ไม่ต้องกัก-ตรวจเชื้อเข้ม
‘ตู่’เซ็นแล้วเปิดปท.1พย.
บูสต์เข็ม3ชาวซิโนฟาร์ม
‘ภูทับเบิก’สั่งล็อก14วัน

‘บิ๊กตู่’เซ็นแล้วเปิดประเทศ 1 พ.ย. ไฟเขียวล็อตแรก 46 ชาติเข้ามาท่องเที่ยวได้ ไม่ต้องกักตัว แต่ต้องทำตามมาตรการคุมโควิดเคร่งครัด สั่งสธ.เร่งฉีดวัคซีน ขณะที่ติดเชื้อรายวันลดเหลือ 9,727 เสียชีวิตเพิ่ม 73 สธ.ระบุภาพรวมลดลง แต่ 4 จว.ชายแดนใต้ยังพุ่งสูง ส่งวัคซีนให้เพิ่มอีก 5 แสนโดส ‘ภูทับเบิก’ วุ่นติดเชื้อแล้ว 303 ยังไม่ได้ตรวจอีก 743 ต้องปิดรีสอร์ต โรงแรมในพื้นที่ 2 หมู่บ้าน 14 วัน ห้ามนักท่องเที่ยวเข้าไปเที่ยว ‘ชาวซิโนฟาร์ม 2 เข็ม’ เตรียม บูสต์เข็ม 3 ใช้เกณฑ์เดียวกับซิโนแวค หลังฉีดครบ 2 เข็มใน 3-4 เดือน คาดเริ่มได้พ.ย.

ให้นักท่องเที่ยว46ปท.เข้าไทย

เมื่อวันที่ 21 ต.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัวถึงการเตรียมตัวเปิดประเทศในวันที่ 1 พ.ย.นี้ ว่า หลังจากประกาศแผน ยกเลิกการกักตัวสำหรับผู้ที่จะเดินทางเข้าประเทศไทย โดยต้องเป็นผู้ที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว เดินทางเข้าประเทศโดยทางอากาศ และเดินทางมาจากประเทศที่เราจัดว่าเป็นกลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ เราจะเห็นได้ว่าในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังเราประกาศออกไป ประเทศอื่นๆ เช่น อเมริกา และประเทศในภูมิภาคเรา ไม่ว่าจะเป็น อินโดนีเซีย (บาหลี) ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย และมาเลเซีย ต่างก็กำลังทำเช่นเดียวกัน รวมทั้งมีการผ่อนคลายมาตรการข้อบังคับต่างๆ และนอกจากนั้น หลายๆ ประเทศที่เป็นนักท่องเที่ยวของประเทศไทยก็เพิ่งประกาศผ่อนคลายให้ประชาชนของประเทศเค้าเดินทางออกนอกประเทศได้ง่ายขึ้น

“เมื่อเราเห็นว่าสถานการณ์เปลี่ยนเป็นแบบนี้แล้ว จากที่ในเบื้องต้น ตัดสินใจว่าเราจะพิจารณาประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำเพื่อจะให้เดินทางเข้าไทยได้ โดยไม่ต้องกักตัวอยู่ที่ประมาณ 10 ประเทศ แล้วจึงจะค่อยๆ เพิ่มจำนวนประเทศให้มากขึ้น ตอนนี้ ผมคิดว่าในสถานการณ์ใหม่ ถ้าเราต้องการดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาประเทศไทยให้มากเพื่อกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวและภาคธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องที่เดือดร้อนกันอย่างมากมานาน เราจำเป็นที่จะต้องเดินหน้าเร็วกว่านั้น และทำตั้งแต่ตอนนี้ เพราะการที่จะรอให้ทุกอย่างสมบูรณ์แบบก่อนนั้น จะทำให้เราช้าเกินไป อีกทั้งนักท่องเที่ยวอาจจะตัดสินใจเลือกเดินทางไปประเทศอื่นไปก่อน

ดังนั้นหลังจากได้ปรึกษาหารือกับหลายๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ผมดีใจที่วันนี้จะแจ้งให้ทุกท่านทราบว่า เราจะเพิ่มจำนวนรายชื่อประเทศความเสี่ยงต่ำกลุ่มแรกที่สามารถเดินทางเข้าประเทศไทยได้โดยไม่ต้องกักตัว เป็น 46 ประเทศ ซึ่งต้องเป็นผู้ที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว เดินทางเข้าประเทศไทยโดยทางอากาศ และมีหลักฐานปลอดเชื้อโควิด โดยมีการตรวจก่อนออกเดินทาง และตรวจเมื่อมาถึงประเทศไทย ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.นี้เป็นต้นไป แต่ทั้งนี้ทุกประเทศดังกล่าวคงต้องพิจารณาความเสี่ยงของประเทศไทยด้วยเช่นกัน ก่อนที่จะอนุญาตให้คนของประเทศเขาเดินทางมาประเทศไทยได้ ขอขอบคุณกระทรวง และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ที่ร่วมกันทำภารกิจที่เต็มไปด้วยความกดดันนี้ พยายามแก้ไขและจัดการ กฎระเบียบ ขั้นตอน และกระบวนการต่างๆ มากมายในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งผมรู้ว่าทุกคนทุกฝ่ายพยายามกันอย่างเต็มที่เพื่อช่วยให้พี่น้องประชาชนสามารถกลับมาทำมาหากินกันได้อีกครั้ง โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้” นายกฯ ระบุ

‘บิ๊กตู่’เซ็นแล้วเปิดประเทศ1พย.

พล.อ.ประยุทธ์ ระบุด้วยว่า เราต้องเร่งเครื่องเตรียมความพร้อม และตนขอให้กระทรวงสาธารณสุขเร่งเครื่องเรื่องการฉีดวัคซีนให้เร็วมากยิ่งขึ้นไปอีก แม้ว่าเราจะติดอันดับอยู่ในกลุ่มประเทศที่ฉีดวัคซีนได้เร็วที่สุดในโลกอยู่แล้วก็ตาม เรารู้ดีว่าการเร่งเดินหน้าอย่างรวดเร็วนี้ ย่อมมีความเสี่ยงที่จำนวนผู้ติดเชื้อจะเพิ่มสูงขึ้น แต่ก็เป็นความเสี่ยงที่เราต้องยอมรับ ตนคิดว่าตอนนี้ ประเทศไทย รวมถึงประเทศอื่นๆ ในโลกต่างก็มีความสามารถในการรับมือกับความเสี่ยงของโควิด-19 ได้ดีขึ้น และเราก็ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับโควิด-19 ให้ได้เราทุกคนมีบทบาทสำคัญในการช่วยกันลดความเสี่ยงของการแพร่ระบาด ด้วยการการ์ดไม่ตก ขอให้ทุกคนยังคงรักษามาตรการทางสาธารณสุข มีวินัยในการสวมหน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือ และรักษาระยะห่างระหว่างบุคคลอยู่เสมอ เพื่อที่เราจะได้เก็บเกี่ยวเรื่องดีๆ เล็กๆ น้อยๆ จากช่วงเทศกาลวันหยุดสิ้นปีนี้กันได้บ้าง

รายงานข่าวจากทำเนียบเผยว่า คืนวันเดียวกันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จะลงนามในข้อกำหนดรายละเอียดต่างๆ เพื่อจะประกาศในราชกิจจาฯ ซึ่งคาดว่าจะออกประกาศในวันที่ 22 ต.ค. โดยข้อกำหนดดังกล่าว จะเป็นรายละเอียดการเข้าประเทศว่า แต่ละประเทศทั้ง 46 ประเทศมีเงื่อนไขและข้อกำหนดอย่างไร รวมถึงเข้ามาไทยแล้วต้องมีขั้นตอนการปฏิบัติตัวอย่างไร ส่วนการประกาศรายชื่อทั้ง 46 ประเทศนั้น มอบหมายให้กระทรวงการต่างประทศเป็นผู้เผยแพร่

ติดเชื้อเพิ่ม 9,727-เสียชีวิต 73

ด้านศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ว่า ทั่วโลกมียอดผู้ติดเชื้อรวม 242,793,711 ราย มีอาการรุนแรง 77,097 ราย รักษาหายแล้ว 220,075,338 ราย เสียชีวิตรวม 4,937,510 ราย สำหรับประเทศไทย อยู่อันดับ 24 มีผู้ติดเชื้อสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 1,821,579 ราย

สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทย วันนี้มีผู้ติดเชื้อเพิ่ม 9,727 ราย ติดเชื้อในประเทศ 9,630 ราย จากเรือนจำ/ที่ต้องขัง 71 ราย และจากผู้เดินทางจากต่างประเทศ 26 ราย ส่วนผลตรวจ ATK จำนวน 2,059 ราย มีผู้ป่วยยืนยันสะสม 1,792,716 ราย หายป่วยแล้ว 10,075 ราย หายป่วยสะสม 1,672,508 ราย รักษาอยู่ 103,086 ราย อยู่ในโรงพยาบาล 43,573 ราย โรงพยาบาลสนามและอื่นๆ 59,513 ราย อาการหนัก 2,687 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 603 ราย เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 73 ราย ยอดเสียชีวิตสะสม 18,465 ราย

โดยผู้เสียชีวิต 73 ราย เป็นชาย 41 ราย หญิง 32 ราย คนไทย 72 ราย จีน 1 ราย เป็นผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 47 ราย มีโรคเรื้อรัง 22 ราย ไม่มีประวัติโรคเรื้อรัง 4 ราย

ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ติดเชื้อ 6

สำหรับผู้ติดเชื้อที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 26 ราย โดยอยู่ในโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ 6 ราย ได้แก่จากประเทศโคลัมเบีย 1 ราย สัญชาติแคนาดา, สหรัฐอเมริกา 1 ราย สัญชาติอเมริกัน, สัญชาติฟินแลนด์, เดนมาร์ก 1 ราย สัญชาติเดนมาร์ก, สหราชอาณาจักร 1 ราย สัญชาติโรมาเนีย, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 2 ราย อยู่ในภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ 1 ราย สัญชาติไทย ที่เหลือมาจากสิงคโปร์ 1 ราย สัญชาติไทย, เมียนมา 1 ราย สัญชาติไทย ผ่านด่านพรมแดนทางบก, มาเลเซีย 10 ราย สัญชาติไทย ผ่านช่องทางธรรมชาติและด่านพรมแดนทางบก และกัมพูชา 7 ราย ผ่านด่านพรมแดนทางบก

ใต้ป่วยมากสุดทะลุ 4 พัน

เมื่อดูภาพรวมการติดเชื้อใหม่ในประเทศ ในพื้นที่ต่างจังหวัด 67 จังหวัด มีผู้ติดเชื้อ 5,760 ราย คิดเป็น 60% กรุงเทพฯ และปริมณฑล 1,673 ราย คิดเป็น 17% ชายแดนใต้ 2,197 ราย คิดเป็น 23% โดยกรุงเทพฯ ยังมียอดติดเชื้อสูงสุดเกิน 1,000 ราย และมี 2 จังหวัดที่ไม่มีผู้ติดเชื้อ คือ น่าน และชัยนาท

สำหรับ 10 จังหวัดติดเชื้อใหม่สูงสุด ได้แก่กรุงเทพฯ 1,010 ราย ยะลา 653 ราย นครศรีธรรมราช 630 ราย สงขลา 627 ราย ปัตตานี 543 ราย นราธิวาส 374 ราย ชลบุรี 359 ราย เชียงใหม่ 357 ราย สมุทรปราการ 308 ราย ระยอง 301 ราย

เมื่อดูรายภาค พบว่าภาคใต้มีผู้ติดเชื้อใหม่มากที่สุด 4,038 ราย ภาคกลาง 2,473 ราย ภาคตะวันออก 1,262 ราย ภาคตะวันตก 773 ราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 703 ราย และภาคเหนือ 452 ราย

ย้ำฉีดไฟเซอร์2ให้นร.ชาย

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวผลการประชุมคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคกรณีการฉีดวัคซีนไฟเซอร์เข็ม 2 ในเด็กผู้ชาย ว่า คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ภายใต้คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญและผู้แทนสมาคมวิชาชีพต่างๆ เช่น สมาคมเวชศาสตร์ป้องกันแห่งประเทศไทย ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย คณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชีวัคซีนยาหลักแห่งชาติ ผู้เชี่ยวชาญจากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล นายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย สมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล สำนักงานปลักประกันสุขภาพ แห่งชาติ (สปสช.) และสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เป็นผู้แทนองค์กรทางการกำหนดนโยบายและแนวทางการฉีดวัคซีนระดับชาติ

การประชุมเมื่อวันที่ 20 ต.ค. มีเรื่องการให้วัคซีนไฟเซอร์ในเด็กนักเรียน ซึ่งเริ่มฉีดตั้งแต่ต้นต.ค. ขณะนี้ผ่านไปแล้ว 2 สัปดาห์ ฉีดประมาณ 2 ล้านโดส สิ่งที่คณะผู้เชี่ยวชาญพิจารณามี 2 เรื่องคือ ประสิทธิภาพและความปลอดภัย ซึ่งพิจารณาแล้วพบว่าวัคซีนไฟเซอร์ที่เอามาฉีดเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป ถ้าฉีด 2 เข็มระดับภูมิคุ้มกันเพียงพอต่อสู้สายพันธุ์เดลตาได้ เมื่อเทียบกับฉีด 1 เข็มอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนความปลอดภัยนั้น ข้อกังวลเรื่องภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ กุมารแพทย์โรคหัวใจและผู้เชี่ยวชาญมาให้ข้อมูลว่าวัคซีนไฟเซอร์มีความเป็นไปได้เกิดผลข้างเคียงการอักเสบของกล้ามเนื้อหัวใจ 6 ในแสนคน แต่เมื่อเทียบแล้วเด็กติดโควิดมีโอกาสเกิดอาการกลุ่ม MIS-C ที่ทำให้เกิดการอักเสบทั่วร่างและกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบมีมากกว่าการฉีดวัคซีนมาก

“การฉีดวัคซีนอาจเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบได้ แต่น้อย และหายเองได้ เทียบประสิทธิภาพและผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น อุบัติการณ์เกิดผลข้างเคียงน้อยกว่ามาก คณะอนุฯ จึงแนะนำให้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์เข็ม 2 ในเด็กชายต่อไป ตามหลักการที่กำหนดไว้ คือตามความประสงค์ของผู้ปกครองและนักเรียนภายใต้ข้อมูลที่เพียงพอต่อการตัดสินใจ เพื่อคำนึงถึงประโยชน์การป้องกันโรคโควิดเป็นหลัก และความเสี่ยงการรับวัคซีน รวมทั้งแนะนำงดออกกำลังกายหนักหลังรับวัคซีน 7 วัน หากรับวัคซีน 7 วัน แล้วมีอาการใจสั่น เจ็บหน้าอก หายใจไม่อิ่ม หอบเหนื่อยให้รีบไปพบแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์จะให้ข้อมูลผู้ปกครองเพื่อตัดสินใจและเฝ้าระวังอย่างเพียงพอ” นพ.โอภาสกล่าวและว่า เมื่อเทียบกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก แคนาดา อเมริกา ยุโรป ออสเตรเลีย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ก็ให้วัคซีนเด็ก 12 ปีขึ้นไปแบบประเทศไทย สอดคล้องกับมติและการรับรองให้ฉีดวัคซีนได้ขององค์การอนามัยโลก

ฉีดซิโนฟาร์ม2เข็ม-กระตุ้นเข็ม3

นพ.โอภาสกล่าวว่า อีก 2 ประเด็นที่คณะอนุฯ ประชุมคือ 1.องค์การอนามัยโลกแนะนำการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นหรือเข็ม 3 ซึ่งประเทศไทยส่วนใหญ่ฉีดเชื้อตาย คือ ซิโนแวค 2 เข็ม พบว่าฉีดระยะหนึ่งภูมิลดลง การฉีดเข็มกระตุ้นจึงเกิดประโยชน์ โดยเราฉีดต่างชนิดด้วยแอสตร้าเซนเนก้าที่เป็นไวรัลเวกเตอร์ ทั้งนี้ การฉีดปูพื้นหรือ Prime ด้วยเชื้อตาย และฉีดกระตุ้นด้วยวัคซีนอีกชนิดช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันสูงมาก โดยประเทศไทยจะฉีดเข็มกระตุ้นชนิดต่างกันจากปูพื้นตอนต้น เช่น เราฉีดเชื้อตายก่อน จากนั้นตามด้วยไวรัลเวกเตอร์ และ mRNA ไล่เรียงกันไปปรับให้เข้ากับสถานการณ์ตามวัคซีนที่เรามี สอดคล้องกับคำแนะนำองค์การอนามัยโลกซึ่งประเทศไทยทำล่วงหน้าไปแล้ว

2.คำถามเรื่องการฉีดกระตุ้นของซิโนฟาร์ม รอง ผอ.ร.พ.จุฬาภรณ์มาให้ข้อมูลคณะอนุฯ ว่า ขณะนี้มีคนฉีดซิโนฟาร์ม 2 เข็มไประยะหนึ่งพอสมควร และแนวโน้มการฉีดกระตุ้นจะเป็นอย่างไร โดยคณะอนุฯ มีความเห็นว่า หลักการพิจารณาคนฉีดซิโนฟาร์มซึ่งเป็นเชื้อตายแบบเดียวกับซิโนแวค หลักคิดให้ใช้หลักการเดียวกันคือ ซิโนแวค ฉีดเข็ม 3 ให้คนฉีด 2 เข็มเกิน 3-4 เดือนขึ้นไป เช่น มี.ค.ฉีดครบ 2 เข็มก็ฉีดกระตุ้นตอน ก.ย.-ต.ค. ดังนั้นซิโนฟาร์มฉีดครบ 2 เข็มช่วงเดือนก.ค.เป็นต้นไป จะกำหนดฉีดเข็มกระตุ้นประมาณปลายพ.ย.ถึงต้นธ.ค.เป็นต้นไป โดยคณะอนุฯ ขอให้ร.พ.จุฬาภรณ์ส่งข้อมูลเอกสารหลักฐานที่มีการศึกษาพบว่าจำเป็นต้องฉีดเข็มกระตุ้นเนื่องจากภูมิคุ้มกันลดลงให้คณะอนุฯ ใช้เป็นข้อมูลประกอบก่อนที่จะมีการประกาศให้ประชาชนได้ฉีดต่อไปในวงกว้าง และทางร.พ.จุฬาภรณ์ส่งข้อมูลครบถ้วนเมื่อไร คณะอนุฯ จะรีบพิจารณาและประกาศฉีดวัคซีนต่อไป

พย.นี้มีวัคซีนเข้ามา25ล.โดส

นพ.โอภาสกล่าววา สำหรับ พ.ย.คาดว่าจะมีวัคซีนเข้ามา 25 ล้านโดส เป็นแอสตร้าฯ 15 ล้านโดส ไฟเซอร์ 10 ล้านโดส ส่วนซิโนแวคที่เป็นตัวปูพื้นฉีดได้ดี เมื่อฉีดเข็ม 2 ต่างชนิดกันภูมิขึ้นสูงมาก ขณะนี้วัคซีนเหลือน้อยแล้ว คาดว่าเดือนนี้จะฉีดหมด ท่านที่อยากฉีดเพื่อปูพื้นต้องรีบหน่อย เพราะเดือนถัดไปโอกาสวัคซีนหมดและไม่ได้ฉีดมีสูง อย่างไรก็ตาม เรามีวัคซีนเพียงพอที่จะฉีดเข็ม 1, 2 และ 3 ตามเป้าหมาย 100 ล้านโดสที่จะฉีดให้ครบใน พ.ย.-ธ.ค.นี้

เมื่อถามถึงสูตรไขว้แอสตร้าฯ-ไฟเซอร์จะใช้ทางการเมื่อไร นพ.โอภาสกล่าวว่า คณะอนุฯ อนุญาตฉีดได้ แต่รอการประกาศอีกครั้ง เพราะต้องดูปริมาณวัคซีนที่มี ทั้งนี้สูตรไขว้ต่างๆ ที่คณะอนุฯ ให้คำแนะนำทุกสูตรมีประสิทธิภาพดีและปลอดภัยใกล้เคียงกัน ไม่ต้องกังวลว่าฉีดสูตรไหนตัวไหนก่อนหลัง ผู้เชี่ยวชาญและสธ.พยายามหาสูตรวัคซีนและวัคซีนที่มีมาฉีดประชาชน ส่วนการฉีดบูส เตอร์โดสในปี 2565 ไม่ต้องกังวล นายกฯ เห็นชอบจัดหาไว้ 120 ล้านโดส มีเพียงพอขอให้ไปฉีดตามที่กำหนด

‘ภูทับเบิก’วุ่น-ติดเชื้อพุ่ง 303

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในพื้นที่หมู่ที่ 14 บ้านทับเบิก ต.วังบาล อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ มี ผู้ติดเชื้อโควิดจำนวนมาก จนเกิดเป็นคลัสเตอร์ใหญ่ แพร่ระบาดในพื้นที่หมู่ 14 และหมู่ 16 บ้านทับเบิก จากการสุ่มตรวจด้วยชุดตรวจ ATK 607 ราย พบผู้ติดเชื้อ 165 ราย จึงส่งตรวจด้วยวิธี RT-PCR พบผลบวกติดเชื้อโควิด 158 ราย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพชรบูรณ์ จึงร่วมกับศูนย์ควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลกลงพื้นที่ตรวจหาเชื้อเชิงรุก ให้กับประชาชนในพื้นที่หมู่ที่ 14 และหมู่ที่ 16 บ้านทับเบิก ซึ่งมี 3,056 ราย ระหว่างวันที่ 18-19 ต.ค. ที่ลานกลางหมู่บ้านหมู่ที่ 14 บ้านทับเบิก ผลการตรวจหาเชื้อ 2,313 ราย พบผู้ติดเชื้อยืนยัน 303 ราย และคงเหลือที่จะต้องตรวจอีก 743 ราย ซึ่งเป็นผู้ป่วยติดเตียง ผู้สูงอายุ และผู้ที่ไม่อยู่ในพื้นที่ ทางสาธารณสุขในพื้นทีจะติดตามไปตรวจให้ครบทั้งหมด ขณะที่จ.เพชรบูรณ์วางมาตรการเข้ม เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 และเตรียมฉีดวัคซีนให้ประชาชนในพื้นที่ภูทับเบิกทั้งหมดให้ ครบ 100%

สำหรับพื้นที่ภูทับเบิก จ.เพชรบูรณ์ วางมาตรการเข้มเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยสั่งปิดพื้นที่หมู่ที่ 14 และหมู่ที่ 16 ต.วังบาล อ.หล่มเก่าให้เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด ห้ามบุคคลเข้าออก ตั้งแต่วันที่ 18-31 ต.ค.2564 และให้ผู้ประกอบการโรงแรม รีสอร์ตในพื้นที่งดให้บริการนักท่องเที่ยว โดยภาครัฐจะเข้าสนับสนุนถุงยังชีพช่วยเหลือประชาชนในเบื้องต้น ส่งผลกระทบอย่างมากในช่วงวันหยุดยาวระหว่างวันที่ 21-24 ต.ค.นี้

ส่วนภาคการท่องเที่ยวอื่นของจ.เพชรบูรณ์ยังไม่ส่งผลกระทบ นักท่องเที่ยวยังสามารถเดินทางเข้ามาได้ แต่ต้องปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข และจ.เพชรบูรณ์อย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19

ตรวจโควิดทับเบิกซ้ำอีก

นายเสกสรร กลิ่นพูน นายอำเภอหล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์โควิดในพื้นที่หมู่ที่ 14 และหมู่ที่ 16 ว่า หลังจากลงพื้นที่ตรวจหาผู้ติดเชื้อโควิดแล้ว 2,313 ราย จากประชากรทั้งหมด 3,056 ราย พบผู้ติดเชื้อ 303 ราย ยังคงเหลือไม่ได้ตรวจ 743 ราย เนื่องจากเป็นผู้ป่วยติดเตียง รวมทั้งบางรายไปทำงานต่างจังหวัด ส่วนที่เหลือทั้งหมด จะลงพื้นที่เพื่อสแกนตรวจให้ได้มากที่สุดในช่วงเช้าวันที่ 25 ต.ค. และช่วงบ่ายวันเดียวกันจะตรวจหาเชื้อโควิดซ้ำในกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงสูงทั้งสองหมู่บ้าน

ส่วนการฉีดวัคซีนขณะนี้จัดสรรวัคซีนให้กับอำเภอหล่มเก่าเพื่อฉีดให้พี่น้องประชาชนบนภูทับเบิกทั้งหมด รวมทั้งจะควบคุมการเข้า-ออกพื้นที่อย่างเคร่งครัด ห้ามไม่ให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้า-ออก พื้นที่หมู่ที่ 14 และ 16 ต.วังบาล โดยเด็ดขาด

“สำหรับนักท่องเที่ยวที่จะขึ้นมาเที่ยวภูทับเบิกไม่อนุญาตให้เข้าพื้นที่หมู่ 14 และหมู่ที่ 16 แต่ยังสามารถท่องเที่ยวได้ในหมู่ที่ 8 ซึ่งอยู่จุดก่อนที่จะถึงด่านอุทยาน สามารถท่องเที่ยวได้ตามปกติ แต่ต้องรักษามาตรการการควบคุมโรคของจังหวัดอย่างเคร่งครัด ส่วนที่รัฐบาลจะเปิดการท่องเที่ยวในวันที่ 1 พ.ย.2564 นี้ ต้องพิจารณาและหารือกันอีกครั้งว่าสามารถควบคุมการระบาดของโรคโควิดได้หรือไม่ โดยเฉพาะในพื้นที่ภูทับเบิก ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยของประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งนักท่องเที่ยว”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลายจังหวัดพบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น ที่ปัตตานี พบ 422 ราย สงขลา 627 ราย ตรัง 197 ราย นครศรีธรรมราช 662 ราย เชียงใหม่ 412 ราย และพะเยา 17 ราย ในจำนวนนี้เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยพะเยา 15 คน จนต้องปิดการเรียนการสอนชั่วคราวระหว่าง 20-31 ต.ค.นี้

บางแสนคึก – ประชาชนแห่เที่ยวบางแสน อ.เมือง จ.ชลบุรี ช่วงหยุดยาว 4 วัน รับประทานอาหารริมทะเล และลงเล่นน้ำทะเลกันคึกคัก แต่ยังคงห้ามเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เมื่อวันที่ 21 ต.ค.

ไฟเซอร์น.ร. – อำเภอพล จ.ขอนแก่น ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ยี่ห้อไฟเซอร์เข็มที่ 1 ให้แก่นักเรียนอายุ 12-18 ปี โดยจะทยอยฉีดให้ครบจำนวนกว่า 7,000 คน ที่หอประชุมเทศบาลเมืองพล เมื่อวันที่ 21 ต.ค.

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน