‘ลุ่มเจ้าพระยา’
ระวังน้ำล้นตลิ่ง

‘เตี้ยนหมู่’ เข้าไทยแล้ว เตือน กทม.-จังหวัดลุ่มเจ้าพระยาเตรียมรับน้ำล้นตลิ่งจากฤทธิ์พายุโซนร้อนขึ้นฝั่งเวียดนาม อ่อนกำลังเป็นดีเปรสชันเข้ามาด้านมุกดาหาร-อุบลฯ อุตุฯ เตือน 66 จังหวัด ฝนตกหนัก น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ปภ.แจ้ง 10 จังหวัดลุ่มเจ้าพระยารับฝน-น้ำล้นตลิ่ง ถึง 26 ก.ย. น้ำลงเหนือเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้น กรมชลประทานต้องปรับเพิ่มปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อน 2,000 ลบ.ม.ต่อวินาที ส่งผลให้ท้ายเขื่อนน้ำเพิ่มสูงขึ้น 1 เมตร เตือน 57 จังหวัดรับมือฝนถล่ม น้ำป่าไหลหลาก น้ำป่าถล่มซ้ำสบปราบ ลำปาง บ้านจมอีกกว่า 100 หลัง บำเหน็จณรงค์ ชัยภูมิ น้ำอ่างลำคันฉู บ่าทะลักกลางดึก ชาวบ้านอพยพหนีน้ำวุ่น ขอนแก่นเร่งพร่องน้ำชี-เชิญ รับมวลน้ำหนุนเพิ่ม

เมื่อเวลา 17.00 น. วันที่ 24 ก.ย.นาย ณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศว่า เวลา 13.00 น. พายุโซนร้อน “เตี้ยนหมู่” ได้อ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชันแล้วหลังขึ้นฝั่งที่ประเทศเวียดนาม โดยเวลา 16.00 น. มีศูนย์กลางอยู่บริเวณเมืองสะหวันนะเขต สปป.ลาว โดยอยู่ห่าง80 กิโลเมตรทางตะวันออกเฉียงใต้ของ อ.เมือง จ.มุกดาหาร หรือที่ละติจูด 16.5 องศาเหนือ ลองจิจูด 105.5 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลาง 55 ก.ม. ต่อชั่วโมง กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกค่อนทางเหนือเล็กน้อยอย่างช้าๆ คาดว่าจะเคลื่อนเข้าปกคลุมบริเวณจ.มุกดาหาร อุบลราชธานี และอำนาจเจริญ ในคืนวันเดียวกัน ส่งผลทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีฝนเพิ่มมากขึ้น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งกับมีลมแรงในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพ มหานครและปริมณฑล ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังผล กระทบจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลากไว้ด้วย

จังหวัดที่คาดว่าจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง มีดังนี้ วันที่ 24 ก.ย. ภาคเหนือ พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เลย หนองบัวลำภู หนองคาย อุดรธานี บึงกาฬ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ ยโสธร ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี, ภาคตะวันออก นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด

วันที่ 25 ก.ย. ภาคเหนือ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก กำแพงเพชร พิจิตร ตาก และเพชรบูรณ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เลย หนองบัวลำภู หนองคาย อุดรธานี ขอนแก่น ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ และสุรินทร์ ภาคกลาง นครสวรรค์ ลพบุรี อุทัยธานี ชัยนาท สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และนครปฐม รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด

ด้านกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) รายงานจากอิทธิพลร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย.-ปัจจุบัน ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในพื้นที่ 19 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ลําปาง ตาก สุโขทัย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ พิจิตร กําแพงเพชร ชัยภูมิ เลย นครราชสีมา ศรีสะเกษ ปราจีนบุรี สระแก้ว จันทบุรี พระนครศรีอยุธยา ราชบุรี และนครศรีธรรมราช รวม 65 อำเภอ 189 ตำบล 807 หมู่บ้าน 5 เขตเทศบาล ประชาชนได้รับผลกระทบ 18,436 ครัวเรือน สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 14 จังหวัด เหลือ 5 จังหวัดที่ยังมีน้ำท่วมขัง และเร่งระบายน้ำ ดังนี้

1.พิจิตร 5 อำเภอ ได้แก่ อ.บึงนาราง อ.โพธิ์ประทับช้าง อ.โพทะเล อ.สามง่าม และ อ.ดงเจริญ 2.ชัยภูมิ 5 อำเภอ อ.หนองบัวระเหว อ.จัตุรัส อ.เมืองชัยภูมิ อ.เนินสง่า และ อ.บ้านเขว้า 3.นครราชสีมา 5 อำเภออ.ด่านขุนทด อ.สูงเนิน อ.โนนสูง อ.เมือง และ อ.พิมาย เร่งระบายน้ำที่ไหลมาจากอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร 4.พระนครศรีอยุธยา เกิดน้ำเจ้าพระยาเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมในพื้นที่ 3 อำเภอได้แก่ อ.ผักไห่ อ.เสนา และ อ.บางบาล มีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน้อย และคลองโผงเผงซึ่งอยู่นอกคันกั้นน้ำ และ 5.สุโขทัย 4 อำเภอ อ.เมืองสุโขทัย อ.ศรีสำโรง อ.ศรีสัชนาลัย และ อ.คีรีมาศ ภาพรวมสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย ระดับน้ำลดลง

ปภ.รายงานด้วยว่า จากการติดตามสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่าพายุโซนร้อน “เตี้ยนหมู่” จึงได้ประสาน 57 จังหวัดภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัย เตรียมพร้อมรับมือฝนตกหนักและเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากในช่วงวันที่ 24-25 ก.ย. โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ และเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยตลอด 24 ชั่วโมง

นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีปภ. ในฐานะผอ.กอปภ.ก. กล่าวว่า จากการติดตามสถานการณ์น้ำกับกรมชลประทาน พบว่าในห้วงเวลาที่ผ่านมาประเทศไทยมีฝนตกสะสม และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ และคาดการณ์ว่าจะมีฝนตกหนักต่อเนื่องในช่วงวันที่ 24-26 ก.ย. ส่งผลให้มีน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำเจ้าพระยาไหลลงเหนือเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มมากขึ้น กรมชลประทานจำเป็นต้องปรับเพิ่มปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาไม่เกิน 2,000 ลบ.ม.ต่อวินาที จะส่งผลให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมประมาณ 1 เมตร ระหว่างวันที่ 24-26 ก.ย.

ปภ.จึงได้ประสาน 10 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้แก่ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี ปทุมธานี นนทบุรี และสมุทรปราการ รวมถึงกรุงเทพฯ ตลอดจนศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัย เตรียมพร้อมรับสถานการณ์น้ำเอ่อล้นตลิ่งจากระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามข้อมูลการระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยาอย่างใกล้ชิด และประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บริษัท ห้างร้านที่ประกอบกิจการในแม่น้ำเจ้าพระยา เช่น งานก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง แพร้านอาหารริมน้ำ แพเรือโดยสารสาธารณะ และประชาชนที่อาศัยอยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ให้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา และประกาศเตือนภัยจากหน่วยงานราชการอย่างใกล้ชิด รวมถึงเตรียมพร้อมในการขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูงให้พ้นจากแนวน้ำท่วม และระมัดระวังอันตรายจากการสัญจรทางน้ำ

ด้านนายสิธิชัย จินดาหลวง ผวจ.แม่ฮ่องสอน เตือนภัยพายุโซนร้อนเตี้ยนหมู่ ให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ราบลุ่มเชิงเขา และบริเวณใกล้ลำห้วยและที่ติดแม่น้ำสายต่างๆ ระมัดระวังและพร้อมรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว โดยเร็ว และให้ราษฎรย้ายทรัพย์สินขึ้นไปอยู่บนที่สูง เตรียมอพยพสัตว์เลี้ยง และสั่งให้องค์กรปกครองส่วน ท้องถิ่นทุกแห่ง ให้เตรียมพร้อมรับสถานการณ์ฉุกเฉินและเตรียมการช่วยเหลือประชาชน เมื่อเกิดเหตุอุทกภัยในทันที

ที่อ.สบปราบ จ.ลำปาง มีฝนตกตั้งแต่เวลา 04.00 น. จนถึงเช้า ส่งผลให้น้ำในลำห้วยสมัยที่ผ่านหมู่บ้าน เพิ่มปริมาณสูงขึ้นรวดเร็ว หลากเข้าท่วมบ้านเรือน ที่บ้านทุ่งพัฒนา หมู่ 9 และบ้านทุ่งรวงทอง หมู่ 12 ต.สบปราบ เสียหายกว่า 100 หลัง เร่งสูบน้ำท่วมขัง หลังจากเกิดน้ำท่วมหนักไปครั้งหนึ่ง ที่วัดบ้านทุ่ง และโรงเรียนบ้านทุ่ง บางจุดน้ำท่วมสูงกว่า 1.5 เมตร และไหลเชี่ยว ทำให้ชาวบ้านและเด็กนักเรียนไม่สามารถออกมาได้ เจ้าหน้าที่สมาคมกู้ภัยลำปาง จุดสบปราบ ต้องนำเรือท้องแบนเข้าไปรับเด็กๆ และชาวบ้านออกมา

ด้านจ.ตาก ฝนที่ตกหนักต่อเนื่องมาข้ามคืน ครอบคลุมพื้นที่ 4 อำเภอฝั่งตะวันออก ได้แก่ อ.เมือง วังเจ้า บ้านตาก และสามเงา ส่งผลให้มีน้ำท่วมขังรอระบายในพื้นที่ชุมชน และแหล่งกักเก็บน้ำหลายแห่ง มีระดับน้ำ เกินขีดความสามารถในการกักเก็บ ผู้นำชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้ประกาศเตือนประชาชนที่อยู่ติดทางน้ำ หรือที่ลุ่มต่ำ ให้ขนย้ายสิ่งของ และสัตว์เลี้ยงไปไว้ในที่ปลอดภัย

ขณะที่อ.บ้านตาก สะพานกาดต้าตง ซึ่งเป็นสะพานไม้ไผ่ ทอดยาวเชื่อมบริเวณกาดต้าตง สถานที่ท่องเที่ยวชุมชนอนุรักษ์ และเกาะกลางแม่น้ำปิง ที่เป็นสวนสาธารณะ สะพานถูกน้ำปิงที่ไหลเชี่ยวกราก พัดพังหายไปกับกระแสน้ำ

ที่จ.นครสวรรค์ แม่น้ำเจ้าพระยาได้เอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมในพื้นที่หมู่ 2 หมู่ 3 ต.ตะเคียนเลื่อน อ.เมือง จ.นครสวรรค์ ซึ่งเป็นพื้นลุ่มต่ำที่ชาวบ้านปลูกกล้วยไข่ กล้วยหอม ส่งออกนอกจำนวนมากได้รับผลกระทบ น้ำที่ท่วมสร้างความเสียหายให้สวนกล้วยไข่แล้วจำนวนหลายร้อยไร่ ขณะที่น้ำป่าจากเทือกเขาแม่วงก์ ที่รับน้ำจากอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ไหลมาตามคลองสาขาทะลักท่วมบ้านเรือนประชาชน ชุมชนห้วยยาง ต.ลาดยาว อ.ลาดยาว หลายสิบหลังคาเรือน ระดับน้ำสูง 20-50 ซ.ม. ชาวบ้านต้องเร่งนำกระสอบทรายช่วยกันทำแนวกั้นน้ำไม่ให้ไหลเข้าท่วมภายในบ้าน เร่งติดตั้งเครื่องสูบน้ำระบายน้ำออก หลังจากฝนตกทั้งคืน ทำให้น้ำล้นคลองขุนราษฎร์ ที่ไหลผ่านหมู่บ้านล้นตลิ่งเข้าท่วมชุมชน

ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ของจ.นครราชสีมา ยังไม่คลี่คลาย น้ำจากลำเชียงไกร ในพื้นที่อ.โนนสูง จังหวัดนครราชสีมา เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จนเอ่อล้นตลิ่งไหลเข้าท่วม ถนนคอนกรีตทางเข้าหมู่บ้าน บ้านคล้า (โนนจาน) หมู่ 6 ต.เมืองปราสาท ระดับน้ำท่วมสูง 30-40 ซ.ม. ระยะทางยาว 200 เมตร รถเล็กสัญจรผ่านไปมาลำบาก เช่นเดียวกันกับถนนเชื่อมต่อระหว่าง ต.เมืองปราสาท และต.จันอัด น้ำท่วมถนนลาดยางเป็นระยะทางยาว และน้ำได้ไหลเข้าท่วมนาข้าวที่กำลังเจริญเติบโตได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก ขณะที่อ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร ตอนล่าง ในอ.โนนไทย ได้เร่งระบายน้ำออกอย่าง ต่อเนื่อง ทำให้มวลน้ำทั้งหมดได้ไหลเข้ามาในพื้นที่อ.โนนสูง ส่งผลทำให้น้ำท่วมบ้านเรือนหลายหมู่บ้านที่อยู่ติดกับลำน้ำ ด้านอำเภอโนนสูง เตรียมพร้อมตั้งกองอำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยน้ำท่วมในพื้นที่แล้ว

ด้านการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้รายงานสถานะความจุอ่างของเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น หลังตลอดทั้ง ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้พื้นที่ จ.ขอนแก่นและในกลุ่มจังหวัดภาคอีสานตอนกลางมีฝนตกลงมาอย่างหนักอย่างต่อเนื่อง โดยปริมาณน้ำล่าสุดอยู่ที่ 1,196 ล้านลูกบาศก์เมตร (ล้านลบ.ม.) หรือร้อยละ 49 ของความจุอ่าง ขณะที่มีปริมาณน้ำไหลเข้าอยู่ที่วันละ 37 ล้านลบ.ม. และมีการระบายน้ำออก อยู่ที่วันละ 1 ล้านลบ.ม. ตามแผนบริหารจัดการน้ำที่คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำ จ.ขอนแก่นกำหนด

นายเกียรติศักดิ์ หนูแก้ว ผอ.สำนักงานชลประทานที่ 6 กล่าวว่า ได้สั่งการให้โครงการชลประทานขอนแก่น และส่วนเครื่องกล สำนักงานชลประทานที่ 6 เดินเครื่องสูบน้ำขนาด 8 นิ้ว และ 12 นิ้ว ในเขตเมืองขอนแก่นจำนวน 6 จุดพร้อมกัน เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการเตรียมรับมืออุทกภัยในเขตเทศบาลนครขอนแก่น ในช่วงนี้ที่มีฝนตกชุก ซึ่งทั้ง 6 เครื่องสามารถใช้งานได้ตามปกติ สามารถเดินเครื่องสูบระบายน้ำได้ทันทีหากเกิดน้ำท่วมขัง

ที่สถานีสูบน้ำพลังงานไฟฟ้าเทศบาลตำบลบ้านเป็ด บึงหนองโคตร นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผวจ.ขอนแก่น ได้ลงตรวจสอบการติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 30 นิ้ว หลังจากที่สำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 4 ได้นำมาติดตั้ง เพื่อช่วยพร่องน้ำออกจากบึงหนองโคตร หลังปริมาณน้ำใกล้เต็มตลิ่งเพื่อเป็นการรองรับน้ำ ที่จะได้ผลกระทบจากพายุโซนร้อน “เตี้ยนหมู่”

นายสมศักดิ์กล่าวว่า ขณะนี้บึงหนองโคตรได้มีเครื่องสูบน้ำมาช่วยสูบน้ำมากถึง 7 เครื่อง เพื่อพร่องน้ำลงสู่คลองล่องเหมือง ก่อนที่น้ำจะไหลผ่านบึงทุ่งสร้าง และไหลลงสู่ลำห้วยพระคือ คาดว่าจะพร่องน้ำได้มากถึงวันละ 3 แสนลบ.ม. จะทำให้มีพื้นที่รองรับน้ำก่อนที่พายุเตี้ยนหมู่ จะส่งผลกระทบกับจ.ขอนแก่น ในสุดสัปดาห์นี้ ขณะที่เขื่อนจุฬาภรณ์ มี ความจุน้ำ 82% และได้ระบายน้ำจะทำให้ น้ำไหลมาเข้าสู่ลำน้ำเชิญ ก่อนจะไหลลงเขื่อนอุบลรัตน์ จะต้องมาดูว่ามีมวลน้ำเข้ามา เพิ่มหรือไม่ เพราะอาจจะทำให้เกิดปัญหา น้ำท่วมได้

นายสมศักดิ์กล่าวว่า จากพายุฝนที่ตกลงมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้การจับตามวลน้ำในเขต จ.ขอนแก่น ต้องดูไปที่ 2 เส้นทางน้ำหลักที่สำคัญคือที่เขื่อนจุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ ที่มี ระดับน้ำที่เกินความจุอ่างทำให้ต้องระบายน้ำมาตามลำน้ำชี ที่ทำให้ขณะนี้ปริมาณน้ำในแม่น้ำชีในเขตรอยต่อขอนแก่น-ชัยภูมิ มีปริมาณน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นแล้ว รวมทั้งปริมาณน้ำจากฝนที่ตกลงมาทำให้บางพื้นที่มีน้ำท่วมขัง เช่นเดียวกันกับมวลน้ำตามลำน้ำพรม-เชิญ ที่ระบายสู่เขื่อนอุบลรัตน์ ผ่าน อ.หนองเรือ นั้นคาดว่าอีกประมาณ 3 วัน มวลน้ำจะไหลลงสู่เขื่อนอุบลรัตน์ ทำให้ในระยะนี้นอกจากมวลน้ำที่มีการระบายตามแผนบริหารจัดการน้ำที่จะส่งผลต่อการทำให้ลุ่มน้ำต่างๆ โดยเฉพาะแม่น้ำชีและแม่น้ำพรม-เชิญ มีระดับน้ำที่สูงขึ้นแล้ว ยังคงมีปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาทำให้เกิดน้ำขังรอการระบายในหลายจุดเช่นกัน

ที่จ.ชัยภูมิ น้ำล้นสันอ่างลำคันฉู อ.บำเหน็จณรงค์ ไหลลงสู่พื้นที่ท้ายอ่างส่งผลให้น้ำล้นตลิ่งทะลักเข้าท่วมพืชผลทางการเกษตรของชาวบ้าน และบ้านเรือนของราษฎรที่อยู่ตามพื้นที่ต่ำ ต.โคกเพชร ตั้งแต่กลางดึกจนถึงตอนเช้า มวลน้ำป่าที่ไหลลงสู่ลำห้วย คันฉู และลำห้วยทราย อ.บำเหน็จณรงค์ ได้ไหลทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎร และพื้นที่การเกษตรถูกน้ำท่วมจำนวนมากพื้นที่มากกว่า 5 พันไร่ ท่วมบ้านในพื้นที่ต.บ้านเพชร หมู่บ้านหนองแวงพัฒนา หมู่ 14 บ้านหนองแวงรุ่งอรุณ บ้านตลาดคำปิง หมู่ 23 บ้านเพชรสำโรง หมู่ 17 กว่า 74 หลังคาเรือน มีระดับน้ำท่วมสูงตั้งแต่ 50 ซ.ม.จนถึง 2 เมตร หลายครอบครัวตื่นเช้ามาจึงรู้ว่าน้ำท่วม ได้ขอทรายและกระสอบถุงปุ๋ย จาก อบต.บ้านเพชร ไปปิดกั้นทางน้ำไม่ให้น้ำไหลท่วมบ้าน ขณะที่ยังคงมีน้ำล้นอย่างต่อเนื่อง

ปภ.จ.ชัยภูมิ แจ้งว่า มีพื้นที่ถูกน้ำท่วมแล้วใน 8 อำเภอ ตั้งแต่พื้นที่ อ.บำเหน็จณรงค์ เทพสถิต จัตุรัส หนองบัวระเหว บ้านเขว้า เนิ่นสง่า เมือง และเกษตรสมบูรณ์ โดยอยู่ระหว่างการสำรวจ ซึ่งจะได้ออกประกาศเป็นเขตภัยภิบัติน้ำท่วมในวันที่ 27 ก.ย. ต่อไป

ด้านจ.สิงห์บุรี ที่อ.เมือง และอ.อินทร์บุรี พบว่า ขณะนี้ ทางองค์กรปกครองส่วนทางถิ่นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเทศบาลเมืองสิงห์บุรี เทศบาลตำบลอินทร์บุรี ได้เตรียมการสูบน้ำ วางกระสอบทราย ตรงบริเวณใต้สะพานบางแคใน จนท.เทศบาลเมืองสิงห์บุรี ร่วมกันตักทรายกันอย่างขะมักเขม้น โดยนายณรงค์ศักดิ์ วิงวอน นายกเทศมนตรีเมืองสิงห์บุรี กล่าวว่า ต้องรีบทำแนวกั้นน้ำเพื่อป้องกัน ไม่ให้น้ำเข้าสู่แหล่งเศรษฐกิจก่อน

ที่อ.อินทร์บุรี ที่น่าเป็นห่วงคือชุมชนบ้านเกาะบางพระนอน ที่มีบ้านเรือนอยู่ประมาณ 30 หลังคาเรือน มีประชากรประมาณ 90 คน ตั้งอยู่ในพื้นที่ หมู่ 1 ต.ทับยา อ.อินทร์บุรี ซึ่งเป็นชุมชนที่ตั้งอยู่บนเนินดินขนาดใหญ่คล้ายกับเกาะกลางแม่น้ำเจ้าพระยา อยู่นอกแนวเขื่อนกั้นแม่น้ำ ผู้สื่อข่าวสอบถามไปยังนายเชนทร์ คนชาน ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 1 ต.ทับยา แจ้งว่า บ้านเกาะมักได้รับผลกระทบอุทกภัยในช่วงฤดูน้ำหลากมาโดยตลอด ถ้าน้ำถูกปล่อยมาเกิน 2,000 ลบ.ม./วินาที จะขนของขึ้นที่สูงทันที

ที่ริมคลองโผงเผง ต.โผงเผง อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง พบว่าน้ำในคลองเอ่อล้นตลิ่งไหลเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน ริมคลองนอกพนังกันน้ำ หมู่ 1 และหมู่ 2 น้ำล้นเข้าใต้ถุนบ้าน ชาวบ้านต้องเร่งเก็บข้าวของในเพิงพักที่มีน้ำเอ่อล้นเข้าท่วมสูงกว่า 1 เมตร และยังมีระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยขนย้ายของจากที่เพิงพักริมตลิ่งขึ้นไปไว้บนแพ เบื้องต้นมีบ้านเรือนได้รับผลกระทบน้ำไหลเข้าท่วมบริเวณใต้ถุนบ้านแล้ว 6 หลังคาเรือน ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ได้ประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องประชาชนที่อาศัยอยู่ริมคลองโผงเผง ขนย้ายข้าวของขึ้นไว้ที่สูง เนื่องจากเขื่อนเจ้าพระยามีการระบายน้ำเพิ่มขึ้นสูง 2,000 ลบ.ม.ต่อวินาที ส่งผลทำให้น้ำในคลองโผงเผง ซึ่งเป็นสาขาแม่น้ำเจ้าพระยามีระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนระดับน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ไหลผ่านจังหวัดอ่างทอง เมื่อเวลา 16.00 น. วันเดียวกัน อยู่ที่ระดับ 7.15 เมตร จากระดับตลิ่ง 10 เมตร มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,846 ลบ.ม.ต่อวินาที

ล้นโผงเผง – น้ำในคลองโผงเผง อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง ล้น ตลิ่งท่วมบ้านนอกแนวพนังกันน้ำ ล่าสุดปภ. ประกาศเตือน 10 จังหวัด ลุ่มเจ้าพระยา รับมือน้ำสูง เพิ่มอีก 1 เมตร เหตุเขื่อน เจ้าพระยาต้องระบายน้ำ รับฝน เมื่อวันที่ 24 ก.ย.

ถนนขาด – ถนนภายในหมู่บ้าน บ้านหลุง ม.1 ต.สระจรเข้ อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา ถูกน้ำกัดเซาะพังเสียหายตัดขาดเส้นทางสัญจรชาวบ้านในพื้นที่ หลังเกิดฝนตกหนักต่อเนื่อง เจ้าหน้าที่เร่งให้ความช่วยเหลือ เมื่อวันที่ 24 ก.ย.

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน