เราจ่ายเงินส่วนต่างประกันรายได้เกษตรกรได้ครบจึงเป็นที่มาว่าประชาธิปัตย์ยุคอุดมการณ์ทันสมัย ทำได้ไว ทำได้จริง โครงการประกันรายได้เกษตรกรเดินหน้ามาถึงปีที่ 3 แล้ว ถ้าไม่มีปชป.นโยบายนี้ไม่เกิด และเป็นเงื่อนไขก่อนร่วมรัฐบาล เมื่อร่วมรัฐบาลแล้วเราเป็นตัวหลักในการลงมือทำ 2.การแก้รัฐธรรมนูญ แม้ขลุกขลักบ้างแต่สุดท้ายร่างของปชป.ผ่านเพียงร่างเดียว และพรรคมียุทธศาสตร์ “เลือดใหม่ไหลเข้า เลือดเก่าไหลกลับ”เพื่อมาช่วยกันสร้างพรรคให้เติบโตต่อไปในอนาคต

‘ชวน’นำร่องขึ้น 10 จว.เหนือ

นายอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ปชป. และเลขาธิการมูลนิธิเพื่อการศึกษาและสังคม เผยว่า ระหว่าง 24-26 ก.ย.นี้ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร นายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขานุการประธานสภา รวมถึงตน และคณะ จะเดินทางด้วยรถยนต์ไปพื้นที่ภาคเหนือ 10 จังหวัด เพื่อเยี่ยมเยียนผู้ประสบภัยในพื้นที่น้ำท่วม รวมถึงแจกหน้ากากอนามัยจังหวัดละ 10,000 ชิ้น และหน้ากากเด็ก MiniMask จุดละ 2,000 ชิ้น และมอบเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็นสำหรับชาวบ้าน ในช่วงการเเพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยไปตั้งต้นที่ศาลากลางจ.อุตรดิตถ์ จากนั้นไป จ.แพร่ น่าน พะเยา เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง ไปจบที่ศาลากลางจังหวัดตาก

อย่างไรก็ตาม การเดินทางของนายชวนและคณะ ทำเป็นประจำในช่วงปิดสมัยประชุมสภา และแจกมาแล้วกว่า 50 จังหวัดทั่วประเทศ ไม่เกี่ยวกับข่าวสัญญาณยุบสภาเลือกตั้งในปีหน้าแต่อย่างใด อีกทั้งส.ส.และบุคลากรของปชป. ในฐานะพรรคการเมืองทำงานหนักมาตลอด พร้อมทุกสนามเลือกตั้งอยู่แล้ว

สั่งส.ส.ปูพรมช่วงสภาปิด

นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกปชป. กล่าวถึงช่วงปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎรว่า ส.ส.ทุกคนจะลุยพื้นที่อย่างเต็มที่ เพื่อช่วยเหลือประชาชนในช่วงโควิด-19 รวมถึงรับฟังปัญหา และร่วมแก้ไขกับรัฐมนตรีของพรรค และเก็บข้อมูลเพื่อนำไปสู่การทำงานช่วงเปิดสมัยประชุมหน้าต่อไป นอกจาก ส.ส.ยังมีตัวแทนพรรคประจำจังหวัด สาขา และแกนนำพรรคในทุกเขตพื้นที่เลือกตั้งรวม 350 เขต ที่จะดูแลช่วยเหลือประชาชนตามนโยบายหัวหน้าพรรค การลุยทำงานในพื้นที่ไม่ใช่เพราะมีกระแสข่าวยุบสภาแต่เป็นเรื่องปกติของพรรคที่ให้ความสำคัญกับเรื่องลงพื้นที่ใกล้ชิดประชาชนตลอดเวลา อยู่แล้ว ส่วนกระแสข่าวการยุบสภานั้นเป็นอำนาจ นายกฯ แต่ในฐานะที่ปชป. เป็นสถาบันทางการเมือง เตรียมพร้อมตลอดเวลา

ยุบสภาต้องรอกฎหมายลูก

นายราเมศกล่าวว่า ส่วนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่อยู่ในช่วงเวลาพักไว้ 15 วัน จะครบเวลาตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด 26 ก.ย.นี้ หากไม่มีการยื่นศาลรัฐธรรมนูญก็จะเข้าสู่กระบวนการขั้นตอนต่อไป หากรัฐธรรมนูญที่แก้ไขมีผลบังคับใช้ แน่นอนมาตรา 91 ให้แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. เรื่องหลักเกณฑ์ กระบวนการในการเลือกตั้ง ดังนั้นระหว่างที่ยังไม่ได้แก้กฎหมายนี้ก็คงยากจะยุบสภา เพราะจะมีปัญหาในทางปฏิบัติทันทีว่ากฎหมายเลือกตั้งยังไม่ได้แก้ไข เชื่อว่าทุกพรรคต้องเร่งดำเนินการแก้กฎหมายเลือกตั้งให้แล้วเสร็จในสมัยประชุมหน้านี้ หลังกฎหมายเลือกตั้งที่ต้องแก้ไขผ่านสภา เชื่อว่าทุกพรรคจะเข้าสู่โหมดการเตรียมความพร้อมในการเลือกตั้งเต็มรูปแบบ

เตือนสภาล่ม-ข้ออ้างยุบสภา

นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.ปชป. รองประธานวิปรัฐบาล กล่าวถึงเหตุการณ์ประชุมรัฐสภาล่มเมื่อ 17 ก.ย. วันปิดสมัยประชุมว่า ปกติประชุมร่วมรัฐสภาไม่ค่อยล่ม เพราะการประชุมร่วมเป็นไปได้ยากและเป็นไปตามรัฐธรรมนูญกำหนด ดังนั้นสภาล่มมองได้หลายส่วน 1.ทำให้กฎหมายสำคัญที่ควรผ่านรัฐสภาตามกำหนดเวลาไม่ผ่าน 2.สะท้อนการประสานงานต้องชัดเจนทั้งเวลาเปิด-ปิด ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องรับผิดชอบร่วมกัน 3.การลงมติครั้งนี้เป็นวันสุดท้ายของการประชุม ปกติจะมี พ.ร.ฎ.ปิดสมัยประชุมด้วย ฉะนั้นส.ส.ต้องตระหนักและรับผิดชอบ

วิปรัฐบาลยังไม่ได้พูดคุยกันเพราะปิดสมัยประชุมพอดี แต่ต้องมาคุยกันโดยเฉพาะพรรคแกนนำจะต้องคุยกันให้ชัดเจนว่าเรื่องใดสำคัญอย่างไร และควรแจ้งให้แต่ละพรรคมีส่วนรับผิดชอบ หรือทราบว่ามีความเคลื่อนไหวอย่างไร ไม่อย่างนั้นจะทำให้เป็นที่สงสัยกันว่าทำไมกฎหมายฉบับนี้ถึงไม่ผ่านเหมือนที่สงสัยกัน แล้วท้ายที่สุดพรรคร่วมรัฐบาลก็จะถูกครหานินทาร่วมกัน ตนเป็นคนอภิปรายเรื่องนี้เป็นคนสุดท้าย และเรียกร้องว่าจะติดตามดูการลงมติของเพื่อนสมาชิกรัฐสภา เพราะร่างพ.ร.บ.การศึกษา เป็นวาระแห่งชาติที่ทุกคนต้องรับผิดชอบร่วมกัน

ส่วนว่าประชุมรัฐสภาล่มครั้งนี้สะท้อนความขัดแย้งภายใน พปชร. หรือเป็นสัญญาณถึงการยุสภาหรือไม่นั่น นายชิน วรณ์กล่าวว่า เกิดเหตุการณ์รัฐสภาล่มสองครั้งทำให้คนมองได้หลายมิติ การเปิดประชุมครั้งต่อไปวิปทั้ง 3 ฝ่ายต้องชัดเจน ถ้าไม่ทำให้ชัดเจนก็อาจมีปัญหาต่อความศรัทธาต่อระบบรัฐสภาได้ ในที่สุดอาจเป็นข้ออ้างไม่เกิดเสถียรภาพของรัฐบาล หรืออาจต้องยุบสภา ก็เคยมีมาแล้ว

เวลา 14.00 น. ที่พรรคก้าวไกล (ก.ก.) นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ แถลงว่า เวลานี้สถานการณ์ของรัฐบาลไม่มั่นคง ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นภายในกำลังจะปะทุ การเลือกตั้งสามารถเกิดขึ้นได้ทุกขณะ อาจจะมีการยุบสภาได้ตลอดเวลา พรรคยืนยันความพร้อมต่อการเลือกตั้งในระบบบัตร 2 ใบ ที่มีสัดส่วนของ ส.ส.เขต 400 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน และเปิดรับสมัครประชาชนที่สนใจเข้าร่วมอุดมการณ์ ขณะเดียวกันเปิดรับฟังเสียงสะท้อนประชาชนในทุกพื้นที่เพื่อให้มั่นใจว่าผู้สมัครที่ได้รับการคัดเลือกจะเป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับทั้งจากสมาชิกพรรคและประชาชน

การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต พรรคก้าวไกลมีความมั่นใจว่าจะได้รับคะแนนที่มากขึ้นอย่างแน่นอน และจากการสำรวจของพรรคก้าวไกลเสียงของประชาชนยืนยันว่าการเลือกตั้งในครั้งหน้าพรรคก้าวไกล จะได้รับที่นั่งมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ยันว่ามีความพร้อมต่อการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นและขอให้ความมั่นใจกับประชาชนว่าถ้าจะเลือกพรรคก้าวไกลต่อไปเราก็พร้อมที่จะเสนอนโยบายที่เป็นประโยชน์และนำพาประเทศเพื่อเปลี่ยนแปลงทั้งทางโครงสร้าง ชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา

เล็งขออภิปรายไม่ลงมติ

นายรังสิมันต์กล่าวด้วยว่า สมัยประชุมหน้ายังมีกลไกของรัฐธรรมนูญคือการอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ พรรคจะใช้เวทีดังกล่าวเปิดโปงความชั่วร้ายที่เกิดขึ้นภายในรัฐบาลเพื่อให้ประชาชนรับทราบและติดตามต่อไป

สำหรับเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ผ่านมากลุ่ม Re-Solution ร่วมกับภาคประชาชนกว่า 100,000 คนยื่นรื้อระบบประยุทธ์ 4 เรื่องสำคัญ เราตั้งความหวังว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงประเทศให้ดีขึ้น พรรคสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยกลุ่ม Re-Solution ตั้งเป้าว่าถ้าทำสำเร็จจะทำให้ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญที่เป็นของประชาชน เป็นรัฐธรรมนูญที่ได้รับ การยอมรับ ไม่กลับไปสู่วงเวียนของการรัฐประหาร หรือกระบวนการที่ไม่เป็นประชาธิปไตยเหมือนที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

จับตาแก้พ.ร.บ.โรคติดต่อ

สิ่งที่ต้องติดตามต่อหลังจากนี้ คืออาจมีการขอเปิดประชุมวิสามัญซึ่งรัฐบาลเตรียมบรรจุร่างพ.ร.บ.โรคติดต่อ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม เพิ่มบทคุ้มครองและป้องกันการฟ้องร้อง เจ้าหน้ารัฐที่ปฏิบัติงานในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขไว้ด้วย อาจเป็นการสอดไส้นำแนวคิดออก พ.ร.ก.ที่จำกัดการรับผิดบุคลากรสาธารณสุข ที่เคยถูกคัดค้านอย่างมากว่าจะกลายเป็นการนิรโทษกรรม ให้เจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงระดับนโยบาย ไม่ให้ ถูกฟ้องร้องหรือวิพากษ์วิจารณ์ ทุกคนต้องติดตามว่าจะมีการบรรจุและพิจารณากฎหมายในสมัยวิสามัญหรือไม่

15ปีรปห. – นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม รองหัวหน้าพรรค เพื่อไทย นายจิรพงษ์ ทรงวัชราภรณ์ ส.ส.นนทบุรี และน.ส.อรุณี กาสยานนท์ โฆษกพรรค ร่วมแถลง 15 ปีรัฐประหารโอกาสที่สูญเสียของประชาธิปไตยและพรรคการเมือง ที่พรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 19 ก.ย.

แม้วทวีตไทยสูญเสีย 15 ปี

วันเดียวกัน นายทักษิณ ชินวัตร อดีต นายกฯ ทวีตข้อความผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัว ระบุ 15 ปีที่แล้วของวันนี้คือวันที่โอกาสประเทศไทยและคนไทยในสังคมโลกยุคใหม่ สูญเสียไปอย่างมากและต่อเนื่อง เพราะการนำประเทศถอยหลังด้วยระบบเผด็จการที่โลกทัศน์คับแคบ ห่วงแต่สถานภาพตัวเอง บัดนี้ถูกพิสูจน์แล้วว่าเผด็จการต้องยุติและคืนประชาธิปไตยให้กับประเทศชาติและประชาชนได้แล้ว

โพลชี้ตู่ไม่ควรยุ่งกับพปชร.

นิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒน บริหารศาสตร์ (นิด้า) เผยผลสำรวจ เรื่อง “นายกรัฐมนตรีกระชับอำนาจ” สำรวจระหว่าง 13 – 16 ก.ย. 2564 จากประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป จากทั่วทุกภาค จำนวน 1,317 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการกระชับอำนาจของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ถามถึงความรู้สึกต่อการกระชับอำนาจของนายกฯ ด้วยการให้รัฐมนตรี 2 คนออกจากตำแหน่ง ส่วนใหญ่ร้อยละ 23.99 ระบุเป็นการดำเนินการที่เหมาะสมแล้ว รองลงมาร้อยละ 23.54 ระบุ พี่-น้อง 3 ป.แค่เล่นเกมการเมือง แต่ไม่แตกออกจากกัน ร้อยละ 17.16 ระบุเป็นการดำเนินการที่ไม่เหมาะสม ร้อยละ 16.70 พรรคพลังประชารัฐจะแตกแยกมากขึ้น ร้อยละ 11.92 นายกฯ จะได้คะแนนนิยมน้อยลง ร้อยละ 7.67 นายกฯ และรัฐบาลจะมั่นคงน้อยลง ร้อยละ 4.10 พี่-น้อง 3 ป. กำลังจะแตกออกจากกัน ร้อยละ 3.57 นายกฯ และรัฐบาลจะมั่นคงมากขึ้น ร้อยละ 3.11 นายกฯ จะได้คะแนนนิยมมากขึ้น ร้อยละ 1.52 พรรคพลังประชารัฐจะเป็นปึกแผ่นมากขึ้น ร้อยละ 17.69 ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ความเห็นต่อการเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐของ พล.อ.ประยุทธ์ แทน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ส่วนใหญ่ร้อยละ 56.11 ระบุไม่ควรเข้าไปยุ่งกับพรรคพลังประชารัฐเลย ร้อยละ 21.56 ไม่ต้องเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ แต่ต้องคุมพรรคได้ ร้อยละ 16.33 ควรเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐแทน พล.อ.ประวิตร และร้อยละ 6.00 ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ค้านตั้งพรรค-แนะยุติบทบาท

ความเห็นต่อ พล.อ.ประยุทธ์ เกี่ยวกับการตั้งพรรคของตนเองเพื่อเตรียมเลือกตั้งสมัยหน้า ส่วนใหญ่ร้อยละ 58.24 ไม่เห็นด้วยเลย เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ บริหารงานล้มเหลว ขาดภาวะผู้นำ ไม่มีศักยภาพ ไม่สามารถแก้ปัญหาภายในประเทศได้ ทำให้ประชาชนเดือดร้อน ถึงเวลาที่ควรยุติบทบาททางการเมืองได้แล้ว ร้อยละ 19.97 เห็นด้วยอย่างยิ่ง เพราะพล.อ.ประยุทธ์ มีความสามารถในการบริหาร เด็ดขาด กล้าตัดสินใจ คาดจะดูแลสมาชิกพรรคได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ร้อยละ 10.10 ค่อนข้างเห็นด้วย เพราะพล.อ.ประยุทธ์ ทำให้ประชาชนเชื่อมั่นว่าประเทศชาติจะสงบสุข ร้อยละ 7.82 ไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะผลงานที่ผ่านมายังไม่ดีเท่าที่ควร การแก้ไขปัญหาล่าช้า ควรเปิดโอกาสให้บุคคลที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาบริหารงาน และร้อยละ 3.87 ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ยื่นยุบพท.-ปมถูกครอบงำ

นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพปชร. เผยว่า วันที่ 20 ก.ย.นี้ ตนจะส่งเอกสารทางไปรษณีย์ถึง กกต.ให้ตรวจสอบพรรคเพื่อไทย (พท.) หรือกก.บห.พรรค หรือบุคคลที่ถูกกล่าวอ้างถึงมีการควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำกิจกรรมของพรรค ในลักษณะทำให้พรรคหรือสมาชิกขาดอิสระ อันเข้าข่ายฝ่าฝืน พ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 28 หรือไม่ และต้องยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าต้องยุบ พท. ตามมาตรา 92 หรือไม่ รวมทั้งขอให้ กกต.พิจารณาว่าต้องดำเนินคดีอาญาตามความในมาตรา 29 ประกอบมาตรา 108 หรือไม่

สืบเนื่องจากนายศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ ส.ส.อุตรดิตถ์ พท. ให้สัมภาษณ์ 3 ก.ย. และ 6 ก.ย. โดยปรากฏมีภาพและคลิปชัดเจนระบุ “พรรคเพื่อไทยถูกนายทุนครอบงำ” และ “มีนายทุนคนใหม่มาครอบพรรค นายทุนคนนี้ชื่อย่อ พ.พาน” และ “ทราบว่านายกฯทักษิณ ชินวัตร พยายามช่วยให้ได้อภิปราย แต่ไม่เข้าใจว่านายทุนเหล่านี้ที่จะมาครอบงำพรรค จะมีอำนาจเหนือนายกฯทักษิณ ได้อย่างไร ถ้ารู้ ท่านคงไม่ให้ทำ” ซึ่งข้อเท็จจริงตามคำกล่าวอ้างที่ปรากฏในคลิปทั้งสองที่อ้างถึงนายทุนครอบงำพรรค เจ้าของพรรค นายทุน พ.พาน และอดีต นายกฯ ทักษิณ เป็นคลิปที่มีความชัดเจน ทั้งภาพและเสียง จึงมีเหตุที่ควรขอให้กกต. ตรวจสอบพรรคเรื่องดังกล่าวได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน