‘เตี้ยนหมู่’ถล่มอีสาน
ซัดรางรถไฟพัง-ขาด

พายุ ‘เตี้ยนหมู่’ ยังพ่นพิษแม้อ่อนกำลังกลายเป็นหย่อมความกดอากาศแล้ว กรมอุตุฯ เตือนจังหวัดภาคเหนือ-กลาง-อีสานอ่วม มีฝนถล่มหลายวัน บางพื้นที่น้ำป่าไหลหลาก สุโขทัยเจอหนักสุด บ้าน ‘สมศักดิ์ เทพสุทิน’ และน้องสาวน้ำท่วมต้องเดินลุยจนเป็นตะคริว ถนนหลายสายเป็นอัมพาต ‘บิ๊กป้อม’สั่งทุกหน่วยงานระดมช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัยนับหมื่นครัวเรือน ยายเศร้าหลานสาววัย 9 ขวบถูกกระแสน้ำพัดหายต่อหน้า เขื่อนเจ้าพระยาเร่งปล่อยน้ำ เตือนพื้นที่ลุ่มต่ำภาคกลางใต้เขื่อนรับมือยกของขึ้นสูง

เปิดทางน้ำ – ปภ.จังหวัดนครราชสีมา นำรถแบ๊กโฮขุดทำลายเกาะกลางถนน ทางหลวง 205 ถ.สุรนารายณ์ บ้าน มาบกราด อ.พระทองคำ เพื่อเปิดทางให้น้ำไหลผ่าน ขณะที่ถนนหลายสายก็ถูกน้ำท่วม เพราะพายุเตี้ยนหมู่ถล่ม เมื่อ 25 ก.ย.

อุตุฯเตือนอันตราย‘เตี้ยนหมู่’

เวลา 05.00 น. วันที่ 25 ก.ย. กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศเตือน “พายุดีเปรสชัน เตี้ยนหมู่” ฉบับที่ 8 ระบุว่า เมื่อเวลา 05.00 น. ของวันเดียวกันนี้พายุดีเปรสชัน “เตี้ยนหมู่” ได้อ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงที่บริเวณ จ.ขอนแก่นแล้ว ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนยังคงมีฝนหลายพื้นที่

โดยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งกับมีลมแรงในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลากไว้ด้วย

สำหรับจังหวัดที่คาดว่าจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง มีดังนี้ ภาคเหนือ : จ.อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก กำแพงเพชร พิจิตร ตาก และเพชรบูรณ์

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จ.เลย ขอนแก่น ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ และสุรินทร์ ภาคกลาง : จ.นครสวรรค์ ลพบุรี อุทัยธานี ชัยนาท สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และนครปฐม รวมทั้งกทม.และปริมณฑล ภาคตะวันออก : จ.นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด รวมทั้งหมด 42 จังหวัด

อนึ่ง ในช่วงวันที่ 25-26 ก.ย. หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงที่อ่อนกำลังลงจากพายุดีเปรสชัน “เตี้ยนหมู่” บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะเคลื่อนตัวเข้าสู่แนวร่องมรสุมที่พาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออก ลักษณะ เช่นนี้ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักถึงหนักมากเกิดขึ้นได้

‘ป้อม’สั่งด่วนเร่งเยียวยาช่วยเหลือ

พล.ต.พัชร์ชศักดิ์ ปฏิรูปานนท์ ผู้ช่วยโฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) มีคำสั่งด่วนไปยังกอนช., กองทัพ, มหาดไทย และกทม. เร่งให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากพายุ เตี้ยนหมู่ ซึ่งเป็นพายุดีเปรสชัน ตามประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา และได้เข้าสู่ประเทศ ไทยเมื่อวันที่ 24 ก.ย. ซึ่งในวันนี้ อ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำ กำลังแรง บริเวณจ.ขอนแก่นแล้ว ลักษณะเช่นนี้จะทำให้มีฝนตกหนัก ถึงหนักมากบางแห่ง โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก รวมถึงพื้นที่ใน กทม.และปริมณฑล

ทั้งนี้ พล.อ.ประวิตรมีความห่วงใยสถานการณ์ดังกล่าว และได้กำชับไปก่อนหน้านั้นแล้ว ซึ่งในวันนี้ได้สั่งการเพิ่มเติม ไปยังกรมชลประทาน และหน่วยงานอื่นๆ ที่รับผิดชอบอีกครั้ง ให้เร่งบริหารจัดการการระบายน้ำ และช่วยเหลือเยียวยาประชาชน เกษตรกรอย่างเต็มที่ พร้อมให้ระดมสรรพกำลัง, เครื่องมือ, เครื่องจักรกลและยานพาหนะ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบให้ทั่วถึง ทั้งการดำเนินชีวิต การสัญจรและการประกอบอาชีพ ให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุด พร้อมทั้งให้เฝ้าระวัง และแจ้งเตือนพื้นที่เสี่ยงอื่นๆ อย่างใกล้ชิด โดยให้กอนช. มีการรายงานความคืบหน้าของสถานการณ์น้ำหลาก น้ำท่วม ดินโคลนถล่ม และผลกระทบให้ทราบเป็นระยะด้วย

9 ขวบจมน้ำหายต่อหน้ายาย

ที่ จ.สระแก้ว ศูนย์วิทยุกู้ภัยอรัญประเทศ รับแจ้งจากศูนย์นเรนทรสระแก้ว 1669 มีบุคคลสูญหายทางน้ำ 2 ราย บริเวณฝายน้ำล้น บ้านหนองบัวใต้ ต.หันทราย อ.อรัญประเทศ จึงสั่งการให้ อาสามูลนิธิกู้ภัยอรัญประเทศ ประสานไปยัง สภ.อรัญประเทศ แล้วรุดไปตรวจสอบที่เกิดเหตุ พร้อมด้วยชุดปฏิบัติการทางน้ำมูลนิธิกู้ภัยอรัญประเทศ ในที่เกิดเหตุเป็นฝายน้ำล้น มีกระแสน้ำไหลแรงมาก

เนื่องจากเกิดฝนตกต่อเนื่องหลายวัน พบผู้ประสบภัยหญิง 1 ราย ถูกน้ำพัดไปติดที่ต้นไม้กลางฝาย จึงช่วยเหลือขึ้นมาได้อย่างปลอดภัย ชื่อนางรำจวญ ซาพู อายุ 54 อยู่บ้านเลขที่ 31 ม.8 ต.หันทราย อ.อรัญประเทศ และยังมีเด็กหญิงวัย 9 ขวบ อีก 1 ราย ถูกน้ำพัดไปอย่างรวดเร็ว ชุดปฏิบัติการทางน้ำมูลนิธิกู้ภัยอรัญประเทศใช้เวลาค้นหากว่า 4 ช.ม. จึงพบศพจมน้ำอยู่กลางลำน้ำห่างจากจุดเกิดเหตุกว่า 100 ม. ชื่อด.ญ.อินทรา ดิษฐ์ประศักดิ์ อยู่บ้านเลขที่ 85 ม.7 ต.ผักขะ อ.วัฒนานคร

จากการสอบถามทราบว่า เด็กหญิงมาเล่นที่ฝายน้ำล้นกับยายและญาติๆ อีก 2 คน ต่อมายายรู้สึกร้อน จึงไปที่ริมฝายน้ำล้นเพื่อนำน้ำมากวักใส่ตัวคลายร้อน โดยมีหลานเดินตามมาด้วย ทันใดนั้นกระแสน้ำที่ไหลแรงพัดหลานลงฝายไปอย่างรวดเร็ว ญาติๆ จึงกระโดดตามไปช่วย แต่ไม่สามารถคว้าตัวไว้ได้ ทำให้หลานจมน้ำเสียชีวิต โดยทั้งยายและญาติติดที่กอไม้กลางฝาย ก่อนที่กู้ภัยจะมาช่วยเหลือไว้ได้อย่างปลอดภัย

น้ำท่วมราง – รฟท.แจ้งเปลี่ยนเส้นทางเดินรถไฟสายอีสาน (สายหนองคาย) หลังทางรถไฟช่วง สทล.352/13-14 ระหว่างสถานีบ้านเหลื่อม-หนองพลวง จ.นครราชสีมา เสียหายหนักจากน้ำท่วม ต้องหยุดเดินรถ 2 ขบวน เมื่อวันที่ 25 ก.ย.

โคราชวิกฤต‘7อ.’เสี่ยงน้ำทะลัก

ที่ จ.นครราชสีมา นายกฤษฎิ์ พูนเกษม หัวหน้าสำนักงาน ปภ.จังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วยกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่สำรวจความเสียหายจาก น้ำท่วมในหมู่บ้านต่างๆ ในต.สระจระเข้ อ.ด่านขุนทด ภายหลังได้เกิดน้ำที่ไหลจากอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรตอนบน กัดเซาะถนนและคันดินขาด จนทำให้น้ำไหลเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎร 211 หลังคาเรือน ใน 5 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ 1, 2, 3, 7, 12 ประชาชนได้รับความเดือดร้อนเป็นวงกว้าง ขณะนี้ได้ประสานสำนักงานพัฒนาภาค 5 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา ให้นำกระสอบทรายบิ๊กแบ๊กมาปิดกั้นถนนและคันดินที่ถูกน้ำกัดเซาะขาด ไม่ให้น้ำไหลเข้าท่วมหมู่บ้าน โดยจะดำเนินการให้เสร็จภายในวันนี้

ด้านนายกรกต ธำรงวงศ์สวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ทำหนังสือถึงหัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ 7 อำเภอ เพื่อเฝ้าระวังและป้องกันน้ำท่วมบ้านเรือนราษฎร ภายหลังจากที่ได้รับผลกระทบจากพายุโซนร้อน “เตี้ยนหมู่” ส่งผลให้อ่างเก็บน้ำขนาดกลางมีปริมาณน้ำเกินความจุเต็มอ่างแล้ว 8 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรตอนบน อ.ด่านขุนทด, อ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรตอนล่าง อ.โนนไทย, อ่างเก็บน้ำหนองกก อ.พระทองคำ, อ่างเก็บน้ำลำฉมวก อ.ห้วยแถลง, อ่างเก็บน้ำบ้านสันกำแพง อ่างเก็บน้ำบะอีแตน อ่างเก็บน้ำลำเชียงสา อ.วังน้ำเขียว, อ่างเก็บน้ำห้วยเพลียก อ.ครบุรี และอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 2 แห่งมีปริมาณน้ำเพิ่มสูงขึ้นเกือบเต็มความจุ ได้แก่ อ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง อ.ปักธงชัย (80%) และอ่างเก็บน้ำมูลบน อ.ครบุรี (87%)

โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 2 แห่ง ที่ขณะนี้มีปริมาณน้ำกักเก็บเกินความจุ 100% แล้ว ประกอบไปด้วย อ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรตอนบน อ.ด่านขุนทด มีปริมาณน้ำ 10 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) คิดเป็นร้อยละ 119 ของความจุกักเก็บทั้งหมด 8.40 ล้านลบ.ม. ทำให้มีน้ำล้นสปิลเวย์ 78.66 ลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งจะไหลไปสมทบกับอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรตอนล่าง อ.โนนไทย ที่ปัจจุบันมีความจุน้ำเกินระดับกักเก็บที่ 126.50% หรือ 35.040 ล้านลบ.ม.

จึงต้องเร่งระบายน้ำออกจากอ่างวันละ 60 ล้านลบ.ม. ลงสู่ลำน้ำสาขา ซึ่งจะ ส่งผลให้ปริมาณน้ำในลำน้ำลำเชียงไกร เพิ่มสูงขึ้นจนล้นตลิ่งท่วมบ้านเรือนราษฎรในพื้นที่ 6 อำเภอ ประกอบไปด้วย อ.ด่านขุนทด อ.โนนไทย อ.พระทองคำ อ.โนนสูง และ อ.เมืองนครราชสีมา จึงแจ้งเตือนให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ริมน้ำชำเชียงไกร เก็บทรัพย์สิน สิ่งของมีค่าต่างๆ ขึ้นที่สูง และเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด

ชัยนาทน้ำล้นอ่างท่วมบ้าน-ไร่นา

ที่ จ.ชัยนาท มวลน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยหนองโรง อ.เนินขาม ไหลทะลักเข้าท่วม บ้านเรือน พืชสวนไร่-นาของชาวบ้านได้รับความเสียหายเป็นวงกว้าง และมวลน้ำยังไหลเข้าท่วมชุมชนวัดเนินขาม ชาวบ้านสัญจรด้วยความยากลำบาก ด้านนายอดิสร เกิดโต นายอำเภอเนินขาม สั่งการหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สำรวจความเสียหาย และช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนทันที พร้อมยังต้องเฝ้าจับตาสถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำห้วยหนองโรงตลอด 24 ช.ม.

โดยถนนทุกสายในตลาดเนินขามมีน้ำขังเหมือนเป็นลำคลอง และที่บริเวณทางเลี่ยงเมือง ถนนบ้านห้วย-รังกระโดน บริเวณหมู่ 14 ต.เนินขาม เป็นอีกจุดหนึ่งที่มีน้ำท่วมถนนแบบน้ำไหลผ่าน มีชาวบ้านและเด็กๆ เล่นน้ำกันอย่างสนุกสนาน มีน้ำดื่มและขนมไปนั่งกินเหมือนอยู่ในสถานที่ท่องเที่ยว นั่งแช่น้ำดูน้ำที่ไหลผ่านถนนลงทุ่งนา คล้ายน้ำตกย่อมๆ

นายอดิศรกล่าวว่า มีน้ำท่วมขังในพื้นที่เนื่องจากอ่างเก็บน้ำห้วยหนองโรงมีน้ำเกินปริมาณเก็บกักจึงต้องระบายออก โดยตั้งแต่วันที่ 19-21 ก.ย. มีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง ทำให้น้ำไหลหลากจาก อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี ซึ่งเป็นพื้นที่ติดต่อกัน ไหลลงอ่างเก็บน้ำห้วยหนองโรงกว่า 5 ล้านลบ.ม. ขณะที่มีน้ำอยู่ที่ในอ่างแล้ว 10 ล้านลบ.ม. แต่ความจุอ่างเก็บน้ำอยู่ที่ 14.80 ล้านลบ.ม. ส่งผลให้น้ำเกินความจุอ่างฯ จึงระบายน้ำออกจากอ่างเก็บน้ำห้วยหนองโรงให้เหลือ 11 ล้านลบ.ม. ทำให้น้ำท่วมบ้านเรือน และพื้นที่เกษตร ทั้งไร่อ้อย มันสำปะหลัง และนาข้าว เมื่อวันที่ 23 ก.ย. โดยเฉพาะใน ต.สุขเดือนห้า ต.กะบกเตี้ย และ ต.เนินขาม ประกอบกับปริมาณฝนในพื้นที่ตกหนักด้วย คาดว่าหากไม่มีฝนตกมาเพิ่มเติม น้ำจะลดลงใน 2-3 วัน

เขื่อนเจ้าพระยาเร่งระบายน้ำ

นายกฤษฎา ศรีเพิ่มพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 12 เผยว่า น้ำจากทางด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยามีปริมาณเพิ่มขึ้น โดยที่สถานีวัดน้ำ C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน อยู่ที่ 2,200 ลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งมวลน้ำดังกล่าวเป็นน้ำท่าที่เกิดจากฝนตกและไหลลงมาจากตอนบน ประกอบกับในช่วงเวลานี้มีพายุเข้าทางพื้นที่ภาคอีสาน รวมทั้งร่องความกดอากาศต่ำที่พาดผ่านภาคกลางอยู่ จึงทำให้น้ำจากสถานีวัดน้ำ C.2 ไหลลงมาสู่เขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันเขื่อนเจ้าพระยามีการระบายน้ำอยู่ที่ 2,100 ลบ.ม.ต่อวินาที

นอกจากนี้ยังมีการผันน้ำเข้าสู่ระบบชลประทาน ทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาได้เต็มศักยภาพในส่วนหนึ่ง อีกทั้งยังเป็นการควบคุมการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาไม่ให้สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว คาดการณ์ว่าน้ำทางด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยาที่ยังมีอยู่จะไหลมาที่สถานีวัดน้ำ C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ ในอีก 2 วันข้างหน้า ซึ่งสถานีวัดน้ำ C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ จะมีน้ำสูงสุดอยู่ที่ 2,400 ลบ.ม. และจะมีมวลน้ำจากแม่น้ำสะแกกรังที่ จ.อุทัยธานี ไหลลงมาสมทบและรวมกันที่หน้าเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้น ทำให้เขื่อนเจ้าพระยามีการระบายน้ำเพิ่มขึ้นอีก และจะควบคุมการระบายน้ำอยู่ที่ 2,400 ลบ.ม.ต่อวินาที

ตัวเมืองชัยภูมิจมบาดาล

ที่ จ.ชัยภูมิ จากอิทธิพลของดีเปรสชัน เตี้ยน หมู่ ทำให้เกิดฝนตกหนักใน จ.ชัยภูมิเป็นบริเวณกว้าง ส่งผลให้มีระดับน้ำขังในเขตเทศบาลเมืองชัยภูมิจำนวนมาก รวมถึงที่มวลน้ำจากห้วยยางบ่า ต.โคกสูง อ.เมืองชัยภูมิ มีปริมาณน้ำจำนวนมากไหลผ่านตัวเมืองเข้าสมทบทำให้ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นสูงอย่างต่อเนื่อง ทางเจ้าหน้าที่เทศบาลเมือง และตำรวจจราจร สภ.เมืองชัยภูมิ จึงเร่งทำป้ายสัญญาณบอกห้ามรถเล็กสัญจรผ่านในตัวเทศบาลเมืองชัยภูมิ ขณะที่น้ำในแม่น้ำชีที่บ้านค่าย อ.เมืองชัยภูมิ น้ำเอ่อล้นตลิ่งมากว่าสัปดาห์ที่ผ่านมา จนตัวเมืองชัยภูมิที่อยู่ตรงกลางของมวลน้ำเกิดน้ำเอ่อล้นท่วมสูงถนนสายตัวเมืองชัยภูมิ

ถนนทุกสายในเมืองชัยภูมิต้องจมอยู่ใต้น้ำ ไม่ว่าจะเป็นรอบอนุสาวรีย์เจ้าพ่อพญาแลกลางชัยภูมิ ถนนหน้าโรงพยาบาลชัยภูมิ รถเล็กไม่สามารถเข้าออกรับส่งผู้ป่วยได้ มีน้ำท่วมสูงประมาณ 50 ซ.ม. วิ่งผ่านได้เฉพาะรถขนาดใหญ่ อีกทั้งถนนสายอื่นๆ ทั้งเมืองชัยภูมิ ต้องจมอยู่ใต้น้ำ รวมถึงที่บริเวณหน้าตลาดสดเมืองชัยภูมิต้องจมใต้น้ำเช่นกัน

นอกจากนี้ถนนเส้นทางผ่านศาลากลางจังหวัด สำนักงานที่ดิน ถนนศูนย์ราชการ และอีกหลายสาย ถูกน้ำท่วมเป็นบริเวณกว้างทั้งย่านเศรษฐกิจเมืองชัยภูมิ บรรดาชาวบ้าน พ่อค้าแม่ค้าต้องขนย้ายสิ่งของหนีน้ำกลางดึกอลหม่าน

รฟท.-แจ้งงดเดินรถ

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า จากสถานการณ์เกิดฝนตกหนักในหลายพื้นที่ ทำให้ช่วงเช้าของวันที่ 25 กันยายน 2564 ได้เกิดน้ำท่วมเส้นทางรถไฟระหว่างสถานีบำเหน็จณรงค์-จัตุรัส จ.ชัยภูมิ

ส่งผลกระทบให้ขบวนรถในเส้นทางสายตะวันออกเฉียงเหนือ (สายหนองคาย) ไม่สามารถเดินรถผ่านได้ การรถไฟฯ จึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนเส้นทางการเดินรถสายหนองคาย ช่วงระหว่างสถานีบำเหน็จณรงค์-จัตุรัส ไปใช้เส้นทางชุมทางแก่งคอย-นครราชสีมา-ชุมทางบัวใหญ่ แทน

พร้อมกับงดเดินขบวนรถท้องถิ่นจำนวน 2 ขบวน ตั้งแต่วันที่ 26 ก.ย. 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง เพื่อความปลอดภัยของ ผู้โดยสาร ดังนี้ 1.ขบวนรถด่วนที่ 75/76 กรุงเทพฯ-หนองคาย-กรุงเทพฯ ปรับเปลี่ยนเส้นทางช่วงชุมทางแก่งคอย-ชุมทางบัวใหญ่ ไปใช้เส้นทางช่วงชุมทางแก่งคอย-นครราชสีมา-ชุมทางบัวใหญ่ แทน 2.งดเดินขบวนรถท้องถิ่นที่ 433/434 ชุมทางแก่งคอย-ชุมทางบัวใหญ่-ชุมทางแก่งคอย

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่การรถไฟฯ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบความเสียหายในเบื้องต้นพบว่า เส้นทางรถไฟ ช่วง สทล. 296/5-297/7 ระหว่างสถานีบำเหน็จณรงค์-จัตุรัส มีความเสียหายเล็กน้อย และเมื่อระดับน้ำลดจะสามารถเข้าดำเนินการซ่อมแซมอัดหินได้

ส่วนเส้นทางรถไฟช่วง สทล.352/13-14 ระหว่างสถานีบ้านเหลื่อม-หนองพลวง จ.นครราชสีมา พบความเสียหายมาก เนื่องจากหินบนทางรถไฟถูกพัดไปกับกระแสน้ำ ระบบอาณัติสัญญาณได้รับความเสียหาย อีกทั้งระดับน้ำยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

จึงได้สั่งการให้ฝ่ายการช่างโยธาเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ โดยขอให้พนักงาน เจ้าหน้าที่บำรุงทางตรวจทางและเฝ้าระวังสังเกตการณ์ระดับน้ำตลอด 24 ชั่วโมง โดยประชาชนสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มได้ที่ศูนย์บริการลูกค้าสัมพันธ์ หมายเลขโทรศัพท์ 1690 ตลอด

สุโขทัยอ่วมท่วมหนัก 9 อำเภอ

สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมใน อ.เมืองสุโขทัย ขยายเป็นวงกว้าง ล่าสุดระดับน้ำได้เพิ่มสูงขึ้นแผ่ขยายเข้าท่วมในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ทางเศรษฐกิจฝั่งตะวันตกของสุโขทัย บนถนนสายสุโขทัย-ตาก ตั้งแต่สี่แยกไฟแดงคลองโพธิ์ถึงวัดกำแพงงาม ต.บ้านกล้วย อ.เมือง มีน้ำท่วมถนน 30-50 ซ.ม. เป็นระยะทางเกือบ 5 ก.ม. ทำให้การเดินทางไปโรงพยาบาลสุโขทัย เจ้าหน้าที่กู้ภัยต้องใช้เรือรับส่งผู้ป่วยโดยลากจูงตั้งแต่สี่แยกคลองโพธิ์ถึงโรงพยาบาลสุโขทัย และที่ ต.ธานี อ.เมืองสุโขทัย ก็เช่นกันมีระดับน้ำท่วมถนนสูง 20-50 ซ.ม. ทำให้การเดินทางไปอุทยานประวัติ ศาสตร์ ต.เมืองเก่า และ อ.บ้านด่าน ลานหอย พร้อมทั้งการเดินทางไป จ.ตากเป็นอัมพาต ต้องอ้อมไปใช้ถนนสายสุโขทัย-กำแพงเพชรแทน แล้วเข้าถนนอาสาตรงข้ามกับสถาบันการพลศึกษา วิทยาเขตสุโขทัย

นอกจากผู้ใช้รถใช้ถนนจะได้รับความเดือดร้อนแล้ว ชาวบ้านต่างก็ได้รับความเดือดร้อน โดยมีชุมชนคลองโพและชุมชนวัดคูหาสุวรรณและชุมชนบ้านกล้วยถูกน้ำท่วมบ้านเรือนราษฎรกว่า 300 หลังคาเรือน และยังมีพื้นที่ประสบภัยรวม 9 อำเภอ 56 ตำบล 288 หมู่บ้าน (ไม่มีบ้านเรือนเสียหาย) ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 5,145 ครัวเรือน 11,730 คน พื้นที่การเกษตร 169,297 ไร่ บ่อปลา 1,326 ไร่ ถนน 118 สาย สะพาน 6 แห่ง ท่อระบายน้ำ 7 แห่ง ตลิ่ง/คันกั้นน้ำ 6 แห่ง ฝาย 9 แห่ง

จมบ้านรมต. – นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ลุยน้ำตรวจน้ำท่วมในจ.สุโขทัย ต้องขี่คอออกมาจากบ้านที่จม ขณะที่นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ ส.ส.สุโขทัย พลังประชารัฐ น้องสาวก็ถูกน้ำท่วมบ้านเช่นกัน จนต้องอุ้มพระหนีน้ำ เมื่อ 25 ก.ย.

บ้านสมศักดิ์-น้องสาวก็น้ำทะลัก

เวลา 09.30 น. ที่ จ.สุโขทัย นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม และนายวิรุฬ พรรณเทวี ผู้ว่าฯ สุโขทัย พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ ลงพื้นที่วัดบ้านซ่าน อ.ศรีสำโรง เพื่อเตรียมความพร้อมและวางกำหนดการในการต้อนรับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ที่จะมาตรวจติดตามสถานการ์น้ำท่วมและให้กำลังใจประชาชนในวันที่ 26 ก.ย.

โดยในช่วงเช้านายกฯ จะลงพื้นที่วัดบ้านซ่าน เพื่อให้กำลังใจชาวบ้าน มอบถุงธารน้ำใจ และมอบปัจจัยทางการเกษตร หญ้าแห้งพระราชทาน อาหารผสม TMR และถุงยังชีพ หลังจากนั้นจะนั่งรถสำรวจพื้นที่ความเสียหาย และ เดินทางกลับ กทม.ช่วงบ่าย

นายสมศักดิ์ให้สัมภาษณ์ว่า การเตรียมความพร้อมต้อนรับนายกฯ และคณะเตรียมความพร้อมไว้หมดแล้ว โดยตนได้ตระเวนสำรวจความเสียหายไว้หลายพื้นที่ ในส่วนที่น้ำไม่ท่วมจะใช้เป็นที่บรรยายรายงานสรุปภาพรวม ซึ่งเครื่องบินที่นายกฯ เดินทางมาน่าจะเห็นถึงพื้นที่น้ำท่วม และอาจจะบินสำรวจดู เพราะการดูจากทางอากาศน่าจะเห็นได้ชัดเจนและง่ายกว่า ส่วนเส้นทางรถยนต์คงจะดูในพื้นที่ใกล้ๆ แอ่งกระทะ ให้นายกฯ ได้เห็นภาพ และจะมีจินตนาการในการแก้ปัญหาต่างๆ ได้

นายสมศักดิ์กล่าวว่า น้ำท่วมสุโขทัยในปีนี้แตกต่างจากครั้งก่อนๆ ที่แม่น้ำยมจะไหลลงมาจากทาง จ.แพร่ ท่วมไม่นานจะลด แต่คราวนี้เป็นน้ำป่าที่ไหลมาจากทางตะวันตกและตะวันตกเฉียงเหนือ ประกอบกับฝนที่ตกลงมาและมวลน้ำจากทางเหนือ ทำให้เกิดน้ำท่วมเสียหายในหลายพื้นที่ เช่น อ.เมือง และ อ.ศรีสำโรง ที่เป็นพื้นที่ท้องกระทะรับน้ำจากทุกด้าน โดย 3 วันก่อนได้สำรวจความเสียหายพื้นที่การเกษตรกรรมเสียหายประมาณ 140,000 ไร่ โดยขณะนี้เพิ่มขึ้นอีกมาก ค่าเสียหายยังไม่แน่ชัด รวมทั้งความ เสียหายจากบ้านเรือนประชาชน คงต้องรอการตรวจเช็กให้แน่นอนเพื่อจะได้ช่วยเหลือเยียวยาต่อไป

เมื่อถามถึงกรณีมีข่าวว่าต้องขี่หลังหนี น้ำท่วม นายสมศักดิ์กล่าวว่า ไม่มีอะไร อย่าไปเขียนข่าวแบบนั้น ที่บ้านของตนมีน้ำท่วมที่หน้าบ้าน ตอนเช้าเดินลุยน้ำมาขึ้นรถแล้วเป็นตะคริว ผู้ติดตามเลยมาช่วยพยุงเท่านั้นเอง ไม่มีอะไร

ขณะเดียวกัน นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ ส.ส.สุโขทัย พรรคพลังประชารัฐ โพสต์ภาพพร้อมข้อความผ่านทางเฟซบุ๊ก โดยเป็นภาพที่น้ำเข้าท่วมบ้าน โดยเขียนข้อความระบุว่า บ้าน ส.ส. ค่ะ.! เป็นกำลังใจพี่-น้อง..ทุกคน..ทุกครอบครัว..สู้ๆๆ..!(06.00/25 กย.64)..!

ทั้งนี้ นางพรรณสิริเคยเป็นอดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุโขทัย และอดีตรมช.สาธารณสุข ในรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และยังเป็นน้องสาวของนายสมศักดิ์ด้วย

คลองโผงเผงล้นนองบ้านเรือน

ที่ จ.อ่างทอง ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยายังเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังได้รับผลกระทบจากพายุเตี้ยนหมู่ ส่งผลทำให้ จ.อ่างทองมีฝนตกตลอดทั้งวัน ทำให้มีน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่บริเวณริมคลองโผงเผง ต.โผงเผง อ.ป่าโมก หลังจากน้ำในคลองโผงเผงเอ่อล้นตลิ่ง ไหลเข้าท่วมบ้านเรือนที่ปลูกอยู่ริมคลองนอกผนังกันน้ำใน หมู่ที่ 1 หมู่ที่ 2 น้ำเริ่มล้นตลิ่งเข้าใต้ถุนบ้าน และเมื่อวันที่ 25 ก.ย. เวลา 01.00 น. น้ำได้เอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือนบริเวณหมู่ที่ 3 ชาวบ้านต่างเร่งขนย้ายข้าวของ ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะมีปริมาณน้ำเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากเขื่อนเจ้าพระยาระบายน้ำเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นางสมสวย ชาวบ้านโผงเผง หมู่ที่ 3 เล่าให้ฟังว่า น้ำในคลองโผงเผงเอ่อล้นตั้งแต่เมื่อช่วงกลางดึกของวันที่ 25 ก.ย. และเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมามีน้ำเอ่อล้นจากตลิ่งซึมเข้ามาบ้าง แต่ทางเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง และทหารนำเครื่องสูบน้ำมาสูบออกจนแห้ง แต่พอมาเมื่อกลางดึกได้ยินเสียงสุนัขเห่าจึงออกมาดู พบว่าน้ำได้เอ่อท่วมบริเวณชั้นล่างของบ้าน ซึ่งมีชาวบ้านได้รับผลกระทบแล้ว จำนวน 7 หลังคาเรือน

ในส่วนระดับน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ไหลผ่าน จ.อ่างทอง เวลา 13.00 น. อยู่ที่ระดับ 7.39 ม. จากระดับตลิ่ง 10 ม. เพิ่มขึ้นจากเมื่อวาน 17 ซ.ม. มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,923 ลบ.ม.ต่อวินาที

12 จังหวัดฝนตกหนัก-น้ำท่วมขัง

วันเดียวกัน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) รายงานจากอิทธิพลร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย.-ปัจจุบัน

ส่งผลให้เกิด น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ 26 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ลําพูน ลําปาง ตาก สุโขทัย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ พิจิตร กําแพงเพชร เลย ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ปราจีนบุรี สระแก้ว จันทบุรี นครสวรรค์ ชัยนาท สิงห์บุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี ราชบุรี และนครศรีธรรมราช รวม 84 อำเภอ 219 ตำบล 908 หมู่บ้าน 5 เขตเทศบาล ประชาชนได้รับผลกระทบ 18,753 ครัวเรือน

ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว 14 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์ในพื้นที่ 12 จังหวัด ดังนี้ จ.พิจิตรยังคงมีน้ำท่วมขังใน 5 อำเภอ ได้แก่ อ.บึงนาราง อ.โพธิ์ประทับช้าง อ.โพทะเล อ.สามง่าม และ อ.ดงเจริญ ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำการเกษตร จ.ชัยภูมิ ฝนตกหนักทำให้ลำน้ำชีเอ่อเข้าท่วมใน 5 อำเภอ ได้แก่ อ.หนองบัวระเหว อ.จัตุรัส อ.เมืองชัยภูมิ อ.เนินสง่า และ อ.บ้านเขว้า ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ จ.นครราชสีมายังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อ.ด่านขุนทด อ.สูงเนิน อ.โนนสูง อ.เมืองนครราชสีมา และ อ.พิมาย ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเร่งระบายน้ำที่ไหลมาจากอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร

จ.พระนครศรีอยุธยา น้ำเจ้าพระยาเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมใน 3 อำเภอ ได้แก่ อ.ผักไห่ อ.เสนา และ อ.บางบาล มีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน้อยและคลองโผงเผง ซึ่งอยู่นอกคันกั้นน้ำ จ.สุโขทัย ฝนตกหนักทําให้น้ำท่วมขังใน 4 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองสุโขทัย อ.ศรีสำโรง อ.ศรีสัชนาลัย และ อ.คีรีมาศ จ.ชัยนาท ฝนตกหนักและ น้ำท่วมขังใน ต.ไร่พัฒนา อ.มโนรมย์ จ.นครสวรรค์ เกิดฝนตกหนักและน้ำท่วมขังใน 6 อำเภอ ได้แก่ อ.ลาดยาว อ.หนองบัว อ.ชุมแสง อ.แม่วงก์ อ.เมืองนครสวรรค์ และ อ.ชุมตาบง

จ.สิงห์บุรี ฝนตกหนักและน้ำท่วมขังในอ.อินทร์บุรี รวม 2 ตำบล ได้แก่ ต.อินทร์บุรี และ ต.ชีน้ำร้าย จ.ขอนแก่น ฝนตกหนักและน้ำท่วมขังใน 2 อำเภอ ได้แก่ อ.โคกโพธิ์ไชย และอ.มัญจาคีรี จ.ลําปางฝนตกหนักน้ำไหลหลากใน 3 อำเภอ ได้แก่ อ.เถิน อ.สบปราบ และอ.เกาะคา จ.ลําพูนฝนตกหนักน้ำไหลหลากใน 4 อำเภอ ได้แก่ อ.บ้านโฮ่ง อ.แม่ทา อ.ลี้ และ อ.ป่าซาง จ.อุบลราชธานีฝนตกหนักน้ำท่วมขังใน 2 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองอุบลราชธานี และ อ.วารินชำราบ ซึ่งทั้ง 12 จังหวัดนี้ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ

กทม.เตรียมแผนรับมือ‘เตี้ยนหมู่’

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า กทม.ได้จัดทำแผนเตรียมความพร้อมและรับมือสถานการณ์ฝนตกหนักในพื้นที่ ประกอบด้วย 1.ติดตามสถานการณ์สภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาและจากเรดาร์ตรวจฝนของ กทม.โดยศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม ปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมง 2.เตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ และติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ตามจุดที่เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาน้ำท่วมให้เพียงพอและพร้อมใช้งานได้ทันที

3.ควบคุมและลดระดับน้ำในคลอง บ่อสูบน้ำและแก้มลิงให้อยู่ในระดับต่ำตามแผนฯ 4.เมื่อมีฝนตก ศูนย์ควบคุม ระบบป้องกันน้ำท่วมแจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผ่านกลุ่ม Line และวิทยุสื่อสาร 5.ส่งหน่วยปฏิบัติการเร่งด่วน (BEST) ประจำจุดเสี่ยงน้ำท่วมและจุดสำคัญ 6.หน่วยงานภาคสนามลงพื้นที่ตามจุดต่างๆ และรายงานจุดที่มีน้ำท่วมให้ศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วมรับทราบสถานการณ์

7.ประสานงานขอการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ตำรวจเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกการจราจร การปิดเส้นทางน้ำท่วม/ทหาร ช่วยเหลือลำเลียงประชาชนออกจากพื้นที่ หากมีระดับน้ำท่วมสูงรถเล็กไม่สามารถใช้เส้นทางผ่านได้ 8.ติดตั้งเครื่องสูบน้ำชนิดเคลื่อนที่เพิ่มเติมจากที่มีอยู่เดิม 9.รายงานสภาพฝน ปริมาณฝน พื้นที่น้ำท่วมขังเป็นระยะๆ และสรุปสถานการณ์เพื่อแจ้งเตือนและประชาสัมพันธ์ผ่านหน่วยงานต่างๆ รวมถึงช่องทางโซเชี่ยลมีเดีย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน